Feature

จับดาราใส่กระด้ง : เปิดตำนาน "สคูเด็ตโต้" ครั้งสุดท้ายในรอบ 24 ปีของ "โรม่า" | Main Stand

โรม่า กลายเป็นทีมที่มักจะหมดลุ้นเเชมป์ตั้งแต่เดือนมกราคมตลอดในช่วง 10 ปีหลังสุด และหลายคนก็เคยชินที่มันเป็นแบบนั้น 

 


แชมป์ เซเรีย อา ครั้งล่าสุดของพวกเขาเกิดขึ้นในปี 2000-01 ถึงตอนนี้ผ่านมาแล้ว 24 ปี

ว่ากันว่าทีมชุดนั้นคือขุมทรัพย์ที่ซ่อนคัมภีร์สู่แชมป์เอาไว้ … ถ้า โรม่า อยากจะได้แชมป์อีกครั้ง ให้เอาปี 2001 มาเป็นบทเรียน 

บทเรียนที่ว่านั้นคืออะไร ติดตามที่ Main Stand 

 

แชมป์สุดท้ายของยุค เซเรีย อา คลาสสิก

ฟุตบอล อิตาลี คลาสสิกมากที่สุดในช่วงยุค 80s เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็น เซเรีย อา ถือเป็นลีกรวมตัวนักเตะระดับโลก แทบทุกทวีปต้องมากระจุกกันอยู่ที่นี่ แม้แต่ทีมระดับกลาง ๆ ก็ยังมีนักเตะระดับคุณภาพแถวหน้าชนิดที่ว่าทีมจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษในยุคนั้นยังได้แต่ฝันถึง 

กัลโช่ เซเรีย อา ถูกเรียกว่า "ลีกรวมดาราโลก" ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ เพราะนี่คือลีกที่มีเงินสะพัดมากที่สุด เป็นลีกที่มีสโมสรระดับแถวหน้ามากมาย เป็นประเทศที่เหมาะแก่การไปอยู่อาศัย อากาศอบอุ่น อาหารอร่อย วัฒนธรรมมากมาย ... ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่นักเตะแถวหน้าของยุคนั้นอยากไปที่ อิตาลี

ในช่วงนั้น ฟุตบอลอิตาลีเฟื่องฟูมาก คนเข้าชมเต็มเกมทุกสนาม และแต่ละทีมก็เก่งมาก มีลุ้นแชมป์ยุโรป ถ้วยเล็ก ถ้วยใหญ่อยู่ตลอด เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขามีถึง 7 สโมสรที่เก่งพอจะเป็นแชมป์ และ 7 ทีมนี้ประกอบไปด้วย ยูเวนตุส ,เอซี มิลาน ,อินเตอร์ มิลาน ,โรม่า ,ลาซิโอ ,ฟิออเรนติน่า และ ปาร์ม่า ทั้ง 7 ทีมมีชื่อเรียกรวมกันว่า Seven Sister หรือ "สาวน้อยทั้ง 7"

ระยะเวลาแห่งความคลาสสิกของ เซเรีย อา จากยุค 80s เดินทางมาถึงสุดทางเอาในยุค 2000s ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรีเมียร์ลีกรีแบรนด์และสร้างความนิยมอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่ฝั่งสเปน มี เรอัล มาดริด ยุค กาแล็คติกอส ขึ้นมาเป็น "ศูนย์รวมดาราโลก" ยุคใหม่ ... นั่นทำให้ เซเรีย อา เริ่มลดความยิ่งใหญ่ลงในช่วงปี 2000s ซึ่งห่างจะว่าไป "แชมป์คลาสสิก" จากยุคสาวน้อยทั้ง 7 นั้น น่าจะเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ โรม่า คว้า สคูเด็ตโต้ ในปี 2001 ... หลังจากนั้น เซเรีย อา ก็เหลือม้าแค่ไม่กี่ตัวแล้ว 

คำถามต่อมาคือ โรม่า รอแชมป์ในปี 2001 มานานกว่า 20 ปี และจากปี 2001 ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 23 ปี ... ทำไมพวกเขาต้องรอนานขนาดนั้น ทีมชุดนั้นมีอะไรแตกต่างกันแน่ ? 

 

จับดาราใส่กระด้ง

โรม่า คือทีมที่พยายามอย่างมากที่จะก้าวขึ้นมาคว้า สคูเด็ตโต้(แชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา) ให้ได้สักครั้ง นับตั้งแต่เข้าสู่ยุค 80s พวกเขาเป็นแชมป์นี้ครั้งสุดท้ายก็ย้อนกลับไปถึงปี 1982 

หลังจากการคว้าเเชมป์ครั้งนั้นสโมสรก็เดินทางมาถึงขาลงในทศวรรษต่อมา หลังจบฤดูกาล 1992-93 จูเซ็ปเป้ เคียร์ราปิโก ประธานสโมสร โรม่า กำลังจะถูกตัดสินจำคุก เนื่องจากปัญหาทางการเงิน ขณะที่ฝั่งสโมสรเองก็เข้าใกล้การล้มละลาย พวกเขาต้องมองหาเจ้าของใหม่ และผู้คนทั้งเมืองชี้ไปที่เดียวกันนั่นคือ "ตระกูลเซนซี่"

ตระกูลเซนซี่ คือตระกูลเศรษฐีแห่งกรุงโรมทีทุกคนมองหา พวกเขาคือเศรษฐีที่เชียร์ทีมโรม่ามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนกระทั่งมาถึงผู้นำตระกูลในเวลานั้นอย่าง " ฟรังโก้ เซนซี่" ที่ตอบรับข้อเสนอเพราะหัวใจของเขาเรียกร้อง แม้ ณ ตอนนั้นจะไม่มีคนไหนในตระกูลเห็นด้วยกับเขาก็ตาม

"ตอนที่ผมมาถึงสโมสรเกือบไม่เหลืออะไร ผู้คนมากมายพยายามเตือนผมตลอดว่าอย่าได้เอาใจไปลงเล่นเชียว... แต่ก็นั่นแหละ ผมซื้อทีมตอนที่ทีมใกล้ล้มละลายด้วยเงินจำนวน 20 ล้านลีร์" เซนซี่ กล่าวหลังเป็นเจ้าของสโมสร 

ในช่วงแรก ๆ เซนซี่ พยายามไม่โฟกัสกับเรื่องผลการแข่งขันมากจนเกินไป เขาพยายามแก้เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ "หลังบ้าน" เขาเปิดเผยว่า กัตเซ็ตต้า ว่า สถานการณ์การเงินของสโมสรในตอนนั้นเลวร้ายมาก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องโฟกัส เขามั่นใจว่าถ้าแก้ตรงนี้ได้ เรื่องราวความบาดหมางคลางแคลงใจระหว่างแฟนบอลและผู้บริหารแบบที่เกิดขึ้นในอดีตจะหมดไป และไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำสอง 

เขาจะแสดงให้แฟนบอลเห็นว่าสโมสรอยู่ในมือของคนที่ไว้ใจได้ และทำให้ทุกคนได้เห็นว่าสโมสรกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และพร้อมสำหรับการเดินหน้าสู่ยุคใหม่ เซนซี่ เข้าพบนักเตะทุกคนในทีม บอกเล่าถึงความหมายในการสวมเสื้อตัวนี้ และย้ำกับทุกคนว่าเป้าหมายหลังจากนี้จะไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ และสโมสรต้องการคนที่จะทุ่มระดับเกิน 100% เท่านั้น ... ใครที่มีปัญหา หรือแสดงความอ่อนแอออกมาจะต้องถูกกำจัด "พวกเราจะเป็นฝูงหมาป่าที่ไล่ฟัดทุกคนที่ขวางหน้า" นั่นคือแนวคิดที่เขาถ่ายทอดจากเจ้านายสู่ลูกน้อง และบังเอิญว่าผู้รับสารนั้น และอินไปในดวงใจคือ ฟรานเชสโก้ ต็อตติ ในวัยทีนเอจ 

"ฟรังโก้ เซนซี่ คือคนมอบจิตวิญญาณแห่งโรมให้กับผม ต้องขอบคุณเขาที่ทำให้ผมอยู่กับ โรม่า ตอนนั้นผมเกือบจะย้ายไปอยู่กับ ซามพ์โดเรีย แล้ว แต่ เซนซี่ เป็นคนสั่งเด็ดขาดว่าผมจะต้องอยู่ที่สโมสรนี้เท่านั้น ... จากเดิมที่ผมจะต้องย้ายออกเพราะหลีกทางให้ คาร์ลอส เบียงคี่ แบบยืมตัวทุกอย่างกลับตาลปัตร ถ้าไม่มีเขา ผมคงย้ายออกไป และอาจจะไม่ได้กลับมาโสมสรนี้อีก" 

หลังจากแก้ปัญหาการเงินหลังบ้านจนมีสภาพคล่องพร้อมรบ และการสร้าง "ศูนย์กลางของทีม" ผ่านเด็กหนุ่มที่เป็นสายเลือดโรมานิสต้าขนานแท้ ประธาน เซนซี่ รู้ดีว่าเขาจำเป็นจะต้องสร้างฐานเพื่อต่อยอดให้ใหญ่ยิ่งกว่านี้อีก

เซนซี่ จ้างโค้ชที่เคยคุมทีม เอซี มิลาน ด้วยค่าจ้างที่สูงที่สุดเท่าที่จะให้ได้ ... ฟาบิโอ คาเปลโล่ เข้ามาคุมทีมโรม่า พร้อมกับแนวคิดที่ไม่มีการผ่อนปรนเหมือนกับกับ เซนซี่ และ ต็อตติ ทั้งหมดเป็นคนประเภทเดียวกัน ชนิดที่ว่าถ้าตั้งเป้าไว้แล้วก็ต้องห้ามเหลาะแหละ ทุ่มให้หมด ทุ่มแบบ All IN ... ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่ต้องป่าวประกาศว่าจะสู้จะดีกว่า 

หลังจากที่ได้ตัว คาเปลโล่ กุนซือมือดีแล้ว ประธาน เซนซี่ ให้อิสระกับ "ดอน ฟาบิโอ" อย่างเต็มเหนี่ยว อะไรที่คิดว่าดีกับทีมขอให้บอก... นั่นนำมาซึ่งโค้ชผู้ชำนาญการเฉพาะทางหลายตำแหน่ง และคนที่ เซนซี่ พูดถึงคือ มัสซิโม เนรี่ โค้ชฟิตเนสที่ว่ากันว่าเป็นมือวางอันดับ 1 ด้านการออกแบบการซ้อม และการดูแลนักเตะให้ห่างไกลการบาดเจ็บของวงการฟุตบอล อิตาลี 

เมื่อฐานที่กล่าวมาทั้งหมดถูกวางไว้จนแน่นพอแล้ว ต่อจากนี้จะเป็นการเพิ่มระดับไปอีกขั้น โดยพวกเขาเรียกกันว่า "การวางเชอร์รี่บนหน้าเค้ก" ... ความหมายคือนอกจากจะมีหลังบ้านที่ดีพอแล้ว หน้าตาของทีม หรือนักเตะตัวหลัก จะต้องเป็นนักเตะประเภทที่ทีมเห็นแล้วต้องร้องจ๊าก แฟนบอลฝั่งตัวเองเห็นต้องร้องว้าว ชนิดที่ว่าแค่เห็นนักเตะพวกนี้เดินลงสนาม ก็รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น 

นั่นคือที่มาของการทุ่มเงินมหาศาล เพื่อสร้างทีมที่สามารถทำได้แบบนั้นโลกแห่งความจริงขึ้นมา และกลายเป็นรายชื่อนักเตะต่อไปนี้ 

 

โรม่า ชุดใครก็ได้! 

กาเบรียล บาติสตูต้า ดาวยิงที่ดีที่สุดของยุคคนหนึ่งถูกดึงตัวมาจาก ฟิออเรนติน่า เข้ามาเสริมทัพเป็น "เชอร์รี่บนหน้าเค้ก" ขณะที่แนวรับมีการเปลี่ยนนักเตะแทบยกชุด วอลเตอร์ ซามูเอล, เอเมอร์สัน, โจนาธาน เซบีน่า   กองกลางมีคนคอยสลับกันเล่นกับ ต็อตติ แถมเป็นเบอร์แรงตัวท็อปของยุคนั้นอย่าง ฮิเดโตชิ นากาตะ จอมทัพทีมชาติญี่ปุ่น  นี่คือขุมกำลังที่พวกเขาวาดฝันไว้ 

ฟาบิโอ คาเปลโล่ เลือกทุกคนเองกับมือ ภายใต้ระบบการเล่นที่เขาตั้งใจจะใช้งานมาตั้งแต่แรก นั่นคือระบบ 3-4-1-2  โดยมีวิงแบ็ค 2 ฝั่ง เป็นตัวขึ้นเกมรุกริมเส้น 

รายชื่อ 11 ตัวจริงในยุคนั้นได้แก่ - ฟรานเชสโก้ อันโตเนลี่(GK) - โจนาธาน เซบีน่า, อัลดาเอียร์, วอลเตอร์ ซามูเอล - มาร์กอส คาฟู, ดาเมียโน่ ตอมมาซี่, เอเมอร์สัน, แว็งซ็องต์ ก็องเดล่า - ฟรานเชสโก้ ต็อตติ(กัปตันทีม) - วินเซนโซ่ มอนเตลล่า และ กาเบรียล บาติสตูต้า ... แค่เห็นชื่อก็สยองแล้วสำหรับทีมชุดนี้ 

นักเตะตัวจริงของ โรม่า ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีทุกคน โดยเฉพาะคนที่เขามาเติมเต็มอย่าง บาติสตูต้า ในวัย 32 ปี ที่ยิงไปถึง 20 ประตู และเป็นดาวซัลโวของ เซเรีย อา ในเวลานั้น  ไหนจะมี มอนเตลล่า คู่หน้าของเขาที่ทำผลงานดีที่สุดด้วยการยิงไป 14 ประตู และมีส่วนร่วมกับลูกยิงอีกมากมาย

ส่วน ต็อตติ นั้นไม่ต้องพูดถึงอยู่แล้ว มาตรฐานของเขาในตำแหน่งตัวยืนหลังกองหน้า หรือที่ภาษาอิตาลีเรียกกันว่า "Trequartista" (เบอร์ 10 ที่สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นมิดฟิลด์ตัวรุกหรืออาจเป็นกองหน้าก็ได้) 3 คนนี้ทำให้ โรม่า ในปีนั้น ชนะคู่แข่งเกมละ 2-3 ลูกเป็นประจำดังที่ ตอมมาซี่ พูดถึงเพื่อนร่วมทีมในส่วนเกมรุกของเขาทั้ง 3 คนนี้ในภายหลังว่า "เมื่อคุณตั้งใจหยุดคนไหนสักคน อีกคนจะโผล่ขึ้นมายิง .. คุณไล่พวกเขาไม่จนหรอก"

หันมองตัวสำรองก็ยิ่งแกร่งรอบด้าน แนวรับ ซาโก้(บราซิล),อเมดีโอ มานโกเน่  กองกลางมี มาร์คอส อัสซุนเซา จอมยิงฟรีคิกดีกรีทีมชาติบราซิล, คริสเตียโน่ ซาเน็ตติ กลางรับดีกรีทีมชาติ อิตาลี, จิอานนี่ กิกู ห้องเครื่องตัวทีมชาติอุรุกวัย และ นากาตะ เป็นเพลย์เมคเกอร์คอยสลับกับ ต็อตติ ดังที่กล่าวมา

ในแนวรุก มี  มาร์โก เดล เวคคิโอ ดาวยิงผมยาวดีกรีทีมชาติอิตาลี เป็นตัวคอยสลับ และตัวอะไหล่อย่าง อเบล บัลบัว เป็นสำรองลำดับสุดท้าย 

นี่คือทีมที่เต็มไปด้วยคุณภาพทุกตำแหน่ง แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่นักเตะที่ดังที่สุดในยุคนั้น แต่เป็นนักเตะที่ "โค้ชเลือกมาเอง" ดังนั้น พอเอานักเตะเหล่านี้ไปหยอดใส่ตรงไหนก็ดูลงล็อค ลงตัว และเวลาที่ทีมตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เหล่าผู้เล่นบนม้านั่งสำรองที่มีคุณภาพเหล่านี้จะลุกมาเปลี่ยนผลการแข่งขันให้กับทีมได้เสมอ ... ไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาเก่ง แต่พวกเขากลายเป็นเนื้อเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกันว่า "หนนี้พลาดไม่ได้" 

 

เมื่อเหล่าสตาร์เป็น 1 เดียว 

"นักเตะอย่าง เดล เว็คคิโอ, มอนเตลล่า และ นากาตะ ถือเป็นหัวใจสำคัญของโรม่าชุดเเชมป์ครั้งนั้น" บทความเรื่อง " How Rome’s Prodigal Son Bought the Scudetto Back to the Capital"  

ย้อนกลับไปในปีนั้น การล่าแชมป์ สคูเด็ตโต้ ดุเดือดมาก นอกจาก โรม่า แล้วยังมี ยูเวนตุส ที่นำโดย เดล ปิเอโร่, ฟิลิปโป้ อินซากี้ และ ดาวิด เทรเซเก้ต์, มิลาน ที่นำโดย อังเดร เชฟเชนโก้, อินเตอร์ ที่นำโดย โรนัลโด้ R9 และ ลาซิโอ ที่มี เอร์นัน เครสโป 

แต่การล่าแชมป์ช่วงท้ายดุเดือดที่สุดเพราะเหลือม้าอยู่ 2 ตัว นั่นคือ โรม่า และ ยูเวนตุส ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะต้องเจอกันในเกมที่ 29 ของฤดูกาล .. ถ้า โรม่า แพ้ที่ ตูริน พวกเขาจะเสียจ่าฝูงให้กับ ยูเว่ ... และในเกมแบบนี้คุณจะรู้ว่า ตัวสำรองและพลังใจของทั้งทีมสำคัญแค่ไหน

"เกมที่ตูรินตัดสินทุกอย่าง โรม่า ตามหลัง ยูเวนตุส 0-2 นากาตะ ลงมาในฐานะตัวสำรอง และยิงไกลเข้าประตูจากระยะ 30 หลา จากนั้นเขาแอสซิสต์อีก 1 ให้มอนเตลล่า ยิงอีก 1 .. โรม่า กลับกรุงโรมด้วยการเป็นจ่าฝูง และจากนั้นพวกเขาไม่แพ้ใครเลยจนกระทั่งจบฤดูกาล ... " นี่คือตัวอย่างของการมีตัวสำรองที่ดี

อย่างที่บอกไปข้างต้น โรม่า ชุดนี้เลือกเฉพาะคนที่สู้แค่ตาย ในเกมที่กดดัน ใจพวกเขาแข็งพอ เยือกเย็นพอที่จะมองหาช่องทางการเอาชนะ

การเป็นแชมป์อาจจะยาก แต่นักเตะหลายคนบอกตรงกันว่าสิ่งที่พวกเขาเจอในสนามซ้อม ผ่านนักเตะระดับโลกที่ซ้อมกันแบบใส่หนักทุกเม็ด บางทีอาจจะหนักกว่าการแข่งขันจริงด้วยซ้ำ

"เรามีนักเตะที่แข็งแกร่งโคตร ๆ เลยในตอนนั้น ในสนามซ้อมผมต้องเจอกับกองกลางอย่าง ตอมมาซี่, เอเมอร์สัน, ซาเน็ตติ และ ดิ ฟรานเชสโก้ พวกนี้สุดทุกคน ผมไม่เคยเจอการซ้อมที่เข้มและยากขนาดนี้มาก่อน บางที่การซ้อมกับทีมชุดนั้นของโรม่า อาจจะยากกว่าการแข่งจริงเสียอีก" นากาตะ บอกแบบนั้น ก่อน ต็อตติ จะเสริมว่า

"ทีมของพวกเราไม่ได้แกร่งแค่ในหน้ากระดาษ สภาพจิตใจของพวกเราทุกคนมากันเเบบเต็ม 100% มันทำให้เราเป็นทีมที่แพ้ยากมาก จิตใจแต่ละคนแน่วแน่และมั่นคงมาก ยิ่งเมื่อเราเล่น และเราใกล้ถึงแชมป์ เราสามารถเอาชนะคู่แข่งได้เกมละ 2-3 ลูก .. เรารู้ดีว่าจะต้องรักษาวิธีการและความคิดแบบนี้เอาไว้ เพราะถ้าเราพลาดโอกาสนี้ เราอาจจะต้องรอไปอีกหลายปีเลยก็ได้ 4"

แน่นอนว่ามีเรื่องราวซุบซิบหลุดลอดมาบ้างเรื่องความสัมพันธ์ในทีมเช่น นากาตะ เขม่นกับ ต็อตติ, เดล เวคคิโอ อยากจะลงสนามมากกว่านี้, กองกลางอย่าง ซาเน็ตติ มองว่าเขาควรได้โอกาสเป็นตัวจริงมากกว่า เอเมอร์สัน ... แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นสรุปจบในคำพูดของ คาเปลโล่ ได้อย่างกระชับใจความ 

คาเปลโล่ เคยถูกถามว่าเขาจัดการทีม โรม่า ชุดนั้นอย่างไร เหล่าสตาร์จึงรวมกันเป็น 1 ได้ (อย่างน้อย ๆ ก็เวลาลงสนาม) คำตอบของ คาเปลโล่ เริ่มด้วยคำว่า "มันคือความจริงใจ" 

"ถ้าคุณจะสร้างทีมให้เเข็งแกร่ง  เป็นทีมที่พร้อมจะเอาชนะทุกทีม มีสภาวะจิตใจที่แข็งแกร่งเหมือนกับ เฮอร์คิวลิส คุณต้องทำให้ทุกคนในทีมจริงจังกับหน้าที่ตัวเองได้รับมอบหมาย" คาเปลโล่ กล่าวเริ่ม 

"คุณต้องทำตัวให้เหมือนกับลูกผู้ชาย ชนิดที่ว่ามีอะไรคุณต้องบอกกันซึ่งหน้าได้ ไม่ว่าจะเรื่องคำชม หรือคำติ เราจริงจังต่อกันและกัน และพวกเราคุยปัญหากันแบบตาต่อตาเสมอ"  

สุดท้ายเรื่องทั้งหมดมันคือความพร้อมของทุก ๆ อย่างที่เบ่งบานพร้อม ๆ กัน ระบบการเงินหลังบ้าน, ทีมผู้บริหาร, สต๊าฟโค้ช, ตัวกุนซือ และสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดในสนามนั่นคือ "คุณภาพของนักเตะ"  โรม่า ในชุดนั้นมีครบ ไม่ใช่แค่คุณภาพฝีเท้า แต่มันรวมถึงคุณภาพจิตใจด้วย 

การคว้าเเชมป์ สคูเด็ตโต้ ครั้งนั้นถือเป็นแชมป์ลีกครั้งล่าสุดของพวกเขา และยังไม่มีช่วงไหนใกล้เคียงเลยนับตั้งแต่นั้นมา .... เรื่องในอดีตสะท้อนถึงบางอย่างในอนาคตได้เป็นอย่างดี ดังที่ คาเปลโล่ บอก "ถ้าคุณจะสร้างทีมแข็งแกร่ง คุณต้องมีความจริงจัง" ...ไล่ตั้งแต่หัวถึงหาง ทุกภาคส่วนของมทีม การทำงานอย่างจริงจัง เต็มความสามารถและทุ่มทั้งหมดแบบ All IN  คือเบื้องหลังของทีมโรม่าชุดที่คลาสสิกที่สุดชุดนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.asroma.com/en/news/45774/opinion-stats-dont-tell-the-whole-batigol-story 
https://classicocalcioblog.wordpress.com/2015/09/20/roma-2000-2001-the-last-scudetto-winners/
https://www.asroma.com/en/news/44454/capello-on-romas-2001-scudetto-winning-team-strootman-and-totti
https://www.chiesaditotti.com/2021/5/28/22431337/jose-mourinho-roma-fabio-capello-title
https://www.soccerdigestweb.com/th/news/detail/id=48020
https://football-italia.net/totti-and-nakata-talk-id-like-to-be-technical-director-at-roma/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