กีฬาความเร็วและอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดทั้งจากรถและคน แต่บางครั้งมันก็อาจเกิดขึ้นจากความจงใจเพื่อผลประโยชน์ ดั่งเช่นเหตุการณ์ในการแข่งขัน F1 สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2008
เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงตราตรึงใจแฟนกีฬา F1 รุ่นเก๋า และยังเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวขานมาจวบจนถึงปัจจุบัน เพราะว่าอุบัติเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของนักแข่งเพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดมาจากน้ำมือของผู้บริหารของทีมที่เป็นคนบงการเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมคว้าชัยชนะ
เรื่องราวนี้ต้องย้อนในไปในการแข่งขัน F1 ในรายการ สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2008 โดยเหตุการณ์ในช่วงต้นการแข่งขันดำเนินไปอย่างปกติ โดย เฟลิเป้ มาสซ่า นักแข่งจากทีม Ferrari ที่ออกสตาร์ทจากตำแหน่งโพลขึ้นนำการแข่งขัน
กระทั่งเข้าสู่รอบ 14 จุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อ เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ นักแข่งทีม Renault ที่อยู่ในอันดับ 15 ประสบอุบัติเหตุ รถชนเข้ากำแพงในโค้งที่ 17 จนเซฟตี้คาร์ต้องออกมาวิ่ง และทุกทีมใช้โอกาสนี้ในการเข้าพิตเพื่อเติมน้ำมัน เปลี่ยนยาง ตามกฏการแข่งขัน ซึ่งจังหวะนี้เอง ทีมพิทของ Ferrari ก็ได้ทำพลาด ปล่อยรถของ มาสซ่า ออกมาเร็วไป สายเติมน้ำมันยังคาอยู่กับรถ จนต้องแก้ไขและร่วงไปท้ายแถว
กลายเป็นว่าคนที่ได้ประโยชน์จากอุบัติเหตุของ ปิเกต์ จูเนียร์ มากที่สุดคือ เฟร์นานโด อลอนโซ่ นักขับชาวสเปน ทีมเมตของ ปิเกต์ จูเนียร์ ในทีม Renault ที่ขึ้นตำแหน่งผู้นำทันทีแม้ ณ ตอนที่เกิดเหตุกำลังอยู่ในอันดับ 19 เนื่องจากเจ้าตัวเข้าพิตไปแล้วก่อนหน้านี้ตั้งแต่รอบ 12 หรือ 2 รอบก่อนเกิดเหตุ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าพิทในช่วงเซฟตี้คาร์ จนท้ายที่สุด อลอนโซ่ ก็คว้าแชมป์ในการแข่งขันนี้มาครอง
การแข่งขันในครั้งนี้ดูเหมือนจะจบลงไปอย่างสมบูรณ์ กระทั่งปี 2009 เรื่องราวจาก สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ เมื่อปี 2008 ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งจาก เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ ที่ถูกทีม Renault ปลดจากการเป็นนักแข่ง หลังผ่านไป 10 สนามของฤดูกาล 2009 โดยไม่สามารถเก็บคะแนนสะสมได้เลย
มีการเปิดเผยว่า เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ ส่งหนังสือไปยัง FIA หรือ สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ พร้อมชี้แจงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมระบุว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากคำสั่งของสองผู้บริหารทีมอย่าง ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ หัวหน้าทีม และ แพต ซิมมอนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของทีม Renault ในขณะนั้น
"ซิมมอนส์ ถามผมต่อหน้า บริอาตอเร่ ว่าผมเต็มใจที่จะเสียสละการแข่งขันเพื่อทีมด้วยการทำให้เกิดเซฟตี้คาร์หรือไม่ ?"
