Feature

ทำเพื่อ ? : เชลซี จะจัดการทีมยังไงกับการซื้อแหลกที่โลกฟุตบอลไม่เคยพบเจอ | Main Stand

เชลซี เสริมนักเตะในตลาดซื้อขายซัมเมอร์ปี 2024 ไปแล้ว 9 คน และจะมาอีกแน่จากข่าวที่มีอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้นับตั้งแต่เข้ายุคกลุ่มผู้บริหารชาวอเมริกัน พวกเขามีนักเตะเข้าสู่ทีมแบบนับไม่ถ้วน และหลายคนแทบไม่มีส่วนร่วมกับทีมชุดใหญ่เลย

 

เราจะไม่คุยเรื่องกฎ FFP หรือเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ปวดหัว แต่เราจะไปดูกันว่า พวกเขาซื้อตัวแบบบ้าคลั่งในแบบที่โลกฟุตบอลไม่เคยเจอไปเพื่ออะไร ? และพวกเขาจะจัดการ Squad Depth ที่ "โคตรลึก" นี้อย่างไรในการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง 

ทำไมพวกเขาต้องทำแบบนั้น ? มันต้องมีเหตุผลสิ ... หาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ที่นี่ 

 

ผู้บริหารใหม่ นโยบายใหม่

จากทีมเกือบล้มละลายหลังเจ้าของเก่าอย่าง โรมัน อบราโมวิช ถูกคว่ำบาตรจากผลกระทบทางการเมืองของประเทศรัสเซีย เชลซี ก็เปลี่ยนเจ้าของสโมสรใหม่มาเป็นกลุ่มทุนในชื่อ BlueCo ภายใต้การนำของสองนายทุนชาวอเมริกัน ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ และ เบห์ดัด เอ็กบาลี่ พร้อมทั้งเปลี่ยนสถานะกลายเป็นทีมที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในโลก นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ คิดเป็นเงินมูลค่า 1.3 พันล้านปอนด์ ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น 

เมื่อเปลี่ยนเจ้าของ นโยบายก็เปลี่ยน ปกติ เชลซี เป็นทีมที่เสริมทัพทีไรต้องมีฮือฮา นักเตะต้องเป็นแบบสำเร็จรูป พร้อมแกะซองใช้งานได้เลย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นสตาร์มาก่อนอยู่แล้วในยุคที่ อบราโมวิช เป็นเจ้าของ

แต่ในยุค BlueCo นโยบายการซื้อขายเปลี่ยนไปพอสมควร แม้จะมีการทุ่มซื้อนักเตะค่าตัวแพงหลายราย แต่พวกเขาก็ใช้กลยุทธ์ในการทำสัญญายาวกับนักเตะด้วยการให้สัญญา 7-8 ปี เพื่อทำให้พวกเขากระจายตัวเลขการลงทุนได้มากขึ้น เช่น นักเตะค่าตัว 70 ล้านปอนด์ เซ็นสัญญากับทีม 7 ปี เชลซี ก็จะลงตัวเลขในบัญชีรายจ่ายปีละ 10 ล้านปอนด์จนครบสัญญานักเตะ เรียกได้ว่า ทีมสิงโตน้ำเงินครามประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์นี้ จน ยูฟ่า ต้องเปลี่ยนกฎให้ค่าตัวนักเตะสามารถผ่อนจ่ายได้ภายในเวลาสูงสุด 5 ปีเท่านั้น

นี่คือวิธีคร่าว ๆ ที่ทำให้พวกเขายังไม่ผิดกฎ FFP หรือ Financial Fair Play ที่แสนวุ่นวาย ซึ่งในความจริงแล้วก็ป่วยการจะมาถกกันเรื่องนี้ เพราะดูเหมือนว่ากฎ FFP นี้จะเล่นงานได้แต่ทีมเล็ก ๆ เท่านั้น ทีมใหญ่ ๆ หลายทีมมีเงินพอจะจ้างนักบัญชีเก่ง ๆ นักกฎหมายเก่ง ๆ จนการโดนโทษแบนที่รุนแรงเหลือเพียงการปรับเงินเท่านั้น  

