Feature

Beer Shower : ทำไมการไล่สาดเบียร์ในวันรับแชมป์จึงเป็นปัญหาระดับชาติของเยอรมัน ? | Main Stand

เบียร์และฟุตบอลเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะที่เยอรมัน ประเทศที่เป็นราชาแห่งเบียร์ ในเรื่องของฟุตบอลประเทศนี้ มีเบียร์เข้ามาเกี่ยวตลอด โดยเฉพาะฉากที่ทุกคนต้องได้เห็นในวันฉลองแชมป์

 

นั่นคือฉากที่นักเตะทุกคนจะถือแก้วเบียร์วิ่งสาดใส่กันอย่างเมามัน ... เอาล่ะ เราลองไปดูดีกว่าว่าวัฒนธรรมนี้จุดกำเนิดมันพีกขนาดไหน และทำไมพวกเขาจึงต้องการจะหยุดมัน!

"เบียร์กับบอล" ในเยอรมันเกี่ยวและใกล้ชิดกันแค่ไหน? ติดตามที่ Main Stand

 

เบียร์ กับ บอล

เริ่มแรกเลยเราขอเริ่มด้วยคำถามที่จะทำให้คุณเห็นภาพรวมของบทความนี้ชัดยิ่งขึ้น นั่นคือที่ประเทศเยอรมัน เบียร์ นั้นเกิดขึ้นก่อนฟุตบอล โดยเบียร์ถือกำเนิดมานานกว่า 500 ปีแล้ว ส่วนฟุตบอลนั้นคาดว่ามาตามหลัง ใช้เวลาราว ๆ 200 -300 ปี เลยทีเดียว

ประการแรกเยอรมันไม่ใช่ชาติที่เป็นต้นกำเนิดในการผลิตเบียร์ แม้หลายคนจะคิดแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วเบียร์เป็นเครื่องดื่มมึนเมาที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ มันถือกำเนิดกว่า 9,500 ปีก่อน เกิดขึ้นจากการหมักดองผลิตผลทางการเกษตรของมนุษย์ยุคนนั้น โดยได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ของเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณ

แต่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นต้นกำเนิดของเครื่องดื่มยอดฮิตอันดับ 3 ของโลก (รองจากน้ำดื่ม และน้ำชา) แต่ เยอรมัน ก็เป็นประเทศแรกที่กลั่นเบียร์ออกมาได้สมบูรณ์แบบที่สุด โดยมีกฎการใช้ส่วนผสมห้ามเกิน 4 สิ่ง โดยชื่อว่า "กฎบริสุทธิ์" (The Purity Law) โดยสิ่งที่ถูกเลือก 4 อย่างได้แก่ น้ำ, มอลต์, ฮ็อป และ ยีสต์

โดยปกติแล้วเบียร์ที่เยอรมันนั้นจะมีราคาที่ถูกมาก หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า "ที่เยอรมัน เบียร์ถูกกว่าน้ำเปล่า" เหตุผลเนื่องจากรัฐบาลมีสาธารณูประโภคที่ทั่วถึงเช่นน้ำ "น้ำประปา" ที่สะอาดและดื่มได้ ทำให้สามารถเอาไปใช้เป็นส่วนผสมในการหมักเบียร์ได้ ประชาชนทั่วไปสามารถหาดื่มน้ำเหล่านี้ได้ตามก็อกสาธารณะ

ผู้ผลิตเบียร์ในเยอรมันตอนนี้ยังปฏิบัติตามกฎบริสุทธิ์อย่างเคร่งครัดมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือสาเหตุที่เบียร์ของเยอรมันได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งด้วยความเป็นเบียร์ที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมเบียร์ของเยอรมันก็เติบโตเรื่อยมา

และการเติบโตดังกล่าว ก็มาจากการบริโภคในประเทศเป็นหลักดูได้จากการที่คนเยอรมันใช้จ่ายสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อปีมากที่สุดในโลก โดยจ่ายประมาณ 60,000 บาทต่อคนต่อปี และมีปริมาณการดื่มเฉลี่ยมากถึง 130 ลิตรต่อคนต่อปี (ไทย อยู่ที่ 45 ลิตรต่อ คน/ปี) และมีโรงกลั่นเบียร์เชิงอุตสาหกรรมถึง 1,500 แห่ง ผลิตเบียร์ออกมาเกือบ 6,000 ยี่ห้อ

เมื่อมั่นมีเงินหมุนเวียนมากขนาดนี้ จะมีอะไรดีไปกว่าการสร้างตัวตนให้โลกได้เห็นและรู้จักของแต่ละแบรนด์ได้ดีกว่าการเอาไปแปะบนเสื้อหรือสนับสนุนทีมฟุตบอล ซึ่งถือเป็นอีกของขึ้นชื่อของประเทศเยอรมัน

ดังนั้นแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็กก็หาทีมสนับสนุนกันมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งกับทีมชาติเยอรมันอันเกรียงไกร ก็ยังมีเบียร์แบรนด์ชื่อว่า Bitburger เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ปี 1992 จนถึงปี 2017 ส่วนสโมสรใหญ่อย่าง บาเยิร์น มิวนิค และ ดอร์ทมุนด์ หรือแม้แต่ เลเวอร์คูเซ่น ก็มีแบรนด์เบียร์เจ้าใหญ่ที่จับมือสนับสนุนเช่นกัน

คำถามต่อมาคือคุณสังเกตบ้างหรือเปล่าว่าเบียร์กับฟุตบอลเยอรมันเริ่มจะถูกแยกออกจากกันมากขึ้น แบรนด์เบียร์ดัง ๆ ทำไมมักจะออกมาโชว์ตัวต่อหน้าสื่อแค่ตอนฉลองแชมป์? ทั้งที่อุตสาหกรรมเบียร์ในเยอรมันทำเงินมันมากมาย ทำไมจึงไม่เห็นแบรนด์เบียร์แบรนด์ไหนมาอยู่บนหน้าอกเสื้อสโมสรบ้างเลย? แม้กระทั่งในทีมชาติเยอรมัน พวกเขาก็ยกเลิกผู้สนับสนุนที่เป็นเบียร์ออกทั้ง ๆ ที่อยู่ด้วยกันมานานกว่า 25 ปี? ... เรื่องนี้มันเกี่ยวกับการฉลองด้วยการเทเบียร์ หรือไล่สาดเบียร์ใส่กันแบบที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ด้วย

 

ห่างกันบ้าง...ก็ดี

อย่างที่บอกว่า เบียร์กับบอลเยอรมันอยู่คู่กันมานานโข นานจนพวกเราก็จำความไม่ได้ และมองเป็นของคู่กันไปแล้ว แต่จริง ๆ เบียร์ นั้นเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ที่ทางฟุตบอลเยอรมันอยากจะให้ออกห่างจากฟุตบอลมากที่สุดเช่นกัน

จริงอยู่ที่ทุกสโมสรในบุนเดสลีกา 1 หรือลีกา 2 ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากโรงเบียร์ต่าง ๆ แต่ไม่กลับไม่มีทีมไหนเอาแบรนด์เบียร์ขึ้นที่หน้าอกเสื้อ เนื่องจากในช่วงหลังมีนโยบายที่ชื่อว่า 'Action Alliance to Enjoy Alcohol-free Sport' ซึ่งว่าด้วยการดูฟุตบอลโดยห่างไกลจาก แอลกอฮอล์ แคมเปญดังกล่าวเริ่มรันมาตั้งแต่ช่วงปี 2010 และได้รับการผลักดันมากขึ้นเรื่อย

ฟุตบอลหนีเบียร์ไม่ออกก็จริง แต่ทาง DFB ต้องการสร้างระยะห่างให้มากขึ้น ไม่อยากให้เป็นเนื้อเดียวกันมากจนเกินไป ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพของประชากรในประเทศ และปัญหาเรื่องสาธารณสุขที่มีผู้ป่วยที่เกิดปัญหาจากเบียร์มากขึ้น

Eucam สื่อที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมึนเมาของทวีปยุโรป ระบุเรื่องดังกล่าวว่า แอลกอฮอล์สร้างความเสียหายอย่างมากในเยอรมัน โดยมีผู้คนกว่า 1.6 ล้านติดแอลกอฮอล์ (จากประชากร 83.8 ล้านคน) และทุก ๆ ปีจะมีคนเสียชีวิตจากเครื่องดื่มเหล่านี้อีกปีละ

74,000 คน ด้วยสาเหตุจาก อุบัติเหตุ, ความรุนแรง, การถูกทำร้าย, การข่มขืน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ... และสิ่งนี้มันสะท้อนไปถึงตัวเลขในระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน ที่ต้องเสียหายถึง 57,000 ล้านยูโร

ในสารคดีเรื่อง Fußball und Bier: Wer verdient wirklich? (ฟุตบอลและเบียร์ ใครทำเงินได้จริงกันแน่?) พาย้อนไปดูเรื่องราวของปัญหาแอลกอฮอล์ที่เริ่มต้นจากสนามฟุตบอล พวกเขาพาไปหาแฟน ๆ ที่เป็นโรคติดแอลกอฮอล์ตามคลับท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ดูบอลของแฟน ๆ ของทีมต่าง ๆ ซึ่งก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ฟุตบอลจะไม่ใช่ปัญหาของทั้งหมด แต่ก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนดื่มเบียร์ หรือเข้าใกล้โรคติดแอลกอฮอล์มากขึ้น

เรื่องดังกล่าวถูกผลักดันหนักมาจนถึงขั้นที่ DFB ต้องยกเลิกผู้สนับสนุนที่เป็นแบรนด์เบียร์ทั้งหมดจากทีมชาติเยอรมันชุดใหญ่เพื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งหลังจากหมดสัญญากับ Bitburger ในปี 2019 พวกเขาก็ไม่มีผู้สนับสนุน เป็นแบรนด์เบียร์อีกเลย แม้ส่วนนี้จะทำให้ เดเอฟเบ มีรายได้เข้ากระเป๋าถึงปีละ 10 ล้านยูโรเลยทีเดียว

พวกเขาเข้าใจว่าเบียร์กับฟุตบอลคือของที่หนีกันไม่ออก ... แต่บางครั้งการไม่เริ่มแยกแยะ ก็อาจจะทำให้ปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวแค่ฟุตบอลตามมา ดังนั้น เบียร์ และ ฟุตบอล จึงถูกดึงออกมาให้ห่างกันบ้าง ซึ่งช่วงเวลาของความห่างนี้เองทำให้เกิดการเอาวัฒนธรรมที่ชื่อว่า Beer Shower หรือการเอาเบียร์ไล่สาดกันในวันฉลองแชมป์ ถูกเอามาเติมให้สุดเหวี่ยงยิ่งกว่าเดิม

 

หยุดสาดเบียร์ … ได้เหรอ?

ไม่รู้ว่าเกี่ยวกันหรือไม่ ในวันที่เบียร์เริ่มถูกจับแยกกับฟุตบอลเยอรมัน ยอดขายของเบียร์ในประเทศก็ลดลง อ้างอิงจาก iamexpat.com ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ยอดขายเบียร์ในประเทศลดลงถึง 25.3% ภายใน 20 ปี ว่ากันว่าเกิดจากทัศนคติที่มีต่อการดื่มเบียร์ของคนในชาติเปลี่ยนไป หลายคนพยายามลีกเลี่ยงเบียร์เพราะปัญหาสุขภาพที่จะตามมา ทำให้มีคนหันไปดื่มเบียร์ที่ไร้แอลกอฮอล์มากขึ้น

จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ปัญหาดังกล่าวยังลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้ ขนาดที่ว่า สมาคมผู้ผลิตเบียร์เยอรมันกล่าวเมื่อปีที่แล้ว (2023) ว่านี่เป็น "ปีที่มืดมนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ของเยอรมนี"

เบียร์แต่ละเจ้าที่เป็นสปอนเซอร์ทีมดังจึงจำเป็นจะต้องพรีเซนต์เบียร์ของพวกเขาให้มากขึ้น และจะมีอะไรดีกว่าการใช้เบียร์เป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง ... คุณจะได้เห็นว่าในช่วง 10 ปีหลังสุด เราจะมีภาพของการเอาเบียร์มาสาดกันของแชมป์บอลเยอรมันแบบเข้มข้น และเป็นหัวข้อข่าวใหญ่มากกว่ายุค 90s หรือ 2000s เยอะเลย

ชาบี อลอนโซ กล่าวก่อนเกมที่ เลเวอร์คูเซ่น จะเอาชนะ เบรเมน 5-0 และคว้าเเชมป์บุนเดสลีกาว่า "ผมพร้อมแล้วที่จะรับมือกับ Beer Shower ของลูกทีม ถ้าเห็นพวกเขารวมตัวกันมันจะต้องมาถึงผมแน่นอน" ขณะที่สโมสร บาเยิร์น มิวนิค ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะมีการตัดวีดีโอในช่วงที่นักเตะไล่สาดเบียร์กันเสมอ และแน่นอนว่าแก้วที่พวกเขาใช้ใส่เพื่อสาดกัน ล้วนแต่เป็นแก้วที่พิมพ์โลโก้เบียร์ที่สนับสนุนพวกเขาทั้งนั้น

ภาพและวีดีโอสถานการณ์ดังกล่าวมักจะเป็นไวรัล เบียร์กระจายเละไปทั่วทั้งบริเวณ นักเตะสนุกสนาน แฟนบอลสุดเหวี่ยง มันคือสัญลักษณ์ประมาณว่า "เมื่อมีเบียร์คุณก็สามารถสุดเหวี่ยงแบบนี้ได้" ยิ่งถ้าคุณเป็นคอเบียร์ยิ่งได้เห็นภาพแบบนี้ คุณก็จะยิ่งอยากเดินไปเปิดเบียร์ในตู้เย็นสักกระป๋องมาร่วมฉลองด้วยโดยไม่รู้ตัว .... นี่คือมาร์เก็ตติ้งอย่างหนึ่ง ที่สามารถใส่โลโก้สินค้าเข้าไป โดยที่คนดูไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียดเลยด้วยซ้ำ

DFB เองก็รู้และพยายามจะหยุดแคมเปญนี้ โดยในปี 2016 ที่ บาเยิร์น ชิงกับ ดอร์ทมุนด์ ในฟุตบอล เดเอฟเบ โพคาล นั้นพวกเขารู้ว่าแบรนด์เบียร์ที่ดูแลทั้ง 2 ทีมนี้อย่าง พอลลาเนอร์ และ บริงค์ฮอฟฟ์ จะจัดหนักแน่หากมีทีมไหนได้แชมป์ ทำให้ DFB จึงพยายามออกมาห้ามและบอกว่าขัดต่อแคมเปญเชียร์บอลโดยไร้แอลกอฮอล์

ทว่าสุดท้ายก็ไม่เป็นผล บาเยิร์น คว้าแชมป์ และนักเตะของพวกเขาก็เอาเบียร์ที่อยู่ในแก้วยักษ์ที่มีโลโก้ พอลลาเนอร์ ออกมาไล่สาดกันอย่างเมามัน โดยที่ โฆษกของ พอลลาเนอร์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า "Beer Shower เป็นวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองของเราและบาเยิร์น มิวนิค เราใช้เบียร์ของเราที่เป็นเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ นี่คือกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้โฆษณาเพื่อสสร้างความมึนเมา" โรลันด์ โทเบียส กล่าว

ขณะที่โฆษกของ บริงค์ฮอฟฟ์ ก็ออกมาเห็นคล้อยกันว่า “เป็นการตัดสินใจเรื่องแอลกอฮอล์และการเมือง เราจะเคารพมัน แต่เราคิดว่ามันน่าเสียดายที่พวกเขาอยากจะเอาการเฉลิมฉลองนี้ไปจากแฟนๆ"

ในขณะที่หลายคนห้าม อีกหลายคนก็ยังเห็นด้วยและมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่ควรไปต่อ ตอนนี้ทางออกของเรื่องทั้งหมดคือเบียร์แต่ละแบรนด์จะใช้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาสาดกันแทน ซึ่งจนถึงตอนนี้แฟนบอลก็สนุกกับกิจกรรมเหล่านี้ เราได้เห็นนักเตะที่รัก กุนซือที่ชอบ ยิ้ม หัวเราะ และเละไปด้วยการละเลงกันด้วยเบียร์ มันเป็นภาพที่เหมือนกับว่า "การฉลองเมื่อเราได้มาถึงเส้นชัยร่วมกัน" สื่ออารมณ์ได้ประมาณนั้น ... ล่าสุดก็กับ เลเวอร์คูเซ่น ที่นักเตะของพวกเขาเอาเบียร์แบรนด์ที่สนับสนุนสโมสรมาเทราดใส่ ชาบี อลอนโซ่ กุนซือคนเก่งของทีม

ส่วนเรื่องความเสียหายด้านเศรษฐกิจ คงเป็นเรื่องที่ต้องเอาไปถกกันในเวทีที่ใหญ่กว่านี้ อาจจะเป็นเวทีการเมืองอย่างรัฐสภา เพราะสำหรับแฟนบอลทั่วไปดูเหมือนว่าเบียร์กับฟุตบอลจะแยกกันไม่ได้ ... แม้รัฐจะพยายามแยกให้ห่าง แต่ใครล่ะจะห่างช่วงเวลาดี ๆ แบบนี้ได้?

ต้องรอดูกันว่ารัฐบาลเยอรมันจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างจริงจังหรือไม่ เห็นชัดว่ามันส่งปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวม ... แต่มันคือวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกมาหลายร้อยปี ถ้าเปรียบเทียบความยากก็เหมือนกับห้ามคนไทยดื่มเบียร์ในวันสงกรานต์ ... แน่นอนว่ามันโคตรจะยากระดับเข็นครกขึ้นภูเขาอย่างแน่นอน ถ้าจะทำให้มันเป็นจริง

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-3600535/Bayern-Munich-Borussia-Dortmund-ready-beer-shower-German-FA-backs-plan-cup-final-ban.html
https://www.footyheadlines.com/2019/08/germany-is-without-beer-sponsor-for-many-years.html
https://www.iamexpat.de/lifestyle/lifestyle-news/bubble-bubble-toil-and-trouble-germanys-beer-consumption-continues-drop
https://eucam.info/2023/02/14/germany-football-and-beer-where-money-and-alcohol-flow/
https://www.youtube.com/watch?v=l8qID1yf-Rw
https://hopbeerhouse.com/beer-ger/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