Feature

ซีนไม่มาต้องหาซีน : เมื่อ อัล นาสเซอร์ อาจกำลังคืนความเดือดใน "ริยาด ดาร์บี้" อีกครั้ง | Main Stand

นับเป็นเรื่องไม่ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยอดดาวยิงสัญชาติโปรตุเกส ได้โยกซบ “อัล นาสเซอร์ (Al-Nassr)” ยักษ์ใหญ่แห่งลีกสูงสุดซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับทำสถิติได้รับค่าเหนื่อยมากที่สุดในโลกเป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

 


แน่นอนด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ของลีก การลงทุนระดับนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือทำให้รู้สึกตื่นเต้นเรื่องการดูดนักฟุตบอลดีกรีระดับสูงมาเข้าทีมได้ บางรายแทบจะถวายตัวรับใช้นายเสียด้วยซ้ำ 

แต่คำถามที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ เหตุใดการลงทุนระดับสถิติจึงเกิดขึ้นตอนนี้ ? นอกเหนือไปจาก Space and Time ที่เหมาะเจาะ จากการที่โรนัลโด้ยกเลิกสัญญาพอดิบพอดีหรือการหาความท้าทายใหม่ ๆ ของเจ้าตัวแล้ว มีการให้เหตุผลแบบอื่นอีกหรือไม่ ? 

ซึ่งหวยไปตกอยู่ที่ “การคืนซีน” ให้กลับมาสู่อัล นาสเซอร์ และอาจจะทำให้ "ริยาด ดาร์บี้" กลับมาเดือดพล่านอีกครั้ง

เรื่องราวทั้งหมดนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา

 

ตัวตึงที่โดนตรึงแห่งริยาด

ก่อนจะไปวิเคราะห์เรื่อง “การคืนความเดือด” ให้กับริยาด ดาร์บี้ จำเป็นที่จะต้องเข้าใจรอยทางของ “ความไม่เดือด” ที่ผ่านมาเสียก่อน

ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่สโมสรฟุตบอลหนึ่ง ๆ จะมี "คู่แค้น" ชนิดไม่เผาผี โดยเฉพาะคู่แค้นร่วมเมืองเดียวกันหรือเวลาที่มีเกมการแข่งขันจะเรียกว่า "ดาร์บี้แมตช์" ที่จะมีการขับเคี่ยว ห้ำหั่น ประหัดประหาร ชิงดีชิงเด่นกัน ทำให้ความเดือดก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย 

ยิ่งกับ "ริยาด" ซึ่งเป็นเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียยิ่งแล้วใหญ่ เพราะสถานที่แห่งนี้ก็เป็นเหมือนกับเมืองหลวงในเอเชียทั่วไป นั่นคือเป็นศูนย์กลางของความเจริญ (ก่อนแพร่ออกไปยังที่อื่น ๆ) และแน่นอนว่ามันเป็นต้นกำเนิดพลวัตฟุตบอลทั้งมวลในดินแดนทะเลทรายแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ริยาด ดาร์บี้ จึงมีความเดือดพล่านไม่ต่างจากดาร์บี้แมตช์อื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก เพียงแต่ว่าความเดือดดังกล่าวเป็นเรื่องของ “เกมการแข่งขันในสนาม” โดยแทบจะไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือทะเลาะวิวาท ทั้งในและนอกสนามเหมือนกับอีกหลายดาร์บี้ที่อื่น หรืออาจจะเรียกได้ว่าดาร์บี้ของที่นี่เป็นเรื่องของ “ศักดิ์ศรีแห่งริยาด” ล้วน ๆ ไม่มีอะไรผสม

กระนั้นเดือดที่ว่าไม่ได้มากมายกลับมีรอยทางบางอย่างที่ “ดับความเดือด” ที่ว่านั้นไปอีกพอสมควร โดยประการแรก นั่นคือการ “โดนตรึง” ด้วยผลงานที่เหนือกว่าของคู่แค้นร่วมริยาดอย่าง “อัล ฮิลาล (Al-Hilal)”

โดย อัล นาสเซอร์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1955 โดย เซอิด บิห์น มุตลัค อัล จาบา อัล เดวิช อัล มูไทรี (Zeid Bin Mutlaq Al-Ja’ba Al-Dewish Al-Mutairi) และน้องชายของเขา ฮัสเซน (Hussain) โดยเลือกสถานที่บริเวณใจกลางกรุงริยาดที่มีลักษณะเป็นสวนใช้เป็นที่มั่นในการฝึกซ้อม 

อัล นาสเซอร์ เป็นภาษาอาหรับที่หมายความได้ว่า "ชัยชนะ (Victory)" ส่วนอาภรณ์ในการสวมลงแข่งขันนั้นเป็น “สีเหลือง-น้ำเงิน” ซึ่งมีนัยแอบแฝงว่า สีเหลือง หมายถึงทะเลทรายอันกว้างใหญ่ไพศาล ที่ประทานน้ำมันดิบดั่งทองคำให้แก่ชาวซาอุดีอาระเบีย ส่วน สีน้ำเงิน หมายถึงท้องทะเลสุดลูกหูลูกตาแถบคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งเมื่อรวมกันย่อมเป็นการเคลม “ภาพแทน” ของอาหรับทั้งปวง

ส่วนอีก 2 ปีถัดมา (1957) อัล ฮิลาล จึงได้ก่อตั้งขึ้นโดย อับดุล เราะห์มาน บิห์น ซาอัด บิห์น ซาเอ็ด (Abdul Rahman bin Saad bin Saeed) ในชื่อว่า “สโมสรโอลิมปิก (Olympic Club)” ก่อนที่ในปีต่อมา สมเด็จพระราชาธิบดีซาอูด บิน อับดุล อาซิซ อัล ซาอูด (Saud bin Abdulaziz Al Saud) จะพระราชทานนามให้เสียใหม่แบบที่ใช้ในปัจจุบัน

ซึ่งอัล ฮิลาล ก็เป็นภาษาอาหรับที่แปลหมายความได้ว่า “จันทร์เสี้ยว (Crescent)” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามแบบที่คุ้นตา ทั้งยังมีความหมายอีกอย่างแอบแฝง นั่นคือการพระราชทานนามให้เช่นนี้เหมือนเป็นการรับสโมสรเข้ามาอยู่ “ในพระบรมราชูปถัมภ์” แบบห่าง ๆ (ไม่เหมือนการใส่ เรอัล นำหน้าสโมสร) แต่ภายหลังสโมสรได้เติม “ซาอุดี (Saudi)” พ่วงท้าย เพื่อเป็นการระลึกถึง “ราชวงศ์ซาอูด” 

และนี่เป็นจุดเริ่มแรกที่ อัล ฮิลาล ขิงใส่ อัล นาสเซอร์ ได้ว่า “เป็นไง พวกเรามีกษัตริย์หนุนนะเว้ยเฮ้ย!”

แต่แล้วภายหลังปี 1960 พระองค์เจ้า อับดุล เราะห์มาน บิน ซาอูด อัล ซาอูด (Abdul Rahman bin Saud Al Saud) แห่งราชวงศ์ซาอูด ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง “ประธานสโมสร” โดยตรง จึงนับว่า อัล นาสเซอร์ เป็นสโมสร “ในพระอุปถัมภ์” ที่เจ้าชายทรงลงมาเล่นบทบาทเชิงรุกด้วยพระองค์เอง ดีกรีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า อัล ฮิลาล เลยทีเดียว

ทำให้ อัล นาสเซอร์ อาจจะสวนกลับได้ว่า “นี่ไง พวกเราก็มีเจ้าชายหนุน แถมเปิดตัวเปิดใจด้วย ไม่ได้หลบ ๆ ซ่อน ๆ แบบพวกเอ็ง”

แต่ในช่วงแรก อัล นาสเซอร์ และ อัล ฮิลาล ยังคงลงแข่งขันในระดับสมัครเล่น เพราะฟุตบอลภายในประเทศยังไม่ก่อรูปการแข่งขันแบบอาชีพขึ้นมา ทำได้เพียงส่งทีมลงแข่งขัน “คิง คัพ” ซึ่งเป็นฟุตบอลถ้วยแบบเดียวกับ เอฟเอ คัพ ของอังกฤษ 

