เมื่อเอ่ยถึงภูมิภาคยุโรปที่น่าจับตามองด้านฟุตบอลที่สุด แน่นอนว่า ดินแดน "คาบสมุทรบอลข่าน" (Balkan Peninsula) จะต้องผุดขึ้นมาอยู่ในหัวของแฟนบอลลำดับแรก ๆ เป็นแน่
เพราะทีมในภูมิภาคนี้มักจะสร้างเซอร์ไพร์สให้แก่แฟนบอลได้เสมอ นับตั้งแต่ ยูโกสลาเวีย ที่คว้าอันดับ 4 ได้ในปี 1962 เรื่อยมาจนถึงตำนานผมทอง โรมาเนีย ในปี 1998 ไปจนถึงการก้าวเป็นรองแชมป์โลกของ โครเอเชีย ในปี 2018
หากแต่ในฟุตบอลร่วมสมัยสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพร์สสำหรับวงการฟุตบอลแถบบอลข่านที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การคว้าอันดับที่ 4 สุดยิ่งใหญ่ในฟุตบอลโลก 1994 ของ ทีมชาติบัลแกเรีย อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
Main Stand จะพาไปย้อนรอยความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่ครั้งหนึ่งจากชาติเล็ก ๆ ในบอลข่านที่มีประชากรไม่ถึง 7 ล้านคน ว่าพลพรรค "ราชสีห์บอลข่าน" มีเคล็ดลับอะไร ? มีความตื้นลึกหนาบางอย่างไร ? ในการคว้าความสำเร็จครานี้ให้มาอยู่มือ
เน้นเข้าร่วม ไม่เน้นเข้ารอบ
ในความเป็นจริงนั้น ทีมชาติบัลแกเรีย ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นทีมที่ขี้ริ้วขี้เหร่ ทำผลงานได้อ่อนปวกเปียก หรือเป็นม้านอกสายตา กลับกันพลพรรคราชสีห์บอลข่านกลับมีผลงานสุดสะเด่า โดยเฉพาะในการแข่งขันฟุตบอลชายโอลิมปิก ปี 1956 ที่ทีมไปได้ไกลถึงการคว้าเหรียญทองแดง (เป็นปีที่ทีมชาติไทยเข้าร่วมครั้งแรก)
ทีมชุดนั้นได้รับการต่อยอดไปอีกขั้นแม้จะพลาดการคว้าตั๋วฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนยุโรป ในปี 1958 ไป หากแต่ในกาลต่อ ๆ มาบัลแกเรียก็แทบจะผูกขาดโควตา รวมถึงมีการเติมผู้เล่นใหม่ ๆ ผสมผสานกับชุดเดิม จนกลายเป็นทีมที่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก ทำให้พวกเขาได้เข้าไปแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 4 สมัยติดต่อกัน (1962-1974)
มิหนำซ้ำในปี 1968 ยังสามารถคว้าเหรียญเงิน ในการแข่งขันฟุตบอลชายโอลิมปิก มาเป็นเกียรติยศคั่นกลางได้อีกด้วย แม้จะน่าเสียดายที่แพ้ ฮังการี ชุด "ไมตี้ แมกยาร์" ช่วงท้าย ๆ ไป 4-1 ก็ตาม (รอบแบ่งกลุ่มถล่มทีมชาติไทยไป 7-0)
โดยพิจารณาลงไปในในรายละเอียด ในแต่ละปีบัลแกเรียนั้นฝ่าด่านหินในรอบคัดเลือกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการชนะ ฝรั่งเศส และกอดคอเข้ารอบในปี 1962 เขี่ย เบลเยียม ตกรอบในปี 1966 ถลุง โปแลนด์ และ เนเธอแลนด์ ในปี 1970 รวมถึงสอย โปรตุเกส ที่มี ยูเซบิโอ ในปี 1974 เรียกได้ว่ามีผลงานไม่ธรรมดาอย่างมาก
เพียงแต่เมื่อเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายจริง ๆ บัลแกเรียกลับเล่นได้ "ผิดฟอร์ม" ไม่เหมือนที่เคยทำได้ นั่นเพราะความเก่งของบัลแกเรียนั้นเป็น "ภาพลวงหลอกตา" เมื่อไปปะทะกับทีมชาติระดับบิ๊กเนมจากทวีปอื่น ๆ ที่มีความเก่งกาจมากกว่าคู่แข่งโซนเดียวกันในรอบคัดเลือก
ทั้งการเจอ ฮังการี ยุคปลายไมตี้ แมกยาร์ ถล่มไป 6-1 ในปี 1962 และย้ำไปอีก 3-1 ในปี 1966 ที่โดน เยอรมันตะวันตก ไล่ถลุงไป 5-2 ในปี 1970 และโดน เนเธอร์แลนด์ แก้แค้นจากรอบคัดเลือก 4 ปีก่อนไปด้วยสกอร์ 4-1
ด้วยสกอร์ที่ขาดขนาดนี้คงต้องยอบรับว่าบัลแกเรียนั้น "เจอของจริง" และทำเอาไปไม่เป็นเลยทีเดียว จึงทำให้พวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มไป 4 สมัยรวดตามระเบียบ
แม้จะดูน่าผิดหวัง หากแต่เมื่อพิจารณาว่าบัลแกเรียเป็นประเทศที่อยู่หลัง "ม่านเหล็ก" ในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ลัทธิสตาลิน มาจากสหภาพโซเวียตทั้งกระบิ ภายหลังจากการที่พวกฝ่ายซ้าย นำโดย ยอร์จี ดิมิทรอฟ (Georgi Dimitrov) ทำการรัฐประหารประเทศในปี 1944 และสถาปนาตนขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ โทโดร์ ชิฟคอฟ (Todor Zhivkov) ปกครองไปยาว ๆ กว่า 30 ปี
ด้วยตัวระบอบการปกครองทำให้บัลแกเรียมีลักษณะเป็นประเทศปิด เน้นคุยแต่กับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง และทางการก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก หรือแม้กระทั่งการรับชุดวิธีคิดแบบฝั่งเสรีเข้ามา แน่นอนว่าเมื่ิอเป็นเช่นนี้จึงส่งผลมายังวงการฟุตบอลให้มีคุณภาพของการพัฒนา เทรนนิ่ง และฝึกซ้อมกันแบบ "ตามมีตามเกิด" มีองค์ความรู้เท่าไรก็ใช้เท่านั้น
จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายกย่องอย่างมากที่พลพรรคราชสีห์บอลข่านทำได้ถึงระดับนี้ การที่ผู้คนคิดว่าบัลแกเรียนั้นเป็นทีมรองบ่อนจึงถือว่า "อันเดอร์เรต" เกินไปสักหน่อย หากแต่ผลงานที่ไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มสักปีก็อาจจะวกกลับมาบอกได้ว่า แท้จริงนั้นบัลแกเรียเองก็ยังเก่งไม่สุดสักที
และเมื่อทีมชุดที่แข็งแกร่งนี้มาถึงจุดที่อยู่ในวัยที่ใกล้ปลดระวาง และนักเตะเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ไม่สามารถขึ้นมาทดแทนได้ นั่นจึงทำให้ ฟุตบอลโลก 1978 และ 1982 บัลแกเรียจะตกรอบคัดเลือกไปแบบไม่ได้ลุ้น
แม้จะใช้ระยะเวลานานแต่ก็ยังดีที่จากนั้นเกือบทศวรรษวงการฟุตบอลบัลแกเรียสามารถสร้างนักเตะขึ้นมาทดแทนได้ โดยกระทำผ่านสโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศที่กำกับดูแลโดยองค์กรตำรวจอย่าง ซีเอสเคเอ โซเฟีย และ เลสฟกี โซเฟีย ซึ่งที่จริงทั้งซีเอสเคเอและเลฟสกีผลิตนักเตะป้อนให้กับทีมชาติมาช้านาน หากแต่ครานี้กลับมีความพิเศษกว่าครั้งไหน ๆ
นั่นเพราะตอนนั้นทางการเริ่มที่จะมีการผ่อนปรนให้นักฟุตบอลฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์ในประเทศสามารถไปค้าแข้งยังต่างแดนได้ตามแต่ทางการเห็นสมควร จึงเป็นเหมือนแรงจูงใจให้นักเตะเค้นฟอร์มของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ไปเปิดกะลา เรียนรู้ สัมผัสกับดีกรีฟุตบอลที่เข้มข้นมากขึ้น
พลพรรคราชสีห์บอลข่านจึงเหมือนกลับจากหลุม ฟื้นจากไข้ และพลิกกลับมาทำผลงานได้อย่างสุดยอด ผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโลก 1986 ได้สำเร็จ พร้อมกับการไปค้าแข้งที่ฝรั่งเศสของ พลาเมน มาร์คอฟ (Plamen Markov) และ อันเดรย์ เชลยาซคอฟ (Andrey Zhelyazkov) สองแนวรุกคนสำคัญของทีมกับ สตาร์สบูร์ก และ เม็ตซ์
แม้จะล้างอาถรรพ์ผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ได้เป็นผลสำเร็จจากการจบอันดับ 3 ที่ดีที่สุด โดยอยู่ในกลุ่มสุดหินที่มีทั้งอิตาลีที่นำทัพโดย เปาโล รอสซี่ และอาร์เจนตินาที่นำทัพโดย ดิเอโก้ มาราโดน่า ไปได้ แต่หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่า บัลแกเรีย ทำผลงานเสมอ 2 แพ้ 1 เข้ารอบไปโดยไม่ชนะใครอย่างเหลือเชื่อ และไม่ชนะแม้กระทั่ง เกาหลีใต้ ทีมรองบ่อนของกลุ่ม (เสมอ 1-1)
ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ารอบแบบ "ทำบุญมาเยอะ" เช่นนี้ เมื่อพบกับทีมที่เข้ารอบมาด้วยฝีมือจริง ๆ อย่าง เม็กซิโก ที่ได้เปรียบจากการเป็นเจ้าภาพ จึงทำให้บัลแกเรียสู้ไม่ได้ พ่ายไป 2-0 กลับบ้านแบบไม่ได้ลุ้น
แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะต่อมาบัลแกเรียจะได้ขุมกำลังระดับ "เทพบุตรสวรรค์ประทาน" และบรรดาสมัครพรรคพวกรุ่นราวคราวเดียวกับเขาที่จะเปลี่ยนวิถีทางของทีมชาติไปตลอดกาล
ฮริสโตและผองเพื่อน ผลงานสะท้านโลกันตร์
ไม่ว่าจะอาชีพใด วงการใด หรือประเทศใดก็ตามจะต้องมีสักบุคคลหนึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ก้าวขึ้นมาโดดเด่น อยู่เหนือใคร ๆ ทั้งมวล ที่จะเป็นความหวังที่ประชาชนรอคอยมานานแสนนานได้ ในวงการฟุตบอลบัลแกเรียบุรุษคนนั้นมีชื่อว่า ฮริสโต สตอยช์คอฟ (Hristo Stoichkov)
ฮริสโตฉายแววความเทพในตนเองมาตั้งแต่อายุราว 10-11 ปีกับทีมในท้องถิ่น ก่อนที่จะลงเล่นอาชีพในระดับดิวิชั่น 3 กับทีมเฮอบรอซ โดยถล่มประตูไป 14 ลูกด้วยวัยเพียง 16 ปี ก่อนที่ในปี 1985 ซีเอสเคเอ โซเฟีย จะไม่รอช้ารีบยื่นสัญญา 5 ปีให้กับเขาทันทีในวัย 19 ปี
แม้ฝีเท้าอันหาตัวจับยากจะทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง หากแต่ความอารมณ์ร้อนของเขาก็ได้สร้างชื่อเสียง (ในแง่ลบ) ให้กับเขาด้วยเช่นกัน นั่นเพราะฮริสโตติดนิสัย "เปิดก่อนตลอด" เวลาลงสนาม เมื่อได้รับการยั่วยุหรือเล่นไม่ได้ดั่งใจนึก ผลร้ายแรงที่ตามมาจึงเกิดขึ้นในการแข่งขันบัลแกเรียน คัพ รอบชิงชนะเลิศ 1985 ที่พบกับ เลฟสกี โซเฟีย วันนั้นเกิดเหตุชุลมุนในสนามจากการวิวาทกันของนักเตะ ภายหลังมีการสืบทราบว่าฮริสโตเป็นหนึ่งในชนวนครั้งนั้น
แน่นอนทางการตัดสินบังคับให้ ซีเอสเคเอ โซเฟีย ต้องยุบทีมทันที และตัดสินใจ "แบนฮริสโตตลอดชีวิต" โดยห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลบัลแกเรียไม่ว่ากรณีใด ๆ หากแต่ในภายหลังได้มีลับลมคมในบางอย่างที่ขอทางการไว้ว่า เด็กคนนี้เทพจริงและจะกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติในอนาคต โทษจึงลดลงเหลือ "แบนหนึ่งปี" เท่านั้น
อาจจะด้วยเหตุนี้ที่ทำให้เขาพลาดการประเดิมรับใช้ชาติในฟุตบอลโลก 1986 รวมถึงนักเตะอื่น ๆ จาก ซีเอสเคเอ โซเฟีย ที่เป็นกำลังหลักด้วย จึงทำให้ผลงานออกมาดังที่กล่าวไป
หลังจากกลับมาจากการแบนกว่าปี ฮริสโตก็ค่อย ๆ บ่มเพาะตนเองในลีกเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครื่องจักผลิตสกอร์ เรียกได้ว่าตัวเขานั้นใหญ่เกินกว่าจะเล่นในบัลแกเรียไปแล้ว และในที่สุดเขาก็ทำผลงานยิง 38 ประตูจาก 30 แมตช์ในลีกบัลแกเรีย ฤดูกาล 1989-90 คว้ารางวัล European Golden Boot ดาวซัลโวแห่งยุโรปไปครอง
แต่ไม่ว่าจะทำผลงานได้ดีแค่ไหนหรือเป็นความหวังของชาติแค่ไหนแต่เหรียญย่อมมีสองด้าน เพราะทางการไม่ยอมปล่อยให้เขาไปค้าแข้งยังต่างประเทศเสียที ด้วยความกลัวกว่าหากฮริสโตออกจากประเทศไปครั้งหนึ่งแล้วจะไม่หวนกลับมาอีก จึงได้แต่ปล่อยนักเตะที่มีอายุประมาณหนึ่งออกไป (ประมาณ 27-28 ปีเหมือนชาติอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออก)
แต่ในช่วงคาบเกี่ยวกันนี้เองก็ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ฝันของฮริสโตเป็นจริงขึ้นมาแทรก
นั่นเพราะในปี 1989 บัลแกเรียเกิดการ "ปฏิวัติ" ขึ้นจากกระแสการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตที่โงนเงนจะล้มไม่ล้มแหล่ จึงเป็นโอกาสให้มวลชนลุกฮือขึ้นมาเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่บริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จมานาน และเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย
ผลพวงที่ตามมาจึงทำให้นักฟุตบอลภายในประเทศสามารถออกไปค้าแข้งยังต่างแดนได้อย่างเสรี หรือหากมีสโมสรจากต่างแดนใด ๆ อยากดึงตัวนักเตะในลีกบัลแกเรียไปร่วมทีมก็สามารถทำได้โดยอิสระเช่นกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเข้าทาง โยฮัน ครัฟฟ์ ผู้จัดการสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลน่าอย่างมาก เขาไม่รอช้าที่จะยื่นสัญญาให้ฮริสโตมาเข้าร่วมทัพอาซูลกรานาทันที จากการที่เขาสังเกตฟอร์มการเล่นของแข้งพรสวรรค์รายนี้มานาน และถูกอกถูกใจ อยากได้มายืนกองหน้าตัวหลักเพื่อสร้าง "ดรีมทีม" ในระบบการเล่นของครัฟฟ์
และแน่นอนว่าครัฟฟ์คิดถูก ฮริสโตเป็นกำลังหลักในแผน "โททัลฟุตบอล" อันเลื่องชื่อ แม้จะไม่ได้ยิงกระจุยกระจายตามแบบฉบับกองหน้าคนอื่น ๆ หากแต่เขานั้นมีส่วนร่วมกับเกมอย่างมาก ทั้งลงมาเชื่อมเกม ต่อบอล เล่นบอลกับเท้า ทำแอสซิสต์ หรือแม้กระทั่งลงมาช่วยเกมรับ ฮริสโตทำได้ดีอย่างไม่มีที่ติ ซึ่งตรงนี้ถือว่าตรงตามตำรานักเตะที่เหมาะกับแนวโททัลฟุตบอลเป็นอย่างมาก
รวมทั้งฮริสโตเป็นกำลังสำคัญช่วยให้บาร์เซโลน่าคว้าความสำเร็จระดับฟุตบอลถ้วยยุโรป จากการเอาชนะ ซามพ์โดเรีย ไป 1-0 คว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ ฤดูกาล 1991-92 ไปครองอย่างยิ่งใหญ่
แต่ก็ใช่ว่าฮริสโตจะเป็นแข้งต่างแดนเพียงคนเดียวของบัลแกเรีย ยังมีคนอื่น ๆ ในเจเนอเรชันใกล้เคียงกันอพยพมาวาดลวดลายยังฟุตบอลยุโรปตะวันตกอีกด้วย
เอมิล คอสตาดินอฟ (Emil Kostadinov) เจ้าของฉายา "ปีกพลังยาม้า" จอมแอสซิสต์ให้กับฮริสโตในซีเอสเคเอ โซเฟีย บ่อย ๆ ก็ได้ย้ายเข้ามากระชากลากเลื้อยให้กับ เอฟซี ปอร์โต และไม่นานเขาก็ได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลเสียด้วย
ยอร์ดาน เลตช์คอฟ (Yordan Letchkov) เจ้าของฉายา "พ่อมดแดนกลาง" ซึ่งถือเป็นกองกลางตัวรุกที่มีทักษะการออกตัวที่ไวกว่ากองกลางทุกคนในบัลแกเรีย แถมยังเติมเกมรุกมาพังประตูได้บ่อย ๆ ก็มาโชว์ลีลาสปรินต์กับ ฮัมบูร์ก เอสเฟา
ตริฟอน อิบานอฟ (Trifon Ivanov) ปราการหลังสุดแกร่งกับทรงผมมูลเลท์สุดเท่ ก็ได้มาวาดลวดลายที่ เรอัล เบติส
หรือรุ่นพี่ของฮริสโตอย่าง โบริซลาฟ มิไฮลอฟ (Borislav Mihaylov) มือกาวมากประสบการณ์ ที่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพฟุตบอลบัลแกเรีย ก็ผ่านการลงสนามในฟุตบอลโลก 1986 ในฐานะมือหนึ่งทีมชาติ และได้กรุยทางค้าแข้งมายัง เบเลเนนเซ่ และ มูลูซ สองทีมกลางตารางแห่งโปรตุเกสและฝรั่งเศสอีกด้วย
ภายใต้อาภรณ์ "ทรีคูโลริเท" (Трикольорите) นักฟุตบอลที่กล่าวมานั้นได้รีดเค้นฟอร์มที่อยู่เหนือกว่าเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ในประเทศออกมาอย่างสุดความสามารถ และโชว์ให้เห็นว่าการออกมาค้าแข้งยังต่างแดนช่วยพัฒนาศักยภาพของพวกเขาได้มากขนาดไหน
ผลงานในรอบคัดเลือก พลพรรคราชสีห์บอลข่านจับสลากมาอยู่กลุ่มเดียวกับสองทีมวางสุดแกร่งอย่าง ฝรั่งเศส และ สวีเดน ร่วมกับ ออสเตรีย ฟินแลนด์ และ อิสราเอล
ก่อนแข่งขันครบโปรแกรม หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ฝรั่งเศส และ สวีเดน จะกอดคอกันเข้ารอบได้อย่างสบาย ๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศสน่าจะเข้ารอบเป็นแชมป์กลุ่มได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องมารอลุ้นว่าฝรั่งเศสจะทำแต้มได้เท่าไรเท่านั้น
หากแต่เมื่อลงสนามเหตุการณ์กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเสียเฉย ๆ
ในแมตช์เปิดสนามของ ฝรั่งเศส ดันไปพลาดท่าแพ้ให้กับ บัลแกเรีย ไปแบบเหลือเชื่อ 2-0 ทั้งที่มีสตาร์ล้นทีม มีทั้งกองหลังอย่าง ดิดิเยร์ เดสชองป์ส กองกลางอย่าง เอ็มมานูเอล เปอตีต์ และสามกองหน้าระดับท็อปอย่าง ฌ็อง ปิแอร์ ปาแปง, ดาวิด ชิโนลา และ เอริค คันโตนา อยู่ในทีม
นั่นเพราะ ฝรั่งเศส ประมาทฮริสโตและผองเพื่อนมากเกินไป ด้วยความคิดว่าทีมนี้มีคนเก่งอยู่เพียงคนเดียว หากแต่บัลแกเรียนั้นรวมกันจนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างมาก อาจจะด้วยนักเตะแกนหลักแม้จะแตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วลีกใหญ่แต่ก็มีพื้นฐานพื้นเพเดียวกัน นั่นคือ ซีเอสเคเอ โซเฟีย ดังนั้นการเล่นจึงเป็นไปแบบมองตาก็รู้ใจ สอดประสานกันได้อย่างดีเยี่ยม และทำลายทีมแกร่งอย่างฝรั่งเศสลงได้สำเร็จ
บัลแกเรียยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดย มิไฮลอฟ พี่ใหญ่ของทีม รับบทกัปตันทีมและยืนเฝ้าเสาโชว์ฟอร์มได้อย่างเหนียวหนึบ อิบานอฟ ยืนเป็นปราการหลังที่ไว้ใจได้ ไม่มีจังหวะพลาดหรือเหวอให้เห็น เลตช์คอฟ คุมจังหวะในแดนกลางและวิ่งขึ้นมาเติมเกมรุกบ่อยครั้ง คอสตาดินอฟ ใช้สกิลปีกวิ่งไม่มีหมด คอยป้อนบอลให้เพื่อนร่วมทีมเสมอ ส่วน ฮริสโต ถือเป็นคีย์เพลเยอร์ ที่ทั้งยิงทั้งจ่ายช่วยให้พลพรรคราชสีห์บอลข่านมีลุ้นเข้ารอบอย่างน่าเหลือเชื่อ
เมื่อเห็นอย่างนี้ สวีเดน จึงไม่กล้าประมาท พยายามเล่นแบบเน้น ๆ กับบัลแกเรีย และในท้ายที่สุดก็เก็บผลงานชนะและเสมอมาได้ ผ่านเข้ารอบปิดจ็อบของตนเองไปได้ก่อน
ส่วนฝรั่งเศสนั้นออกอาการเป๋อย่างเห็นได้ชัด ถึงขนาดที่ต้องมาลุ้นเข้ารอบถึงแมตช์สุดท้าย ซึ่งก็เหมือนชะตาฟ้าลิขิต เพราะคู่ต่อสู้ของพลพรรคตราไก่ก็คือ บัลแกเรีย ที่เคยฝากรอยแผลเป็นไว้นั่นเอง
แมตช์นี้บังคับให้บัลแกเรียต้องชนะสถานเดียวจึงจะเข้ารอบ สถานการณ์เช่นนี้เหมือนจะทำให้ฝรั่งเศสได้เปรียบอย่างมาก เล่นแบบใดก็ได้ไม่เสียหาย ขอแค่ยันเสมอได้ก็เข้ารอบทันที ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น เมื่อฝรั่งเศสออกนำก่อนจาก เอริค คันโตนา ในนาทีที่ 30 แต่ไม่รู้ว่าเพราะเกิดความกดดันตนเองหรือความประมาท ในนาทีที่ 37 คอสตาดินอฟ ก็มาโหม่งประตูตีเสมอให้กับบัลแกเรียชนิดยืนโหม่งโล่ง ๆ ไม่มีใครเข้ามาประกบ จบครึ่งแรกเสมอกันอยู่ 1-1
ครึ่งหลังฝรั่งเศสใช้กลเม็ดแบบ "ดึงเกม" เคาะกันไปกันมา ส่งคืนหลังทุกจังหวะ เพราะรู้ว่าสกอร์เท่านี้ก็เพียงพอต่อการเข้ารอบแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าหลังจากนั้นหายนะกำลังคลืบคลานเข้ามาใกล้
ดาวิด ชิโนลา พยายามดึงเกมแถวมุมธงฝั่งบัลแกเรีย แต่ไม่รู้ว่านึกครึ้มอะไรเจ้าตัวดันเปิดโด่งไปอีกฝั่งแบบไร้ทิศทาง ส่งผลให้บัลแกเรียได้สวนกลับ และโป้งปิดบัญชีเข้าไปด้วยเท้าขวาของ คอสตาดินอฟ คนเดิมในนาทีสุดท้าย
บัลแกเรีย เข้ารอบเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่ม เขี่ยฝรั่งเศสตกรอบไปแบบชอกช้ำ
ก่อนที่จะต่อยอดจากจุดนี้ไปทำผลงานสุดสะเด่ายิ่งขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1994
ประกาศศักดา ณ ดินแดนเสรีภาพ
ผลงานระดับมาสเตอร์พีชในรอบแบ่งกลุ่มนี้ทำให้ทีมชาติบัลแกเรียที่นำทัพโดยฮริสโตและผองเพื่อนได้รับสมญาว่า "โกลเดน เจเนอเรชั่น" เลยทีเดียว และเมื่อมีสมญาเช่นนี้ย่อมหมายความว่าทีมต้องแบกรับความคาดหวังที่สูงลิ่ว มากกว่าการเข้าแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งไหน ๆ ที่ผ่านมา
อาจจะเพราะเหตุนี้ทำให้แมตช์เปิดสนาม กลุ่มดี บัลแกเรียดันเล่นไม่ออก ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด และพ่ายแพ้ให้กับ ไนจีเรีย ทีมม้านอกสายตาจากแอฟริกา ไปแบบหมดสภาพ 3-0 เรียกได้ว่าไนจีเรียแทบจะกลายเป็นตัวเต็งม้ามืดชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว
หากแต่โชคยังคงเข้าข้างพลพรรคราชสีห์บอลข่าน เมื่อ อาร์เจนตินา ดันโชว์ฟอร์มแบบผีเข้าไล่ถล่ม กรีซ ทีมแกร่งจากยุโรปไปแบบไม่ไว้หน้าถึง 4-0 ซึ่งผลเช่นนี้ได้จุดประกายความหวังให้กับบัลแกเรียทันที เพราะอย่างน้อยก็ยังไม่ได้จมบ๊วยหรือโดนยิงเยอะที่สุด และยังได้รู้อีกว่ากรีซนั้นอ่อนยวบลงไปกว่าตอนรอบคัดเลือกเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นว่ายังพอมีหนทางในการผ่านเข้ารอบไปได้
แน่นอนว่าแมตช์ต่อมา บัลแกเรีย จึงแก้ตัวไล่ถล่ม กรีซ ไป 4-0 โดยที่ผลของอีกคู่ก็เป็นใจ นั่นเพราะ อาร์เจนตินา ชนะ ไนจีเรีย ไป 2-1 ทำให้สถานการณ์คือ บัลแกเรีย และ ไนจีเรีย มี 3 คะแนนเท่ากัน แต่บัลแกเรียเป็นรองเรื่องประตูได้-เสีย ผลจึงต้องไปวัดกับไนจีเรียในแมตช์สุดท้าย
ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเพราะอาร์เจนตินาเข้ารอบไปแล้วหรือบัลแกเรียไปได้แรงฮึดมาจากไหน จากที่พลพรรคฟ้าขาวพับสนามบุกและคุมเกมได้อยู่หมัดในครึ่งแรกอยู่ดี ๆ ครึ่งหลังกลับพลาดท่าให้กับฮริสโตที่รับบอลโยนยาวจากกลางสนามหลุดเดี่ยวเข้าไปยิงให้บัลแกเรียออกนำ 1-0 ในนาที 61
และที่พีกไปกว่านั้นคือในนาทีที่ 90+3 นาซโค ชิราคอฟ (Nasko Sirakov) กองกลางขรัวเฒ่าได้โอกาสเติมขึ้นมาโหม่งทำประตูเข้าไปแบบหน้าตาเฉย ชัยชนะในแมตช์นี้ส่งผลให้ บัลแกเรีย ขยับเข้ารอบเป็นอันดับที่ 2 ทันที และเขี่ย อาร์เจนตินา ตกไปเป็นอันดับที่ 3 ชนิดช็อกแฟนบอลฟ้าขาวเป็นอย่างมาก แม้สุดท้ายจะได้เข้ารอบตามไปก็ตาม
โดยรอบน็อกเอาต์ บัลแกเรีย จะได้ทำการรีแมตช์กับ เม็กซิโก อีกครั้ง ซึ่งพลพรรคเอลทรีนั้นคือทีมที่เคยฝากรอยแผลเอาไว้แก่บัลแกเรียในฟุตบอลโลก 1986 จากการเขี่ยตกรอบไปแบบนิ่ม ๆ แต่มาครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน เพราะบัลแกเรียทีมนี้แข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แต่เม็กซิโกก็คือเม็กซิโก บิ๊กทีมแห่งคอนคาเคฟทีมนี้ใช่ว่าจะเคี้ยวได้ง่าย ๆ แม้บัลแกเรียจะได้ประตูขึ้นนำตั้งแต่ไก่โห่ จากฮริสโตเจ้าเก่า แต่เม็กซิโกก็ตามตีเสมอจาก กลาเซีย อาสป์ จบเกมและช่วงต่อเวลาพิเศษก็ยังทำอะไรกันไม่ได้ เสมอไป 1-1 ต้องดวลจุดโทษตัดสิน
ซึ่งแมตช์วันนั้นแฟนบอลบัลแกเรียต้องขอบคุณ มิไฮลอฟ กัปตันทีมชาติ นอกเหนือจากฮริสโต เพราะดันฟอร์มผีเข้าเซฟจุดโทษได้ถึง 3 ลูก พลาดไป 1 ลูก แต่ก็เป็นผลให้ บัลแกเรีย ชนะไป 3-1 เข้ารอบต่อไปเจองานสุดหินอย่าง เยอรมนี
คืนก่อนการแข่งขัน ดิมิทาร์ เพเนฟ (Dimitar Penev) ผู้จัดการทีมชาติบัลแกเรียมีความเครียดเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าจะรับมือกับเยอรมนีอย่างไรดี แต่ อิบานอฟ กองหลังคนสำคัญได้กล่าวกับเขาว่า "ใจร่ม ๆ เจ้านาย ด้วยการเล่นแบบสยองขวัญที่ผมจะมอบให้ พวกเยอรมันจะต้องกลัวตายห่าแน่ รูดี โฟลเลอร์ จะร่วงคาสนาม เพราะสัมผัสได้ถึงลมหายใจของผม" ก่อนจะหันมาตะโกนกับทีมว่า "เอ้า ! 1 2 3 ลุย !!!" ก่อนที่จะร่วมฉลองวันเกิดให้เจ้านายและเลตช์คอฟ เพื่อนร่วมทีม
แต่การปลุกใจดังกล่าวเกือบจะเป็นแค่ราคาคุย เพราะ โลธาร์ มัทเธอุส ยิงจุดโทษให้พลพรรคอินทรีเหล็กขึ้นนำก่อน หากแต่ตอนนั้นความมั่นใจของบัลแกเรียกำลังมา แต่ดันเป็นพวกเครื่องร้อนช้าต้องมีเงื่อนไขให้อยู่ในสถานการณ์ลำบากจึงจะเฉิดฉาย ฮริสโต และ เลตช์คอฟ เหมาคนละประตูในนาทีไล่เลี่ยกันให้ทีมชนะไป 2-1 แบบเหลือเชื่อ
สำหรับประเทศเล็ก ๆ ในทวีปยุโรป การมาไกลได้ถึงขนาดนี้ถือว่าเกินฝันแล้ว
ในรอบรองชนะเลิศที่พบกับ อิตาลี อาจจะด้วยความคิดดังกล่าวหรือเพราะที่ผ่านมา บัลแกเรีย เจอแต่ทีมที่เน้นเปิดเกมรุกใส่ตลอดโดยยังไม่ได้มีโอกาสพบกับเกมรับเต็มสตรีมแบบคาเตนัชโชจึงทำให้โดนขึ้นนำไปก่อน 2 ลูก จากผลงานของ โรแบร์โต้ บาจโจ้ ที่ก็โดดเด่นในทัวร์นาเมนต์ไม่ต่างจากฮริสโต และถึงแม้ว่าฮริสโตจะฮึดทำประตูไล่มาได้ หากแต่ต้องปะทะกับบรมเกมรับเช่นนี้ทำให้เจาะเท่าไรก็เจาะไม่เข้า พ่ายแพ้ไป 2-1
ส่วนแมตช์ชิงที่ 3 บัลแกเรียกลับมาผิดฟอร์มเอาตอนนี้เลยทำให้แพ้ต่อ สวีเดน ทีมที่เคยประมือในรอบคัดเลือกมาก่อน ไปแบบหมดสภาพ 4-0
แต่กระนั้นการได้อันดับที่ 4 ก็ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร พร้อมส่งให้ ฮริสโต สตอยช์คอฟ คว้ารางวัลดาวซัลโวฟุตบอลโลก 1994 ร่วมกับ โอเล็ค ซาเลนโค ที่จำนวน 6 ประตู พร้อมทั้งยังได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิตนักฟุตบอลกับการคว้ารางวัล บัลลง ดอร์ ในปี 1994
ทั้งนี้ บัลแกเรีย ยังเป็นทีมจากบอลข่านทีมแรกที่มาไกลได้ถึงขนาดนี้ ซึ่งก็ได้เป็นชนวนจุดประกายให้ทีมจากภูมิภาคเดียวกันโชว์ผลงานสุดสะเด่าในกาลต่อ ๆ มา พร้อมทั้งส่งสัญญาณเตือนไปทั่วทุกมุมโลกว่าจะประมาททีมจากบอลข่านไม่ได้อีกต่อไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.postpravdamagazine.com/bulgaria-1994-world-cup/
https://lastwordonsports.com/football/2020/09/24/a-brief-history-of-bulgarias-world-cup-campaigns/
https://inbedwithmaradona.com/journal/2016/10/12/bulgaria-1994
https://web.archive.org/web/20151125044251/http://www.fifa.com/fifa-tournaments/players-coaches/people=58455/profile.html
https://www.theguardian.com/football/2020/aug/10/golden-goal-yordan-letchkov-for-bulgaria-v-germany-1994
บทความ Hristo the ‘Terrible’, Stoitchkov the misunderstood: a biographical sketch of Bulgaria’s most famous athlete
บทความ Soccer, popular music and national consciousness in post‐state‐socialist Bulgaria, 1994–96