Feature

สตอรี่ของทีมมีฝัน : FA CUP ถ้วยที่สโมสรเล็กภาวนาให้ชนยักษ์ใหญ่ | Main Stand

โคเวนทรี่ สวมวิญญาณ แมนฯ ซิตี้ เล่นไล่โขยก แมนฯ ยูไนเต็ด ใน เอฟเอ คัพ รอบตัดเชือกได้อย่างเหลือเชื่อ และทุกอย่างล้วนมีที่มา

 

นี่คือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายใต้การแข่งขันเอฟเอ คัพ ฟุตบอลที่ใครต่อใครบอกว่ามีมนต์เสน่ห์มากที่สุด ... และเป็นฟุตบอลที่ทำให้ทีมเล็ก ๆ สู้แบบเลือดเข้าตา ทำเอาทีมใหญ่ผวาจนกลายเป็นตำนานได้ทุกปี 

จากทีมรากหญ้าระดับดิวิชั่น 8 จนถึงทีมเล็ก ๆ ทีมอื่นที่เฝ้ารอให้เทศกาล เอฟเอ คัพ มาถึง นี่คือความหมายของฟุตบอลรายการนี้สำหรับพวกเขาเหล่านั้น 

ติดตามที่ Main Stand 

 

เอฟเอ คัพ ถ้วยที่ทีมเล็กรอคอย 

เอฟเอ คัพ ถูกเคลมว่าเป็นฟุตบอลรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และว่ากันว่าถ้วยนี้มีการจัดแข่งและบันทึกสถิติอย่างเป็นทางการเอาไว้ว่าแข่งขันมาแล้ว 150 ปี (ครั้งแรกปี 1871)  

นี่คือการแข่งขันที่ทุกสโมสรฟุตบอลในประเทศมีโอกาสที่จะเป็นแชมป์ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นทีมเล็ก และซ่อนตัวอยู่ในหลืบในซอกใดก็ช่าง ห่างคุณเตรียมตัวมาดี ทำการบ้านมาพร้อม และเทพแห่งโชคอยู่ข้างคุณ คุณมีสิทธิ์ที่จะได้อะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่จากรายการนี้ ต่อให้ไม่ได้เป็นแชมป์ก็ตาม นี่คือความคลาสสิกของ เอฟเอ คัพ 

ในขณะที่ทีมใหญ่ ๆ จะมองข้าม ๆ ไปบ้าง เพราะเรื่องของเงินรางวัล และผลตอบแทนส่วนอื่น ๆ เช่นค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด หรือการมีอะไรอื่น ๆ ที่สำคัญกว่าในบอลลีก หรือบอลถ้วยยุโรป 

กลับกัน สำหรับสโมสรเล็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกวัน พวกเขาต่างรอคอย ที่ฤดูกาลแห่ง เอฟเอ คัพ มาถึง และภาวเหลือเกินให้พวกเขาได้จับฉลากเจอกับทีมที่ใหญ่กว่า โดยปราศจากความกลัว ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งดี เพราะถ้าพวกเขาหักปากกาเซียน คว่ำทีมบิ๊ก ๆ ลงได้ พวกเขาจะถูกจำในฐานะตำนานบทหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ของทั้งโลก แต่อย่างน้อย ๆ ก็กับแฟน ๆ หรือกับอาชีพของพวกเขาเอง

เลียม โรซีเนียร์ คือตัวแทนของนักเตะอังกฤษที่ค้าแข้งมาตั้งแต่ลีกล่าง ๆ จนยกระดับตัวเองจนมาถึงระดับพรีเมียร์ลีก และผันตัวมาเป็นโค้ชในทุกวันนี้  นอกจากนี้เขายังคลุกคลีกับทีมระดับสมัครเล่นมาไม่น้อย เพราะพ่อของเขาเป็นโค้ช และมักพาเข้าไปสนามแข่งด้วยตอนที่เขายังเด็ก 

เขาเล่าประสบการณ์และความรู้สึกถึงนักเตะท้องถิ่นที่มีต่อ เอฟเอ คัพ ว่า "มันคือความฝันของนักเตะฟุตบอล ในวันที่ทีมของคุณเข้ารอบคุณจะนอนหลับไม่ลง เพราะคุณฝันว่าจะได้เจอกับทีมเก่ง ๆ ในรอบต่อไป"

"เอฟเอ คัพ คือการแข่งขันที่อยู่ในใจเด็กชายชาวอังกฤษทุกคนแน่นอน ผมเชื่อแบบนั้น ถ้าคุณเป็นแฟนบอลทีมใหญ่นี่คือฟุตบอลถ้วยที่สโมสรจะลดค่าตั๋วเป็นพิเศษ ดังนั้นสำหรับเด็ก ๆ ที่บ้านไม่เงินมากนัก ส่วนใหญ เอฟเอ คัพ จะเป็นฟุตบอลเกมแรกที่พวกเขาได้เข้าไปดูในสนามจริง ๆ" โรซีเนียร์ เปิดหัวด้วยความฝัน ก่อนจะที่เล่าถึงมุมองของเด็ก ๆ ที่เป็นแฟนบอลทีมเล็ก ๆ ว่า

"พ่อของผมเป็นผู้จัดการทีมของ กลอสเตอร์ ซิตี้ และในค่ำคืนที่ทีมกำลังจะลงเล่น เอฟเอ คัพ ผมเห็นความโกลาหลในสโมสร คนที่ดูเหมือนกับเป็นประธานสโมสรมาบอกกับผมว่า "ลีรอย(โรซีเนียร์) ผมเชื่อใจคุณมาก และผมคิดว่าคุณรู้ว่านี่คือเกมที่มีความหมายต่อสโมสรเรามาก ตอนนั้นผมไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่าทำไมเกม ๆ หนึ่งจึงมีความหมายแตกต่างออกไปกว่าเกมอื่น ๆ จนกระทั่งโตขึ้น ผมจึงรับรู้ด้วยตัวเอง"

"ทีมเล็ก ๆ อย่าง กลอสเตอร์ เป็นทีมนอกระบบอาชีพ เป็นทีมสมัครเล่นที่มีเงินไม่เยอะ พวกเขาอยากจะผ่านรอบแรก เพื่อเข้าไปเจอกับทีมระดับอาชีพ  คุณเชื่อไหมว่าทุกครั้งที่ เอฟเอ คัพ เริ่มแข่งสโมสรเล็ก ๆ หวังมาก ๆ ว่าพวกเขาจะได้ไปเล่นที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด หรือ แอนฟิลด์ สักครั้ง นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทุก ๆ การเข้ารอบ ต่อให้ลึกแค่ไหนมันก็สำคัญสำหรับทีมและนักเตะตัวเล็ก ๆ เสมอ" 

"เอฟเอ คัพ คือรายการที่ทำให้คุณมีฝัน ทุกคนล้วนแต่หวังว่าเรามีโอกาสที่จะสร้างประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเราเอง" โรซีเนียร์ กล่าว 

 

ประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ของพวกเรา 

แน่นอนอังกฤษคือประเทศที่บ้าฟุตบอลเข้าเส้น หายใจเข้า-ออก เป็นฟุตบอล ... และแน่นอนอีกเช่นกันที่ไม่ใช่ทุกสโมสรจะได้แชมป์ นักเตะทุกคนจะได้ขึ้นหน้าหนึ่ง และแฟนบอลทุกทีมจะได้เห็นทีมรักของพวกเขาไปเวมบลีย์ ดังนั้น "ฝันเล็กๆ" จาก เอฟเอ คัพ คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงคนเล็ก ๆ จากฟุตบอลรากหญ้า คนที่ไม่ได้เล่นหรือเชียร์ฟุตบอลเพื่อเงินหรือความสำเร็จ แต่พวกเขาเล่น และเชียร์ด้วยแพสชั่นจากใจจริง 

พวกเขาอาจจะต้องเล่นกับทีมระดับหมู่บ้านด้วยกันทั้งปี แต่เมื่อ เอฟเอ คัพ มาถึงอย่างที่ โรซีเนียร์ บอกไว้ข้างต้นสนามใหญ่ ๆ คือฝันที่ทุกคนอยากจะไปเหยียบสักครั้งในฐานะนักเตะ การยิงประตูในสนามอย่าง โอลด์ แทรฟฟอร์ด หรือ แอนฟิลด์  คือโมเมนต์ที่โลกจะจดจำคุณไมได้ แม้จะเพียงวาบหนึ่งของความจำก็ตาม

ซึ่งอันที่จริงสำหรับคนฟุตบอลรากหญ้า พวกเขาขอแค่ได้เจอกับทีมที่เก่งกว่าในรายการเอฟเอ คัพ นอกจากเรื่องความโด่งดังมีชื่อเสียงแล้ว พวกเขายังใช้ฟุตบอลรายการนี้ทดสอบว่า "ระดับ" ที่ตัวเองอยู่ อยู่ ณ จุดไหน  ถ้าพวกเขาชนะทีมที่เก่งกว่าได้ พวกเขาจะมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง เอาไว้คุยในวงเหล้า เอาไว้คุยในครอบครัว เอาไว้คุยในหมู่บ้าน นี่คือเหตุผลที่ทีมเล็ก ๆ สู้แค่ตายในแต่ระรอบของ เอฟเอ คัพ 

พอล เจอรัลด์ นักเขียนของเว็บไซต์ Groundhopeerguide ที่มักจะรีวิวการไปเชียร์ฟุตบอลยังสนามต่าง ๆ ทั่วอังกฤษ ที่บังเอิญเข้าไปดูเกมนั้น ถึงกับถ่ายทอดออกมาว่า นี่คือเกมที่แฟนบอล ชิเชสเตอร์ ไม่มีวันลืม แม้กระทั่งตัวของเขาเองที่ไปนั่งกับกลุ่มทีมเยือนด้วย 

พวกเขาไม่ได้หวังจะเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์ล้มโคตรทีมเสมอไป เพราะการชนะแต่ละรอบล้วนมีผลต่อทีมรากหญ้ามากกว่าที่ใครหลายคนคิด เช่นทีมดิวิชั่น 8 เข้าไปเจอกับทีมดิวิชั่น 3(ลีก วัน) แค่นี้พวกเขาก็มีความสุขแล้ว ต่อให้จะแพ้เละกลับมาก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นเกม เอฟเอ คัพ ปี 2019 ที่ ชิเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมจากดิวิชั่น 8 ผ่านเข้ารอบมาเจอกับ ทรานสเมียร์ ในลีกวัน 

พวกเขาจบเกมด้วยการแพ้ ทรานสเมียร์ 1-5 แต่จบเกมแฟนบอลของ ชิเชสเตอร์ ดีใจมากต่อให้มันจบลงแบบนี้ พวกเขาเรียกให้นักเตะมาที่สแตนด์ จากนั้นจึงเริ่มร้องเพลย์เชียร์ เพื่อขอบคุณนักเตะทุกคนว่า อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็แสดงให้แฟน ๆ เห็นว่า "อย่างน้อยก็สู้"  

"บรรยากาศในวันนั้นสุดยอดมาก แฟนบอล ชิเชสเตอร์ เห็นทีมงานถ่ายทอดสดแค่ 2-3 คนเดินผ่านพวกเขาก็ตื่นเต้นแล้ว นี่คือความแตกต่างและความสำคัญของ เอฟเอ คัพ สำหรับแฟน ชิเชสเตอร์ พวกเขาเตรียมใจมาพร้อม มันเหมือนกับงานปาร์ตี้เลย มีการนัดแนะเรื่องการแต่งตัวให้พร้อม พวกเขาทุกคนบอกผมว่า เรามีโอกาสจะถูกบี้จนแบนคาตีนทรานสเมียร์ แต่อย่างน้อยพวกเขาจะสนุกกับคำคืนนี้อย่างเต็มที่" เจอรัลด์ ว่า 

"นักเตะ ชิเชสเตอร์ แสดงออกแบบที่แฟน ๆ ของพวกเขาอยากเห็น พวกเขาเล่นตามเสียงเชียร์เลย ทุ่มสุดตัวที่มี แต่ก็สู้ไมไหว สกอร์ค่อยขาดลอยจาก 3 เป็น 4 และ 5-0 ถึงตอนนั้นพวกเขารู้แล้วว่าประตูสู่รอบต่อไปปิดลง  แต่ในวาบนั้นมันมีความรู้สึกอีกแบบเข้ามาแทนที่ มันคือความรู้สึกที่ว่า เห้ย...อย่างน้อยเราก็มาไกลขนาดนี้แล้วนะ วิ่งให้ลืมตาย สนุกให้เต็มไปที่ไปเลย ... จากนั้นพวกเขาก็ยิงประตูได้  คิดเอาแล้วกันว่าหลังประตูตีไข่แตกกระทบตาข่ายอะไรจะเกิดขึ้น พวกเขาลืมความสิ้นหวังไปแล้ว ต่างคนแสดงออกมาว่านี่แหละเวลาของพวกเรา เราต้องมีความสุข เราจะไม่เหลืออะไรให้ค้างคาในเกมนี้" 

"พวกเขาร้องเพลงโห่ร้องดีใจตั้งแต่จบเกม จนถึงสถานีรถไฟ ... พวกเขาลืมไปแล้วจริง ๆ ว่าแพ้ไป 1-5 นี่คือประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ของพวกเขาเอง"  

มีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอีกมากมายใน เอฟเอ คัพ  และมันให้ความรู้สึกเดียวกันทั้งหมด ต่อให้ทีมเล็ก ๆ จะแพ้ พวกเขาก็กลับบ้านอย่างมีความสุข แต่เหนือไปกว่านั้นถ้าพวกเขายันเสมอ หรือเอาชนะได้ พวกเขาจะได้อะไรยิ่งกว่าเรื่องเล่าและความสนุกอีกด้วยซ้ำ 

 

นอกจากประวัติศาสตร์คือเงินในกระเป๋า 

เหตุผลที่ เอฟเอ คัพ เป็นรายการฟุตบอลคลาสสิกคือ มันเป็นฟุตบอลแบบแพ้ตกรอบดังนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญมันมีแต้มต่อของทีมเล็ก ๆ หรือสโมสรรากหญ้าที่ได้มาแข่งโดยเฉพาะในรอบลึก 

ชื่อชั้น พวกเขาอาจจะสู้ไม่ได้เมื่อเจอจากทีมดิวิชั่นสูงกว่า แต่ถ้าพวกเขายันเสมอได้ พวกเขาจะได้เล่นเพลย์ออฟในเลกที่ 2  และมันจะโชคดีมาก ๆ ถ้าพวกเขาได้เจอกับทีมใหญ่ ๆ ทั้ง 2 เกม เพราะนอกจากจะเป็นกำไรของนักเตะที่ได้แข่งกับคนเก่ง ๆ แล้ว สโมสรยังมีรายรับเข้ามาชนิดที่ว่าบางสโมสรแข่งทั้งปีก็ไม่ได้เงินก้อนโตขนาดนี้ 

หนึ่งในทีมที่จดจำความหอมหวานของเงินก้อนนีได้ดีคือสโมสร ฮาแวนท์ ทีมจากดิวิชั่น 6 ที่บังเอิญจับฉลากเจอกับ ลิเวอร์พูล ในปี 2008 ซึ่งพวกเขาสามารถต้าน ลิเวอร์พูล ได้ในเกมแรก ก่อนจะไปเล่นใน แอนฟิลด์ ในรอบรีเพลย์ และแพ้ไป 2-5  ซึ่งคนในยิงประตูได้ในเกมนั้นอย่าง แดร์เรน แพ็คเก็ตต์ กองหน้าวัย 24 ปี ที่มีอาชีพเป็นช่างไม้ จดจำมันได้เป็นอย่างดี

"ผมเอาไปนอนฝัน และคิดแบบจริงจังว่าผมจะยิงประตูที่แอนฟิลด์ให้ได้ ผมดูราคาเดิมพันทายคนยิงประตูแรกในเกมนี้ ซึ่งถ้าผมยิงประตูแรกอัตราจ่ายคือ 50-1 .. ผมไม่ได้แทงนะ แต่ผมบอกเพื่อน ๆ ผมว่ามีบ้านขายบ้านมีรถขายรถ วันนี้ผมยิงแน่ ๆ แล้วผมก็ยิงได้จริง ๆ" 

"ระหว่างทางที่จะไปแข่งขันเราเปิดทีวีดู อ่านสกู๊ปของกูรู รายการต่าง ๆ พูดถึงชื่อทีมของเรา พวกเขาบอกว่าเราจะแพ้ 0-8 หรือ 0-9 ... แต่เมื่อการแข่งมาถึง พวกเขาได้รู้จักเราแล้ว เราขึ้นนำ 1-0 และขึ้นนำ 2-1 อีกครั้ง ก่อนจะจบครึงแรกด้วยสกอร์ 2-2 ตอนนั้นเราคิดไปไกลถึงขั้นจะชนะแล้วนะจะบอกให้ แต่ความจริงต้องยอมรับคือ  ลิเวอร์พูล แข็งแกร่ง เราผิดหวังที่แพ้ แต่เราช่างภาคภูมิใจเหลือเกิน" 

"หลังจบเกมทีมสต๊าฟฟ์คนหนึ่งของเราแทงว่าผมจะยิงประตูในเกมนี้ตามที่บอก เขาใส่ไป 50 ปอนด์ ... ผมยิงได้ และหลังเกมเขาเหมาเบียร์เป็นรางวัลให้กับผม แม้กระทั่งทุกวันนี้ แฟนบอลของฮาแวนท์หลายคนยังยินดีจะเลี้ยงเบียร์ผมเสมอ" 

ขณะที่เรื่องของรายรับนั้น ฮาแวนท์ ได้เงินรางวัลมหาศาลแบบที่ไม่เคยมาก่อน พวกเราได้รางวัลที่เข้าไปถึงรอบที่ 3 ด้วยเงินรางวัลถึง 105,000 ปอนด์ มากกว่ารายรับของสโมสรทั้งปีด้วยซ้ำ 

และยังไม่จบแค่นั้นมันยังมีสิ่งที่เรียกว่าส่วนแบ่งค่าตั๋วเข้าชม โดยในเกมเลก 2 ที่แอนฟิลด์ ฮาแวนท์ ได้ส่วนแบ่งทั้งหมด 45% จากยอดขายตั๋วทั้งหมด แม้ไม่ระบุตัวเลข แต่ก็พอจะรู้ชัดแจ้งว่ามันเป็นเงินที่พลิกวิกฤติชักหน้าไม่ถึงหลังของทีมเล็ก ๆ ได้สบาย ๆ 

ท้ายสุดยังมีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่จะได้ราว ๆ 50,000 ปอนด์ต่อ 1 เกมในรอบที่ 3 ...สรุปโดยคร่าว ๆ ว่ากันว่า ฮาแวนท์ ทำเงินได้มากกว่า 1 ล้านปอนด์ จาก 2 เกมที่พบกับ ลิเวอร์พูล นั่นคือสาเหตุที่นักเตะและทีมระดับรากหญ้ารักการแข่งขันรายการนี้ นอกจากจะได้ชื่อแล้ว มันยังได้เงินด้วย มีแต่ได้กับได้อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นภาพหรือคลิปของนักเตะทีมเล็ก ๆ ดีใจบ้านแทบแตกหากพวกเขาได้จับฉลากเจอทีมใหญ่ ๆ 

อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ใน เอฟเอ คัพ ปีต่อ ๆ ไปการรีเพลย์จะถูกยกเลิก เหลือเพียงการเล่นครบ 90 นาที และต่อเวลาจนไปถึงการยิงจุดโทษเพื่อหาผู้ชนะ ... ซึ่งนั่นทำให้เหล่าทีมเล็ก ๆ บรรลุความฝันของพวกเขายากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง 

สตีฟ ฟัลลอน กุนซือทีมฮิสตัน คือคนที่จะเล่าเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ทีมของเขาคือทีมระดับหมู่บ้านที่ชื่อว่า "ฮิสตัน" เป้าหมายไม่ได้เพื่อเป็นแชมป์ใหญ่โต แต่เพื่อให้หมู่บ้านนี้มีสโมสรที่ทุกคนจะเรียกว่า "ทีมของเรา" ทว่าในปี 2008 พวกเขาจับฉลากเจอกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด และเอาชนะ ลีดส์ ได้ถึง เอลแลนด์ โร้ด ซึ่งทุกวันนี้ เรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นเรืองที่ผู้คนในหมู่บ้านพูดกันเป็นประจำในวันที่ เอฟเอ คัพ มีการแข่งขัน 

"มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ฝันของนักเตะจากทีมหมู่บ้านคือได้เล่นกับทีมที่เก่งกว่า เราเล่นกับทีมอย่าง ลีดส์ แต่เราก็ชนะพวกเขาโดยไม่ต้องเล่นเพลย์ออฟ แต่ผมเชื่อจริง ๆ ว่าการที่ตัดสินใจเอา เอฟเอ คัพ รอบเพลย์ออฟออก คือการทำร้ายฟุตบอลรากหญ้า" 

"ทีมอย่างพวกเราสู้กับทีมใหญ่ ๆ ได้เต็ม 90 นาทีก็เก่งมาก ๆ แล้ว จะให้ต่อเวลาออกไปอีก ถือเป็นการส่งพวกเราลงไปโดนยำ ไม่ใช่ทีมรากหญ้าเท่านั้น เหล่าทีมเล็ก ๆ ในระดับพรีเมียร์ลีก ที่หวังจะเป็นแชมป์ถ้วยนี้ก็จะมีโอกาสน้อยลงไปด้วยเช่นกัน พวกเขาจะผ่านทีมใหญ่เข้ารอบได้ยากขึ้น ... เสน่ห์ของ เอฟเอ คัพ กำลังหายไป" ฟัลลอน ที่เคยเป็นนักเตะของ เคมบริดจ์ และปัจจุบันเป็นครูพละในโรงเรียนท้องถิ่น แสดงความเห็นต่อกฎ FA แบบใหม่

เมื่อทุกอย่างถูกตัดสินแบบแพ้ คัดออก ทุกรอบ ๆ มีเดิมพัน ทุก ๆ ชัยชนะมีชื่อเสียงรออยู และทุก ๆ ความพ่ายแพ้ก็มีเรื่องเล่าที่เอาไว้คุยได้จนแก่เฒ่า ... นี่คือเสน่ห์ของ เอฟเอ คัพ ที่ทีมเล็ก ๆ สู้ตาย และนับวันรอให้การแข่งขันรายการนี้มาถึง 

ทีมใหญ่ ๆ จะมองถ้วยนี้แบบไหนไม่สำคัญ ... แต่สำหรับพวกเขา เกมเดียวกับทีมใหญ่อาจพลิกประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองและสโมสรได้อย่างน่าเหลือเชื่อ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en/news/has-a-non-premier-league-team-ever-won-the-fa-cup/rl79j9i7ahdh1vxare8p5ahr5
https://medium.com/@nickharland11/the-fa-cup-is-the-antithesis-to-the-horrors-of-modern-football-2afceaf65b9b
https://groundhopperguides.com/magic-of-the-fa-cup/
https://groundhopperguides.com/chichester-city-at-tranmere-rovers-in-the-fa-cup-what-its-all-about/
https://www.planetfootball.com/nostalgia/remembering-day-havant-waterlooville-twice-led-liverpool
https://www.theguardian.com/football/2008/jan/17/match.liverpool
https://www.betpromo.uk/percentage-gate-receipts-away/
https://www.cityam.com/fa-cup-prize-money-how-much-can-clubs-earn-in-the-third-round-and-what-is-an-fa-cup-run-worth/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