Feature

อยากลอง หรือ หมดมุก ? : ทำไมทีมชาติบราซิลถึงเริ่มมีข่าวกับโค้ชต่างชาติมากขึ้น | Main Stand

ในศึกฟุตบอลโลก 2022 หนึ่งในทีมชาติที่แฟนบอลคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทัพ "แซมบ้า" บราซิล กลับทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง จนส่งผลให้ผู้จัดการทีมชาติอย่าง ติเต้ ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง 

 

 

และนับจากนั้น เก้าอี้ตัวนี้ก็กลายเป็นเก้าอี้อาถรรพ์ตลอดมา จนตอนนี้ ในเดือนเมษายน 2025 ก็ไม่มีใครนั่งกุมบังเหียนคุมทัพ "ลา เซเลเซา" อีกครั้ง

ส่วนคนที่จะเข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ ตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือเท่านั้น แต่สิ่งที่ชวนตั้งข้อสงสัยคือ ตัวเลือกที่บราซิลมองไว้ในเวลานี้กลับมีกุนซือชาวต่างชาติหลายราย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในยุคที่พวกเขาประสบความสำเร็จ โค้ชที่คุมทีมเป็นชาวบราซิลทั้งหมด

Main Stand จะอาสามาวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด ? บราซิลถึงเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้กุนซือต่างชาติมากขึ้น

 

บราซิลเคยใช้โค้ชต่างชาติมาแล้ว

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของทีมชาติบราซิล พวกเขาใช้กุนซือต่างชาติเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้นคือ ในปี 1925 ที่ ณ ตอนนั้นบราซิลใช้ รามอน พลาเตโร่ (Ramon Platero) กุนซือชาวอุรุกวัย ให้เข้ามาคุมทีมในช่วงเวลาเกือบ 1 ปี 

ถัดจากนั้นอีก 19 ปีต่อมา ในปี 1944 บราซิลก็ได้แต่งตั้ง ฮอร์เก้ โกเมส (Jorge Gomes) กุนซือชาวโปรตุเกส ให้เข้ามาคุมทีมคู่กับกุนซือชาวบราซิลอย่าง ฟลาวิโอ คอสต้า (Flavio Costa) แต่สุดท้ายฮอร์เก้ก็ทำงานกับบราซิลได้เพียงแค่ 3 วัน ก่อนที่ทัพเซเลเซา จะให้ ฟลาวิโอ คอสต้า ทำหน้าที่กุนซือเดี่ยวแบบเต็มตัว

อีกหนึ่งครั้งที่บราซิลใช้กุนซือต่างชาติคือ ปี 1965 เป็น ฟิลโป้ นูนเญซ (Filpo Nunez) กุนซือชาวอาร์เจนตินา ที่เข้ามาคุมทีม แต่ฟิลโป้ก็คุมทีมเพียงแค่นัดเดียวเท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นเขาทำหน้าที่เป็นกุนซือของพัลไมรัสอยู่ และได้รับการเสนอตัวให้มาคุมขัดตาทัพในเกมอุ่นเครื่องที่พบกับ ทีมชาติอุรุกวัย     

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะสังเกตเห็นว่า เหล่ากุนซือต่างชาติที่เข้ามารับงานคุมทีมชาติบราซิลนั้นล้วนแต่ได้รับโอกาสในการทำงานเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือเป็นการใช้กุนซือที่เคยเป็นอดีตนักเตะชาวบราซิลทั้งสิ้น    

 

ขาดกุนซือตัวท็อปชาวบราซิล

การคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัยของบราซิลก็มาจากการทำทีมของกุนซือชาวบราซิลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ในปี 1958 ที่บราซิลสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยแรกก็เป็นการทำทีมของ วิเซนเต้ เฟโอล่า (Vicente Feola) 

หลังจากนั้นอีกแค่ 4 ปี ในปี 1962 บราซิลก็สามารถป้องกันแชมป์ฟุตบอลโลกเอาไว้ได้สำเร็จและเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ของทีม แต่ครั้งนี้บราซิลใช้ อายมอเร่ โมเรย์ร่า (Aymore Moreira) ทำหน้าที่เป็นกุนซือคุมทีม 

ต่อมาในปี 1970 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ปีนั้นบราซิลในยุคของ มาริโอ ซากาลโญ่ (Mario Zagallo) ก็สามารถเถลิงแชมป์ฟุตบอลโลกได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 3 

ซึ่งในยุคสมัยนั้นบราซิลมีสุดยอดตำนานนักเตะอย่าง "ไข่มุกดำ" เปเล่ ที่คอยเป็นกำลังสำคัญในการพาทัพ "แซมบ้า" คว้าแชมป์ฟุตบอลได้ถึง 3 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 12 ปี 

โดยกว่าที่บราซิลจะกลับมาคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้อีกครั้งต้องรอถึงปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การทำทีมของ คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ปาร์เรย์ร่า (Carlos Alberto Parreira) 

ซึ่งในทีมชุดนั้นมีนักเตะที่คุณภาพค่อนข้างดีอยู่หลายคน เช่น เคลาดิโอ ทัฟฟาเรล, คาฟู, มาร์ซินโญ่, เบเบโต้, คาร์ลอส ดุงก้า และ โรมาริโอ้ และพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศและคว้าแชมป์มาครองได้เป็นสมัยที่ 4

และสมัยล่าสุดที่พวกเขาทำได้คือ ในปี 2002 ที่ประเทศเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วม ปีนั้นบราซิลคุมทีมโดยกุนซืออย่าง หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ส่วนผู้เล่นภายในทีมชุดนั้นต้องบอกเลยว่าคุณภาพคับแก้วทุกตำแหน่ง 

แต่ที่ต้องยกให้เลยคือแนวรุก 3R ที่ประกอบไปด้วย โรนัลดินโญ่, โรนัลโด้ และ ริวัลโด้ ซึ่งทั้ง 3 คนนี้เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่พาทีมครองความยิ่งใหญ่และกลายเป็นชาติที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน


หลังจากที่จบฟุตบอลโลก 2002 หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ก็อำลาตำแหน่งไป ทำให้บราซิลต้องมองหากุนซือคนใหม่เข้ามาคุมทีม และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้บริหารของทัพ "แซมบ้า" เริ่มรู้สึกว่าตอนนี้ในวงการฟุตบอลค่อนข้างขาดแคลนกุนซือชาวบราซิลแล้ว 

ถัดจากสโคลารี่ พวกเขาก็หันกลับไปใช้ผู้จัดการทีมคนเก่า ๆ ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น มาริโอ ซากาลโญ่ หรือ คาร์ลอส อัลแบร์โต้ ปาร์เรย์ร่า แต่ก็ยังไม่สามารถพาทีมกลับไปอยู่บนจุดสูงสุดได้เหมือนสมัยก่อนที่พวกเขาเคยทำได้มาก่อนหน้านี้ 

เมื่อรู้แล้วว่าการดึงกุนซือที่เคยพาทีมประสบความสำเร็จกลับมาคุมทีมอีกครั้งนั้นไม่ได้ดีเหมือนเก่า ในปี 2006 ทางสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลก็ได้มีการวางแผนใหม่ โดยให้อดีตนักเตะชาวบราซิลที่เพิ่งเลิกเล่นไปไม่นานเข้ามาทำหน้าที่คุมทีมชาติดูบ้าง เช่น คาร์ลอส ดุงก้า (2006-2010) หรือแม้แต่ มาโน่ เมเนเซส (2010-2012) แต่ก็ยังไม่สามารถพาทีมกลับไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้เหมือนเดิม

ทำให้ทีมชาติบราซิลตัดสินใจกลับมาใช้แผนเดิมอีกครั้ง นั่นคือการดึงกุนซือคนเก่ากลับมาทำงานอีกรอบ ได้แก่ หลุยส์ ฟิลิปเป้ สโคลารี่ ผู้ที่เคยพาบราซิลคว้าแชมป์ได้ในปี 2002 ให้กลับมาช่วยทีมเป็นรอบที่ 2 ในปี 2013 โดยสมาพันธ์หวังจะให้เขาพาทัพ "แซมบ้า" ไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกที่ประเทศของตัวเองให้ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์กลับไม่เป็นอย่างนั้น 

ฟุตบอลโลก 2014 ผลงานช่วงแรกของบราซิลถือว่าค่อนข้างดี แต่พอเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ผลงานก็เริ่มตกลงไปเรื่อย ๆ จนมาถึงรอบรองชนะเลิศที่พวกเขาก็พลาดท่าแพ้ให้กับ ทีมชาติเยอรมัน แบบขาดลอย 1-7 กลายเป็นผลงานที่แย่ที่สุดของพวกเขา และยังทำให้แฟนบอลบราซิลหลายคนฝันสลาย เพราะทีมของตัวเองโดนคู่แข่งถล่มที่บ้านเกิดของตัวเอง ท้ายที่สุดแล้วในทัวร์นาเมนต์นั้น บราซิลทำได้เพียงแค่คว้าอันดับที่ 4 มาครองแบบช้ำใจ

สุดท้ายบราซิลก็ต้องแยกทางกับสโคลารี่ และไปดึง คาร์ลอส ดุงก้า กลับมาทำงานเป็นคำรบที่ 2 ในช่วงปี 2014 แต่รอบนี้ดุงก้าได้โอกาสทำงานยังไม่ถึง 2 ปีเต็ม ก่อนที่เขาจะถูกปลดอีกครั้งในปี 2016 เนื่องจากผลงานในศึกโคปา อเมริกา ไม่ค่อยดี 

จนกระทั่งมาถึงผู้จัดการทีมคนล่าสุดอย่าง ติเต้ ทางสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลได้แต่งตั้งเขาในปี 2016 ซึ่งติเต้ก็พาทีมไปเล่นฟุตบอลโลก 2018 ได้อย่างไม่มีปัญหา และเมื่อถึงศึกฟุตบอลโลกปีดังกล่าว ผลงานในรอบแบ่งกลุ่มของพวกเขาก็ยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน แต่พอเข้าถึงรอบน็อกเอาต์ ความร้อนแรงของทีมชาติบราซิลก็เริ่มแผ่วลง จนมาโดน ทีมชาติเบลเยียม เขี่ยตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย หมดโอกาสลุ้นแชมป์ไปอีกหน

อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ยังคงให้โอกาสติเต้ได้ทำหน้าที่ต่อไป และเฝ้าดูผลงานอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022 แต่สุดท้ายอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าทีมชาติบราซิลจอดป้ายเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเท่านั้น โดยพวกเขาแพ้จุดโทษต่อรองแชมป์ปี 2018 อย่าง โครเอเชีย และหลังจากจบทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ติเต้ก็ได้ประกาศอำลาตำแหน่ง เพราะผลงานที่ไม่สามารถพาทีมประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะ 2 ทัวร์นาเมนต์หลังสุดอย่าง โคปา อเมริกา 2021 และฟุตบอลโลก 2022 

 

ประสบการณ์คว้าแชมป์ของกุนซือยุโรป

หลังจากที่ ติเต้ ประกาศลาออกจากการตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติบราซิล สมาพันธ์ให้ ราม่อน เมเนเซส กับ เฟร์นานโด ดินิซ คุมทีมแบบขัดตาทัพ ก่อนแต่งตั้ง โดริวัล จูเนียร์ คุมทีมถาวร แต่ทั้งสามคนก็ทำผลงานได้น่าผิดหวัง จนต้องออกจากตำแหน่งทุกคน

ตัวเลือกกุนซือชาวบราซิลที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงอยู่ในระดับท็อปตอนนี้ถือว่าค่อนข้างขาดตลาดพอสมควร ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเริ่มมองหากุนซือจากชาติอื่น ๆ เอาไว้บ้างแล้ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของทีมชาติบราซิล 

ตอนนี้สื่อหลายสำนักเริ่มมีการประโคมออกมาแล้วว่าใครคือคนที่จะมารับงานคุมทีมชาติบราซิลคนต่อไป ? ซึ่งคนที่มีความเป็นไปได้คือ คาร์โล อันเชล็อตติ กุนซือคนปัจจุบันของ เรอัล มาดริด เนื่องจาก "อันเช่" คือคนที่สมาพันธ์เล็งตัวไว้นานแล้ว

อีกทั้งประสบการณ์ของเขาที่เคยพา เรอัล มาดริด และ เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยุโรปมาแล้ว และเมื่อปีก่อนเขาก็เพิ่งทำสถิติเป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่คว้าแชมป์ลีกได้ทั้ง 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ทำให้บราซิลมองว่าประสบการณ์การคว้าแชมป์ของกุนซือรายนี้น่าจะเข้ามาช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้ในอนาคต

นอกจากชื่อของ คาร์โล อันเชล็อตติ ยังมีอีกหลายชื่อที่ไม่สามารถจะมองข้ามได้ เช่น ฮอร์เก้ เชซุส กุนซือชาวโปรตุเกส ที่ผ่านประสบการณ์คุมทีมอย่างโชกโชน และเคยคุมทีม ฟลาเมงโก้ ในลีกบราซิลอีกด้วย

ส่วนอีกหนึ่งชื่อที่สื่อคาดการณ์เอาไว้คือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้ว่าเป๊ปจะไม่เคยมีประสบการณ์คุมทีมชาติมาก่อน แต่ประสบการณ์ในระดับสโมสรต้องยอมรับเลยว่ามีอยู่เหลือล้น เขาสามารถสร้างสุดยอดทีมของตัวเองขึ้นมาและประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ร่วมกันได้หลายรายการ  

 

โค้ชต่างชาติ อาจเปลี่ยน DNA ทีม ?

