Feature

อเล็กซานเดอร์ ดูริช: ชีวิตท่ามกลางสงคราม & นักกีฬาโอลิมปิก สู่ตำนานทีมชาติสิงคโปร์ | Main Stand

เราทุกคนทราบกันดีแล้วว่า ทีมชาติสิงคโปร์ ไปไม่ถึงฝั่งฝันในการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2022 หลังจากที่พวกเขาบุกพ่าย ทีมชาติมาเลเซีย ไป 4-1 ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่อีกครั้งในรายการต่อไป

 


ผิดกับช่วง 10 ปีที่แล้ว (2012) ซึ่งเป็นปีที่พวกเขาผงาดแชมป์รายการนี้หนล่าสุด โดยหนึ่งในฟันเฟืองที่พาทัพเมอร์ไลออน ก้าวสู่ความสำเร็จในตอนนั้น คือการมี อเล็กซานเดอร์ ดูริช อยู่ในทีม

อดีตกองหน้ารายนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เล่นยุโรปโอนสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางชีวิตทั้งในและนอกสนามของเขาปะปนไปด้วยเรื่องราวที่ทุกข์และสุขเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว

Main Stand ชวนแฟน ๆ ทุกคนร่วมติดตามเรื่องจริงไม่อิงนิยายของ อเล็กซานเดอร์ ดูริช จากช่วงชีวิตวัยเยาว์ในอดีตที่ประเทศยูโกสลาเวีย ผลกระทบที่ได้รับจากสงครามสู่ชีวิตใหม่ในสิงคโปร์ ประเทศที่เขาเรียกว่า “บ้านหลังที่สอง”

 

ชีวิตเริ่มต้นที่ยูโกสลาเวีย

สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia) คืออดีตประเทศที่เคยปรากฏอยู่บนแผนที่โลกในปี ค.ศ. 1918 ว่ากันว่าเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนการนับถือศาสนามากที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป 

ปัจจัยนี้เองได้นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศอยู่บ่อยครั้ง เกิดการประท้วงและสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนต้องออกมาประท้วงบ้าง

แต่ด้วยอิทธิพลของ โยซิป บรอซ ตีโต (Josip Broz Tito) ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของประเทศมาหลายทศวรรษ ทำให้การประท้วงส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในวงแคบและไม่ได้ลุกลามใหญ่โต 

อีกทั้งตีโตก็พยายามทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นอยู่เรื่อยมา ภายใต้หลักการ "ภราดรภาพและสันติภาพ" อย่างแนวทางสนับสนุนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศให้มีอำนาจทางการเมืองที่ตัวเขาให้การสนับสนุนอยู่ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

อเล็กซานเดอร์ ดูริช เกิดขึ้นในช่วงสมัยที่ยูโกสลาเวียมีผู้นำประเทศที่ชื่อว่าตีโตพอดิบพอดี ดูริชเกิดในตระกูลที่มีพ่อแม่เป็นชาวเซิร์บหรือกลุ่มชาติพันธ์ุหลักของประเทศ ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชานเมืองโดโบจ์ (Doboj) ซึ่งตั้งอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina) แน่นอนว่าในเวลานั้นบอสเนียฯ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย 

ยูโกสลาเวียเป็นอีกหนึ่งชาติที่เลื่องชื่อในแวดวงลูกหนังยุโรปและระดับโลก ดินแดนแห่งนี้มีสโมสรที่ชื่อ เรดสตาร์ เบลเกรด ซึ่งเป็นทีมโปรดของดูริชในวัยเด็ก ที่ผงาดแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ (หรือยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน) เมื่อปี 1991 ขณะที่ ทีมชาติยูโกสลาเวีย ก็เคยถึงขั้นคว้าอันดับสี่ ในฟุตบอลโลก 1962 รวมถึงดีกรีรองแชมป์ฟุตบอลยูโร 1960 และ 1968 มาก่อน

“ฟุตบอล” เป็นชนิดกีฬาที่ดูริชที่ขณะนั้นอายุราว ๆ 8 ขวบได้ลองสัมผัสเป็นประเภทแรก ๆ ว่ากันว่าบางครั้งถึงขั้นต้องลงไปเตะด้วยเท้าเปล่าในฤดูหนาว ท่ามกลางอุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียส 

อย่างไรก็ดี ชนิดกีฬาที่เขาได้เล่นอย่างจริงจังครั้งแรกกลับไม่ใช่ฟุตบอล แต่เป็น “พายเรือแคนู” สาเหตุเพราะเขาตรวจเจอภาวะการเจริญเติบโตเชิงอก ทำให้เขาต้องเล่นกีฬาที่เสริมสร้างส่วนดังกล่าว และกีฬาชนิดนี้มีทีมระดับสโมสรตั้งอยู่ใกล้บ้านพอดี 

ดูริชเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตั้งใจจะเป็นนักกีฬาเรือพายทั้ง ๆ ที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น แต่ด้วยใจที่มุมานะ ในที่สุดด้วยวัย 12 ปี เขาก็ได้เป็นนักกีฬาสมใจ และกลายเป็นฉากสำคัญในชีวิต

“ในประเทศคอมมิวนิสต์ เยาวชนส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา ผมก็ไม่ต่างกับเด็กคนอื่น ๆ ในบ้านเกิดของผม เราเคยเล่นฟุตบอลมาตลอด นั่นคือความรู้สึกแรก ๆ ที่ผมได้สัมผัส เราทุกคนเคยฝันที่จะเป็นนักกีฬา” ดูริช กล่าวกับ แม็ก แมทธิวส์ ผู้สื่อข่าวกีฬาอิสระ 

“มันเป็นเรื่องบังเอิญ! ผมป่วยและหมอบอกพ่อแม่ผมว่านี่คือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหน้าอกของผม ผมอาศัยอยู่ใกล้กับชมรมพายเรือแคนูพอดี มีเพื่อนสองสามคนอยู่ที่นั่นอยู่แล้วด้วย ดังนั้นผมจึงอยากลอง แต่ผมว่ายน้ำไม่เป็นนะ นี่คือปัญหาของผมเลย และโค้ชบอกว่าผมต้องแสดงให้เห็นว่าผมว่ายน้ำได้ ผมเลยเสี่ยงและกระโดดลงไปและว่ายน้ำ!” ดูริช เล่าต่อ “ผมไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่สุดท้ายผมก็ได้เข้าร่วมสโมสร”

ชีวิตของนักกีฬาเยาวชนพายเรือแคนูของ อเล็กซานเดอร์ ดูริช มีเรื่องของ “พรแสวง” เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง เพราะจากที่เคยว่ายน้ำไม่เป็น 3 ปีให้หลังเขากลายเป็นแชมป์เยาวชนพายเรือแคนูของยูโกสลาเวีย และ 5 ปีต่อจากนั้นดูริชก็กลายเป็นเจ้าของสถิติจบอันดับ 8 ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกรุ่นเยาวชน

แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบภายในยูโกสลาเวียที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งในเวลานั้นมี สโลโบดาน มิโลเซวิช (Slobodan Milosevic) ปกครองประเทศ 

มิโลเซวิชมีแนวคิดว่า หากประเทศจะแข็งแกร่งได้จะต้องเริ่มจากศูนย์กลางที่เมืองเบลเกรดที่ตั้งอยู่ในเซอร์เบีย และมาพร้อมนโยบายชาตินิยมที่ให้ความสำคัญกับชนเชื้อสายเซิร์บอย่างสุดโต่ง นำมาซึ่งความคิดแยกตนเป็นอิสระของหลาย ๆ ดินแดนในประเทศ 

 

สถานะผู้ลี้ภัย และนักกีฬาโอลิมปิก

ขบวนการเรียกร้องขอแยกตัวเป็นรัฐอิสระจากยูโกสลาเวียรวมถึงถิ่นที่ดูริชอาศัยอยู่อย่างบอสเนียฯ เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น หลังสโลวีเนียทำได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน ปี 1991

เนื่องจาก อเล็กซานเดอร์ ดูริช เป็นคนเซิร์บในบอสเนียฯ นั่นหมายความว่าครอบครัวของเขาคือกลุ่มคนที่มิโลเชวิชให้การสนับสนุน ตอนแรกดูริชถูกเกณฑ์เข้ากองทัพประชาชนยูโกสลาเวีย (Yugoslav People's Army) ตามที่กฎหมายกำหนด 

จากนั้นก็ถูกเรียกเข้ากองทัพอีกครั้งในฐานะกองหนุน เขาเริ่มเข้าสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยประจำการอยู่ที่เมืองโดโบจ์ ด้วยวัย 20 ต้น ๆ ณ ขณะนั้น

กลายเป็นว่าเขาต้องมาคอยทำลายชีวิตกลุ่มคนที่คิดต่าง ดูริชยอมรับว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง กอปรกับความคิดของพ่อที่ต้องการให้ลูกคนใดคนหนึ่งอพยพไปจากดินแดนนี้เพราะกลัวว่าจะเสียลูกไปในสงคราม ท้ายสุด อเล็กซานเดอร์ ดูริช ก็พาตัวเองเดินทางออกจากบ้านเกิดของเขาได้

“หลังจากผ่านไปสองวัน ผมก็รู้ว่ามันไม่ใช่สงครามที่ถูกต้อง” ดูริช เผย

“เมื่อได้คุยกับพ่อ พ่อบอกผมว่าผมต้องออกไปจากประเทศ เพราะเขากลัวและกังวลว่าจะเสียลูกชายทั้งสองคนไปในสงคราม ดังนั้นผมจึงออกจากประเทศไปในช่วงเริ่มต้นสงครามในปี 1992 และนั่นคือตอนที่ผมสูญเสียบ้านหลังแรกของผม” 

“ผมข้ามพรมแดนไปแบบผิดกฎหมาย ผมถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวกลางยุโรปโดยเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีเงิน การจะอยู่รอดได้นั้นยากจริง ๆ”

ในระหว่างที่อยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย ดูริชมี ยูซูป มาคาเรวิช (Jusup Makarevic) ซึ่งเป็นประธานชมรมกีฬาพายเรือในโดโบจ์ และเป็นชาวมุสลิมบอสนิแอก (Bosniaks) ซึ่งเป็นกลุ่มคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาวเซิร์บ คอยให้ความช่วยเหลือในขณะเป็นบุคคลไร้รัฐในฮังการี 

และแล้วอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตก็ได้เกิดขึ้นกับดูริช เมื่อเดือนกรกฎาคม 1992 เขาได้รับการติดต่อจากคณะกรรมการโอลิมปิกบอสเนียฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปีนั้น ให้มาเป็นนักกีฬาพายเรือแคนู C-1 500 เมตร ในมหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อน 1992 ที่บาร์เซโลน่า 

นั่นทำให้ดูริชกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนารุ่นแรก ๆ โดยทิ้งเรื่องสงครามในประเทศไว้ข้างหลัง เขายอมเดินทางระยะทางกว่า 1,300 ไมล์จากฮังการีเพื่อไปยังคาตาโลเนีย เขามีเพียงเงินติดตัวน้อยนิด พร้อมจดหมายรับรองสถานะนักกีฬาทีมชาติจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกเพียงเท่านั้น

ขณะเดินทาง มีรายงานว่ารถบรรทุกที่ดูริชเดินทางมาด้วยโดนเจ้าหน้าที่ด่านตรวจแถวออสเตรียเช็คอย่างละเอียด เพราะเกรงว่าจะเป็นกลุ่มคนลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ก่อนจะตรวจสอบว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นนักกีฬาทีมชาติ อีกทั้งการเดินทางแบบมือเปล่าทำให้เมื่อถึงบาร์เซโลน่าดูริชจำเป็นต้องยืมอุปกรณ์จากทีมชาติอิตาลีและสเปนเพื่อใช้แข่งขัน

แม้จะไม่มีเหรียญรางวัลติดมือ แต่นี่ก็คือสิ่งที่ อเล็กซานเดอร์ ดูริช ภูมิใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

“ปี 1992 พี่ชายและพ่อของผมกำลังต่อสู้กับประเทศนี้ (บอสเนียฯ)” ดูริช กล่าวผ่าน AFC.com

“การไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของผมจึงเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก แต่ผมเชื่อเสมอในฐานะนักกีฬาและมนุษย์คนหนึ่งว่า คุณไม่ได้เกลียดใคร ๆ เพียงเพราะพวกเขาต่างเชื้อชาติหรือศาสนา นั่นคือสิ่งที่พ่อกับแม่สอนมา ผมไปโอลิมปิกด้วยความภาคภูมิใจ ผมไม่เสียใจเลย ผมภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในนักกีฬาโอลิมปิกคนแรกของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา” 

 

เริ่มต้นใหม่ ด้วยอาชีพนักฟุตบอล

ที่ไม่ได้ไปต่อกับกีฬาเรือพายเพราะความนิยมของกีฬาชนิดนี้ไม่อาจเปลี่ยนเป็นรายได้ให้ดูริชได้มากพอ และเพราะจากอดีตที่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อนนี่เองที่ทำให้ดูริชอาศัยพรแสวงที่มีพาตัวเองก้าวไปสู่อีกเส้นทางของชีวิต 

ช่วงที่อยู่ฮังการี ดูริชผ่านการทดสอบฝีเท้ากับสโมสร Szeged ทีมในละแวกที่พักอาศัยอยู่ และนั่นทำให้เจ้าตัวได้รับสัญญาอาชีพฉบับแรกในวัย 22 ปี

กับทีม Szeged อเล็กซานเดอร์ ดูริช มีช่วงเวลาค้าแข้งกับทีมถึงสามฤดูกาลด้วยกัน และในระหว่างที่ค้าแข้งที่นี่ เขาเผชิญกับข่าวร้ายในชีวิต เมื่อคุณแม่ของเขาเสียชีวิตระหว่างเหตุโจมตีที่บ้านเกิดในปี 1993 โดยเธออำลาโลกนี้ไปในช่วง 4 วันก่อนจะถึงวันเกิดอายุครบ 23 ปีของดูริช

เมื่อสูญเสียหนึ่งในบุคคลอันเป็นที่รัก ประกอบกับบ้านเกิดที่บอสเนียฯ ก็มีเหตุปะทะกันไม่เว้นแต่ละวัน แถมสมาชิกอีกสองคนในครอบครัวอย่างพ่อและพี่ชายก็ยังเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้ ซึ่งคำพูดของพ่อที่ตอกย้ำดูริชคือไม่ให้กลับมาเผชิญเรื่องเลวร้ายเช่นนี้อีกครั้ง 

ในระหว่างนั้นโค้ชคนหนึ่งของ Szeged ได้แนะนำให้ อเล็กซานเดอร์ ดูริช รู้จักกับ แฟรงก์ อารอค (Frank Arok) กุนซือของเซาท์ เมลเบิร์น สโมสรในออสเตรเลีย เป็นจังหวะดีเพราะอารอคเป็นคนยูโกสลาเวียที่ไปเติบโตที่ออสเตรเลีย 

และการเจอกันของ “คนบ้านเดียวกัน” คราวนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการอำลาทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการ 

1995 คือปีที่ดูริชบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปสู่ออสเตรเลียด้วยวีซ่าผู้ลี้ภัย หลังการทดสอบฝีเท้า เขากลายมาเป็นนักเตะต่างชาติบนแผ่นดินจิงโจ้ กับสโมสรเซาท์ เมลเบิร์น ภายใต้การคุมทีมของอารอค 

ดูริชพาตัวเองไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัวด้วยความทุ่มเท ใส่เกินร้อย แถมเล่นได้ทุก ๆ ตำแหน่งตามที่โค้ชต้องการ นั่นทำให้เจ้าตัวผ่านประสบการณ์ทั้งการเล่นกองหลัง ฟูลแบ็ก ตลอดจนกองกลาง ฯลฯ จากนั้นก็มีโอกาสผจญภัยกับอีกหลาย ๆ ทีมในออสเตรเลีย แถมยังเคยมีช่วงเวลาสั้น ๆ กับการย้ายไปเล่นที่ประเทศจีนด้วย

และแล้ว “ใบเบิกทาง” สู่บ้านหลังใหม่ของ อเล็กซานเดอร์ ดูริช ก็ได้เริ่มขึ้นในปี 1999 ในวัยใกล้เลขสาม หลังกลายสถานะเป็นนักเตะฟรีเอเยนต์ เมื่อ เอ็ดดี้ เคิร์นเซวิค (Eddie Krncevic) อดีตดาวเตะทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งบอกกับเขาว่า ตันจงปาการ์ ยูไนเต็ด สโมสรจากสิงคโปร์ อยากได้ผู้เล่นตำแหน่งกองหน้า

นอกจากจะไม่เคยเล่นตำแหน่งนี้มาก่อน เขายังสงสัยเกี่ยวกับการมีอยู่ฟุตบอลลีกสิงคโปร์ ลีกของประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ซึ่งใครหลายคนมีภาพจำว่าที่นี่คือประเทศที่มีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมขับเคลื่อนจนยกระดับกลายเป็นชาติที่พัฒนาแล้วภายในระยะเวลารวดเร็ว ซึ่ง ณ ตอนนั้นลีกนี้ได้ตั้งมา 3 ปี

แม้ดูริชจะมีข้อสงสัย แต่เจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธความท้าทายครั้งใหม่ และเหมือนกับว่าเขาจะคิดถูกทุกประการ เพราะภายหลังจากที่ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่สิงคโปร์ ช่วงเวลาที่เหลือคือ “ประวัติศาสตร์”

 

ฟ้าหลังฝนบนแผ่นดินเมอร์ไลออน

ดูริชยอมรับว่าเขาเองก็เจอกับปัญหาเรื่องสภาพอากาศร้อนชื้นในอาเซียนในช่วงสองเดือนแรกที่ย้ายมา แถมยังเจอโจทย์ยากเมื่อต้องมารับบทบาทเป็นกองหน้า อย่างไรก็ตาม การสู้ไม่มีถอยคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ 

กลายเป็นว่าเขาเล่นตำแหน่งศูนย์หน้าได้แบบไม่มีเคอะเขิน เขาใช้จุดเด่นเรื่องสรีระ กอปรกับความแข็งแกร่งที่มีเป็นทุนเดิม ซึ่งล้วนแต่เป็นความแตกต่างที่เขานำมายกระดับสโมสร จากการลงเล่น 16 นัดให้ตันจงปาการ์ ดูริชซัลโวไปถึง 11 ประตู พาทีมจบอันดับสามในลีก 

15 ปีต่อจากนั้นกับเส้นทางค้าแข้งในสิงคโปร์ ด้วยวัยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ กองหน้าเจ้าของส่วนสูง 192 เซนติเมตรยังคงความฉมังเรื่องฝีเท้าและการจบสกอร์แบบไม่ลดถอยลง 

ไม่ว่าจะลงเล่นให้สโมสรอย่าง โฮม ยูไนเต็ด (ไลออน ซิตี้ เซเลอร์ส ในปัจจุบัน), เกย์ลัง อินเตอร์เนชันแนล, สิงคโปร์ อาร์ม ฟอร์ซ รวมถึง แทมปิเนส โรเวอร์ส อเล็กซานเดอร์ ดูริช ก็มักจะซัลโวพาทีมประสบความสำเร็จทุกครั้ง จนรวม ๆ แล้วเขาทำไปได้ถึง 376 ประตู

เขาเป็นเจ้าของผลงานแชมป์ลีกสิงคโปร์ 8 สมัย และแชมป์สิงคโปร์ คัพ อีก 3 สมัย เคยได้รางวัลรองเท้าทองคำอีก 4 สมัย ทั้งยังถูกเสนอชื่อเป็นนักเตะยอดเยี่ยมประจำลีกถึง 3 สมัยด้วยกัน 

 

สู่บ้านหลังที่สอง

การอยู่ที่สิงคโปร์มาพักใหญ่ บวกกับการมีลูกสาวและลูกชายบนแผ่นดินนี้ ทำให้ อเล็กซานเดอร์ ดูริช เริ่มคิดถึงการมี “บ้าน” หลังที่สองของตัวเอง เพื่อเป็นหลักแหล่งให้ครอบครัวได้สร้างความสุขร่วมกัน และนั่นทำให้เจ้าตัวเริ่มกระบวนการขอสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์ 

แม้จะล้มเหลวมาถึงสามหน แต่เพราะ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ดูริชจึงสามารถทำฝันของตัวเองให้เป็นจริงสำเร็จ เขามีบ้านหลังที่สองและกลายมาเป็นพลเมืองสิงคโปร์เต็มตัวในปี 2007 

“จากที่ลูกสาวผมเกิดในปี 2002 และลูกชายเกิดในปี 2004 ที่สิงคโปร์ ทำให้ผมเข้าใจถึงสิ่งที่ขาดหายไป นั่นก็คือบ้าน นี่คือสิงคโปร์และที่นี่คือบ้านของผม ดังนั้นผมจึงทำการขอสัญชาติ ผมถูกปฏิเสธไปสามครั้งแต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ จนในที่สุดในปี 2007 ผมก็ได้สัญชาติสิงคโปร์ ผมมีช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจหลายอย่างในชีวิต และผมก็พูดได้ว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งคือการเป็นพลเมืองสิงคโปร์” ดูริช กล่าวด้วยความภูมิใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ในปีเดียวกันบนหลักไมล์วัย 37 ปี อเล็กซานเดอร์ ดูริช ถูกเรียกตัวติดทีมชาติสิงคโปร์ ว่ากันว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายโอนสัญชาติ เพื่อตอบสนองแนวทาง “Goal 2010” กับเป้าหมายนำสิงคโปร์ไปสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ของอดีตนายกรัฐมนตรี โก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) ที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี 1998 

แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ ทว่านโยบายนี้ก็ได้ทำให้สิงคโปร์ยกระดับขึ้นมาเป็นทีมแพ้ยากทีมหนึ่งในอาเซียน

กลับมาที่ผลงานในทีมชาติของดูริช เขาเปิดม่านด้วยสถิติหรู เขาทำคนเดียวสองประตูในเกมคัดฟุตบอลโลก 2010 พาสิงคโปร์อัด ทาจิกิสถาน 2-0

2007-2012 คือช่วงเวลาที่เขาลงเล่นให้ทีมชาติสิงคโปร์ พร้อมสถิติโหดกด 24 ประตูจากการลงเล่น 53 นัด เป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 5 ในทำเนียบทีมชาติ

โทรฟี่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ (ชื่อในขณะนั้น) เมื่อปี 2012 คือความสำเร็จผ่านถ้วยรางวัลที่ดูริชคว้ามาได้กับทีมชาติสิงคโปร์ 

กองหน้าเชื้อสายยุโรปเล่นฟุตบอลอาชีพไปจนถึงอายุ 44 ปี และเลือกแขวนสตั๊ดในปี 2014 ปัจจุบันเขายังคงทำงานในแวดวงลูกหนังสิงคโปร์ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล อเล็กซานเดอร์ ดูริช มีอคาเดมีฝึกสอนฟุตบอลให้เด็กอายุ 3-16 ปี ที่เปรียบดั่งเป็นการตอบแทนประเทศที่ได้มอบบ้านหลังที่สองให้กับเขาและครอบครัว

จากชีวิตที่มีทั้งขึ้นและลง การฝ่าฟันอุปสรรคกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ในดินแดนบ้านเกิด 

อเล็กซานเดอร์ ดูริช คือต้นแบบของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และได้ใช้พรแสวงที่มีในตัวพัฒนา รวมถึงยกระดับจนกลายเป็นไอคอนลูกหนังของประเทศในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ Beyond Borders by Aleksandar Duric Book, with Glenn Wray, Singapore Football
https://en.wikipedia.org/wiki/Aleksandar_%C4%90uri%C4%87 
https://en.wikipedia.org/wiki/Singapore_national_football_team 
https://www.the-afc.com/en/more/news/my_asian_home_-_aleksandar_duri%C4%87.html 
https://www.footballparadise.com/aleksandar-duric/ 
https://youtu.be/f37D19IYSD0 
https://fansided.com/2021/02/09/aleksandar-duric-soccer-story/ 
https://web.archive.org/web/20160305021629/http://www.menshealth.com.sg/guy-wisdom/mh-interview-aleksandar-duric 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น