Feature

คนดูเต็มสนาม : ทำไมคนญี่ปุ่นถึงให้ความสำคัญกับการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียน | Main Stand

ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ฤดูหนาว ถือเป็นหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลสมัครเล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากชาวอาทิตย์อุทัย โดยเมื่อไม่นานนี้ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศครั้งที่ 101 ได้บทสรุปเป็นทาง โอคายามะ กาคุเงกิคัง ทีมโรงเรียนตัวแทนจากจังหวัดโอคายามะ ที่คว้าแชมป์ไปครอง

 


นอกจากผลการแข่งขัน หากมองไปที่ตัวเลขของผู้เข้าชมเกมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลรายการดังกล่าวในแต่ละปีจะพบว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยในการแข่งขันครั้งล่าสุดมีผู้เข้าชมสูงถึง 50,868 คน ขณะที่ครั้งที่ผ่าน ๆ  มา จำนวนผู้เข้าชมก็จะอยู่ที่ประมาณนี้เช่นกัน (ยกเว้นปี 2020 ที่ไม่มีผู้เข้าชม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19)

นำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า ทำไมการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนของญี่ปุ่นถึงได้รับความนิยมมากเช่นนี้ เพราะเหตุใดกัน ? ร่วมหาคำตอบได้ที่นี่ Main Stand

 

ความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาว

การแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ฤดูหนาว เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1917 โดยเกมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของรายการนี้จะจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว ซึ่งมีความจุถึง 60,000 คน นั่นจึงทำให้เกมการแข่งขันรอบชิงของรายการนี้ในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้เข้าชมกว่าครึ่งแสนเข้ามาเป็นสักขีพยานในสนาม ร่วมกับผู้ชมทางบ้านที่รับชมเกมผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์

โดยทีมที่จะสามารถเข้าไปแข่งในศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวได้นั้นจะต้องเป็นทีมโรงเรียนมัธยมปลาย และลงแข่งขันตั้งแต่รอบคัดเลือกในระดับเขต จนมาเป็นตัวแทนของจังหวัดได้เข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายที่จะมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 48 ทีมจาก 47 จังหวัดของญี่ปุ่น (โตเกียวเป็นจังหวัดเดียวที่ได้โควตา 2 ทีม)

ส่วนเหตุผลที่การแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนญี่ปุ่นแม้จะเป็นการแข่งขันในระดับมัธยมปลาย เป็นเพราะนี่คือการแข่งขันที่จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงประมาณต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเหล่านักเรียนมัธยมปลายปีที่ 3 (ม.6) ที่จะต้องเลือกว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิตหลังจากพวกเขาจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายในเดือนเมษายน 

ดังนั้นมันจึงเป็นทัวร์นาเมนต์ทิ้งท้ายชีวิตมัธยมปลายของพวกเขา เกมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาวจึงเต็มไปด้วยพลังงานที่พร้อมจะใส่สุดในสนามแข่งของเหล่านักฟุตบอลระดับชั้นมัธยมปลายปีสุดท้าย ผู้คนจึงให้ความสนใจในการแข่งขันรายการนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ฤดูหนาวไม่ได้เป็นการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนของญี่ปุ่นเพียงแค่รายการเดียวที่ได้รับความนิยมจากคนญี่ปุ่นทั่วไป แต่มันยังมีการแข่งขันกีฬารายการอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เช่น “โคชิเอ็ง” สังเวียนอันศักดิ์สิทธิ์ของเบสบอลระดับมัธยมปลายญี่ปุ่น หรือ “ฮารุโค” การแข่งขันวอลเลย์บอลระดับมัธยมปลายญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ซึ่งก่อนจะพูดถึงเหตุผลที่ทำให้การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ระดับโรงเรียนของญี่ปุ่นได้รับความนิยมจากคนในประเทศนั้น เราขอเท้าความถึงเหตุผลที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเล่นกีฬากันก่อน

 

ว่าด้วยเรื่องราวในอดีต

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเล่นกีฬาอยู่ในยุคสมัยแรกของญี่ปุ่น หรือ ยุคโจมง (14,000 - 300 ปีก่อนคริสตกาล) นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่าผู้คนที่อยู่อาศัยในดินแดนของญี่ปุ่นตอนนั้นเริ่มอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อตั้งชุมชนเป็นหลักแหล่ง ทำให้คนญี่ปุ่นในยุคสมัยนั้นให้ความสำคัญมากกับการนำพาตัวเองเข้าไปอยู่กับคนอื่น ๆ เพื่อรวมตัวกันเป็นกลุ่ม มากกว่าการเลือกที่จะอยู่ตัวคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว

และคาดว่าพฤติกรรมดังกล่าวก็ได้ถูกถ่ายทอดมายังคนญี่ปุ่นรุ่นต่อ ๆ มา ทำให้พื้นฐานสังคมของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันมีลักษณะที่เน้นให้ผู้คนมองผลประโยชน์ส่วนรวมหรือของกลุ่มเป็นอย่างแรก และไม่เอื้ออำนวยต่อการที่คน ๆ หนึ่งจะใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเท่าไรนัก

ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมหรือแนวคิดเกี่ยวกับการอยู่รวมตัวกันเป็นสังคมแบบ “กลุ่ม” มาตั้งแต่สมัยโบราณของคนญี่ปุ่นได้ส่งผลไปถึงมุมมองของพวกเขาที่มีต่อการเล่นกีฬา โดยมองว่ากีฬาเองก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของพวกเขา โดยเฉพาะกับการกีฬาที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันและมองผลประโยชน์ของทีมเป็นสำคัญ เช่น เบสบอล, บาสเก็ตบอล, วอลเลย์บอล หรือฟุตบอล เป็นต้น

นำไปสู่เหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นเห็นว่ากีฬาคือสิ่งที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความเชื่อเรื่องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ให้กับคนรุ่นหลังของพวกเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ชมรมกีฬา” ที่มีอยู่ในแต่ละโรงเรียน ทั้งระดับประถมและมัธยม หรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน 

แนวคิดเรื่องชมรมกีฬาได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่นำพาความหายนะครั้งใหญ่มาสู่ประเทศ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญี่ปุ่นหันมาให้ความสนใจกับกีฬายิ่งกว่าเดิม

 

จุดพลิกผันจากสงคราม

ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 - 1945) ทำให้คนญี่ปุ่นทั้งประเทศต่างรู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง กับความพังพินาศย่อยยับไปทั่วแผ่นดิน พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องจับมือร่วมกันฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ศูนย์อีกครั้ง

และจากการที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้สงครามถูก สหรัฐอเมริกา ผู้ชนะเข้ามาวางรากฐานของประเทศใหม่ทั้งหมด ทำให้กีฬายอดฮิตของอเมริกา เช่น เบสบอล หรือบาสเก็ตบอล ที่แม้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กีฬาดังกล่าวจะเริ่มตบเท้าเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นบ้างแล้ว แต่ผู้คนก็ยังไม่ได้นิยมชมชอบที่จะเล่นเท่าไร ก็ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นและกลายเป็นกีฬาที่คนญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น 

อันเนื่องมาจากความคลั่งไคล้ในความเป็นชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ในใจของคนญี่ปุ่นบางคน หลังจากพวกเขาตกอยู่ภายใต้การดูแลของอเมริกาในช่วงเวลาหนึ่ง และอยากจะเป็นให้ได้เหมือนกับกลุ่มคนจากดินแดนฝั่งตะวันตกบ้าง

ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ได้นำกีฬามาเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงผลักดันและขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในประเทศให้ลุกขึ้นสู้และช่วยกันฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่ โดยทุกภาคส่วนของหน่วยงานภาครัฐจะรณรงค์และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับการให้ประชาชนได้เล่นกีฬาเพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจากผลกระทบของสงคราม และนโยบายดังกล่าวมันก็ได้ผลเป็นอย่างดีต่อประเทศ 

การส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเล่นกีฬาของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเป็นจุดที่ทำให้ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่น ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ชมรม” ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามกฎของกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ที่ระบุเอาไว้ ซึ่งชมรมกีฬาเองก็เป็นหนึ่งในชมรมเหล่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อมีชมรมกีฬาแล้วก็ต้องมีทัวร์นาเมนต์ไว้ลงแข่งขันเพื่อให้เหล่านักเรียนได้แสดงศักยภาพด้านกีฬาของแต่ละคนออกมา และการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนก็ได้รับแรงสนับสนุนจากคนทั่วไปมาโดยตลอด


 
ให้ความสำคัญกับเยาวชน

เพื่อให้เด็กมัธยมปลายญี่ปุ่นได้มีเป้าหมายในการเล่นกีฬา จึงได้มีการถือกำเนิดขึ้นของการแข่งขันกีฬารายการต่าง ๆ ในระดับโรงเรียน หลังจากชมรมกีฬาได้เริ่มแพร่หลายในแต่ละโรงเรียนของญี่ปุ่น

หนี่งในการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือการแข่งขันกีฬาที่ได้รับการยกย่องจากเด็กมัธยมปลายทั่วประเทศญี่ปุ่นให้เป็นทัวร์นาเมนต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเขาอย่าง “อินเตอร์ไฮ” ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1963 หนึ่งปีก่อนที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 1964 

ซึ่งอินเตอร์ไฮนั้นคือการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนที่มีการนำกีฬาประเภทต่าง ๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน จึงทำให้การแข่งขันดังกล่าว เปรียบเสมือนกับการแข่งขันโอลิมปิกของเหล่าเด็กมัธยมปลายญี่ปุ่นที่พวกเขาอยากจะลงแข่งให้ได้สักครั้งในชีวิต

โดยผู้ที่จะได้สิทธิ์เข้าไปแข่งขันในรายการอินเตอร์ไฮนั้นคือตัวแทนโรงเรียนจากแต่ละจังหวัดที่จะต้องผ่านด่านอันโหดหินตั้งแต่รอบคัดเลือกในระดับเขตและเอาชนะเพื่อผ่านเข้ารอบมาให้ได้ จนเป็นผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวของจังหวัด และได้ไปแข่งในรายการนี้

เส้นทางสู่การได้ไปแข่งในรายการอินเตอร์ไฮจึงเป็นการเส้นทางการแข่งขันที่ดุเดือด ด้วยเหตุนี้อินเตอร์ไฮจึงเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่เต็มไปด้วยนักกีฬาระดับมัธยมปลายฝืมือดี และเป็นที่ดึงดูดของแมวมองสโมสรกีฬาอาชีพให้เข้ามาชมการแข่งขันเป็นประจำทุกปี เพื่อดูฟอร์มการเล่นของนักกีฬาระดับมัธยมปลายในการแข่งขันรายการดังกล่าว ก่อนจะทาบทามไปร่วมทีมหากใครคนไหนมีแววน่าสนใจ

ญี่ปุ่นจึงสามารถผลิตนักกีฬามากความสามารถออกมาได้อย่างไม่ขาดสายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการแข่งขันอันเข้มข้นที่นักกีฬาในประเทศพวกเขาต้องเจอตั้งแต่เป็นวัยเยาว์ และโอกาสที่จะได้เทิร์นโปรเป็นนักกีฬามืออาชีพ หากทำผลงานเข้าตาแมวมองที่เข้ามาชมเกมการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียน 

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่คนญี่ปุ่นทั่วไปจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนภายในประเทศ เพราะพวกเขารู้ดีว่าเหล่านักกีฬาระดับมัธยมปลายที่เข้าแข่งขันในรายการกีฬาต่าง ๆ ระดับโรงเรียนกำลังพยายามสุดความสามารถเพื่อที่จะได้ทำตามความฝัน นั่นคือการเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต และพร้อมที่จะให้กำลังใจเด็ก ๆ เหล่านั้นอยู่เสมอ 

ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมเกมรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ฤดูหนาวในแต่ละปีคือเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่าคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกีฬาระดับเยาวชนมากแค่ไหน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://spaia.jp/column/other/3794
https://oshiete.goo.ne.jp/qa/6634225.html
https://news.yahoo.co.jp/articles/b4e01f1cffa97b9edbddd38f536f3eaa354e2a64
https://web.gekisaka.jp/news/highschool/detail/?295911-295911-fl

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น