Feature

ไม่มีราชดำเนินก็ไม่มีวีระพล : กำเนิด “พระกาฬหน้าขรึม” บนเวทีที่เปลี่ยนชีวิตเด็กปะยางรถไปตลอดกาล | Main Stand

“ผมมีความหลังกับสนามมวยราชดำเนินเยอะมาก สุข เศร้า น้ำตา ดีใจ เสียใจ ผมผ่านมาหมดแล้ว หากไม่มีเวทีราชดำเนินก็จะไม่มี วีระพล สหพรหม อย่างแน่นอน”

 

เวทีมวยราชดำเนิน ถือว่าเป็นเวทีที่สร้างยอดมวยมาประดับวงการมาแล้วมากมายหลายคน แต่ละคนนั้นก้าวไปเป็นยอดมวย มีรายได้ มีความมั่นคงในอาชีพ ก็ล้วนแล้วแต่ได้เวทีราชดำเนินเป็นสถานที่ในการโชว์ความสามารถ ศิลปะแม่ไม้มวยไทย จนเป็นที่จดจำแก่แฟนมวยไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

ถ้ากล่าวถึงยอดมวยที่นับว่าเป็นตำนานอีกคนของเวทีมวยราชดำเนินจนอาจกล่าวได้ว่าเขาคือสัญลักษณ์ของวิกแอร์ ก็คงหนีไม่พ้น “วีระพล สหพรหม” ยอดมวยสองแบบผู้ทั้งประสบความสำเร็จในเส้นทางมวยไทย และก้าวไปถึงการเป็นแชมเปี้ยนโลก 2 สถาบันขวัญใจชาวไทย 

และไม่ว่าเขาจะออกไปคว้าดวงดาวหรือโด่งดังไกลแค่ไหน วีระพลก็ไม่เคยลืมจุดกำเนิดกับสังเวียนที่พลิกชีวิตเด็กหนุ่มวัยรุ่นจากร้านปะยางให้กลายเป็นสตาร์ตลอดกาลของวงการการต่อสู้ไทย 

 

เด็กปะยางถนนมิตรภาพ

วีระพล สหพรหม มีชื่อจริงคือ ธีระพล สำราญกลาง เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรของ นายแก่เฮง และ นางลม สำราญกลาง วีระพลเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะทางบ้านยากจน ที่บ้านประกอบกิจการร้านปะยางอยู่บริเวณริมถนนมิตรภาพ 

“ร้านผมอยู่ริมถนนมิตรภาพ ชื่อร้าน ก.การยาง บริเวณหลังร้านก็จะเป็นร้านอาหาร รับปะหมดครับ ไม่ว่าจะเป็นรถเล็ก รถใหญ่ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน ส่วนใหญ่แถวนั้นฝีมือผมหมดครับ ลูกค้าก็ถือว่ามีมาเรื่อย ๆ เพราะติดถนนใหญ่ ร้านผมเปิดตลอดครับ แทบจะ 24 ชั่วโมง บางทีร้านปิดแล้วก็จะมีพวกรถบรรทุกมาเคาะให้ไปช่วยดูยางก็มี”

ด้วยความที่ฐานะทางบ้านยากจนทำให้รายได้จากการปะยางนั้นไม่สามารถจุนเจือครอบครัวได้อย่างเพียงพอ ทำให้หนุ่มน้อยวัย 12 ปีคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเพิ่มรายได้มาดูแลครอบครัว

“วิธีที่จะหาเงินง่ายสุดของเด็กผู้ชายบ้านนอกก็คือการต่อยมวยครับ ได้มาง่ายสุด ไม่ต้องอาศัยอะไรเลยครับ ใจล้วน ๆ ตอนแรกผมก็คิดหนักเหมือนกันครับ โดยธรรมชาติผมเป็นคนที่กลัวการต่อสู้ ไม่ชอบเลย แต่พี่ชาย (วาริน สำราญกลาง) ก็คะยั้นคะยอให้ไปต่อย เขาคงอยากให้ผมรู้จักสู้คนด้วยมั้ง ก็เลยเอาก็เอา”

การชกครั้งแรกของวีระพลต่อยในพิกัด 38 กิโลกรัม โดยใช้ชื่อในการชกครั้งแรกว่า พลชัย เกียรติ ก.เจริญ โดยขึ้นชกที่เวทีงานอนามัยของอำเภอ

“พอตัดสินใจชก พ่อกับพี่ชายก็พาขึ้นรถไปเปรียบมวยเลย วันนั้นประมาณปี 2524 มีงานเปิดอนามัย ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีมวยต่อยกันเยอะมากประมาณ 30 คู่ได้” 

“ผมไปเปรียบมวย ปรากฏว่าได้ชกกับ สิงห์เหยิน สิงห์อีแซว ซึ่งเป็นเพื่อนผมเอง มวยในรายการนี้เริ่มต่อยตั้งแต่หกโมงเย็น ผมก็ไปรอตั้งแต่บ่ายสาม รอไปเรื่อย ๆๆๆ จนมืด แข้งขาก็สั่นตลอดเพราะผมขี้กลัว ประกอบกับวันนั้นอากาศก็หนาวด้วย กว่าจะได้ต่อยก็ปาไปตี 2”

ผลงานครั้งแรกของวีระพลปรากฏว่าเขาสามารถเอาชนะน็อกคู่ชกไปได้ในยก 4 ด้วยการเตะเข้าท้อง สร้างความดีใจให้กับวีระพลและครอบครัวเป็นอย่างมาก

เงินรางวัลจากการชกแม้ว่าจะได้มา 50 บาท แต่ในสมัยนั้นก็ถือว่ามากอักโขอยู่ ไม่เพียงแต่ที่วีระพลจะเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ใช้กินอยู่ถึงสัปดาห์เศษ ๆ แต่มันยังสร้างความมั่นใจ และทำให้วีระพลก้าวผ่านความกลัวในจิตใจมาได้ด้วย

“หลังจากที่ต่อยไปไฟต์แรกผมก็ไม่กลัวใครแล้ว พ่อดีใจมาก ช่วงนั้นผมก็เลยทั้งปะยางไปด้วยต่อยมวยไปด้วย มั่นใจว่าตัวเองสามารถไปได้ไกลกว่านี้ ผมเดินสายเปรียบมวยต่อยไปทั่ว ทั้งงานวัด งานมหรสพต่าง ๆ ไปกันสามคนครับ มี จสต.นิราศ แปลงมาร เทรนเนอร์ และพี่ชาย วาริน สำราญกลาง”

เมื่อเดินสายชกแถบภูธรไปประมาณ 40 ครั้งก็มีแมวมองชั้นดีอย่าง ปะ เพชรวิหาร ชวนเข้ามาต่อยมวยในกรุงเทพฯ ด้วยวัย 18 ปีของวีระพลในตอนนั้นที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็นและมั่นใจในฝีมือของตัวเอง จึงตกลงมาชกที่กรุงเทพฯ โดยเริ่มต้นชกที่เวทีสำโรงเป็นเวทีแรก 

 

สังเวียนเปลี่ยนชีวิต

จุดเปลี่ยนจาก “พลชัย เกียรติ ก.เจริญ” มาเป็น วีระพล สหพรหม ก็คือการได้ย้ายมาต่อยในศึกดาวรุ่งชูเจริญ ภายใต้การชักชวนของ เทพ เทพสตาร์ ผู้ช่วยของ ชูเจริญ รวีอร่ามวงศ์  

โดยเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วีระพล ส่วน สหพรหม นั้นเป็นชื่อที่ ชลัท ภุมวรรณ ผกก.สภ.แก่งคอยในขณะนั้นเป็นผู้ให้การสนับสนุนและตั้งให้เป็นนามสกุลในการชกมวย ตั้งแต่นั้นชื่อของ “วีระพล สหพรหม” จึงโลดแล่นอยู่บนผืนเวทีมวยราชดำเนินนับแต่นั้นมา 

วีระพลเคยครองแชมป์ของเวทีมวยราชดำเนินมาแล้วถึง 3 รุ่น คือรุ่น 108 ปอนด์, 112 ปอนด์ และ 115 ปอนด์ สามารถเอาชนะคู่ชกระดับชั้นนำมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะไทย จ๊อกกี้ยิม, บุญนำ ศ.จารุณี, แสนไกล ศิษย์ครูอ๊อด และ หลักหิน วสันตสิทธิ์ 

ด้วยสไตล์การชกที่ต่อยสนุก ออกอาวุธสวยงาม แต่มีความหนักแรงของหมัด เพราะเจ้าตัวเคยทำงานปะยางรถมาก่อนจึงมีพลังกำปั้นที่หนักโดยธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นมวยครบเครื่องที่หาตัวจับยาก อีกทั้งยามอยู่นอกสังเวียนก็มีความเป็นสุภาพบุรุษเสมอ เขาจึงเป็นที่รักของแฟนมวยและสื่อมวลชนเสมอมา 

จนทำให้เขาได้รับฉายาว่า “พระกาฬหน้าขรึม” ที่มาจากความสามารถด้านการชกมวยที่เก่งกาจระดับพระกาฬ แต่มีบุคลิกเป็นคนที่เงียบขรึมที่ไม่แสดงออกทางสีหน้ามากนัก 

วีระพลประสบความสำเร็จอย่างมากในการชกที่เวทีมวยราชดำเนิน และที่แห่งนี้เองก็เปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่ต่อยอดวีระพลไปสู่โอกาสต่อมา นั่นคือการเทิร์นโปรไปชกมวยสากลอาชีพ เช่นเดียวกับอดีตคู่ชกที่เขาบอกว่าหนักใจที่สุดในชีวิตการชกมวยไทย นั่นก็คือ “แซมซั่น” แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ ที่ภายหลังไปชกมวยสากลอาชีพเหมือนกัน 

“ไฟต์ที่แพ้น็อกแซมซั่น ต้องบอกว่าเป็นการชกที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต เจอกันครั้งแรกที่ราชดำเนิน วันนั้นคนเข้ามาดูเยอะมาก เก็บค่าตั๋วได้ประมาณ 2 ล้านกว่า คนชนะในวันนั้นจะได้รางวัลนักมวยยอดเยี่ยมแห่งปีด้วย” 

“วันนั้นต่อยกันพิกัด 114 ปอนด์ ยกแรกเรียกว่าผมโชว์เลย เตะล่อเป้าจนจ่อยเข้าไม่ติด เราก็เลยประมาทคิดว่ายังไงก็สู้ได้  พอยก 2 เริ่มโดนหมัดแซมซั่น โดนไปทั้งหมด 15 หมัด 2-3 หมัดแรกยังทนได้ แต่จากนั้นไม่รู้มาจากไหน โดนเยอะมากจนวูบไปเอง”

หลังจากไปชกมวยสากลอาชีพจนได้แชมป์โลกมาครองถึง 2 สถาบัน 3 เส้น (แชมป์สภามวยโลก WBC รุ่น 115 ปอนด์ กับ รุ่น 118 ปอนด์ , แชมป์สมาคมมวยโลก WBA รุ่น 118 ปอนด์) เมื่อถึงคราวต้องแขวนนวม วีระพลก็เลือกไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับภรรยาอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ โดยเปิดร้านอาหารชื่อว่า ครัวแชมป์โลก และไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทำมวยอีกเลย

กระทั่งช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้วีระพลได้โอกาสกลับมายังเวทีราชดำเนินอีกครั้งหลังจากห่างหายไปหลายปี ในฐานะโค้ชของค่ายมวยดาบรันสารคาม แม้ในปัจจุบันเขาจะไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้นแล้ว แต่วีระพลก็ยังจดจำโมเมนต์ที่ได้กลับมายังบ้านหลังที่สองของเขาได้ดี

“ผมมีความหลังกับเวทีแห่งนี้เยอะมาก สุข เศร้า น้ำตา ดีใจ เสียใจ ผมเคยมีความรู้ทุกอย่างกับเวทีแห่งนี้ เวทีราชดำเนินถือว่าเป็นเวทีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของผม ผมเคยผ่านมาทุกอย่างที่นี่ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ มีความสุข ร้องไห้ ผมผ่านมาหมดแล้ว” 

“กาลเวลาผ่านไป ผมกลับมาที่เวทีราชดำเนินในฐานะเทรนเนอร์ที่มาดูแลน้อง ๆ นักมวย แต่ความรู้สึกเก่า ๆ ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม” 

“ไม่ว่าจะกลับไปเห็นห้องชั่งน้ำหนัก นึกถึงวันที่ตัวเองต้องมาลดน้ำหนัก มาวิ่งในที่แคบ ๆ เพื่อทำน้ำหนัก ห้องขายตั๋ว ร้านอาหาร แฟนมวย” 

“ภาพเหล่านี้ยังชัดเจนในความทรงจำของผมทุกอย่าง ผมรำลึกอยู่ในใจเสมอว่าเวทีราชดำเนินมีบุญคุณกับผมมาก หากไม่มีเวทีราชดำเนินก็จะไม่มี วีระพล สหพรหม อย่างแน่นอน”

Author

มรุต คงประดิษฐ์

"บอม โกลเด้นบอย" แฟนพันธุ์แท้โลกกำปั้นปี 2549 ชีวิตนี้มี 3 ม. มวย แมว และเมีย

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา