Feature

ออสเตรีย ยุค "รังนิก" : ฟุตบอลเข้ม ๆ ที่ไม่เคยใช้ได้จริงกังบ แมนฯ ยูไนเต็ด | Main Stand

ไม่มีทีมไหนจะสร้างเซอร์ไพรส์ในยูโร 2024 ไปกว่า ออสเตรีย อีกแล้ว การเข้ารอบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม D ด้วยการอยู่เหนือ ฝรั่งเศส และ เนเธอร์แลนด์ ถือเป็นผลงานที่สุดยอด 

 


คนที่เป็นสารตั้งต้นของเรื่องนี้คือ ราล์ฟ รังนิก กุนซือที่โลกเคยตัดสินว่า "ตกยุค" จากผลงานชิ้นที่แล้วกับ แมนฯ ยูไนเต็ด ... ที่แย่ทุกตรง มองแง่ไหนก็ไม่ดี 

กลับกันที่ ออสเตรีย ทำไมทุกอย่างดูมีชีวิตชีวา นักเตะเล่นกันแบบมุ่งมั่นไฟลุก เป็นคนละเรื่อง ? ... ติดตามทั้งหมดที่ Main Stand 

 

เห็นปัญหา แต่ไม่มีสิทธิ์แก้ 

ราล์ฟ รังนิก เคยเป็นที่พูดถึงมาก ๆ ในการเข้ามาคุมทีม แมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อปลายปี 2021 เพื่อแทนที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ในฐานะกุนซือชั่วคราวจนจบฤดูกาล 2021-22 ก่อนจะผันตัวไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาอีก 2 ปีหลังจากนั้น

ในช่วงที่เขาเข้ามาทำ ยูไนเต็ด มีสื่อหลายเจ้าเอาแผนงาน วิธีการเล่น และปรัชญาฟุตบอลของเขามาตีแผ่เป็นวงกว้าง ซึ่งถ้าใครยังจำปรัชญาฟุตบอลรังนิกในฐานข้อมูลชุดนั้นได้ คุณน่าจะพอนึกออกว่ามันทำให้แฟนบอล ยูไนเต็ด ฝันไปไกลเลยทีเดียว เพราะมันเป็นอะไรที่ทีมไม่เคยเห็นมานานแล้ว 

รังนิก คือโค้ชที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวทางการเล่นฟุตบอลแบบ เคาน์เตอร์-เพรสซิ่ง หรือในชื่อ เกเก้นเพรสซิ่ง ที่หลายคนรู้จัก โดยได้แรงบันดาลใจจากวิธีการทำทีมของ วาเลรี่ โลบานอฟสกี ยอดโค้ชชาวยูเครนผู้ถูกเรียกว่า "บิดาแห่งการเพรสซิ่ง" 

"หลักของ เกเก้นเพรสซิ่ง นั้นง่ายมาก" รังนิก เริ่มอธิบายฟุตบอลของเขา

"ขึ้นไปกดดันให้สูง ใช้วิธีการแย่งกลับและตอบโต้ที่เข้มข้นที่สุด เมื่อเราได้บอลเราจะไม่จ่ายกลับหลัง ผู้รักษาประตูจะไม่ใช่คนที่ได้สัมผัสบอลมากที่สุดเหมือนที่หลายทีมทำ เขาต้องเล่นให้น้อยจังหวะที่สุดและเป็นการเล่นด้วยเท้าเป็นหลัก"

"เกเก้นเพรสซิ่ง คือฟุตบอลที่รวดเร็ว เน้นเกมรุก บุกกดดัน โต้กลับ แย่งบอลคืน หากมีทีมใดทำได้มันจะกลายเป็นสไตล์ฟุตบอลที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานที่สุด" 

สิ่งที่ รังนิก พูดออกมาคือ "แก่น" ของฟุตบอลของเขา ไม่ว่าเขาจะคุมทีมไหนก็ใช้ปรัชญา นี้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่า ที่ ยูไนเต็ด เกเก้นเพรสซิ่ง ในแบบของ รังนิก เกิดขึ้นแค่ 25 นาทีแรกในการคุมทีมนัดแรกของเขากับ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เจอกับ คริสตัล พาเลซ เท่านั้น ... จากนั้นก็ไม่เคยเห็นแม้แต่เงา ซ้ำร้ายยังออกทรงเละเทะ แม้แต่แฟนบอลตัวเองก็จับทางไม่ถูก จะพูดแบบนั้นก็คงไม่เกินเลยไปนัก 

ต้นไม้ที่เรียกว่าแก่นฟุตบอลสไตล์ของเขา ที่ ยูไนเต็ด ถูกฝังลงในดิน แต่ดินไม่ดีพอ มันจึงไม่งอกงาม ปัญหามากมายเกิดขึ้นเมื่อนักเตะในทีมยูไนเต็ดตอนนั้น "ชอบเล่นแบบใช้พรสวรรค์" มากกว่าการเสียสละตัวเอง และลงเล่นด้วยทัศนคติที่ดี  

"สิ่งสำคัญของการสร้างฟุตบอลคุณภาพคือ เมื่อนักเตะอยู่ในสนามพวกเขาต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรยามที่ไม่มีบอลอยู่กับตัว ถ้าจะบอกว่าใครคือนักเตะที่ยอดเยี่ยม เราจะบอกเสมอว่าพรสวรรค์มีค่าแค่ 1% ที่เหลือคือคุณต้องทำงานให้หนักจนรากเลือด" รังนิก ว่าแบบนั้น ซึ่งที่ ยูไนเต็ด เขาทำไม่ได้ และสุดท้าย รังนิก ก็แยกทางหลังสัญญาการคุมทีมชั่วคราวจบลงเมื่อจบฤดูกาล 2021-22

ซ้ำร้าย รังนิก ถึงขั้น "เข็ด" จนขอยกเลิกข้อตกลงร่วมกันล่วงหน้าที่บอกว่าเขาจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของทีม ปีศาจแดง ภายใต้การคุมทีมผู้จัดการทีมคนต่อไป ซึ่งก็คือ เอริก เทน ฮาก เรียกได้ว่า รังนิก ถอนตัวออก 100% โดยเขาให้เหตุผลว่าเขาเห็นปัญหาในทีม แต่เขาไม่สามารถแก้ไขได้ 

Sky Sports สื่อเจ้าใหญ่ลงลึกไปอีกนิดว่า รังนิก มีปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจทางหน้าที่ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "ไม่มีสิทธิ์ขาด" ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ 

"ราล์ฟ รังนิก ยอมรับว่ามีการประนีประนอมมากเกินไปเกี่ยวกับ โรนัลโด้ ซึ่งไม่ใช่กองหน้าในสไตล์ที่ รังนิก ชื่นชอบเพราะขาดความเข้มข้นในการเล่นเกมรับในแดนบน ซึ่งเขาไม่มีสิทธิ์จะตัดโรนัลโด้ออกจากทีมได้เลย และนอกจากเรื่องของฟุตบอลยังมีเรื่องของปัญหาหลังบ้านที่ รังนิก ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในปัญหาที่เขามองเห็น" ซินนี่ บอสเวลล์ จาก Sky Sports ว่าแบบนั้น 

นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้คนที่ฟังแต่เรื่องราวของ รังนิก สมัยทำฟุตบอลทั้งในเยอรมันและกับกลุ่มทุนเร้ดบูล จึงไม่สามารถเห็นภาพได้เลยว่าจริง ๆ แล้วฟุตบอลของ ราล์ฟ รังนิก ที่เขาบอกกันว่าเพรสซิ่งเข้ม ๆ นั้นเป็นเช่นไร 

ทว่าสุดท้ายคำถามนี้ก็ไม่ต้องรอคำตอบนาน หลังจาก รังนิก ออกจาก แมนฯ ยูไนเต็ด เขาได้รับงานกับทีมชาติออสเตรีย ทีมระดับเกรด B ของ ยุโรป โดยตั้งเป้าหมายผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโร 2024 ให้ได้ ... ซึ่งบังเอิญว่า รังนิก ตอบคำถามนี้ได้ดีเกินกว่าที่ใครคาดหวังไว้อย่างมากเลยทีเดียว

 

คนที่ใช่สำหรับออสเตรีย 

ทำไม ออสเตรีย ต้องเลือก ราล์ฟ รังนิก ที่เพิ่งล้มเหลวกับ ยูไนเต็ด แถมยังไม่ได้ประสบความสำเร็จมากในฐานะของกุนซือ ? เริ่มแรกมีคำถามนี้เมือมีข่าวแต่งตั้งเขาในช่วงปี 2022 ซึ่งทางฝั่งออสเตรีย ก็ไม่ต้องรอให้แฟน ๆ มโนไปเองเมื่อ ปีเตอร์ ชล็อตเติล ผู้อำนวยการกีฬาของ สมาคมฟุตบอลออสเตรีย ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเรื่องนี้เอง

โดย ชล็อตเติล อธิบายว่า เขาพยายามมองหาโค้ชหรือคนที่เคยทำงานในเครือข่ายเร้ดบูลเป็นหลัก ซึ่งจากการปรึกษาของ คริสตอฟ ฟรอยด์ ที่ตอนนั้นเป็น ผอ.กีฬาของ เร้ดบูล ซัลซ์บวร์ก ทีมดังแห่งออสเตรีย (ปัจจุบันทำงานให้กับ บาเยิร์น มิวนิค) ก็บอกว่า ราล์ฟ รังนิก จะเป็นคนที่ออสเตรียมองหา 

"การคุยกันครั้งแรกเป็นไปด้วยความยากระดับหนึ่ง เพราะ รังนิก ค่อนข้างเครียดจากงานที่เพิ่งจบลงไปกับ ยูไนเต็ด รังนิก พยายามอธิบายเรื่องแนวทางการเล่นและปรัชญาฟุตบอลของเขาอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สุดท้าย ชล็อตเติล ก็ซื้อไอเดียของรังนิก เพราะชื่นชอบเรื่องการจริงจังกับการเดินไปยังเป้าที่ตั้งไว้ สร้างทีมด้วยแนวคิดเชิงบวก มีความดื้อรั้น ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ" อันเดรียส ฮาเกนเนาเออร์ นักข่าวที่ได้คุยกับ ชล็อตเติล ว่าแบบนั้น 

รังนิก ถามยัง ชล็อตเติล กลับว่า "ไม่มีคนอื่นที่ทำได้อีกแล้วเหรอ ?" เพราะเขาต้องการขอเวลาคิดสักพัก ... แต่เขาก็ไม่ได้เวลาไปครุ่นคิดแบบที่หวังไว้ เพราะ ชล็อตเติล ตอบกลับว่าไม่มี และงานของเขาก็เริ่มขึ้นในปี 2022 อย่างเป็นทางการ 

รังนิก ได้สิ่งที่เขาต้องการที่สุด คือสิทธิ์ขาดในการทำทีมอย่างเต็มที่ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ปรัชญาของเขาตอบโจทย์เป็นอย่างมาก ไหนจะเรื่องของนักเตะของ ออสเตรีย ชุดนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กจากอคาเดมี่ของฝั่งเร้ดบูล ซึ่งเป็นที่ที่รังนิกใช้เวลาทำงานและวางโครงสร้างที่นั่นในฐานะผู้อำนวยการฟุตบอลอยู่หลายปี นักเตะอย่าง ซาเวอร์ ชลาเกอร์ (เจ็บไม่ได้มายูโร), นิโคลัส ไซวัลด์, คอนราด ไลเมอร์, มาร์แซล ซาบิตเซอร์, ไมเคิล เกรกอริตช์ และอีกหลาย ๆ คน 

สิ่งที่ รังนิก อยากให้ทำจึงผลิดอกออกผลในแทบจะทันที ไม่ว่าจะในฟุตบอลเนชั่นส์ ลีก, บอลอุ่นเครื่อง หรือแม้กระทั่งยูโร 2024 รอบคัดเลือก ซึ่งถ้าใครยังจำกันได้ ออสเตรีย เข้มจัดถึงขนาดที่เอาชนะ เยอรมัน 2-0 และถล่ม ตุรกี 6-1 ตั้งแต่ รังนิก เข้ามาทีมได้แค่ไม่กี่เดือน 

The Guardian สื่อใหญ่จากอังกฤษขยายความต่อว่า สิ่งที่สร้างชัยชนะไม่ใช่แค่เรื่องของฟุตบอลล้วน ๆ แต่มันคือเรื่องการสร้างวินัยนอกสนาม การทำให้นักเตะทุกคนมีความเป็นมืออาชีพที่จ้างพนักงานส่วนต่าง ๆ ใหม่เพิ่มเติม ทั้งการจัดการเรื่องสื่อ การจ้างนักวิเคราะห์เพิ่ม เพื่อให้สถิติเชิงลึกเอามาใช้ในการปรับแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ในสนาม 

"ราล์ฟ รังนิก เหมือนนำบรรยากาศใหม่ ๆ ที่บริสุทธิ์ มาสู่ทีมฟุตบอล และรวมถึงสมาคมฟุตบอลออสเตรียด้วย พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะสร้างโครงสร้างฟุตบอลของตัวเอง แต่ก็ไม่เคยทำได้ การมาของรังนิกคือการผสมผสานที่สมดุล การผ่อนคลายในเรื่องที่ควรปล่อยผ่านไปได้ และการเคร่งครัดกับสิ่งที่จะส่งผลโดยตรงสู่การเดินไปยังเป้าหมาย" อันเดรียส ฮาเกนเนาเออร์ นักข่าวชาวออสเตรียขยายความ 

