Feature

ไขปัจจัย ทำไม IBA ยังครองใจสมาชิก แล้วอนาคตมวยสากลไทยจะเลือกข้างไหน ? | Main Stand

แม้จะโดนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) แบนจากสารบบตั้งแต่ปี 2019 หรือมีการก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาต่อสู้ … ทว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถโค่นอำนาจของ สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (IBA) ลงได้

 

 

ประเทศไทยเอง แม้ว่าจะแสดงจุดยืนว่า พร้อมที่จะซัพพอร์ตทุกทางเพื่อให้ประเทศไทยสามารถมีนักชกไปแข่งขันในโอลิมปิก 2028  แต่ขณะเดียวกัน  ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถออกจากองค์กร IBA ได้ ณ ขณะนี้

ที่มาที่ไป เกิดอะไรขึ้น และมวยสากลไทยจะไปทางไหนต่อ กับเส้นทางสู่โอลิมปิก 2028  ติดตามกับ Main Stand

 

IBA VS World Boxing 

IOC แบน IBA จากการเป็นผู้จัดมวยสากลในโอลิมปิกตั้งแต่โตเกียว 2020 และปารีส 2024 ก่อนจะถอนสิทธิ์ถาวรในเวลาต่อมา ทำให้ถึงวันนี้ทั่วโลกยังต้องลุ้นว่าศึกดวลกำปั้นใน ลอสแองเจลิส 2028 จะยังมีการชิงชัยหรือไม่ และใครจะขึ้นมาเป็นผู้จัดแทน

องค์กรใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นอย่าง “สหพันธ์มวยสากลโลก” (World Boxing) ที่มีสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเป็นแกนนำ ประกาศตัวว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำหน้าที่แทน โดยได้ประชุมกับทาง IOC เพื่อดูหลักเกณฑ์เบื้องต้นกันแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 ที่รัฐโคโลราโด 

อย่างไรก็ตามผ่านมาเกือบครึ่งปี ทุกอย่างก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา และยิ่งตอกย้ำถึงความคลุมเครือมากขึ้นเมื่อชาติสมาชิกหลายประเทศยังไม่มีทีท่าที่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก IBA 

ปัจจุบัน IBA ยังมีชาติที่เป็นสมาชิกอยู่ 199 ประเทศ ขณะที่ World Boxing มีสมาชิกเพียง 55 ชาติ โดยมีเพียง 14 ชาติเท่านั้นที่ลาออกจาก IBA เข้ามาร่วมชายคา 

ขณะที่อีกหลายชาติยังเป็นสมาชิกอยู่ทั้ง 2 องค์กร เช่นเดียวกับสมาคมมวยสากลแห่งประเทศไทย ที่ยังเหยียบเรือทั้งสองแคม

ไม่เพียงแค่ชาติสมาชิกเท่านั้น ยังรวมถึงสหพันธ์ผู้จัดมวยสากลแต่ละทวีปด้วย เช่นล่าสุด สหพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (ASBC) ได้ประชุมหาบทสรุปว่าจะเลือกสังกัดองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก่อนที่ชาติสมาชิกจะมีมติเป็นเอกฉันท์ เลือกอยู่ร่วมกับ IBA ตามเดิม 

ถึงตรงนี้หลายคนคงได้แต่สงสัยว่า ทำไม IBA จึงยังได้รับความไว้วางใจจากหลาย ๆ ชาติ ทั้งที่มีแต่ข้อครหามากมายมานานหลายปี

 

เงินหนามัดใจสมาชิก

ปัจจัยที่ส่งผลให้ IBA ยังคงครองความนิยมอยู่มีหลัก ๆ 2 ข้อ คือ

1. ปัจจุบันทั้ง 2 องค์กรยังไม่มีการบังคับชาติสมาชิกว่าจะต้องเลือกสังกัดองค์กรใดเพียงองค์กรเดียว ทำให้หลายชาติยังไม่รีบร้อนฟันธงว่าจะเลือกข้างไหน

นอกจากนี้ทัวร์นาเมนท์ต่าง ๆ ทั้งระดับเยาวชน ชิงแชมป์ทวีป หรือชิงแชมป์โลก ก็ยังคงอยู่ในการสนับสนุนของ IBA ที่แต่ละชาติต้องส่งนักมวยไปชก 

ขณะที่ทาง World Boxing ยังไม่มีการจัดแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยวางเป้าจัดศึกชิงแชมป์โลกของตัวเองครั้งแรก คือ World Boxing Championships ในเดือนกันยายน 2025 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ

ดังนั้น หากอนาคต World Boxing ได้การรับรองจาก IOC ให้เป็นผู้จัดมวยในโอลิมปิก แล้วมีการบังคับชาติสมาชิกว่าต้องสังกัดเพียงองค์กรเดียว ถึงเวลานั้นค่อยพิจารณากันอีกครั้ง

ปัจจัยข้อ 2. คือ “เงินทุน” ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อย เพราะ IBA ภายใต้การนำของ อูมาร์ เครมเลฟ ประธานชาวรัสเซีย ยังคงสนับสนุนงบประมาณให้กับชาติสมาชิกอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งการมอบเงินรางวัลในการแข่งขันรายการต่าง ๆ รวมถึงในโอลิมปิก 2024 ที่แม้ตัวเองจะไม่ได้จัด แต่ก็ยังอัดฉีดก้อนโตให้นักกีฬา โค้ช และสมาคม ที่คว้าเหรียญทอง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 ล้านบาท)

ส่วนเหรียญเงินได้ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 ล้านบาท) และเหรียญทองแดง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.75 แสนบาท)

เช่นเดียวกับ ศึกมวยสากลชิงแชมป์เอเชีย 2024 ที่เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 11 ธันวาคม ซึ่งเงินรางวัลแต่ละเหรียญก็มาจากการสนับสนุนของ IBA เช่นกัน

นอกจากนี้ในรายการที่ตัวเองจัดอย่างศึกชิงแชมป์โลก ก็จัดเต็มทั้งเงินรางวัลพร้อมทั้งจ่ายค่าที่พักให้แก่นักมวยทั้งหมดที่เข้าร่วมแข่งขัน รวมถึงโค้ชที่เดินทางมาชาติละ 3 คนด้วย

“เรากำลังสร้างตัวอย่างที่ชัดเจนให้กับทุกคน เกี่ยวกับวิธีที่สหพันธ์นานาชาติควรปฏิบัติต่อแชมป์ของตน นี่คือการสนับสนุนที่แท้จริงด้วยการกระทำที่แท้จริง” คริส โรเบิร์ตส์ เลขาธิการและซีอีโอของ IBA ระบุ

ผิดกับฝั่ง World Boxing ที่มีกระแสข่าวเรื่องความขัดสนด้านการเงินไม่น้อย โดยเว็บไซต์ insidethegames เปิดเผยว่าในการประชุมที่โคโลราดา พวกเขาได้มีการหารืออย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินที่จำกัด

โดยงบการเงินสาธารณะชุดแรกได้รับการนำเสนอ ในรายงานระบุว่า พวกเขามีงบแค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35 ล้านบาท) เท่านั้นสำหรับการทำงานในปี 2028 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้วงการมวยทั่วโลกรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถขององค์กรน้องใหม่ในการบริหารจัดการและดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายชาติยังคงเกิดความลังเล และไม่กล้าที่จะหันหลังให้ IBA อย่างเต็มตัว … รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งต้องจับตาดูว่าอนาคตจะไปในทิศทางไหน ?

 

อนาคตมวยสากลไทยไปทิศทางไหน ?

ทีมงาน Main Stand ได้สอบถามผู้บริหารในสมาคมมวยสากลแห่งประเทศไทยหลายราย แทบเสียงกล่าวพ้องกันว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไทยจะเข้าร่วมกับ World Boxing หากต้องเลือกฝั่ง

เพราะในอนาคตดูแล้ว World Boxing น่าจะได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดมวยสากลในโอลิมปิก ดังนั้นทางสมาคมจึงต้องดำเนินงานไปในแนวทางเดียวกับ ICO และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เพื่อส่งนักชกเข้าแข่งขัน

ทว่าปัจจุบันยังคงได้รับผลประโยชน์จากการสนับสนุนของ IBA อยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก

สิ่งที่ตอกย้ำชัดเจนมากขึ้นก็คือการที่ พิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมมวยสากลแห่งประเทศไทย ตัดสินใจลาออกจากการเป็นประธานสหพันธ์มวยสากลแห่งเอเชีย (ASBC) ทันทีหลังชาติสมาชิกโหวตเลือกอยู่กับ IBA ต่อ 

โดยเจ้าตัวยังวางแผนเตรียมก่อตั้งองค์กรมวยของเอเชียองค์กรใหม่ ขึ้นมาทำงานควบคู่ไปกับของเดิม เพื่อรองรับการจัดแข่งขันในรายการของ World Boxing ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จึงยังต้องจับตาดูกันต่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว World Boxing จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของวงการมวยสากลหรือไม่ 

และหากต้องเลือกข้าง แต่ละชาติจะตัดสินใจอย่างไร … เมื่อนาทีนั้นมาถึง อาจถึงเวลาปิดฉากความยิ่งใหญ่ของ IBA ลงก็เป็นได้

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น