หลังจากที่ลีกดังยุโรปหลายลีกออกสตาร์ทฤดูกาล 2023-24 กันไปแล้ว ผลปรากฏว่าสโมสรชื่อดังหลายสโมสรทำผลงานดร็อปเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ยกตัวอย่าง อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม อดีตแชมป์ลีกสูงสุดดัตช์มากสุดตลอดกาล 36 สมัย เคยฟอร์มบู่ถึงขั้นรั้งอันดับสุดท้ายของตารางลีก แถมผลงานในตอนนี้ก็เพิ่งจะชนะ 3 จาก 11 นัด เช่นเดียวกับ เอฟซี บาเซิล ทีมดีกรีแชมป์ลีกสูงสุดสวิตเซอร์แลนด์ 20 สมัย ถึงตอนนี้ลงเล่นเกมลีกไป 12 นัด พวกเขาเป็นทีมเดียวที่เก็บแต้มในหลักหน่วย (8 แต้ม) เรียกได้ว่าห่างจากจ่าฝูงอย่าง ยัง บอยส์ ถึง 17 แต้ม
และยังมีอีกทีมชื่อดังที่ยังคงสถานะอาการหนักไม่น้อยไปกว่าทีมใด เผลอ ๆ อาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ นั่นคือ “โอลิมปิก ลียง” อดีตทีมดีกรีแชมป์ลีกเอิง 7 สมัยซ้อน และมีฉายาคุ้นหูแฟนบอลไทยอย่าง “ลียง ลงเป็นยิง”
นั่นเพราะช่วงเวลาปัจจุบัน (นับก่อนถึงแมตช์เดย์ที่ 11 ของสโมสร) พลพรรคโอแอล รั้งอันดับสุดท้ายของตารางลีกเอิง เป็นทีมเดียวในลีกซีซั่นนี้ที่ยังไม่สามารถเก็บชัยชนะได้เลย แถมมีแต้มห่างจากอันดับ 15 ซึ่งเป็นอันดับที่อยู่รอดปลอดภัยในลีกมากถึง 7 แต้ม
จากสโมสรที่เคยยิ่งใหญ่ทั้งในระดับประเทศและทวีป อุดมไปด้วยดาวเด่นชื่อก้องหูแฟนบอล มาวันนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา ติดตามไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
อดีตทีมฉายาคุ้นหูคนไทย “ลียง ลงเป็นยิง”
ในระหว่างฤดูกาล 2001-02 ไปจนถึงฤดูกาล 2007-08 นับเป็นช่วงเวลาที่ โอลิมปิก ลียง ครองความเป็นเจ้าลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของฝรั่งเศส หรือที่รู้จักในนาม ลีกเอิง อย่างแท้จริง
เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ทีมโอแอลคว้าแชมป์ลีกได้ 7 สมัยซ้อน ซึ่งนับในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีทีมใดทำได้ โดยความสำเร็จครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ลียงมีเจ้าของทีมที่ชื่อ ฌอง-มิเชล โอลาส นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ที่เข้ามาเป็นเจ้าของทีมมาตั้งแต่ปี 1987
ฌอง-มิเชล โอลาส ค่อย ๆ เข้ามาเปลี่ยนโฉมทัพโอแอล ทีมที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ความแข็งแกร่งเฉกเช่น โอลิมปิก มาร์กเซย หรือ อาแอส โมนาโก เริ่มจากการปลดหนี้ให้สโมสร จากนั้นก็ทยอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร ไปจนถึงการจัดการเรื่องระบบการเงินของทีมใหม่
ซึ่งภายใต้ระยะเวลาสองทศวรรษนับตั้งแต่ที่โอลาสเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ ลียงแปรเปลี่ยนสถานะจากทีมในระดับดิวิชั่นสองสู่การเป็นหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยมากที่สุดทีมหนึ่งในยุโรป
เห็นได้ชัดจากที่สโมสรเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ยุโรปภายใต้ชื่อ โอแอล กรุ๊ป (OL Group) ในปี 1999 ไปจนถึงช่วงปี 2008 นิตยสารแวดวงธุรกิจชื่อดังอย่าง Forbes จัดอันดับให้ โอลิมปิก ลียง เป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่ามากสุดเป็นอันดับที่ 13 ของโลก โดยได้รับการประเมินมูลค่าสโมสรอยู่ที่ 275.6 ล้านยูโร (ไม่รวมหนี้สิน)
ส่วนอีกหนึ่งปีต่อมา 2009 Deloitte Football Money League หรือหน่วยงานที่คอยจัดอันดับความมั่งคั่งของสโมสรฟุตบอล เผยว่าสโมสรมีรายได้ในซีซั่น 2007-08 ซึ่งเป็นแชมป์ลีกปีสุดท้ายสูงถึง 155.7 ล้านยูโร ติดอันดับเป็นหนึ่งในสโมสรที่ดีที่สุดในโลกในแง่ของรายได้
โอลิมปิก ลียง ในยุคสมัยดังกล่าวเป็นทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของโลก ไล่ตั้งแต่ จูนินโญ่ แปร์นัมปูกาโน่ จอมสังหารลูกนิ่งเลือดแซมบ้า, ไมเคิล เอสเซียง ที่ภายหลังก้าวไปสู่การเป็นยอดกองกลางระดับโลกกับ เชลซี ตลอดจนเหล่าดาวเด่นทีมชาติฝรั่งเศสที่ต่างก็เคยลงบู๊ในช่วงเวลานั้น ทั้ง เกรกอรี่ กูเปต์, ซิดนีย์ โกวู, ฟลอร็องต์ มาลูดา, อูโก โยริส รวมไปถึง คาริม เบนเซม่า
จนอาจกล่าวได้ว่า หากทีมใดโคจรมาเจอกับพวกเขาต้องมีหวั่นกันแบบไม่น้อยหน้า เพราะความแข็งแกร่งของพลพรรคโอแอลที่มักจะกระหน่ำสกอร์ใส่คู่แข่ง อย่างซีซั่น 2007-08 ที่สโมสรกวาดดับเบิลแชมป์ในประเทศ (แชมป์ลีกและแชมป์บอลถ้วย) มีถึง 7 เกมที่สโมสรซัดเกิน 4 ประตู จนลียงกลายเป็นทีมที่แฟนฟุตบอลชาวไทยให้ฉายาว่า “ลียง ลงเป็นยิง”
มีวลีภาษาอังกฤษคำหนึ่งกล่าวว่า “Nothing lasts forever” หรือ “ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนไปได้ตลอดกาล” นั่นคือสิ่งที่ลียงเผชิญในช่วงหลังจากที่เป็นทีมแถวหน้าของลีก ที่สุดแล้วกลยุทธ์ของโอลาสอย่างการใช้วิธี “ซื้อนักเตะและขายออกจนประสบความสำเร็จ” สู่หนทางแชมป์ 7 สมัยเริ่มไม่ได้ผล จากกำไรที่เคยขายเอสเซียงไปเชลซี ขายเบนเซม่าไป เรอัล มาดริด ฯลฯ แล้วไปซื้อตัวใหม่มาทดแทน กลายเป็นว่า “ของใหม่ทำได้ไม่ดีเท่าของเดิม”
นอกจากนี้ ความตกต่ำของลียงยังไปคาบเกี่ยวกับช่วงที่ลีกฟุตบอลอาชีพฝรั่งเศสเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ได้กลุ่มทุน Qatar Sports Investment (QSI) จากกาตาร์ นำโดย นาสเซอร์ อัล เคไลฟี เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ เวลาต่อจากนั้น สถานะของความเป็นเบอร์หนึ่งของลีกจากเดิมที่ลียงรับสัมปทาน ก็ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นเปแอสเชโดยสมบูรณ์
หากเปรียบเทียบระหว่าง ลียง กับ เปแอสเช ก็จะเห็น “ช่องว่าง” ที่ห่างกันของทั้งสองสโมสรอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่องการครองโทรฟี่และอันดับในตารางลีก ยกตัวอย่างสองซีซั่นหลังสุดที่จบไป (2022-23 และ 2021-22) ทัพโอแอลจบด้วยอันดับที่ 7 และ 8 ตามลำดับ ส่วนทีมจากมหานครปารีสกวาดแชมป์ได้ทั้งสองซีซั่น
เช่นเดียวกับเรื่องของขุมกำลังทีมที่เปแอสเชเริ่มดูดดาวดังระดับโลกมาแบบไม่เว้นแต่ละฤดูกาล ขณะที่ลียงกลายเป็นทีมที่เหลือนักเตะเกรดท็อปน้อยรายกว่า หรือแม้แต่เรื่องของการตามให้ทันยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไป ดูเหมือนว่าเปแอสเชจะทำได้ดีกว่าชัดเจน ไม่ว่าจะเรื่องของการประชาสัมพันธ์และการตลาด
