"อุเอโอ มุอุอิเต อารุโค นามิดางา โคโบเร นาอิโย โรนิ โอโมอิดะซึ ฮารุโนฮิ ฮิโต ริโบ จิโนโยรุ"
ท่อนเพลงข้างต้น หากบอกชื่อเพลงว่า "อุเอะ โอะ มุอิเทะ อารุโกะ (Ue o muite aruko: 上を向いて歩こう)" ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ก็คงหน้านิ่วคิ้วขมวดกันเป็นแถบ แต่หากบอกว่าชื่อ "สุกี้ยากี้ (Sukiyaki)" ก็คงร้องอ๋อแทบจะทันที
เพลงสุกี้ยากี้ ที่ไม่ได้ร้องเพื่อสรรเสริญอาหารซุปดำที่นำเนื้อไปแกว่งแต่อย่างใดนี้ นับตั้งแต่ถูกปล่อยออกมาก็โด่งดังเป็นอย่างมากไปทั่วโลก ดังขนาดที่ว่าเป็นเพลงในตำนานของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ในยุคไหนสมัยไหนก็รู้จัก
ด้วยความดังระดับหาตัวจับยากนี้ ตัวเพลงจึงได้รับเกียรติให้นำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อบรรเลงในมหกรรมการแข่งขันกีฬา ทั้งใน พาราลิมปิก เกมส์ 1964 และ โอลิมปิก 2020 ซึ่งเป็นทั้งสองครั้งที่ญี่ปุ่นรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพสุดยิ่งใหญ่
Main Stand จึงพาไปย้อนดูปรากฏการณ์เพลงสุกี้ยากี้ ตั้งแต่เริ่มดังใหม่ ๆ จนดังระดับดาวค้างฟ้า รวมถึงความเกี่ยวพันกับมหกรรมกีฬา จนสามารถเป็น “ภาพแทน” ของประเทศญี่ปุ่นได้ในที่สุด
เนื้อเพลงขมขื่น แต่ดันฟังแล้วชื่นอุรา
เพลงสุกี้ยากี้ เป็นผลงานการประพันธ์ของ “เออิ โรคุสึเกะ (Ei Rokusuke)” นักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสานชาวญี่ปุ่นในยุค 50s - 60s ที่ถือว่าเป็นผลงาน “พลิกชีวิต” ของเขาเป็นอย่างมาก เพราะแรกเริ่มเดิมทีชีวิตสายดนตรีของเออิก็ถือว่ากลาง ๆ ไม่ได้โดดเด่นมากนัก จนกระทั่งเขาได้เข้าร่วม “การประท้วงอันโป (Anpo Struggle)” ในปี 1960
การประท้วงนี้ถือได้ว่ากินวงกว้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เหตุเกิดจากความไม่พอใจของประชาชนต่อ “สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐ-ญี่ปุ่น (US-Japan Security Treaty)” ที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นไม่มีอิสระและความยืดหยุ่นที่ต้องมีสหรัฐฯ “เข้ามากำกับดูแล” ความมั่นคงภายในอยู่เสมอ และตอนนั้นญี่ปุ่นก็พลิกฟื้นฟูประเทศจากช่วงสงครามจนกลายเป็นประเทศพัฒนา เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ในระยะเวลาอันสั้น พวกเขาจึงอยากเป็นอิสระ ปลอดพันธะ และมีอำนาจในการดูแลตนเอง
แต่ผลก็คือล้มไม่เป็นท่า แรงผลักดันของประชาชนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงใด ๆ แน่นอน ณ ตอนนั้นเออิรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมากจนข้างในโหวงไปหมด เขาหมดอาลัยตายอยาก มีอารมณ์หวานอมขมกลืน แต่ยังดีที่เขาก็ไม่ได้นั่งจมอยู่กับความทุกข์เฉย ๆ เพราะเขาได้แปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดที่มีสู่ปลายปากกา แต่งออกมาเป็นเพลง “อุเอะ โอะ มุอิเทะ อารุโกะ” ที่แปลว่า “ฉันแหงนมองฟ้าตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป” ในอีกหนึ่งปีให้หลัง (ปี 1961) นั่นเอง
“ฉันแหงนมองฟ้าตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไป เก็บกลั้นน้ำตาไม่ให้รินไหล ฉันยังจำช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิได้อยู่ ตอนนี้ฉันอยู่คนเดียวในค่ำคืนที่อ้างว้าง”
คำแปลภาษาไทยของท่อนเพลงแค่เพียงช่วงต้นนี้ก็น่าจะบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าเออิมีความผิดหวัง อัดอั้น และคับแค้นใจต่อเหตุการณ์ประท้วงอันโปขนาดไหน แม้จะเหมือนปักคมมีดกรีดลงกลางใจ แต่ก็ยังต้องฝืนทน ข่มจิต ข่มใจ ข่มอารมณ์ไว้ในส่วนลึก และเดินไปข้างหน้าต่อไป
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประชาชนชาวญี่ปุ่นในตอนนั้นล้วนแล้วแต่ประสบชะตากรรมเดียวกับเออิทั้งสิ้น ทำให้แม้เพลงนี้จะได้รับการถ่ายทอดผ่านนักร้องหน้าใหม่ที่อายุเพิ่งจะเข้า 20 ปี ณ ตอนนั้น นามว่า “คิว ซากาโมโตะ (Kyu Sakamoto)” แต่เนื้อหาดัน “กระตุกจิตกระชากใจ” อารมณ์ผู้ฟังพอดี เลยส่งให้เพลงอุเอะ โอะ มุอิเทะ อารุโกะ ขึ้นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย
เนื้อเพลงกินใจก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือทำนองของเพลงนี้ที่เรียบเรียงเสียงประสานโดย “นากามุระ ฮาจิได (Nakamura Hachidai)” ที่มีความ “ไพเราะ นุ่มนวล หวานซึ้ง” ผิดกับเนื้อหาที่เออิจะสื่อสารลิบลับ ซึ่งก็เหมือนเป็น “ตลกร้าย” อย่างหนึ่ง เพราะบรรดาชาวต่างชาติที่ฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกและไม่รู้ความหมายของเพลงดันติดอกติดใจท่วงทำนองของเพลงนี้ไปเสียอย่างนั้น!
โดยเฉพาะนักฟังเพลงโลกภาษาอังกฤษที่ติดอกติดใจท่วงทำนองของเพลงเป็นพิเศษ แต่การจะมาเรียกชื่อเพลง อุเอะ โอะ มุอิเทะ อารุโกะ ก็อาจมีการงงงวย ไม่คุ้นปากคนฟัง และจะต้องเสียเวลาอธิบายชื่อเพลงกับคนขาย อีกทั้งยังทำการตลาดได้ยากแน่นอน ทำให้ตัวแทนจำหน่ายเลือกที่จะ ”เปลี่ยนชื่อเพลง” เสียดื้อ ๆ ให้เหมาะกับการขาย หวยเลยไปลงที่ “สุกี้ยากี้” อาหารขึ้นชื่อของญี่ปุ่นนั่นเอง
เมื่อดนตรีพร้อม ชื่อพร้อม การตลาดพร้อม ก็ส่งผลให้เพลงสุกี้ยากี้ครองอันดับ 1 ได้ในชาร์ตหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เคนต์ มิวสิก รีพอร์ต ของออสเตรเลีย, เลเวอร์ ฮิต พาเหรด ของนิวซีแลนด์, อาร์พีเอ็ม ของแคนาดา และ วีจีลิสตา ของนอร์เวย์
และที่พีกสุด ๆ คงหนีไม่พ้นชาร์ตจัดอันดับเพลงลำดับต้น ๆ ของโลกอย่าง บิลล์บอร์ด และ บิลล์บอร์ด ฮอต 100 ที่เพลงนี้ครองอันดับ 1 ร่วมเดือนนิด ๆ เลยทีเดียว
ก่อนที่เพลงสุกี้ยากี้จะได้มีโอกาสไปสำแดงฤทธิ์เดชยังมาตุภูมิในอีกปีให้หลัง!
