Feature

มังกรเปย์ กูปรีเปรม : แกะรอยความสัมพันธ์เรื่อง "ความช่วยเหลือด้านทุน" ของ จีน-กัมพูชา | Main Stand

นับว่ามีแต่ปัญหาและความอิรุงตุงนังไม่เว้นแต่ละวัน เรียกได้ว่าสะสมมาตลอดตั้งแต่ยังไม่ถึงพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำสำหรับ ซีเกมส์ 2023 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการบริหารจัดการหรือแม้แต่เรื่องในสนาม

 


กระนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นที่จับตามองเสียยิ่งกว่าอีเวนต์ นั่นคือ การสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่สุดอลังการ ที่ยิ่งใหญ่แทบจะเทียบเท่าประเทศหลักในย่านอาเซียน ในชื่อว่า "สนามกีฬาแห่งชาติมรดกเตโช (Morodok Techo National Stadium)" ซึ่งเป็นได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศจีน โดยใช้จ่ายได้แบบไม่อั้นถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุนจากดินแดนลูกหลานพันธุ์มังกรจะคลืบคลานเข้ามายังดินแดนเอเชียอาคเนย์ ศัพท์ว่า "จีนเทาหรือจีนขาว" เป็นที่เข้าใจกันดี แต่ใน "ดินแดนแห่งกูปรี" นั้น ทุนจีนที่เข้ามากลับมีนัยสำคัญที่แตกต่างไปจากอีก 9 สมาชิกอาเซียนที่เหลือ และที่สร้างความน่าสนใจอย่างมากคือมันอาจเป็นความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมไปถึงวงการกีฬาที่กำลังรุดหน้าขึ้นมาท้าทายบัลลังก์อาเซียนของกัมพูชาเสียด้วย

สิ่งนี้คืออะไร ? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

 

แดงทั้งแผ่นดิน

หากจะให้สืบสาวราวเรื่องถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชา สามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในช่วงรัฐโบราณที่อารยธรรมเกิดการปะทะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนกันแบบไม่มีสะดุด แต่ความสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบต่อปัจจุบันจริง ๆ ต้องเริ่มต้นที่ "โลกร่วมสมัย (Contemporary)" ความเป็น "รัฐ-ชาติ (Nation-state)" มีความสถาพร ตั้งมั่น และเป็นส่วนสำคัญในเรื่องของการสร้างอำนาจอธิปไตยของแต่ละดินแดนอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งในยุคนี้ เหตุการณ์สำคัญของดินแดนเขมรคือการเกิดขึ้นของ "อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ (Communism)" ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 60-80 ที่อุดมการณ์ดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งแกนนำที่นำเข้าชุดวิธีคิดดังกล่าวมาใช้จริง ๆ คือ "กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group)" 

นำโดย พล พต (Pol Pot) หรือในชื่อเดิม ซาลอธ ซาร์ (Saloth Sâr) นักศึกษาทุนรัฐบาลคณะวิศวกรรมศาสตร์ EFREI (École d'Ingénieurs Généraliste du Numérique: Engineering School of Information and Digital Technologies) ที่เน้นทำกิจกรรมจนต้องรีไทร์และโดนยกเลิกทุนการศึกษาร่วมกับเพื่อน ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

คนกลุ่มนี้ ในขั้นแรกสมาทานคอมมิวนิสม์สาย "มาร์กซิสม์-เลนินนิสม์ (Marxism-Leninism)" และกลับมาเปิดพรรคปฏิวัติประชาชนเขมร (ตอนนี้ชื่อ พรรคประชาชนกัมพูชา) และเล็งเห็นว่า ด้วยการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือสาธารณรัฐยังไม่ใช่ระบอบที่เป็นคำตอบสำหรับเขมร 

ทั้งฝ่ายรัฐที่นำโดย พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (Norodom Sihanouk) ซึ่งตอนแรกยังลังเลว่าจะจัดให้เป็นมิตรหรือศัตรู แต่หลังจากท่านเลือกเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายซ้าย โดยการอ้างว่าพวกนี้มี "ผังล้มเจ้า" และทำให้สมาชิกพรรคหนีหัวซุกหัวซุน หรือฝ่ายรัฐประหารสีหนุที่โปรสหรัฐอเมริกาอย่าง ลอน นอล (Lon Nol) และ สีสุวัตถิ์ สิริมตะ (Sisowath Sirik Matak) 

