Feature

วีวีเอส มอสโก : ทีมรวมยอดแข้งโซเวียตของลูกชายสตาลิน ที่ต้องล่มสลายในเวลาไม่ถึง 10 ปี | Main Stand

ในช่วงทศวรรษที่ 1940s-1950s มีสโมสรเกิดใหม่ขึ้นมาท้าทายความยิ่งใหญ่ของ ซีเอสเคเอ มอสโก และ ดินาโม มอสโก สองมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลสหภาพโซเวียต 

 

ชื่อของพวกเขาคือ วีวีเอส มอสโก สโมสรกีฬาของกองทัพอากาศประจำกรุงมอสโก ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นแต่เต็มไปด้วยเม็ดเงินและอำนาจ ภายใต้การนำของ วาซิลี สตาลิน ลูกชายของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสูงสุดในตอนนั้น 

อย่างไรก็ดีแม้จะเต็มไปด้วยยอดนักเตะและมีผู้มีอิทธิพลคนสำคัญหนุนหลัง แต่พวกเขากลับดำรงอยู่ได้ไม่ถึง 10 ปี 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

สโมสรกีฬาของกองทัพ 

แม้ว่า วีวีเอส เอ็มวีโอ มอสโก หรือ วีวีเอส จะเป็นสโมสรที่ชื่อไม่คุ้นหู แถมตัวย่อของมันก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเกี่ยวกับอะไร แต่มันก็เป็นหนึ่งในสโมสรที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่ โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำของสหภาพโซเวียตเรืองอำนาจ 

มันก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1944 ในฐานะสโมสรกีฬาของโรงเรียนการบินในมอสโก และชื่อ VVS MVO ก็มาจาก Voenno Vozdushnye Sily Moskovskogo Voïennogo Okrouga ที่แปลว่า "สโมสรกองทัพอากาศแห่งเขตทหารมอสโก" ในภาษารัสเซีย 

แน่นอนว่าวีวีเอสก็เหมือนกับสโมสรอื่นในประเทศที่มีหลากหลายชนิดกีฬาอยู่ในสโมสร ไม่ว่าจะเป็น ยิมนาสติก ขี่ม้า หรือว่ายน้ำ รวมไปถึงกีฬายอดนิยมอย่าง ฮอกกี้น้ำแข็ง บาสเกตบอล และฟุตบอล ทว่าที่โดดเด่นที่สุดของพวกเขาคงจะเป็นสามอย่างหลัง 

โดยเฉพาะฮอกกี้น้ำแข็งที่วีวีเอสมีผลงานระดับแนวหน้าของประเทศจากการคว้าแชมป์โซเวียต แชมเปี้ยนชิพ 3 สมัย และ ยูเอสเอสอาร์คัพ อีกหนึ่งครั้ง ส่วนบาสเกตบอลก็ไม่น้อยหน้า เมื่อวีวีเอสสามารถก้าวขึ้นไปครองแชมป์ของโซเวียตได้ในปี 1952 

"กีฬากลายเป็นนิยามของการฝึกเพื่อเตรียมเป็นทหารและบรรลุมาตรฐานความฟิตและการป้องกันประเทศอย่างเปิดเผย" เจมส์ ริออร์แดน นักประวัติศาสตร์ด้านกีฬา กล่าวในบทความวิชาการ Totalitarianism And Sport In Russia

สำหรับทีมฟุตบอลของพวกเขา แม้ว่าอาจจะมีผลงานที่กระท่อนกระแท่นในช่วงแรก หลังออกสตาร์ทในลีกระดับ 2 ในปี 1945 แต่หลังจากเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดในปีต่อมา พวกเขาก็กลายเป็นทีมที่น่าจับตา 

ไม่ว่าจะเป็นการรอดตกชั้นอย่างสบายในปี 1948 หรือการจบในอันดับ 4 ของตารางในปี 1950 รวมถึงการผ่านเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วยของประเทศในปีต่อมา 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวีวีเอสไม่ใช่ผลการแข่งขัน แต่กลับเป็นเรื่องราวนอกสนาม 

 

ทีมของลูกชายสตาลิน 

หลังสงครามโลกจบลงในปี 1945 การแข่งขันฟุตบอลก็กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ในตอนนั้นสหภาพโซเวียตมีสองทีมที่เรืองอำนาจคือ ซีเอสเคเอ มอสโก ของกองทัพบก และ ดินาโม มอสโก ของตำรวจ 

พวกเขาพยายามทำให้ทีมของตัวเองแข็งแกร่งและได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้นสายพาสตาร์ของทีมให้อยู่ห่างจากแนวหน้ามากที่สุด หรือเสริมทัพด้วยการแย่งกันดึงนักเตะเก่ง ๆ จากทีมที่ถูกยุบไปในช่วงสงครามโลก 

และการที่ทั้งคู่มีเจ้าของเป็นผู้คุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จจึงทำให้พวกเขาสามารถสู้กันได้อย่างสูสีทั้งในและนอกสนาม จวบจบกระทั่งการขึ้นมาของ วีวีเอส ที่มี วาซิลี สตาลิน ลูกชายของ โจเซฟ สตาลิน เป็นเจ้าของ 

เขาคือลูกชายของสตาลินที่เกิดกับ นาเดสดา ลิลิลูเยวา ภรรยาคนที่สอง และมีชีวิตวัยเด็กที่น่าเศร้า หลังแม่เสียชีวิตไปตอนเขาอายุ 11 ปี ส่วนพ่อก็หายหน้าไปโดยส่งสาวใช้และเจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติการลับมาดูแลและรักษาความปลอดภัยเท่านั้น  

วาซิลีไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพอากาศเขตมอสโกที่ทำให้เขาได้เป็นประธานสโมสรวีวีเอสโดยอัตโนมัติ จากผลงานอันยอดเยี่ยมในฐานะนักบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

และนับตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง วาซิลีก็มุ่งมั่นที่จะทำให้วีวีเอสกลายเป็นสโมสรที่สามารถแข่งขันกับยอดทีมของโซเวียตได้อย่างอย่างทัดเทียม ด้วยการยกเครื่องทีมใหม่หมดตั้งแต่ต้น 

ทั้งการสร้างศูนย์กีฬาแบบครบวงจรสำหรับนักกีฬาทุกคนในสโมสรรวมแล้วกว่า 300 ชีวิตที่สวนสาธารณะคัลตูรี ในมอสโก หรือการใช้อำนาจและอิทธิพลจากนามสกุล "สตาลิน" ดึงผู้เล่นเก่ง ๆ จากทีมคู่แข่งมาร่วมทัพ 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วีวีเอสเหมือนได้รับการอัปเกรดครั้งใหม่ทำให้พวกเขาอุดมไปด้วยยอดนักเตะที่หลายคนขึ้นไปติดทีมชาติในเวลาต่อมา และอยู่ในทีมชุดเหรียญทองฟุตบอลโอลิมปิก 1952 

ไม่ว่าจะเป็น วเซโวลอด โบบรอฟ ดาวยิงจากซีเอสเคเอ เจ้าของสถิตินักเตะคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองได้ในโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว (จากฟุตบอลและฮอกกี้น้ำแข็ง), คอนสแตนติน ครีเชฟสกี กองหลังจากคริเลีย โซเวตอฟ คูอิบิเชฟ หรือ โกวอซ ดเชดเซฟวา หนึ่งในกองหน้าที่ดีที่สุดของโซเวียตจากดินาโม ทบิลิซี 

อย่างไรก็ดีอาจจะฟังเป็นเรื่องตลกร้าย เมื่อสิ่งที่วาซิลีใช้มัดใจนักเตะล้วนตรงข้ามกับความเป็นคอมมิวนิสต์ที่เน้นการมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันและปราศจากชนชั้น นั่นคือการให้สิทธิพิเศษ ทั้งให้อพาร์ตเมนต์สุดหรู การเลื่อนตำแหน่งทางการทหาร ไปจนถึงค่าแรงแบบไม่อั้นสำหรับเหล่าซูเปอร์สตาร์

อันที่จริงมันเป็นโมเดลที่ทำมาก่อนกับทีมฮอกกี้น้ำแข็ง ที่ในปี 1948 วีวีเอสดึงตัวผู้เล่นตัวจริงของ สปาร์ตัก มอสโก มาเกือบทั้งทีม รวมถึงทีมอื่น ๆ ร่วมลีก และทำให้วีวีเอสคว้าแชมป์ได้สามสมัยติดต่อกันในช่วงปี 1950-1953 

