Feature

ดั่งนกฟีนิกซ์ : วอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นกับการเกิดใหม่อีกครั้งหลังโอลิมปิก 2020 | Main Stand

แม้ว่าจะเป็นชาติแรกที่คว้าเหรียญทองได้ในโอลิมปิกและเป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีหลังทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นมีผลงานที่ตกลงอย่างเห็นได้ชัด 

 


หลักฐานล่าสุดคือการตกรอบแรกในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ทั้งที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ โดยเอาชนะคู่แข่งได้เพียงแค่นัดเดียว รั้งอันดับ 10 จาก 12 ทีม เป็นผลงานที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี 

อย่างไรก็ดีตอนนี้พวกเธอเริ่มกลับมาได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานในเอเชียที่เพิ่งคว้าแชมป์ หรือศึกชิงแชมป์โลก ที่จบในอันดับ 5 ของทัวร์นาเมนต์ 

อะไรที่ทำให้ วอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น กลับมาได้รวดเร็วสมฉายา "ฮิโนะโทริ นิปปอน" (ฟีนิกซ์ เจแปน) ขนาดนี้ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand  

 

เหรียญทองประวัติศาสตร์ของสาวโรงงาน 

แม้ว่าวอลเลย์บอลจะเริ่มแพร่หลายไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สำหรับญี่ปุ่นมันเป็นกิจกรรมสันทนาการที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และมาเล่นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในหมู่สาวโรงงานในช่วงทศวรรษที่ 1960s 

โดยหนึ่งในทีมที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้นคือ นิจิโบ ไคซูกะ โรงงานทอผ้าจากจังหวัดโอซากา ที่มี มาซาเอะ คาไซ เจ้าของส่วนสูง 170 เซนติเมตรเป็นตัวนำทีม 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ตอนที่ญี่ปุ่นรู้ว่าวอลเลย์บอลจะถูกบรรจุเป็นกีฬาชิงเหรียญรางวัลครั้งแรกใน โตเกียว โอลิมปิก 1964 พวกเธอก็สามารถฟอร์มทีมได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการดึงผู้เล่นจาก นิจิโบ ไคซูกะ มาติดทีมชาติเกือบยกชุด 

แต่ถึงอย่างนั้นในเวทีระดับโลกพวกเธอยังถือว่าใหม่ อีกทั้งเมื่อเทียบกับชาติตะวันตกก็เสียเปรียบเรื่องส่วนสูงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ ฮิโรฟูมิ ไดมัตสึ อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าของฉายา "โค้ชปีศาจ" ต้องเคี่ยวกรำพวกเธออย่างหนัก

ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมทุกวันหลังเลิกงานจนถึงเที่ยงคืนโดยไม่มีวันหยุดนอกจากวันปีใหม่ หรือการฝึกให้รับลูกแล้วหมุนตัวเป็นร้อยเป็นพันครั้งจนร่างกายจำได้ ไปจนถึงการลงโทษสุดโหด เช่น ถ้าผู้เล่นทำผิดจะต้องกินอาหารเย็นช้ากว่าคนอื่น 30 นาทีเป็นต้น 

"นี่คือเวลาที่จะไม่มีอย่างอื่นมาข้องเกี่ยว ผู้เล่นต่างรู้ดีว่าเขาไม่มีชีวิตให้กับเรื่องอื่น พวกเธอทำเพราะพวกเธอเลือกที่จะทำ การเตรียมตัวเพื่อชัยชนะเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นความท้าทายส่วนตัว มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับโดยไม่มีคำถาม" ไดมัตสึ อธิบายกับ Sports Illustrated

แต่มันก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อญี่ปุ่นสามารถคว้ารองแชมป์ได้ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 1960 จนได้รับฉายา "แม่มดแห่งตะวันออก" ก่อนจะมาหักปากกาเซียนในโอลิมปิก 1964 ด้วยการเอาชนะสหภาพโซเวียต ยักษ์ใหญ่ในตอนนั้น 3-0 เซตในนัดตัดสิน คว้าเหรียญทองไปได้อย่างยิ่งใหญ่

"เพื่อจะเอาชนะโซเวียต เราต้องฝึกซ้อมให้หนักกว่าโซเวียต 1.5 เท่า การฝึกเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของกีฬาสมัครเล่นอยู่แล้ว การเป็นแชมป์โลกเป็นผลผลิตของสิ่งนั้น" ไดมัตสึ กล่าวหลังการแข่งขัน

"เราไม่ต้องการฮีโร่ในวอลเลย์บอล ถ้าล้อทั้งหกอยู่เบื้องหลังความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว มันคือจิตวิญญาณในการต่อสู้ที่สำคัญ" 

แต่เรื่องราวของพวกเธอไม่ได้จบแค่นั้น 

 

วอลเลย์บอลฟีเวอร์ 

ในปี 1964 ทีมวอลเลย์บอลสาวญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองเท่านั้น แต่การแข่งขันนัดชิงชนะเลิศยังเป็นหนึ่งในรายการที่มียอดผู้ชมทางโทรทัศน์สูงสุดที่ 66.8 เปอร์เซ็นต์ และเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุดจนถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้มันยังทำให้กระแสวอลเลย์บอลฟีเวอร์แพร่หลายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง และเป็นแรงบันดาลใจให้แม่บ้านญี่ปุ่นหันมาเล่นกีฬาชนิดนี้ จนทำให้ชมรมวอลเลย์บอลของแม่บ้าน (mamasan bareboru) ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในทั่วทุกมุมเมือง 

"หนึ่งในอิทธิพลสูงสุดหลังโตเกียว โอลิมปิก คือการแพร่หลายของวอลเลย์บอลในหมู่มาม่าซัง (แม่บ้าน) ก่อนหน้าปี 1964 แม่บ้านจะสนใจอยู่กับแค่กับงานบ้านและการดูแลลูก และพวกเธอก็ต้องอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ของสามี มันจึงไม่มีความคิดว่าแม่บ้านญี่ปุ่นจะเล่นกีฬาหรือทำงานนอกบ้านเลย" มาซาเอะ คาไซ กัปตันชุดโอลิมปิก 1964 กล่าวกับ เฮเลน แมคนอธาน เมื่อปี 2012 

"แต่ชัยชนะในโอลิมปิกกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาเล่นกีฬานอกบ้าน วอลเลย์บอลมันไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก มันใช้แค่บอลกับตาข่ายเท่านั้น และภายในปี 1968 การแข่งขันวอลเลย์บอลของแม่บ้านก็สามารถจัดขึ้นที่โตเกียว มันเกิดขึ้นเร็วมาก จากนั้นวอลเลย์บอลของแม่บ้านก็ได้รับความนิยมในทุกที่จนถึงทุกวันนี้"

ขณะเดียวกันเหรียญทองของพวกเธอยังสร้างความมั่นใจให้กับสังคมญี่ปุ่นที่กำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในยุคต่อมา

ผลพวงจากโอลิมปิก 1964 ยังทำให้ญี่ปุ่นครองความยิ่งใหญ่ในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคว้าเหรียญเงินในโอลิมปิก 1968 และ 1972 และเหรียญทองอีกครั้งใน มอนทรีออล โอลิมปิก 1978 และเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1982 

นอกจากนี้พวกเธอยังสามารถขึ้นมาคว้าตำแหน่งแชมป์โลกในรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพอีก 3 สมัยในปี 1962, 1967, 1974 กับในรายการเวิลด์คัพอีกครั้ง ในปี 1977 และเป็นเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์  5 สมัยติดต่อกันในระหว่างปี 1962-1978 

และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นแรงบันดาลใจให้กับมังงะ Attack No.1 หรือชื่อไทยคือ ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์ โชโจะมังงะ (มังงะตาหวาน) ในตำนานของ จิคาโกะ อูราโนะ ที่ตีพิมพ์ในปี 1968-1970 และโด่งดังเป็นพลุแตกจนถูกนำมาสร้างเป็นอนิเมะความยาว 104 ตอนในช่วงปี 1969-1971

และมังงะเรื่องดังกล่าวยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความฝันของนักวอลเลย์บอลสาวญี่ปุ่นหลายคนในยุคต่อมา รวมไปถึง มาโตโกะ โอบายาชิ อดีตเอซทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยลงเล่นในโอลิมปิก 3 สมัยในปี 1988,1992 และ 1996 

"ฉันจำได้ตอนที่อ่าน Attack No. 1 ตอนประถม มันทำให้ฉันตัดสินใจได้ทันทีว่าฉันจะเป็น อายูฮาระ โคซูเอะ ให้ได้ และทุกอย่างก็เริ่มต้น" โอบายาชิ กล่าวในสารคดี We became stronger with manga! ของ NHK 

"ประโยคที่ว่า 'ไม่ว่าจะต้องฝึกซ้อมอย่างหนักแค่ไหน ฉันก็มีเป้าหมายจะไปเล่นโอลิมปิกที่มิวนิค และฉันก็จะเล่นวอลเลย์บอลต่อไปเพื่อสิ่งนั้น' (จาก โคซูเอะ อายูฮาระ ตัวเอกของเรื่อง) ทำให้ฉันคิดได้ว่านี่คือสิ่งที่ฉันกำลังรออยู่ ฉันจะพยายามอย่างหนักเพื่อโอลิมปิก" 

อย่างไรก็ดีราวกับว่าความยิ่งใหญ่ของพวกเธอถูกแช่แข็งไว้ที่ทศวรรษที่ 1980s 

 

แม่มดไม้กวาดหัก 

ยุครุ่งเรืองของวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นดำเนินมาจนถึงปี 1984 เพราะหลังจากนั้นพวกเธอก็ไม่เคยได้สัมผัสกับเหรียญโอลิมปิกอีกเลยอยู่หลายสิบปี ขณะที่ระดับเอเชียก็ต้องเสียบัลลังก์ให้กับจีนและเกาหลีใต้มาโดยตลอด 

กราฟโค้งลงของญี่ปุ่นยังคงกู่ไม่กลับในช่วงทศวรรษที่ 1990s-2000s ไม่ว่าจะเป็นการทำได้เพียงแค่อันดับ 5 ในบาร์เซโลน่า โอลิมปิก 1992 หรือการตกรอบแรกโดยเอาชนะคู่แข่งได้เพียงแค่นัดเดียว ในแอตแลนตา โอลิมปิก 1996 

ทว่าที่เลวร้ายที่สุดคือการไม่ผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นในโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ซึ่งเป็นเรื่องด่างพร้อยในประวัติศาสตร์วงการวอลเลย์บอลญี่ปุ่น 

อันที่จริงมันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ เพราะรอบคัดเลือกในครั้งนั้นญี่ปุ่นเองก็เป็นเจ้าภาพ แถมยังคว้าชัย 3 เกมรวดในการพบกับ อาร์เจนตินา, แคนาดา และ เนเธอร์แลนด์ ทว่าลางร้ายก็เริ่มต้นในเกมที่พวกเธอแพ้ จีน ต่อด้วย อิตาลี

ก่อนที่ประตูของพวกเธอจะปิดลงในเกมพบโครเอเชีย ทั้งที่เป็นฝ่ายออกนำไปก่อน 2 เซต และนำอยู่ 21-17 ในเซตที่ 4 ก่อนจะช็อกชาวญี่ปุ่นไปทั้งประเทศหลังพ่ายไป 3-2 เซต พลาดตั๋วไปแดนจิงโจ้อย่างน่าเสียดาย 

"ในจุดนั้น (ตอนที่นำ 21-17) ผมคิดว่าทีมจะชนะ แต่พอเรานำแค่ 2 คะแนนตอน 21-19 ผมคิดว่า 'ซวยแล้ว ต้องแพ้แน่เลย'" โนบูจิกะ คูซูวะ เฮดโค้ชของทีมชุดนั้นกล่าวกับ Bunshun

"ถ้าผมไม่คิดว่าจะชนะ ความคิดว่าแพ้ก็คงไม่เกิดขึ้น การดวลกันเป็นสิ่งที่โหดร้ายมาก ความไม่เด็ดเดี่ยวของมนุษย์มักจะถูกเน้นในฉากสุดท้าย" 

ความตกต่ำของวอลเลย์บอลญี่ปุ่นยังทำให้กระแสของกีฬาชนิดนี้ในระดับเยาวชนเสื่อมความนิยมลง และมีจำนวนนักเรียนที่เลือกเล่นวอลเลย์บอลในกิจกรรมชมรมลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2001 ทั้งในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

แม้ว่าช่วงต้นทศวรรษที่ 2010s เจ้าของฉายา "ฮิโนะโทริ นิปปอน" (ฟีนิกซ์ เจแปน) จะเริ่มกลับมาได้ภายใต้การคุมทัพของ มาซาโยชิ มานาเบะ ด้วยการคว้าอันดับ 3 ในศึกชิงแชมป์โลก 2010 และเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2012 แต่ก็กลับมาสู่ยุคเสื่อมถอยอีกครั้งหลังจากนั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ คูมิ นาคาตะ ผู้หญิงคนแรกที่ได้คุมทีมวอลเลย์บอลในโอลิมปิกที่ทำผลงานได้อย่างผิดหวัง หลังชนะคู่แข่งได้เพียงแค่เกมเดียว รั้งอันดับ 10 จาก 12 ทีม ตกรอบไปแบบไม่มีลุ้นต่อหน้ากองเชียร์ของตัวเอง 

แต่พวกเธอก็ไม่ยอมแพ้ 

 

นกฟีนิกซ์คืนชีพ 

ทันทีที่จบโอลิมปิก 2020 นาคาตะกับวอลเลย์บอลสาวญี่ปุ่นก็กลายเป็นเส้นขนาน ก่อนที่สมาพันธ์จะประกาศแต่งตั้ง มาซาโยชิ มานาเบะ กลับเข้ามารับตำแหน่งเป็นหนที่สอง หลังอำลาทีมไปตั้งแต่ปี 2016 

"ผมรู้สึกถึงวิกฤตอย่างชัดเจนกับการที่เราจบในอันดับ 10 ในโตเกียวโอลิมปิก ผมยกมืออาสาเพราะมันเป็นสถานการณ์ที่ 'ฉุกเฉิน' ที่วอลเลย์บอลกำลังจะกลายเป็นกีฬาของคนกลุ่มน้อย ถ้าเราไม่ได้ไปปารีส (ในปี 2024)" มานาเบะ กล่าวในวันรับตำแหน่ง 

อันที่จริงมานาเบะคือคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวอลเลย์บอลญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 2010s เมื่อเขาคือคนที่เอาเทคโนโลยีไอดีวอลเลย์มาใช้ มันเป็นเครื่องมือที่เอาไว้วิเคราะห์สถานการณ์แบบเรียลไทม์ที่จะทำให้เขาสามารถให้คำแนะนำผู้เล่นได้อย่างละเอียดในแต่ละเซต 

แต่ครั้งนี้เขาตัดสินใจยกเครื่องใหม่ด้วยการหลงเหลือสมาชิกชุดโอลิมปิก 2020 ไว้เพียงแค่ 5 คน ส่วนที่เหลือเป็นสายเลือดใหม่ พร้อมกับแต่งตั้ง ซารินะ โคงะ ที่มีอายุเพียง 26 ปีขึ้นเป็นกัปตันทีม และทำให้ "ฮิโนะโทริ นิปปอน" ชุดนี้มีอายุเฉลี่ยแค่เพียง 24.4 ปี และแทบไม่มีประสบการณ์ในเวทีระดับนานาชาติ

มานาเบะยังเน้นย้ำถึงการสื่อสารที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในสนาม เขาพยายามกระตุ้นให้แต่ละคนส่งเสียงมากขึ้น ทั้งในตอนซ้อมและตอนแข่ง โดยมีโคงะเป็นหัวหอก

"ฉันคิดว่าทีมที่สามารถพูดคุยกันได้เป็นสิ่งที่ดี การสนทนาก็เหมือนกัน ทีมที่สามารถพูดกันได้เสียงดังบนคอร์ทหรือให้คำแนะนำกันถือเป็นเรื่องดี" โคงะ กล่าวกับ Sponichi 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้ว่าจะประกอบไปด้วยผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นก็ทำผลงานได้อย่างน่าตื่นตา โดยเฉพาะการคว้าชัย 8 เกมติดต่อกันในศึกวอลเลย์บอลเนชั่นลีก (VNL) 2022 ที่ตุรกี  

อย่างไรก็ดีพวกเธอยังมีปัญหาโดยฉพาะเรื่องความแน่นอน ทำให้ 4 เกมหลังจากนั้นญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความปราชัยทั้งหมด ทำให้แม้จะเข้ารอบแต่ก็ต้องจอดป้ายในรอบ 8 ทีมสุดท้ายโดย บราซิล 

ทว่ามานาเบะก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เขาพยายามที่จะอุดรอยรั่วให้กับทีมชุดนี้ โดยเฉพาะการเสิร์ฟที่เขามองว่ามันคืออาวุธสำคัญที่จะทำให้พวกเธอสามารถไล่ตามระดับโลกได้ทัน 

"ผมพูดเสมอว่าถ้าเราไม่เบรกด้วยการเสิร์ฟ เราคงไม่สามารถแข่งกับทีมอื่นของโลกได้" มานาเบะ กล่าวกับ Sportiva 

"มัน (การเสิร์ฟ) ยังคงเป็นเรื่องของจิตใจ ผมคิดว่ามันจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันชิงแชมป์โลก และผมอยากจะปรับปรุงความแม่นยำและความเร็วขึ้นอีกนิด" 

นอกจากนี้เขายังโฟกัสไปที่ความแน่นอน เพราะแม้ว่าผู้เล่นญี่ปุ่นจะเสียเปรียบเรื่องส่วนสูง แต่พวกเธอก็มีความเร็ว ซึ่งเป็นมรดกที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ชุด 1964 และมานาเบะก็พยายามเน้นเรื่องความแน่นอนในทุกการเล่น  

"ในเนชั่นลีกเราชนะ 8 นัดรวด และแพ้ 5 นัดรวด เราเล่นวอลเลย์กันด้วยความเร็ว" มานาเบะ กล่าวต่อ 

"ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าถ้าเราไม่พัฒนาความแม่นยำมันคงยากที่จะไล่ตามทีมที่แกร่งในระดับโลกได้ทัน อย่างการเสิร์ฟผมตั้งเป้าจะให้ผู้เล่นกระโดดเสิร์ฟด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง" 

และมันทำให้พวกเธอมีผลงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เริ่มจากการคว้าแชมป์เอเชียนคัพ (เอวีซี คัพ) ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเธอในถ้วยใบนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 

แถมล่าสุดทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นเพิ่งจะโชว์ฟอร์มเฉียบในศึกชิงแชมป์โลก เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ หลังคว้าชัยถึง 4 จาก 5 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม รวมถึงการเอาชนะบราซิลยอดทีมของโลก 3-1 

แต่น่าเสียดายที่ในรอบน็อกเอาต์ 8 ทีมสุดท้าย พวกเธอมาโดนบราซิลแก้แค้น ตกรอบไปด้วยการคว้าอันดับ 7 ของการแข่งขัน ทว่าก็ถือว่าจบได้ตามเป้าหมายที่หวังท็อป 8 ในทัวร์นาเมนต์นี้ 

สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการยอมถอยเมื่อล้มเหลว และการยอมรับในจุดอ่อนเพื่อนำมาแก้ไข และมันทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นฟื้นคืนชีพ เหมือนดั่งฉายานกฟีนิกซ์ (ฮิโนะโทริ) ของพวกเธอ  

น่าสนใจว่าพวกเธอจะไปได้ถึงจุดไหน เพราะนับจนถึงตอนนี้ก็ยังเหลือเวลาอีกเกือบ 2 ปีกว่าที่ ปารีส 2024 จะมาถึง หากทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย ความยิ่งใหญ่เมื่อในอดีตก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกินฝัน 

และบางทีเหรียญโอลิมปิกอาจจะกลับมาสู่อ้อมอกของชาวญี่ปุ่นอีกครั้งก็เป็นได้ 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://apjjf.org/2020/4/MacNaughtan.html 
https://www.youtube.com/watch?v=uxwc5v8Sqbg
http://www.fivb.org/EN/Volleyball/Competitions/WorldCup/2007/Women/Press/viewNews.asp?No=15557
https://spaia.jp/column/volleyball/878 
https://olympics.com/en/featured-news/tokyo-1964-women-volleyball-japan-gold 
https://japan-forward.com/volleyball-witches-defined-japans-resurgence-at-1964-tokyo-olympics/
https://bunshun.jp/articles/-/52433
https://bunshun.jp/articles/-/52620
https://news.yahoo.co.jp/byline/ryouchida/20160104-00053087 
https://sports.go.jp/special/value-sports/30.html 
https://todo-ran.com/t/kiji/13283 

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น