เอาล่ะ ว่ากันที่เรื่องนโยบายซื้อขายกันต่อ เชลซี ยุค โบห์ลี่ย์ และคณะ พุ่งเป้าไปที่การลงทุนกับนักเตะอายุน้อย โดยตั้งไว้ที่ไม่เกิน 25 ปี ให้สัญญายาว ๆ จากนั้นสโมสรก็จะพัฒนานักเตะเหล่านี้ตามโมเดล "มันนี่บอล" แบบอเมริกันที่พวกเขาคุ้นเคย นักเตะดาวรุ่งที่มีแววย่อมมีโอกาสที่จะมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งตรงนี้เดี๋ยวเรามาคุยกันอีกทีว่าพวกเขาจะพัฒนาอย่างไร

ดังนั้นจึงสรุปง่าย ๆ ว่า เชลซี ไม่กลัวกฎ FFP พวกเขาจึงซื้อดาวรุ่งมาเก็บไว้กับทีม เพื่อทำให้พวกเขาเหล่านี้มีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เรียกว่าทำทีมเพื่อธุรกิจแบบเต็มรูปแบบตามสไตล์นักลงทุนแบบอเมริกัน ที่ตัวเลขในบัญชีกับความสำเร็จในสโมสรต้องควบคู่กันไปด้วย 

โบห์ลี่ย์ รวมถึง มาร์ค วอลเตอร์ อีกหนึ่งนักลงทุนที่มีเอี่ยวในกลุ่ม BlueCo มีประสบการณ์บริหารทีมกีฬา โดยทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของ กุ๊กเก้นไฮม์ เบสบอล เมเนจเมนต์ เจ้าของทีม ลอสแอนเจลิส ดอดเจอร์ส ในเบสบอล MLB ซึ่งนับตั้งแต่ที่ซื้อกิจการเมื่อปี 2012 ดอดเจอร์ส คว้าแชมป์กลุ่มตะวันตก 10 ครั้ง แชมป์สาย เนชั่นแนลลีก 3 ครั้ง และคว้าแชมป์เวิลด์ซีรี่ส์ได้เมื่อปี 2020 อันเป็นการคว้าแชมป์ประจำปีของ MLB ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีของแฟรนไชส์

วิธีการทำทีม เชลซี ก็คล้าย ๆ กับการทำทีม ดอดเจอร์ส เพราะในลีกเบสบอล MLB ผู้เล่นมักจะได้สัญญาระยะยาว เรื่องนี้ไม่ใช่สโมสรได้ประโยชน์เท่านั้น นักกีฬาก็จะได้การันตีอนาคตว่าจะมีรายรับไปยาว ๆ และสัญญาระดับ 7, 8, 9 หรือ 10 ปีนี้ก็จะทำให้นักกีฬาที่อายุน้อยมีเวลาพิสูจน์ตัวเองนานขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาสัญญา ทีมก็จะดูแลผู้เล่นอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาให้พวกเขาเก่งขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น 

นอกจากนี้ นักเตะดาวรุ่งกับสัญญาระยะยาวก็มีข้อดีอีกอย่างคือ พวกเขาจะไม่หยุดพัฒนาตัวเองง่าย ๆ เพราะ เชลซี ไม่ได้ให้ค่าเหนื่อยเยอะในสัญญาฉบับแรก นอกจากนักเตะที่มีชื่อเสียงมาก่อนอยู่แล้วอย่าง เอ็นโซ่ เฟอร์นานเดซ (ได้ 180,000 ปอนด์), มอยเซส ไกเซโด้ (150,000 ปอนด์) คริสโตเฟอร์ เอ็นกุนกู (195,000 ปอนด์) เป็นต้น ขณะที่นักเตะดาวรุ่งคนอื่น ๆ ค่าเหนื่อยจะอยู่ใน 30,000-80,000 ปอนด์ตามดีกรีที่ติดตัวมา  

การจ้างนักเตะดาวรุ่งระยะยาว ก็จะแตกต่างกับการซื้อนักเตะในช่วงเลยจุดพีก ณ ตรงนี้ เพราะบางทีนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยแพงตั้งแต่แรก ก็ไม่ค่อยจะแคร์และมุ่งมั่นมากนัก จากค่าเหนื่อยและสัญญาที่ตัวเองมี 

พวกเขาทำแบบนี้เพราะจะแน่ใจได้ว่า นักเตะจะไม่อิ่มตัวกับค่าเหนื่อยที่ไม่มากนักในสัญญาฉบับแรก ทุกคนจะพยายามพัฒนาฝีเท้าขึ้น ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลัก เป็นคนสำคัญของทีม เพื่อให้ได้สัญญาฉบับใหม่มูลค่าที่สูงขึ้น ... ยกตัวอย่างเช่น โคล พาลเมอร์ ที่เป็น เดอะ แบก ของทีมในฤดูกาล 2023-24 ก็ยังได้รับค่าเหนื่อย 80,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่หลังจากยิงระเบิดเถิดเทิงสโมสรก็ไม่รอช้าขยับค่าเหนื่อยให้ทันทีในซัมเมอร์ปี 2024 

แม้จะบอกว่าอัพสัญญาใหม่ ก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มเงินแบบ 2-3 เท่า พาลเมอร์ ได้รับค่าเหนื่อยฉบับใหม่ที่เปิดเผยมาอยู่ที่ 130,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น น้อยกว่านักเตะอีกหลายคนในทีมอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิ่ง และ โรเมลู ลูกากู ที่ได้คนละ 325,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ 

เชลซี พยายามจะโละนักเตะเลือดเก่าที่มีค่าจ้างแพงออก ด้วยการซื้อนักเตะดาวรุ่งเหล่านี้เข้ามาให้พวกเขาแข่งขันกันพัฒนาตัวเอง ถ้านักเตะในยุคเก่าที่ได้ค่าเหนื่อยเยอะ ๆ ค่อย ๆ หมดวาระ ทีมก็จะมีนักเตะที่พร้อมทดแทน แถมยังลดค่าเหนื่อยโดยรวมได้อีกด้วย นั่นคือข้อดีที่เชลซีหมายมั่นปั้นมือเอาไว้ 

และเพื่อลดความเสี่ยงในการซื้อเข้ามาแล้วล้มเหลว เชลซี ในยุค BlueCo จึงได้แต่งตั้งทีมหลังบ้านในการสรรหานักเตะใหม่หลายตำแหน่ง ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการหานักเตะที่สามารถต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเอาไว้ใช้งานเอง หรือแม้กระทั่งขายเพื่อทำกำไรในอนาคต 

แน่นอนว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แถมยังเป็นเรื่องที่แปลกใหม่มาก ๆ กับวงการฟุตบอล แต่พวกเขาเองก็เชื่อมั่นกับโมเดลที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน แม้จะเป็นคนละชนิดกีฬาก็ตาม

ส่วนจะสำเร็จสมใจหมายหรือไม่ ณ ตอนนี้คงยังตอบไม่ได้ เพราะมันเป็นแผนการระยะยาวที่ต้องใช้เวลาตัดสิน ดังนั้นเราข้ามไปดูที่เรื่องฟุตบอลล้วน ๆ กันดูบ้าง กับนักเตะขนาดนี้พวกเขาจะจัดการยังไงดี ? 

 

ไม่จำเป็นต้องปั้นเอง 

ณ ตอนนี้ มีการเปิดเผย Squad Depth หรือขุมกำลังเชิงลึกของ เชลซี ฤดูกาล 2024-25 และพวกเขามีนักเตะมากถึง 53 คนในทีมชุดใหญ่ จากรายงานของ The Athletic ซึ่งมากกว่าที่เว็บไซต์ของสโมสรลงไว้ 43 คน และหากเทียบกับทีมอื่น ๆ ทั่วไปแล้ว นี่คือจำนวนที่มากกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว 

53 คนที่มี ลงสนามเป็นตัวจริงได้ 11 คน เป็นตัวสำรองอีกเกมละ 9 คน มันชัดเจนว่า จะต้องมีอีกเกินครึ่ง ที่จะต้องใช้เวลานั่งดูเพื่อนเล่นเป็นส่วนใหญ่ นี่ไม่ดีต่อพัฒนาการแน่ นักเตะอายุ 19 ปีขึ้นไปควรจะได้ลงเล่นเพื่อยกระดับตัวเองทั้งในแง่ของแนวคิด ความสามารถ และประสบการณ์ เชลซี จะทำยังไงกับเรื่องนี้ ? ... ง่ายที่สุดก็คือการปล่อยยืม 

