ในปัจจุบัน สังคมได้มีการรณรงค์เรื่องการปราศจาก “การเหยียดผิว” อย่างอื้ออึง โดยเฉพาะในวงการฟุตบอล อย่างฟุตบอลโลก 2022 ได้มีการใส่ปลอกแขนกัปตันทีมที่ระบุคำว่า “No Discrimination” ที่แปลภาษาไทยได้ว่า “ต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว” หรือ “No Room for Racism” ที่แปลว่า “ไม่มีที่ทางให้การเหยียดผิว” สกรีนบนแขนขวาของชุดแข่งขันพรีเมียร์ลีก
แต่ถึงอย่างนั้น วงการฟุตบอลนี้เองที่เป็นภาพสะท้อนของการเหยียดผิวชั้นดี อย่างกรณีของกัลโช เซเรีย อา ที่มีการเหยียดผิวอยู่บ่อยครั้ง ขนาดที่ทำให้ มาริโอ บาโลเตลลี่ จอมเกรียนยังหลั่งน้ำตาออกมา หรือแม้แต่การทำท่าสับขาวิ่งเหยาะ ๆ ของ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ใส่นักเตะญี่ปุ่น มิวายได้รับการกล่าวหาว่าเหยียดคนเอเชียเสียด้วยซ้ำ
โดยทั่วไปนั้นวิธีการพิจารณาการเหยียดผิวมักจะตั้งต้นจาก “ปัจเจก” เป็นสำคัญ ในฐานะ “ตัวแสดงที่กระทำการ” ด้วยการให้เหตุผล อาจจะมาจากสังคม โครงสร้าง สถาบันการเมือง ชุดวิธีคิดที่หล่อหลอม หรือกระทั่งเป็นเรื่องที่เริ่มจากตัวเรา สันดานเสีย ขาดการอบรม หรือมีปมในวัยเด็กจึงทำให้ต้องมาเหยียดผิวคนอื่นเช่นนี้
กระนั้นยังถือว่าขาดการวิเคราะห์แนว “จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis)” ที่ถือได้ว่าเป็น “Third-party” ของการทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้ ทั้งที่ในงานศึกษาในโลกภาษาอังกฤษหรือโลกตะวันตกมีให้เห็นอย่างดาษดื่นมาครึ่งค่อนศตวรรษ
ร่วมติดตามแนวทางการวิเคราะห์นี้ไปพร้อมกับ Main Stand
* หมายเหตุ: ในบทความที่ท่านกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ ไม่ใช่ “จิตวิเคราะห์ 101” แต่ได้มีการอธิบายทฤษฎีโดยคร่าวเป็นเนื้อเดียวกับบทความ ดังนั้น เพื่ออรรถรสในการอ่านและความเข้าใจแบบทันท่วงที โปรดไล่อ่านเอกสารอ้างอิงในฐานะ Reading Lists ด้านล่างประกอบ หรือทางที่ดีกว่า คือหาอ่านเอกสารนอกเหนือจากที่แนะนำนี้ จะเป็นคุณแก่การขยายองค์ความรู้อย่างยิ่ง
ไปให้ไกลกว่าจิตวิทยาและโครงสร้าง
จิตวิเคราะห์นั้นเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจการกระทำที่อยู่ใน “จิตไร้สำนึก (Unconciousness)” โดยมุ่งศึกษาไปที่ “ซับเจกต์ (Subject)” เป็นสำคัญ โดยเป็นการให้ทางเลือกที่นอกเหนือไปจากการหมกมุ่นในปัจเจกและโครงสร้างหรือวาทกรรมบางอย่างในสายสังคมศาสตร์ไปอีกขั้น
“เพราะโดยปกติสังคมศาสตร์จะหมกมุ่นกับ Nature, Culture หรือ Society ที่เป็นการประกอบสร้างหรือประดิษฐกรรมทางสังคมบางอย่าง แต่จิตวิเคราะห์นั้นไม่ใช่ทั้งสามกรณี และนี่คือซับเจกต์”
ศาสตราจารย์ สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นักวิชาการคนสำคัญที่นำเข้าจิตวิเคราะห์แก่วงวิชาการไทยได้กล่าวไว้ในวิดีโอ In Their Views กับ สรวิศ ชัยนาม (III): จิตวิเคราะห์กับความเป็นซ้าย โดยสถาบันพระปกเกล้า
ซับเจกต์ที่ว่านี้ไม่ใช่ “สิ่งของ” หรือ “อะไรก็ได้” (แบบที่พวก Object-oriented ontology Ecocentrism หรือ Post-phenomenology นำเสนอ) แต่เป็นอะไรบางอย่างที่มี “ความขาด (Lack)” เป็นที่ตั้ง ด้วยคิดว่าในซับเจกต์นั้นขาดอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมี “ปรารถนา (Desire)” ในการสรรหา “การเติมเต็ม (Fulfilment)” อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แต่เพราะซับเจกต์ไม่ได้อยู่ในลักษณะ “เต็ม (Absolute)” มาก่อนหน้า ดังนั้นจึงเกิดความขาดมากขึ้น ๆ หรือไม่ก็เติมเต็มเสียจน “ล้นเกิน (Excessive)” ไม่จบไม่สิ้น
สรวิศยังกล่าวอีกว่า สิ่งนี้ได้ทำให้ “ซับเจกต์คือความไม่ลงรอยกับทั้ง Nature, Culture และ Society นี่คือความแปลกประหลาด ซับเจกต์ (ของมนุษย์) จึงมักทำให้ทำอะไรที่ไร้เหตุผล ขัดผลประโยชน์กับตนเอง หรือขัดขาตนเองโดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่บ่อยครั้ง”
ดังนั้นเมื่อเติมเท่าไรก็ไม่เต็ม ซับเจกต์จึงเป็นเหมือน “ชูชก” ตัวละครจากเวสสันดรชาดก ที่กินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม เพียงแต่ซับเจกต์ไม่ได้ท้องแตกตายคาวังแบบชูชก แต่กลับเติมอย่างไม่จบไม่สิ้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การตัดสินใจเลือกบนฐานของเหตุและผลหรือฐานทางเศรษฐศาสตร์นั้นไม่เกิดขึ้นแบบที่คาดหวังให้เกิดกับประชาชน เพราะท้ายที่สุดความปรารถนาเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึกที่กวาดไม่เลือก เพื่อจะมาเติมเต็มให้จงได้
ดังนั้นการตั้งต้นจากจิตวิเคราะห์ในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องที่ “หัก” หรือ “ไปให้ไกลกว่า” วิธีการสองแนวทาง ดังนี้
ประการแรกคือ จิตวิทยา (Psychology) ถึงจะขึ้นต้นด้วยคำว่า “จิต” เหมือนกัน รวมทั้งมีบิดาแห่งวิชานามว่า “ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)” เหมือน ๆ กันก่อนที่จะแยกทางกันเดิน โดยจิตวิเคราะห์ได้ถูกพัฒนาต่อผ่าน “ฌัคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan)” นักจิตบำบัด นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส ที่ไม่เคยเขียนหนังสือจิตวิเคราะห์เลย ส่วนมากข้อมูลที่ได้จะมาจากการตามรอยทางจาก “การบันทึกการสอน (Seminar)” ทั้งสิ้น
แต่สองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของ “หน่วยศึกษา” ในรายของจิตวิทยา หน่วยศึกษายังคงอยู่บนฐานของ “มนุษย์” ที่เป็นตัวแสดงในการคิด พิจารณา ตัดสินใจ และดำเนินการต่าง ๆ ด้วยสมองของ “ตัวมนุษย์เอง” หรือกล่าวให้ถึงที่สุด จิตวิทยาสนใจเบื้องลึกแห่งการกระทำของ “ปัจเจก” แบบโดด ๆ ไม่ว่าจะอธิบายผ่านสันดาน การหล่อหลอมความคิด การตัดสินใจ การกำหนดต่าง ๆ ที่เหมือนจะไกลไปจากปัจเจก แต่ท้ายที่สุดก็มักจะถ่ายทอดออกมาด้วยการมี “ตัวแสดง” ทั้งสิ้น
เช่นการถามบางคนว่า “เหตุใดจึงต้องเหยียดผิว ?” หากใช้จิตวิทยาในการไขคำตอบจะต้องศึกษาไปยังวิธีคิดของปัจเจก อาจจะสุ่มตามท้องถนน หรือเดินไปหากลุ่ม KKK หรือไม่ก็ไปศึกษาวิธีคิดของผู้นำฝ่ายขวาจัดหรือขวาประชานิยม อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์, ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี หรือ บิกตอร์ โอร์บัน ว่าเหตุใดจึงดำเนินนโยบายเช่นนั้น
แต่ไม่ใช่กับจิตวิเคราะห์ เพราะอาจจะถามต่อไปว่าเหตุใดคนถึงได้ “ลงใจ” ให้กับการเหยียดสีผิว ? “เสน่ห์” ของการเหยียดสีผิวคืออะไร ? หากการเหยียดผิวเป็นแค่สิ่งลวงหรือสิ่งที่มีคนจูงจมูกเราให้เชื่อที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ในเชิงชีววิทยา เหตุใดจึงยังแพร่หลายในสังคม ? เหตุใดมนุษย์ที่เปี่ยมสติปัญญาและการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลถึงไม่ละทิ้งไปให้สิ้น แม้จะกระทำได้ในทันที ? ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่สามารถที่จะตอบได้โดยวางอยู่บนฐานของปัจเจกเพียว ๆ ทั้งสิ้น
อีกประการคือเรื่องของ วาทกรรม (Discourse) ซึ่งเป็นศัพท์ทางสังคมศาสตร์ที่ Empty Talk และ Talk Big อย่างมาก แต่โดยคร่าว ๆ สิ่งนี้ทำงานโดยอิงแอบอยู่กับ “อำนาจ (Power)” หรือเป็นเรื่องของ “ใครใหญ่” ที่จะเป็นผู้ “ประกอบสร้าง” ชุดวิธีคิดบางอย่างที่เข้ามากำกับสังคมให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ หรือก็คือ “การหลอก” ประชาชนบางอย่างว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด จริงที่สุด เลิศที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสงสัย ผ่านการขัดเกลาโดย “สถาบันหลัก” ทางสังคมต่าง ๆ อย่างวาทกรรม “ชาติ ศาสตร์ กษัตริย์” ที่ใช้ประกอบสร้าง “ความเป็นไทย” และ “รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”
ซึ่งเป็นรอยทางต่อมาในคำอธิบายคลาสสิกของการเมืองไทยที่มักจะลงเอยกับ “ชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities)” ของ เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน ปรมาจารย์ด้านไทยศึกษา คณาจารย์ของคณาจารย์หลาย ๆ ท่านในประเทศไทย ว่าแท้จริงนั้นความเป็นไทยได้รับการสร้างขึ้นมาผ่าน “รัฐสมัยใหม่” โดยอิงจากการ “มีพื้นที่ร่วมกัน มีอดีตร่วมกัน และมีศัตรูร่วมกัน” ที่ถอดแบบนำไปใช้กับการอธิบายวัฒนธรรม “การเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทย” รวมถึงหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่เหมือนกับข้างต้น ลำพังการอธิบายว่าความเป็นชาติถูกสร้างขึ้นผ่านโครงสร้างต่าง ๆ และเป็นปัญหาของรัฐสมัยใหม่นั้นไม่เพียงพอ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ลงลึกไปว่า เหตุใดคนจึง “ยึดมั่นถือมั่น” การประกอบสร้างนี้อย่างเข้มข้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสิ่งนี้คือการประกอบสร้างนี้ไม่มีอะไรจริงตามชีววิทยา หรือพวกเขานั้น “โง่ ควาย ปัญญาอ่อน” มากเหลือคณาที่ใส่เสื้อเชียร์ทีมชาติ กระโดดเหย่ง ๆ ดีใจที่ชาติตนนั้นชนะ หรือกระทั่งใส่ไปไล่กระทืบคู่แข่งอีกชาติหนึ่งโดยไม่ตั้งข้องสงสัย
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่จิตวิเคราะห์จะหวนขึ้นมาเฉิดฉินในฐานะ “ทฤษฎีทางเลือก” ในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกอีกครั้ง หลังจากที่สิ้นชีพไปนานร่วมครึ่งศตวรรษ
โดยการจะเข้าใจการเหยียดผิวผ่านจิตวิเคราะห์ได้นั้นจะต้องเข้าใจวิธีคิดในเรื่องของ “ความสำราญ” และ “ความอดทนอดกลั้น” เป็นสำคัญ
ความสำราญที่ถูกช่วงชิง