ส่วนลียงนั้น ว่ากันว่าในตัวของเจ้าของอย่างโอลาสยังเลือกสื่อสารภาษาฝรั่งเศสมากกว่าภาษาอังกฤษด้วยซ้ำไป
สู่การเปลี่ยนมือผู้บริหาร
ฟุตบอลฝรั่งเศสคงรูปแบบนี้มาโดยตลอดในช่วงสมัยปัจจุบัน คือเปแอสเชมักจะเป็นทีมที่จบซีซั่นด้วยการเป็นแชมป์ พวกเขาเคยผงาดได้แชมป์ลีก 4 สมัยติด ๆ กัน
แน่นอนว่าหากทีมใดอยากจะต่อกรหรือขึ้นมาเทียบชั้น ปารีส แซงต์-แชร์กแมง บางทีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารทีมอาจเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่อาจช่วยได้
ฌอง มิเชล-โอลาส เข้ามาเป็นบิ๊กบอสโอลิมปิก ลียง ตั้งแต่ปี 1987 ในระหว่างที่เขาอายุ 38 ปี นั่นหมายความว่าในช่วงสมัยปัจจุบัน เขากลายเป็นเจ้าของทีมอายุเลยวัยแซยิดไปมากแล้ว แถมยังโดนปรามาสอยู่บ่อย ๆ ว่าเขาบริหารทีมแบบ “ตกยุค”
มิหนำซ้ำ จากสโมสรที่เคยมีมูลค่าเป็นทีมระดับโลก ลียงยุคโอลาสช่วงบั้นปลายกลับเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นทีมที่สถานการณ์การเงินไม่สู้ดี สโมสรขาดทุนสุทธิแบบไม่เว้นแต่ละปี
ไล่มาตั้งแต่ปี 2020 สโมสรขาดทุน 36 ล้านยูโร ปี 2021 ขาดทุน 107 ล้านยูโร ขณะที่ปี 2022 ขาดทุน 55 ล้านยูโร ตามลำดับ
กระนั้น หากลียงจะกลับมาสู่สถานะทีมแกร่งที่อย่างน้อยต่อกรกับเปแอสเชได้สูสีกว่านี้ บวกกับการพลิกโฉมสภาวะทางการเงินให้กลับมามีหน้ามีตาเฉกเช่นสมัยแชมป์ลีกเอิง 7 สมัยซ้อน
ที่สุดก็เกิดเป็นความคิดที่ปรากฏเข้ามาในหัวของโอลาส นั่นคือการขายสโมสรให้กลุ่มทุนที่เหมาะสม
เป็นเหตุให้ปี 2022 บอสใหญ่ขรัวเฒ่าวัย 74 กะรัต ก็เลือกขายโอแอลให้กับนักธุรกิจชาวอเมริกันอย่าง จอห์น เท็กซ์เตอร์ ในนามของกลุ่มทุน Eagle Football Holdings LLC ซึ่งบริหารสโมสร คริสตัล พาเลซ ในอังกฤษ, อาร์ดับบิวดี โมเลนบีค (RWD Molenbeek) ในระดับลีกรองเบลเยียม รวมถึง โบตาโฟโก ทีมแกร่งจากบราซิล
เท็กซ์เตอร์เข้ามาถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 77.49 ส่วนโอลาสก็ยังคงเป็นดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรให้ทีมอยู่ในระยะแรก ในฐานะประธานบริหารไปอีกอย่างน้อย 3 ฤดูกาล
อนาคตของ โอลิมปิก ลียง ทำท่าจะสดใส การเข้าสู่ยุคใหม่ดูเหมือนถูกจัดวางให้เป็นระบบเบียบนับแต่นั้น แถมยังได้คนที่รู้เรื่องฟุตบอลเข้ามาบริหาร
อย่างไรเสีย ทุกสิ่งอย่างกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ที่สุดแล้ว โอลิมปิก ลียง กลับยิ่งมีภาพรวมผ่านปัจจัยทั้งในและนอกสนามที่ถอยหลังลงคลองเสียยิ่งกว่าเดิม
ปัญหาทั้งในและนอกสนาม
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่องค์กรองค์กรหนึ่งมีคนที่มีแนวทางหรือมีทัศนคติการบริหารต่างมุมมองกันไปจนถึงขั้นขัดแย้งไม่ลงรอย ที่สุดแล้วทางออกที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือ ไม่ใครก็ใครจะต้องเป็นคนเลือกเดินออกมา
นี่คือสถานการณ์ของ โอลิมปิก ลียง ในยุครอยต่อระหว่างเจ้าของทีมคนเก่าและคนใหม่ กล่าวคือ เท็กซ์เตอร์ และ โอลาส “ทำงานร่วมกันไม่ได้”
เรื่องนี้มีเหตุปัจจัยสอดรับหลัก ๆ อยู่สองเรื่องด้วยกัน ไล่มาตั้งแต่ทัศนคติเรื่องการเสริมทัพของทั้งสองคนนั้นต่างไปโดยสิ้นเชิง ฌอง-มิเชล โอลาส เชื่อในเรื่องของการเสริมตัวเก๋ามากประสบการณ์ให้เข้ามาเป็นหัวใจในการห้ำหั่นมาโดยตลอด
ดังจะเห็นได้จากการคว้า อเล็กซองด์ร ลากาแซตต์, โกร็องแต็ง โตลิสโซ่ รวมถึง นิโคลัส ทาเกลียฟิโก้ ในซีซั่น 2022-23 ซึ่งทุกคนล้วนแต่อายุเกิน 30 ปีทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน จอห์น เท็กซ์เตอร์ มองเรื่องของการเสริมทีมโดยใช้แข้งอายุน้อยที่จะเป็นฟันเฟืองสู่อนาคตมากกว่า
ผลของความขัดแย้งแรกคือการลงจากตำแหน่งประธานบริหารของโอลาส จากเดิมอย่างน้อย 3 ซีซั่น ถูกลดลงเหลือแค่ 5 เดือน (มกราคมถึงพฤษภาคม 2023) ซึ่งเขาถูกดันขึ้นไปเป็นประธานกิตติมศักดิ์และไม่ให้มามีส่วนตัดสินใจกับการบริหารทีมอีกต่อไป
ยิ่งกว่านั้น ในช่วงตลาดนักเตะซัมเมอร์ 2023 ความสัมพันธ์ที่แตกร้าวของโอลาสกับเท็กซ์เตอร์ก็เกิดขึ้น และคราวนี้มันเดือดร้อนถึงขั้นกระทบการเสริมทัพของ โอลิมปิก ลียง ไปด้วย
เมื่อ Direction Nationale du Contrôle de Gestion (DNCG) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังเรื่องสถานะทางการเงินของวงการฟุตบอลฝรั่งเศส ได้ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้จ่ายของ โอลิมปิก ลียง ในช่วงตลาดซื้อตัวฤดูร้อน 2023 ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ลียงทำผิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ ของลีกฝรั่งเศส
ว่ากันว่าโอแอลถูกจำกัดเรื่องเงินทุนเสริมทีม โดยสามารถใช้เงินเสริมตัวได้แค่ราว ๆ 30 ล้านยูโร รวมถึงจากนี้ทุก ๆ การจับจ่ายของสโมสรจะถูกจับตาจาก DNCG ในทุกฝีก้าว
แน่นอนว่าเรื่องนี้เท็กซ์เตอร์และบรรดาบอร์ดบริหารชุดใหม่ต่างก็ออกมาวิจารณ์ถึงสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนี้ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงไปกับเจ้าของคนเก่าอย่างโอลาส ส่วนหนึ่งเพราะเงินจำนวนกว่า 14.5 ล้านยูโร ซึ่งเป็นทุนเสริมทีมของสโมสรดันไปเกี่ยวโยงกับหนี้ที่ทีมสะสมมาตั้งแต่ในยุคโอลาส
“เราเสียโอกาสในการเสริมทัพผู้เล่นฝีเท้าดีในช่วงซัมเมอร์นี้ จากที่จะไล่ล่านักเตะที่เป็นเป้าหมายของทีม และคราวนี้เราไม่สามารถทำในสิ่งนั้นได้ มันเป็นความรู้สึกที่แย่มาก ๆ ที่เราเข้าสู่ช่วงตลาดนักเตะโดยที่มือข้างหนึ่งของทีมถูกมัดเอาไว้ด้านหลัง เรามีงบประมาณลงทุนคว้านักเตะราว ๆ 30-50 ล้านยูโร แต่เราใช้เงินนั้นไม่ได้” เท็กซ์เตอร์ ตัดพ้อกับสื่อฝรั่งเศส
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ลียงไม่อาจเสริมทีมได้เต็มอัตราศึก โดยในรอบซัมเมอร์ที่ผ่านมา (2023) สโมสรคว้านักเตะค่าตัวสูงสุดแค่ 5 ล้านยูโร นั่นคือ คลินตัน มาต้า จาก คลับ บรูจจ์ นอกนั้นไม่ยืมตัวก็เซ็นฟรี เช่น ดิเอโก้ โมเรร่า ดาวรุ่ง เชลซี รวมถึง เอนส์ลี่ย์ เมตแลนด์-ไนลส์ ที่หมดสัญญากับ อาร์เซนอล
ในทางตรงกันข้าม สโมสรเสียนักเตะแกนหลักไปแบบน่าตกใจ ไล่ตั้งแต่ มาโล กุสโต้ ไป เชลซี, ฮุสเซม อูอาร์ ไป โรม่า แบบไร้ค่าตัวหลังไม่ต่อสัญญา รวมถึง คาสเตลโญ่ ลูเกบา ดาวรุ่งอนาคตไกลไป ไลป์ซิก 30 ล้านยูโร
อนึ่ง ลียงกลับถูกจับตาเพิ่มเติมขึ้นอีกในเรื่องการเสริมทัพ คราวนี้เรื่องอาจไปถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าเลยด้วยซ้ำไป
เพราะดีลที่พวกเขาได้ตัว เออร์เนสต์ นัวมาห์ ปีกวัย 19 มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนตรงที่ลียงไม่ได้คว้านัวมาห์โดยตรง พวกเขาคว้ามาจาก โมเลนบีค สโมสรจากเบลเยียม ทีมพันธมิตรของลียง ซึ่งคว้าเด็กรายนี้มาด้วยค่าตัวไม่รวมแอดออน 25 ล้านยูโร ทำให้มีข่าวว่าฟีฟ่าอาจมองว่านี่เป็นการเอื้อประโยชน์และหลีกเลี่ยงเรื่องการซื้อขายนักเตะของโอแอล
เมื่อเรื่องนอกสนามดูยุ่งเหยิงและไม่สู้ดี สุดท้ายผลงานในสนามของโอแอลก็ดิ่งลงตามกันไป โดย โลร็องต์ บลองก์ กุนซือลียงในช่วงต้นซีซั่น ขาดอาวุธเด็ดในการสู้ศึก 2023/24 เป็นเหตุให้ทีมเก็บสถิติ แพ้ 3 เสมอ 1 จมอยู่อันดับท้ายตาราง ก่อนจะโดนปลดจากเก้าอี้กุนซือไปตามระเบียบ
แม้ว่าลียงจะดึง ฟาบิโอ กรอสโซ่ อดีตดาวเตะชุดรุ่งเรืองของสโมสรเปรียบดั่ง “ปลุกลียง ต้องใช้ DNA ลียง” แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะอดีตแข้งทีมชาติอิตาลีชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งไม่มีประสบการณ์คุมทีมในลีกระดับสูงมาก่อน ก็ยังไม่อาจพาทีมรอดพ้นจากโซนแดงได้เลย
หลังจบแมตช์เดย์ที่ 10 สโมสรทำสถิติเสมอ 4 แพ้ 6 เป็นทีมเดียวของลีกในเวลานี้ที่ยังไม่ชนะใคร
บางที “เวลา” เท่านั้นที่จะบอกได้ว่า โอลิมปิก ลียง จะก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างไร
ท่ามกลางการเดิมพันอันสูงส่งที่มาพร้อมกับความท้าทาย นี่ถือเป็นโจทย์สำคัญของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสโมสร ไล่ตั้งแต่บอร์ดบริหารชุดใหญ่ นักเตะในทีม หรือแม้แต่ผู้เกี่ยวข้องและคนที่ผูกพันกับทีมในบทบาทอื่น ๆ
เพราะนี่คือ โอลิมปิก ลียง “ลงเป็นยิง” อดีตทีมแชมป์ลีกเอิง 7 สมัยซ้อน ที่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครโค่นลงได้ หาใช่ โอลิมปิก ลียง “ลงเป็นโดน” แต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง
https://www.theguardian.com/football/2023/sep/11/lyon-sack-laurent-blanc-ligue-1
https://www.facebook.com/photo/?fbid=925049102320276&set=a.243815820443611
https://www.france24.com/en/live-news/20230901-lyon-engulfed-in-crisis-ahead-of-clash-with-psg
https://apnews.com/article/french-league-lyon-textor-ab0db8974076f50390a0d0aea0572079
https://bnn.network/politics/lyons-struggles-a-crisis-on-and-off-the-field/
https://www.foxsports.com/stories/soccer/lyon-must-regroup-to-turn-around-bad-start-to-season-after-team-bus-attack
https://en.wikipedia.org/wiki/Olympique_Lyonnais