Feature

ยิงคมทุกตัว : การพัฒนาเรื่องจุดโทษ…ไม้ตายใหม่ "อังกฤษ" | Main Stand

อังกฤษ ของ แกเร็ธ เซาธ์เกต ทำสิ่งที่เราไม่ได้เห็นบ่อย ๆ มากมายใน ยูโร 2024 และล่าสุดพวกเขาเอาชนะจุดโทษเหนือ สวิตเซอร์แลนด์ ไป 5-3 ... สิ่งที่ว่าหาดูยากก็คือ การเอาชนะจุดโทษของสิงโตคำรามนี่แหละ 

 

มีสถิติที่ฟ้องอยู่ว่า พวกเขาอ่อนเรื่องจุดโทษ พอถึงการดวลเมื่อไหร่ จะต้องมีคนที่ยิงจุดโทษไม่ดี ไม่คม ออกมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ จนพวกเขาแพ้จากการดวลจุดโทษมาแล้วถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ทว่าจากชุดยิง 5 คนในเกมกับ สวิส ดูเหมือนว่าทุกคนจะยิงเฉียบขาด ภายใต้ความกดดันมหาศาล ซึ่งไล่ย้อนกลับไป มีการยืนยันว่าพวกเขาตั้งใจอย่างมากที่จะเป็นอังกฤษมาดใหม่ สวมหัวใจสิงห์ตอนที่ได้ยิงจุดโทษ 

ของแบบนี้มันแก้กันได้ยัง ? ติดตามที่ Main Stand

 

ทำไมอังกฤษถูกมองว่าเป็น "หมู" ในการดวลจุดโทษ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ก่อนที่ แกเร็ธ เซาท์เกต จะมาคุมทีมชาติในช่วงปลายปี 2016 อังกฤษ ดวลจุดโทษในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ชนะแค่หนเดียวเท่านั้น นั่นคือการเอาชนะ สเปน ในยูโร 1996 รอบก่อนรองชนะเลิศ ที่เหลือพวกเขาแพ้ทั้งหมด 6 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรอบใด ล้วนเคยเกิดขึ้นมาหมดแล้ว ไม่มีชาติท็อป 10 ของโลกตาม ฟีฟ่า แรงกิ้งชาติไหน ชนะในการดวลจุดโทษน้อยกว่าอังกฤษเลยแม้แต่ทีมเดียว 

หากเยอรมนีคือเซียนเรื่องการยิงจุดโทษ อังกฤษก็เป็นในสิ่งที่ตรงกันข้าม พวกเขาเหมือนกับแพ้ภัยความหลอนเมื่อการดวลจุดโทษมาถึง คำว่า "ยิงดี" ไม่ค่อยปรากฏ เช่นเดียวกับประตูที่พุ่งถูกทางสร้างความครั่นคร้ามให้คู่แข่งยิ่งหาแทบไม่เจอ ... ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?

เรื่องนี้จริง ๆ แล้วมันมองไปได้ทั้ง 2 ทาง ไม่ว่าจะมองว่าคนยิงยิงไม่ดี หรือประตูของคู่แข่งเซฟดี เก่งการดวลจุดโทษเป็นพิเศษ  สิ่งที่น่าสนใจคือตำนานประตูทีมชาติเยอรมันอย่าง อันเดรียส ค็อปเค่ ที่เคยเซฟจุดโทษจนเยอรมนีเป็นแชมป์ยูโร 1996 ได้พูดถึงแนวคิดในการซ้อม และการดวลจุดโทษของทีมชาติเยอรมันตั้งแต่ยุคของเขาจนปัจจุบันว่า "การยิงจุดโทษไม่มีคำว่ายิงดีหรือยิงไม่ดี มีแต่ยิงเข้าหรือไม่เข้า" 

โดยเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับคนยิงมีอยู่ 2 แบบเท่านั้นคือ เข้า หรือ ไม่เข้า เพราะต่อให้จะยิงแป้ก ยิงผิดเหลี่ยม ตราบใดที่บอลยังเข้าประตูไม่มีอะไรต้องมาถกกันต่อ เพราะการยิงเข้านั้นคือที่เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด 

ดังนั้น ค็อปเค่ จึงบอกว่า มุมมองของเขาในฐานะคนเป็นผู้รักษาประตู คนเซฟคือคนที่ชี้ขาดเรื่องนี้มากกว่า ถ้าคุณเซฟได้ ต่อให้คนยิงจะยิงดีแค่ไหนก็ไม่มีค่า

ไม่ใช่ว่าคนยิงไม่สำคัญ แต่ ค็อปเค่ อธิบายว่า ไม่ว่าจะยิงดีหรือไม่ดีไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งที่จะทำให้เขาและไม่เข้าคือเรื่องของความมั่นใจ ทีมชาติเยอรมัน ชาติที่แพ้การดวลจุดโทษแค่หนเดียวจาก 8 ครั้ง นอกจากผู้รักษาประตูจะมั่นใจแล้ว การเลือกคนยิงก็มีวิธีเลือกแบบเยอรมันเช่นกัน 

"มือยิงจุดโทษของเราแต่ละคนจะเกิดขึ้นจากการเลือกคนมั่นใจในตัวเองที่สุด คนที่คิดว่าตัวเองมีจิตใจแข็งแกร่งที่สุด พวกเราพยายามทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า เมื่อเราเดินเข้าประจำจุดที่ต้องสังหาร เราจะต้องเป็นผู้ชนะ"

"Nervenstaerke ทำให้เราชนะในการดวลจุดโทษเสมอ นั่นคือเคล็ดลับ มันอยู่เบื้องหลังชัยชนะมากมาย รวมถึงการเจอกับอังกฤษในปี 1996 ด้วย" ค็อปเค่ ตอบสื่ออย่าง Reuters  

ค็อปเค่ พูดถึงอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกฟากของความอ่อนหัดเรื่องการดวลจุดโทษ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีที่มา โดยทีมชาติอังกฤษมักต้องอยู่ภายใต้การกดดันตลอดเวลา การยิงเข้าและไม่เข้ามีผลกระทบต่างกันมาก ๆ ชนิดสวรรค์กับนรก ขณะที่เรื่องของการซ้อมนั้น อังกฤษ ยุคก่อน ๆ นั้นมีการซ้อมจุดโทษน้อยมาก 

สิ่งที่ยืนยันได้คือโค้ชอังกฤษ ถึง 3 คน ทั้ง สตีฟ แม็คคลาเรน, รอย ฮอดจ์สัน และ สเวน โกรัน อีริคส์สัน ก็เคยออกมาสัมภาษณ์ตรงกันว่า พวกเขาคิดว่าการซ้อมยิงจุดโทษ หรือการใช้บริการของนักบำบัดจิต โค้ชเรื่องสภาพจิตใจ เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะเป็นเรื่องไม่สำคัญ โดยมีชุดความคิดที่ว่า การยิงจุดโทษในสนามซ้อม กับการยิงจุดโทษในสถานการณ์จริงนั้นแตกต่างกัน ซึ่งภายหลังไม่ว่าจะเป็น สเวน หรือ ฮอดจ์สัน ก็ต้องออกมายอมรับว่า การไม่ใส่ใจซ้อมเรื่องการยิงจุดโทษเป็นข้อผิดพลาดของพวกเขาตอนคุมทีมชาติอังกฤษของทั้งคู่

"ผมไม่ปฏิเสธว่าผมมีนักเตะชุดที่ดีมาก ๆ และแต่ละคนก็มีทักษะการยิงจุดโทษติดตัวมากับต้นสังกัด สำหรับทีมชาติอังกฤษชุดฟุตบอลโลกปี 2006 แต่ผมยอมรับว่า ณ เวลานั้นผมได้ทำความผิดพลาดครั้งใหญ่" อีริคสัน กล่าว

"ปัญหาในการดวลจุดโทษคือไม่สามารถซ้อมได้ เพราะมันเป็นเรื่องของจิตใจ นักเตะจะต้องคิดเรื่องการยิงของเขาระหว่างเดินจากเส้นกลางสนามไปที่เขตจุดโทษ พวกเขาจะคิดว่าตัวเองกำลังจะตัดสินใจอนาคตของทั้งทีมว่าจะได้ไปต่อหรือกลับบ้าน" 

"ความผิดพลาดคือ ผมควรจะจ้างโค้ชด้านสภาพจิตใจเข้ามาทำงานกับทีมชุดนั้น ให้เขาเข้ามาช่วยสอนเรื่องการยิงจุดโทษ สิ่งที่เราควรจะทำคือการทำยังไงให้นักเตะที่รับหน้าที่มีความกดดันน้อยที่สุด ปิดความคิดเรื่องแฟนบอลเป็นล้าน ๆ คนกำลังจ้องมาที่พวกเขาอยู่ คนยิงจุดโทษจำเป็นต้องเป็นเจ้าของความคิดของตัวเอง พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้ความคิดเป็นหมื่นพันวนเวียนในหัว ตอนถึงเวลาที่กดดันที่สุด" อีริคส์สัน กล่าว 

การให้ความสำคัญเรื่องการซ้อมจุดโทษน้อยของอังกฤษ แตกต่างกับเยอรมนีอย่างสิ้นเชิง เพราะ เยอรมนี จริงจังกับการซ้อมทั้งคนยิงและคนเซฟมาตั้งแต่หลังจากที่พวกเขาแพ้จุดโทษให้กับ เชโกสโลวาเกีย ใน ยูโร 1976 พวกเขาไปแก้ไขทั้งในเชิงเทคนิค และเรื่องของการรับมือกับความกดดัน สภาพจิตใจ ซึ่งความต่างนี้เองที่ทำให้ เยอรมนี ดวลเป็นชนะ แต่อังกฤษต้องอกสั่นขวัญแขวนทุกครั้งเมื่อการดวลจุดโทษมาถึง 

โชคยังดีที่หลังจาก ยูโร 2016 จบลง ทีมชาติอังกฤษมีการเริ่มจ้างนักจิตวิทยาเข้ามาทำงานตรงนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคของ แกเร็ธ เซาธ์เกต บุคลากรแผนกต่าง ๆ ในทีมชาติอังกฤษเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องจิตวิทยา การสร้างแนวคิด การให้กำลังใจ และการเป็นผู้นำ 

ณ ตอนนี้ เซาธ์เกต ทำทีมชนะการดวลจุดโทษแล้ว 3 ครั้ง ... มากกว่าสถิติการชนะทั้งหมดในอดีตก่อนมาถึงยุคของเขา ดังนั้นเราพอจะคาดเดาได้ว่าการเตรียมพร้อมตั้งแต่เข้าทัวร์นาเมนต์ รวมถึงการจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในเรื่องอื่น ๆ นอกจากฟุตบอล สามารถแก้ไขเรื่องการดวลจุดโทษของทีมชาติอังกฤษได้ดีขึ้นมาก ๆ หากดูจากสถิติพัฒนาการที่เรากล่าวมาในข้างต้น 

 

แล้วซ้อมยังไงล่ะ ? 

อังกฤษยุค แกเร็ธ เซาธ์เกต ถือเป็นยุคใหม่ที่นำแนวคิดต่าง ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงทีมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการดวลจุดโทษ ตัวเขาเองก็มองว่าบางครั้งแนวคิดเก่า ๆ ก็คร่ำครึเกินไป โดยตัวของเขาเองก็เคยพลาดจุดโทษใน ยูโร 1996 ซึ่ง ตอนนั้น เซาธ์เกต บอกว่า สิ่งที่เขาคิดและซ้อมคือการตั้งบอลให้นิ่งแล้วยิงให้เขา แต่จริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากยิ่งกว่านั้นเยอะ 

เซาธ์เกต คุมทีมชาติอังกฤษในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ครั้งแรกกับฟุตบอลโลก ปี 2018 และเขาสั่งให้ลูกทีมทำในสิ่งที่โค้ชคนเก่า ๆ ไม่ทำ นั่นคือการซ้อมดวลจุดโทษเป็นเซสซั่นพิเศษ บวกกับเอาสถิติข้อมูลต่าง ๆ ของคู่แข่งมาศึกษา ซึ่งเบื้องต้นมันก็ไม่เลวนัก อังกฤษ เอาชนะ โคลอมเบีย ในการดวลจุดโทษรอบ 16 ทีมได้สำเร็จ เช่นเดียวกับการชนะ สวิตเซอร์แลนด์ ใน ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก 2019 นัดชิงอันดับ 3 แต่แล้วใน ยูโร 2020 รอบชิงชนะเลิศ อังกฤษ ต้องมาเจอกับเซียนการดวลจุดโทษอีกชาติอย่าง อิตาลี และพวกเขาก็แพ้การดวลจุดโทษไปอย่างเจ็บปวด 

ทีมงานของ เซาธ์เกต ไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เสียเปล่า พวกเขาเอาเรื่อง "ทำไมถึงแพ้" มาวิเคราะห์เพิ่ม และพบว่าจริง ๆ แล้ว การซ้อมยิงจุดโทษ และการอบรมโดยใช้นักจิตวิทยามาช่วย หรือแม้แต่การเอาสถิติของคู่แข่งมากางก็ยังไม่มากพออยู่ดี 

การแพ้จุดโทษในเวมบลีย์ สนามเหย้าของพวกเขาเอง มันเป็นเรื่องของความกดดัน สภาพจิตใจ และความไม่คุ้นชินกับบรรยากาศที่เกิดขึ้น มันมีหลายสิ่งอย่างประกอบกัน การเจอคู่แข่งที่เชี่ยวชาญด้านนี้ และการเจอกันในสถานการณ์ที่บีบคั้นหัวใจ ทำให้พวกเขาต้องกลับไปแก้ไขแบบฝึกเพิ่ม

โดยก่อนเริ่ม ยูโร 2024 นี้ ทีมชาติอังกฤษของ เซาธ์เกต ซ้อมจุดโทษมากขึ้นกว่าปกติ เดิมทีพวกเขาจะซ้อมยิงกันหลังจากการซ้อมแต่ละวันเสร็จ แต่หนนี้บางช่วงบางตอนจะมีการซ้อมยิงจุดโทษเป็นเซสชั่นเฉพาะ 

ซึ่งในการซ้อมนี้ จะทำบรรยากาศเหมือนจริงมากที่สุด ไม่ใช่แค่มีคนยิง กับ คนเซฟเท่านั้น แต่เขาจะเพิ่มกรรมการที่อยู่ตรงจุดยิง คอยเป่านกหวีด และผู้กำกับเส้นจะมายืนอยู่ที่เส้นปากประตูเพื่อดูว่าขาของผู้รักษาประตูนั้น ออกจากเส้นก่อนที่บอลจะออกจากเท้าคนยิงหรือไม่

ส่วนนักเตะบางคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือไม่เคยรับหน้าที่การยิงจุดโทษ ก็จะมีทีมช่วยคิดวิเคราะห์หาการยิงที่เหมาะสม และเด็ดขาดเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ คิวการดวลจุดโทษอาจจะไหลมาถึงพวกเขาเหล่านี้ได้ทุกเมื่อ ซึ่งการแก้ไขเป็นรายคน ก็จะทำให้อังกฤษมีคนที่ยิงจุดโทษไว้ใจได้เพิ่มขึ้น เรียกได้ว่ากำจัดจุดอ่อน ในกรณีที่สถานการณ์ที่คิดไว้ไม่เป็นอย่างที่คิดและยืดเยื้อเกินคาด

นอกจากนี้อังกฤษป้องกันแม้กระทั่งการยิงฟาวล์ หรือการเซฟฟาวล์ เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันเสียโอกาส และทำให้สภาพจิตใจของตัวเองตกต่ำลง ขณะที่คู่แข่งสูงขึ้น ในกรณีที่คุณเซฟได้แต่ดันฟาวล์ หรือยิงเข้าแต่ดันฟาวล์ จนต้องกลับมายิงใหม่อีกรอบ ทุกอย่างต้องเป๊ะตามกติกา เรียกได้ว่าทั้งคนยิงและคนเซฟต้องจดจำเรื่องนี้โดยสัญชาตญาณ ไม่ต้องให้ใครมาเตือน 

ลึกลงไปยิ่งกว่านั้น คือการยิงจุดโทษ ที่พวกเขาปรับปรุงเทคนิคการยิงแบบใหม่ ให้เชื่อใจคนยิงมากที่สุด แต่ละคนจะต้องเลือกมุมที่ถูกต้อง โดยถูกต้องในที่นี้คือ ไม่ต้องสนว่าประตูคู่แข่งจะพุ่งไปทางไหน แต่ถ้าส่งบอลไปยังจุดที่เลือกไว้อย่างเหมาะสม ยิงให้เฉียบตามที่ซ้อม ต่อให้พุ่งถูกก็ยากที่หยุดลูกยิงที่มีน้ำหนักและทิศทางที่พร้อมได้ ... นี่คือสิ่งที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต กล่าวก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่ม และเราก็ได้เห็นในเกมกับ สวิส ที่มือยิงของอังกฤษแต่ละคนเลือกเป้าหมาย และส่งบอลไปยังจุดที่ตัวเองเลือกได้อย่างเฉียบขาด

 

สถิติและเทคนิค 

อังกฤษ ใส่เทคนิคในการซ้อมจุดโทษให้ลึกลงไปอีก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า วันไหนที่ทีมซ้อมหนักเป็นพิเศษ และนักเตะมีความเหนื่อยแบบออกอาการชัด เซาธ์เกต จะเริ่มจัดเซสชั่นยิงจุดโทษหลังการซ้อมหนักทันที เขาทำเพื่ออะไร ?

เหตุผลก็เพราะว่าความเหนื่อยลักษณะนี้จะทำให้นักเตะคุ้นชินเมื่อต้องดวลจุดโทษจริง อย่าลืมว่าก่อนจะถึงจุดโทษ พวกเขาจะต้องผ่านเกมมากว่า 120 นาที แข้งขาที่อ่อนแรง จังหวะการหายใจที่เร็วกว่าปกติ มีสิทธิ์ที่จะทำให้สิ่งที่ซ้อมมาพังทลายได้ ดังนั้นการทำตัวเองให้คุ้นกับสภาพร่างกายที่โรยแรงแบบนี้ ก็จะทำให้พวกเขามั่นใจในการยิงได้มากขึ้น เมื่อสถานการณ์ยิงมาถึง พวกเขาจะสามารถกะน้ำหนักเท้า และกำหนดลมหายใจให้นิ่งสงบได้ดียิ่งกว่าเดิม 

นอกจากนี้ยังมีการเอาสถิติต่าง ๆ มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ ชัดที่สุดคือขวดน้ำของ จอร์แดน พิคฟอร์ด ที่แปะกระดาษระบุจุดยิงของผู้เล่นคู่แข่งแต่ละคน โดยรวบรวมจากสถิติการยิงจุดโทษของนักเตะคนนั้น ๆ ตลอดอาชีพ และประมวลผลว่าสถานการณ์แบบนี้ คนนี้จะยิงไปทางไหน ซึ่ง พิคฟอร์ด จะพุ่งตามขวดน้ำทุกลูก ไม่มีการลังเลใด ๆ พุ่งสุดตัว ถ้าไปถูก โอกาสเซฟได้ก็จะสูงเพิ่มขึ้นได้ เรียกได้ว่าเขาเชื่อข้อมูลเต็มระบบ และผลออกมาก็ไม่เลวเลยทีเดียว 

อีกอย่างหนึ่งคือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ สำนักข่างอย่าง รอยเตอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่าจากสถิติเก่า ๆ นักเตะทีมชาติอังกฤษจะล่กและลนเวลาที่กรรการเป่านกหวีดให้ยิงประตู ... โดยมีการเฉลี่ยว่าเมื่อกรรมการเป่านกหวีด ผู้เล่นอังกฤษจะใช้เวลาแค่ราว ๆ 2 วินาทีโดยเฉลี่ยเท่านั้น จากนั้นก็จะพุ่งตัวไปยิงเลย 

ซึ่งจุดเปลี่ยนจากที่เห็นคือ เซาธ์เกต พยายามทำให้ทุกคนใจเย็นลง เมื่อกรรมการเป่านกหวีด อย่าเพิ่งรีบ ตัดสินใจให้ดี จัดระเบียบร่างกายให้พร้อม กำหนดลมหายใจให้มีสมาธิ จนกว่าจะพร้อมที่สุดจึงจะสืบเท้าเข้าไปยิง ซึ่งก็เป็นที่มาของการยิงแต่ละคนที่มุมดิก และใข้เวลาอย่างเต็มที่จนยิงเข้าแบบเฉียบขาดกันทุกคน 

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ เซาธ์เกต ควรได้รับคำชม แม้รูปแบบการเล่นอาจจะแย่ แต่ก็มาได้ตามเป้า แถมยังเตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้เสมอ แก้จุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนตามแบบฉบับของเขา ... อังกฤษ จะไม่กลัวการดวลจุดโทษอีกต่อไป พวกเขาจะมีสมาธิกับเกมในแต่ละช่วง และจะไม่รู้สึกประหม่าอีกแล้วเมื่อการตัดสินขั้นฎีกามาถึง

ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาจะเด็ดขาดแบบนี้ไปจนสามารถพา Football Coming Home ได้หรือไม่ ? 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.plymouth.ac.uk/news/pr-opinion/psychology-of-football
https://supersport.com/hereforher/news/4cff33f3-2d0f-466b-9ef5-be19dd9b8539/southgate-s-england-no-longer-fear-the-death-penaltyslug=southgate-s-england-no-longer-fear-the-death-penalty
https://www.standard.co.uk/sport/football/southgate-kane-england-penalty-shootout-euro-2024-b1167658.html
https://www.reuters.com/article/sports/-southgate-thinks-outside-the-box-to-overcome-england-penalty-curse-idUSKBN1DD176/
https://www.foxsports.com/stories/soccer/does-england-no-longer-have-to-worry-about-its-penalty-kick-curse

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