แน่นอนว่าฝ่ายโปรอเมริกาถือเป็นศัตรูทางอุดมการณ์โดยธรรมชาติของระบอบเดิม แต่สำหรับสีหนุที่มีจีนคอยหนุนหลังถือว่าสร้างความลำบากใจให้ฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างมาก กระนั้นอย่างที่กล่าวไป นั่นคือราชาธิปไตยอย่างไรก็ถือว่าเป็นศัตรูทางอุดมการณ์ไม่ต่างกัน 

ไม่นานหลังจากประกาศสงครามกับรัฐบาลโปรอเมริกา ฝ่ายคอมมิวนิสม์ก็ถือว่าได้รับชัยชนะไปแบบท่วมท้น ก่อให้เกิด "เขมรแดง (Khmer Rouge)" ตามชื่อที่คุ้นหูในแบบเรียน ที่ได้เถลิงอำนาจแทน 

ในการครองอำนาจ 4 ปี อย่างที่ทราบกันดีว่าเขมรแดงมีวีรกรรมระดับตำนานชนิดที่เกินกว่าใครหลายคนจะรับได้ นั่นคือ "ทุ่งสังหาร" ที่ชาวเขมรมากมายต้องมาจบชีวิตลง โดยจำนวนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นหลักแสนหรือหลักล้าน หรือแม้กระทั่งการ "บังคับนารวม" ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ซึ่งประเทศที่ค้ำจุนระบอบดังกล่าวคือ "จีน" อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งการสนับสนุนของจีนไม่ได้แค่แตะกระบี่ที่ไหปลาร้าสองข้างแล้วบอกว่า เราเพื่อนเป็นกัน หากแต่จีนลงมาจัดการเองแทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องการทหาร ยุทโธปกรณ์ การฝึกกำลังพล หรือกระทั่งเรื่องการปกครองที่ส่ง จาง ชุนเฉียว (Zhang Chunqiao) ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญแห่งเขมร ในปี 1976 เลยทีเดียว

ตรงนี้ แอนดรูว์ แมร์ธา (Andrew Mertha) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Brothers in Arms: Chinese Aid to the Khmer Rouge ความว่า

"ประการแรกที่ทำให้จีนเข้ามาสนับสนุน นั่นเพราะจีนกลัวว่าเขมรแดงจะมีเล่ห์เหลี่ยมและหันมาแว้งกัดตนภายหลังจึงจับมือสร้างมิตรกัน ส่วนอีกเรื่องตามความเห็นผม จีนคงไม่มาแต่ตัวแล้วไปตายดาบหน้าจึงต้องลงมาเล่นเองและจัดการเองทั้งหมดให้ได้ดั่งใจ"

"จีนยังทำการสร้างเครือข่ายในการสอดส่องตรวจตราดินแดนภาคพื้นทวีปของอาเซียนแถว ๆ อ่าวไทยที่สำคัญที่สุด นั่นคือเขมรที่เป็นหนึ่งในองคาพยพนั้น และอีกอย่างคือเพื่อให้เขมรคอยช่วยจับตาว่าลาว เวียดนาม หรือไทย จะทำอะไรต่อไปที่กระทบจีนบ้าง"

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ "ลัทธิในลัทธิคอมมิวนิสต์" เพราะอย่างที่ทราบกันว่าในเชิงของการปฏิบัติที่มีอิทธิพลฝังหัวฝ่ายซ้ายมี 2 สายที่ปะทะประชันกัน สายแรกคือ "สายโซเวียต" ซึ่งเป็นรอยทางมาจาก วลาดิเมียร์ เลนิน และ โจเซฟ สตาลิน และ "สายจีน" ที่เป็นรอยทางมาจาก เหมา เจ๋อ ตุง (เหมาอิสต์: Maoism) 

โดยเขมรนั้นมีทั้งสองสาย อย่างพวกปัญญาชนปารีสคือสายเลนิน ส่วนสายจีนมาในรูปแบบการสนับสนุนสีหนุมากกว่าวิธีคิด แต่ในภายหลังเขมรแดงก็รับเข้ามาอย่างเต็มที่และส่งผลให้ไปมีเรื่องกับเวียดนามที่เป็นสายโซเวียตอีกทอดหนึ่ง

แน่นอนว่าฝ่ายเขมรแดงพ่ายแพ้และต้องไปใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรในการต่อกรกับ สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา (People's Republic of Kampuchea: PRK) ที่เป็นรัฐบาลโปรเวียดนาม โดยประเทศไทยได้รับผลกระทบตรงนี้ด้วยบริเวณชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อประมาณปี 1977

ซึ่งเหตุการณ์นี้ ครูชลธี ธารทอง ครูเพลงระดับศิลปินแห่งชาติของประเทศไทย ได้ไอเดียจากจุดนี้นำไปแต่งเพลง "ยอมตายที่ตาพระยา" ให้ สายัณห์ สัญญา ขับร้อง โดยมีเนื้อเพลงที่ว่าด้วยความคับแค้นใจที่เขมรมาหยามอำนาจอธิปไตย ความว่า

"เลือดและน้ำตา บ่าท่วมชายแดน มันสร้างรอยแค้น แค้นเป็นหนักหนา
ชาวไทยโดนเชือด เลือดนองที่ตาพระยา เด็กเล็กคนชรา เขมรมันฆ่า เหมือนปลาเหมือนปู

อยากร้องตะโกน ให้ก้องโลกา แผ่นดินแผ่นฟ้า โปรดจงมารับรู้
ไม่ยอมหนีหน้า ถิ่นตาพระยาบ้านกู จะให้ขุดเหวขุดรู หนีมันไปอยู่ที่ไหน

*พ่อกูชื่อนเรศวรมหาราช เคยเอาเลือดล้างพระบาท ประวัติศาสตร์ยังจารึกไว้ ไอ้หลานพระยาละแวก ที่มันแหกรั้วเข้าใน เข่นฆ่าคนไทย มันหยามน้ำใจพ่อกู

เลือดและน้ำตา บ่าท่วมดวงใจ สู้ไหวไม่ไหว สู้ไปเดี๋ยวมันก็รู้
ไม่ยอมหนีหน้า ถิ่นตาพระยาบ้านกู พี่น้องไทยจงคอยดู เราขอสู้ให้โลกบูชา

*ซ้ำ"

กระนั้นเขมรในช่วงนี้ถือได้ว่าแทบจะตัดความสัมพันธ์กับจีนไปเกือบทั้งหมด แม้จะมีความพยายามของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาที่ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มดีขึ้นเพื่อร่วมกันขับไล่เวียดนาม แต่ในโลกของการเมืองระหว่างประเทศ (ที่สหรัฐอเมริกาคิดขึ้นมา) มีหลักการที่เรียกว่า "การไม่แทรกแทรง" ใด ๆ ของรัฐชาติขนาดใหญ่ต่อรัฐชาติขนาดเล็ก ทำให้ถึงอยากจะทำก็ทำได้ไม่เต็มที่

และอีกอย่าง ตอนนั้นเขมรแดงถือว่าเป็นที่หวาดกลัวต่อประชาชนเขมรอย่างมาก แม้เวียดนามจะไม่ได้ถือว่าเป็นฮีโร่ หรือผู้มาปลดปล่อยที่น่าอภิรมย์ แต่ก็ยังดีกว่าโดนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นรัฐบาลโปรเวียดนามนี้จึงมีความชอบธรรมจากประชาชนสูงมาก ๆ และที่สำคัญจีนในสายตาประชาชนเขมรก็พลอยโดนมองในแง่ลบไปด้วย

เรียกได้ว่า ความสัมพันธ์จีน-กัมพูชา เข้าสู่ "ยุคมืด" อย่างจริงจัง จนการมาถึงของชายที่ชื่อว่า "ฮุน เซน (Hun Sen)"

 

ทุนไหลยับ พับสนามบุก

ด้วยความสัตย์จริง ฮุน เซน ถือได้ว่าเป็นคนประเภท "ไปเรื่อย" ได้โหดสุด ๆ เพราะไล่ดูวิถีชีวิตทางการเมืองจะพบว่า เขาไม่ได้เป็นพวก "ยึดมั่นถือมั่น" กับอะไรแบบถาวร เมื่อเล็งเห็นว่าช่องทางนั้นไปสุดทางแล้วตันจนหมดโอกาสแล้ว เขาก็พร้อมจากทันที

เขาเป็นทั้งกองกำลังของเขมรแดง รวมถึงนั่งตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองพันทหารในยุครัฐบาลเขมรแดง แต่เมื่อเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาและ เฮง สัมริน (Heng Samrin) สหายเขมรแดง ก็หันหน้าไปหาเวียดนามจนได้ดิบได้ดีในรัฐบาลโปรเวียดนาม ทั้งการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่อายุน้อยที่สุด (26 ปี ณ ขณะนั้น) และการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่การไปเรื่อย ๆ ของเขาก็ไม่มีจุดไหนสำคัญเท่าการผูกสัมพันธ์กับจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่สุดยอดที่สุดในชีวิตทางการเมืองของเขาเลยก็ว่าได้

ภายหลังจากรัฐประหาร 1997 ที่โค่นล้ม นโรดม รณฤทธิ์ ได้สำเร็จ เขาและพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party: CPP) ก็ครื้นเครงกันยกใหญ่ โดยทำการรวบอำนาจ และประการแรกที่เขาทำ นั่นคือการเร่งเปิดความสัมพันธ์กับจีนแบบทันควัน

จีนส่งเงินให้เปล่าไปก่อน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับการประชุมคณะผู้แทนระดับสูงเพื่อหารือในเรื่องการค้าและการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ด้วยระยะเวลาหลังรัฐประหารไม่ถึง 1 เดือน หลังจากนั้นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้โอนเข้ามายังเขมรเพื่อทำนุบำรุงและพัฒนาการทหาร ก่อนที่การลงทุนทางตรงจากจีนจะไหลเข้ามาเพิ่มเกือบ 4 เท่าตัว

ก่อนที่ในปี 1999 ฮุน เซน จะบินไปจีนเพื่อหารือทวิภาคีกับ เจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ผู้นำจีนขณะนั้น เพื่อขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำอีก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมจีนยังใจดีสนับสนุนเงินให้เปล่าอีก 18.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าเงินจำนวนนี้ ฮุน เซ็น นำไปใช้กับการทหารทั้งสิ้น ก่อนที่ในปลายปี 1999 จะรับเงินมาอีก 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการจัดซื้ออาวุธโดยเฉพาะ

แต่เรื่องนี้ ฮุน มาเนต (Hun Maneth) ลูกชายคนโตของฮุน เซ็น กลับแสดงความไม่พอใจถึงอิทธิพลของจีนต่อกองทัพเขมรที่เขาคุมอยู่ โดยการออกมาโวยว่า

"ครูทหารที่สอนก็คนเขมร ทหารที่เรียนก็เขมร เราผลิตคนออกไปก็เพื่อพลังแห่งประชาชาติเขมร ไม่ได้ผลิตไปให้จีนเสียเมื่อไร"

ตรงนี้ต้องระบุว่า จริง ๆ แล้วจีนไม่ได้ชี้นิ้วสั่งเขมรในทางตรงแบบที่เวียดนามเคยทำ เพราะการเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นนั้นค่อนข้างจะให้ความสำคัญเรื่องการไม่แทรกแซงอย่างมาก (ดังที่กล่าวไป) และที่จริงจีนก็ไม่ได้พิศวาส ฮุน เซ็น อะไรมากมายขนาดที่จะต้องจ่ายให้ทุกอย่างที่ขอมา แต่การดีลกับรัฐบาลประเภท "อำนาจนิยม" นั้นง่ายกว่าการดีลกับรัฐบาล "ประชาธิปไตย" เป็นไหน ๆ

รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายต่าง ๆ ระหว่างรัฐด้วยกันที่ต้องมาจากรัฐบาลที่มีความมั่นคงและอยู่ได้ยาว ๆ โดยไม่มีใครมาท้าทาย เพราะความเชื่อใจและการร่วมงานจะทำได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เห็นทีจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการจะอยู่ได้นาน ๆ นั้นการนำปืนไปจ่อหัวคนหรือใช้ความรุนแรงอาจลงเอยไม่สวยเท่ากับการรู้จักปรับตัวและเล่นกับสิ่งที่เรียกว่า "มวลชน" ซึ่งตรงนี้ ฮุน เซ็น ทำได้อย่างดีเยี่ยมนอกเหนือจากการไล่ยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้านแบบที่เห็นจนชินตา

และที่สำคัญไปกว่านั้น ในเรื่องทางนโยบาย One Belt One Road (OBOR) ซึ่งเป็นแผนแม่บทของจีน เขมรถือได้ว่าเป็นหนึ่งในองคาพยพที่สำคัญอย่างมากในฐานะพื้นที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนทุนจีน

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจหากบรรดาชาวจีนจะสามารถมาสร้างชุมชนของตนเองที่ สีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ได้อย่างเติมที่โดยไม่มีใครหน้าไหนมายับยั้ง นั่นเป็นเพราะ ฮุน เซ็น และรัฐบาลหนุนหลังอยู่ 

และแน่นอนว่าอิทธิพลดังกล่าวได้ลุกลามไปสู่วงการกีฬาด้วย

 

ลามสู่กีฬา

ไม่ต้องติดอาวุธทางความคิดแบบเต็มอัตรากำลัง ใครหน้าไหนก็ตามย่อมทราบดีว่าเขมรคือ "รัฐขนาดเล็ก" ที่แทบไม่มีบทบาทใด ๆ บนเวทีโลก รวมถึงเป็นประเทศ "ด้อยพัฒนา" ที่ต้องการความช่วยเหลือจากนานาประเทศ