ความสำราญ (Enjoyment : ซึ่งหลายกรณีจะอธิบายด้วยการเรียกว่า Jouissance [อ่านว่า ฌูยซ็องต์] แต่ศัพท์ดังกล่าวมีความซับซ้อนและรอยทางพิสดารกว่านั้น ณ ที่นี้จึงใช้ภาษาไทยเป็นว่าความสำราญทั้งหมดเพื่อป้องกันการสับสนระหว่างภาษา) เป็นศัพท์ทางจิตวิเคราะห์ของลาก็อง ซึ่งอาจจะหมายถึงการพึงพอใจกับบางสิ่งอย่างล้นเกิน หรือการพึงพอใจที่ได้ “แย่งชิง” บางสิ่งจากคนอื่นมา เพื่อเติมเต็มและลบความขาดของซับเจกต์ทั้งหลาย
ดังนั้นความสำราญจึงปรากฏเป็นนิจศีลในซับเจกต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่โหยหาการเติมเต็มจากความขาดของตนตลอดเวลา หรือก็คือ ซับเจกต์จะรู้สึกถึง “ความแปลกแยก” กับความสำราญของตน เพราะซับเจกต์ไม่เคยมีมันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยสักที และต้องตะโกนหาอยู่ตลอด (ไม่ขาดก็ไม่มีความสำราญ) โดยคิดไปเรียบร้อยแล้วว่าความสำราญของคนอื่นนั้นเต็มกว่าของตน หรือคนอื่นสามารถเติมเต็มความสำราญได้มากกว่าตนเอง
ดังที่ลาก็องตั้งข้อสังเกตถึงการส่องกระจกของทารกที่ดำเนินต่อเนื่องตลอดชีวิต ในการทำสำเนา (Identification) ว่าตนนั้นเต็มไม่มีขาด ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น ทำให้ต้องสรรหา “องค์รวม” ผ่านเงาสะท้อนของตนในกระจกอยู่ตลอดเวลา (ด้วยคิดว่าจะมาเติมเต็มได้)
ตรงนี้อุดมการร์ในโลกปัจจุบันที่ “ถือตน” ว่าเกี่ยวพันความเป็นองค์รวมมากที่สุด นั่นคือ “ชาตินิยม (Nationalism)” ซึ่งมีองค์ประกอบที่เรียกว่า “Je ne sais quoi” ที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “มีลักษณะที่ไม่อาจอธิบายหรือให้ความหมายได้โดยง่าย” นั่นทำให้ซับเจกต์คิดว่าจะกลายเป็นคนพิเศษ แหวกแนว แตกต่างจากคนอื่น ๆ ทำให้สามารถ “รวมหมู่” ซับเจกต์ทั้งหลายเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงการที่ชาตินั้นเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้ซับเจกต์มองตนเองในฐานะสิ่งที่อยากเป็น นั่นคือความเป็นองค์รวมและความถาวร ซึ่งคือสิ่งที่ขาดไปถือได้ว่า มนุษย์คือซับเจกต์แห่งความปรารถนา (แห่งชาติ)
แต่องค์รวมเรื่องความเป็นชาตินี้ อาจจะเรียกได้ว่า “Thing” ซึ่งให้ความสำราญได้อย่างเต็มสตรีมแก่ซับเจกต์ และถูกลดทอนลงเป็น “วิถี (Folk)” บางอย่างที่มี “ความพิเศษ” ให้ซับเจกต์ได้สำราญ เช่น อังกฤษ อาจจะเป็นฟุตบอล การไปผับ หรือ ไทย อาจจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ มวยไทย นั่นทำให้ซับเจกต์ “ยอมเป็นทาสโดยสมัครใจ” และยอมทนกับการกดขี่ครอบงำทั้งหลายแหล่ ขอเพียงแต่ Thing ไม่ถูกฉกฉวยไปเป็นพอ
หรืออาจกล่าวได้ว่า ความสำราญรวมหมู่ในชาติ ยึดโยงกับ “การเบียดขับซับเจกต์ที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ร่วมนี้ออกไป” ทั้ง ๆ ที่บางอย่างนั้นไม่ได้ยูนีคขนาดที่จะเป็น Thing ของชาติแต่อย่างใด เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งที่อื่น ๆ ในโลกก็มีอีกเพียบ แต่สิ่งนี้กลับเป็น Thing ของไทยที่ “แม้นใครคิดย่ำยี ข้าบาทธุลีขอพลีชีพแทน”
ที่ตลกร้ายก็คือ การที่ซับเจกต์จะตระหนักรู้ถึง Thing ของชาติได้นั้น ส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อ “ใกล้จะเสียไป” แม้ว่าซับเจกต์นั้นจะครอบครองไว้อยู่กับตนก็ตาม เพราะ “คนอื่น” ที่ไม่ได้มีความสำราญกับ Thing ของชาติแบบเรามักจะมาชิงไปเสมอ แม้เขาจะไม่ได้มาสำราญกับ Thing นี้ก็ตาม หรือก็คือ “ไม่โดนคุกคาม เท่ากับว่าสิ้นชาติ”
แต่การแย่งชิงนี้ไม่ได้เป็นไปในแบบที่คิดไปเรียบร้อยแล้วว่าคืออะไร แต่เป็นเรื่องของความสำราญ “ที่มากกว่า Thing แบบที่ซับเจกต์มี” สิ่งที่กวนใจเราที่ทำให้เราหงุดหงิดคือวิถีบางอย่างที่เขาจัดระเบียบความสำราญของเขา ซับเจกต์เกลียดความสำราญของคนอื่น เพราะเหมือนว่าคนเหล่านี้จะเข้าถึงความสำราญได้โดยตรง ขณะที่ซับเจกต์นั้นมีแต่ความขาด เข้าถึงได้ไม่เต็มร้อย เหมือนว่าพวกนี้กำลังสำราญอย่างล้นเกิน และพวกเขาไม่ควรสำราญขนาดนั้น
อย่างที่ สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Žižek) สโลเวเนียนบอยฝ่ายซ้าย หุ่นท้าทายความดัน หนวดเฟิ้ม ในลุคเสื้อยืดสุดชิค ที่สอนปรัชญาได้เล็กน้อย ได้แสดงทรรศนะในหนังสือ Against the Double Blackmail: Refugees, Terror and Other Troubles with the Neighbours ของเขา ความว่า
“สิ่งที่เข้ากันไม่ได้อย่างถึงที่สุดไม่ใช่เรื่องระหว่างความสำราญของเราและคนอื่น แต่เป็นเรื่องระหว่างความสำราญของเราและตัวเราเอง ซึ่งจะยังเป็นสิ่งรุกล้ำจากภายนอกที่แสนลึกซึ้ง (Extimate Intruder) ชั่วกัปชั่วกัลป์ เพื่อจะแก้ปมเงื่อนนี้ซับเจกต์ต้องนำแก่นแท้ความสำราญของตนเองทะลวงไปยังคนอื่น และตราหน้าว่าคนอื่นเข้าถึงความสำราญได้อย่างถึงเครื่องและเป็นอาจินกว่าเรา แน่นอนว่าเช่นนี้ซับเจกต์จึงอดที่จะอิจฉาริษยาไม่ได้ และในการนี้ซับเจกต์จะวาดวิมานถึงสวรรค์ (อุตมรัฐเปี่ยมความสำราญ) ที่ซับเจกต์ถูกกีดกัน”
นั่นหมายถึง การที่คนอื่นได้ “ฉกฉวย” ความสำราญของซับเจกต์ไป ที่ซับเจกต์เกลียดคนอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับความสำราญของซับเจกต์เอง ที่เหมือนจะไม่เต็มเสียที ดังนั้นตอนที่ซับเจกต์ขาดเป็นเพราะคนอื่นขโมยไปจากซับเจกต์ จึงจำเป็นที่จะต้อง “กู้คืน” ความสำราญคืนมา
ดังนั้นการแหกทุกปทัสถาน กฎหมาย และข้อตกลงเหนือชาติ โดยใช้ความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ อย่างสุดขีดต่อคนอื่นที่คิดว่าขโมยความสำราญของซับเจ็กต์ไป จึงเป็นสิ่ง (ที่คิดว่า) ชอบธรรมอย่างไร้เงื่อนไข
ฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งนี้คือการรวมหมู่ทางกีฬาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งนี้คือภาพสะท้อนของชาติที่เห็นเป็นประจักษ์แทบจะมากที่สุด จากการแข่งขันห้ำหั่นอย่างถึงพริกถึงขิงในสนาม (มากกว่าชาติตามแผนที่จริง ๆ ที่ไม่ได้รบกันมานานแล้ว มีแต่การเจรจาสันติภาพ)
นั่นคือ Thing ของฟุตบอล ที่บรรดาซับเจกต์ลงใจว่าจะนำมาซึ่งความสำราญอย่างล้นเกินแก่ตน แน่นอนว่าการแข่งขันที่ต้องมีคู่แข่งที่เป็นรูปธรรม คนอื่นที่จะเข้ามาขโมยความสำราญจึงก่อตัวขึ้นอย่างง่ายดายมาก
หรืออาจจะให้เหตุผลในทางที่ว่า ฟุตบอลไม่ต่างกับชาติ ในฐานะหน่วยย่อย หรือองค์ประกอบหนึ่งของการกู้คืนความสำราญของซับเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเหยียดผิวที่มาจากนโยบายของรัฐบาลบางอย่างที่ทำให้เกิด “การแซงคิว” ของซับเจกต์ที่กำลังสำราญในการ “ต่อคิว” อย่างอดทน เพื่อจะได้เติมเต็มให้ถึงฝั่งฝัน
