Feature

เจอกันเมื่อชาติต้องการ : “ลีซอ” ชายผู้ไม่เคยปฏิเสธทีมชาติ | Main Stand

นักฟุตบอลหลายคนคร่ำครวญการติดทีมชาติ แต่ใช่ว่าจะได้โอกาสแบบง่ายๆ หากคุณไม่เก่งจริง

 

ขณะเดียวกันนักฟุตบอลบางคนเลือกปฏิเสธทีมชาติ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่คงไม่ใช่สำหรับชายที่ชื่อ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย

ธีรเทพ ติด ทีมชาติไทย ตั้งแต่อายุยังน้อยและกลายเป็นไอดอลของเด็กหลายๆ คน กระทั่งวันนี้ในวัย 37 ปี “ลีซอ” ตัดสินใจแขวนสตั๊ด แต่ไม่เคยมีใครได้ยินคำพูดของเขาที่หลุดออกมาจากปากว่า “เลิกเล่นทีมชาติไทย” แม้แต่ครั้งเดียว จนถึงวันสุดท้ายในการเล่นฟุตบอลอาชีพ

เรื่องราวของ ธีรเทพ ในสีเสื้อ ทีมชาติไทย มีเรื่องราวมากมาย ซึ่ง Ball Thai Stand จะพาไปย้อนอดีตเส้นทางสาย ทีมชาติไทย ของ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย พร้อมๆ กัน....

 

จุดเปลี่ยนชีวิตจากเทนนิสสู่ฟุตบอล

หลายคนย่อมมีจุดเปลี่ยนของชีวิตกันทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน แต่สำหรับ “ลีซอ” จุดเปลี่ยนชีวิตของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กๆ ที่เริ่มจำความได้มาซักระยะ คือการติดสอยห้อยตามคุณพ่อ เทพไชย วิโนทัย ผู้สื่อข่าวกีฬา นสพ.เดลินิวส์ เข้าไปชมฟุตบอลในสนามศุภชลาศัย ซึ่งตอนนั้น ทีมชาติไทย ลงแข่งขัน

สมัยนั้นเมื่อใดที่ ทีมชาติไทย ลงสนามจะการันตีแฟนบอล (เกือบ) เต็มความจุทุกครั้ง บางทีแฟนบอลทะลักลงมาในสนาม ซึ่งครั้งนึง “ลีซอ” เคยอยู่ในเหตุการณ์นั้น 

แต่ความพิเศษที่ ธีรเทพ ได้รับมากกว่าคนอื่นๆ คือการได้ใกล้ชิดนักฟุตบอลทีมชาติ อาทิ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, นที ทองสุขแก้ว, วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ตะวัน ศรีปาน (ชื่อใหม่ ธชตวัน) ฯลฯ เนื่องจากอาชีพของคุณพ่อจะต้องเข้าไปสัมภาษณ์หรือพูดคุยแบบเป็นกันเอง ทำให้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้ “ลีซอ” มีความต้องการเล่นฟุตบอล แทนที่จะเป็น เทนนิส กีฬาที่เขาถูกส่งไปเรียนอย่างจริงจังในตอนนั้น

“ผมเห็นแฟนบอลตะโกนเรียกชื่อ ปิยะพงษ์, เกียรติศักดิ์, ตะวัน แล้วรู้สึกขนลุก ความคิดในตอนนั้นคือผมอยากเป็นคนในสนามและอยากให้แฟนบอลตะโกนเรียกชื่อผมบ้าง มันคงเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ” ลีซอเผย

“นั่นคือแรงบันดาลใจและเป็นโมเมนท์สำคัญในชีวิตผมเลย เพราะหลังจากนั้นผมบอกกับคุณพ่อของผมว่าอยากเล่นฟุตบอล ไม่อยากเล่นเทนนิสแล้ว แต่บางทีถ้าผมเล่นเทนนิส ผมอาจจะเก่งเหมือน ภราดร ก็ได้ 5555”

จากวันนั้นทำให้ “ลีซอ” มุ่งมั่นกับการเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง และตัดสินใจแขวน “แร็กเก็ต” ตั้งแต่ยังไม่เทิร์นโปร และหันมาสวมสตั๊ดอย่างเป็นทางการ

 

เสื้อทีมชาติตัวแรกตั้งแต่อายุ 14

“ลีซอ” เอาจริงเอาจังกับการเล่นฟุตบอลเพื่อเป้าหมายคือการติด ทีมชาติไทย ให้ได้ และอีกแค่ปีเดียวเขาจะได้ทำบัตรประชาชนใบแรกแล้ว แต่สูจิบัตร ทีมชาติไทย ได้เกิดขึ้นก่อน

เมื่อตอนอายุ 14 ขวบ “ลีซอ” ได้สวมเสื้อ ทีมชาติไทย ครั้งแรกเพราะถูกเรียกไปติด ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ที่ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย ศึกยู 17 ชิงแชมป์โลก ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับวงการฟุตบอลไทย เพราะด้วยอายุที่น้อยนิดและต้องแบกถึง 3 ปี ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากๆ ชนิดที่ว่าหากเกิดขึ้นในปัจจุบันคงเป็น “วันเดอร์คิด” ที่มีค่าตัวแพงในเกม Football Manager

ภายใต้การคุมทีมของ สมชาย ยิ้มศิริ ได้เรียก ธีรเทพ มาติดทีมชุดนี้ร่วมกับพี่ๆ ที่อายุมากกว่าเขาทั้งสิ้น แต่น่าเสียดายที่ผลงานของทีมเมื่อไปสู่เวทีโลกต้องพบกับความพ่ายแพ้ในรอบแรกทั้ง 3 เกม คือ แพ้ เม็กซิโก 0-4, แพ้ สเปน 0-6 และ แพ้ กานา 1-7 

แต่ “ลีซอ” ได้โอกาสลงสนามมากถึง 107 นาที ใน 2 เกม คือ วันที่ 13 พ.ย.2542 (ค.ศ.1999) พบ สเปน เปลี่ยนตัวลงสนามนาที 46 แทน สุริยะ อมตเวทย์ และพบ กานา เปลี่ยนตัวลงสนามนาที 28 แทน วสันต์​ สังขพันธ์ ซึ่งเกมกับ กานา นี้เอง มีประตูแรกและประตูเดียวของ ไทย ที่ยิงได้ในฟุตบอลโลก ยู 17 จาก สุริยะ อมตเวทย์ ซึ่งที่มาของประตูนี้มาจากการแย่งบอลของ ธีรเทพ ก่อนนำไปสู่ประตูประวัติศาสตร์

“นี่คือเสื้อ ทีมชาติไทย ตัวแรกของผมเลย ทางทีมให้มาแค่ตัวเดียวใส่ตลอดทัวร์นาเมนท์ มันเป็นเสื้อที่สวยงามมาก มีสกรีนเบอร์ 10 ด้วย”

“ส่วนรายการนั้นมันคือที่สุดในชีวิตผมจริงๆ เพราะนี่คือฟุตบอลโลก แต่ผมอายุแค่ 14 ปีที่ได้เล่นรายการนี้ ผมไม่แน่ใจว่าผมอายุน้อยที่สุดหรือไม่ แต่ต่อให้ผมอายุเต็ม 17 ปี ผมก็ประทับใจอยู่ดี”

“การได้เห็นทีมอย่าง เม็กซิโก, สเปน, กานา และทีมอื่นๆ ลงแข่งขัน เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งตอนนั้นผมจะไม่มีทางรู้เลยถ้าไม่ได้ติดทีมชาติ มันเปิดโลกของผมเป็นอย่างมาก”

และนั่นคือครั้งแรกกับ ทีมชาติไทย และเสื้อตัวแรกที่ ธีรเทพ ได้รับ ซึ่งทุกวันนี้เขายังเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี แต่นานๆ ถามทีก็มีลืมเหมือนกันว่าเก็บไว้ที่ไหน แต่ที่แน่ๆ ใครขอก็ไม่มีทางให้แน่นอน

 

พร้อมเสมอเมื่อชาติต้องการ

ครั้งแรกในวัย 14 ปี กับการข้ามรุ่นไปเล่นชุดยู 17 ซึ่งหลังจากนั้น “ลีซอ” ถูกบรรจุชื่อเข้าสารบบ ทีมชาติไทย อย่างเป็นทางการในทุกรุ่นอายุ ไม่ว่าจะเป็นยู 16, ยู 19, ยู 20, ปรีโอลิมปิก และซีเกมส์ ที่กำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี

นั่นหมายความว่า ธีรเทพ ต้องรับใช้ชาติทุกปีและเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับปัญหา เพราะช่วงอายุประมาณ 16-21 ปี เขาถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ และไปคัดตัวกับ คริสตัล พาเลซ สโมสรชื่อดังในลอนดอน ระดับพรีเมียร์ลีก ทำให้เป็นส่วนหนึ่งในทีมเยาวชนของสโมสร ซึ่งแน่นอนว่าความเป็นมืออาชีพย่อมสูง

“ตอนนั้นปัญหาเดียวที่ผมเจอคือทีมชาติเรียกเก็บตัว 2-3 เดือน ซึ่ง คริสตัล พาเลซ ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่เคยเจอวิธีการเรียกเก็บตัวนานๆ แบบนี้ แต่สโมสรให้ความสำคัญกับการติดทีมชาติของนักฟุตบอลมากๆ เพราะนอกจากเป็นเกียรติประวัติของนักฟุตบอลแล้ว ยังเป็นหน้าตาของสโมสรด้วย เขาจึงปล่อยให้เรามาเก็บตัวกับทีมชาติเป็นเวลานานๆ แต่พอกลับไปก็มีแซวเหมือนกัน เพราะไปนานจนเกือบจำกันไม่ได้”

“ในปัญหานั้นผมว่าเป็นข้อดี เพราะแทนที่ผมจะต้องเหนื่อยกับการเดินทางไปๆ กลับๆ ในระยะเวลาสั้นๆ แต่กลายเป็นว่าเดินทางครั้งเดียวก็อยู่ยาวเลย ดังนั้นจึงไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรค อีกทั้ง คริสตัล พาเลซ ก็สนับสนุนเต็มที่ด้วย ทำให้ผมไม่คิดปฏิเสธทีมชาติเลย”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตลอดการเล่นฟุตบอลของ “ลีซอ” เขาไม่เคยปฏิเสธหรือถอนตัวจาก ทีมชาติไทย แม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งถามย้ำอีกครั้ง “ลีซอ” ก็ยืนยันคำเดิมว่า “ไม่เคย”

“ผมว่าผมโชคดีที่ไม่เคยบาดเจ็บหนักๆ ในช่วงที่ถูกเรียกติดทีมชาติเลย ทำให้พร้อมทุกครั้งที่ถูกเรียกตัว”

“ผมว่าการได้เล่นฟุตบอลมันคือความสุข ยิ่งได้เล่นให้กับ ทีมชาติไทย มันปฏิเสธไม่ได้จริงๆ”

การไม่ปฏิเสธ ทีมชาติไทย ของ “ลีซอ” ทำให้เขามีสถิติคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี 1 สมัย,  เหรียญทองกีฬาซีเกมส์ 4 สมัย, แชมป์คิงส์คัพ 1 สมัย

 

โมเมนท์แย่ๆ เกือบ “แขวนสตั๊ด” เพราะคนคนนึง

ทุกเรื่องราวย่อมมีเรื่องดีและร้าย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะ “ลีซอ” เคยเจอเรื่องราวแย่ๆ เหมือนกัน

“โมเมนท์ดีๆ ผมพูดทั้งวันก็ไม่จบ แต่เรื่องแย่ๆ ก็จำฝังใจจนลืมไม่ลงเหมือนกัน” ลีซอ เริ่มต้นก่อนเผยเรื่องราวของฟุตบอล 4 เส้า เอฟเอ พรีเมียร์ลีก เอเชีย โทรฟี่ บางกอก 2005 นัดชิงชนะเลิศ

“ตอนนั้นประมาณปี 2548 ผมเล่นให้ ทีมชาติไทย ลงเตะกับ โบลตัน วันเดอเรอร์ส จากอังกฤษ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน จังหวะนึงนักเตะ​โบลตันเตะพี่เจ จักรกริช บุญคำ จนลงไปนอนเจ็บ แต่แทนที่นักบอลโบลตันจะขอโทษ กลับตะคอกด่าต่อว่าพี่เจ ซึ่งผมพอฟังรู้เรื่องจึงไปพูดกับเขาให้สงบสติอารมณ์ และ ฮาเวิร์ด เว็บบ์ ผู้ตัดสินในเกมนั้นก็เข้ามาและถามผมว่าทำไมถึงพูดภาษาอังกฤษได้ ผมจึงตอบไปว่าผมเรียนอยู่ที่อังกฤษ หลังจากนั้นจึงเป็นการพูดคุยสนทนากันในจังหวะดังกล่าว”

“แต่หลังจบเกมมีคนในทีมคนนึงซึ่งเป็นผู้ใหญ่ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อและพูดประมาณว่าผมสร้างปัญหาให้กับทีม เพราะชอบไปต่อล้อต่อเถียงผู้ตัดสิน ซึ่งผมมาเห็นจากข่าวในอีกวันนึงทำให้เสียความรู้สึกมากๆ เพราะเขาคือคนในทีมแท้ๆ แต่ไม่เคยถามผมเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในจังหวะนั้น แต่ตัดสินว่าผมเป็นตัวปัญหาและพูดกับสื่อ”

“วันนั้นคุณพ่อมาหา ณ ที่เก็บตัวอาคาร 300 เตียง กกท. ผมได้พูดกับพ่อว่าจะเลิกเล่นฟุตบอล ไม่ใช่แค่เลิกทีมชาติ เพราะรู้สึกแย่มากๆ กับเหตุการณ์นี้ เราทุ่มเทแต่กลับต้องมาเจ็บตัวอะไรแบบนี้ ซึ่งพ่อก็ไม่ห้าม แต่ให้คำปรึกษาที่ดีกับผมมากๆ ทำให้ผมใช้เวลาอีกซักระยะและเลิกความคิดนั้นไป”

แม้เป็นเรื่องราวที่แย่และกระทบต่อจิตใจของ “ลีซอ” แต่อย่างน้อยเป็นสิ่งที่ทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้นและได้พิสูจน์ตัวเองกับ ทีมชาติไทย มาโดยตลอดเหมือนเดิม ที่สำคัญไม่อาจเปลี่ยนความคิดการปฏิเสธทีมชาติของเขาได้เลย ต่อให้บุคคลนี้จะอยู่หรือไม่อยู่ในทีมก็ตาม

 

เลิกเล่นฟุตบอลแต่ยังเป็นแฟนบอลทีมชาติไทย

26 พ.ย.65 Ball Thai Stand เป็นที่แรกในการตีข่าว “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย จะแขวนสตั๊ด ซึ่งเพียงไม่กี่นาทีถัดมาข่าวนี้กระจายออกไปจนเป็นข่าวใหญ่ของวงการฟุตบอลไทยในวันนั้น เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า ธีรเทพ จะเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนยังมีเป้าหมายยิงครบ 100 ประตูใน ไทยลีก อยู่เลย

27 พ.ย.65 เกมนัดสุดท้ายของ ธีรเทพ ในนามสโมสร โปลิศ เทโร เขาถูกส่งลงเป็นตัวจริงพร้อมปลอกแขนกัปตันทีม นำน้องๆ เดินลงสนามเพื่อสู้กับ นครราชสีมา ในเกมนัดสุดท้ายของเลกแรก รีโว ไทยลีก 2022-23 ที่สนามบุณยะจินดา และเหมือนทุกอย่างกำหนดมาเพื่อเขา เมื่อเป็นคนเรียกจุดโทษและลุกขึ้นมาสังหารด้วยตัวเอง เป็นประตูชัยให้ โปลิศ เทโร เปิดบ้านชนะ นครราชสีมา 1-0 ปิดฉากการเล่นฟุตบอลอาชีพอย่างเพอร์เฟค พร้อมสถิติยิง 96 ลูกในลีกสูงสุด

จริงๆ แล้วนั่นควรเป็นเกมสุดท้ายในการเล่นฟุตบอลอาชีพของ “ลีซอ” แต่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องการตอบแทนการเสียสละของ ธีรเทพ กับการรับใช้ ทีมชาติไทย มาอย่างยาวนาน ด้วยการให้แมตช์อุ่นเครื่องกับ ไต้หวัน วันที่ 14 ธ.ค.65 เป็นส่วนหนึ่งในการอำลาสนามอย่างเป็นทางการของ “ลีซอ” กับสีเสื้อ ทีมชาติไทย ซึ่งจะเป็นตัวสุดท้ายในฐานะนักฟุตบอล

ซึ่งแน่นอนว่า ธีรเทพ “ไม่ปฏิเสธ”

“ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดอีกครั้งในการเป็นนักเตะของผม ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีโอกาสได้ติดทีมชาติ จนมาถึงวันที่จะเลิกเล่น ยังได้รับเกียรติจากทีมชาติ ในการจัดแมตช์อำลาถือว่าเป็นอะไรที่เป็นเกียรติที่สุดในชีวิตของเรา จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนวันสุดท้าย”

“จากวันแรกที่ผมได้เล่นให้ ทีมชาติไทย ตอนอายุแค่ 14 ปี ไปแข่งเยาวชน 17 ปี ชิงแชมป์โลก 1999 ที่นิวซีแลนด์ ผมได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่จากทีมชาติมาโดยตลอด จนถึงวันสุดท้าย อยากขอบคุณโค้ชและผู้ใหญ่ทุกคนที่ให้โอกาส” ลีซอ เผย

“ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดการเล่นฟุตบอลของผมไม่ว่าจะกับสโมสรหรือ ทีมชาติไทย จะอยู่ในความทรงจำของผมไปตลอดชีวิต”

แม้เกมนัดสุดท้ายของ “ลีซอ” จะพบกับความพ่ายแพ้ต่อ ไต้หวัน 0-1 แต่การได้ลงเล่น 28 นาที เป็นช่วงเวลาที่จะถูกจดจำไปตลอดชีวิตพร้อมสถิติการเล่นทีมชาติชุดใหญ่ 56 นัด ยิง 19 ประตู ที่ติดตัวไปจนตาย

จากวันที่ 13 พ.ย.2542 ถือเป็นเกมแรกในสีเสื้อ ทีมชาติไทย จนถึง 14 ธ.ค.2565 นัดสุดท้ายกับ ทีมชาติไทย และการเล่นฟุตบอลอาชีพ นับนิ้วได้เป็นเวลา 23 ปีเต็ม ที่ “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย รับใช้ชาติโดยไม่ปฏิเสธแม้แต่ครั้งเดียว จึงเหมาะสมและสมควรด้วยประการทั้งปวงที่เขาจะได้รับการสดุดีจากคนในวงการฟุตบอลและเป็นแบบอย่างของนักฟุตบอลทุกคนในการเล่นเพื่อ ทีมชาติไทย

“คนทุกคนเกิดมาก็ควรตอบแทนแผ่นดิน ไม่ว่าทางใดก็ตาม ซึ่งผมถนัดที่สุดคือฟุตบอล ฉะนั้นการเล่นให้ ทีมชาติไทย จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากๆ ผมไม่เคยคิดปฏิเสธหรืออยากอำลาเลย และหลังจากนี้ผมก็จะไม่ปฏิเสธ ทีมชาติไทย เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนสถานะจากนักฟุตบอลเป็นแฟนบอล” ธีรเทพ กล่าวปิดท้าย

 

ที่มา :

https://web.facebook.com/BallThaiVintage/photos/%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%86%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9F%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%99-17-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-1999%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1/304631920320283/?_rdc=1&_rdr
https://web.archive.org/web/20180823174340/https://www.fifa.com/u17worldcup/matches/round=3612/match=18479/index.html
https://web.archive.org/web/20180823174309/https://www.fifa.com/u17worldcup/matches/round=3612/match=18481/index.html
https://web.facebook.com/ballthaistand/posts/pfbid0CmjkAaT92ABcXYjjC1L9S3PNgvCrb7kiKfeTp9JrkoqK9FCiFnvEbFPM5DmaPwDgl?_rdc=1&_rdr

Author

ธรรมวัตร เอกฉัตร

"เรื่องบอลไทยไว้ใจผม แต่ภรรยาผมกับไม่เคยไว้ใจผมเลย"

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น