สำหรับชาวเกาหลีใต้ การเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องบังคับสำหรับผู้ชายทุกคน เว้นแค่บุคคลที่มีผลงานเชิงประจักษ์ทางศิลปะ ดนตรี และกีฬา ที่จะได้รับการลดหย่อนช่วงเวลาเข้ากรมเหลือเพียง 4 สัปดาห์ จากปกติที่ต้องเข้ารับราชการนาน 18-21 เดือน
เพียงคุณได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ คว้าเหรียญรางวัลใดจากโอลิมปิก คุณก็จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนดังกล่าวทันที
กฎดังกล่าวมีที่มาอย่างไร และกระแสตอบรับต่อประเด็นการเกณฑ์ทหารของชาวเกาหลีใต้นั้นเป็นเช่นไร ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ข้อยกเว้นจากเผด็จการ
จุดเริ่มต้นของการให้นักกีฬาผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้รับการผ่อนปรนช่วงเวลาเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พัค จุง-ฮี ผู้ปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการแบบอำนาจนิยม และมีคะแนนนิยมที่ถดถอยในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่ง
นั่นทำให้ในปี 1973 พัคตัดสินใจประกาศให้นักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารภาคบังคับ ด้วยจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นักกีฬาสร้างชื่อเสียงให้กับมาตุภูมิของตนเอง
และในโอลิมปิก 1976 ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา หยาง จุง-โม นักมวยปล้ำผู้ลงแข่งในประเภทฟรีสไตล์ น้ำหนักตัวไม่เกิน 62 กิโลกรัม สามารถคว้าเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ พร้อมกับเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการยกเว้นดังกล่าวเป็นความพยายามเบี่ยงความสนใจของประชาชนผู้กำลังรู้สึกไม่พึงพอใจในการปกครองของพัค หลังจากทำรัฐประหารตนเองในเดือนตุลาคม 1972 และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่กระเตื้องเท่ากับช่วงทศวรรษก่อนหน้า
ถึงกระนั้น นโยบายของพัคก็ทำให้เกาหลีใต้สร้างชื่อในวงการกีฬาได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่โอลิมปิก 1984 ที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา พวกเขาคว้าเหรียญรางวัลได้ไม่น้อยกว่าครั้งละ 19 เหรียญ และมีนักกีฬาคว้าเหรียญทองกลับบ้านมาได้ครั้งละ 12 เหรียญเป็นอย่างน้อย
นอกจากผู้คว้าเหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกแล้ว ข้อยกเว้นดังกล่าวยังรวมถึงผู้คว้าเหรียญทองจากรายการเอเชียนเกมส์ หรือกรณีพิเศษ อาทิ ทีมฟุตบอลชายชุดฟุตบอลโลก 2002 ที่การันตีการยกเว้นหากทำผลงานเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย และทีมเบสบอลชายชุดลงแข่งเวิลด์เบสบอลคลาสสิก 2006 หากเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ ซึ่งทัพนักกีฬาทั้งสองชุดก็สามารถทำผลงานได้เกินเป้าหมายที่วางไว้ และได้รับการลดหย่อนการเกณฑ์ทหารไปโดยปริยาย
ทุ่มสุดตัวเพื่ออาชีพ
หากมองจากมุมของรัฐบาล การวางแรงจูงใจให้กับนักกีฬาลงเล่นอย่างเต็มที่ย่อมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศจากผลงานที่พวกเขาทำได้ ส่วนมุมของนักกีฬา การเสียเวลาสองปีในช่วงที่ร่างกายกำลังเพียบพร้อมที่สุดในชีวิตคือความเสี่ยงที่อาจจบอาชีพการเป็นนักกีฬาหลังปลดประจำการได้เช่นกัน พวกเขาจึงต้องแสดงผลงานของตัวเองออกมาในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาทุกรายการ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีของ ซน ฮึง-มิน กัปตันทีมคนปัจจุบันของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ผู้มีโอกาสสุดท้ายในการรอดการเป็นทหารด้วยการเป็นแชมป์เอเชียนเกมส์ 2018 ก่อนที่เขาจะอายุเกินจากเกณฑ์การผ่อนผัน และหากพลาดเหรียญทองการแข่งฟุตบอลชายที่อินโดนีเซีย จะแปลว่าซนต้องพักอาชีพค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกเพื่อมารับราชการนานเกือบสองปี และเปลี่ยนมาลงเล่นกับ กิมชอน ซังมู หรือทีมของกองทัพแทน
แน่นอนว่าขุนพลเกาหลีใต้ชุดนี้สามารถคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2018 มาครองได้สำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนซนเสมอไป
ควอน ซุน-วู นักเทนนิสมือวางอันดับ 4 ของเอเชียนเกมส์ 2022 วัย 25 ปี กระหน่ำฟาดแร็กเกตตัวเองอย่างฉุนเฉียวหลังพ่ายให้กับ กษิดิศ สำเร็จ ในรอบ 32 คนสุดท้าย หมดโอกาสลุ้นเหรียญทองในการแข่งเทนนิสประเภทชายเดี่ยว และยังพลาดโอกาสคว้าเหรียญทองในประเภทชายคู่หลังจากตกรอบรองชนะเลิศ จนที่สุดแล้ว เขาก็ต้องเข้ากรมเมื่อเดือนมกราคม 2025 ที่ผ่านมา
อีกกรณีคือ ลี ควน-โฮ อดีตศูนย์หน้าฟอร์มแรงและเจ้าของรางวัลนักเตะเอเชียยอดเยี่ยมประจำปี 2012 ที่ต้องย้ายไปเล่นให้กับ ซังจู ซังมู (ชื่อเดิมของ กิมชอน ซังมู) ระหว่างรับราชการทหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาได้รับความสนใจจากสโมสรต่าง ๆ ในยุโรป อาทิ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่นักกีฬาบางคนที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่สมาชิกวง BTS และศิลปิน K-pop ก็ยังต้องรับราชการอย่างไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ เช่นกัน
ไม่ตรงกับข้อยกเว้น
เนื่องจากสงครามเกาหลียังไม่ถือว่าสิ้นสุดลงและมีเพียงการลงนามสงบศึกระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เท่านั้น ทำให้ตามหลักเทคนิคแล้วเกาหลีใต้ยังอยู่ในสภาวะสงคราม และชายชาวเกาหลีใต้ที่อายุมากกว่า 18 ปีต้องเข้ารับราชการทหารเป็นระยะเวลา 18-21 เดือน ก่อนอายุครบ 28 ปี
แม้แต่ผู้ที่ได้รับการลดหย่อนก็ยังต้องเข้ารับการฝึกพื้นฐานเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ และมารายงานตัวเข้าฝึกประจำปีเป็นเวลา 6 ปีให้หลัง แต่ถือว่าเป็นการผ่อนปรนที่ให้โอกาสนักกีฬาและผู้สร้างชื่อเสียงผ่านผลงานศิลปะและดนตรี สามารถสานต่ออาชีพของตนได้โดยไม่ติดขัด
ในอดีตมีนักดนตรีอย่าง โช ซังจิน ที่สร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศรายการประกวดเปียโนระดับนานาชาติ ก็ได้รับการยกเว้นจากการเข้ารับราชการทหาร เช่นเดียวกับผู้ชนะรายการแข่งของดนตรีคลาสสิก นักบัลเลต์ หรือผู้ทำงานศิลปะด้านต่าง ๆ
แต่ปัญหาอยู่ที่ศิลปิน K-pop อย่าง BTS ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลกจากผลงานเพลงที่มียอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ ได้ขึ้นปกนิตยสารไทม์ในฐานะหนึ่งในผู้มีอิทธิพลงยุคใหม่ และยังถูกรับเชิญให้ขึ้นพูดในการประชุมของสหประชาชาติ พร้อมกับได้รับเชิญจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน มายังทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา
เรียกได้ว่า BTS เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ค่อนข้างชัดเจนของเกาหลีใต้ พวกเขามีแฟนคลับอยู่แทบทั่วทุกมุมโลก และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเรียนภาษาเกาหลีใต้ หรือทำความรู้จักกับวัฒนธรรมของประเทศเพิ่มเติม แต่พวกเขากลับไม่เข้าข่ายการได้รับข้อยกเว้นจากรัฐบาล แม้จะมีการยืดอายุผ่อนผันสำหรับศิลปิน K-pop ให้สามารถเข้ารับการฝึกได้จนถึงอายุ 30 ปี แต่ก็ยังต้องเข้ารับราชการทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระแสตอบรับจากสังคมจึงกลับมาตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์นี้อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อนักกีฬาอีสปอร์ตที่คว้าเหรียญทองจากเอเชียนเกมส์ อย่าง Faker หรือ อี ซัง-ฮยอค นักกีฬาเกม League of Legends ได้รับการยกเว้นจากราชการทหาร จึงยิ่งเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องกฎดังกล่าวเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในด้านอื่น เช่น ศิลปิน K-pop ได้โอกาสสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
"ถ้าทุกคนได้รับการยกเว้นจากการคว้าเหรียญทอง แน่นอนว่าคุณต้องรวมกีฬาอีสปอร์ตไปด้วย แต่มันฟังดูแปลกมากที่คุณไม่ต้องเป็นทหารจากการนั่งเล่นเกมอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์" คือความเห็นของ คิมมยองวอน ชาวโซลที่เปิดเผยกับ Nikkei Asia
ซอง คยุงทัค นักกีฬาสปีดสเกตติงเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2007 ที่ได้รับการยกเว้นจากราชการทหาร ระบุว่า "ผมคิดว่าสมาชิกวง BTS ก็ควรได้รับการยกเว้นเช่นกัน เพราะเมื่อชาวเกาหลีใต้ไปต่างประเทศ เราสามารถพูดถึง BTS เพื่ออธิบายว่าเรามาจากไหนได้"
ผลสำรวจในปี 2022 พบว่าชาวเกาหลีใต้ 60.9% สนับสนุนให้ BTS ได้รับข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแม้จะมีความพยายามถกการต่อเวลาผ่อนผันให้กับสมาชิกทั้งเจ็ด แต่ทางต้นสังกัดได้ออกมาหยุดพักการทำงานของวงชั่วคราวเพื่อให้สมาชิกเข้ารับราชการทหารตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนจะกลับมาทำผลงานเพลงอีกครั้งในปี 2025
ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นนี้อาจมองได้สองมุมคือ เมื่อการเกณฑ์ทหารยังเป็นสิ่งสำคัญในมุมของรัฐบาลเกาหลีใต้ การที่ซูเปอร์สตาร์ระดับ BTS ยังต้องเข้ารับราชการเหมือนกับบุคคลทั่วไปก็เป็นการแสดงออกอย่างหนักแน่นว่าชายชาวเกาหลีใต้ผู้มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงต้องเข้ารับการฝึกอย่างไม่มีข้อยกเว้น
แต่จากอีกมุมคือ กฎในปัจจุบันยังไม่เอื้อให้กับศิลปินที่สร้างชื่อระดับโลกผู้มีผลงานรับรองอย่างมากมาย แต่ต้องเข้าเป็นทหารแค่เพราะสิ่งที่พวกเขาทำได้นั้นไม่ตรงกับข้อกำหนดทางกฎหมาย
อาจลองนึกภาพ ซน ฮึง-มิน ในโลกคู่ขนาน ที่พาเกาหลีใต้ไปไม่ถึงเหรียญทอง และต้องย้ายถิ่นฐานกลับไปเล่นให้กับทีมฟุตบอลของกองทัพนาน 2 ปี อาจเป็นเรื่องยากที่สเปอร์สจะรอการกลับมาของเขา และเส้นทางอาชีพของกัปตันไก่เดือยทองอาจเปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย
แหล่งอ้างอิง
https://www.nytimes.com/2018/10/13/world/asia/sports-stars-south-korea-draft-exemptions.html
https://www.90daykorean.com/military-service-in-korea/
https://esi.si.com/league-of-legends/bts-fans-faker-military-exemption
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Sports/South-Korean-esports-star-can-skip-draft-with-Asia-Games-gold