Feature

ซามูเอล ลิตเติล : อดีตนักสู้ที่ใช้หมัดจัดการเหยื่อจนเป็นฆาตกรต่อเนื่องสังหารคนมากสุดในอเมริกา | Main Stand

"เป็นเวลาหลายปีที่ซามูเอล ลิตเติล เชื่อว่าเขาจะไม่ถูกจับ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครมานับจำนวนเหยื่อของเขา" คริสตี ปาลัสโซโล นักวิเคราะห์อาชญากรรมของ เอฟบีไอ กล่าว

 


สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในประเทศที่มีฆาตกรต่อเนื่องมากที่สุด และหลายคนก็เป็นที่รู้จักจากสื่อ ไม่ว่าจะเป็น "โคเอ็ด คิลเลอร์" เอ็ด เคมเปอร์, "นักฆ่าตัวตลก" จอห์น เวย์น เกซี หรือ "เดอะซันออฟแซม" เดวิด เบอร์โควิตซ์

อย่างไรก็ดี หากนับเป็นจำนวน คงไม่มีใครเทียบได้กับ ซามูเอล ลิตเติล ที่อ้างว่าเขาได้สังหารเหยื่อไปเกือบ 100 ราย และส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ปืนหรือมีด แต่เป็นวิชาหมัดมวยที่เขาถนัด 

เขาทำได้อย่างไร ? แถมยังรอดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ได้หลายสิบปี ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

คดีที่ปิดไม่ลง 

เช้าตรู่ของวันที่ 11 สิงหาคม 1991 ขณะที่ชายหนึ่งเดินผ่านทุ่งกว้างใกล้กับถนนสาย 39 ตะวันออก ในเมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เขาบังเอิญพบกับศพผู้หญิงนอนคว่ำหน้าโดยมียางรถบรรทุกสองเส้นทับเอาไว้ 

เธอสวมเสื้อสีน้ำเงินเข้ม กางเกงยีนส์ และรองเท้าผ้าใบสีขาว ก่อนที่บัตรสวัสดิการ และใบสั่งยาที่ตำรวจพบในกระเป๋าเงิน จะได้รับการยืนยันว่าเธอคือ โรส อีแวนส์ หญิงสาวที่มีถิ่นพำนักอยู่ในบริเวณดังกล่าว 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบคราบเลือดที่ริมฝีปากด้านบน และจมูก ของโรส เจ้าหน้าที่ฝ่ายชันสูตรระบุว่าเธอเสียชีวิตจากการถูกรัดคอ แล้วถูกลากจากริมถนนมาไว้ที่นี่ ซึ่งเห็นได้จากร่องดินที่เป็นแนวยาว 

ตำรวจพยายามหามูลเหตุและคนร้าย พวกเขาสอบสวนบุคคลที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ เพื่อนร่วมห้องของโรสทั้งในอดีตและปัจจุบัน พ่อสามี (สามีของโรสอยู่ในเรือนจำ) เพื่อนบ้าน ไปจนถึงเพื่อนของโรส แต่ก็ยังไร้เบาะแส 

แต่การได้คุยพนักงานคนหนึ่งของโรงแรมม่านรูดที่ตั้งอยู่บนถนนสาย 40 ทำให้ตำรวจได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรส มีอาชีพเป็นหญิงบริการ และพนักงานก็จำเธอได้อย่างดี เช่นกันกับผู้จัดการโรงแรม ที่บอกว่าเห็นเธอในคืนก่อนวันที่จะพบศพ 

เวลาล่วงเลยมาถึงเดือนมกราคม 1992 เจ้าหน้าที่ก็มาได้เบาะแสเพิ่มจากหญิงบริการอีกคน ที่บอกว่าเธอสูบบุหรี่อยู่กับโรส ในคืนที่เธอหายตัวไป โดยเห็นโรสเข้าไปในรถสองประตูสีม่วงแดง พร้อมกับชายผิวดำ ในช่วงราวตี 3-4 ของวันนั้น

เธอยังบอกว่า หลังเกิดเหตุไม่นาน ราวเดือนกันยายนหรือตุลาคม 1991 เธอยังประสบเหตุคล้ายกับโรส เมื่อชายคนหนึ่งได้ข่มขืนเธอ และพยายามรัดคอเธอด้วยเชือก แต่เธอก็หนีรอดออกมาได้ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตำรวจจะมีผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายอยู่หลายราย แต่ก็ไม่สามารถตั้งข้อหาใครได้ และทำให้คดีของโรส กลายเป็นคดีที่ยังไม่คลี่คลาย และจับคนร้ายไม่ได้อยู่หลายสิบปี 

 

เหยื่อความรุนแรง

แม้จะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่สหรัฐอเมริกา ก็เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของกลุ่ม G8 ที่มีอัตราการเกิดคดีฆาตกรรมที่สูงมาก ด้วยสถิติ 4.7 คนต่อประชากร 100,000 คน รั้งเป็นอันดับ 2 รองมาจากรัสเซีย (9.2 คน/100,000 คน ) 

นอกจากนี้ พวกเขายังมีคดีฆาตกรรมที่ยังปิดไม่ลง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Cold Case ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แถมบางช่วงยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ 

ทว่า การมาถึงของเทคโนโลยีตรวจสอบ DNA ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตามหาตัวคนร้ายในภายหลัง และหนึ่งในนั้นคือ "ซามูเอล ลิตเติล" 

อันที่จริง เขาถูกส่งเข้าเรือนจำเพียงเพราะคดียาเสพติด ที่รัฐเคนตักกี้ ในปี 2012 แต่จากการตรวจสอบรหัสพันธุกรรม พบว่าเขาอาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมที่ยังปิดไม่ลงในลอสแองเจลิส ถึง 3 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1987 และ 1989 เมื่อ DNA ของเขาตรงกับหลักฐานที่พบในเสื้อและเล็บของผู้ตาย

แม้ว่า ลิตเติล จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ผล DNA ก็ทำให้เขาถูกศาลที่ลอสแองเจลิสตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2014 โดยไม่รอลงอาญา

อย่างไรก็ดี เหยื่อของเขาอาจจะไม่ได้มีแค่นี้ เมื่อจากข้อมูลพบว่า ลิตเติล มีพฤติกรรมเดินทางไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้หญิงหลายคนอ้างว่าพวกเธอเคยเกือบตายด้วยน้ำมือของลิตเติล ในช่วงทศวรรษที่ 1980 

ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า เธอเคยถูกลิตเติล จับมัดที่ ซาน ดิเอโก ในปี 1984 หลังจากนั้นเขาก็รัดคอเธอจากด้านหลังจนหมดสติ และคิดว่าเธอตายแล้ว จึงทำเธอไปทิ้งไว้ที่กองขยะ ขณะที่อีกคนจาก ปาสคากูลา รัฐมิสซิปซิปี้ บอกว่าเธอโดนลิตเติล ทำร้ายจนเลือดไหลออกจากตา แต่เธอก็ไม่ได้แจ้งความ

"พวกเขาไม่สนใจอะไรกับโสเภณีผิวดำที่ปาสคากูลาหรอก" เธอกล่าวกับ Los Angeles Times 

ในตอนแรก ลิตเติล ยืนยันว่าเขาไม่รู้เรื่อง และปฏิเสธที่จะคุยกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด แต่การเข้ามาพูดคุยอย่างเป็นมิตรของ เจมส์ ฮอลแลนด์ เจ้าหน้าที่สืบสวน รวมถึง คริสตี ปาลัซโซโล และ แองเจลา วิลเลียมสัน นักวิเคราะห์อาชญากรรม ของสำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ในปี 2018 ก็ทำให้เขายอมปริปาก 

ลิตเติลยอมรับว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่โอเดสซา รัฐเท็กซัส ในปี 1994 และเป็นผู้สังหาร เดนนิส คริสตี บราเธอร์ หญิงขายบริการวัย 38 ปี ด้วยการรัดคอเธอจากด้านหลังจนตาย ก่อนจะเอาศพไปทิ้ง เขาจำมันได้เป็นอย่างดี ทั้งรูปร่างหน้าตาของเหยื่อ ไปจนถึงรถที่ใช้ก่อเหตุในวันนั้น 

หลังจากนั้น ทุกอย่างก็เริ่มพรั่งพรูเขาพูดถึงเหยื่อคนแล้วคนเล่า ในหลายรัฐทั่วประเทศ ไล่ตั้งแต่ แคลิฟอร์เนีย, ฟลอริดา, เคนตักกี้, มิสซูรี, ลุยเซียนา หรือ เท็กซัส 

"ตลอดการสัมภาษณ์ในเดือนพฤษภาคม เรารู้ว่าเขาเดินทางจากเมืองหนึ่งไปเมืองหนึ่ง จากรัฐไปอีกรัฐ และให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ฮอลแลนด์ เกี่ยวกับจำนวนผู้คนที่เขาฆ่าในแต่ละที่" ปาลัซโซโล กล่าว

"แจ็คสัน มิสซิสซิปปี อย่างละหนึ่ง ซินซินนาติ โอไฮโอ หนึ่ง ฟีนิกซ์ อาริโซนา สาม ลาสเวกัส เนวาดา หนึ่ง" 

แม้ว่าเขาจะจำชื่อของเหยื่อและวันเกิดเหตุไม่ได้ แต่ความทรงจำของเขาตรงกับรายงานของตำรวจ และภาพถ่ายในที่เกิดเหตุในหลายคดี และรวมแล้วเขาน่าจะสังหารผู้หญิงไปเกือบ 100 คน 

"เขาไม่เคยนับมันด้วยตัวเอง" วิลเลียมสัน กล่าวกับ clevelandmagazine.com

รวมถึง โรส อีแวนส์ ที่เขาบอกว่าเขารับเธอมาจากถนนสาย 55 ตะวันออก แล้วพาเธอไปที่บ้านชายแก่คนหนึ่ง เพื่อขโมยเงินมาซื้อยา แต่พอมาหยุดพักที่ถนนสาย 39 ตะวันออก โรส ไม่ยอมขึ้นรถไปกับเขา 

"คุณจะฆ่าฉันที่นั่น" ลิตเติลบอกว่าเขาจำคำพูดของเธอได้ดี 

ลิตเติล พยายามใช้กำลังทำร้ายเธอ แต่โรส ก็ฮึดสู้ไม่ยอมแพ้ ทว่าสุดท้ายก็สู้แรงของผู้ชายไม่ไหว และถูกรัดคอจนขาดใจ จากนั้นเขาก็ลากเธอไปไว้กลางทุ่ง ก่อนที่จะเอายางรถบรรทุกสองเส้น ทับตัวเธอเอาไว้ 

อะไรที่ทำให้เขาโหดเหี้ยมขนาดนี้ 

 

นักสู้จากเรือนจำ

ซามูเอล ลิตเติล เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1940 ที่เมืองเรย์โนลด์ รัฐจอร์เจียร์ ด้วยชื่อ ซามูเอล แม็คโดเวลล์ ในตอนที่ เบสซี เม ลิตเติล แม่ของเขาเพิ่งอายุเพียง 16 ปี และเติบโตขึ้นมาจากการเลี้ยงดูจากคุณยายที่โอไฮโอ หลังถูกพ่อทิ้งตั้งแต่เด็ก  

เขาเป็นคนที่มีนิสัยเกเรตั้งแต่เด็ก และถูกส่งเข้าโรงเรียนควบคุมความประพฤติ (ประมาณบ้านเมตตาของเรา) ตั้งแต่อายุ 13 และถูกจับครั้งแรกตอนอายุ 16 ในปี 1956 ด้วยข้อหาลักทรัพย์ และถูกจำคุกในสถานพินิจสำหรับเยาวชนที่เมืองแมนฟิลด์ รัฐโอไฮโอ  

หลังจากนั้น ลิตเติล เข้า ๆ ออก ๆ สถานพินิจอีกหลายครั้ง และที่นี่ก็ทำให้เขาได้เรียนมวยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ก่อนจะใช้รูปร่างที่สูงถึง 181 เซนติเมตร และน้ำหนัก 70 กิโลกรัม จัดการคู่ต่อสู้ในศึกชิงแชมป์ของสถานพินิจ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นั่น  

"ผมเคยเป็นนักล่าเงินรางวัล" ลิตเติล ย้อนความหลัง 

อย่างไรก็ดี หลังถูกปล่อยตัว เขากลับไม่ได้นำศิลปะป้องกันตัวที่ร่ำเรียนมา มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะในปี 1966 เขาก็โดนจับอีกครั้ง หลังทำร้ายร่างกายผู้หญิงในคลีฟแลนด์ แต่ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา 

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s เขาย้ายไปอยู่กับแม่ที่ไมอามี รัฐฟลอริดา และหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานกับกรมสุขาภิบาลของเขตเดด และสุสานของท้องถิ่นในเวลาต่อมา 

และที่เมืองแห่งนี้ก็เป็นสถานที่ก่อเหตุฆาตกรรมครั้งแรกของ ลิตเติล เมื่อในวันที่ 24 มกราคม 1971 มีคนพบศพหญิงสาวในอุทยานแห่งชาติเอเวอร์เกลดส์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ ก่อนจะพบว่าเป็นศพของ แมร์รี บรอสเลย์

ลิตเติล ที่รอดพ้นจากการจับกุมในครั้งนั้น สารภาพภายหลังว่าเขาพบกับ บรอสเลย์ ที่บาร์แห่งหนึ่งในคืนส่งท้ายปีเก่าของปี 1970 ก่อนจะไปกันต่อ แล้วก็ฆ่าเธอด้วยการรัดคอ ก่อนจะนำศพไปทิ้งที่อุทยานแห่งชาติ ในวันขึ้นปีใหม่ในปี 1971

"มันเหมือนกับยาเสพติด ผมเริ่มชอบมัน" เขาบอกกับเจ้าหน้าที่ฮอลแลนด์

หลังจากนั้น เขาก็ก่อเหตุเรื่อยมา แต่ก็ไม่เคยโดนจับหรือโดนลงโทษสถานหนัก เนื่องจากเหยื่อที่เขาเลือกมักจะเป็นกลุ่มชายขอบอย่างคนผิวดำ โสเภณี หรือคนติดยา ที่รัฐไม่ค่อยสนใจ และสุดท้ายลงเอยด้วยการยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

"ผมจะไม่ไปย่านคนขาว แล้วเลือกเด็กน้อยหรือวัยรุ่นหรอก" ลิตเติลกล่าวกับพนักงานสอบสวน 

"ผมจะไม่ไปที่นั่นเพื่อเลือกแม่บ้านขณะที่เธอกำลังออกไปช็อปปิ้ง แล้วฉุดเธอเข้ามาในรถขณะที่มีถุงช็อปปิ้งเต็มมือ แล้วเธอก็จะ…กรีดร้อง นั่นจะทำให้คุณถูกจับได้" 

นอกจากนี้ จากการที่ ลิตเติล มักจะจัดการเหยื่อที่ทั้งหมดเป็นผู้หญิงด้วยมือเปล่า ด้วยการใช้หมัดต่อยเหยื่อจนสลบ แล้วค่อยรัดคอจนขาดอากาศหายใจ ยังทำให้ไม่หลงเหลืออาวุธ หรือร่องรอยการต่อสู้ในที่เกิดเหตุอีกด้วย  

ทำให้แม้ว่าเขาจะโดนจับกุมถึง 26 ครั้ง ใน 11 รัฐ ในช่วงปี 1957-1975 แต่ก็เกิดจาก คดีเล็ก ๆ อย่างลักทรัพย์ ขโมยของตามร้าน หรือ ชกต่อย ที่ทำให้เขาอยู่ในเรือนจำแค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น

กว่าจะที่เขาได้รับผลกรรม ต้องรอจนถึงต้นทศวรรษที่ 2010

 

สารภาพด้วยภาพวาด 

"เป็นเวลาหลายปีที่ซามูเอล ลิตเติล เชื่อว่าเขาจะไม่ถูกจับ เพราะคิดว่าคงไม่มีใครมานับจำนวนเหยื่อของเขา" ปาลัสโซโล กล่าวกับ New York Times 

หลังจากสารภาพอย่างหมดเปลือก ในเดือนกันยายน 2018 ลิตเติล ก็ถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากเท็กซัสไปแคลิฟอร์เนีย เพื่อพิจารณาโทษ แต่ในระหว่างนั้น ฮอลแลนด์ ก็ยังแวะมาคุยกับเขาอย่างต่อเนื่อง  

ขณะที่พวกเขาคุยกัน ลิตเติล ยังได้วาดภาพเหมือนของเหยื่อที่เขาได้สังหารไปเป็นจำนวนหลายสิบภาพ และนำไปสู่คดีที่ปิดไม่ลงหลายคดี 

หนึ่งในนั้นคดีของ โรเบอร์ตา ทันดาริช ที่หายตัวไปก่อนจะพบเป็นศพอยู่ในสวนสาธารณะ ไฟร์สโตน เมโทร เมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ ในวันที่ 30 กันยายน 1991 โดยรายละเอียดตรงกับคำสารภาพของลิตเติล และเมื่อเอาภาพวาดไปให้ลูกสาวของ โรเบอร์ตา ดู ก็ยืนยันได้ว่านั่นคือแม่ของเธอ 

หรือคดีของ แมร์รี โจ เพย์ตัน ในปี 1984 ที่เขาเจอเธอ ที่บาร์บนถนนสาย 105 ของคลีฟแลนด์ ก่อนจะออกไปมีอะไรกันที่โกดังแห่งหนึ่งบนถนนสาย 82 จากนั้นจึงรัดคอเธอ แล้วเอาศพเธอไปทิ้งในบริเวณใกล้เคียง 

"ตอนที่เราไปที่นั่น เราก็มีอะไรกัน แล้วผมก็รัดคอเธอจากด้านหลัง" ลิตเติลอธิบาย 

ลิตเติล บอกว่าเหตุผลที่เขาชอบรัดคอเหยื่อเป็นเพราะเขาชอบมองคอของผู้หญิงจากด้านหลัง และไม่ทำกับผู้ชาย เนื่องจากพวกเขามีลูกกระเดือก ที่ลิตเติล มองว่าเป็นส่วนที่น่าเกลียด 

ทั้งนี้ จากรายงานของเอฟบีไอ ในเดือนตุลาคม 2019 ระบุว่าตัวเลขของเหยื่อที่ถูกลิตเติลสังหารมีมากถึง 93 คน โดยสามารถยืนยันตัวไปแล้วอย่างน้อย 64 คน 

ด้วยเหตนี้จึงทำให้ ลิตเติลกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ที่ฆ่าคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา โดยทิ้งห่าง "นักฆ่าตัวตลก" จอห์น เวย์น เกซี ที่ 49 ราย แบบไม่เห็นฝุ่น   

แต่สิ่งที่เขาก่อก็ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเป็นครั้งที่ 2 ทว่า กลับอยู่ชดใช้กรรมได้เพียงแค่ปีเศษ หลังเสียชีวิตในเรือนจำ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2020 ด้วยวัย 80 ปี หลังจากก่อนหน้านี้มีปัญหาสุขภาพมาตลอด 

อย่างไรก็ดี การทวงคืนยุติธรรมก็ยังดำเนินต่อไป 

 

เพื่อคนข้างหลัง 

แม้ว่าภาพวาดของ ลิตเติล จะนำไปสู่การไขคดีที่ปิดไม่ลงในอดีตได้ไม่น้อย แต่หลายคนที่เขาวาดขึ้นมาก็ยังไม่สามารถระบุว่าเป็นใคร จึงทำให้เอฟบีไอ ตัดสินใจปล่อยภาพออกมาสู่สาธารณะ 

"เราหวังว่าใครสักคน อาจจะเป็นสมาชิกในครอบครัว อดีตเพื่อนบ้าน เพื่อน อาจจะจำเหยื่อได้ และให้เบาะแสที่สำคัญเพื่อช่วยทางการระบุตัวตนได้" เชย์น บุชวาลด์ โฆษกของเอฟบีไอกล่าว

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ เอฟบีไอ ยังคงตามสอบสวนเรื่องนี้ต่อไป แม้คนก่อเหตุจะลาโลกไปแล้ว พวกเขาพยายามใช้ข้อมูลที่มี โดยเฉพาะภาพวาดและคำสารภาพของลิตเติล ในการไขคดีที่ปิดไม่ลงอีกหลายคดี 

"บางครั้ง ในฐานะนักสืบ คุณก็ได้รับความเข้มแข็งจากอาชญากรรมทั้งหมดที่คุณเผชิญ" เคลย์ โคซาร์ส เจ้าหน้าที่สอบสวนของกรมตำรวจเมืองแอครอน รัฐโอไฮโอ กล่าวกับ clevelandmagazine.com
 
"แต่ในคดีเหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อครอบครัวพวกเขา ปีแล้วปีเล่าที่ต้องผ่านไปโดยที่พวกเขาไม่รู้อะไรเลย" 

ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้หลักฐานระบุตัวตนของเหยื่อ ที่ไม่ได้เพื่อต้องการปิดคดีเท่านั้น แต่เป็นการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิต รวมไปถึงครอบครัวของพวกเขา 

เพราะอย่างน้อยพวกเธอก็ควรได้รับการเรียกชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่คงยังเหลืออยู่ในโลกใบนี้ 

"ทุกคนมักจะถามเราว่าเราคิดอย่างไรกับลิตเติล เราไม่ได้คิดอะไรมากมายเกี่ยวกับเขา เราคิดแค่ว่าเราจะค้นหาเหยื่อให้เจอ และได้คำตอบสำหรับครอบครัวของพวกเขา" เจ้าหน้าที่วิลเลียมส์สันกล่าวกับ clevelandmagazine.com

"เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาทำลงไป แต่เราสามารถให้ความยุติธรรมบางอย่างได้ หรืออย่างน้อยก็ได้คำตอบอะไรซักอย่าง" 

 

แหล่งอ้างอิง

https://clevelandmagazine.com/in-the-cle/the-read/articles/in-the-shadows 
https://www.staradvertiser.com/2013/04/07/breaking-news/more-cases-connected-to-l-a-serial-killer-suspect/ 
https://edition.cnn.com/2019/02/13/us/samuel-little-serial-killer-drawings/index.html 
https://projectcoldcase.org/cold-case-homicide-stats/ 
https://www.ammoland.com/2014/10/homicides-per-100000-in-g-8-countries/ 
https://www.npr.org/2020/12/31/951918219/samuel-little-the-nations-most-prolific-serial-killer-dies-at-80
https://apnews.com/article/us-news-california-samuel-little-3b63489aa94bebe08120a3b76393d7ee
https://www.nytimes.com/2020/12/31/us/samuel-little-dead.html 
https://www.staradvertiser.com/2013/04/07/breaking-news/more-cases-connected-to-l-a-serial-killer-suspect/

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น