แต่แล้วก็มี “คนดำ คนอพยพ คนลี้ภัย” เข้ามาร่วมสำราญใน Thing ของซับเจกต์ ตรงนี้ถือเป็นการ “ทรยศ” ของรัฐบาลอย่างมากที่นำ Thing ของชาติยื่นให้ศัตรู อย่างการเข้ามาพำนัก ทำงาน เป็นแฟนบอล หรือแม้กระทั่งประกอบอาชีพนักฟุตบอลให้ซับเจกต์กระโดดเหยง ๆ เชียร์อยู่ทุกสัปดาห์
แต่ลำพังเรื่องของความสำราญนั้นมีความนามธรรมเกินไป จึงจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความอดทนอดกลั้นร่วมด้วย
มาใกล้เกินมีโมโห
ในข้างต้น การนำมาซึ่งการเหยียดผิวถือได้ว่ามาจากการสรรหาความสำราญที่ขาดไปจากคนอื่นที่ซับเจกต์คิดว่ามาขโมยไปจากเราไปเพื่อนำมาเติมเต็มอีกครั้ง กระนั้นการจะเห็นได้ถึงความขาดและถวิลการเติมเต็มจากความสำราญอย่างล้นเกินของคนอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากพวกเขานั้น “ไม่ได้เข้ามาใกล้” ซับเจกต์มากจนเกินไป
ในโลกปัจจุบันเป็นโลกของ “พหุนิยม (Pluralism)” ที่ถือชุดคุณค่าของแต่ละขนบ ประเพณี วัฒนธรรม มีความ “เท่ากัน” โดยรากฐาน ไม่มีของที่ใดยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และต้องเคารพในความหลากหลายโดยไม่ใช้ไม้บรรทัดของเราไปตัดสินคนอื่น
นั่นหมายความว่า โดยแก่นแท้ของสิ่งนี้คือ “ความอดทนอดกลั้น (Tolerance)” ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้หลายฝ่ายอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบกระทั่งหรือก่อสงครามต่อกันและกัน อย่างการมองกฎหมายอิสลามที่มีการปาหินลงโทษสตรีก็จำต้องข่มจิตข่มใจไว้ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว หากมั่นใจในพหุนิยมจริง ๆ
หรือใกล้ตัวอย่างแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่มากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งและก่อตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่นี้ หากลงใจแก่พหุนิยมจริง ๆ ย่อมไม่ควรออกมาเรียกร้องให้ส่งคนพวกนี้กลับประเทศ เพียงแค่รู้สึกไม่พอใจที่คนเหล่านี้ไม่คุมกำเนิด คลอดเด็กออกมารัว ๆ จนเป็นภาระรัฐบาล หรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินจากพฤติกรรมบางอย่างของพวกเขา
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของการอดทนอดกลั้นทั้งสิ้น
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่พวกเหยียดผิวจะเกลียดความสำราญของคนอื่นที่มีผิวสีแตกต่างจากซับเจกต์ (ส่วนมากเป็นคนขาว) และเกลียดที่คนอื่นกีดกันความสำราญของพวกเขา ดังนั้นการเหยียดสีผิวอย่างถึงที่สุดจึงเป็นเรื่องที่สำราญมาก โดยเฉพาะในโลกพหุนิยมที่ถูกคาดหมายว่าคนในสังคมต้องเคารพความหลากหลาย ยึดถือสิทธิมนุษยชน อดทนอดกลั้นกับความต่าง
อีกทั้ง Cancel Culture หรือ Call-out ก็ยิ่งทำให้ความสำราญของพวกเหยียดผิวทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไป นั่นเพราะการดูหมิ่นเหยียดหยามกฎหมายหรือบรรทัดฐานทางสังคมทำให้พวกเหยียดผิวมีความสำราญในใจที่ได้ออกมา “กวนตีน” หรือ “สวนกระแส” สิ่งที่สังคมบ้าสิทธิมนุษชนแบบเสรีนิยมพยายามจะรณรงค์ให้เกิดขึ้น
ทำให้ความพยายามที่จะสรรหาสันติสุขโดยการลดระดับการเหยียดผิวลงนั้นกลับทำให้พวกเหยียดผิวผุดขึ้นมาพรวดพราดในสังคม ดั่งสำนวนที่ว่า “แสงยิ่งจ้า เงายิ่งชัด”
หรืออาจจะกล่าวได้ว่า พวกที่รณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวอย่างพวกสังคมพหุนิยมกำลังรู้สึกสำราญไปกับการเหยียดสีผิวในส่วนกลับไม่ต่างกัน ดังที่ชิเช็คได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Ticklish Subject ว่า
“สิ่งนี้คือลัทธิเหยียดผิวรูปแบบหนึ่งที่หลอกตนเองและกลายพันธุ์กลับหัวกลับหางภายใต้การขนานนามใหม่ว่าเป็นการเหยียดสีผิวที่มีระยะห่าง สิ่งนี้เคารพอัตลักษณ์ของคนอื่น มองคนอื่นเป็นชุมชนที่ไม่ขัดแย้งในตนเองอย่างเที่ยงแท้ ซึ่งทำให้นักพหุนิยมสามารถรักษาระยะห่างที่เกิดขึ้นได้จากการสมาทานตนเป็นอภิสิทธิ์ที่ลอยตัวเหนือความเป็นพหุต่าง ๆ”
หรือก็คือ สังคมพหุนิยมนั้นต้องการ “ระยะห่าง” ระหว่างตนเองกับวัฒนธรรมอื่น ๆ และวัฒนธรรมด้วยกัน โดยที่ตนเองนั้นถือว่า “อยู่เหนือ” พวกเขา เพราะได้ตระหนักรู้ถึง “ความแตกต่าง” และได้ทำการ “จัดแบ่ง” กลุ่มคนตามเผ่าพันธุ์และเชื้อชาติ โดยมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ตราบใดที่ไม่ได้ห้ำหั่นใส่กัน
ดังนั้นสิ่งนี้จึงไม่ใช่ทางแก้การเหยียดสีผิว เพียงแต่เป็นการกลบไว้ใต้พรมเฉย ๆ มิหนำซ้ำสิ่งนี้ยังอาจจะเป็นการเหยียดสีผิวแบบอำพราง ซึ่งอันตรายเสียยิ่งกว่าการด่าว่า “ไอ้ (ตัว) มืด ไอ้เม็ก (ซิกัน) หรือไอ้ (ผิว) เหลือง” ต่อหน้าเสียด้วยซ้ำ
กล่าวให้ถึงที่สุด พวกพหุนิยมแท้จริงแล้วมีความเกลียดกลัวความแตกต่างไม่ต่างจากพวกเหยียดผิว เพียงแต่แสดงออกมาในรูปแบบของความอดทนอดกลั้น ซึ่งก็คือการพยายาม “หลีกหนี” ไม่ให้ความสำราญของตนนั้นทะลวงไปหาคนอื่น และพุ่งกลับเข้ามาหาตนให้เกิดการปะทะกัน (อย่างที่ได้กล่าวไป)
เวนดี บราวน์ (Wendy Brown) ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีวิพากษ์แห่ง ยูซี เบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) ได้ให้ทรรศนะถึงเรื่องความอดทนอดกลั้นนี้ในหนังสือ Regulating Aversion: Tolerance in the Age of Identity and Empire ไว้ว่า
“ตำแหน่งอภิสิทธิ์ (ของความอดทนอดกลั้น) นี้ถูกหยิบยื่นโดยอำนาจที่ครอบงำอยู่เสมอ สิ่งนี้คือการแสดงออกของอำนาจที่ครอบงำอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่สัญญาว่าจะให้การปกป้องคุ้มครองหรือรวมคนที่มีอำนาจน้อยกว่าเข้ามาด้วย”
ดังนั้นความอดทนอดกลั้นจึงมี “เส้นแบ่งในตนเอง” หรือก็คือมีบางสิ่งที่ควรอดทนอดกลั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับโควตที่ว่า “โปรดอย่าล้ำเส้น! กลุ่มของพวกคุณต้องไม่ใกล้ชิดกับเรามากจนเกินไป เราจะอดทนอดกลั้นต่อคุณตราบเท่าที่ความสำราญของคุณเข้ากันได้กับเรา”
ดังนั้นจึงอาจจะอธิบายความได้ว่า เราจะไม่ได้รู้สึกว่าอะไรรอบตัวเรานั้นเป็นประเด็นตราบใดที่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นประเด็นนั้นไม่ได้เขยิบเข้ามาใกล้ตนมากขึ้นทุกขณะ เช่น เราสามารถอยู่คอนโดหรู ๆ ใจกลางทองหล่อได้สบาย ๆ ตราบใดที่ไม่ได้มีมัสยิดมาตั้งข้างคอนโดและสวดหาอัลเลาะห์ทุกเช้า หรือเราสำราญไปกับมหานครนิวยอร์กได้โดยที่รู้แน่ชัดว่าพวกคนผิวดำจะอยู่แต่ในเขต The Bronx เฉย ๆ ไม่ออกมาเพ่นพ่าน
ในทางกลับกัน หมายความว่ามีบางสิ่งย่อมไม่สามารถที่จะยอมได้ หากพวกเขาก้าวข้ามรั้วทางอารยธรรมบางอย่าง “ความรุนแรง (Violence)” ที่ถูกข่มจิตข่มใจไว้ก็จะปะทุออกมาเพื่อจัดการกับ “ภัยคุกคาม” นี้ หากคนพวกนี้ล้ำเส้นเมื่อไร ผลจึงออกมาอย่างที่ได้เห็นได้เข้าใจจากเหตุการณ์ในปัจจุบันที่เหมือนจะ “ถอยหลังลงคลอง” โดยไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าแบบที่โลกเสรีให้คำมั่นสัญญาไว้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือคำว่า “แจกเสรีนิยม” หรือ “แจกประชาธิปไตย” อย่างพวกอิสราเอล ที่อ้างว่าตนนั้นมีวัฒนธรรมเปิดกว้าง พวกเกย์หรือกระเทยเราต้อนรับหมด นั่นทำให้เราสูงส่งกว่าอารยะกว่า จึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการบุกไปปราบพวกปาเลสไตน์ที่เกลียดกลัวเกย์กระเทยอย่างเต็มขั้น
ฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน การรณรงค์ต่าง ๆ ของฟีฟ่า ยูฟ่า หรือลีกในประเทศต่าง ๆ นั้นได้กระทำตนในฐานะตัวแสดงของความอารยะแห่งพหุวัฒนธรรม ที่โอบรับความหลากหลายไว้ ผ่านแคมเปญต่าง ๆ (ที่ได้กล่าวไปข้างต้น)
รวมถึงมีการลงโทษนักฟุตบอลและบุคลากรต่าง ๆ ที่ส่อแววว่าไม่เคารพในหลักการนี้ อย่างการแบน หลุยส์ ซัวเรส ที่ไปด่า ปาทริช เอฟร่า ว่า “ไอ้มืด” หรือการตั้งข้อสงสัยกับ จอร์แดน แฮนเดอร์สัน ว่าทำการเหยียดผิว กาเบรียล มากาเญส (แต่เคลียร์แล้วว่าไม่เป็นความจริง)
กระนั้นในเรื่องของกาตาร์ที่ออกกฎห้ามนู่นนี่สารพัด ฟีฟ่ากลับทำตนเป็นพวก “มือถือสาก ปากถือศีล” วิจารณ์ยับแบบดุดัน ไม่เกรงใจใคร ซึ่งถือว่าขัดหลักการพหุนิยมพอสมควร หรืออาจจะตั้งคำถามต่อไปว่า พหุนิยม กลายเป็น Empty Talk หรือ Talk Big ไปแล้วหรือไม่ ?
ท้ายที่สุดนั้น จิตวิเคราะห์เป็นเพียง “วิธีการทำความเข้าใจ” ซึ่งไม่ได้ชี้ไปในทิศทางที่ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ “จริงแท้” หรือ “ต้องเชื่อโดยสนิทใจ” แต่อย่างใด
ไม่เช่นนั้นความเจริญงอกงามแห่ง “การคิดใคร่ครวญ (Contemplative)” สำหรับการสรรสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ คงจะหยุดนิ่งตายตัว ไม่ได้รับการพัฒนา และคิดต่ออย่างสถาพร ดั่งซับเจกต์ที่ “ถูกเติมจนเต็ม” จนกลายเป็นชูชกท้องโย้จากอาหารรับรองไปเสีย
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ อยากรู้แต่ไม่อยากถาม : ทุกสิ่งอย่างเรื่องการเมืองโลกกับ Lacan
หนังสือ Slavoj Zizek : ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย
หนังสือ ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง : ภาพยนตร์ฮอลลีวูดและการเมืองโลก
หนังสือ จักรวรรดิอเมริกา : ประวัติศาสตร์แบบทวนกระแส อัตลักษณ์ ชีวอำนาจ
หนังสือ จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์ : ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกสู่โลกภาพยนตร์
หนังสือ ฌ้าคส์ ลาก็อง : 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต
บทความ ลาก็องกับชาตินิยมไทย: ชัยชนะของใครหลังปรากฏการณ์ "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง"
https://www.youtube.com/watch?v=x4rog8C9vKw
https://www.youtube.com/watch?v=2k2ovuN4a1E