แม้จะก่อตั้งมาก่อนใครเพื่อนและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าขุนมูลนาย หากแต่เมื่อลงแข่งขันจริง ๆ กลับเละเทะไม่เป็นท่า โดยก่อนเข้าคริสต์ทศวรรษ 1970 อัล นาสเซอร์ ไม่สามารถคว้าโทรฟีนี้ได้เลย ส่วน อัล ฮิลาล คว้ามาได้ 2 ครั้ง ปล่อยให้สโมสรตัวแทนจากเมืองอื่น ๆ ผลัดกันเชยชมเป็นว่าเล่น

ก่อนที่ในปี 1974 ลีกสูงสุดระดับอาชีพของประเทศได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในชื่อว่า ซาอุดี ทวิ ลีก (Saudi Categorization League) โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ทีม ก่อนที่จะคัดอันดับที่ 1 ของแต่ละกลุ่มมาแข่งขันหาแชมป์ (จริง ๆ ก่อนหน้านั้นในฤดูกาล 1968-69 มีการแข่งขัน Saudi Premier League แต่แข่งแบบแพ้คัดออก ซึ่งไม่ใช่ลีกแต่เป็นเหมือนถ้วย ก. ของไทย)

โดยฤดูกาล 1974-75 อัล นาสเซอร์ หลังจากที่นั่งอมทุกข์ชายตาแลความสำเร็จมานาน ก็มาเสร็จสมอารมณ์หมายคว้าแชมป์ไปครอง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการไล่ถลุง อัล ฮิลาล ไป 3-1 อีกด้วย 

แต่นั่นเป็นเพียง “ภาพลวงหลอกตา” ที่สร้างขึ้นมาให้ อัล นาสเซอร์ ตายใจ เพราะหลังจากนั้น อัล ฮิลาล แทบจะเรียกได้ว่า “เก็บเรียบ” ทั้งฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วย โดยรวมการคว้าแชมป์ลีกไปได้มากถึง 18 สมัย มากที่สุดในประเทศ

ทั้งยังมีแชมป์ถ้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (Crown Prince Cup) ไป 13 สมัย ส่วนคิง คัพ คว้าไปเพียง 9 สมัย เพราะต้องสยบแก่เทพเจ้าแห่งรายการนี้อย่าง อัล อาห์ลี (Al-Ahli) ที่คว้าไป 15 สมัย

ส่วนอัล นาสเซอร์ แม้จะคว้าแชมป์ลีกเป็นอันดับ 2 ที่ 9 สมัย หากแต่รายการอื่น ๆ อย่างคิง คัพ และถ้วยพระบรมโอรสาธิราชกลับคว้าไปเพียง 6 และ 3 สมัยตามลำดับ ซึ่งถือว่าห่างชั้นกับคู่แค้นอย่างมาก 

ยังไม่นับรวมผลงานในระดับฟุตบอลถ้วยสโมสรทวีปเอเชีย ที่ อัล ฮิลาล คว้ามาได้ถึง 4 สมัย แต่ อัล นาสเซอร์ กลับทำได้ดีที่สุดเพียงแค่ “รองแชมป์” ในฤดูกาล 1995

เพียงเท่านี้ก็ทำให้สามารถเรียกได้ว่า อัล นาสเซอร์ แทบจะ “ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด” บนผืนแผ่นดินริยาดมาร่วมครึ่งศตวรรษเลยทีเดียว 

แต่นั่นไม่ใช่การให้เหตุผลเพียงประการเดียว หากแต่ “ปัจจัยภายนอก” ได้เข้ามากระทบชิ่ง อัล นาสเซอร์ เช่นกัน

 

เหลือง-น้ำเงิน หรือจะสู้ เหลือง-ดำ

อาจจะบอกได้ว่าผลงานของพลพรรคเหลือง-น้ำเงิน นั้นเทียบกับคู่แค้นไม่เห็นฝุ่น หากแต่นั่นเป็นเพียงปัจจัยในกรุงริยาดเท่านั้น แต่ “ภัยคุกคาม” ที่แท้จริงกลับมาจาก “เมืองเจดดาห์ (Jeddah)” เมืองใหญ่ลำดับที่ 2 อีกฟากหนึ่งที่ห่างกันกว่าพันไมล์ของประเทศ โดยสโมสรที่มา “แย่งซีน” ความเดือดไปนั้นมีชื่อว่า “อัล อิตติฮัด (Al-Ittihad)”

โดยอัล อิตติฮัต นี้เป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ก่อตั้งในปี 1927 ผ่านการลงนามพหุภาคีสมาชิกชมรมคนชอบฟุตบอลแห่งกรุงเจดดาห์ 13 คน มีสีหลักประจำสโมสรคือเหลือง-ดำ

โดยชื่อสโมสรเป็นภาษาอาหรับมีความหมายว่า “สหภาพ (Union) หรือการรวมเป็นหนึ่ง (United)” ซึ่งมีที่มาจากหนึ่งในสมาชิกนามว่า มาเซ็น โมฮัมเหม็ด (Mazen Mohammed) ที่ได้กล่าวในที่ประชุมหลังมีมติว่า 

“ตราบที่เรายังพร้อมหน้ากันอยู่ที่นี่ ขอให้ชื่อสโมสรว่า อัล อิตติฮัด กันเถิดสหาย”

ด้วยความที่ก่อตั้งก่อนใครเพื่อน ในช่วงแรกสโมสรจึงเป็นเหมือนการสันทนาการ เตะฟุตบอลขำ ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะไปสรรหาคู่แค้นมาจากที่ใด แต่ภายหลังจากมีการก่อตั้ง คิง คัพ ขึ้นในช่วงปลายยุค 1950s ถึงกลาง 1960s ก็ถือได้ว่า อัล อิตติฮัด ได้สถาปนาความเป็นเจ้าของรายการนี้ โดยคว้าไป 5 สมัย และนับจนถึงปัจจุบันก็คว้าไปแล้ว 9 สมัย เป็นอันดับที่ 2 ร่วม (กับอัล ฮิลาล)

และยิ่งไปกว่านั้นการเกิดขึ้นของลีกอาชีพสูงสุดแม้ในช่วงแรก ๆ สโมสรจะยัง “ไก่อ่อน” ให้สองทีมจากริยาด และคู่แค้นร่วมเมืองอย่าง อัล อาห์ลี ปาดหน้าเค้กชูโทรฟีเป็นว่าเล่น หากแต่เมื่อเข้าสู่ยุค 2000s เป็นต้นมา กลับเร่งคว้าแชมป์รัว ๆ จนได้ถ้วยแชมป์มาประดับตู้โชว์สโมสรถึง 8 ถ้วย เป็นอันดับที่ 3 (รองจาก อัล นาสเซอร์ และ อัล ฮิลาล)

รวมถึงการผงาดขึ้นมาเป็นสโมสรระดับแนวหน้าในฟุตบอลสโมสรเอเชีย โดยคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาล 2004 และ 2005 รวมถึงในการแข่งขันโซนตะวันตกที่สามารถเข้ารอบลึก ๆ ได้บ่อยครั้ง จนได้รับการขนานนามว่า “ราชันย์แห่งเอเชีย” เลยทีเดียว

นั่นทำให้การแข่งขันที่ปะทะกับ อัล ฮิลาล ได้รับการขนานนามในภายหลังว่า “เอล กลาสิโก” เนื่องจากทั้งสองสโมสรประคองความยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน อัล ฮิลาล ทำได้ก่อน ส่วน อัล อิตติฮัด แม้จะมาเร่งภายหลัง แต่จากความเก่าแก่และความร้อนแรงจึงทำให้การปะทะกันนั้นมีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าทวี โดยทิ้ง อัล นาสเซอร์ ไว้อยู่เบื้องหลัง

หรือแม้กระทั่งการยกสถานะให้เป็น เอล กลาสิโก ระหว่าง อัล นาสเซอร์ ปะทะ อัล อาห์ลี ที่มาจากริยาดและเจดดาห์เช่นเดียวกันก็ไม่อาจเกิดขึ้น แม้ผลงานจะไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันกับ อัล ฮิลาล และ อัล อิตติฮัด แต่ “สตอรี่” บางอย่างของ อัล นาสเซอร์ ก็ยังคงขาดหายไป นั่นคือการเป็นทีมภาพแทนแบบ “ขั้วตรงข้าม” อย่างชัดเจน

เพราะว่าทั้ง อัล นาสเซอร์ และ อัล อาห์ลี ต่างเป็นสโมสร “เชื้อเจ้า” ทั้งนั้น การปะทะกันจึงเหมือนกับ “คนรวยปาของเล่นใส่กัน” ต่างกับ อัล อิตติฮัด ที่ก่อตั้งมาจาก “ประชาชน (ฐานะโคตรรวย)” ปะทะกับ อัล ฮิลาล ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ทางอ้อม ที่มีเรื่องของความแตกต่างทางด้าน “ชนชั้น” อย่างชัดกว่ามาก และทำให้ อัล นาสเซอร์ ที่เป็นของเจ้าชายจึงมีศักดิ์และสิทธิน้อยตามไปด้วย

แม้ ริยาดดาร์บี้ จะลดดีกรีความเดือดไปด้วยปัจจัยภายนอก กระนั้นอย่าได้ลืมว่า “ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง” เพราะบางครั้งสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดกลับอันตรายที่สุด

 

สิงโตนวลข่วนอัศวินนาจิด

เรื่องราวของดาร์บี้แมตช์นั้นส่วนมากจะเกิดขึ้นกับ “สองทีม” เป็นสำคัญ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Third-party ย่อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เช่น อิสตันบูล ดาร์บี้ ที่สมัยก่อนมีเพียง กาลาตาซาราย ปะทะ เฟเนร์บาห์เช่ แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งจึงได้มี เบซิคตัส เกิดขึ้น หรือกระทั่ง ลอนดอน ดาร์บี้ ที่สมัยก่อนอาจจะนึกถึง อาร์เซนอล ปะทะ สเปอร์ส แต่ปัจจุบันก็มี เชลซี ฟูแลม เบรนท์ฟอร์ด หรือ เวสต์แฮม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แน่นอนว่าในซาอุดีอาระเบียก็เช่นเดียวกัน ริยาดไม่ได้มีแต่ อัล นาสเซอร์ และ อัล ฮิลาล เท่านั้นที่เป็นยักษ์ใหญ่ หากแต่ในกาลต่อมาได้มีสโมสร “อัล ชาบับ (Al-Shabab)” ขึ้นมาสมทบ

จริง ๆ แล้ว อัล ชาบับ ก่อตั้งมาก่อนใครในริยาดในปี 1947 โดยมีลักษณะการก่อตั้งคล้าย อัล อิตติฮัด ที่มาจากการประชุมสมาชิกพหุภาคี ซึ่งโดยสรุปจึงลงมติให้ใช้ชื่อสโมสรว่า อัล ชาบับ ที่มีหมายความว่า “พลังหนุ่ม” โดยได้รับฉายาประจำสโมสรว่า “สิงโตนวล”

แม้จะเก่าแก่ แต่สโมสรถือได้ว่า “โนเนม” อย่างมากในช่วงแรก ต้องรอจนถึงช่วงยุค 1990s ผลงานของทีมจึงกระเตื้องขึ้น โดยสามารถคว้าแชมป์ลีกไป 3 สมัยรวด ก่อนจะมาบวกเพิ่มได้อีก 3 ครั้งในช่วงหลังยุค 2000s 

แต่การที่เครื่องร้อนช้าเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อเสีย แม้เรื่องของประวัติศาสตร์ที่นำไปโม้ไม่สามารถเทียบได้กับพลพรรค “อัศวินนาจิด” ซึ่งเป็นฉายาของ อัล นาสเซอร์ ได้ แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือ “การพยายามสร้างสตอรี่” ของ อัล ชาบับ เอง 

เนื่องจากสโมสรไม่ได้มีอะไรเป็นทุน ดังนั้นความตั้งใจจึงมีมากกว่าทีมที่มีทุนเต็มกระบุงก่อนหน้าแบบ อัล นาสเซอร์ ในช่วง 10 ปีหลัง อัล ชาบับ จึงตั้งปณิธานไว้ว่า อัล ฮิลาล ถือเป็นคู่แค้นที่สถาปนาขึ้นใหม่ที่เจอเมื่อไรต้องใส่ไม่ยั้งถึงลูกถึงคนแน่นอน ต่างกันกับ อัล นาสเซอร์ ที่ไม่ต้องทำอะไรมากมาย อย่างไรแฟนบอลก็กล่าวขานเรื่องการปะทะกันใน ริยาด ดาร์บี้ มานานนม

ความพยายามนี้ได้ประสบผลสำเร็จถึงขนาดได้รับการขนานนามว่า “ดาร์บี้ใหม่แห่งริยาด (Riyadh's new derby)” เลยทีเดียว เรียกได้ว่ามาแรงแซงทางโค้ง โดยทิ้ง อัล นาสเซอร์ ให้นั่งตาละห้อย ชายตาแลความเดือดนี้ไปทีมเดียว

 

มีโรนัลโด้ช่างโก้จริง ๆ

เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์จึงทำให้พอมองเห็นหนทางในการคลายปมบางประการเกี่ยวกับคำถามที่ว่า เหตุใด ริยาด ดาร์บี้ จึงลดความเดือดดาลลงไป โดยสามารถให้เหตุผลได้ 3 ประการดังนี้ 

อย่างแรก อัล นาสเซอร์ ถูกทิ้งห่างไปไกลสุดกู่จาก อัล ฮิลาล คู่แค้นของตน อย่างที่สอง ปัจจัยภายนอกอย่าง อัล อิตติฮัด ที่มีสตอรี่ว่าด้วย “ทีมของประชาชน” ซึ่งสามารถ Romanticise การปะทะกับ อัล ฮิลาล ในเอล กลาสิโก ได้ชัดเจนกว่ามาก และอย่างสุดท้าย อัล ชาบับ มีความพยายามสร้างสตอรี่ขึ้นมาเพื่อขึ้นมาอยู่ใน ริยาด ดาร์บี้ แทนที่

จากสามข้อนี้ทำให้คิดได้ว่า อัล นาสเซอร์ มืดแปดด้าน และไม่ได้มีความพิเศษใด ๆ ที่จะก้าวขึ้นมามีซีนในฟุตบอลซาอุดีอาระเบียได้ แม้ทีมจะสามารถโม้ได้ว่า “พวกเราเป็นแชมป์ลีก 9 สมัยนะโว้ย!” 

แชมป์ครั้งล่าสุดในฤดูกาล 2018-19 ทีมกลับเบียด อัล ฮิลาล ไปเพียง 1 คะแนน โดยมาแซงใน 3 แมตช์สุดท้าย และใน 3 ฤดูกาลหลังสุด อัล ฮิลาล ก็เก็บแชมป์เรียบเสียด้วย คิง คัพ ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะไม่ได้สัมผัสมาตั้งแต่ปี 1990 หรือกว่า 32 ปีมาแล้ว

แต่กระนั้นสิ่งเดียวในโลกที่สามารถ “แฮ็ก” แทบจะทุกสิ่งทุกอย่างและเสกให้เห็นตรงหน้าได้ในทันตา ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจาก “กำลังทรัพย์” โดยเฉพาะ อัล นาสเซอร์ ที่แทบจะรวยที่สุดไม่เพียงแต่ในประเทศ แต่เป็นระดับเอเชียเสียด้วยซ้ำไป

เมื่อเป็นทีมเงินถุงเงินถัง การใช้จุดเด่นตรงนี้เพื่อการ “หาซีน” จึงไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะแทบจะเป็นวิธีเดียวที่อาจทำให้ อัล นาสเซอร์ จะกลับมาสั่นสะเทือนลีกสูงสุดในประเทศอีกครั้ง หลังจากปล่อยให้ตะเข้ตะโขงหยิบชิ้นปลามันไปกินพอสมควร

ดังนั้นการได้ลายเซ็นของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มา อาจคิดได้ว่าเป็น “หมุดหมายสำคัญ” ประการหนึ่ง ในการช่วงชิงการแข่งขันสุดดุเดือดเลือดพล่านกับ อัล ฮิลาล จาก อัล อิตติฮัด และ อัล ชาบับ ให้สมกับคำที่แฟนบอลเรียกว่า ริยาด ดาร์บี้

โรนัลโด้ แม้ยังไม่ทันจะลงฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมอัล ฮิลาล แต่ก็เริ่มแผลงฤทธิ์ “นอกสนาม” อย่างที่ไม่ได้เห็นมานานใส่ อัล นาเซอร์ นั่นคือ อัล ฮิลาล ได้ทำการโพสต์รูปชุดแข่งขันของตนเองที่สกรีนเบอร์ 10 และชื่อ “เมสซี่” แขวนไว้เรียงรายในร้านของสโมสร 

แน่นอน เมสซี่ไม่ได้เป็นนักเตะโควตาต่างชาติรายใหม่ของ อัล ฮิลาล แต่อย่างใด การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะของ “การแซวหรือแซะ” คู่แค้นตลอดกาล โดยยืมมือ Public Debate เข้ามาเป็นเครื่องมือได้อย่างถึงเครื่อง

เพราะในทศวรรษหลังมานี้ การถกเถียงกันว่า โรนัลโด้ หรือ เมสซี่ ใครเทพกว่ากัน เป็นเรื่องปกติในสังคม แถมยังไม่อาจได้ข้อสรุปโดยง่าย กระนั้นการยืมชื่อเมสซี่มาสกรีนลงบนเสื้อของอัล ฮิลาล คือการบ่งบอกถึง “การขิง” บางอย่าง ว่าทีมตนนั้นไม่ได้เกรงกลัวอะไรต่อโรนัลโด้แม้แต่น้อย

การกระทำเช่นนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าเป็นเพราะโรนัลโด้ปฏิเสธดีลของอัล ฮิลาล ไปย้ายซบคู่แค้นของตนเองแบบหน้าตาเฉย ทั้งที่อัตราการจ่ายค่าเหนื่อยแทบจะอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็ได้มีการออกมาปฏิเสธภายหลัง

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามนั่นหมายความว่า “ความเป็นอริ” ระหว่างยอดทีมแห่งริยาดนี้มีความเป็นไปได้ที่จะปะทุออกมา ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเป็นเช่นไรก็ตามที

เป็นที่น่าจับตาว่าการเหยียบพื้นหญ้าครั้งแรกที่สนามมหาวิทยาลัยคิง ซาอูด (King Saud University Stadium) สนามของอัล นาสเซอร์ ของ โรนัลโด้ ผลงานจะออกมาเป็นเช่นไร และการไปเยือนสนามพรินซ์ ไฟซาล บิห์น ฟาฮัด (Prince Faisal bin Fahd Stadium) สนามของอัล ฮิลาล ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2023 นี้ จะได้รับการต้อนรับ “อย่างสาสม” โดยแฟนบอลเจ้าถิ่นมากน้อยเพียงใด และผลงานในสนามจะเดือดพล่านขนาดไหน

การตัดสนใจของ อัล นาสเซอร์ ที่พยายามให้เหตุผลมาทั้งหมดนี้ ท้ายที่สุดจะประสบผลสำเร็จมากน้อยขนาดไหน คำตอบจะไปปรากฏเมื่อเวลานั้นมาถึง

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.the-afc.com/en/club/afc_champions_league/news/great_asian_derbies_al_hilal_vs_al_nassr_riyadh.html 
https://www.aljazeera.com/sports/2022/11/26/al-hilal-the-engine-of-the-saudi-arabias-world-cup-team#:~:text=Founded%20in%201957%2C%20Riyadh%2Dbased,League%20for%20an%2018th%20time. 
https://www.aljazeera.com/news/2022/12/31/who-are-al-nassr-cristiano-ronaldos-new-team 
https://www.goal.com/en/news/derby-days-the-riyadh-version/1goo3imd8g4mx1hfw070kjdrak 
https://web.archive.org/web/20130428005307/http://www.fifa.com/classicfootball/clubs/rivalries/newsid=1142822/index.html 
https://uk.sports.yahoo.com/news/al-hilal-put-lionel-messi-115251035.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAG0_N8vtpuXCy9qJqs-GfZXniYwo7CZAprG76FP8d-FlDfwmKGo32kvgbWjmsijiPS_6WaCEVoZQ2vPHN8GQmOpaY1UmyD94EBM7RrD62uDbbzCFmNtJSTHfK49RrhBRc5k3MvFjg8-U0hc4JhZqcsUJuBnad5hEizKDDgAKEbaB 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