"เต็งหนึ่ง" คำที่ใครหลายคนเคยกล่าวถึงการก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลก สมัยที่ 6 ของทีมชาติบราซิล มีอันต้องจบลงในรอบก่อนรองชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2022 นี้ เมื่อพลพรรคเซเลเซาพ่ายในการดวลจุดโทษต่อทีมชาติโครเอเชีย 2-4 หลังเสมอในเวลา 120 นาที 1-1
ด้วยการที่ขุนพลบราซิลเลี่ยนในชุดนี้เพียบพร้อมไปด้วยขุมกำลังมากคุณภาพ ทำให้การอกหักในครั้งนี้อาจสร้างความผิดหวังให้แฟนฟุตบอลทั้งประเทศ
อย่างไรก็แล้วแต่ ประชาชนบราซิลบางส่วนกลับไม่คิดเช่นนั้น และสำหรับสายตาของแฟนฟุตบอลต่างประเทศ พอมาเจอบทสัมภาษณ์สุดฮือฮาของ ริคาร์โด้ กาก้า ที่เปิดเผยว่าปัจจุบัน "คนบราซิล" ไม่ได้สนับสนุนทีมชาติขนาดนั้น และในบางครั้ง ยังมองตำนานลูกหนังในประเทศอย่าง โรนัลโด้ นาซาริโอ ว่าเหมือน "คนอ้วนที่เดินอยู่ข้างถนน" อีกต่างหาก ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร Main Stand ชวนทุกคนมาวิเคราะห์ไปพร้อม ๆ กัน
การเมืองและเรื่องสีเสื้อ
"มันแปลก ๆ ที่ต้องพูดแบบนี้ แต่คนบราซิลจำนวนไม่น้อยก็ไม่สนับสนุนทีมชาติบราซิลน่ะครับ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ้างเหมือนกัน" ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของกาก้า เพลย์เมกเกอร์ตำนานทีมชาติบราซิล ระหว่างการเข้ารายการวิเคราะห์ฟุตบอลกับ beIN SPORTS เมื่อไม่นานมานี้
กับคำกล่าวที่ว่า "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" ใช้อ้างอิงถึงสถานการณ์ของประเด็นคนบราซิลให้การสนับสนุนทีมชาติของตัวเองน้อยลงได้เป็นอย่างดี และชี้ได้ว่า "ฟุตบอล" กับ "การเมือง" เป็นเรื่องที่ยากจะแยกจากกัน
เราทุกคนทราบกันดีว่าวงการฟุตบอลบราซิลนั้นยิ่งใหญ่มาเป็นเวลาช้านาน ด้วยเอกลักษณ์การเล่นฟุตบอลที่เป็นที่รับรู้กันโดยหมู่ของแฟน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคอันแพรวพราว ความสามารถเฉพาะตัวที่โดดเด่น ซึ่งต่างไปจากฟุตบอลยุโรปที่อาจจะมีภาพจำว่าเน้นพละกำลังมากกว่า
นอกเหนือไปจากภาพจำของคนทั่วโลกที่มองมายังบราซิล ว่าเป็นดินแดนเพาะปลูกกาแฟชื่อดัง มีเมืองที่ชื่อ ริโอ เดอ จาเนโร มีเทศกาลคานิวัลอันโด่งดังแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ฟุตบอลในประเทศนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งภาพจำของสายตาแฟนกีฬาทั่วโลกเช่นกัน
ทีมชาติบราซิลครองแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก ในปี 1958 กับช่วงแจ้งเกิดของตำนานลูกหนังโลกอย่าง เปเล่ เรื่อยมาจนถึงการเป็นทีมแรกและเป็นทีมเดียวในเวลานี้ ที่คว้าแชมป์เวิลด์คัพได้ถึง 5 สมัย (อีก 4 สมัย เกิดขึ้นในปี 1962, 1970, 1994 และ 2002) พร้อมการเกิดขึ้นของเหล่าแข้งชื่อก้องในยุคต่อมา ไล่ตั้งแต่ โซคราเตส, คาร์ลอส อัลแบร์โต้, โรมาริโอ, คาร์ลอส ดุงก้า, โรนัลโด้, โรแบร์โต้ คาร์ลอส, โรนัลดินโญ่, กาก้า มาจนถึงยุคปัจจุบันอย่าง ธิอาโก้ ซิลวา และ เนย์มาร์ เป็นต้น
ในทุก ๆ โมเมนต์ที่เหล่าขุนพลบราซิลเลี่ยนลงบู๊คู่แข่ง จะปรากฏเป็นเสื้อเหย้าสีเหลืองกางเกงน้ำเงิน มีสีเขียวแซมอยู่แถวคอเสื้อ ซึ่งมีชื่อว่า "คานารินโญ่" อันเป็นชุดที่ทีมใช้ชูโทรฟี่ฟุตบอลโลกทั้ง 5 สมัย ตลอดจนแชมป์ระดับเมเจอร์รายการอื่น ๆ อีกไม่ถ้วน
สีเสื้อลักษณะดังกล่าวนี้เอง ภายหลังได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลในประเทศ โดยเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มชาตินิยม หรือฝ่ายขวา กลายเป็นว่าจากอดีตที่ยูนิฟอร์มนามคานารินโญ่ เคยเป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ แต่ทุกวันนี้ มุมมองที่มีต่อสีเสื้อดังกล่าวของคนจำนวนไม่น้อยในบราซิลเริ่มเปลี่ยนไป
เมื่อพูดถึงระบอบการปกครองของบราซิล ก็จะเห็นว่าดินแดนนี้เคยมีช่วงที่มีระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารตั้งแต่ปี 1964-1985 ก่อนที่ระบอบดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี 1985 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในฉบับใหม่ในปี 1988 นำมาซึ่งการเกิดการเลือกตั้งทั่วไปในปีต่อมา
เมื่อผลัดใบมาสู่การเป็นประชาธิปไตย การเมืองบราซิลแบ่งออกเป็นสองขั้วเท่านั้น อธิบายโดยสรุปก็คือเป็นการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มฝักใฝ่การเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย
จุดเริ่มต้นของการนำสีเสื้อมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองบราซิลยุคปัจจุบัน ข้อมูลจาก New York Times ระบุเหตุการณ์ในปี 2013 เมื่อประชาชนผู้ฝักใฝ่พรรคการเมืองฝั่งขวา แสดงสัญลักษณ์ด้วยการสวมชุดเหย้าทีมชาติบราซิลพร้อมธงชาติบราซิล ประท้วงการคอร์รัปชั่น การจัดการเรื่องเศรษฐกิจที่ล้มเหลว
กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยได้พุ่งเป้าไปยังการทำหน้าที่ของพรรคการเมืองฝั่งซ้ายกลาง (สายสังคม-ประชาธิปไตย หรือ Social Democrac) ภายใต้ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศอย่าง ดิลมา รูสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) ปรากฏให้เห็นในศึกฟุตบอลคอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2013 ทัวร์นาเมนต์ก่อนที่บราซิลจะรับหน้าเสื่อจัดฟุตบอลโลก 2014 นำมาซึ่งการถูกถอดถอนจากตำแหน่งในปี 2016
เวลาต่อจากนั้น ดูเหมือนว่าอิทธิพลของสีชุดเหย้าทีมเซเลเซา จะมีอิมแพกต์ในอีกด้านหนึ่งของประเทศ เมือผู้นำรายหนึ่งในยุคต่อมา ใช้มันเป็นเครื่องมือ
บราซิลในยุคประธานาธิบดีโบลโซนาโร่
กับช่วงเวลาที่บราซิลมีเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2018 ชาอีร์ โบลโซนาโร่ (Jair Bolsonaro) ผู้สมัครตัวแทนจากฝั่งขวา เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม (Conservatives) พร้อมทีมงาน รวมถึงประชาชนที่สนับสนุนได้สวมยูนิฟอร์มสีเหลืองเขียว ในการหาเสียง พร้อมนโยบายสำคัญ พาชาติก้าวออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แก้ปัญหาทุจริตอื้อฉาวของผู้นำประเทศชุดก่อนหน้า
และเมื่อคนอยากเปลี่ยนผู้นำมาเป็นอีกขั้วการเมืองบ้าง ท้ายสุดโบลโซนาโร่ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำคนที่ 38 ของบราซิล
อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายและการทำงานในฐานะรัฐบาลยุคโบลโซนาโร่ มีหลายสิ่งอย่างที่ถูกประชาชนบางส่วนตั้งคำถาม นั่นเพราะมีหลายสิ่งอย่างไม่ชอบมาพากล ไม่ได้แตกต่างไปจากอดีตที่คนบราซิลเคยออกมาประท้วงรัฐบาลยุคก่อนหน้าเท่าไร
อย่างเรื่องอนาคตของผืนป่าแอมะซอน BBC รายงานว่าการทำลายป่ามีอัตราสูงขึ้นก่อนหน้าที่โบลโซนาโร่จะชนะการเลือกตั้งคว้าชัยการเลือกตั้ง ภายหลังการเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ อัตราการตัดไม้ทำลายป่าไม่เคยลดลงไปและมีแต่จะเพิ่มขึ้น ดังรายงานของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแอมะซอน (Institute for Amazon Environmental Research) อ้างว่าการตัดไม้ทำลายป่ายุคโบลโซนาโร่ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 57%
โควิด-19 แพร่ระบาดหนักในปี 2020 บราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ และการจัดการของโบลโซนาโร่ ที่ได้รับฉายาว่า "โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งบราซิล" ดูล้มเหลวแบบสิ้นเชิง บราซิลเคยมียอดผู้เสียชีวิตจาก โควิด-19 สูงถึง 6 คนแสน แถมยังเคยมีประโยคเด็ดทำเอาคนบางส่วนต้องร้องยี้ อย่างการมองว่า โควิด-19 เป็นเหมือน "ไข้หวัดทั่วไป"
ยังมีเรื่องของสิทธิต่าง ๆ ที่แม้ว่าคนทั่วมุมโลกจะออกมารณรงค์เรียกร้อง ทว่าโบลโซนาโร่ ไม่ได้แสดงท่าทีจริงต่อการสนับสนุน ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการตระหนักต่อสิทธิสตรี ฯลฯ ซ้ำยังแสดงความเห็นแบบสนุกปาก เช่นกล่าวเหยียดชนพื้นเมืองเดิม เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักการเมืองหญิง เป็นต้น
นั่นทำให้บราซิลเลี่ยนชนจำนวนครึ่งต่อครึ่งในประเทศรู้สึกไม่เห็นด้วย เวลาต่อมา กับช่วงเลือกตั้งหาประธานาธิบดีคนที่ 39 แน่นอนว่าโบลโซนาโร่ยังคงลงท้าชิง เขามีเสียงสนับสนุนจากคนอีกครึ่งที่ยังเชื่อมั่นในแนวทางของเขา
และแน่นอนเขายังคงยึดสัญลักษณ์สีเหลืองเขียวในการประชาสัมพันธ์ตัวเองเช่นเคย เรียกได้ว่ายังคงใช้ฟุตบอล เป็นเครื่องมือให้กับกลุ่มตัวเองต่อไป
"ลงคะแนนเสียงในวันอาทิตย์นี้ (30 ตุลาคม 2022) โดยสวมเสื้อสีเหลือง โหวตเสื้อเหลือง!" โบลโซนาโร่ ในวัย 67 ปี ประกาศก่อนการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
แต่แล้ว วาระการดำรงตำแหน่งผู้นำของชาอีร์ โบลโซนาโร่ อยู่ถึงแค่ปี 2022 นี้เท่านั้น และช่วงเวลาหลังจากนั้น คือการกลับมาของตัวแทนจากฝั่งซ้าย เมื่อ ลุยซ์ อินาชิโอ ลูล่า ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของประเทศ ชนะการเลือกตั้งเหนือโบลโซนาโร่ ด้วยคะแนนเสียงสูสี 50.90% ต่อ 49.10%
การเมืองโยงวงการฟุตบอลบราซิล
ก่อนที่บราซิลจะถึงยุคสมัยการกลับมาเป็นผู้นำประเทศของลูล่า ดา ซิลวา มรดกสำคัญที่โบลโซนาโร่ ทำไว้ตลอดการดำรงตำแหน่ง และมีความเกี่ยวโยงกับวงการฟุตบอลในประเทศ คือความสนิทสนมกับคนลูกหนัง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอลในประเทศ ไปจนถึงตำนานนักเตะ และนักเตะทีมชาติชุดปัจจุบัน
The Athletic รายงานว่าโบลโซนาโร่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารฟุตบอลอาวุโสหลายคนในบราซิล ครั้งหนึ่ง เขาเสนอชื่อ โรโดลโฟ ลานดิม (Rodolfo Landim) ประธานสโมสร ฟลาเมงโก้ ให้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท เปโตรบาส Petrobras ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ก่อตั้งโดยรัฐ (ลานดิมปฏิเสธข้อเสนอ) แถมยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ไลลา เปเรยร่า (Leila Pereira) ประธานสโมสร พัลไมรัส
ตามที่สื่อหลาย ๆ สำนักรายงานคล้ายกัน คือการมีคอนเนคชั่นกับนักเตะบราซิลทั้งตำนาน และชุดปัจจุบัน ความสัมพันธ์อันดีของเขากับนักเตะหลาย ๆ คน อย่าง โรมาริโอ, ดานี่ อัลเวส และ ลูคัส มูร่า ทำให้ทั้งสามได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งทั้งสามก็สนับสนุนโบลโซนาโร่ในทุก ๆ การเคลื่อนไหว
การสนับสนุนโบลโซนาโร่ของ โรนัลดินโญ่ และ ริวัลโด้ สองตำนานลูกหนังประเทศ มีผลโดยตรงต่อการอำลาบทบาททูตประจำสโมสรบาร์เซโลน่า อดีตทีมที่พวกเขาเคยค้าแข้งด้วย โดยเกิดขึ้นเมื่อปี 2018
และหนึ่งในนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ที่สนับสนุนโบลโซนาโร่แบบไม่มีกั๊กคือ เนย์มาร์ ว่ากันว่าช่วงไม่กี่วันก่อนวันแรกของการลงคะแนนเลือกตั้งผู้นำประเทศคนใหม่ (2 ตุลาคม) กองหน้าจาก ปารีส แซงต์-แชร์กแมง โพสต์วิดีโอของตัวเองบน TikTok และร้องเพลง "โหวตโบลโซนาโร่" แถมยังเคยปรากฏตัวในฐานะแขกรับเชิญพิเศษในสตรีมสดของ ชาอีร์ โบลโซนาโร่ มาแล้วด้วย
ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ได้เกิดเสียงวิจารณ์เนย์มาร์ กลายเป็นว่าเขามีทั้งคนในประเทศที่รักและเกลียดในเวลาเดียวกัน
ในหลาย ๆ ครั้ง การแสดงออกของเหล่านักเตะซูเปอร์สตาร์ ปรากฏขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ แน่นอนว่ามันสร้างอิมแพกต์ต่อสังคมวงกว้าง สื่อเป็นเครื่องมือชั้นดีสำหรับการโปรโมต รับรู้ และเข้าถึงตัวตนของแต่ละบุคคล ยิ่งเป็นคนดัง อิทธิพลย่อมแพร่หลายมากกว่าคนทั่วไป
และด้วยการที่สื่อออนไลน์ไม่ได้จำกัดเรื่อง "เวลา" และ "สถานที่" หากคนบราซิลจะค้นหาเรื่องราวดังกล่าวในเวลานี้ จากสถานที่ใดบนโลก เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่
ต่างกับสายตาของคนต่างชาติ ที่มองว่านักเตะหลาย ๆ คนเป็นสุดยอดแข้งของโลก และให้การสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทว่าสำหรับคนบราซิลแล้ว นักเตะเหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในสนาม คนในประเทศย่อมรู้ดีกว่าสายตาคนนอก ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างจากเรื่องนอกสนาม
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคนบราซิลที่ในเวลานี้เชียร์การเมืองขั้วตรงข้าม จะเริ่มให้การสนับสนุนทีมชาติของตัวเองน้อยลง
"ผมไม่รู้สึกอยากสวมเสื้อเหลืองเลย ความจริงก็คือแนวคิดที่เขาสวมเสื้อ (สีเหลืองเขียว) มันทำให้ผมไม่ชอบใจ ผมไม่เอาเสื้อตัวเก่าออกจากลิ้นชักด้วยซ้ำ น่าเสียดายนะ เพราะตัวเสื้อเองก็สวยมาก" มาเธอุส โรช่า โค้ชทีมฟุตซอลในฐานะแฟนฟุตบอลบราซิล กล่าวกับ BBC
เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์ของกาก้า ที่บอกว่าหากใครก็ตามเห็นโรนัลโด้เดินอยู่ริมถนนในบราซิล คนก็จะรับรู้ว่านี่คือตำนานทีมชาติ และเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง
อย่างไรเสีย ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกลับมาเป็นที่นิยมของคนบราซิลต่อทีมชาติอีกครั้ง คือถ้อยแถลงของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ (หน้าเก่า) อย่าง ลุยซ์ อินาชิโอ ลูล่า ดา ซิลวา เขาพยายามล้างมลทินเรื่องเสื้อทีมชาติสีเหลืองเขียว เจ้าตัวยืนกรานว่าจะสวมเสื้อสีนี้ เชียร์ทัพแซมบ้าในฟุตบอลโลก 2022
"สีเขียวและสีเหลืองไม่ใช่สีของผู้สมัคร ไม่ใช่สีของพรรค สีเขียวและสีเหลืองเป็นสีของประชากร 213 ล้านคนที่รักประเทศนี้" ลูล่า ดา ซิลวา ในวัย 77 ปี กล่าว
คำถามที่ว่า "บราซิลจะคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 6 ได้เมื่อไหร่?" ต้องเลื่อนไปตอบอีกครั้งในปี 2026 เสียแล้ว เมื่อทัพเซเลเซายังไปไม่ถึงฝั่งฝันอีกครั้ง
แต่สำหรับคำถามที่ว่า "คนบราซิลจะเชียร์ทีมชาติโดยพร้อมใจกันสวมเสื้อเหย้าแบบไม่มีเรื่องอื่นใดมาแทรกกลางได้เมื่อไร?" ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำถามนี้จะถูกตอบโดยคนบราซิลด้วยกันเอง
ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เมื่อ "เสื้อเหลือง" ของทีมชาติบราซิล กลายเป็นเครื่องมือแบ่งชาติออกเป็นสองฝั่ง | Main Stand
https://web.facebook.com/MainStandTH/photos/a.250798898813146/1326993694526989/
แหล่งอ้างอิง
https://www.sportskeeda.com/football/news-fat-man-walking-street-kaka-claims-brazil-fans-support-players-country
https://www.aljazeera.com/sports/2022/9/26/brazil-football-fans-ditching-the-famous-yellow-jersey
https://www.npr.org/2022/11/24/1138956878/brazil-world-cup-brazilian-yellow-soccer
https://theathletic.com/3731736/2022/10/28/brazil-neymar-world-cup-bolsonaro-shirt/
https://www.bbc.com/thai/international-63459355
https://www.theguardian.com/football/blog/2022/nov/19/brazil-are-a-powerhouse-but-political-divides-may-derail-tites-swan-song
https://www.nytimes.com/2022/12/09/opinion/brazil-bolsonaro-neymar-croatia.html