Feature

ใต้ความงดงาม : มุมมืดที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมการเก็บขยะของชาวญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก | Main Stand

ทีมชาติญี่ปุ่น ปิดฉากเส้นทางของตัวเองในฟุตบอลโลก 2022 ไว้ที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย หลังแพ้ดวลจุดโทษต่อ โครเอเชีย หลังจากที่เสมอกัน 1-1 ในช่วงเวลา 120 นาที ทำให้เป้าหมายที่พวกเขาต้องการผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้นยังไม่กลายเป็นจริง

 

อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลการแข่งขันของญี่ปุ่นจะออกมาดีหรือร้าย สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอในเกมที่เหล่าขุนพลนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นก้าวเท้าลงสนามเพื่อทำศึกกับคู่แข่ง นั่นคือการที่แฟนบอลญี่ปุ่นต่างร่วมด้วยช่วยกันเก็บขยะบนอัฒจันทร์หลังจบเกมอย่างขยันขันแข็ง จนกลายเป็นภาพจำอันสวยงามที่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนรักความสะอาดมาก จากมุมมองของแฟนบอลทั่วโลก

แต่จิตสำนึกอันงดงามนี้ที่หลาย ๆ คนต่างรู้สึกชื่นชอบก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวตนของคนญี่ปุ่นทุกคน เพราะนอกจากจะมีบางคนที่ไม่สามารถพาตัวเองหลอมรวมเข้ากับจิตสำนึกการรักความสะอาดที่คนส่วนใหญ่ในชาติตัวเองยึดถือแล้ว มันยังกลายเป็นปัญหาที่เข้ามาปั่นป่วนการใช้ชีวิตของพวกเขาเสียด้วยซ้ำ

จุดเริ่มต้นของจิตสำนึกเกี่ยวกับการรักความสะอาดของคนญี่ปุ่นเกิดขึ้นมาจากอะไร ? แล้วปัญหาที่พวกเขาต้องเจอจากจิตสำนึกที่งดงามเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand

 

รากฐานจากเรื่องราวในอดีต

จิตสำนึกรักความสะอาดของคนญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในสังคมของพวกเขา แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยมีที่มาจากความเชื่อและประวัติศาสตร์ในอดีตของพวกเขา

จากประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่มของยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) ญี่ปุ่นภายใต้การปกครองของ โทกุงาวะ อิเอยาสึ โชกุนรุ่นที่ 1 ของยุคเอโดะ ที่เปิดรับและทำการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น นำไปสู่การเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นอย่างล้นหลามของชาวตะวันตกในช่วงเวลานั้น 

ทำให้เวลาต่อมา โทกุงาวะ ฮิเดทาดะ โชกุนรุ่นที่ 2 เห็นว่าการเข้ามาที่มากขึ้นของชาวตะวันตกจะทำให้เกิดความสั่นคลอนทางอำนาจของตัวเอง เพราะเหล่าไดเมียวหรือเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ อาจมีการจับมือกับชาติตะวันตกแบบลับ ๆ ในการก่อกบฏแย่งชิงอำนาจจากโชกุน จึงได้มีการออกกฎหมายที่สร้างภาระหน้าที่ต่าง ๆ มากขึ้นแก่เหล่าเจ้าเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาคิดต่อต้านโชกุนได้ง่าย ๆ 

จากนั้น โทกุงาวะ อิเอมิตสึ โชกุนรุ่นที่ 3 ได้เพิ่มข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อควบคุมและลดอำนาจของไดเมียวลงไปอีก ด้วยระบบ “ซังคินโคไท” ที่บังคับให้ไดเมียวต้องสร้างถนน สะพานข้ามแม่น้ำ และทำนุบำรุงหัวเมืองของตนเองให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำให้ไดเมียวสูญเสียเงิน เวลา และกำลังคน จนไม่สามารถหาโอกาสก่อความไม่สงบต่อโชกุนได้
 
รวมถึงบังคับให้ไดเมียวแต่ละเมืองต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองเอโดะเป็นเวลา 1 ปี สลับกับอยู่ที่เมืองของตนอีก 1 ปี ทำให้ไดเมียวต้องนำกำลังคนของตนเองติดตามมาอยู่ด้วย ทำให้ช่วงยุคสมัยเอโดะมีประชากรอยู่ในเมืองเอโดะกันอย่างหนาแน่นเกินกว่า 1 ล้านคน เมื่อมีผู้คนจากหลาย ๆ ที่เข้ามาก็ทำให้เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของต่าง ๆ ที่ตนเองมี รวมถึงมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรตามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้อิเอมิตสึรู้สึกสบายใจ เพราะการมีเศรษฐกิจที่ดีก็ทำให้การเข้ามาของชาวตะวันตกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งมันอาจทำให้เกิดการซ่องสุมอำนาจของไดเมียวจากการคบค้ากับต่างชาติ อิเอมิตสึจึงตัดสินใจห้ามไม่ไห้ญี่ปุ่นทำการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศปิดประเทศเป็นเวลากว่าร้อยปี โดยการปิดประเทศครั้งนี้ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางออกจากเมืองบ้านเกิดของตนได้ 

เมื่อคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นไม่สามารถเดินทางออกจากเมืองของตนได้ ดังนั้นถ้าถูกขับไล่ออกจากเมืองเมื่อไรจะทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่และกลายเป็นคนร่อนเร่พเนจร ผู้คนในสมัยนั้นจึงถูกสั่งสอนอยู่เสมอว่าอย่าสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น เพราะเมื่อใดที่ถูกขับไล่ออกไปจะไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้

และจากจุดนี้เองที่ทำให้คนญี่ปุ่นในยุคหลังจากนั้นถูกปลูกฝังความคิดนี้ลงไปในจิตใจพวกเขามาเป็นเวลากว่า 400 ปี จนทำให้นิสัยของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน พวกเขาให้ความสำคัญกับความสะอาดเพราะสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสังคมและสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม

ส่วนตามหลักความเชื่อ ก่อนที่คนญี่ปุ่นจะนับถือศาสนาพุทธกันเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขานับถือหลักความเชื่อของลัทธิชินโต ซึ่งเป็นหลักความเชื่อว่าด้วยการมีอยู่ของเทพเจ้ามากมายนับไม่ถ้วนตามแหล่งธรรมชาติ ไม่ว่าจะในป่า ภูเขา ทะเล แม่น้ำ ลำธาร หรือแม้แต่ในสายลม โดยการรักษาความสะอาดตามพื้นที่ต่าง ๆ ของคนญี่ปุ่นก็นับเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าที่อยู่ในทุก ๆ ที่

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ญี่ปุ่นมีจิตสำนึกรักความสะอาดอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพราะนิสัยอีกอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นก็มีส่วนทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขกับการได้ทำแบบนี้เช่นกัน

 

ทำทุกอย่างให้เป็น “ศิลปะ”

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องการทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาในแต่ละวันเต็มไปด้วย “ศิลปะ” เพื่อให้พวกเขามีความสุขกับการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากการทำอาหารญี่ปุ่นที่มีศิลปะในการออกแบบและจัดวางอาหารออกมาให้สวยงาม เช่น ซูชิ, ข้าวกล่องเบนโตะ

รวมถึงราเมนที่มีวิธีการรับประทานอย่างมีศิลปะ โดยจะต้องคีบเส้นราเมนขึ้นมาสูดเสียงดัง ๆ เพื่อเป็นการแสดงออกว่ากำลังกินอย่างเอร็ดอร่อยด้วยการซดเส้นทั้งหมดเข้าไปในปากโดยไม่กัดเส้นให้ขาดระหว่างการซด เป็นต้น

สำหรับการทิ้งขยะเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีจิตสำนึกรักความสะอาดของคนญี่ปุ่นนั้น พวกเขาก็มีศิลปะเป็นของตัวเองเช่นกัน โดยมีกฎระเบียบการทิ้งขยะที่ต้องปฏิบัติ นั่นคือ “การคัดแยกขยะ” ก่อนที่จะทิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อในบางครั้งแต่ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม โดยแต่บ้านจะต้องคัดแยกขยะให้เรียบร้อยก่อนที่นำมาทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะเผาได้ หรือเผาไม่ได้

นอกจากนี้ยังมี “ปฏิทินวันทิ้งขยะ” โดยจะมีพนักงานเก็บขยะมาเก็บขยะตามวัน เช่น วันจันทร์ จะเก็บเฉพาะขวด วันศุกร์ เก็บเฉพาะกระดาษ หากบ้านไหนนำขยะมาทิ้งโดยไม่แยกก่อนหรือทิ้งไม่ตรงตามปฏิทินวันทิ้งขยะ ก็อาจจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่มากจากพนักงานเก็บขยะ หรือถึงขั้นร้ายแรงจนพวกเขาต้องเข้าคุกเข้าตารางเพียงแค่ขยะชิ้นเดียวก็ได้ เช่น การทิ้งขยะขนาดใหญ่ เช่น โทรทัศน์ หรือเครื่องซักผ้า ที่จะต้องมีการเรียกเจ้าหน้าที่เก็บขยะพิเศษโดยเฉพาะ พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า หากไม่ได้ทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทิ้งขยะลักษณะดังกล่าว จะถือเป็นการทิ้งแบบผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 5 ปี หรือถูกปรับได้ถึงสูงสุด 10 ล้านเยน (ประมาณ 3 ล้านบาท)

การทำเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นเมืองที่สะอาด เพราะการร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบ แม้จะเป็นเริ่องที่น่าเบื่อแต่พวกเขาก็ต้องทำเพื่อความสุขของตัวเองและประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากนี้ความตรงต่อเวลาก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เห็นได้จากหลายสิ่งในประเทศญี่ปุ่น ยกตัวอย่างเช่นการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟที่นอกจากจะให้ความรวดเร็วสะดวกสบายแก่ประชาชนแล้วยังแม่นยำเรื่องเวลาการเดินรถ

เมื่อจัดการกับเวลาได้ก็มีส่วนที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีเวลาสำหรับการให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่เราจะได้เห็นภาพของแฟนบอลญี่ปุ่นร่วมกันเก็บขยะบนอัฒจันทร์หลังจบเกมการแข่งขัน ซึ่งพวกเขาก็มักจะได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกอยู่เสมอ

แต่ก็ใช่ว่าคนญี่ปุ่นทุกคนจะสามารถทำตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดและถูกเชื่อว่าเป็นศิลปะอันงดงามเหล่านี้ได้ แม้รัฐบาลจะมอบปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อกับการทิ้งขยะอย่างมีคุณภาพแล้วก็ตาม

 

อีกด้านของความงดงาม

แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่สะอาดที่สุดในโลก แต่นั่นดูจะไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว เพราะถ้าหากเราลองเข้าไปในบ้านของคนในประเทศญี่ปุ่นสักหลังหนึ่ง ไม่แน่ว่าเราอาจจะเจอกับกองขยะจำนวนมหาศาลก็เป็นได้

เพราะอะไร ? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

ด้วยสาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเน้นระเบียบวินัยเป็นพิเศษทำให้เป็นที่มาที่ทำให้กฎหมายการแยกขยะเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเองต้องการยกระดับให้ทุกจุดของประเทศสะอาดเอี่ยม และเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของต่างประเทศ  

แต่ถ้าถามว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบอย่างไรกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ต้องยอมรับว่ามันได้สร้างความตึงเครียดให้กับประชาชนอยู่พอสมควร

แน่นอนว่ามันก็อยู่ที่วินัยของแต่ละคนว่าจะจัดการอย่างไรกับขยะในบ้านของตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่ากฎระเบียบการทิ้งขยะอันเคร่งครัดที่รัฐบาลนำมาใช้กับประชาชนก็มีส่วนที่ทำให้คนญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่ทิ้งขยะที่บริเวณหน้าบ้าน แต่กลับเก็บขยะเอาไว้ในบ้านแทน เพราะกลัวว่าตัวเองจะทิ้งขยะไม่ถูกตามข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายจนบางคนก็สับสนว่าทิ้งขยะชิ้นนี้เวลานี้จะถูกกฎหรือไม่

แล้วถ้าใครที่ทิ้งขยะไม่ถูกต้องตามกฎคน ๆ นั้นก็จะถูกปรับหรือเลวร้ายที่สุดคือถูกจับเข้าคุกเพียงเพราะขยะถุงเดียวเลยก็ได้

แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่บทลงโทษที่แย่ที่สุดสำหรับคนที่ทิ้งขยะไม่ถูกต้องตามกฎ เพราะสิ่งที่อาจตามมาหลังจากนั้นคือการถูกเพื่อนบ้านเพ่งเล็งว่าเป็นคนแปลกแยกได้

คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อมากในเรื่องการบูลลี่คนที่ทำตัวเป็นแกะดำแม้จะไม่ได้ตั้งใจเป็นก็ตาม โดยเป็นการเมินเฉยต่อคน ๆ นั้นจนเปรียบเสมือนธาตุอากาศ ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง จนนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายที่ยังคงมีอยู่เรื่อย ๆ ของญี่ปุ่น

ดังนั้นการทิ้งขยะของญี่ปุ่นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การทิ้งขยะให้มันจบ ๆ ไป แต่ทุกครั้งก่อนที่จะทิ้งขยะสักอย่างพวกเขาจะต้องคิดไตร่ตรองอย่างถึงที่สุด ไม่เช่นนั้นชีวิตของพวกเขาอาจจะเข้าสู่ความมืดมิดเพียงเพราะขยะชิ้นเดียว

นอกจากนี้เหตุผลของการที่คนญี่ปุ่นบางคนเก็บขยะเอาไว้ในบ้านก็ไม่ได้มาจากตัวกฎระเบียบการทิ้งขยะอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดของญี่ปุ่น เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนทำงานหนักจนไม่มีเวลาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับการคัดแยกขยะก่อนทิ้งตามกฎนั้น บางคนก็ไม่มีเวลาในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุที่บ้านบางหลังในญี่ปุ่นเต็มไปด้วยกองขยะ

ทุกคนในญี่ปุ่นต่างก็ทราบในเรื่องนี้ดี แต่ทำไมพวกเขายังคงนิ่งเฉยต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่

 

เป็นหนทางที่ดีสุด

ทุก ๆ คนหรือแม้กระทั่งรัฐบาลของญี่ปุ่นนั้นทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรบางอย่างที่มันเป็นเรื่องเลวร้ายขึ้นกับวัฒนธรรมการทิ้งขยะของพวกเขา แต่พวกเขาก็คิดว่ามันเป็นการตัดสินใจทำในสิ่งดีที่สุดแล้ว เพราะประโยชน์ส่วนรวมคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศ การที่พื้นที่ส่วนบุคคลจะสกปรกก็ยังดีกว่าการมีพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยขยะ

พวกเขายอมที่จะให้บางคนสูญเสียความสุขของตัวเองไปจากการมีขยะเต็มบ้าน เพื่อให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่งดงามในสายตาของคนทั้งโลก เพราะอย่างน้อยการเก็บขยะไว้ในบ้านก็ยังช่วยให้พื้นที่ข้างนอกคงความสะอาดอยู่ 

สิ่งที่สะท้อนความที่ญี่ปุ่นมักยอมแลกบางสิ่งไปเพื่อให้ประเทศพวกเขาได้รับการยอมรับจากโลกมากที่สุด เห็นได้จากการอาสาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ในขณะที่ช่วงเวลานั้นประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาคนในประเทศติดเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก ทางฝ่ายจัดการแข่งขันก็ยังยืนกรานที่จะจัดการแข่งขันต่อไป แม้จะมีประชาชนในประเทศบางส่วนไม่อยากให้จัดแล้วก็ตาม


สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมองว่าความงดงามที่เกิดจากการช่วยกันเก็บขยะหลังจบเกมของแฟนบอลญี่ปุ่นนั้นควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติหรือไม่ เพราะสำหรับมุมมองของคนญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นความงดงามอะไร และเป็นเพียงเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขาเท่านั้น

 

แหล่งอ้างอิง

https://meetsmore.com/services/unwanted-item-pick-up/media/13069
https://sugukataduketai.com/gomidame/trash-house-suterarenai/
https://www.jgbthai.com/japanese-garbage-trash/
https://www.tofugu.com/japan/garbage-in-japan/
https://www.japan-guide.com/e/e2222.html

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา