Feature

เกาหลีใต้โยงวัฒนธรรม K-POP เป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาได้อย่างไร | Main Stand

บทบาท โกลบอล แอมบาสเดอร์ ของทีม โกลเดนสเตท วอริเออร์ส ของ แบมแบม หรือการปรากฏตัวในการแข่งขัน The Match ของ แจ็คสัน หวัง ทั้งหมดล้วนแสดงให้เห็นว่าวงการเคป๊อบกับโลกกีฬาอยู่ใกล้กันมากขึ้นทุกขณะ

 

ทั้งที่บทบาทไอดอลผู้รักษาภาพลักษณ์กับนักกีฬาผู้ทุ่มเทเพื่อทีมจะไม่ค่อยเข้ากันนัก แต่ศิลปินเคป๊อบกลับหาพื้นที่ในวงการกีฬาของตัวเองได้อย่างน่าประหลาด จนอาจกล่าวได้ว่าหากไม่นับ ซน ฮึงมิน บุคคลเกาหลีใต้ที่เห็นบนหน้าสื่อกีฬาได้มากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือไอดอลเหล่านี้

Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่าเกาหลีใต้ผลักดันวัฒนธรรมเคป๊อบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาได้อย่างไร และจะอธิบายให้เห็นถึงเกมกีฬาในอีกหลายมิติ  รวมถึงกระแสอิทธิพลของดนตรีเกาหลีใต้ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

 

เพราะกีฬาคือความบันเทิง

หากจะพูดถึงสักจุดเชื่อมโยงที่ทำให้เคป๊อบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาได้สำเร็จ คำว่า "ความบันเทิง" คือจุดเชื่อมโยงที่ง่ายที่สุดที่เรามองเห็น เพราะถ้าลองมองไปยังเกมกีฬากับคอนเสิร์ตของศิลปินเคป๊อบในปัจจุบัน ทั้งสองงานแทบจะมีจุดประสงค์คล้ายคลึงกัน นั่นคือมอบความสนุกสนานและสร้างความผ่อนคลายให้แก่ผู้ชมในฐานะกิจกรรมบันเทิง

ต้องอธิบายกันให้เข้าใจก่อนว่า วัฒนธรรมการชมกีฬาของชาวเกาหลีใต้นั้นแตกต่างออกไปจากชาวยุโรปที่มีความผูกพันลึกซึ้งกับทีมกีฬาของตนมาอย่างยาวนาน แต่เกาหลีใต้จะมีวัฒนธรรมการชมกีฬาที่คล้ายคลึงกับคนอเมริกัน คือมองกีฬาเป็นเหมือนความบันเทิงชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากการไปชมคอนเสิร์ตในช่วงสุดสัปดาห์

เมื่อสังคมมองกีฬาในมุมแบบนี้แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่จะไม่ต้องการอะไรจากเกมกีฬามากกว่าความสนุก ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้เล่นหรือผู้ชม นั่นจึงทำให้เกมกีฬาขยับเข้าไปซ้อนทับกับสื่อบันเทิงมากขึ้นทุกวัน ซึ่งในขณะเดียวกันวงการบันเทิงก็ขยับเข้าใกล้วงการกีฬามากขึ้นเช่นเดียวกัน

ย้อนกลับไปยังปี 2010 การผสมผสานเกมกีฬาเข้ากับวัฒนธรรมเคป๊อบได้สร้างผลลัพธ์เป็นรายการบันเทิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงวันหยุดของเกาหลีใต้ นั่นคือ งานกีฬาสีไอดอล ที่เป็นการแข่งขันกีฬาในรูปแบบรายการวาไรตี้ที่เอาศิลปินเคป๊อบมาแข่งขันกันในรูปแบบกีฬาสี โดยจุดกำเนิดของมันไม่ได้ซับซ้อนมากไปกว่าความต้องการของช่องโทรทัศน์ที่อยากหารายการใหม่มาดึงดูดเรตติ้งในช่วงวันหยุดเทศกาลชูซอก จึงนำเหล่าไอดอลเกาหลีที่กำลังบูมสุดขีดมาเล่นกีฬาแข่งกันเสียเลย

แน่นอนว่าเหล่าไอดอลคงไม่สามารถสร้างเกมกีฬาที่มีคุณภาพเหมือนกับผู้เล่นอาชีพ แต่ด้วยความสนุกสนานเฮฮาของรายการ บวกกับเป็นช่วงเวลาประทับใจที่เหล่าแฟนคลับจะได้เห็นจากศิลปินสุดที่รัก งานกีฬาสีไอดอลจึงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในปี 2011 รายการนี้เคยทำเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 18.7

ความสำเร็จของรายการกีฬาสีไอดอลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ผู้คนในเกาหลีใต้ต้องการจากเกมกีฬาคือความบันเทิง มันไม่สำคัญว่านักกีฬาที่โลดแล่นบนสนามจะเป็นผู้เล่นหมายเลขหนึ่งของโลกหรือเป็นเพียงไอดอลที่ฝึกยิงธนูก่อนแข่งจริงแค่ 7 วัน แต่ตราบใดที่เกมกีฬาดังกล่าวถูกนำเสนอออกมาเป็นกิจกรรมบันเทิงที่สามารถสร้างความพึงพอใจ ผู้ชมก็พร้อมจะเปิดรับกีฬาในรูปแบบใหม่เข้ามาสู่ชีวิต

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้วัฒนธรรมเคป๊อบแทรกซึมเข้าสู่วงการกีฬาอย่างรวดเร็วในเกาหลีใต้ เพราะมันไม่มีเหตุผลเลยที่อุตสาหกรรมบันเทิงอันดับหนึ่งของประเทศจะไม่เข้าไปมีบทบาทกับวงการกีฬาที่ไม่เพียงเติบโตอย่างรวดเร็วหลังความสำเร็จในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2002 แต่ยังเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงระดับแถวหน้าสำหรับชาวเกาหลีใต้

อุตสาหกรรมเคป๊อบกับวงการกีฬาจึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ในเกาหลีใต้ ภาพของไอดอลสาวถูกเชิญไปขว้างลูกเบสบอลเปิดเกมสามารถพบเห็นได้เป็นกิจวัตร ขณะเดียวกันในทุก 4 ปีจะมีวงไอดอลหญิงชื่อดังถูกเลือกเป็นพรีเซนเตอร์สนับสนุนทีมชาติเกาหลีใต้ในศึกฟุตบอลโลก ไล่ตั้งแต่ Girls' Generation ในปี 2010, Apink ในปี 2014 และ Oh My Girl ในปี 2018

 

กีฬาคือแฟชั่น แฟชั่นคือไอดอล

การปรากฏตัวของไอดอลสาวเหล่านี้ภายใต้เสื้อเชียร์ทีมชาติเกาหลีใต้ ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างกระแสเชียร์ฟุตบอลในวงกว้าง แต่ยังทำให้อีเวนต์ชมฟุตบอลในพื้นที่สาธารณะมีความคึกคักมากขึ้น นั่นเป็นเพราะศิลปินถูกว่าจ้างให้ปรากฏตัวก่อนฟุตบอลจะทำการแข่งขัน และนำมาสู่กิจกรรมที่ประกอบไปด้วยการแสดงของเหล่าไอดอลที่พ่วงมากับการถ่ายทอดสดทีมชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างของจุดร่วมกันในฐานะกิจกรรมบันเทิงระดับโลกเคป๊อบกับโลกกีฬา


 
วัฒนธรรมเคป๊อบไม่เพียงเข้าไปสู่วงการกีฬาเพื่อเติมเต็มฝ่ายหลังในแง่ของความบันเทิงเท่านั้น แต่ความโด่งดังของเหล่าศิลปินที่มีแฟนคลับนับล้านจากทั่วทุกมุมโลกยังมีอิทธิพลมาสู่วงการกีฬา ไอดอลทั้งชายหญิงจึงเริ่มก้าวเข้าสู่วงการกีฬาในบทบาทที่มากกว่าการเป็นนักร้องเพื่อมอบความบันเทิง แต่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่กำหนดทิศทางกระแสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในวงการกีฬา

กระแสที่เหล่าไอดอลมีอิทธิพลมากที่สุดคงหนีไม่พ้น "กระแสแฟชั่น" เพราะเป็นเรื่องปกติของโลกมนุษย์ที่ผู้คนธรรมดามักมองหาความมั่นใจในการแต่งตัวตามอินฟลูเอนเซอร์สักคนที่สวยกว่าหรือหล่อกว่าตัวเรา ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลคนนั้นของใครหลายคนคือเหล่าศิลปินเคป๊อบที่ถูกยกย่องว่าเป็นแฟชั่นนิสต้าระดับต้น ๆ ของวงการ เห็นได้ชัดเจนจากภาพในอินสตาแกรมของพวกเขา รวมถึงแฟชั่นสนามบินอันเป็นไฮไลท์ประจำ

ศิลปินจากเกาหลีใต้เหล่านี้ไม่ได้สวมใส่แค่ของแบรนด์เนมที่ผู้คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง แต่ยังสวมใส่เสื้อผ้าสตรีทแฟชั่นหรือเสื้อผ้าที่มีรากฐานมาจากเกมกีฬากันเป็นประจำ แรปเปอร์ชื่อดังอย่าง พัค แจบอม เคยสวมเสื้ออเมริกันฟุตบอลทีมซีแอตเทิล ซีฮอว์กส์ เล่นคอนเสิร์ตผ่านจอโทรทัศน์ ส่วนรองเท้าบาสเกตบอลรุ่น Dunk ของแบรนด์ Nike ก็สามารถพบเห็นได้แทบทุกบัญชีอินสตาแกรมของไอดอลเหล่านี้

ไอดอลเกาหลีจึงเข้ามารับบทบาทเต็ม ๆ ในฐานะพรีเซนเตอร์ของสินค้าจากเหล่าแบรนด์กีฬา ยกตัวอย่าง BLACKPINK ที่เป็นพรีเซนเตอร์ของรองเท้า adidas Superstar, TWICE ที่เป็นพรีเซนเตอร์รองเท้า Nike Air Max ในประเทศญี่ปุ่น, aespa ที่เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ MLB และ IU ที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ของ New Balance และ BTS ที่เคยจับมือกับแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย โดยล่าสุดเพิ่งทำคอลเล็กชั่นที่ร่วมมือกับแบรนด์ New Era โดยนำโลโก้ของทีมเบสบอลใน MLB มาออกแบบใหม่

ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปินอีกมากมายที่รับเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้ากลุ่มสตรีทแฟชั่น และถ้าหากเราอยากจะรับรู้การเข้ามามีอิทธิพลต่อแฟชั่นกีฬาของไอดอลเกาหลีในระดับที่ลึกกว่านั้น ศิลปินจากวงการเพลงเกาหลีได้เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของสินค้ากีฬาระดับชาติอย่างเสื้อฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ติดต่อกันมาสองคอลเล็กชั่นแล้ว

ย้อนกลับไปยังปี 2018 ซึลกิ จากวง Red Velvet และ กีกวัง จากวง Highlight ถูกเลือกเป็นพรีเซนเตอร์เสื้อแข่งขันของทีมชาติเกาหลีใต้ในศึกฟุตบอลโลก 2018 ส่วนในอีกสี่ปีถัดมา The Quiett แรปเปอร์ชื่อดังชาวเกาหลีใต้ก็ถูกเลือกให้เป็นพรีเซนเตอร์ของเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นล่าสุดของทีมชาติเกาหลีใต้ที่วางขายในปี 2020

การเข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าที่ผู้คนทั่วไปในเกาหลีใต้ให้ความสนใจในวงกว้างอย่างเสื้อฟุตบอลทีมชาติ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงอิทธิพลของศิลปินเกาหลีใต้ที่ก้าวไปไกลกว่าขอบเขตของสตรีทแฟชั่น และในทางกลับกันการเข้ามาสู่สินค้ากีฬาในตลาดทั่วไปของศิลปินเหล่านี้ยังเป็นการดึงเสื้อฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้สู่กระแสแฟชั่น จนมีการออกรองเท้ารุ่น Air Force 1 เพื่อแต่งตัวคู่กับเสื้อทีมชาติเกาหลีใต้เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

และจุดสูงสุดที่ศิลปินเคป๊อบได้เข้าไปยืนในวงการแฟชั่นคือคอลเล็กชั่นของ G-Dragon ที่ทำร่วมกับแบรนด์ Nike ซึ่งปัจจุบันได้มีการยืนยันว่าลีดเดอร์ของวงบิ๊กแบงจะออกรองเท้าร่วมกับแบรนด์ดังจากสหรัฐอเมริกาถึง 4 รุ่น และถึงแม้สไตล์ของ GD จะมีความแฟชั่นจ๋า แต่พื้นฐานของรองเท้าทุกรุ่นที่ทำร่วมกับ Nike ล้วนเป็นรองเท้ากีฬา โดย Air Force 1 Para-noise ทั้งสองรุ่นยังอยู่ภายใต้โมเดลของรองเท้าบาสเกตบอล ส่วน Kwondo 1 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรองเท้ากอล์ฟและรองเท้าฟุตบอล

การสร้างสรรค์รองเท้าแฟชั่นของ G-Dragon ภายใต้โมเดลของรองเท้ากีฬาแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงในปัจจุบันของศิลปินเคป๊อบในฐานะผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นและบทบาทเครื่องแต่งกายแนวสตรีทแฟชั่นของเสื้อผ้ากีฬาได้เป็นอย่างดี จึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเส้นทางของทั้งสองฝ่ายย่อมมาบรรจบกัน เพราะไม่มีผู้มีอิทธิพลใดที่จะสร้างกระแสแฟชั่นแบบเกาหลีใต้ให้เป็นที่สนใจไปทั่วโลกได้มากกว่าเหล่าไอดอลจากโลกเคป๊อบอีกแล้ว

 

เมื่อศิลปินเคป๊อบก้าวสู่เวทีโลก

เหมือนที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าเหล่าไอดอลเกาหลีใต้มีบทบาทอย่างมากกับวงการกีฬาในประเทศมาตั้งแต่ปี 2010 แต่เนื่องจากเรื่องราวทั้งหมดมักถูกเก็บเงียบอยู่ในหมู่แฟนคลับ โลกภายนอกจึงไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความเชื่อมโยงของทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งในปี 2018 ที่กระแสเคป๊อบโด่งดังไปทั่วโลกผ่านกระแสนิยมของวง BTS ผู้คนจึงเริ่มได้รับรู้บทบาทที่เด่นชัดของศิลปินเกาหลีในวงการกีฬา

ความจริงแล้วบทบาทของไอดอลเคป๊อบในเวทีกีฬาโลกไม่ได้แตกต่างจากที่พวกเขาทำในเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่มักถูกว่าจ้างในฐานะศิลปินที่เข้ามามีส่วนร่วมกับอีเวนต์กีฬา ยกตัวอย่างเช่นการปรากฏตัวของ แจ็คสัน หวัง สมาชิกวง GOT7 ในเกม The Match ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล บนแผ่นดินประเทศไทย หรือมินิคอนเสิร์ตของวง P1Harmony ที่จัดขึ้นก่อนเกมระหว่าง ลอสแอนเจลิส เอฟซี กับ ซีแอตเทิล ซาวน์เดอร์ส ในศึกเมเจอร์ลีกซอกเกอร์ ช่วงปลายปี 2021

บทบาทของศิลปินเกาหลีใต้บนเวทีกีฬาโลกที่ก้าวไปไกลกว่าของเขตที่เคยทำได้ในเกาหลีใต้จึงไม่ได้มีเยอะมาก แต่หากเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบมหาศาลแบบที่ไม่มีใครคาดคิด โดยบทบาทลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ แบมแบม GOT7 ถูกเลือกเป็น โกลบอล แอมบาสเดอร์ ของทีมโกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะทีมกีฬาภายในประเทศไม่มีแรงดึงดูดมากพอที่จะเลือกใช้งานไอดอลในลักษณะนี้

การก้าวขึ้นเป็นโกลบอล แอมบาสเดอร์ ของทีมกีฬาระดับโลกในกรณีของแบมแบม GOT7 ถือเป็นความสำเร็จทางธุรกิจแบบที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทางรัฐบาลเกาหลีใต้รับทราบความจริงในข้อนี้ดี จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการผลักดันศิลปินเกาหลีใต้สู่ตลาดตะวันตกอย่างหนัก โดยไม่จำกัดว่าต้องไปสร้างอิมแพ็กต์ในวงการดนตรีเท่านั้น แต่รวมถึงทุกวงการที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่ประเทศได้ และวงการกีฬาย่อมเป็นหนึ่งในนั้น

การสนับสนุนศิลปินเคป๊อบสู่ตลาดโลกของรัฐบาลเกาหลีใต้สอดคล้องกับรายงานล่าสุดที่ยืนยันว่าศิลปินวง BTS อาจได้รับข้อยกเว้นให้สามารถเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตยังต่างประเทศได้ แม้จะเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของพวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะไม่เสียประโยชน์จากกระแสของศิลปินเคป๊อบที่กำลังร้อนแรงอยู่ในปัจจุบัน

ความสำเร็จของแบมแบม GOT7 ในฐานะโกลบอล แอมบาสเดอร์ของโกลเดนสเตท วอร์ริเออร์ส จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าศิลปินเคป๊อบจะถูกผลักดันหรือได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทในวงการกีฬามากขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะไม่เพียงทีมกีฬาเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์จริงจากการใช้ไอดอลเจาะตลาดแฟนคลับชาวเอเชีย แต่เม็ดเงินมหาศาลจะไหลเข้าสู่เกาหลีใต้เช่นกัน

การแทรกตัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการกีฬาโดยวัฒนธรรมเคป๊อบจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยมูลค่าของเหล่าศิลปินที่ขณะนี้กลายเป็นคนดังระดับโลก รวมถึงแง่มุมอื่นของกีฬาที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของเหล่าไอดอล ทั้งในแง่ของความบันเทิงและแฟชั่น นี่คือเวลาที่ผู้คนทั่วโลกต้องยอมรับว่าดนตรีเคป๊อบได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกกีฬาไปแล้วเรียบร้อย

 

แหล่งอ้างอิง

https://snsdkorean.com/2010/06/19/world-cup-festival-performance/
https://www.forbes.com/sites/jeffbenjamin/2021/11/01/p1harmony-performance-with-major-league-soccer-proves-k-pop--sports-can-create-smart-collaborations/?sh=630af7ee63a3
https://namu.wiki/w/%EC%95%84%EC%9D%B4%EB%8F%8C%EC%8A%A4%ED%83%80%20%EC%9C%A1%EC%83%81%20%EC%84%A0%EC%88%98%EA%B6%8C%EB%8C%80%ED%9A%8C
https://variety.com/2022/global/asia/bts-korea-military-1235330502/

Author

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

Love is not blind – it sees more, not less.But because it sees more, it is willing to see less.

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น