Feature

Upsweep Technique : การรับส่งไม้ผลัดที่ทำให้ญี่ปุ่นโดดเด่นในการแข่งวิ่ง 4x100 เมตร | Main Stand

จบไปแล้วเรียบร้อยสำหรับการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 เมตร ชาย ในศึกเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ประเทศจีน โดยผลปรากฎว่าเป็นเจ้าภาพอย่างจีนที่คว้าเหรียญทองไปได้สำเร็จ ขณะที่ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ คว้าเหรียญเงิน และ ทองแดง ไปได้ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี ในการแข่งขันรายการดังกล่าว หากมองไปที่วิธีการรับส่งไม้ผลัดของแต่ละชาติ จะพบว่าทีมชาติญี่ปุ่นแทบทุกคนนั้น มีวิธีการรับ-ส่งไม้ผลัดที่แตกต่างจากของชาติอื่น ๆ พอสมควร

โดยวิธีการรับ-ส่งไม้ผลัดของพวกเขาเหล่านั้น มันก็ไม่ได้เป็นวิธีการที่แปลกใหม่เสียทีเดียว เพียงแต่มันเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก นั่นคือการรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีขึ้น หรือ "Upsweep Technique"

ซึ่งเทคนิคดังกล่าว มันก็ช่วยให้ทีมวิ่งผลัด 4x100 เมตร ชายญี่ปุ่น ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ เกี่ยวกับการที่พวกเขาสามารถเลือกรับส่งไม้ผลัด โดยใช้เทคนิคการตีขึ้น ที่ไม่ค่อยมีใครใช้กัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมีความสำเร็จติดไม้ติดมืออยู่หลายครั้งในการแข่งขันระดับต่าง ๆ 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ทีมชาติญี่ปุ่น เลือกใช้เทคนิคนี้ในลู่วิ่งการแข่งขัน ติดตามได้ที่นี่ Main Stand

 

ตัวตัดสิน

การแข่งขันวิ่งผลัดนั้น นอกจากความเร็วของนักกีฬาแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สามารถเป็นตัวตัดสินหาผู้ชนะมาเลยก็คือ "การรับส่งไม้ผลัด" จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งในการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 แล้ว นักกีฬาส่วนใหญ่ นิยมที่จะรับส่งไม้ผลัดกันด้วยใช้เทคนิคการตีลง (Downsweep Technique) ที่จะเป็นการรับส่งไม้ผลัด โดยผู้รับไม้จะเหยียดแขนไปด้านหลัง ให้มืออยู่ในระดับสูงกว่าเอวเล็กน้อย พร้อมกับหงายฝ่ามือให้ผู้ส่งไม้ ตีไม้ไปตรงฝ่ามือของผู้รับ

หรือเทคนิคการดันไม้ไปข้างหน้า (Push Passing Technique) ที่เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยจะเป็นการรับส่งไม้ผลัด ที่ให้ผู้รับไม้เหยียดแขนสุดกำลังไปด้านหลัง ให้มืออยู่ในระดับไหล่ กางฝ่ามือออก นิ้วโป้งชี้ลงพื้น ขณะที่อีกสี่นิ้วที่เหลือเรียงชิดติดกัน แล้วให้ผู้ส่งไม้ ดันไม้สอดเข้าไปใส่ในฝ่ามือของผู้รับ

แต่ทว่ามีน้อยมากสำหรับทีมที่เลือกรับส่งไม้ผลัดด้วยการใช้เทคนิคการตีขึ้น (Upsweep Technique) ที่ผู้รับไม้จะต้องเหยียดแขนไปด้านหลัง ให้มือในระดับสูงกว่าเอวเล็กน้อย เหมือนกับเทคนิคตีลง เพียงแต่เทคนิคนี้จะเปลี่ยนจากการหงายฝ่ามือ เป็นการคว่ำฝ่ามือแทน แล้วให้ผู้ส่งไม้ สอดไม้จากล่างขึ้นบนเข้าไปยังฝ่ามือของผู้รับ ถือเป็นอันเสร็จสิ้น

เพราะอะไร... ทำไมเทคนิคดังกล่าวถึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก ?

 

เสียงส่วนน้อย

เทคนิคการตีขึ้น ไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมในหมู่นักวิ่งเท่าไรนัก เพราะแม้จะมีข้อดีก็คือทำให้สปีดการวิ่งของนักกีฬาแต่ละคนในทีมไม่ตก จากการที่ผู้รับไม่ต้องกังวลกับการเหยียดแขนให้สูงและผิดแปลกไปจากเดิม เพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียความเร็วขณะวิ่งรับไม้ผลัด หรือผู้ส่งไม้เองก็ไม่จำเป็นต้องชะลอความเร็วระหว่างวิ่งลง เพื่อส่งไม้ต่อให้กับเพื่อนร่วมทีมคนถัดไปก็ตา

แต่ปัญหาใหญ่ของเทคนิคการตีขึ้นนั้น ก็คือหลังจากที่ผู้รับไม้ ได้รับไม้ผลัดแล้ว พวกเขาอาจจะเกิดความผิดพลาดในการรับส่งไม้ได้ง่าย จากความเร็วในการวิ่งที่ไม่ได้ตกลงไป และทำให้ต้องปรับลักษณะการถือไม้ผลัดใหม่ให้ถนัดมือมากขึ้น เพราะบางครั้งมือของผู้รับไม้ อาจจะไปถือบริเวณตรงกลางหรือด้านบนของไม้ผลัดหลังจากที่รับไม้ไปแล้ว ซึ่งไม่ค่อยสะดวกต่อการถือสักเท่าไร

ในขณะที่เทคนิคการตีลง หรือ การดันไม้ไปข้างหน้า ผู้รับไม้สามารถรับไม้แล้ววิ่งต่อได้เลย แบบไม่ต้องกังวลกับการถือไม้ผลัดที่ไม่เข้ามือ

จะให้อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีลง หรือ การดันไม้ไปข้างหน้า จะเป็นวิธีการรับส่งไม้ผลัดที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าเทคนิคการตีขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง เทคนิคการตีขึ้นเองก็สามารถย่นเวลาการรับส่งไม้ผลัดได้ดีกว่า

ซึ่งทีมชาติญี่ปุ่น ก็ถือว่าเป็นชาติส่วนน้อย ที่เลือกใช้วิธีการรับส่งไม้ผลัดแบบการตีขึ้นในการแข่งวิ่งผลัด 4x100 เมตร ชาย มานานแล้ว และมีความสำเร็จผลิดอกออกผลพอตัว ไล่ตั้งแต่เหรียญเงินในศึกโอลิมปิก 2008, ที่ 4 ในศึกโอลิมปิก 2012, เหรียญเงินอีกครั้งในศึกโอลิมปิก 2016, เหรียญทองในศึกเอเชียนเกมส์ 2018 และล่าสุดอย่างเหรียญเงินในศึกเอเชียนเกมส์ 2022 ที่นักกีฬาบางส่วนของพวกเขาก็ได้ใช้เทคนิคการรับส่งไม้แบบตีขึ้นที่ตัวเองเชี่ยวชาญ มาเป็นอีกอาวุธสำคัญในการไล่ล่าเกียรติยศ

แต่อย่างไรก็ตาม เพราะอะไรทีมชาติญี่ปุ่นถึงเลือกใช้วิธีการรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีขึ้น ที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันในส่วนใหญ่ ในการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 เมตร ชาย ?

 

กล้าเสี่ยงเพื่อเร็วกว่า

สำหรับการรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีขึ้น ในการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 ชาย นั้น ได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของทีมชาติญี่ปุ่นไปแล้ว

โดยเหตุผลที่พวกเขาเลือกใช้วิธีการรับส่งไม้ผลัดแบบนี้ ชุนจิ คารุเบะ ผู้อํานวยการกรีฑาระยะสั้นของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศญี่ปุ่น เคยเปิดเผยเอาไว้ว่านักกีฬาของญี่ปุ่นนั้น หากจะให้ไปวัดความเร็วในการวิ่งระยะสั้นกับนักกีฬาชาติอื่น ๆ ตรง ๆ มันก็ยังเป็นเรื่องที่ยังยากลำบากอยู่ในเวลานี้ ที่จะสามารถเอาชนะพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในการแข่งวิ่งผลัด 4x100 ทีมชาติญี่ปุ่น จึงไม่ได้หวังพึ่งแค่ในเรื่องศักยภาพของนักกีฬาอย่างเดียว แต่ยังได้หาแผนการ แท็คติกต่าง ๆ ที่จะทำให้นักกีฬาทั้ง 4 คน สามารถทำเวลาได้ดีที่สุดเพิ่มอีกด้วย และการรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีขึ้นนี้เองก็เป็นหนึ่งในแผนการเหล่านั้น

"ญี่ปุ่นไม่ได้มีนักกีฬาที่วิ่ง 100 เมตร แล้วทำเวลาได้น้อยกว่า 10 วินาทีมากนัก และเราจะไม่สามารถแข่งขันกับโลกภายนอกได้ ถ้าเราไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง" ชุนจิ คารุเบะ กล่าวกับ Hochi News

"เราโฟกัสไปยังหนทางที่จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถทำความเร็วได้อย่างต่อเนื่องมากที่สุด และการรับส่งไม้ผลัดแบบตีขึ้นก็คือคำตอบที่เราต้องการ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นมันอาจจะต้องเจอกับความเสี่ยงก็ตาม"

และด้วยความต้องการของ ชุนจิ คารุเบะ ที่อยากจะให้จ้าวลมกรดแต่ละคนของทีมวิ่งผลัดชายญี่ปุ่น เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับส่งไม้ผลัด ด้วยเทคนิคการตีขึ้น วันเวลาผ่านไป จนตอนนี้พวกเขาก็ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรับส่งไม้ผลัดแบบตีขึ้นไปเสียแล้ว

แถมยังสามารถใช้เทคนิคการรับส่งไม้ผลัดแบบนี้ ที่ไม่ค่อยมีใครใช้กัน เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดสูงกว่าเทคนิคอื่น ๆ ทำเวลาในการลงแข่งวิ่งผลัด 4x100 เมตร ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นล่าสุดกับการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2023 ประเทศฮังการี ที่เหล่าทีมวิ่งผลัดญี่ปุ่นชาย ทำเวลาได้ 37.71 วินาที เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2023 

ใกล้เคียงกับเวลาที่ทำได้ของเหล่าทีมชั้นนำอย่าง จาไมก้า และ สหรัฐอเมริกา

ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2022 ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้ส่งนักกีฬาชายที่ดีที่สุดของทีม เข้ามาร่วมชิงชัยในการแข่งขันวิ่งผลัด 4x100 แบบเต็มสูบมากนัก มีเพียง โยชิฮิเดะ คิริว เท่านั้นที่เป็นตัวหลักของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ที่ได้มาร่วมศึกครั้งนี้

แต่ด้วยเทคนิคการรับส่งไม้ผลัดแบบตีขึ้นที่พวกเขาชำนาญ ต่อให้จะไม่ได้มาแบบฟูลทีม ญี่ปุ่นก็ยังสามารถคว้าเหรียญเงินกลับบ้านไปได้สำเร็จ ด้วยการทำเวลา 38.44 วินาที เป็นรองทีมชาติจีนแค่ 0.15 วินาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาการรับส่งไม้ผลัดด้วยเทคนิคการตีขึ้น จนสามารถทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จในเวทีการแข่งขันระดับโลก มันก็ทำให้ชาติอื่น ๆ เริ่มให้ความสนใจกับเทคนิคการรับส่งไม้ผลัดแบบการตีขึ้นตามแบบฉบับของพวกเขา 

ก่อนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้พบได้เจอจากทีมชาติญี่ปุ่น ไปพัฒนากับทีมชาติของตัวเองบ้าง เช่น จีน ที่ได้เริ่มมีการนำเทคนิคการตีขึ้น มาใช้กับการวิ่งผลัดมากขึ้น

ทั้งนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การริเริ่มใช้เทคนิคการรับส่งไม้ผลัด ที่ไม่ได้เป็นที่นิยมในสากลโลกของทีมชาติญี่ปุ่น จนสามารถประสบความสำเร็จได้แบบไม่น้อยหน้าใครนั้น ก็ได้เข้ามาพัฒนาวงการวิ่งผลัด 4x100 ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.seiko.co.jp/magazine/article/00047.html
https://sports.yahoo.co.jp/column/detail/201507250007-spnavi?p=1
https://grapee.jp/216465
https://hochi.news/articles/20230817-OHT1T51221.html?page=1

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น