การหาคนที่จะมาวางโครงสร้างงาน ตรงทุกประการกับจุดเด่นของ รังนิก อีกทั้งการเคยทำงานในฝ่ายบริหาร ยังทำให้ รังนิก มองมากกว่าเรื่องของฟุตบอล เขาใช้มุมมองของนักบริหารจัดการแยกย่อยปัญหา และเสริมสร้างต่อยอดพื้นฐานที่มี จนที่สุด ออสเตรีย ก็เป็นอย่างที่เราเห็น พวกเขามีแนวทางที่โดดเด่นภายในเวลาไม่นาน จนกระทั่งมาฉายแสงสุด ๆ ในยูโร 2024 ครั้งนี้ 

 

ความแตกต่างสุด ๆ ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยได้เห็น

เมื่อไม่โดนแทรกแซง ได้สิทธิ์ขาด และร้องขอสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น ทำให้ ออสเตรีย กลายเป็นทีมที่สร้างผลงานได้เซอร์ไพรส์ (ในแง่บวก) ที่สุดทีมหนึ่งในยูโร 2024 ครั้งนี้ 

ความแข็งแกร่งในทุก ๆ พื้นที่ทุกสนาม ลักษณะการเข้าทำที่มีหลากหลายแบบ ไม่ยึดติดกับนักเตะคนไหนคนเดียว อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นจากนักเตะแต่ละคนที่เลือกเอาความสามารถเด่น ๆ ออกมาใช้ให้ตรงตามแท็คติก เช่น มาร์โก อาร์เนาโตวิช ในวัย 35 ปี ที่ถูกหยิบจับเอามาใช้ได้อย่างลงตัว 

เขาเปลี่ยนนักเตะที่มีความติสต์ที่สุดคนหนึ่ง ให้เล่นเกมรับในแบบฉบับฟุตบอลสมัยใหม่ได้ และหน้าที่การเล่นเกมบุกของ อาร์เนาโตวิช ยังไม่โดดเดี่ยว หันไปทางไหน จะมีคนที่คอยเข้ามาช่วยซ้อน เข้ามารอรับบอลเสมอ ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการสอนเรื่องการมูฟเมนท์และการเคลื่อนที่โดยไม่มีบอลที่ รังนิก พยายามจะติดตั้งให้กับ แมนฯ ยูไนเต็ด มาโดยตลอด แต่อย่างที่บอกว่าข้อจำกัดมากมาย ทำให้เขาไม่สามารถทำมันออกมาตามเป้าได้เลย ย้ำว่า "ห่างไกลจากสิ่งที่หวังอย่างสิ้นเชิง" 

"ผมบอกมาเสมอว่าเราอยู่กับความเป็นจริง ผมคิดว่าถ้าผมจะบอกว่าเราจะเป็นแชมป์ยูโรมันคงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก แต่คำว่ายากที่บอกก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะไม่สู้เพื่อมัน" 

"เราเป็นทีมที่กล้าหาญและมีพลังขับเคลื่อนที่ล้นเหลือ นักเตะของเรามีเป้าหมายตรงกันคือ เราจะไปยังเป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้ได้ โดยเราตั้งไว้ว่าเราจะไปให้ไกลที่สุด" รังนิก กล่าวหลังเกมเอาชนะ เนเธอร์แลนด์ 

แน่นอนว่าแนวทางที่ออกมาจึงแตกต่างกับเรื่องราวที่ ยูไนเต็ด ไปเป็นคนละเรื่อง ตอนนี้ รังนิก ได้ทำงานของเขาและโฟกัสกับงานล้วน ๆ ไม่ต้องมาตอบคำถามสื่อ ไม่ต้องโดนนักเตะตำนานของทีมตั้งคำถามเชิงลบให้ต้องคิดเยอะ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลงานออกมาจาก 3 เกมแรกในยูโร เรียกได้ว่านอกจาก ออสเตรีย จะแสดงความยอดเยี่ยมของขุมกำลังและรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนแล้ว คนที่สามารถลบคำสบประมาท และแสดงผลงานต่อหน้าสาธารณะชนได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ราล์ฟ รังนิก ... ที่กำลังพาออสเตรียโบยบินในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ในตอนนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.theguardian.com/football/article/2024/jun/15/how-ralf-rangnick-earned-austrias-respect-and-got-a-country-dreaming
https://www.nytimes.com/athletic/live-blogs/poland-austria-live-updates-euro-2024-score-result/jumHjF377SYT/sYZJEjf4Y9PK/
https://www.theguardian.com/football/article/2024/jun/25/ralf-rangnick-says-incredible-austria-side-are-not-ruling-out-euro-glory
https://www.skysports.com/football/news/11095/12623642/ralf-rangnick-will-not-take-up-consultancy-role-at-manchester-united

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