ความใฝ่ฝันในอาชีพการค้าแข้งของนักฟุตบอลทุกคน คงหนีไม่พ้นการเป็น “นักเตะระดับโลก”
กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ทุกคนต้องผ่านปัญหา และความท้าทายต่าง ๆ มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมอย่างหนัก ผลงานในสนามที่เป็นใจ รวมไปถึงการใช้ชีวิตนอกสนาม แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้นักเตะคนหนึ่งก้าวไปเป็นนักเตะเวิลด์คลาสได้ นั่นคือ “อาการบาดเจ็บ”
ดั่งชีวิตของ แดเนียล สเตอร์ริดจ์ ดาวยิงพรสวรรค์ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอาการบาดเจ็บรุมเร้าตลอดอาชีพการค้าแข้งของเขา
เส้นทางของดาวยิงผู้นี้ มีความเป็นมาอย่างไร และอาการบาดเจ็บของเขาส่งผลต่ออาชีพการค้าแข้งมากน้อยแค่ไหน ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันกับ Main Stand
ก่อนติดปีกหงส์
ชีวิตนักฟุตบอลของสเตอร์ริดจ์ เริ่มต้นได้อย่างราบรื่นกับอะคาเดมี่ในสโมสรสมัครเล่นเล็ก ๆ อย่าง แคดเบอรี แอธเลติก เมื่อตอนอายุ 6 ขวบ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพ่อและพี่ชายของเขา
หนึ่งปีให้หลัง จากพรสวรรค์อันเปี่ยมล้นของเขา ทำให้ฟอร์มการเล่นไปเตะตาแมวมองของ แอสตัน วิลล่า จนได้เลื่อนขั้นจากสโมสรสมัครเล่นสู่สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้ภายในปีเดียว ในวัยเพียงแค่ 7 ขวบเท่านั้น
ช่วงปี 2003 สเตอร์ริดจ์ย้ายไปอยู่กับอะคาเดมี่ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ พร้อมกับโชว์ฟอร์มการเล่นที่เกินอายุ จากผลงานการยิงประตูสูงสุดของการแข่งขันระหว่างนักเตะอายุไม่เกิน 15 ปีของฤดูกาล 2004-05 และได้รับโหวตให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลเดียวกัน
สเตอร์ริดจ์ได้เริ่มต้นอาชีพการค้าแข้งอย่างเต็มตัว เมื่อถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในปี 2006 ก่อนที่จะทำประตูแรกให้กับทีมได้ในฤดูกาล 2007-08 ในเกมเอฟเอคัพที่พบกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด กลายเป็นนักเตะเพียงคนเดียวที่ทำประตูได้ในทุกรายการที่เขาลงเล่น (เอฟเอ ยูธ คัพ, เอฟเอ คัพ และพรีเมียร์ลีก)
จนจบฤดูกาล 2008-09 สเตอร์ริดจ์ได้รับการโหวตให้เป็นดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีของสโมสร โดยเขาได้อุทิศรางวัลให้กับครอบครัวที่เป็นกำลังใจสำคัญในอาชีพการค้าแข้งของเขามาตลอด
เมื่อหมดสัญญากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เขาได้เซ็นสัญญากับ เชลซี ในเดือนกรกฎาคมปี 2009 และลงประเดิมสนามครั้งแรกให้กับทีมในเกมนัดที่สองของฤดูกาล 2009-10
ฟอร์มการเล่นของเขาโดยรวม ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก ส่วนมากจะรับบทเป็นพระรองของ ดิดิเยร์ ดร็อกบา และไม่เคยได้รับการยอมรับจากแฟนบอลเลยตั้งแต่ย้ายมา รวมไปถึงยังแสดงความไม่พอใจต่อสาธารณชน เพราะผู้จัดการทีมไม่ให้โอกาสลงเล่นเลย ทั้งที่ทีมมีปัญหาในการจบสกอร์
แต่สเตอร์ริดจ์เขายังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกองหน้าดาวรุ่งที่น่าจับตามอง ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอนาคตของทีมชาติอังกฤษได้ในอนาคต และคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกส่งท้ายกับทีมในปี 2012
เดือนมกราคมปี 2013 สเตอร์ริดจ์ได้ย้ายไปลิเวอร์พูลในตลาดซื้อขายนักเตะหน้าหนาว ด้วยค่าตัวประมาณ 12 ล้านปอนด์ เพื่อหนีจากม้านั่งสำรองที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ ซึ่งดูเหมือนเขาจะคิดถูก เพราะเขาได้ประเดิมสนามครั้งแรกให้กับทีมด้วยประตูทันที และหลังจากนั้นชีวิตของเขาในถิ่นแอนฟิลด์ ก็ขึ้นสุดลงสุดแบบจริงจัง
หลากหลายพรสวรรค์
สเตอร์ริดจ์เป็นนักเตะที่มีความเร็ว ทำให้เขาถนัดในการหาพื้นที่ว่าง เพื่อสร้างโอกาสการทำประตูให้ตัวเองได้บ่อย รวมไปถึงทักษะการเลี้ยงบอลที่คล่องมาก เพราะเขามีฟุตเวิร์กในการไปกับบอลที่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างเท้าทั้งสองของเขามันจึงเข้ากันอย่างลงตัว
ท่าที่เขามักจะใช้บ่อยที่สุดคือ การใช้ทักษะสเต็ปโอเวอร์เพื่อหลอกคู่แข่ง อย่างประตูที่เขาทำได้ในเกมที่พบกับคริสตัล พาเลซ ในฤดูกาล 2013-14 ที่ใช้ฟุตเวิร์กหลอกคู่แข่งในตอนแรกว่าจะยิงด้วยเท้าขวา และเปลี่ยนมาล็อคเข้าซ้าย ก่อนที่จะยิงด้วยมุมแคบเข้าไปอย่างเฉียบคม แสดงให้เห็นถึงทักษะสเต็ปโอเวอร์ที่ไม่เหมือนใครของเขา
ด้วยทักษะอันหลากหลาย ทำให้เขามีโอกาสในการทำประตูได้ทุกรูปแบบ จากการเล่นกับบอลได้ทั้งสองเท้า โดยเฉพาะเท้าซ้ายที่ไม่ว่าจะยิงในระยะใกล้หรือไกลก็ตาม จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “Clinical Finisher” หรือนักเตะที่ใช้โอกาสไม่เปลืองในการทำประตู
อย่างประตูที่เขาทำได้กับทีมเก่าของเขาอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในฤดูกาล 2012-13 ที่ สตีเวน เจอร์ราร์ด ได้ส่งบอลต่อให้สเตอร์ริดจ์บริเวณหน้าหัวกะโหลก ก่อนที่สเตอร์ริดจ์จะวางเท้ายิงด้วยซ้ายพุ่งเป็นจรวดเสียบเสาประตูเข้าไปอย่างสวยงาม ประตูนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันพรสวรรค์เรื่องการจบสกอร์ของเขาได้เป็นอย่างดี
แดนซ์ฟลอร์อันน่าจดจำ
เวลาเดินทางเข้าสู่ฤดูกาล 2013-14 สเตอร์ริดจ์ได้ก้าวมาเป็นตัวหลักในแนวรุกของทีม เนื่องจาก หลุยส์ ซัวเรซ กองหน้าเบอร์หนึ่งของทีมในขณะนั้น ถูกแบน 5 นัดแรกของฤดูกาล เนื่องจากไปกัด บรานิสลาฟ อิวาโนวิช ในเกมที่พบกับเชลซีเมื่อฤดูกาล 2012-13 จนโดนโทษแบน 10 นัด แบบใช้กันข้ามซีซั่น
จากกองหน้าที่ไม่มีใครคาดหวังให้เป็นตัวหลักในการทำประตู กลับทำมันได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ไม่มีซัวเรซลงสนาม โดยสเตอร์ริดจ์ทำไปถึง 4 ประตูจาก 5 เกมแรก และหนึ่งในนั้นเป็นประตูชัยในเกมแดงเดือด
พอซัวเรซพ้นโทษแบนกลับมา กลายเป็นว่าสเตอร์ริดจ์จับคู่กับซัวเรซได้อย่างลงตัว จนแฟนบอลให้ฉายาคู่นี้ว่า “SAS” จากการยิงประตูได้เป็นว่าเล่น เมื่อจบฤดูกาลเขายิงรวมกับซัวเรซไปถึง 52 ประตู ถือได้ว่าเป็นฟอร์มที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของสเตอร์ริดจ์ และคู่นี้ยังถูกยกย่องให้เป็นคู่หูสุดอันตรายที่สุดคู่หนึ่งของพรีเมียร์ลีกตลอดกาล
น่าเสียดายที่ทีมไม่สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกสมัยแรกมาครองได้ จากความยอดเยี่ยมของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เฉือนพวกเขาไปเพียงแค่ 2 คะแนนเท่านั้น แต่ความยอดเยี่ยมของสเตอร์ริดจ์ในฤดูกาลนั้น ทำให้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือช่วงเริ่มต้นของจุดพีกที่สุดในอาชีพการค้าแข้งของเขา และเขายังได้รับการยกย่องให้เป็นดาวยิงเบอร์ต้น ๆ ของลีกในขณะนั้น เรียกได้ว่ากราฟชีวิตของเขากำลังพุ่งสุดขีด
ดังบทสัมภาษณ์ของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ผู้จัดการทีมหงส์แดงในเวลานั้น ที่ว่า “จากที่ผมได้ร่วมงานกับเขา (สเตอร์ริดจ์) เขาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมของเราอย่างมาก โดยรวมแล้วผมคิดว่าเขาจะได้รับโอกาสที่ยอดเยี่ยมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และเขามีคุณภาพทุกอย่างที่จะเป็นกองหน้าระดับเวิลด์คลาสได้ในอนาคต เหมือนกับ หลุยส์ ซัวเรซ” แสดงให้เห็นว่าร็อดเจอร์สเห็นถึงศักยภาพของเขาเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะผลักดันเขาให้เป็นกองหน้าระดับเวิลด์คลาส
เชื่อว่าแฟนหงส์แดงทุกคนในเวลานั้น คงคิดแบบเดียวกันว่า ความพีกของสเตอร์ริดจ์เป็นแค่ช่วงเริ่มต้น เขาน่าจะโชว์ฟอร์มได้ดีมากกว่านี้อีกในอนาคต และเป็นตัวหลักในแดนหน้าให้กับทีมต่อไปได้อีกหลายปี
ดาวยิงจอมเซิ้ง
นอกจากฟอร์มการเล่นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในสายตาของแฟนบอลทั่วโลกคือ “ท่าเซิ้ง” อันเป็นเอกลักษณ์ที่เขาจะแสดงอาการดีใจด้วยท่านี้เป็นประจำ เวลายิงประตูได้ จนเป็นที่ถูกใจของแฟนบอลส่วนใหญ่ รวมไปถึงเพื่อนร่วมทีมอย่าง อัลแบร์โต้ โมเรโน่ ที่พยายามเลียนแบบ แต่ดูยังไม่เหมือนต้นฉบับสักเท่าไหร่
ท่าเซิ้งเอกลักษณ์ของสเตอร์ริดจ์ ถือว่าเป็นท่าที่ฮิตไปทั่วโลก เพราะนักเตะทีมสมัครเล่นบางคนมีการนำท่าของเขามาใช้ รวมไปถึงยังถูกนำไปใส่ในเกมฟุตบอลระดับโลกอย่าง FIFA ด้วย
ตัวเขาได้ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับที่มาของท่าดีใจนี้ผ่านช่องยูทูปของเขาเองว่า “ตอนยังเด็ก ผมเคยเลียนแบบท่าดีใจของฟาอุสติโน่ อัสปริย่า และเอียน ไรท์ แต่ท่าดีใจนี้ผมคิดขึ้นมาเองนะ” และเขายังได้กล่าวต่ออีกว่า “มันไม่ใช่ชื่อ เดอะ เวฟ แบบที่ฟีฟ่าเรียก มันต้องชื่อ สเตอร์ริดจ์ แดนซ์ ต่างหาก แต่จะเรียกยังไงก็ช่างมันเถอะ จริง ๆ มันเกิดขึ้นตอนที่ผมกำลังดื่มกับญาติและเพื่อน ๆ ของผมที่อพาร์ทเมนต์ ขณะที่พวกเรากำลังเล่นดนตรีกัน ผมเริ่มเมาแล้วลุกขึ้นมาทำท่านั้น และยังลั่นวาจาไปอีกว่าถ้ายิงประตูได้ ผมจะเต้นท่านี้เป็นการฉลอง”
รวมไปถึงพ่อแม่ของสเตอร์ริดจ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ของลูกชายด้วยว่า “ลูกชายของเราชอบและศึกษานักเตะสตาร์ดังจากคลิปวิดีโออยู่ตลอด โดยเฉพาะการฉลองประตู เพราะเขาชื่นชอบการเฉลิมฉลอง เขาเกลียดความพ่ายแพ้เป็นอย่างมาก” และยังได้กล่าวต่ออีกว่า “เอาตรง ๆ เลยนะ ท่าดีใจของเขาเนี่ย พวกเราเองยังไม่รู้เลยว่าเขาไปได้มันมาจากไหน เห็นอีกทีเขาก็ทำมันในสนามแล้ว” พ่อแม่ของสเตอร์ริดจ์กล่าวแบบติดตลก
ไม่ว่าที่มาของท่าเซิ้งนี้มันจะเกิดขึ้นแบบตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่มันกลายเป็นท่าดีใจฮอตฮิตติดชาร์จของโลก ไปพร้อม ๆ กับฟอร์มของสเตอร์ริดจ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เจ็บพาพัง
ฟอร์มการเล่นและท่าดีใจเขย่าโลก ทำให้เขาถูกยกขึ้นมาเป็นกองหน้าเบอร์หนึ่งของทีมอย่างเต็มตัวในฤดูกาล 2014-15 เนื่องจากซัวเรซได้ย้ายไปบาร์เซโลนาแล้ว
ทว่าชีวิตที่ดูกำลังไปได้สวยของสเตอร์ริดจ์ กลับค่อย ๆ ดับลงทีละนิดจากปัญหาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเขาอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อสะโพก น่อง หรือแฮมสตริง เขาเป็นมาเกือบหมด เหมือนกับว่าร่างกายเขาไม่พร้อมที่จะลงเล่นในเกมใหญ่แบบเต็มเวลาได้เลย นับตั้งแต่ฤดูกาลนั้นเป็นต้นมา
หายนะของเขาเริ่มจากอาการบาดเจ็บที่ต้นขาและน่องอย่างรุนแรง จากการไปเข้าแคมป์กับทีมชาติอังกฤษในช่วงพักเบรคทีมชาติ ทั้งที่เขาเพิ่งเล่นไปได้เพียงแค่ 3 นัดแรกของฤดูกาลเท่านั้น ส่งผลให้เขาพลาดการลงสนามให้กับลิเวอร์พูลไปถึง 32 เกม และยังทำให้ฟอร์มของทีมโดยรวมตกลงไปมากจากฤดูกาลก่อน เพราะกองหน้าที่เหลืออยู่ไม่มีคนไหนเลยที่สามารถฝากความหวังไว้ได้เท่าเขา
เมื่อฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ เขากลับมาลงสนาม และทำประตูได้ก็จริง แต่เล่นไปได้อีกไม่กี่เกม เขาก็ได้รับบาดเจ็บจนต้องพักยาวอีกครับ ลูปนรกนี้วนอย่างไม่รู้จบเรื่อยมาหลายปีจนถึงตอนนี้ และฟอร์มของเขาไม่เคยกลับขึ้นไปอยู่ในจุดเดิมได้อีกเลย
สาเหตุสำคัญคือ สเตอร์ริดจ์ถูกเร่งให้กลับมาลงสนาม ทั้งที่เขายังไม่ฟิตสมบูรณ์ ทำให้เขาไม่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการลงเล่น ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในสนามที่ไม่ดีเหมือนเดิม
มีหลักฐานทางจิตวิทยาออกมายืนยันเรื่องนี้ด้วยว่า สเตอร์ริดจ์มีความกังวลว่าจะบาดเจ็บซ้ำ เขาจึงไม่กล้าเล่นแบบเต็มที่ ทำให้เขาสูญเสียจังหวะการเล่นในสนามไป ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว การเลี้ยงบอล และการจบสกอร์
ดร. ราล์ฟ โรเจอร์ส แพทย์ด้านกีฬาระดับโลก ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของสเตอร์ริดจ์ด้วยเช่นกัน เขาได้กล่าวแบบรวม ๆ ว่า “หากมีนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บที่ใดที่หนึ่ง กล้ามเนื้อในส่วนนั้นมันจะไม่ได้ทำงานเหมือนเดิม และมีแนวโน้มที่จะบาดเจ็บซ้ำได้” และโรเจอร์สยังได้วิจารณ์การทำงานของแพทย์ประจำสโมสรในพรีเมียร์ลีกอีกว่า “แพทย์บางคนต้องรีบทำให้สตาร์ประจำทีมกลับมาลงเล่นได้อีกครั้ง บางครั้งมันก็เร็วกว่ากำหนด เพราะเรื่องเงินที่สโมสรจะได้รับจากการลงเล่นของสตาร์เหล่านี้ แต่นี่เป็นผลเสียระยะยาวที่ทำให้นักเตะกลับมาฟิตสมบูรณ์ไม่ได้” เปรียบเหมือนสเตอร์ริดจ์ที่เป็นตัวหลักของทีม มันก็ไม่แปลกที่ทีมแพทย์จะรีบทำให้เขากลับมาลงสนามได้อีกครั้ง แต่หารู้ไม่นั่นแหละคือ การทำลายอาชีพการค้าแข้งของเขา
จากที่สเตอร์ริดจ์จะก้าวไปเป็นนักเตะเวิลด์คลาส กลายเป็นต้องพบกับอนาคตที่ดับสนิท เพราะอาการบาดเจ็บซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ส่งผลกระทบต่อเขาอย่างมาก ถึงแม้ว่าเขาจะมีส่วนช่วยให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกไปครองได้ ด้วยการโผล่ลงมายิงประตูได้บางครั้ง
แต่อาการบาดเจ็บ ทำให้ทีมต้องปล่อยตัวเขาออกไปในปี 2019 และชีวิตของเขากับสโมสรใหม่ แทร็บซอนสปอร์ ในลีกตุรกี ยังคงเป็นแบบเดิม กระทั่งเขากลายเป็นนักเตะไร้สังกัด หลังจาก เพิร์ธ กลอรี่ ทีมดังแห่งแดนจิงโจ้ ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับเขาเมื่อปี 2022 เพราะทนอาการบาดเจ็บอันไม่รู้จบนี้ไม่ไหว
เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าเส้นทางการค้าแข้งของสเตอร์ริดจ์ ไม่ต้องพบกับอาการบาดเจ็บ พรสวรรค์อันเหลือล้นที่มี จะนำพาให้เขาก้าวไปเป็นนักเตะเวิลด์คลาสได้จริงตามที่ร็อดเจอร์สเคยพูดไว้หรือเปล่า
เราต้องมาลุ้นกันต่อว่า สเตอร์ริดจ์ที่แม้จะไม่มีสังกัดมา 1 ปีกว่าแล้วในตอนนี้ แต่ยังไม่ประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ จะหยุดเส้นทางการค้าแข้งไว้ที่ตรงนี้ หรือเขาจะงัดความสามารถอะไรบางอย่างออกมา เพื่อส่งตัวเองกลับมาเล่นฟุตบอลในแบบเดิมได้อีกครั้ง แต่ที่แน่ ๆ คือแฟนหงส์แดงส่วนใหญ่ ยังคอยให้กำลังใจเขาอยู่เสมอไม่เคยเปลี่ยนไป
แหล่งอ้างอิง
https://lifebogger.com/daniel-sturridge-childhood-story-plus-untold-biography-facts/
https://www.sportskeeda.com/player/daniel-sturridge
https://bleacherreport.com/articles/1462692-why-signing-daniel-sturridge-from-chelsea-is-a-risky-move-for-liverpool
https://www.youtube.com/watch?v=m9dXFNPu4ak (ประตูกับคริสตัล พาเลซ นาที 2:10 และประตูกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นาที 0:20)
https://thefootballfaithful.com/iconic-duos-suarez-and-sturridge-liverpools-sas/
https://www.youtube.com/watch?v=j2eIQUDNp9E (คลิปโมเรโน่เลียนแบบท่าดีใจของสเตอร์ริดจ์)
https://www.goal.com/en/news/sturridge-explains-origins-of-goal-celebration/ehtck90mws0413kk4gyf9f7g0
https://www.khobsanam.com/column/108942
https://www.theguardian.com/football/2014/apr/25/liverpool-daniel-sturridge-goal-celebrations-dominoes-cookery
https://www.skysports.com/football/news/15117/10080940/daniel-sturridge-timeline-of-liverpool-strikers-injuries
https://members.believeperform.com/the-psychology-of-injury-the-curious-case-of-daniel-sturridge/
https://www.transfermarkt.com/daniel-sturridge/verletzungen/spieler/47082