ดังนั้นตามตำรารัฐศาสตร์ สิ่งที่เขมรพยายามดำเนินนโยบายของตนเองมาตลอด นั่นคือ "Status-seeking" หรือ "การแสวงหาสถานภาพ" ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดหรือกลเม็ดแบบใดเขมรก็ไม่สนใจ ขอเพียงประเทศได้ยืนเด่นและฉายแสงลงมาให้นานาชาติรับรู้ว่า "เรามีดี เราอยู่ตรงนี้" เป็นพอ

และแน่นอนว่าตามตำรารัฐศาสตร์อีกเช่นกันที่ "การจัดมหกรรมกีฬา" คือหนึ่งในหนทางแสวงหาสถานภาพที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลกยุคที่บ้าการพัฒนา นั่นคือช่วงหลังสงครามโลกไปจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามเย็น ดังที่เห็นได้จาก การจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่น ในปี 1964, เกาหลีใต้ในปี 1988 หรือที่ไทยออกหน้ารับจัดเอเชียนส์เกมส์มาสารพัดครั้ง

แม้กัมพูชาจะอยู่ในโลกร่วมสมัย แต่ชุดวิธีคิดในการแสวงหาสถานภาพยังคงถอดแบบมาไม่แตกต่างจากบรรดาผู้นำอำนาจนิยมในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดวิธีคิดในเรื่องของกีฬา ที่ว่า "เสียเท่าไรไม่ว่า อย่าให้เสียหน้าเป็นพอ" เพราะกีฬาถือเป็นเครื่องมือในการประกาศศักดาและแสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศ

เทียบเคียงแบบไม่ใกล้ไม่ไกลในเรื่องของการจัดมหกรรมกีฬา ณ ปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยกลับเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นเท่าที่ควร ดีไม่ดีอาจโดนประชาชนสาปส่งเสียด้วยซ้ำข้อหานำงบประมาณของประเทศไปถลุงเล่นโดยใช่เหตุ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการแสวงหาสถานภาพด้วยกีฬานั้นมีมาตั้งแต่สมัยการเมืองยุคอเมริกันครอบงำ การริเริ่มจัดกีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์ในปัจจุบัน) เอเชียนเกมส์ เรื่อยมาจนถึงการพยายามคว้าเหรียญในโอลิมปิกฤดูร้อนที่ไทยทำได้มาแล้วทั้งหมด

แต่สำหรับเขมรที่เรียกได้ว่าเป็น "ใครก็ไม่รู้" ในด้านนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการแสวงหาสถานภาพ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างการสร้างสนามหรือการบริหารจัดการจัดมหกรรมกีฬาล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ให้โชว์ออฟทั้งสิ้น

ดังนั้นการดึงทุนจีนเข้ามาจึงเปรียบเสมือน "การต่างตอบแทน" กันและกัน เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่เขมรคือองคาพยพสำคัญของจีนใน OBOR ที่หากทุ่มเม็ดเงินลงไปแล้วเขมรนำไปใช้แสวงหาสถานภาพด้วยกีฬาประสบความสำเร็จจนมีการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ ของประเทศ และดึงดูดทุนจากที่อื่น ๆ จีนเองก็จะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนานั้นในแง่ของการ "คืนทุน" ในอนาคต

ต้องรอติดตามว่า ซีเกมส์ 2023 ในครั้งนี้จะให้ผลที่ตามมาต่อเขมรในลักษณะใด และการแสวงหาสถานภาพของเขมร ผ่านการกีฬาจะส่งผลดีหรือร้ายต่อไปในอนาคต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะพลิกกลับไปสู่ยุคมืดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนจากอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ ? บางทีซีเกมส์ครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เป็นได้

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ The Myth of Non-interference: Chinese Foreign Policy in Cambodia
บทความ The Development of Cambodia–China Relation and Its Transition Under the OBOR Initiative
บทความ Chinese linkage, leverage, and Cambodia’s transition to hegemonic authoritarianism
https://web.archive.org/web/20070616041520/http://www.jamestown.org/publications_details.php?volume_id=415&issue_id=3704&article_id=2371023 
http://www.news.cn/english/asiapacific/2021-12/18/c_1310380774.htm 
https://www.straitstimes.com/opinion/powerplay-when-chinas-cambodia-connections-come-into-play 
https://www.rfa.org/english/news/special/chinacambodia/relation.html 
https://www.kas.de/documents/264850/8651571/Chapter%2B3.pdf 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา