ทันทีที่ สงกรานต์ บุญมีเกียรติ เป่านกหวีดยาวหมดเวลาการแข่งขันที่สนามศุภชลาศัย เกมระหว่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ชนะ ชลบุรี 6-0 นับเป็นการหมดเวลาของ ชลบุรี เอฟซี บนลีกสูงสุดด้วย
“ฉลามชล” ต้องตกชั้นลงไปเล่นไทยลีก 2 อย่างเป็นทางการ หลังยืนหยัดอยู่ในไทยลีก 1 มาอย่างยาวนาน 18 ฤดูกาล
นี่คือทีมที่ได้เล่นในลีกสูงสุดติดต่อกันยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ที่ ชลบุรี ย่างกายเข้ามาสู่ ไทยลีก ในฐานะแชมป์โปรวิเชียรลีก 2005
โดยปี 2006 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่มี ไทยลีก อยู่แล้ว ได้นำเข้าทีมจาก โปรวิเชียรลีก ซึ่งจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เข้ามา จึงเป็นที่มาของคำว่า “รวมลีก”
แน่นอนว่า 18 ฤดูกาล หรือ 18 ปี คือตัวเลขที่ ชลบุรี โลดแล่นบนลีกสูงสุด ซึ่งพวกเขาผ่านอะไรมามากมาย ก่อนจะมาถึงวันที่ “ตกชั้น”
ทีมภูธรทีมแรกคว้าแชมป์ไทยลีก
การเข้ามาของ ชลบุรี เป็นการปลุกกระแสวงการฟุตบอลลีกเมืองไทยได้เป็นอย่างมาก เพราะด้วยความที่เป็นทีมต่างจังหวัดหรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ภูธร” ทำให้มีแฟนบอลเข้ามาเชียร์ในสนามและเป็นสีสันจนถูกพูดถึงในวงกว้าง
ปีแรกของ ชลบุรี ใน ไทยลีก 2006 พวกเขาเป็นน้องใหม่หน้าตาดีเพราะอุดมไปด้วยผู้เล่นฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์มากมาย แต่การต้องมาเจอกับทีมเมืองหลวง อาทิ บีอีซี เทโรศาสน, โอสถสภา, ธ.กรุงเทพ, ทหารบก, การท่าเรือ, ธ.กรุงไทย, การไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมหาอำนาจลูกหนังเมืองไทย ทำให้ “ฉลามชล” เกือบเอาตัวไม่รอด ก่อนจบอันดับ 8 ของตาราง จากทั้งหมด 12 ทีม
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลถัดมา คือ 2007 มีจำนวนทีมเพิ่มขึ้นมาเป็น 16 สโมสร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น บีอีซี เทโรศาสน, ธ.กรุงไทย, พนักงานยาสูบ, การไฟฟ้า (ที่เคยคว้าแชมป์ไทยลีกมาหมดแล้ว), ม.กรุงเทพ, ทีโอที, การท่าเรือ, ธ.กรุงเทพ, ทหารบก, โอสถสภา, ตำรวจ, ราชนาวี, ไทยฮอนด้า, นครปฐม, สุพรรณบุรี
แน่นอนว่า ชลบุรี คือเพลงฮิตของ แคทรียา อิงลิช (นอกสายตา) ที่ไม่มีใครกล้าชี้ชัดว่าเป็นตัวเต็งในการคว้าแชมป์ ไทยลีก 2007
แต่แล้วปากกาของเซียนทั้งหลายก็หักดัง เป๊าะ! เมื่อ “ฉลามชล” ภายใต้การคุมทีมของ จเด็จ มีลาภ พร้อมเหล่านักเตะอย่าง พิภพ อ่อนโม้, โกสินทร์ หทัยรัตนกุล (ชื่อเดิมของ สินทวีชัย), สุรีย์ สุขะ, ณัฐพร พันธ์ฤทธิ์, ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น, สุรัตน์ สุขะ, วรวุฒิ ศรีมะฆะ, โคเน โมฮาเหม็ด, ชลทิตย์ จันทคาม, ศราวุฒิ จันทพันธ์ ผสมผสานกับดาวรุ่งอย่าง อาทิตย์ สุนทรพิธ, อดุล หละโสะ, เกรียงไกร พิมพ์รัตน์ ฯลฯ สามารถล้มยักษ์เอาถ้วยแชมป์ในชูเหนือศีรษะได้อย่างยิ่งใหญ่ ประกาศศักดิ์ดา (แต่ไม่ทุบตึก) ให้วงการฟุตบอลไทยได้รู้และจารึกว่านี่คือทีมภูธรทีมแรกที่คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศไทย
นั่นคืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของภาพลักษณ์วงการฟุตบอลไทยก็ว่าได้ เพราะอย่างที่บอกว่า ชลบุรี ไม่ได้อยู่ในสายตาของเซียนซักเท่าไหร่ แต่พวกเขาสามารถเอาต่อกรกับทีมแกร่งทั้ง 15 สโมสรได้อย่างสง่าผ่าเผย
หนึ่งในนั้นคือเกมนัดรองสุดท้ายที่พบกับ ธ.กรุงไทย ทีมรองจ่าฝูงที่มี 54 คะแนน ซึ่ง ชลบุรี จ่าฝูง 60 คะแนน ขอเพียงแค่ผล “เสมอ” เท่านั้นก็จะคว้าแชมป์ ทำให้ทุกสายตาจับจ้องมาที่สนามเทศบาลเมืองชลบุรี และสิ่งที่ทุกคนได้เห็นคือแฟนบอล “ฉลามชล” เข้ามาชมเกมจนใช้คำว่า “สนามแตก” ได้เลย ซึ่งคำนี้หายไปจากฟุตบอลไทยนานมากแล้ว
และ ชลบุรี ก็ทำให้สนามแตกจริงๆ เพราะพวกเขาเอาชนะ ธ.กรุงไทย 3-2 เป็นการการันตีแชมป์เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2007
ลุยถ้วยเอเชียครั้งแรกของสโมสร
การเป็นแชมป์ ไทยลีก 2007 ทำให้ ชลบุรี ได้สิทธิ์ในการไปเล่นฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย หรือ เอเอฟซี แชมเปี้ยนลีกส์ 2008 ซึ่งเป็นครั้งแรกของทีมกับการได้ไปต่อกรกับทีมอื่นๆ ในเอเชีย
แต่ด้วยกฎเกณฑ์และมาตรฐานของ เอเอฟซี ทำให้ ชลบุรี ไม่สามารถเล่นที่สนามเหย้าที่แท้ทรูของตัวเองได้ จึงต้องไปใช้สนามศุภชลาศัยเป็นรังเช่าของตัวเองแทน แต่นั่นไม่ได้ส่งผลต่อเสียงเชียร์ เพราะแฟนบอล “ฉลามชล” (และรวมถึงแฟนบอลไทยทั่วไป) ตีตั๋วเข้าไปเชียร์ ชลบุรี จนแน่นขนัด
ชลบุรี สร้างเซอร์ไพรส์ใน 2 เกมแรกด้วยการบุกเสมอ กัมบะ โอซากา ถึงญี่ปุ่น 1-1 และเล่นในบ้านเช่าชนะ เมลเบิร์น วิคตอรี จากออสเตรเลีย 3-1 ซึ่งถือเป็น 4 คะแนนที่ทำให้โอกาสเข้ารอบของ ชลบุรี สดใส รุ่งโพธิ์ทอง
แต่เหลือจะเชื่อ! 4 เกมที่เหลือ ชลบุรี กลับเก็บได้แค่คะแนนเดียว (แพ้ ชุนนัม ดรากอนส์ 0-1, เสมอ ชุนนัม ดรากอนส์ 2-2, แพ้ กัมบะ โอซากา 0-2, แพ้ เมลเบิร์น 1-3) ส่งผลให้พวกเขาต้องตกรอบอย่างน่าเสียดาย
ทว่าอย่างน้อยๆ ชื่อของ ชลบุรี ทีมภูธรฝั่งตะวันออก ก็ได้สร้างชื่อให้เอเชียได้พอรู้จักบ้างแล้วกับผลงานในฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปียนลีกส์ ครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเขา
ภูธรทีมแรกแชมป์บอลถ้วยสมาคมฯ (เอฟเอคัพ)
ความสำเร็จของ ชลบุรี ถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ ในช่วงแรกของการเข้ามาอะลาะวาดใน ไทยลีก ซึ่งปี 2010 ชลบุรี ได้ชูถ้วยชนะเลิศอีกครั้ง แต่หนนนี้เป็นถ้วยของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หรือที่เรียกกันว่า “เอฟเอ คัพ” นั่นเอง
ฟุตบอล เอฟเอ คัพ จัดการแข่งขันมานาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมในระดับถ้วยพระราชทานชิงชัยกัน ต่อมาเป็นทีมในระดับ ไทยลีก ร่วมแข่งขัน ทำให้ไม่มีครั้งใดที่ทีมจากต่างจังหวัดได้แชมป์แม้แต่หนเดียว
กระทั่งฤดูกาล 2010 ชลบุรี ฟันฝ่าเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยพบกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด น้องใหม่ไฟร้อนแรงและคว้าแชมป์ ไทยลีก สมัยที่ 2 หมาดๆ
เกมนี้เล่นกันที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นการดวลกันของผู้เล่นระดับพระกาฬมากมาย อาทิ ชลบุรี : เทิดศักดิ์ ใจมั่น, พิภพ อ่อนโม้, สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, ณัฐพงษ์ สมณะ, อดุล หละโสะ, เอกพันธ์ อินทเสน, อาทิตย์ สุนทรพิธ ส่วน เมืองทองฯ : ดัสกร ทองเหลา, กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ธีรศิลป์ แดงดา, ดานโญ่ เซียก้า, พิชิตพงษ์ เฉยฉิว, จักรพันธ์ แก้วพรม, เจษฎา จิตต์สวัสดิ์, ณัฐพร พันธ์ฤทธิ์
ในครั้งนั้น ชลบุรี กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด สู้รบปรบมือกันอย่างสนุกเดือดดาล เพราะเป็น 2 ทีมที่ว่ากันว่าดีที่สุดของเมืองไทย ณ เวลานั้น เพราะมีนักเตะฝีเท้าดีระดับทีมชาติอยู่ในทีม รวมถึงแฟนบอลที่มากมาย จึงทำให้การดวลกันของนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ 2010 มีคนดูในสนามเกือบเต็มความจุ (มีการเว้นที่ระหว่างกองเชียร์เยอะมาก)
หากใครอยู่ในสนามน่าจะจำเหตุการณ์ของเกมนี้ได้ เพราะนี่คืออีกหนึ่งเกมในความทรงจำของนัดชิงชนะเลิศที่ว่ากันว่าสนุกที่สุดครั้งนึง
ชลบุรี ขึ้นนำก่อน 1-0 จาก เทิดศักดิ์ ใจมั่น น.42 ก่อนที่ ดัสกร ทองเหลา จะมายิงตีเสมอ 1-1 น.64
90 นาที เสมอกัน 1-1 ต้องต่อเวลาพิเศษออกไป
และก่อนหมดเวลา 4 นาที (น.116) พิภพ อ่อนโม้ คือซัมซุงฮีโร่ของ “ฉลามชล” ด้วยการจิ้มหัวเกือกส่งบอลผ่านมือ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ที่ไม่ทันได้พุ่ง บอลก็เข้าประตูไปแล้ว เป็นประตูชัยให้ ชลบุรี ชนะ 2-1 และนี่คือทีมภูธรทีมแรก (อีกแล้ว) ที่คว้าแชมป์ฟุตบอล เอฟเอ คัพ ไปครอง!
ปล.ชลบุรี ถูกบันทึกได้แชมป์ เอฟเอ คัพ อีกครั้งในปี 2016 ร่วมกับ ชัยนาท, ราชบุรี และสุโขทัย เนื่องจากสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมฯ สั่งยุติการแข่งขันทั้งระบบ อันเนื่องมาจากการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ชิงถ้วยพระราชทาน ก 4 ครั้ง “แชมป์รวด”
ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก คือถ้วยรางวัลที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งรูปแบบการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ กระทั่งถูกนำมาจัดเพื่อให้ทีมชนะเลิศ ไทยลีก กับ เอฟเอ คัพ ได้ชิงชัยกันก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ ดังนั้นจึงเป็นถ้วยที่ทุกทีมหมายปองเป็นอย่างมาก
ชลบุรี มีโอกาสได้ชิงถ้วยพระราชทาน ประเภท ก รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ในฐานะแชมป์ไทยลีก 2007, รองแชมป์ไทยลีก 2008, แชมป์เอฟเอ คัพ 2010 และรองแชมป์ไทยลีก 2011 (หากแชมป์ไทยลีกกับเอฟเอคัพเป็นทีมเดียวกัน จะให้สิทธิ์รองแชมป์ไทยลีก)
ในแต่ละครั้ง ชลบุรี ต้องเจอกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พวกเขาจะเอาชนะได้ตลอด 4 ครั้งที่ลงสนาม
แต่อย่าลืมว่า ณ ตอนนั้น ชลบุรี ได้สถาปนาตัวเองเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ทำให้เขาคือทีมที่แข็งแกร่งของคู่ต่อกรเช่นกัน
ชิงครั้งที่ 1 : ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ครั้งที่ 73 ประจำปี 2550 (2007) ชลบุรี แชมป์ไทยลีก 2007 พบ ธ.กรุงไทย รองแชมป์ไทยลีก 2007 (ตอนนั้นยังไม่มีถ้วย เอฟเอ คัพ) ซึ่งถือเป็นการรีแมตช์อีกครั้งของคู่นี้ และปรากฎว่า ชลบุรี เฉือนชนะย้ำแค้นอีกหน 1-0 จาก จูเลส บากา น.34
ชิงครั้งที่ 2 : ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ครั้งที่ 74 ประจำปี 2551 (2008) ชลบุรี รองแชมป์ไทยลีก 2008 พบ การไฟฟ้า แชมป์ไทยลีก 2008 ปรากฎว่า ชลบุรี ชนะ 1-0 จาก สุรีย์ สุขะ น.80
ชิงครั้งที่ 3 : ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ครั้งที่ 76 ประจำปี 2553 (2010) ชลบุรี แชมป์เอฟเอคัพ 2010 พบ เมืองทอง ยูไนเต็ด แชมป์ไทยลีก 2010 ซึ่งเป็นการรีแมตช์นัดชิงฯ เอฟเอ คัพ และปรากฎว่า ชลบุรี ย้ำแค้นอีกครั้ง ชนะ 2-1 จาก สุรีย์ สุขะ น.65 กับ เอกพันธ์ อินทะเสน น.85 (เมืองทอง ได้จาก คริสเตียน ควาคู น.88)
ชิงครั้งที่ 4 : ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก ครั้งที่ 77 ประจำปี 2555 (2012) ชลบุรี รองแชมป์ไทยลีก 2011 พบ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ดับเบิ้ลแชมป์ไทยลีกและเอฟเอคัพ 2011 ปรากฎว่า 90 นาที เสมอ 2-2 โดยที่ บุรีรัมย์ นำก่อนจาก ธีราทร บุญมาทัน น.32 กับ แฟรงก์ อาเชียมปง น.34 ส่วน ชลบุรี ได้จาก อดุล หละโสะ น.45 กับ ลูโดวิค ทาคาม น.90+5 ต้องยิงลูกจุดโทษตัดสิน และ ชลบุรี แม่นกว่า ชนะ 4-3 สกอร์รวม 6-5
นี่คือ 4 ครั้งที่ ชลบุรี ได้เข้าไปชิงชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ประเภท ก และสามารถ “คว้าแชมป์” มาครองได้ทั้ง 4 ครั้ง หรือ 100% ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของสโมสรในยุคนั้น
ปั้นดาวรุ่งสู่ทีมชาติมูลค่าหลักสิบล้าน
แชมป์ถ้วยพระราชทาน ประเภท ก คือแชมป์สุดท้ายของ ชลบุรี เพราะนับตั้งแต่นั้นมา พวกเขาไม่เคยได้ชูถ้วยแชมป์อีกเลย
อย่างไรก็ตามชื่อของ ชลบุรี ยังคงถูกพูดถึงในฐานะสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย พวกเขายังคงเดินหน้าเพื่อไล่ล่าความสำเร็จต่อไป
ทว่า ไทยลีก มีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ ชลบุรี มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย “เน้นปั้น ไม่เน้นซื้อ” ซึ่งดูจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด
ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชลบุรี ผลักดันดาวรุ่งจากอคาเดมีขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่หลายคน ซึ่งคนที่เด่นชัดที่สุด คือ วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ เพลย์เมกเกอร์ที่ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ด้วยวัยเพียง 17 ปีเศษ
วรชิต ใช้เวลาไม่นานจนขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมชุดใหญ่ กระทั่งปลายปี 2021 เกิดข่าวช็อคสำหรับแฟนบอล “ฉลามชล” เมื่อสโมสรออกแถลงการณ์ปล่อยตัว วรชิต ให้กับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด
สาเหตุของการปล่อย วรชิต ออกจากทีม เนื่องจากตอนนั้นทีมกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากเหตุไวรัสโควิด 19 ทำให้ต้องปล่อย วรชิต แลกกับเงินก้อนโตที่เอามาช่วยพยุงทีม
แม้ไม่มีการระบุตัวเลขที่แน่ชัด แต่คาดว่า ชลบุรี ได้เงินจากการขาย วรชิต หลักสิบล้านบาท
อีกครั้งหนึ่งที่ ชลบุรี ได้เงินจากการขายนักเตะที่ปลุกปั้นมาเอง คือ กฤษดา กาแมน เมื่อกลางฤดูกาล 2023/24 ให้กับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในมูลค่ามหาศาลเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า ชลบุรี ได้กำไรในเรื่องเม็ดเงิน แต่สิ่งต้องเสียไปคือเพชรเม็ดงาม
ไม่เพียงแต่การ “ปั้นและขาย” เท่านั้น แต่นักเตะที่ ชลบุรี ปลุกปั้นขึ้นมาได้เข้าสู่ทำเนียบ ทีมชาติไทย หลายต่อหลายคน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ ชลบุรี ให้ความสำเร็จไม่แพ้กัน
ภาพลักษณ์เริ่มติดลบจากเหตุนอกและในสนาม
ชลบุรี พลาดแชมป์มาหลายฤดูกาล แต่แฟนบอลยังคงเหนียวแน่นและขึ้นชื่อว่าเป็นทีมที่มีกองเชียร์แน่นหนาที่สุดทีมนึงของเมืองไทย ด้วยนโยบายการทำทีมที่ได้ขึ้นชื่อว่า “มืออาชีพ” และภาพลักษณ์ที่ดีเสมอมา
แต่แล้วเหตุการณ์นอกสนามเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2022 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาพลักษณ์ของทีมต้องเสียหาย กับข่าวดังที่ระบุว่านักฟุตบอลคนนึงประสบอุบัติเหตุขับรถพลิกคว่ำและไปชนคนเสียชีวิต ซึ่งต่อมาพบว่านักบอลคนนั้นมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงเกินกวาที่กฎหมายกำหนด
แม้ ชลบุรี จะลงโทษนักเตะคนนั้นด้วยการ “ยกเลิกสัญญา” แต่ไม่อาจแลกได้กับภาพลักษณ์ที่เสียไป พร้อมภาพใหม่ที่เข้ามาคือ “ทีมจอมดื่ม”
“ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” สิ่งที่ ชลบุรี กำลังพยายามสร้างให้กลับมาดีเหมือนเดิม กลับกลายเป็นภาพลบเข้าไปใหญ่ เพราะพฤติกรรมของนักเตะคนหนึ่งที่อารมณ์ชั่ววูบเล่นนอกเกมใส่คู่แข่ง นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และขุดเรื่องเก่าๆ เข้ามาผสมโรง
ชลบุรี พยายามหาทางออกกับทุกเรื่องให้ออกมาดีที่สุด แต่ไม่อาจลบภาพลักษณ์นี้ออกไปได้และกลายเป็นการ์ดที่ผู้คนนำมาใช้เมื่อ ชลบุรี เจอผลการแข่งขันที่ไม่ดี
บริหารพลาดจนร่วงสู่ลีกรอง
ฤดูกาล 2023/24 ชื่อของ ชลบุรี เริ่มถูกมองว่าเป็นทีมระดับกลางที่ไม่ดีพอต่อการลุ้นแชมป์ แต่ก็ไม่มีใครกล้าใส่ชื่อ ชลบุรี ว่าจะเป็นทีม “ตกชั้น”
พวกเขาทุ่มทุนกับการว่าจ้างเฮดโค้ชที่ว่ากันว่าดีที่สุดคนนึงชาวญี่ปุ่น คือ มาโกโตะ เทกุระโมริ อดีตกุนซือบีจี ปทุม ยูไนเต็ด พร้อมให้อิสระในการทำทีมเหมือนโค้ชทุกคนที่ผ่านมา พร้อมกำหนดนโยบายในสิ่งที่สโมสรต้องการ
“เทกุ” ได้โอกาสเลือกตัวผู้เล่นด้วยตัวเองทั้งคนไทยและต่างชาติ พร้อมกับเวลาในการเตรียมทีมร่วม 2 เดือน
ทว่าผลงานกลับสาละวันเตี้ยลงซะอย่างนั้น กระทั่งจบนัดที่ 11 “เทกุ” ออกอาการ “ไม่ไหวจะไปต่อ” จึงขอลาออกจากตำแหน่ง ทิ้งผลงานเอาไว้คืออันดับ 15 ของตาราง หรือ “รองบ๊วย” ตามหลังโซนปลอดภัย 2 คะแนน (ชนะ 2, เสมอ 4, แพ้ 5, ยิง 13, เสีย 18, มี 10 คะแนน)
“เฮงซัง” วิทยา เลาหกุล ประธานเทคนิคของสโมสร ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คุมทีมต่อจนจบฤดูกาล ซึ่งแน่นอนว่านักเตะส่วนใหญ่คือผู้เล่นที่ผ่านมือ “โค้ชเฮง” ตั้งแต่อคาเดมีมาแล้วทั้งสิ้น
แต่เด็กเหล่านั้นก็คือ “เด็ก” ซึ่งไม่เก๋าพอที่จะยกระดับให้ ชลบุรี แข็งแกร่งย่างที่ควรจะเป็น พวกเขาลงเล่นด้วยฟอร์ม 3 วันดี 4 วันไข้
กระทั่งสุดท้ายก็ “สมควรแก่เวลา” ชลบุรี ต้องตกชั้นอย่างเป็นทางการหลังจบนัดที่ 29 บุกไปแพ้ เมืองทอง ยูไนเต็ด แบบหมดรูป 0-6 เป็นการยุติเส้นทางบนลีกสูงสุด 18 ฤดูกาล
จริงอยู่ที่โค้ชและนักฟุตบอลคือ “หน้างาน” ที่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ “หลังบ้าน” ก็ปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เหมือนในแถลงการณ์ของสโมสรที่มีออกมาเมื่อวันที่ 20 พ.ค.67 โดย วิทยา คุณปลื้ม ประธานสโมสร & อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสร ระบุว่า…
“ในส่วนการบริหารและผลงานของทีมทั้งในและนอกสนามช่วง 1-2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ที่ต่อให้จุดตั้งต้นจะเริ่มจากความประสงค์ดี หรือความตั้งใจที่จะทำให้เกิดประโยชน์เพื่อสโมสรฯอย่างไร แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาตรงกันข้าม รวมถึงศรัทธาที่ค่อยๆ ลดเลือนหายไปจากสโมสร นั่นคือ #ความผิดพลาด ที่เรามีส่วนและไม่อาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้”