Feature

โทมัส ทูเคิ่ล : กุนซือชาวเยอรมันที่ถูกมองว่าเหมาะกับฟุตบอลอังกฤษมากกว่า | Main Stand

ทีมชาติอังกฤษสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้วยการแต่งตั้ง โทมัส ทูเคิ่ล กุนซือชาวเยอรมัน เข้ามาคุมทีมพร้อมวางเป้าไว้ถึงการเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2026

 


การแต่งตั้งครั้งนี้แน่นอนว่าเสียงแตก บางกลุ่มบอกว่าอังกฤษมาถึงยุคมืดอีกครั้งเพราะใช้โค้ชต่างชาติ แถมยังมาจากชาติคู่ปรับอีก ขณะที่บางกลุ่มบอกว่า ทูเคิ่ล นี่แหละมีความเป็นอังกฤษจ๋าซะยิ่งกว่าโค้ชอังกฤษบางคนเสียอีก 

เอาล่ะ ... เรามาลองชั่งน้ำหนักดูกันว่าการมาของ ทูเคิ่ล ครั้งนี้มีเบื้องหลังอย่างไร และเขากำลังจะเจอะไรในงานใหญ่ชิ้นต่อไปของเขาบ้าง ?

 

เส้นทางสร้างคาแร็คเตอร์

โทมัส ทูเคิ่ล สร้างชื่อในฐานะกุนซือของ ไมนซ์ เรียกได้ว่าเดินตามรอยเท้าของ เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่สร้างชื่อจากทีมนี้ ก่อนขยับขยายตัวเองไปคุม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ... สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งต่อจากคล็อปป์ต่างหาก

ทูเคิ่ล เล่นฟุตบอลอาชีพในระดับล่างของเยอรมัน และแขวนสตั๊ดตั้งแต่อายุ 25 ปี เพราะได้รับการบาดเจ็บที่กระดูกหัวเข่า จนต้องผันตัวไปทำงานเป็นพนักงานในบาร์เพื่อหาเงินเรียนโค้ช 

หลังจากทำงานในบาร์ได้ 2 ปี ใน ปี 2000 เส้นทางสายโค้ชของเขาก็เริ่มต้นขึ้น จากการว่าจ้างของ ราล์ฟ รังนิก ให้เข้ามาทำงานเป็นสตาฟฟ์โค้ชทีมเยาวชนของ สตุ๊ตการ์ท และถือเป็นหนึ่งในทีมสร้างนักเตะอย่าง มาริโอ โกเมซ หรือ โฮลเกอร์ บาสตูเบอร์ ให้ขึ้นมาติดทีมชาติเยอรมันชุดใหญ่ด้วย 

ทูเคิ่ล พา สตุ๊ตการ์ท รุ่นยู 19 คว้าแชมป์ลีกในปี 2004-05 ก่อนที่เขาจะย้ายออกจากทีมหลังหมดสัญญา ซึ่ง อันเดรียส เรสติก ผู้อำนวยการกีฬาของ เอาส์บวร์ก ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ ทูเคิ่ล ที่โดดเด่นในเรื่องการควบคุมนักเตะ การมีวินัย และความละเอียดในเชิงแท็คติก แต่เนื่องจากในตอนนั้นเขายังเรียนไม่จบโปรไลเซนส์ของยูฟ่า จึงต้องรับงานด้านกลยุทธ์และการคัดสรรของทีมเยาวชน ก่อนรับงานคุมทีมสำรองเมื่อปี 2007 

การไต่จากล่างขึ้นบนของ ทูเคิ่ล ทำได้อย่างรวดเร็ว ด้วยคาแร็คเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเอาจริงเอาจังในทุกรายละเอียด ว่ากันว่าเหตุผลหลักที่ ไมนซ์ จ้าง ทูเคิ่ล ขยับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งกุนซือใหญ่ได้ เพราะศักยภาพของเขากระจายไปไกลกว่าการคุมทีมชุดเยาวชน เขาเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยวิเคราะห์คู่แข่งของทีมชุดใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งจุดนี้เองทำให้เขาได้เลื่อนระดับและเป็นคนที่สำคัญของทีมสตาฟฟ์เรื่อย ๆ เริ่มจากการคุมทีมชุดเยาวชนของ ไมนซ์ เมื่อปี 2008 ก่อนขึ้นคุมทีมชุดใหญ่ในปี 2009

ตลอดเวลาที่คุม ไมนซ์ มีแต่คำชมถึงเขาทั้งนั้น เพราะการสานผลงานจากยุคสมัยของ คล็อปป์ พาทีมระดับล่างงบประมาณน้อยให้อยู่รอดในบุนเดสลีกาได้อย่างยาวนาน และคาแร็คเตอร์ของเขาก็ชัดขึ้นเรื่อย ๆ 

"เขาเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยแพชชั่นและต้องการผลักดันผู้เล่นทุกคนให้ถึงขีดสุด จนถึงจุดที่คุณคิดว่า มันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เขาต้องการให้พวกเขาเอาชนะความกดดันและความกลัว"

"การทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าเขามีความมั่นใจในตัวเองมาก แต่เขาได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้เพราะเขาเข้าใจฟุตบอลเป็นอย่างดี ดังนั้นเขาจึงแสดงมุมมองของเขาต่อผู้เล่นด้วยความมั่นใจเป็นพิเศษ เขาไม่ได้เล่นตามบทบาท ... เขาทำแบบเดียวกันทุกที่ ไม่ว่าเขาจะไปคุมทีมไหน เขาก็จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน เขาเป็นเช่นนั้นมาเสมอ" อักเซล ชูสเตอร์ ซึ่งเคยร่วมงานกับ ทูเคิ่ล ที่ไมนซ์ กล่าวกับ GOAL

เนื่องด้วยตัวของเขาแทบจะสู้กับตัวเองมาตั้งแต่การนับ 1 งานส่วนใหญ่ของเขามักจะได้สิทธิ์การตัดสินใจเด็ดขาดโดยตลอด ความเด็ดเดี่ยวและปกครองนักเตะได้ถือเป็นความโดดเด่นของเขามาเสมอ

อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาที่ต้องขยับเพดานบิน จากทีมอย่าง ไมนซ์ กลายเป็นทีมอย่าง ดอร์ทมุนด์, เปแอสเช, เชลซี และ บาเยิร์น มิวนิค ความเด็ดขาดของเขาก็กลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ประวัติการทำงานของเขามีเรื่องของการทะเลาะเบาะแว้งกับบอร์ดบริหาร หรือนักเตะในทีมมาโดยตลอด 

นั่นคือปัญหาที่เขาเป็นคนอยู่ที่ไหนได้ไม่นาน และเริ่มมีคนเรียกเขาว่าเป็น "โค้ชแบบ Toxic (สร้างบรรยากาศที่ไม่ดี)" ที่ยากจะขึ้นหิ้งไปอยู่ระดับเดียวกับโค้ชอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, คาร์โล อันเชล็อตติ หรือ เยอร์เก้น คล็อปป์ ในยุคที่ผ่านมา

 

Toxic Coach 

เรื่องความรู้ทางฟุตบอลและชั้นเชิงด้านแท็คติกถือเป็นสิ่งที่ ทูเคิ่ล โดดเด่นมาตลอด เพราะเป็นโค้ชสายตรง สายวิเคราะห์คู่แข่ง ให้ความสำคัญรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ มาตั้งแต่เริ่มอาชีพ 

ถ้าคุณจะเอาเรื่องแท็คติกที่นำไปสู่การได้ผลการแข่งขันที่ดี ทูเคิ่ล สามารถทำแบบนั้นได้ตามกำลังและศักยภาพของทีม ถ้าคุณไล่เรียงประวัติการทำงานของเขาคุณจะพบว่ามีแต่งานที่ ไมนซ์ เท่านั้นที่เขาไมได้แชมป์ ที่เหลือไม่ว่าฟุตบอลของเขาจะถูกบ่นว่าไม่สวยงาม ไม่เอ็นเตอร์เทน แต่ปลายทางคือเขาพาทีมคว้าแชมป์ที่ต้องการได้เสมอ 

ตอนที่เขาคุม เชลซี เขาใช้เวลาเพียงครึ่งฤดูกาลในการแก้ไขทีมที่แทบจะพังคามือโค้ชเก่าอย่าง แฟรงค์ แลมพาร์ด กลับมาเป็นทีมที่คว้าแชมป์ยุโรป ด้วยความแข็งแกร่งเชิงกลยุทธ์ เขาเป็นคนที่ใช้เวลาไม่มากในการวิเคราะห์นักเตะของตัวเอง ทูเคิ่ล หา 11 ตัวจริงได้ไว และสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับคำชื่นชมคือการออกแบบบแท็คติกและระบบการเล่นที่เหมาะกับศักยภาพนักเตะทีมีในทีม 

ดังนั้นคุณจะได้เห็นแผนการเล่นของเขาไม่มีระบบที่ตายตัว บางครั้งเป็น 4-3-3 บางครั้งเป็น 4-2-3-1 และที่ เชลซี คือจุดที่ชัดที่สุดที่เขาปรับให้ทีมกลับมาเล่น 3-4-2-1 เปลี่นจากทีมที่ดูกระจัดกระจายให้เป็นทีมที่มีความสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายในเวลาอันสั้น ... สุดท้ายคว้าแชมป์ยุโรปด้วยการคว่ำ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มี เป๊ป กวาร์ดิโอล่า คุมทัพ คือเครื่องมือยืนยันความยอดเยี่ยมในเชิงกลยุทธ์ของเขาเป็นอย่างดี เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าคุณจ้าง ทูเคิ่ล คุณจะได้แชมป์ที่ทีมของคุณควรจะได้ และมีลุ้นแชมป์ฟุตบอลถ้วยใหญ่ในเวลาเดียวกันด้วย เพราะเป็นโค้ชที่วางแท็คติก ปรับเปลี่ยน 11 ตัวแบบบนัดต่อนัดเป็นหลัก 

น่าเสียดายที่ภาพลักษณ์ของเขาถูกมองว่าเป็นคนที่ TOXIC ตามเหตุผลที่บอกไป หลัก ๆ แล้ว ทูเคิ่ล มักจะเป็นโค้ชที่ชอบพูดและให้สัมภาษณ์แบบวางระเบิดใส่กลุ่มผู้บริหาร เพราะเขาคิดแบบไหน เขามักจะพูดแบบนั้น ... อะไรที่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหาต่อทีมและการทำงานของเขา เขามักจะพูดมันออกมาโดยที่ไม่สนว่าตำแหน่งหน้าที่ตัวเองเป็นอย่างไร 

การเป็นกุนซือสไตล์นี้มักจะทำให้เขามีปัญหาเวลาต้องทำงานกับทีมที่บอร์ดบริหารเป็นใหญ่ และมีนักเตะระดับท็อปแถวหน้าของโลก ซึ่งถ้าจะยกกรณีตัวอย่างก็ต้องบอกว่าเขามีประวัติที่ถูกบันทึกไว้แบบนี้ทุก ๆ ที่ที่เขาไปถึง

ที่ ดอร์ทมุนด์ เขาทะเลาะกับ ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เค่ ซีอีโอของทีมที่ขายนักเตะที่เขาไม่อยากให้ขายออกไปอย่าง อิลคาย กุนโดกัน (แมนฯ ซิตี้) และ มัตส์ ฮุมเมิ่ลส์ (บาเยิร์น) เป็นต้น โดย วัตซ์เค่ ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องขายเพราะนักเตะเหล่านี้เหลือสัญญาแค่ปีเดียว แต่ ทูเคิ่ล มองว่าการเสียสองคนนี้ยากจะหาคนแทนได้ และมันเป็นเรื่องตลกที่ทีมตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์ลีก แต่กลับขายนักเตะที่ดีที่สุดในแต่ละตำแหน่งออกไป  

เขาฟาดงวงฟาดงา และมีปัญหาตามมาเช่นการทะเลาะกับหัวหน้าแมวมองอย่าง สเวน มิลินสตัตต์ จนสโมสรต้องเอาใจเขาด้วยการไล่ มิลินสตัตต์ ที่ทำงานกับทีมมานานและเป็นเพื่อนสนิทของ มิชาเอล ซอร์ก ผอ.สโมสร ออกจากตำแหน่ง

ความเชื่อมั่นในแนวคิดของตัวเอง ทำให้ ทูเคิ่ล แคร์คนอื่นน้อยมาก แม้กระทั่งกลุ่มแฟนบอลของ ดอร์ทมุนด์ ก็ออกมาบอกว่าเขาเป็นพวก "หมาป่าเดียวดาย" ไม่มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับทีม การคุมทีมของเขาถูกจำกัดไว้แค่ "งาน" เท่านั้น ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก ทุกสิ่งที่เขาพูดออกมามีความหมายเพื่อให้เขารักษางานที่เขาทำเท่านั้น ... นี่คือหนึ่งประโยคจากแฟนบอล ดอร์ทมุนด์ อันเป็นเหตุผลที่ ทูเคิ่ล ต้องออกจากสโมสรไป

ที่ เปแอสเช เขาก็มีเรื่องทะเลากับบอร์ดบริหารของสโมสรอีก แม้จะพาทีมคว้าแชมป์ลีกและฟุตบอลถ้วยได้ตามมาตรฐาน รวมถึงการพาทีมเข้าชิง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้เป็นคนแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสร จริง ๆ ผลงานแบบนี้เขาน่าจะได้อยู่ต่อ แต่ ทูเคิ่ล เบื่อที่จะเล่นเกมการเมืองกับคนภายใน และที่สำคัญเขาเอาเรื่องนี้มาพูดผ่านสื่อ จนทำให้สุดท้ายการไม่ไว้หน้าครั้งนี้ก็ทำให้เขาโดนไล่ออก 

ที่ เชลซี ก็เป็นเหตุผลเดิม ๆ ที่เขาพาทีมคว้าแชมป์ยุโรป แต่ก็ต้องโดนไล่ออกเพราะมีแนวคิดที่ไม่ตรงกันกับบอร์ดบริหาร เขาต้องการทำทีมและเลือกนักเตะด้วยตัวเอง โดยเลือกคนที่เหมาะกับทีมที่สุด ขณะที่บอร์ดของ เชลซี ยุคเปลี่ยนแปลงใหม่ภายใต้กลุ่มทุน BlueCo สัญชาติอเมริกัน ต้อการใช้วิธีซื้อนักเตะอายุน้อยมาเพิ่มประสิทธิภาพในอนาคต เพื่อให้ได้ทั้งถ้วยแชมป์และรายได้ ซึ่ง ทูเคิ่ล มองว่ามันไปด้วยกันไม่ได้ และการค้านครั้งนี้ก็ทำให้เขาต้องแยกทาง

ที่ บาเยิร์น ยิ่งหนักที่สุด เพราะเขามีปัญหากับระดับหัวจนถึงหาง ตั้งแต่บอร์ดบริหารจนถึงนักเตะในทีม ซึ่งนี่แทบจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีการเปิดเผยกันว่า ทูเคิ่ล เสียห้องแต่งตัว เพราะผลงานไม่ดี รูปเกมไม่สวย อีกทั้งยังตั้งคำถามกับกลุ่มนักเตะซีเนียร์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทุกอย่าง อาทิ โธมัส มุลเลอร์, โยชัว คิมมิช, เลออน โกเร็ตซ์ก้า และ แซร์จ นาร์บี้ ซึ่งว่ากันว่านักเตะกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า "กลุ่มแอนตี้ทูเคิ่ล" กันเลยทีเดียว

นี่แหละที่ทำให้เขาถูกเรียกว่า Toxic Coach ... อยู่ที่ไหนก็จะพาบรรยากาศของการแตกหักทะเลาะเบาะแว้งมาถึงองค์กรเสมอ กลุ่มบอร์ดบริหารของ บาเยิร์น บางคนถึงกับบอกว่าคนอย่าง ทูเคิ่ล อาจจะเป็นคนเยอรมันก็จริง แต่วิธีการทำงานของเขาทำให้หลายคนยอมรับได้ยาก เพราะฟุตบอลเยอรมันมีองค์ประกอบสำคัญหลายด้าน ทั้งเรื่องของแฟนบอลเป็นส่วนสำคัญ แนวทางการสร้างนักเตะดาวรุ่ง และโครงสร้างฟุตบอลที่โค้ชทุกคนต้องยึดมั่นปฏิบัติตาม ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับความเป็น ทูเคิ่ล ทั้งหมด ... จนกระทั่งเขาได้งานใหญ่ในการคุมทีมชาติอังกฤษ

 

ที่อังกฤษอาจจะเหมาะกับเขา

ว่ากันว่าการเป็นโค้ชทีมชาติอังกฤษถือเป็นงานที่วุ่นวายและยากลำบากที่สุดงานหนึ่ง เพราะความคาดหวังสูง สิ่งเร้ารอบข้างเยอะ และความกดดันก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทุกเรื่องทั้งในและนอกสนามจะถูกจับตาตามติด นี่คือวิถีที่โค้ชทีมชาติอังกฤษทุกคนต้องเจอ ... อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะเป็นงานที่เหมาะกับ ทูเคิ่ล ที่สุดก็เป็นได้ 

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โค้ชทีมชาติอังกฤษต้องรับมือกับความกดดันเยอะ ประการแรกแค่คุณไม่ใช่คนอังกฤษ คุณก็จะถูกตั้งแง่ตั้งแต่แรก และความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยจะทำให้คุณกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของสื่ออังกฤษ เรื่องนี้ทั้ง สเวน โกรัน อีริคส์สัน ถูกเล่นงานเรื่องชู้สาวจนอยู่ไม่ได้ เช่นเดียวกับ ฟาบิโอ คาเปลโล่ ที่โดนเล่นงานเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม จนกระเด็นออกจากตำแหน่งเช่นกัน 

โค้ชทั้ง 2 คนนี้ประสบความสำเร็จระดับตำนาน แต่พอมาคุมอังกฤษกลับพังไม่เป็นท่า จนเอฟเอ ต้องเปลี่ยนแนวทางมาเลือกใช้โค้ชชาวอังกฤษแทน ซึ่งโค้ชชาวอังกฤษจะได้เปรียบเรื่องแรงเชียร์จากแฟนบอล และโดนวิจารณ์เรื่องนอกสนามน้อยกว่าโค้ชต่างชาติมาก ๆ เช่นกัน พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นในแง่ของความสำเร็จและฟอร์มในสนาม เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ โค้ชชาวอังกฤษไม่ใช่โค้ชที่เก่งระดับโลก คนสุดท้ายคือใครที่ไปถึงความสำเร็จระดับนั้น ... ถามตอนนี้ก็นึกไม่ออก 

คุณจะเห็นได้ว่าปัญหาความกดดันในทีมชาติอังกฤษมันมีทุกเรื่อง และมันทำให้โค้ชที่เก่งก็อยู่ไม่ได้เพราะโดนรบกวนจากสื่อเสมอ ส่วนโค้ชที่สื่อชอบและแฟนบอลเชียร์ก็กลายเป็นคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์น้อยเกินไป

แต่ถ้าคุณมองปัญหาที่ทั้งโค้ชต่างชาติ และโค้ชอังกฤษเจอ คุณจะพบว่านี่คืองานที่ ทูเคิ่ล อาจจะทำได้ดีก็เป็นได้ 

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ทูเคิ่ล ไม่เคยสนใครสักคนนอกจากผลงานของทีม เรื่องที่เขาโดนสื่อเผาเละจนถดถอยและยอมแพ้ไปเองไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติการทำงานของเขา เพราะเขาพูดสิ่งที่อยู่ในใจเสมอ ไม่ต้องตีความเยอะ ทะเลาะบอกทะเลาะ ไม่พอใจบอกไม่พอใจ ซึ่งเขาไม่สนด้วยว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบไหน ตราบใดที่เขายังไม่โดนไล่ออกเขาก็จะทำหน้าที่ของเขาในแนวทางที่เป็นตัวของตัวเอง 

ส่วนเรื่องความอ่อนหัดเชิงกลยุทธ์ของโค้ชชาวอังกฤษ ทูเคิ่ล ก็จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้เช่นกัน เพราะอย่างที่เราได้บอกมาก่อนหน้านี้ว่า ถ้าเรื่องของการเน้นผล มีระบบที่ชัดเจน และมีวิธีทำทีมไปถึงชัยชนะ และพิชิตไปถึงการคว้าแชมป์ ทูเคิ่ล พิสูจน์ตัวเองเรื่องนี้มาจนทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว 

ดังนั้นเขาจะรับมือกับสื่อได้ และเขาจะไม่มีปัญหาเรื่องแท็คติกรวมถึงวิธีการเล่นแบบที่โค้ชคนก่อน ๆ หน้าเขาโดนวิจารณ์ ... นอกจากนี้หากพลิกประวัติเรื่องการทะเลาะกับผู้บริหารของ ทูเคิ่ล ในอดีต คุณก็จะพบว่าต้นเหตุมักมาจากการ ซื้อ-ขาย นักเตะแทบทั้งสิ้น ซึ่งปัญหานี้เขาจะไม่พบในทีมชาติอังกฤษ เพราะมันไม่มีการซื้อตัวให้วุ่นวาย เขามีหน้าที่แค่ดู วิเคราะห์ และเลือกนักเตะมากมายที่มีอยู่เข้ามาในทีมของตัวเองเท่านั้น  

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือการให้ส้มภาษณ์ของ ราฟาเอล โฮนิกสไตน์ กูรูฟุตบอลเยอรมันของ TNT Sports ก็ยังบอกว่าในขณะที่หลายคนบอกว่าอังกฤษมาถึงยุคมืดเพราะกลับมาใช้โค้ชต่างชาติอย่าง ทูเคิ่ล เขากลับมองว่า โค้ชแบบ ทูเคิ่ล นี่แหละที่เหมาะกับฟุตบอลอังกฤษที่สุดในเวลานี้ 

"ผมเป็นคนเยอรมัน และผมจะบอกว่ามันแปลกที่ผมจะพูดแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่า โทมัส ทูเคิ่ล คือคนที่จะก้าวมาเป็นโค้ชที่ดีที่สุดรองจาก เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในแง่ของการนำความสำเร็จมาสู่ทีม"

"เอฟเอ ยอมมองข้ามเรื่องสัญชาติและจ้างทูเคิ่ล มันไม่มีเหตุผลอื่น ๆ เลยนอกจากการเชื่อว่า ทูเคิ่ล เป็นโค้ชที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ทั้งเรื่องการทำงานกับนักฟุตบอลอังกฤษ การคว้าความสำเร็จระดับแชมป์ยุโรป และคาแร็คเตอร์ที่พวกเขาตามหา"

"นี่คือการเลือกที่โคตรจะเหมาะเลย เพราะผมเคยคุยกับ ทูเคิ่ล และเขาบอกว่าเขาชอบที่จะทำงานกับนักเตะอังกฤษ รวมถึงบรรยากาศตอนที่เขาทำงานในอังกฤษกับ เชลซี มาก ๆ ด้วยเหตุผลของเรื่องทัศนคติในห้องแต่งตัว แนวคิดในการทำงานของนักเตะอังกฤษ แม้แต่ช่วงที่เขาคุม บาเยิร์น เขาก็คว้า แฮร์รี่ เคน และ เอริค ไดเออร์ เข้ามาเพื่อจะสร้างทัศนคติแบบคนอังกฤษให้เพิ่มขึ้นภายในทีม ... ดังนั้นคุณหมดห่วงเรื่องความต่างเรื่องแนวทางการทำงานและด้านวัฒนธรรมนอกสนามได้เลย เขาเอาอยู่แน่นอน" โฮนิกสไตน์ ว่าเช่นนั้น 

กลับมามองที่ทีมชาติอังกฤษชุดปัจจุบัน สิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดในช่วง 2-3 ปีหลังคือการตัดสินใจว่า "ใครควรออกสตาร์ทเป็น 11 ตัวจริง ?" โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เล่นเกมรุกที่เถียงกันไม่เว้นแต่ละวัน ... ซึ่งงานแบบนี้เหมาะกับ ทูเคิ่ล ที่เป็นกุนซือที่หา 11 ตัวจริงได้ไว และเลือกนักเตะแบบเด็ดขาดด้วยความคิดของตัวเองไม่ปล่อยให้ใครชักนำ  ดังนั้นไม่ว่าใครจะวิจารณ์หรือว่าบอกคนนี้ดีกว่าคนนี้ มันจะไม่ส่งผลถึงเขาอย่างแน่นอน และมันอาจจะเป็นแนวทางการทำงานในแบบที่คลิกกันก็เป็นได้ 

งานที่กดดันที่สุดในโลกงานหนึ่ง มาเจอกับโค้ชที่ไม่สนโลกที่สุดคนหนึ่ง ... นี่คือความต่างสุดขั้ว แต่เป้าหมายของทั้งคู่กลับตรงกันคือ "ชัยชนะ" นั่นแหละคือเหตุผลที่ เอฟเอ ยอมเสี่ยงกับโค้ชสุดอันตรายคนนี้  

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.givemesport.com/the-6-bayern-munich-stars-that-are-anti-thomas-tuchel-named/
https://www.eurosport.com/football/thomas-tuchel-england-new-manager-gareth-southgate_sto20045669/story.shtml
https://psgtalk.com/2020/02/tuchel-was-hated-at-dortmund-and-he-never-wanted-to-be-part-of-the-club-claims-historian/
https://www.reddit.com/r/BayernMunich/comments/1br31la/why_do_people_hate_thomas_tuchel/
https://www.theguardian.com/sport/2020/dec/24/thomas-tuchel-psg-sacking-shows-push-and-pull-coaching-and-politics-paris-saint-germain
https://www.espn.com/soccer/story/_/id/37475130/thomas-tuchel-toxic-breakdown-dortmund-hierarchy-leads-premature-exit

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