ทว่าหมากในการต่อสู้ไม่ได้มีแค่นักเตะเท่านั้น

 

ชิงอำนาจผ่านฟุตบอล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 1950s บุคคลที่น่าหวั่นเกรงที่สุดรองลงมาจาก โจเซฟ สตาลิน คือ ลาเวนติ เบเรีย ผู้บังคับบัญชาหน่วยตำรวจลับของสหภาพโซเวียต และผู้อุปถัมป์คนสำคัญของ ดินาโม มอสโก หนึ่งในทีมที่เรืองอำนาจในตอนนั้น 

แต่วาซิลีไม่เคยเกรงกลัวชายคนนี้ เพราะเขารู้ดีว่ามีใครหนุนหลัง ทำให้เขาสามารถต่อกรกับเบเรียได้อย่างสูสี โดยเฉพาะกับเกมฟุตบอล ผ่านอำนาจทางการเมืองที่มีอยู่เต็มเปี่ยม 

ในตอนนั้นเบเรียเพิ่งจะใช้อำนาจมืดตัดตอน สปาร์ตัก มอสโก อีกหนึ่งทีมคู่แข่ง ด้วยการสั่งจำคุก นิโคไล สตารอสติน ผู้ก่อตั้งสโมสรและน้องชายของเขา ต่อด้วยการลงโทษด้วยการส่งไปใช้แรงงานอย่างหนักเป็นระยะเวลา 10 ปีด้วยข้อหากบฏ 

มันคือการตัดเสี้ยนหนาม เนื่องจากสปาร์ตักคืออีกหนึ่งทีมแกร่งที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวบนของตาราง และการกำจัดสตารอสตินก็อาจจะทำให้ดินาโมมีงานที่ง่ายขึ้นในการขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ 

อย่างไรก็ดีวาซิลีไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น ขณะที่สตารอสตินกำลังรับโทษก็ได้รับโทรศัพท์ทางไกลที่ปลายสายก็คือวาซิลี เขาบอกว่าเขาสามารถพาสตารอสตินกลับมามอสโกได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมาเป็นโค้ชให้ทีมวีวีเอสของเขา 

อันที่จริงสำหรับคนที่โดนข้อหากบฏจะถูกลงโทษให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองที่ตั้งอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรรอบกรุงมอสโก ซึ่งประกอบไปด้วย 16 เมืองทั่วโซเวียต แต่ในเมื่อคนที่อนุญาตคือลูกชายของสตาลิน อะไรก็เป็นไปได้หมด 

แต่ใช่ว่าเบเรียจะยอม เขาตอบโต้ด้วยการห้ามเครื่องบินที่มาจากเมืองคอมโซโมลค์ลงจอด เพื่อไม่ให้สตารอสตินกลับมามอสโกได้ แต่สุดท้ายผู้ก่อตั้งสโมสรสปาร์ตักก็ได้พบกับวาซิลีจนได้ และวาซิลีก็ยืนยันว่าสตารอสตินจะได้กลับไปอยู่ที่อพาร์ตเมนต์หลังเดิมพร้อมกับลูกและครอบครัว 

"ยิ่งผมเข้าใกล้ถนนสปิโดนอฟกามากเท่าไร ผมก็ยิ่งเข้าใจสิ่งที่ผมคิดถึงมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือความรู้สึกว่ามีใครบางคนกำลังรอเราอยู่" สตารอสติน กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น

"และตอนที่ผมข้ามธรณีประตูของอพาร์ตเมนต์ก็เห็นภรรยาและลูกสาวกำลังร้องไห้ ผมจึงตระหนักได้ว่าสำหรับผู้ชายคนหนึ่งคงต้องการสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เพื่อความสุขเท่านั้น" 

อย่างไรก็ดีความสุขของเขาก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อเบเรียโต้กลับด้วยการยกเลิกการลงทะเบียนที่อยู่ของเขา และทำให้สตารอสตินต้องออกจากมอสโกภายใน 24 ชั่วโมง แต่วาซิลีก็แก้ลำด้วยการพาสตารอสตินไปอยู่ด้วยที่เซฟเฮาส์ 

สตารอสตินยังคงเป็นหมากทางการเมืองระหว่างวาซิลีและเบเรียอยู่พักใหญ่ หลังจากนั้นสตารอสตินที่ทนการถูกจำกัดบริเวณไม่ไหวจึงหนีออกมาแล้วมาโดนทางการจับ ก่อนคนของวาซิลีจะช่วยไว้แล้วพากลับมามอสโกอีกครั้ง 

สุดท้ายเมื่อรู้ว่าไม่ว่าเขาจะพยายามช่วยสตารอสตินเท่าไหนก็จะยิ่งทำให้ครอบครัวของผู้ก่อตั้งสปาร์ตักต้องเผชิญกับอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เขาจึงยอมปล่อยสตารอสตินไป แม้ว่าจะต้องเสียผู้จัดการฝีมือดีไปก็ตาม 

และมันก็คือช่วงท้าย ๆ ของความยิ่งใหญ่ของวีวีเอสเช่นกัน 

 

เปลี่ยนแผ่นดิน 

โจเซฟ สตาลิน ครองอำนาจมาได้ถึงปี 1953 ก็เป็นอันสิ้นสุด หลังเขาเสียชีวิตด้วยภาวะเลือดออกในสมอง และทำให้คนที่ถูกคุมขังหรือนักโทษทางการเมืองผู้เห็นต่างที่โดนเขาจับกุมได้รับอิสระ รวมถึงพี่น้องสตารอสตินที่ได้รับอนุญาตให้กลับมามอสโก 

ทว่ามันกลับเป็นข่าวร้ายสำหรับวาซิลี เพราะการตายของพ่อทำให้เขาไร้คนที่จะมาปกป้องและหนุนหลัง หลังจากนั้นไม่ถึงสองเดือนวาซิลีก็ถูกเบเรียศัตรูเก่าที่ขึ้นมากุมอำนาจสั่งจำคุกในข้อหากบฏ 

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้วีวีเอสล่มสลาย เมื่อการต้องอยู่ในคุกทำให้ทีมไร้คนอุปถัมภ์ ก่อนที่ทีมจะถูกยุบอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 1953 หรือ 2 เดือนหลังสตาลินเสียชีวิต 

อย่างไรก็ดีแม้ว่าทางการจะบอกว่าเหตุผลที่ทำให้ทีมไปต่อไม่ได้เนื่องมาจากปัญหาทางการเงิน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่ามันเป็นผลต่อเนื่องมาจากนโยบาย Destalinisation หรือสลายลัทธิสตาลิน ที่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้นำเผด็จการคนนี้ต้องถูกกำจัดภายใต้การนำของ นิกิตา ครุสเชฟ ผู้ครองอำนาจคนใหม่ 

มันคือเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เบเรียอดีตหัวหน้าหน่วยตำรวจลับถูกจับกุมในเวลาต่อมา ก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาหนักคือ ทรยศประเทศ, ก่อการร้าย และต่อต้านการปฏิวัติในช่วงสงครามกลางเมือง 1919

ส่วนวาซิลียังคงถูกคุมขัง และถูกส่งไปใช้แรงงานหนักในชื่อปลอมที่ค่ายกักกัน จนถึงปี 1960 จึงได้กลับมารับราชการอีกครั้งในช่วงสั้น ๆ ก่อนจะเสียชีวิตไปด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังจากการเป็นคนดื่มหนักมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ ในปี 1962 ด้วยวัยเพียง 40 ปี 

สำหรับวีวีเอส แม้ว่าสโมสรจะไม่เคยขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของฟุตบอลโซเวียต แต่มันก็ได้ทิ้งเรื่องราวอันน่าทึ่ง และเครื่องเตือนใจถึงความอันตราย หากฟุตบอลไปเกี่ยวข้องกับระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง

เพราะไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://beyondthelastman.com/2017/02/21/vvs-moscow-vasily-stalins-toy/ 
https://www.rbth.com/history/333550-starostin-brothers 
https://inf.news/en/history/407347d4a891cf00d0189e5e343f8a1a.html 
https://theboar.org/2019/12/sport-and-the-soviet-union-the-projection-of-ideology/ 
https://thesefootballtimes.co/2016/11/09/vsevolod-bobrov-stalins-red-army-school-and-the-soviet-unions-fusion-of-football-and-ice-hockey/ 
https://www.livemint.com/Leisure/f4FRRzfCriPBfJoQrYNXIM/Football-and-communism-From-Soviet-Union-to-Russia.html
http://www.futbolgrad.com/stalinism-football-soviet-union/

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น