โด่งดังคับฟ้าจนต้องใช้เปิดพาราลิมปิก 1964
อย่างที่ทราบกันว่าญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก และพาราลิมปิก ปี 1964 ซึ่งในสมัยก่อน การได้รับหน้าเสื่อจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาตินี้ นอกจากเป็นช่องทางให้ประเทศได้แสดงความสามารถทางการกีฬา เจ้าภาพยังมีโอกาสได้แสดงแสนยานุภาพในทุก ๆ ด้านให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ดังที่ได้เห็นการเปิดตัว “ระบบโมโนเรล” และ “รถไฟชินคันเซ็น” นั่นเอง
ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่เพียง “การโชว์ออฟ” เรื่องกีฬาและการพัฒนาเท่านั้น อะไรที่พอจะขายได้ญี่ปุ่นก็ขนมาขายหมด แน่นอนว่าเพลงสุกี้ยากี้ที่กำลังดังเป็นพลุแตกก็เช่นกัน
ทางการญี่ปุ่นได้ให้ คิว ซากาโมโตะ เดินสายโปรโมตเยี่ยมเยือนนักกีฬานานาประเทศที่หมู่บ้านนักกีฬาโยโยกิ ย่านชิบูย่า ตอนแรกนักกีฬาก็งงว่าชายญี่ปุ่นตัวเล็ก ๆ หน้าอ่อนกว่าวัยคนนี้เป็นใคร? แต่พอบอกว่า “นี่แหละ! คนที่ร้องเพลงสุกี้ยากี้” นักกีฬาก็พร้อมกรูเข้ามาขอร่วมเฟรมถ่ายภาพกันเป็นแถว แถมยังมีการร้องเพลงนี้แบบ “ออกอากาศสด” ทางสถานีโทรทัศน์สวีเดนอีกด้วย
รวมถึงยังมีการเปิดเพลงนี้แบบ “เสียงตามสาย” ทั้งในและนอกสนาม เพื่อให้เกิดอาการ “หลอนหู (Earworm)” และมั่นใจว่าผู้ชมจะสามารถ “ฮัมเพลง” ตามได้แบบไม่รู้ตัว
แต่ที่พีกที่สุดคือหลังจากที่โอลิมปิกรูดม่านปิดฉากลงไป ตามธรรมเนียมก็คือต้องมีการแข่งขันพาราลิมปิกต่อเนื่องกัน และในพาราลิมปิกครั้งนี้เองฝ่ายจัดการแข่งขันก็เล็งเห็นว่าเดือนก่อน (โอลิมปิกจัดเดือนตุลาคม พาราลิมปิกจัดเดือนพฤศจิกายน) เพลงสุกี้ยากี้ประสบความสำเร็จในการ “ฝังหัว” แก่ผู้ชมไปแล้ว เลยอาจจะเลือก “ยกระดับ” การรับรู้ของผู้ชมไปอีกขั้น
ทันทีที่ขบวนพาเหรดนักกีฬากว่า 53 ชีวิต ภายใต้อาภรณ์สีแดงเลือดนกก้าวลงสู่สนาม บทบรรเลงดนตรีที่คุ้นเคยก็ได้ค่อย ๆ ดังขึ้นตามจังหวะการก้าวเท้า แน่นอนว่าคือเพลงสุกี้ยากี้นั่นเอง ซึ่งก็ไม่ได้บรรเลงแค่เพียงนักกีฬาญี่ปุ่นเดินเท่านั้น แต่ยังได้บรรเลงยาว ๆ จนทุกชาติเดินเสร็จเลยทีเดียว
นั่นเท่ากับว่าเพลงนี้ได้รับเกียรติสูงสุดถึงขนาดได้เป็นเพลงเปิดงาน เพราะส่วนมากจะเป็นเพลงมาร์ชธรรมดา ๆ ไม่ก็เพลงชาติ ยิ่งญี่ปุ่นที่มีความชาตินิยมจัด ๆ แต่เลือกเพลงสุกี้ยากี้ขึ้นมาบรรเลง นอกจากความดังแล้วย่อมหมายความว่าเพลงนี้คือ “ภาพแทน” ของความเป็นชาติญี่ปุ่นอีกด้วย
หลังจากนั้นแม้จะผ่านโอลิมปิกกับพาราลิมปิกไปแล้ว แต่เพลงสุกี้ยากี้ก็ยังโด่งดังยิ่งๆ ขึ้นไปแบบฉุดไม่อยู่ และถือว่าเป็น “การตีตลาดต่างประเทศ” (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ได้สำเร็จเป็นเพลงแรก ๆ จากดินแดนตะวันออกก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเป็น “เพลงแห่งปี 1963” แล้ว ยังได้มีการโคฟเวอร์เป็นภาษาต่าง ๆ ออกมาหลากหลายอีกด้วย
โดยเฉพาะการโคฟเวอร์ของวง “อะ เทสท์ ออฟ ฮันนี่ (A Taste of Honey)” ในปี 1981 ที่เหมือนกับว่า “ปลุกชีพ” เพลงสุกี้ยากี้ที่เคยได้กระแสจากยุค 60s ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
จานิส-มารี จอห์นสัน (Janice-Marie Johnson) นักร้องนำของวงเล่าว่า ตัวเธอนั้นได้มีโอกาสฟังเพลงสุกี้ยากี้ตั้งแต่ตอนอายุ 6 ขวบแล้วเกิดถูกอกถูกใจทำนองเป็นอย่างมาก แม้ไม่เข้าใจบริบทของเพลงเลยสักนิด พอโตขึ้นมาได้มีโอกาสฟอร์มวงดนตรีจึงไม่รอช้าที่จะติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นสไตล์ ”บัลลาด (Ballad)” ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุค 80s นั่นเอง
ซึ่งตัวเพลงก็ถือว่าประสบความสำเร็จเจริญรอยตามต้นฉบับเป๊ะ ๆ เพราะเพลงเวอร์ชั่นโคฟเวอร์นี้ ครองอันดับ 1 ชาร์ตบิลล์บอร์ด อาร์แอนด์บี และ บิลล์บอร์ด ฮอต 100 อยู่หลายสัปดาห์
แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน ได้มีการนำทำนองเพลงสุกี้ยากี้มาปรับเป็นเนื้อเพลงไทยในชื่อ “น้ำพริกปลาทู” ขับร้องโดย “มีศักดิ์ นาครัตน์” นักร้องเพลงล้อเลียนชื่อดัง โดยเรื่องราวในเพลงออกแนวแซวความเป็นญี่ปุ่นเล็ก ๆ เพราะตอนนั้นชาวไทย “บ้าและเห่อ” ความเป็นญี่ปุ่นมาก ๆ ดังเนื้อเพลงที่ว่า
“โอ้ยอดน้ำพริกปลาทูไทย อร่อยเพียงไหนเชิญชิมซิ ช่างเด็ดดีแท้ ไม่เคยแพ้ ของไทยแท้รสชาติดี สุกี้ยากี้ มีดีแค่ไหน ไม่พึ่งคนไทยรสดีเลิศลอย
ไม่เชื่อลองลิ้มเชิญชิมซิ จะต้องร้องซี้ว่าอร่อย ช่างเด็ดดีนัก หากได้ลิ้ม แล้วต้องยิ้มว่าเลิศลอย เฝ้าคอยแต่มอง มองแต่น้ำพริก ล่ออีกหนเดียว เฮ้อ.. เป็นติดใจ
จะให้แซบอีหลี ผักจิ้มมีสิ ยอดกว่าใคร ได้ยอดผักจิ้มไซร้ ประเดี๋ยวเดียวข้าวหมดชาม
โอ้ยอดน้ำพริกปลาทูไทย ทั่วบ้านเรื่อนไหนใครก็ตาม หากขาดน้ำพริก ต้องหลีกหนี เฮ้อ.. อย่างนี้ไม่ได้ความ ต้องตามบ้านฉัน เจอกันไม่เว้น เปิดตู้ เห็นมีน้ำพริกถ้วยเดียว”
กระนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคปลาย 80s ต่อ 90s ก็ได้มีแนวเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีความคิดถึง “อนาคตนิยม” มากขึ้นที่จะต้องเป็นเพลงที่ร้องรวดเร็วและเสียดสีรุนแรงขึ้น เพลงที่ฟังสบาย ๆ อย่าสุกี้ยากี้จึงหายไปตามกาลเวลา
แต่กระนั้นแม้จะผ่านมากว่า 60 ปี ผ่านพลวัตของวงการเพลงมาหลายแนว เพลงสุกี้ยากี้ก็ยังคงถือว่าเป็นเพลง “ขึ้นหิ้ง” เป็นเพลงตำนานอยู่วันยังค่ำ
โด่งดังข้ามศตวรรษจนต้องใช้ปิดโอลิมปิก 2020
ด้วยความที่เป็นเพลงระดับตำนาน ย่อมหมายถึงการได้รับการกล่าวขวัญถึงตลอดจากรุ่นสู่รุ่นที่ไม่ได้จางหายไปตามกาลเวลาเสียทีเดียว เหมือนกับที่เวลาไปคาราโอเกะจะต้องคีย์เพลงของ “ธงไชย แมคอินไตย์” หรือ “สาว สาว สาว” ขึ้นมาขับร้องอย่างเมามัน
และด้วยความที่วงการนี้เพลงสุกี้ยากี้อยู่มานานมาก ทำให้หลายฝ่ายต่าง “นำเสนอ” รูปแบบของตัวเพลงแตกต่างกันออกไป ตามแต่กรรมแต่วาระ ซึ่งในไทยการนำเสนอที่ได้รับความนิยมและออกจะเป็น “ตลกหลบใน” อยู่นิด ๆ นั่นคือ “โฆษณาเอ็มเคสุกี้” ราวช่วง พ.ศ. 2550 นั่นเอง
“เรากินสุกี้ กินเอ็มเค เรากินเอ็มเค กินสุกี้
เรากินเอ็มเค สิ่งดี ๆ มีติดตัวตั้งมากมาย
กำลังสดใส กำลังใจเบิกบาน
เอ็มเค ทุกวัน มีความสุขใจ
ร่างกายสดใส กินเอ็มเค จิตใจฮาเฮ กินสุกี้
ความสุขมากมี จากสิ่งดี รอที่ร้านเอ็มเค
เติมความสดใจ แบ่งปันความสุขใจ
กินเอ็มเค เมื่อใด หัวใจสุขสันต์
เอ็มเค อยากให้เมืองไทยสุขภาพดี คนไทยมีชีวิตชีวาขึ้น
”
แน่นอนเชื่อได้เลยว่าโฆษณาชิ้นนี้ประสบความสำเร็จระดับต้น ๆ ในประเทศไทย ขนาดที่ว่าล่วงเลยมา 10 กว่าปีแล้ว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เวลานึกอยากจะไปรับประทานสุกี้ ภาพในหัวถ้าไม่เป็น “กินอะไร กินอะไร กินอะไร ไปกินเอ็มเค” ก็ต้องเป็นเสียงเพลง “เรากินสุกี้ กินเอ็มเค” แน่ ๆ
หรือแม้กระทั่งการนำเพลงไปประกอบภาพยนตร์การ์ตูนอย่าง “ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์ (From Up on Poppy Hill: コクリコ坂から)” ที่มีฉากหลังอยู่ในยุค 60s ของญี่ปุ่น ผลิตโดยสตูดิโอ “จิบลิ (Ghibli)” สุดโด่งดัง ซึ่งทำรายได้ถล่มทลาย ขึ้นอันดับที่ 3 ภาพยนตร์ทำเงินในญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ทั้งยังมีการ “ปรับบีต” ให้เข้ากับยุคสมัย อย่างการเติมความเป็น “อีดีเอ็ม” เข้าไปในตัวเพลง อย่างเวอร์ชั่นของ “จี.เอช.แฮต (G.H.Hat)” โปรดิวเซอร์และรีมิกเซอร์เพลงชาวอเมริกัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จบนชาร์ตบิลล์บอร์ดพอตัว
และที่สุดของที่สุดคือเมื่อญี่ปุ่นได้รับหน้าเสื่อให้จัดโอลิมปิก 2020 ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเวียนมาบรรจบอีกครั้งในรอบ 57 ปี (เพราะเลื่อนจาก 2020 เป็น 2021 ด้วยปัญหาโควิด)
โดยเจ้าภาพได้เลือกเพลงสุกี้ยากี้ขึ้นมาเป็นการแสดง “ไฮไลท์” ในพิธีปิดการแข่งขัน ท่ามกลางวัฒนธรรม “ป๊อป” หรือเพลงร่วมสมัยหลาย ๆ เพลงที่จริง ๆ น่าจะถูกอกถูกใจคนดูที่เป็นคนรุ่นใหม่มากกว่า แต่ด้วยความเป็นภาพแทนแห่งญี่ปุ่นก็ย่อมจะต้อง “หาซีน” ให้เพลงสุกี้ยากี้มีที่ลงจนเหมือนขาดไปไม่ได้ เพียงแต่จะนำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ให้ร่วมสมัยขึ้นเท่านั้น
ซึ่งก็ต้องนับว่า เพลงสุกี้ยากี้ นี้เหมือนกับ “ไฟบนกระถาง” ในโอลิมปิก ที่จุดให้ลุกโชติช่วงอยู่เพียงไม่ถึงเดือนก็จำเป็นต้องดับลง หากแต่ไฟนี้สามารถจุดได้เรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาและโอกาสเหมาะเจาะ มันก็จะกลับมาโชติช่วงได้ใหม่อีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง
https://www.paralympic.org/feature/1964-tokyo-truly-pioneering-paralympic-games
https://www.npr.org/2013/06/28/196618792/bittersweet-at-no-1-how-a-japanese-song-topped-the-charts-in-1963
https://www.womjapan.com/column/trend/update-trend/history-of-the-sukiyaki-song/
https://theolympians.co/2015/06/16/kyu-sakamotos-sukiyaki-the-first-and-only-international-hit-in-japanese-yes-you-know-it-wait-until-you-hear-the-melody/
https://www.billboard.com/artist/kyu-sakamoto/chart-history/hsi/
https://www.silpa-mag.com/culture/article_62757
https://web.archive.org/web/20200608041956/https://www.billboard.com/music/a-taste-of-honey/chart-history
https://youtu.be/PlIMjkBXK00
https://www.youtube.com/watch?v=LbYU7Y4NkQs
https://www.youtube.com/watch?v=xqFkUNqBwMw
https://www.youtube.com/watch?v=iVSKQkdSvl4