แน่นอนว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ถูกคิดและวางแผนมาเป็นที่เรียบร้อย โดย ปิเกต์ จูเนียร์ ยังระบุอีกว่า ซิมมอนส์ วางแผนให้เจ้าตัวชนเข้ากับกำแพงในโค้งที่ 17 ซึ่งจุดนั้นไม่มีรถเครนอยู่ เพราะการมีรถเครนมาเป็นตัวแปร อาจทำให้มาร์แชลสนามเคลียร์รถออกไปได้อย่างรวดเร็ว จนเซฟตี้คาร์ไม่จำเป็นต้องออกมา และไม่เกิดประโยชน์ต่อ อลอนโซ่
ปิเกต์ จูเนียร์ ย้อนเหตุการณ์ในตอนนั้น ก่อนเจ้าตัวจะเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวจนอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน ก็เพราะว่าสัญญาของเขา ณ เวลานั้นกับทีม Renault กำลังจะหมด
"ผมมีสภาพจิตใจที่เปราะบางและอ่อนไหวอย่างมาก สภาพจิตใจเช่นนี้เกิดขึ้นจากความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจาก บริอาตอเร่ ปฏิเสธที่จะบอกผมว่าผมจะได้รับการต่อสัญญาสำหรับฤดูกาลต่อไปหรือไม่"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ และ แพต ซิมมอนส์ ตัดสินใจลาออกจากการทำงานในทีม Renault F1 ทันที ก่อนมีการทำเอกสารชี้แจงจาก แพต ซิมมอนส์ ซึ่งมีรายละเอียดบางจุดตรงข้ามกับที่ เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ อธิบายแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ
"อันที่จริง เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ เสนอแนวคิดนี้ให้กับผมในตอนแรก และมันควรจะถูกปฏิเสธไปทันที มันเป็นความเสียใจและความละอายอย่างยิ่งของผมที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น ... ผมทำไปเพราะความจงรักภักดีที่ผิดทางต่อทีมของผมเท่านั้น ไม่ได้มีแรงจูงใจส่วนตัวใด ๆ เลย"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องดังกล่าวแดงขึ้น ส่งผลให้ทีม Renault ได้รับการสอบสวนจากสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ หรือ FIA อย่างเร่งด่วน เพื่อค้นหาความถูกต้องในสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนความจริงปรากฏ
โดยผู้ที่ได้รับโทษจากเหตุการณ์ดังกล่าวประกอบไปด้วย ทีม Renault ถูกคาดโทษห้ามส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน โดยมีระยะเวลา 2 ปี แพต ซิมมอนส์ ถูกแบน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการแข่งขันเป็นเวลา 5 ปี และ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ ถูกแบนตลอดชีวิต ขณะที่ เฟร์นานโด อลอนโซ่ ไม่ได้รับการลงโทษเนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว ส่วน เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ ไม่ได้รับการลงโทษเนื่องจากเป็นผู้เปิดโปงและพยานปากสำคัญในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม แพต ซิมมอนส์ และ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ ยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเอง จนกระทั่งเดือนมกราคม 2010 ศาลประเทศฝรั่งเศสตัดสินยกเลิกโทษแบนทั้งสองคน และทำให้ทั้งคู่หวนกลับสู่การแข่งขัน F1 อีกครั้ง โดยมีการทำข้อตกลงว่าทั้งสองคนจะเว้นวรรคตัวเองไปชั่วเวลาหนึ่งก่อน
ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ กลับสู่วงการ F1 ในฐานะที่ปรึกษาของการแข่งขันเมื่อปี 2022 ก่อนรับตำแหน่งปรึกษาฝ่ายบริหารของทีม Alpine ในปี 2024 และล่าสุดกับการขึ้นตำแหน่งรักษาการหัวหน้าทีม Alpine ในปี 2025 หลังจาก โอลิเวอร์ โอ๊คส์ ลาออกจากทีม
ส่วน แพต ซิมมอนส์ อยู่ในวงการ F1 อย่างต่อเนื่องกับหลายบทบาท และเตรียมรับบทที่ปรึกษาฝ่ายบริหารด้านวิศวกรรมให้กับทีม Cadillac ที่จะเข้าสู่การแข่งขัน F1 อย่างเป็นทางการในปี 2026
แหล่งอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Renault_Formula_One_crash_controversy
https://www.theguardian.com/sport/2009/sep/11/nelson-piquet-renault-singapore-fia-evidence
https://www.cbc.ca/sports/piquet-jr-blamed-for-f1-crash-scandal-1.818067