ถ้าพูดถึง DNA หรือรูปแบบการเล่นที่เป็นภาพจำของทีมชาติบราซิล มักจะเป็นการใช้ทักษะความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นในแนวรุกเพื่อหาโอกาสและจบสกอร์ใส่คู่แข่ง ขณะที่ตำแหน่งกองกลางกับกองหลังจะคอยทำหน้าที่รักษาสมดุลของเกมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงค่อยขึ้นไปสนับสนุนเรื่องเกมรุกเมื่อทีมมีโอกาสลุ้นจากลูกตั้งเตะ

โดยจุดที่น่าสังเกตคือ ถ้าหากว่าสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล หรือ CBF เกิดแต่งตั้งกุนซือที่เป็นชาวต่างชาติขึ้นมาจริง ๆ จะทำให้รูปแบบวิธีการเล่นของบรรดานักเตะทีมชาติบราซิลเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ? แล้วจะถึงขั้นสูญเสีย DNA ความเป็นแข้งแซมบ้าหรือเปล่า ?

ในรายของ คาร์โล อันเชล็อตติ วิธีการทำทีมของเขาไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการลงเล่นของนักเตะทีมชาติบราซิลมากนัก เนื่องจากอันเช่เป็นกุนซือแม้จะอาวุโส แต่ชอบที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำทีมของตัวเองให้เข้ากับขุมกำลังนักเตะที่มีอยู่ในมือ 

ส่วนเรื่องรูปแบบการเล่นของอันเชล็อตติ เขาเป็นโค้ชที่ชื่นชอบการเล่นเกมรุกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จังหวะการเล่นในแต่ละครั้งก็ค่อนข้างรวดเร็วเหมาะกับผู้เล่นที่มีความสามารถเฉพาะตัวเก่ง ๆ อีกทั้งช่วงเวลาที่คุมเรอัล มาดริด ถึง 2 ครั้ง เขาก็เคยได้ร่วมงานกับผู้เล่นบราซิลมาแล้วหลายคนทั้ง คาเซมีโร่, มาร์เซโล่, เอแดร์ มิลิเตา, โรดรีโก้, วินิซิอุส จูเนียร์ และ เอนดริก    

ขณะที่ ฮอร์เก้ เชซุส คือกุนซืออีกคนที่สไตล์การเล่นน่าจะถูกใจแฟนบอล กับการเป็นกุนซือสายเกมบุก เน้นเพรสซิ่งสูง เล่นบอลไว และสามารถปรับแท็คติกแผนการเล่นได้หลายแบบ อีกทั้งตอนที่คุม ฟลาเมงโก้ ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม คว้าทั้งแชมป์ ซีรี่ เอ บราซิล และแชมป์ทวีป โคปา ลิเบอตาโดเรส ในปี 2019

ส่วน เป๊ป กวาร์ดิโอลา แม้รูปแบบการเล่นของเขาจะเป็นบอลเน้นเกมรุก และดูเหมือนจะเข้ากับวิธีการของนักเตะทีมชาติบราซิลได้ แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับทัพ "แซมบ้า" คือวิธีการทำเกมรุกของเขาที่เน้นการครองบอลสร้างโอกาส จ่ายบอลให้เยอะขึ้น ลดการใช้ทักษะเฉพาะตัว เพื่อที่นักเตะจะได้เล่นกันเป็นทีมมากยิ่งขึ้น   

นอกจากนี้สไตล์การทำทีมของเขาก็ไม่น่าจะตรงกับไลฟ์สไตล์ของนักเตะบราซิลมากนัก เหตุผลคือเขาเป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบมาก ๆ ในแต่ละนัด ทุกคนต้องเล่นให้ตรงตามแบบแผนที่เขาวางไว้ อีกทั้งนักเตะจะต้องมีวินัยกัและไม่ออกนอกลู่นอกทาง ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าผู้เล่นบางส่วนของทีมชาติบราซิลมักจะมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างจะโลดโผนพอสมควร ทำให้เคมีเรื่องการทำงานอาจจะไม่ได้เข้ากันแบบ 100% 

ทั้งนี้แฟนบอลโดยเฉพาะแฟนบอลของทัพเซเลเซา ต้องมารอดูกันว่า อันเชล็อตติ, เชซุส หรือใคร จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือคนใหม่ของทีม ? และถ้าย้ายมาจริง เขาจะพาทีมชาติที่ไม่ได้เป็นบ้านเกิดของตัวเองคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้หรือไม่ ? เพราะที่ผ่านมายังไม่มีกุนซือคนไหนที่พาชาติที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเองคว้าแชมป์ได้มาก่อน ซึ่งเขาอาจจะเป็นคนแรกที่ทำให้มันเกิดขึ้นก็เป็นได้ 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Brazil_national_football_team_managers
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_FIFA_World_Cup_winning_managers
https://www.sportingnews.com/in/soccer/news/brazil-coach-next-manager-selecao/aivw0zhni9hnohwxanr1wo6e
https://www.reuters.com/lifestyle/sports/soccer-ancelotti-brazil-would-be-no-brainer-cbf-president-says-2023-03-26/

Author

ยลดา เวียงสิงขรณ์

เด็กอักษรเอกเยอรมัน เชียร์เชลซีและการท่าเรือ ติดตามนางงามทุกเวที

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น