2-3 วันที่ผ่านมา ชื่อของ เทร โฮลเดอร์ กลายเป็นนักบาสเกตบอลที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามภายในเวลาชั่วข้ามคืน เนื่องจากเขาได้กลายเป็นเจ้าของสถิติ "ผู้ทำแต้มสูงสุดใน 1 เกมของ ดรูว์ ลีก"
63 แต้มคือคะแนนที่เขาทำได้ และนั่นเหนือว่าผู้เล่นระดับ NBA ที่เคยลงเล่นในลีกนี้ทั้ง ไอเซย์ โธมัส, ลิแอนเจโล่ บอล และ เลบรอน เจมส์ ...
เทร โฮลเดอร์ นักบาสเกตบอลทีมชาติไทยดีกรีเหรียญทอง ซีเกมส์ 2021 คนนี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมเขาจึงกลายเป็นเจ้าของสถิติดังกล่าวได้ ติดตามได้ที่ Main Stand
ดรูว์ ลีก แข็งแค่ไหน ?
วิดีโอคลิปลีลาการเล่นของ เทร โฮลเดอร์ กลายเป็นที่ถูกถามถึงขึ้นมาในทันที เมื่อเขาโชว์ลีลาซัดไป 63 แต้มในเกม ดรูว์ ลีก ปี 2022 ที่ได้ดวลกับ ลิแอนเจโล่ คนกลางของ 3 พี่น้องตระกูล บอล ที่ ลอนโซ่ พี่ใหญ่ กับน้องเล็ก ลาเมโล่ โชว์ลีลาอยู่ใน NBA ขณะนี้
จากวิดีโอคลิปที่ได้เห็น เทรโชว์ทักษะการเล่นวงในและวงนอกอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะ 3 แต้มหรือการเลี้ยงฝ่าเข้าไปทำแต้มก็ทำได้ดี ชนิดที่ว่าหากไม่บอกว่าเขามีเชื้อไทยก็คงคิดว่าเทรคือหนึ่งในคนที่กำลังจะเข้าดราฟต์ใน NBA ครั้งต่อไป
หากจะถามว่ามันน่าอัศจรรย์แค่ไหนกับการทำ 63 แต้มในดรูว์ ลีก เช่นนี้ เราคงต้องเริ่มอธิบายก่อนว่า ดรูว์ ลีก นั้นคือลีก Pro-Am ซึ่งหมายถึงลงได้ทั้งนักบาสอาชีพ (Professional) และสมัครเล่น (Amateur) ทําให้รายการนี้มีผู้เล่นที่หลากหลายทั้งนักบาส NBA, จากลีกต่างชาติ หรือนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งลีกนี้ก่อตั้งมานานแล้วตั้งแต่ปี 1973
จนกระทั่งในปี 2011 ความสนใจในดรูว์ ลีก ก็เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งกระฉูด เมื่อนักบาสเกตบอล NBA ตัวดังนำโดย เลบรอน เจมส์ และ โคบี้ ไบรอันท์ ตัดสินใจเข้าแข่งขันในรายการนี้เพื่อเรียกความฟิตในช่วงที่ NBA ประกาศล็อกเอาต์ งดกิจกรรมทุกอย่างเนื่องจากสมาคมผู้เล่นเจรจาส่วนแบ่งรายได้กับลีกไม่ลงตัว ซึ่งแน่นอนว่าบัตรเข้าชมในเกมที่ตัวดังจาก NBA ลงแข่งก็ขายหมดเกลี้ยง
หลังจากที่ เลบรอน กับ โคบี้ ลงเล่นในครั้งนั้น ดรูว์ ลีก ก็กลายเป็นสนามที่เหล่าผู้เล่น NBA มาใช้เรียกความฟิตกันมากขึ้น เพราะมันเป็นเกมบาสที่เน้นความมัน เน้นการทำแต้ม ไม่ได้ยึดกับแทคติกอย่างเข้มข้นตลอดเวลาเหมือนกับ NBA โดยมีผู้เล่นระดับแถวหน้าอย่าง เควิน ดูแรนท์, เจมส์ ฮาร์เดน รวมถึง เดอมาร์ เดอโรซาน เข้ามาสร้างสีสันให้กับการแข่งขัน ดรูว์ ลีก จนได้รับความสนใจมากขึ้นในทุกวันนี้
เมื่อมีเหล่าสตาร์มาลงเล่น ผู้เล่นระดับสมัครเล่นจึงใช้สนามนี้โชว์ลีลาเพื่อให้คนกลุ่มใหญ่ได้เห็น และมันก็กลายเป็นเวทีสำหรับนักบาสที่หลุดจากโผดราฟต์เดย์, รุกกี้ที่ไม่ค่อยได้ลงเล่น และผู้เล่นจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาปรับสไตล์และเคาะสนิม ดังนั้นถ้าจะบอกว่า ดรูว์ ลีก คือลีกบาสเกตบอลที่มีคุณภาพการแข่งขันสูงระดับหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก ... และนี่แหละคือเวที่ที่ เทร โฮลเดอร์ สร้างปรากฏการณ์ไปสด ๆ ร้อน ๆ
เทร ยัง แห่งรัตติกาล
เทร โฮลเดอร์ เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ไทย ชารี แม่ของเขาเป็นชาวไทย เขาเกิดที่ลอสแอนเจลิส หนึ่งในเมืองที่คลั่งไคล้บาสเกตบอลที่สุดในโลก ซึ่งแน่นอนว่าที่นี่แหละคือต้นกำเนิดของ ดรูว์ ลีก ภายใต้สโลแกน "เมื่อมีโอกาส คุณสามารถเปลี่ยนโลกได้" และพ่อของเขาก็พยายามผลักดันเรื่องบาสเกตบอลให้เขาได้ซึมซับอยู่เสมอ
"พ่อเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อการเล่นบาสของผมอย่างมากเลย เขาเป็นทั้งแฟนบอลและเล่นบาสมาตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ เพื่อนสนิทของพ่อผมก็เล่นใน NBA แต่ผมจำชื่อไม่ได้ ที่แน่ ๆ คือผมมีภาพถ่ายของเขาคนนั้นและผมก็อยู่ในเฟรมเสมอ ... ผมเกิดที่ แอลเอ และบาสเกตบอลก็มีวัฒนธรรมอันยาวนานที่นี่ ผมตกหลุมรักบาสเกตบอล และเริ่มเล่นมันตั้งแต่จำความได้" เขาให้สัมภาษณ์กับ FIBA
เทร เป็นนักบาสทีมโรงเรียนเบรนท์วูด และเป็นตัวหลักของทีม แม้เขาจะไม่ใช่เด็กสัตว์ประหลาดเหมือนกับที่นักบาสเกตบอล NBA อย่าง ไซออน วิลเลียมสัน หรือคนอื่น ๆ เป็น แต่เจ้าของความสูง 185 เซนติเมตรที่ถือว่าเป็นผู้เล่น "ตัวเล็ก" ก็ใช้สิ่งอื่นเข้ามาทดแทนพลังของร่างกาย นั่นคือความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพของตัวเองเสมอ
"เขาเป็นคนทำงานหนักมาก และบาสเกตบอลคือลมหายใจเข้าออกสำหรับเขาเลย ทุก ๆ วันหลังจากที่เขาทำการบ้านเสร็จ บาสเกตบอลคือสิ่งเดียวที่เขาใช้เวลาไปกับมัน เขาจะฝึกฝนมันอยู่เสมอ" แม่ของ เทร โฮลเดอร์ กล่าว
บาสเกตบอลทำให้ เทร ได้ไปต่อยังรั้วมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตท โดยโค้ชที่ดึงตัวเขามาคือ เฮิร์บ เซนเดก โดยเทรใช้เวลาในช่วงที่เรียนปี 2 ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมและจบซีซั่นด้วยการทำผลงานเฉลี่ย 16.2 แต้ม 37 รีบาวด์ และ 3.2 แอสซิสต์ต่อเกม ก่อนที่เจ้าตัวจะเข้าดราฟต์ NBA ในปี 2018 หลังจบปี 4
เทร โฮลเดอร์ มั่นใจพอตัวในการดราฟต์ครั้งนั้น เพราะสื่ออย่าง Bleacher Report ถึงกับเรียกเขาว่า "เทร ยัง แห่งรัตติกาล" โดยให้คำจำกัดความเขาว่า "โฮลเดอร์มีความคล้ายกับ เทร ยัง ตรงที่เลี้ยงบอลไปได้หลายทิศทางและยากที่จะป้องกันได้ เขาเล่นให้กับแอริโซนา สเตท ภายใต้การคุมทีมของโค้ช บ็อบบี้ เฮอร์ลีย์ และมันทำให้เขามีอิสระกับเกมเป็นอย่างมาก"
นอกจากนี้เขายังได้พยายามฝึกลบล้างข้อด้อยของตัวเองอย่างจริงจัง เรื่องสภาพจิตใจที่เขาถูกวิเคราะห์ว่าเป็นคนที่มักจะเล่นพลาดแล้วมีอาการแกว่งจนทำให้มีฟอร์มที่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งโฮลเดอร์ก็ได้ฝึกซ้อมพิเศษในสนาม รวมถึงการฝึกเรื่องจิตวิทยากับ แกรห์ม เบตชาร์ต (Graham Betchart) นักจิตวิทยาด้านกีฬาที่เคยฝึกให้กับผู้เล่นอย่าง แซค ลาวีน, แอรอน กอร์ดอน และ เบน ซิมมอนส์ มาก่อน
"ผมต้องเรียนรู้วิธีการทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า" โฮลเดอร์ กล่าว "แม้ว่าบางวันผมจะมีฟอร์มที่ดีและความฟิตที่ยอดเยี่ยม แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่สามารถหย่อนยานและพูดว่าพรุ่งนี้ผมจะลาหยุดเพราะเมื่อวานผมทำเอาไว้ดีแล้ว ผมพยายามรักษาความสม่ำเสมอให้ได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่สำคัญมาก"
โฮลเดอร์พยายามกระโดด 400-500 ครั้งทุกทีที่ออกกำลังกาย และบางวันเขาก็จะเข้ายิมหลาย ๆ ครั้ง นั่นช่วยให้เขามีความสม่ำเสมอในการกระโดดและทำได้สูงขึ้นด้วย ส่วนเรื่องการยิง 3 แต้มที่เคยเป็นจุดอ่อน หลังจากเข้าฝึกเพื่อการดราฟต์ โฮลเดอร์สามารถยิง 3 แต้มได้แม่นยำด้วยค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมถึง 36%
อย่างไรก็ตามบางครั้งโลกนี้ก็มีอัจฉริยะและปีศาจที่น่ากลัวซ่อนอยู่มากกว่าที่เราคิด ในการดราฟต์ครั้งนั้นมีสตาร์ ณ ปัจจุบันอย่าง ลูก้า ดอนซิช และ เทร ยัง เข้าร่วมดราฟต์ด้วย
สำหรับ เทร โฮลเดอร์ เขาไม่ถูกเลือก และนั่นมีผลอย่างมาก เพราะตามกฎการดราