Feature

โซฟียาน อัมราบัต : กลางรับสุดเนื้อหอม จากวิถีการเล่น "ทั้งชนทั้งจ่าย" ได้หมด | Main Stand

เชื่อได้เลยว่า ภายหลังจากจบศึกยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญย่อมเทไปทาง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่เป็นผู้ชนะในรายการนี้ แต่ทีมผู้ปราชัยอย่าง ฟิออเรนติน่า (ACF Fiorentina) ก็มีความโดดเด่น เล่นสวยงาม และพับสนามบุกฝ่ายเดียว จนเกินจะเชื่อว่านี่คือทีมจากอิตาลี ชนิดที่หากไม่เกิด "ปาฏิหาริย์" จริง ๆ พลพรรคม่วงมหากาฬก็อาจเป็นฝ่ายกำชัยได้

 


โดยเฉพาะในแดนกลางที่มีความโดดเด่นเกินหน้าเกินตา พวกเขาสามารถเก็บแดนหน้าและแดนกลางของเวสต์แฮมได้อย่างอยู่หมัด แถมยังมีการขึงเกม เพรสซิ่ง ชนิดไม่เกรงคู่แข่ง และหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญที่บัญชาการตรงแดนกลางมีนามว่า " โซฟียาน อัมราบัต (Sofyan Amrabat)"

เขาโด่งดังจากการพา โมร็อกโก คว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลก 2022 การเล่นของเขามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ได้เป็นแค่กลางรับทื่อ ๆ ยืนตัดบอล หากแต่ได้มีการเสริมสกิลการออกบอล จ่ายแม่น หรือคิลเลอร์พาส ที่ส่งผลให้เขาเป็นนักเตะแดนกลางที่เนื้อหอมที่สุดที่ทีมยักษ์ใหญ่อยากได้ไปครอบครอง ไม่ว่าจะเป็น บาเยิร์น มิวนิค, ลิเวอร์พูล หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีข่าวหนาหูที่สุด ณ ตอนนี้

เกิดอะไรขึ้น ? รอยทางการผสานวิถี "ทั้งชนทั้งจ่าย" นี้มีความเป็นมาและตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

คิดแต่จะเป็นน้องของพี่เท่านั้น

หากเอ่ยถึงนามสกุล อัมราบัต แฟนบอลที่รับชมฟุตบอลแบบเจาะลึกสักเล็กน้อยก็อาจไม่ได้นึกถึง โซฟียาน เป็นลำดับแรก และอาจคุ้นเคยกับ "นอร์ดิน อัมราบัต" อดีตแนวรุกที่เคยมาวาดลวดลายในพรีเมียร์ลีกกับ วัตฟอร์ต ในช่วงปี 2016-18 เป็นอันดับแรก

แม้เขาจะไม่ได้เป็นนักเตะที่มีชื่อเสียง โชว์ฟอร์มโดดเด่น หรือมีอะไรให้กล่าวถึงมากมาย แต่คุณูประการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ในฐานะพี่ชาย เขาเป็นแรงบันดาลใจและไอดอลคนสำคัญของโซฟียานที่ทำให้เขาใฝ่ฝันที่จะเดินตามวิถีนักฟุตบอลให้จงได้

แม้จะเป็นพี่น้องกัน แต่โซฟียานกลับมีช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างกับนอร์ดินถึง 9 ปี นั่นเพราะโซฟียานเกิดในปี 1996 นอร์ดินเกิดเกิดในปี 1987 แน่นอนว่าด้วยช่องว่างขนาดนี้ ความเป็นพี่น้องจึงแตกต่างออกไปจากพี่น้องที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน โดยโซฟียานนั้นมองเห็นพี่ชายเป็นเหมือนผู้ปกครอง นอกจากบิดาแล้วก็มีนอร์ดินที่โซฟียานให้ความยำเกรง และพยายามเจริญรอยตาม

ในช่วงที่พี่ชายได้รับการฝึกฝนในอคาเดมี โซฟียานก็ได้ตามไปรับชมการฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิด แถมในบางครั้งยังได้มีการชักชวนพี่ชายให้เข้ามารับชมการเล่นตามข้างถนนของตนเองและเพื่อน ๆ เพื่อขอคำแนะนำอีกด้วย 

ส่วนนอร์ดินเองก็มักจะให้คำแนะนำตามแบบฉบับ "อาบน้ำร้อนมาก่อน" อะไรที่ผิดพลาดก็มักจะนำมาบอกกล่าวให้น้องชายฟังเสมอ โดยเฉพาะตอนที่โซฟียานเริ่มถึงวัยเข้าอคาเดมี นอร์ดินที่กำลังเจิดจรัสกับอคาเดมีของ อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม สโมสรยักษ์ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ บ้านเกิดของทั้งคู่ (ก่อนที่สองพี่น้องจะเลือกรับใช้ทีมชาติโมร็อกโก ตามเชื้อชาติของบรรพบุรุษ)

อาจกล่าวได้ว่าในวัยเด็กของบางคนจะพยายามเดินวิถีขบถและมักทำหูทวนลมไม่ค่อยฟังผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่กับโซฟียาน เพราะการที่เขารับฟังพี่ชายอย่างเคร่งครัดก็ทำให้เกิดการป้องกันความผิดพลาดที่พี่ชายเคยประสบมาก่อนได้ อย่างน้อยที่สุดเขาก็เลือกที่จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ได้ผลีผลามโยกย้ายทีมเป็นว่าเล่นอย่างที่พี่ชายเคยทำ 

เขาเลือกที่จะฝึกปรือฝีเท้ากับอคาเดมีของ อูเทรคต์ (FC Utrecht) สโมสรระดับกลางตารางของประเทศ มากกว่าที่จะเน้นการก้าวกระโดดแบบพี่ชาย (ซึ่งตอนเป็นเยาวชนอาแจ็กซ์เขาเคยป่วยเป็นโรคปุ่มกระดูกหน้าแข้งอักเสบ [Osgood-Schlatter Disease] และเกือบจบชีวิตการค้าแข้งมาแล้ว) ด้วยการนับหนึ่งกับอคาเดมีที่เล็กกว่าแทน และการตัดสินใจนี้ของเขาก็ถือว่าถูกต้องอย่างมาก เพราะในฤดูกาล 2014-15 อูเทรคต์ได้ส่งเขาประเดิมสนามในเกมลีก ด้วยวัยเพียง 17 ปี

และเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะโค้ชที่ให้โอกาสแจ้งเกิดกับเขามีนามว่า เอริก เทน ฮาก (Erik Ten Hag) กุนซือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนปัจจุบัน จึงอาจไม่น่าแปลกใจที่หลายสื่อประโคมข่าวการย้ายมาร่วมทัพทีมปีศาจแดงอย่างหนาหู

ภายหลังจากการประเดิมสนาม ฤดูกาลต่อมา เทน ฮาก ตัดสินใจมอบตำแหน่ง 11 ตัวจริงให้ โดยเขาได้ประจำการในตำแหน่ง "กลางรับ" แต่ไม่ได้เน้นรับจ๋า ๆ แม้จะเป็นทีมขนาดกลางแต่อูเทรคต์กลับมีระบบการเล่นที่เน้นเกมรุก ทำให้โซฟียานต้องรับบทบาทในการเล่นแบบ "Double-pivot" คือการขึ้นมาช่วยเหลือในการทำเกมรุก รวมถึงมีการตัดบอลตั้งแต่แดนหน้าเพื่อชิงจังหวะทีเด็ดทีขาดในการสร้างโอกาสทำประตู

แม้ภาระจะเพิ่มขึ้นแต่โซฟียานกลับทำหน้าที่ได้อย่างเกินวัย ทั้งยังส่งให้ เซบาสเตียน อัลแลร์ (Sébastien Haller) โดดเด่นในตำแหน่งศูนย์หน้าจากการเล่นประคับประคองของโซฟียานเสียด้วย นั่นเองจึงทำให้ จิโอวานนี่ ฟาน บรองก์ฮอสต์ (Giovanni van Bronckhorst) โค้ชของเฟเยนูร์ด อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่แห่งเอเรดิวิซี่เข้ามาทาบทามให้ไปอยู่ด้วย แน่นอนว่าเขาไม่ปฏิเสธการก้าวกระโดดครั้งนี้ 

ซึ่งการย้ายมาเฟเยนูร์ดถือได้ว่าตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งแรก เพราะที่นี่เขาต้องเป็นตัวสำรองมากกว่าที่จะได้ลงสนาม สำหรับการอยู่ในช่วงอายุที่เป็นดาวรุ่งก็ถือได้ว่าทำให้ขาดช่วงการพัฒนาและเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง แม้เขาจะได้เกียรติประวัติแรกในการคว้าถ้วยเคเอ็นวีบี คัพ มาครอง ในฤดูกาล 2017-18 แต่การนั่งดู โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ (Robin Van Persie), สตีเวน เบิร์กฮุยส์ (Steven Berghuis) หรือกระทั่ง ไทเรล มาลาเซีย (Tyrell Malacia) ที่อายุน้อยกว่าได้ลงสนามก็ดูไม่ดีเท่าไรนัก

ฤดูกาล 2018-19 โซฟียานย้ายทีมไปอยู่กับ คลับบรูจจ์ (Club Brugge) แม้จะเป็นลีกที่รองลงมาอย่างลีกเบลเยียม แต่สโมสรก็แสดงความต้องการตัวเขาอย่างมาก นั่นเพราะสโมสรได้เสียกำลังหลักในแดนกลางอย่าง อาร์เนาต์ ดันยูมา (Arnaut Danjuma) ไปให้กับบอร์นมัธ ซึ่งตรงนี้หมายถึงโซฟียานจะได้ลงสนามอย่างเต็มที่แน่นอน

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะเขาได้ลงสนามอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังเพิ่มความสามารถของตนไปอีกขั้น จากที่เล่นเป็นกลางรับที่ต้องยืนแบบ Double-pivot ก็กลับมายืนได้แบบโดด ๆ คนเดียวเก็บแนวรุกได้อยู่หมัดโดยไม่จำเป็นต้องมีคนช่วย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกลางรับในยุคที่บ้าระบบ 4-3-3 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนที่เขาจะได้ย้ายแบบยืมตัวไปที่ เฮลลาส เวโรน่า (Hellas Verona) และย้ายถาวรมาที่ ฟิออเรนติน่า ตามลำดับ ซึ่งที่พลพรรคม่วงมหากาฬ เขาก็ยังไม่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงได้อย่างถาวรทันที แต่ก็มีโอกาสเข้ามาประปรายจากการถูกเปลี่ยนตัวจากม้านั่งสำรองอยู่บ่อยครั้ง เพราะคู่กลาง ณ ขณะนั้นอย่าง ลูคัส ตอร์เรรา (Lucas Torreira) และ จาโคโม โบนาเวนทูร่า (Giacomo Bonaventura) ก็ทำผลงานได้ดี

แถมผลงานของทีมก็ถือได้ว่าพอใช้ได้ โดยฤดูกาล 2021-22 ฟิออเรนติน่าจบอันดับที่ 7 ของตาราง ได้ไปลุยศึก ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก เพียงแต่ผลงานดันไปตกอยู่กับแนวรุก โดยเฉพาะ ดูซาน วลาโฮวิช ที่ยิงรวมทุกรายการไป 20 ประตู ถือได้ว่ากลบรัศมีแดนกลางที่คอยปั้นเกมมิดเลยทีเดียว

จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูกาล 2022-23 เขาก็ยังคงเริ่มต้นจากซุ้มมานั่งสำรองเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าตอร์เรราจะโบกมือลาทีมไปแล้ว แต่คู่หูคนใหม่ของโบนาเวนทูร่ากลับเป็น โรลันโด มันดราโกรา (Rolando Mandragora) ที่ย้ายเข้ามาใหม่ (อาจรวมไปถึง อัลเฟรด ดันแคน [Alfred Duncan] ที่อยู่กับทีมมานานอีกคน)

กลับกัน ในเวทีฟุตบอลทีมชาติ โซฟียานกลับสร้างตัวตนได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022

 

เสน่ห์รักนางซิน

ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2022 หากท่านใดกล่าวว่า โมร็อกโก ว่าจะไปได้ไกลถึงอันดับที่ 4 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเสียงหัวเราะเป็นแน่ 

ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาจากหลักสถิติ แนวโน้ม และการเปรียบเทียบ หรือการมองย้อนประวัติศาสตร์ ที่ทีมจากทวีปแอฟริกาไม่เคยไปไกลเกินกว่ารอบแปดทีมสุดท้าย คิดอย่างไรก็ไม่เห็นอนาคตว่าโมร็อกโกจะไปถึงได้จริง

แต่ใครเลยจะรู้ว่าสำหรับโลกฟุตบอลปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ทุก ๆ สัปดาห์ หรืออาจจะ 3 วันครั้ง เพราะโมร็อกโกสร้างผลงานจนกูรูหลายสำนักต้องเหวอกันเป็นแถบ ๆ แถมยังไม่ได้คว้าอันดับที่ 4 แบบถูลู่ถูกัง เพราะพวกเขาเป็นแชมป์กลุ่ม F เขี่ย เบลเยียม ทีมอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2018 ตกรอบแรก แถมยังมีการบุกกดดันจนคว้าชัยเหนือ สเปน และ โปรตุเกส อย่างน่าเหลือเชื่อ

แน่นอนว่าเครดิตส่วนใหญ่หลายฝ่ายยกให้กับความลงตัวของสามประสานแดนกลาแห่งพลพรรคสิงโตแอตลาส นั่นคือ อาซเซดีน โอนาฮี (Azzedine Ounahi), โซฟียาน บูฟาล (Sofiane Boufal) และอีกคนเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก โซฟียาน อัมราบัต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซฟียาน อัมราบัต ที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในฐานะกลางรับที่เก็บแนวรุกที่มีชื่อเสียงเสียอยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักเตะเบลเยียมทั้ง เอเดน และ ธอร์กก็อง อาซาร์ นักเตะสเปนอย่าง มาร์โก อเซนซิโอ หรือ กอนซาโล รามอส ดาวรุ่งฟอร์มแรงประจำทัวร์นาเมนต์ รวมถึง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เครื่องจักรถล่มประตูแห่งโปรตุเกส ที่ต่างเสียท่าให้กับเขา

เรียกได้ว่าเขาเป็นดั่ง "ซินเดอเรลล่า" ที่อยู่ ๆ เป็นใครก็ไม่รู้ไม่เคยมีชื่ออยู่ในสายตาของใครต่อใคร แต่กลับทำผลงานได้อย่างน่าทึ่งในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ

เรื่องนี้ อานาซ บัคคาร์ (Anas Bakhkhar) ผู้สื่อข่าวฟุตบอลคนบ้านเดียวกันกับโซฟียาน ได้ให้ทรรศนะประมาณว่า นี่คือ "ทัวร์นาเมนต์พลิกชีวิต" ของเขาอย่างแท้จริง นั่นเพราะ "เมื่อฟุตบอลโลก 2018 หมอนี่ยังเป็นลูกไล่ เอ็มบาร์ก บูซซูฟา (Mbark Boussoufa) อยู่เลย แต่ต่อมาไม่นานเขากลับชิงตำแหน่งในแดนกลางมาได้ เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะร่างกายของเขาแข็งแกร่งและเล่นได้ทรงประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะกับการยืนตรงกลางกว่าเยอะ"

"ไม่ว่าจะครองบอลหรือไม่ได้ครองบอล โซฟียานมีส่วนกับเกมตลอด เขาวิ่งพล่านไปทั่วสนามเลย แถมยังวิ่งแล้วทีมได้เปรียบอีกด้วย ... เวลาทีมเสียบอลกลางทางเขาก็มีการแทนตำแหน่งได้ ทั้งยังมีการแย่งบอลคืนมาอย่างรวดเร็ว และยังแทงให้เพื่อนร่วมทีมรุกกลับไปต่อได้ เขามีสถิติอัตราการตัดบอลร้อยละ 85 ในฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งมันไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแน่นอนครับ"

"เท่านั้นยังไม่พอ เขายังมีการจ่ายบอลก็ไม่ธรรมดา ดูอย่างแมตช์ที่พบสเปนแล้วโดนเพรสก็ไม่มีลนนะครับ เขาจ่ายบอลเหมือนเป็นของง่ายเลย แถมจ่ายแต่ละครั้งบอลก็ไปข้างหน้าและทีมได้ประโยชน์ … ค่าตัวของเขาคงพุ่งไปที่ราว ๆ 40 ล้านยูโรแน่นอนครับ"

ซึ่งบัคคาร์ยังได้กล่าวเน้นย้ำอีกว่า "ผมคาดว่าเขาน่าจะสร้างคุณประโยชน์อะไรได้มากกว่าฟาบินโญ่ (Fabinho) ในเรื่องของการจ่ายบอล รวมถึงการเบียดปะทะหรือการดวลลูกกลางอากาศด้วย แน่นอนว่าหากเขามาลิเวอร์พูลก็จะกลายเป็นนักเตะที่ดีที่สุดของลิเวอร์พูลได้ไม่ยาก"

โควตนี้มาจากบทความ Exclusive: Every word of our Sofyan Amrabat interview with Anas Bakhkhar - will the Moroccan sign for the Reds? ใน Empire of the Kop - Insider จึงทำให้ออกจะมีการอวยลิเวอร์พูลและเชียร์ลิเวอร์พูลอย่างออกนอกหน้า แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมีการกล่าวถึงเรื่อง "การจ่ายบอล" เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นวิสัยที่แปลกจากการยืนตำแหน่งกลางรับที่ผ่านมาของเขาอย่างมาก

และสิ่งนี้ได้เผยออกมาอย่างแจ่มชัดที่สุดในเสื้อสีม่วงของพลพรรค "วิโอล่า" ในฤดูกาล 2022-23

 

จอมทัพจำแลงของวิโอล่า

"สำหรับผม ควิชา ควารัตสเคเลีย (Khvicha Kvaratskhelia) และ โซฟียาน อัมราบัต คือเอ็มวีพีของ เซเรีย อา"

นี่คือโควตของ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช "พระเจ้า" แห่งวงการฟุตบอล และ เอซี มิลาน ที่กล่าวชื่นชมเขาอย่างออกนอกหน้า ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับควารัตสเคเลีย เพราะสตาร์ชาวจอร์เจียก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องของปรากฏการณ์

แต่สำหรับโซฟียานที่เล่นอยู่ในเซเรีย อา มาเกือบ ๆ จะ 4 ฤดูกาล แถมยังนั่งตบยุงข้างสนามเป็นส่วนใหญ่ อยู่ ๆ เขามีดีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาถึงขนาดที่ไปเตะตาซลาตันได้ ?

แน่นอนว่าการจะตอบคำถามดังกล่าวอาจต้องหวนทวนพิจารณาคำพูดของบัคคาร์ในข้างต้น เนื่องด้วยการเพิ่มเรื่องทักษะการจ่ายบอลขึ้นมาเป็นข้อได้เปรียบในการเล่นกลางรับ เพราะส่วนมากตำแหน่งนี้เน้น ปะ ฉะ ดะ ถึงลูกถึงคน มีน้อยจนหรือแทบจะไม่มีเลยที่ควบทักษะการจ่ายบอลที่ดีร่วมด้วย

หรือหากใช้ในภาษาฟุตบอลปัจจุบันอาจสามารถเรียกโซฟียานได้ว่าเป็น "กึ่ง ๆ มาเอสโตร (Quasi-maestro)" หรือเรียกว่า "จอมทัพจำแลง" ก็ไม่ผิดนัก เพราะนอกจากจะ "ใช้พละกำลัง" ในการปะทะ เข้าสกัด ตัดเกม หรือเบรกพายุเกมรุกคู่ต่อสู้ ยังมีการ "ใช้ความคิด" ในการหาวิธีการจ่ายบอลเพื่อเปิดเกมรุกใส่คู่ต่อสู้ได้อย่างชะงัดยิ่ง โดยไม่ต้องปล่อยให้เป็นภาระของกลางรุก เพลย์เมกเกอร์ หรือกองหน้าริมเส้นเท่านั้น

เช่นนี้ทำให้คิดได้ว่าโซฟียานได้สร้าง "ความได้เปรียบ" ในตลาดนักเตะด้วยตำแหน่งดังกล่าว ในแง่ที่มีทักษะหลากหลายในยุคแห่งเสรีนิยมใหม่ที่มีความต้องการนักเตะที่ทำได้มากกว่าคำจำกัดความตามตำแหน่ง

แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เพราะอัมราบัตได้แสดงทักษะด้านการจ่ายบอลให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเกิดขึ้นในรายการ ยูฟ่า ยูโรป้า คอนเฟอเรนซ์ ลีก ฤดูกาล 2022-23 โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่ วินเซนโซ่ อิตาเลียโน่ (Vincenzo Italiano) เริ่มหันมาใช้งานเขามากขึ้น

ในรอบชิงชนะเลิศกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ประตูตีเสมอของพลพรรควิโอล่ามาจากการจ่ายยาวของอัมราบัต ชนิดแม่นดั่งจับวางไปให้ นิโคลัส กอนซาเลซ (Nicolás González) โหม่งชงไปที่ โบนาเวนทูร่า ซัดเข้าไปอย่างงามหยดย้อย

แน่นอนว่าหากไม่มีวิสัยทัศน์และเท้าชั่งทอง ย่อมเป็นการยากที่จะจ่ายเช่นนั้นได้ กระนั้นในเรื่องหน้าที่หลักตามตำแหน่งเขาก็หาได้ขาดตกบกพร่อง เพราะถือว่าเขารับมือกับศูนย์หน้าสายใหญ่ถึกอย่าง มิคาอิล อันโตนิโอ (Michail Antonio) ได้อย่างอยู่หมัด จะมีแต่เพียง จาร์ร็อด โบเว่น (Jarrod Bowen) และ ลูคัส ปาเกต้า (Lucas Paquetá) ที่เขาหยุดไม่ค่อยได้ แถมยังโดนประตูชัยจนพลาดแชมป์จากการประสานงานของสองแนวรุกขุนค้อนอีกด้วย

มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับว่าเขาคู่ควรกับคำว่า ซินเดอเรลล่าลูกหนัง เสียจริง เพียงแต่เขาไม่ใช่ซินเดอเรลล่าตามแบบฉบับ ที่รอเจ้าชายมาสวมรองเท้าแก้วให้ แต่กลับพาเจ้าชายนั่งรถม้าฟักทอง ณ เวลาเที่ยงคืนวันนั้นเลย ซึ่งลดขั้นตอนและองก์เรื่องไปได้มากทีเดียว

บางทีโลกเสรีนิยมใหม่ก็อาจไม่ได้เลวร้ายในแง่ของ "การขยับสถานะทางสังคม" (Social Mobility) ในโลกฟุตบอลเสมอไป

 

แหล่งอ้างอิง

https://lifebogger.com/sofyan-amrabat-childhood-biography-story-facts/ 
https://www.sportsbignews.com/football/the-untold-story-of-sofyan-amrabat/ 
https://www.cbssports.com/soccer/news/world-cup-2022-sofyan-amrabats-path-from-afterthought-to-star-of-moroccos-cinderella-run-in-qatar/ 
https://totalfootballanalysis.com/player-analysis/sofyan-amrabat-with-morocco-202223-scout-report-tactical-analysis-tactics 
https://laligaanalysis.com/analysis/sofyan-amrabat-barcelona-la-liga-2022-23-data-stats-analysis-and-scout-report 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น