เชลซี เคยขึ้นชื่อเรื่องการปล่อยยืมนักเตะดาวรุ่งแบบยกชุดมาแล้วในช่วงยุคสมัยผู้บริหารเก่า ตอนนั้น เชลซี ทำสถิติปล่อยยืมนักเตะถึง 28 คนในฤดูกาลเดียว จน ฟีฟ่า ต้องแก้กฎใหม่เพื่อกันท่า เชลซี หรือทีมที่คิดจะทำแบบนี้โดยเฉพาะ 

กฎใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา มีอยู่ว่า สโมสรหนึ่งจะสามารถปล่อยตัวหรือดึงนักเตะในรูปแบบสัญญายืมตัวได้เพียงฤดูกาลละ 6 รายเท่านั้น โดยลดลงจากเมื่อปี 2022 ที่ปรับโควต้าการปล่อยยืมและยืมเข้า จากทำได้ไม่จำกัด เหลือขาละ 8 คน ก่อนลดเหลือ 7 คนเมื่อปี 2023 และเหลือ 6 คนในปี 2024 อย่างไรก็ตาม นักเตะอายุไม่เกิน 21 ปี และนักเตะที่ผ่านการฝึกจากอคาเดมี่ของสโมสร จะไม่ถูกนับรวมในโควต้านี้

มองคร่าว ๆ มันดูจะกระทบกับ เชลซี ยุคนี้ที่มีนักเตะล้นทีมใช่ไหม ? แต่เอาเข้าจริง ก็ดูเหมือนพวกเขาจะวางแผนนี้เอาไว้อย่างถี่ถ้วนแล้ว 

เพราะในทีม เชลซี ชุดปัจจุบัน นักเตะที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับทีมชุดใหญ่ ล้วนอายุต่ำกว่า 21 ปีเป็นส่วนมาก อาทิ เลสลี่ย์ อูโกชุกวู (กองกลางตัวรับ อายุ 20 ปี), ดาวิด ดาโทร โฟฟาน่า (กองหน้า 21 ปี), เซซาเร่ คาเซเด (กองกลาง 21 ปี), ลูคัส เบิร์กสตรอม (ผู้รักษาประตู 21 ปี), โอมารี เคลลี่แมน (กองกลางตัวรุก อายุ 18 ปี), เดวิด วอชิงตัน (กองหน้า อายุ 19 ปี) รวมถึง อังเดร ซานโต๊ส (กองกลาง อายุ 20 ปี)

นักเตะเหล่านี้บางส่วนถูกปล่อยยืมตัวไปแล้ว แต่ถ้าหากหาสโมสรใหม่ไม่ได้ ก็สามารถลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่ของ เชลซี ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนกับพรีเมียร์ลีก เพราะตามกฎแล้ว นักเตะอายุไม่เกิน 21 ปี สามารถลงเล่นได้โดยไม่ต้องใส่ชื่อในการลงทะเบียน 

ขณะที่คนอื่น ๆ ที่มีข่าวปล่อยยืมหรือขายขาด ล้วนเป็นนักเตะที่อายุ 21 ปีขึ้นไปทั้งนั้น เช่น จอร์จี้ เปโตรวิช, อาร์มันโด้ โบรย่า, โรเมลู ลูกากู หรือ เทรเวอร์ ชาโลบาห์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีปัญหาอะไร เชลซี สามารถปล่อยยืมตัวและคิดค่ายืมตัวได้ หรือจะขายขาดก็ได้เช่นกัน

นอกจากนักเตะกลุ่มนี้ ยังมีนักเตะดาวรุ่งอีกจำนวนไม่น้อยที่ เชลซี เซ็นสัญญาไว้ล่วงหน้า ณ ตอนนี้พวกเขายังเล่นกับต้นสังกัดเดิมก่อน โดยมีกำหนดมาร่วมทีมในภายหลังตามเวลาที่กำหนดตกลงกันไว้ อาทิ เอสเตเวา วิลเลี่ยน ในวัย 17 ปี ซึ่งนักเตะกลุ่มนี้ไม่นับว่าเป็นการปล่อยยืมตัวของสโมสร เท่ากับว่า เชลซี ฝากเลี้ยงนักเตะกลุ่มนี้ได้อีก 1-2 ปี เป็นอย่างน้อย 

จากการจำแนกตรงนี้ จะเห็นได้ว่าเรื่องกฎไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เชลซี แบ่งส่วนเอาไว้ค่อนข้างลงตัว แม้จะมีบางส่วนเกินไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ส่วนที่จะต้องซีเรียสกับมันมากนัก ที่ยากคือพวกเขาจะปล่อยออกได้กี่คน และทำเงินจากค่ายืมตัวได้ตามที่พวกเขาต้องการหรือเปล่า

ซึ่งจากราบชื่อกลุ่มนักเตะอายุไม่เกิน 21 ปีที่กล่าวไว้ข้างต้น นักเตะพวกนี้ไม่น่ามีปัญหา เหลือแต่เพียงกลุ่มส่วนเกินอย่าง ลูกากู ที่ยังเป็นปัญหาจริง ๆ จัง ๆ คนเดียวเท่านั้น ส่วน ชาโลบาห์ และ โบรย่า ที่ถูกห้ามเข้าสนามซ้อมและไม่มีส่วนร่วมกับทีมในพรีซีซั่นนั้นไม่น่าห่วงนัก เนื่องจากมีข่าวสนใจจากหลาย ๆ ทีมในพรีเมียร์ลีกอยู่

สรุปแล้ว พวกเขาสามารถฝากเด็ก ๆ ที่ซื้อมาไปโตที่อื่นได้ แถมยังได้เงินกลับมาด้วย และทุก ๆ ปีผ่านไป ก็มีคลื่นลูกใหม่มาไล่คลื่นลูกเก่าแบบนี้เรื่อย ๆ ซึ่งมันจะไม่มีปัญหาหากพวกเขาแบ่งสรรปันส่วนมาแล้วเป็นอย่างดี 

 

ไปกันต่อ ! 

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เท่ากับว่า เชลซี จะมีนักเตะที่ถูกเรียกว่าเป็นชุดใหญ่จริง ๆ อยู่ที่ราว ๆ 26-28 คน แม้จะมากกว่าทีมอื่นทั่วไป แต่ก็ไม่ได้เยอะจนล้นไม่มีที่พอให้ลงขนาดนั้น 

นั่นทำให้ปัญหาใหญ่ที่สุดของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า กุนซือใหม่อย่าง เอ็นโซ่ มาเรสก้า จะจับปูใส่กระด้งอย่างไร จะหา 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดได้เมื่อไหร่ เพราะถ้าหาได้เร็วที่สุดปัญหาเหล่านี้ก็จะมีผลกระทบกับทีมน้อยลงไปเท่านั้น 

สื่ออเมริกันอย่าง Yahoo แจกแจง Squad Depth ของ เชลซี ในแต่ละตำแหน่ง เริ่มจากผู้รักษาประตูไปจนถึงกองหน้า โดยเนื้อหาโดยคร่าวมีดังนี้ 

ผู้รักษาประตู : ปัญหาใหญ่ที่สุดคือใครจะเป็นมือ 1 ระหว่าง โรเบิร์ต ซานเชซ และผู้มาใหม่อย่าง ฟิลิป ยอร์เกนเซ่น มือ 3 เป็นหน้าของ มาร์คัส เบตติเนลลี่ วัย 32 ปี ส่วนคนอื่น ๆ ได้แก่ เปโตรวิช (จะโดนปล่อยยืมหรือขายขาดในซัมเมอร์นี้), เบิร์กสตรอม และ กาเบรียล สโลนิน่า จะพัฒนาตัวเองในทีมระดับเยาวชน ส่วน เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า น่าจะต้องย้ายออกด้วยการขายขาดในซัมเมอร์นี้ 

กองหลัง : แบ็กขวาแย่งตัวจริงกันระหว่าง รีซ เจมส์ และ มาโล กุสโต้ - แบ็กซ้าย มาร์ก กูกูเรย่า, เรนาโต้ เวก้า และ เบน ชิลเวลล์ - เซ็นเตอร์แบ็ก เป็น ลีวาย โควิลล์, โทซิน อดาราบิโอโย่, เวสลี่ย์ โฟฟาน่า, อักเซล ดิซาซี่, เบอนัวต์ บาเดียชิลล์ จะต้องแย่งตำแหน่งกัน 

กองกลางตัวรับ และตัวเชื่อมเกม : เอ็นโซ่ เฟอร์นานเดซ และ มอยเซส ไกเซโด้ จะเป็นตัวหลักในแดนกลาง โดยมี โรเมโอ ลาเวีย และ เคียร์แนน ดิวส์บิวรี่ ฮอลล์ คอยแย่งตำแหน่งกัน ส่วน คอเนอร์ กัลลาเกอร์ เด็กปั้นของสโมสร จะถูกขายเพื่อนำเงินมาใช้หานักเตะคนใหม่เข้าทีม

กองกลางตัวรุก : คริสโตเฟอร์ เอ็นกุนกู เป็นตัวเลือกหลัก หรืออาจจะใช้ โคล พาลเมอร์ กับ เคียร์แนน ดิวส์บิวรี่ ฮอลล์ ขึ้นมาเล่นตรงนี้

ริมเส้นฝั่งซ้าย : เปโดร เนโต้, ราฮีม สเตอร์ลิง และ มิไคโล มูดริก ต้องแย่งชิงตำแหน่งกัน ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาสามารถเล่นในฝั่งขวาได้ด้วย และอาจมี ชูเอา เฟลิกซ์ ที่เคยเล่นให้ เชลซี ด้วยสัญญายืมตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 กลับมาร่วมทีมอีกครั้ง

ริมเส้นฝั่งขวา : โคล พาลเมอร์, แองเจโล่ กาเบรียล, โนนี่ มาดูเอเก้ เป็น 3 ตัวเลือกหลัก ๆ 

กองหน้าตัวเป้า : นิโคลัส แจ็คสัน เป็นเบอร์ 1 ในตอนนี้ โดยมี มาร์ค กิว เป็นตัวสอดแทรก และคาดว่าในช่วงเวลาที่เหลือของตลาดนักเตะ พวกเขาจะล่าตัว วิคเตอร์ โอซิเมน มาอีก 1 คน 

แน่นอนว่านี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เล่นทั้งหมดในทีมชุดนี้อยู่ที่ 25 คนเท่านั้น ยังมีพื้นทื่อีกราว ๆ 3-4 ที่ให้สอดแทรก เพราะ เชลซี ต้องเล่น 4 รายการในซีซั่น 2024-25 ทั้ง พรีเมียร์ลีก, เอฟเอคัพ, ลีกคัพ และ คอนเฟอเรนซ์ลีก 

การจัดทีม การหาเงิน และพัฒนานักเตะที่ซื้อเข้ามาด้วยการปล่อยยืม ดูจะเป็นอะไรที่จับต้องได้เป็นไปตามแผนระยะยาวของทีม อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ทีมเล่นออกมาดีมีแชมป์มันเป็นอีกเรื่อง นั่นคือหน้าที่ของ มาเรสก้า ต้องจัดการด้วยตัวเอง และเขาเท่านั้นที่รู้ว่าต้องทำยังไง ? เพราะเป้าหมายของ เชลซี ไม่ใช่แค่ระยะยาวเท่านั้น ในระยะสั้นก็ควรมีพัฒนาการให้เห็นด้วย

ถ้า มาเรสก้า ทำไม่ได้ ... แน่นอนว่าบอร์ดบริหารจะต้องหาคนใหม่มาทำแทนแน่ เพราะโมเดลของ เชลซี จะไม่เปลี่ยนง่าย ๆ อย่างแน่นอน  

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.insidehook.com/sports/chelsea-owner-premier-league-mlb-contracts
https://sports.yahoo.com/far-more-complex-analysing-chelsea-180000394.html
https://www.nytimes.com/athletic/5539605/2024/06/06/enzo-maresca-chelseas-seven-criteria/
https://www.cbssports.com/soccer/news/chelsea-squad-enzo-marescas-options-depth-chart-how-to-handle-oversized-roster-with-premier-league-looming/
https://www.givemesport.com/every-chelsea-player-wages/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา