Feature

การชิงที่สามในฟุตบอลโลก: ประวัติศาสตร์ กับคำถามว่าจำเป็นแค่ไหน และสำคัญอย่างไร? | Main Stand

โครเอเชีย และ โมร็อกโก อกหักพลาดตั๋วเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2022 ด้วยน้ำมือของ อาร์เจนตินา และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ 

 

แต่ทั้งทัพ "ตาหมากรุก" และ "สิงโตแอตลาส" ยังมีอีกโอกาสสำคัญในการทำอันดับในทัวร์นาเมนต์ที่กาตาร์ให้ออกมาดีที่สุด นั่นคือการคว้าอันดับสามฟุตบอลโลกมาครองให้ได้

เกมชิงอันดับสามในทัวร์นาเมนต์ลูกหนังระดับทีมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร การชิงชัยนัดนี้สำคัญแค่ไหน และมีโมเมนต์ที่ชวนให้จำบ้างหรือไม่ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

 

ภาพจำของรางวัลปลอบใจ

มหกรรมกีฬาหลายประเภทมีการแข่งขันนัดชิงอันดับสามที่เสมือนเป็นการแข่งขันที่เป็นดั่ง "รางวัลปลอบใจ" ให้กับทีมกีฬานั้น ๆ กับการจบทัวร์นาเมนต์โดยมีผลงานเป็นที่สามติดมือกลับบ้านไป ที่เห็นได้ชัดสุดก็คงหนีไม่พ้นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ให้ทั้งทีมและนักกีฬานั้น ๆ ขึ้นปะรําพิธีรับรางวัลที่สามร่วมกับรางวัลผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศ

สำหรับทัวร์นาเมนต์ฟุตบอล ในหลาย ๆ การแข่งขันมีเกมนัดชิงที่สาม เช่น ศึกยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก จากฝั่งยุโรป, ฟุตบอลโลกหญิง, โคปา อเมริกา จากฝั่งอเมริกาใต้ รวมถึงมหกรรมฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ทีมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง "ฟุตบอลโลก" 

เมื่อโฟกัสมาที่ฟุตบอลโลก แน่นอนว่าทุก ๆ ทีมที่คว้าสิทธิ์ลงแข่งขันในรอบสุดท้ายล้วนแต่มีฝันสู่การเข้ารอบให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะกับทีมที่เข้ารอบท้าย ๆ ซึ่งปลายทางของเป้าหมายก็คือตำแหน่ง "แชมป์โลก" 

คอฟุตบอลก็คงทราบกันดีว่าโครงสร้างการแข่งขันฟุตบอลโลกถือว่ามีความตรงไปตรงมาและไม่ซับซ้อน เริ่มจากเกมรอบแบ่งกลุ่มไปสู่รอบน็อกเอาต์ และจบลงด้วยนัดตัดสินแชมป์ แน่นอนว่ายังมีอีกหนึ่งรอบแข่งขันที่จัดมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน นั่นคือการชิงอันดับสาม 

หากย้อนประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จะเห็นว่าทุก ๆ ครั้งที่การแข่งขันจะมีทีมที่จบด้วยอันดับสาม จะมีแค่ปี 1930 และ 1950 ที่ไม่ได้มีการชิงชัยแต่เป็นเพียงการจัดอันดับทีมจากผลงานโดยรวมเท่านั้น

ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่อาจมองว่าการแข่งขันชิงอันดับสามอาจดูเป็นเกมที่ไม่ได้ชวนให้ติดตาม เพราะถ้าเรามองแบบผิวเผินก็จะรับรู้แค่ทีมทีมหนึ่งได้เหรียญรางวัลที่เปรียบเสมือนเป็นเหรียญทองแดงสำหรับปลอบใจเท่านั้น 

แม้แต่คนในวงการฟุตบอลเองก็มองว่าการแข่งนัดชิงที่สามไม่สมควรเกิดขึ้น อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล กุนซือมากประสบการณ์ชาวดัตช์ ที่เคยคุม ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ลงแข่งนัดชิงที่สามกับ บราซิล ในฟุตบอลโลก 2014 โดยผลการแข่งขันในวันนั้น อัศวินสีส้มถล่มทัพแซมบ้าในฐานะเจ้าภาพไป 3-0

"แมตช์นี้ไม่ควรเล่น ผมพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว มันไม่ยุติธรรม รางวัลเดียวเท่านั้นที่มีความสำคัญคือการเป็นแชมป์โลก" เฮดโค้ชที่เพิ่งประกาศอำลาทีมชาติเนเธอร์แลนด์หลังจบฟุตบอลโลก 2022 กล่าวกับ BBC เมื่อ 8 ปีก่อน

"สิ่งที่แย่ที่สุดคือมีโอกาสที่คุณจะแพ้ 2 ครั้งติดต่อกันในทัวร์นาเมนต์ที่คุณเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม (การที่ทีมทีมหนึ่งเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศได้) และคุณต้องกลับบ้านในฐานะผู้แพ้"

 

เหตุการณ์ที่ได้รับการจารึก และโอกาสสัมผัสเกมของตัวสำรอง 

ในมุมของฟาน กัล ข้างต้น ใจความสำคัญคือเรื่องสภาพจิตใจโดยรวมของสองทีมที่แข่งขัน โดยเฉพาะกับทีมที่แพ้ และเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงจูงใจในสนาม 

แต่อีกทางหนึ่งการชิงอันดับสามในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายหลาย ๆ ครั้งเปี่ยมไปด้วยเหตุการณ์ที่น่าจดจำ และกลายเป็นในโมเมนต์สำคัญไม่แพ้เหตุการณ์จากเกมในรอบอื่น ๆ 

อย่างในเกมชิงที่สามของฟุตบอลโลก 1958 ที่สวีเดนเป็นเจ้าภาพ เกมระหว่าง ฝรั่งเศส กับ เยอรมันตะวันตก ที่จบลงด้วยชัยชนะของทัพตราไก่ 6-3 พวกเขาได้ ฌุสต์ ฟงแตน ทำคนเดียว 4 ประตู ทำสถิติเป็นดาวซัลโวสูงสุดในฟุตบอลโลกครั้งนั้น และเป็นนักเตะที่ยิงประตูได้มากสุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายใน 1 ทัวร์นาเมนต์ ที่ผลงาน 13 ประตู

เช่นเดียวกับช่วงเวลาในอีก 44 ปีต่อมา เกมนัดชิงที่สามระหว่าง ตุรกี กับ เกาหลีใต้ ได้เกิดสถิติยิงไวสุดในฟุตบอลโลกที่ 11 วินาที จาก ฮาคาน ซูเคอร์ ดาวยิงแดนไก่งวง ผลการแข่งขันวันนั้นตุรกีชนะไป 3-2 เป็นต้น

หรือแม้แต่ผลการแข่งขันในแต่ละครั้งที่เรียกได้ว่ามีความมันแบบไม่ได้ลดหลั่นกันไปจากเกมอื่น ๆ เลย หากมองเกมชิงที่สามตั้งแต่ปี 1954 เรื่อยมาจนถึงหนล่าสุด (2018) ก็จะพบว่ามีแค่ 3 จาก 17 คู่เท่านั้นที่ผลการแข่งขันจบลงด้วยสกอร์ 1-0 นอกจากนั้นในทุก ๆ เกมจะมีประตูที่ยิงกันเกิน 2 ลูกขึ้นไป และที่สำคัญที่สุด ไม่เคยมีเกมที่จบด้วยสกอร์ 0-0 แล้วต้องต่อเวลา (ปี 1986 ฝรั่งเศส เสมอ เบลเยียม 2-2 ก่อนชนะต่อเวลา 4-2)

ปัจจัยในสนามที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเกมนัดชิงที่สาม นั่นคือ "โอกาส" ลงเล่นของบรรดานักเตะที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสร่วมกับทีมชาตินั้น ๆ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมามากมาย 

มิเชล พลาตินี่ กัปตันทีมชาติฝรั่งเศส ลงสนามเป็นตัวจริงตลอดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 1982 และ 1986 ทว่าพอถึงนัดชิงที่สามทัพตราไก่เลือกดร็อปตำนานรายนี้เป็นตัวสำรอง เพื่อเปิดโอกาสให้แข้งที่ได้โอกาสน้อยลงสนามแทน 

หรือแม้แต่ความใส่ใจในขุมกำลังทั้ง 23 คนของเนเธอร์แลนด์ ในเกมชิงอันดับสามฟุตบอลโลก 2014 เมื่อ หลุยส์ ฟาน กัล ส่ง มิเชล วอร์ม ผู้รักษาประตูมือสามลงสนามในช่วงท้ายเกมที่ทีมชนะบราซิล เป็นต้น  

 

เรื่องนอกสนามที่มาพร้อมมูลค่า

นอกจากเรื่องในสนามที่เป็นภาพของการชิงอันดับเพื่อเป็นรางวัลปลอบใจ รวมถึงการเกิดขึ้นของโมเมนต์สำคัญ ๆ และโอกาสของแข้งสำรองแล้ว บทบาทของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ที่มีต่อเกมนัดชิงอันดับสามก็สำคัญไม่แพ้กัน

เพราะทุก ๆ การแข่งขันเกมทางการที่ฟีฟ่าให้การรับรอง นั่นหมายถึงการได้คะแนนเพื่อไต่อันดับแรงกิ้งโลกให้สูงขึ้น และยิ่งมีคะแนนสูง ๆ มากเท่าไรก็มีผลต่อการจัดอันดับเป็นทีมวางในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ในภายหน้า

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ "เงิน" รางวัลของทีมที่คว้าอันดับสามที่ดูล่อตาล่อใจให้ทุกทีมที่ผ่านเข้ามาเล่นในเกมดังกล่าวพร้อมจะสู้ต่อ แถมยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่ามูลค่าของรางวัลจะมีอัตราที่สูงขึ้น ดังตัวอย่างระหว่างปี 2018 และ 2022

as สื่อดังจากประเทศสเปน เปิดเผยตัวเลขมูลค่าของทีมร่วมชิงชัยอันดับสาม ระบุว่าโดยหลักการแล้วทีมที่จบอันดับสามจะได้เงินจำนวน 27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 942 ล้านบาท ขณะที่ทีมอันดับสี่ได้เงินรางวัล 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 872 ล้านบาท 

ในขณะที่รางวัลของทีมอันดับสามและสี่ในเวิลด์คัพ 2018 อยู่ที่ 24 และ 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

"เรตติ้ง" จากการถ่ายทอดสดเกมนัดชิงที่สามก็ชี้ให้เห็นถึงยอดการติดตามชมการถ่ายทอดสดของแฟนฟุตบอลที่ไม่ด้อยไปกว่าการแข่งขันรอบอื่น ๆ โดยหนังสือ "Soccernomics" มีข้อความอธิบายถึงเรตติ้งเกมชิงที่สาม ซึ่ง สวีเดน ถล่ม บัลแกเรีย 4-0 ในฟุตบอลโลก 1994 ว่าแมตช์ดังกล่าวมีเรตติ้งทางโทรทัศน์เมื่อเทียบกับหลาย ๆ คู่ในทัวร์นาเมนต์อยู่ที่ 4.9% และผู้เขียนระบุว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการแข่งขันในรอบรองชนะเลิศเพียง "เล็กน้อย"

16 ปีต่อมากับฟุตบอลโลก 2010 บนแผ่นดินแอฟริกาใต้ ฟีฟ่าเคยเก็บสถิติเรตติ้งที่ถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในเกมชิงที่สาม ระหว่าง อุรุกวัย กับ เยอรมนี (ทีมจากยุโรปชนะ 3-2) ผลคือมียอดคนดูทั้งแบบถ่ายทอดสดและแบบบันทึกเทปสูงเป็นอันดับที่ 14 จากการแข่งขันทั้งหมด 64 นัด คิดเป็นประชากรกว่า 245 ล้านคนที่ชมเกมดังกล่าว 

อีกประการหนึ่ง ว่ากันว่าเกมคู่นี้มีคนทั่วโลกดูมากกว่า 4 จาก 8 คู่ ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และมากกว่า 2 จาก 4 คู่ ในรอบก่อนรองชนะเลิศเสียด้วย

มีคำกล่าวที่ว่า "เหรียญย่อมมีสองด้าน" เกมชิงอันดับสามในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เช่นกัน ในด้านหนึ่งอาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อย่างทีมที่ต้องมาแพ้แบบติด ๆ กัน ส่วนแฟนบอลก็อาจจะไปโฟกัสที่เกมตัดสินแชมป์มากกว่า นั่นเพราะการชิงที่สามไม่ได้มีความสำคัญเท่า 

ทว่าก็มีแง่มุมที่น่าสนใจในอีกทางหนึ่ง เพราะนัดชิงที่สามเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้นักเตะตัวสำรองมีโอกาสได้ลงเล่นในฟุตบอลโลก และชัยชนะของทีมที่ดีกว่าจะช่วยให้คะแนนฟีฟ่าแรงกิ้งของชาติตัวเองเพิ่มขึ้น แถมยังมีมูลค่าจากเรื่องนอกสนามเป็นเครื่องการันตีด้วยอีกทาง

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Third_place_playoff 
https://www.dazn.com/en-US/news/soccer/why-is-there-a-third-place-game-in-the-world-cup-does-either-team-really-want-to-be-there/xur5bcjr7x9p1c1r58s2nmi38  
https://www.sportingnews.com/sg/soccer/news/world-cup-third-place-match-debate-fifa/he6kwgoc4yxbj3rqek9wprwj  
https://sportstar.thehindu.com/football/fifa-world-cup/news/fifa-world-cup-qatar-2022-3rd-third-place-playoffs-croatia-vs-morocco-full-list-of-past-winners-results-cro-mar-stats/article66264160.ece 
https://en.as.com/soccer/is-there-a-third-and-fourth-place-match-in-the-2022-world-cup-why-is-it-important-n/  
https://www.goal.com/en/news/does-the-world-cup-have-a-third-place-play-off/bltb982b7960679e4e6  
https://www.matichon.co.th/sport-slide/news_1042604  
https://www.washingtonpost.com/news/soccer-insider/wp/2014/07/11/why-does-the-third-place-game-exist-at-the-world-cup/  
https://www.bbc.com/sport/football/28243020  

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น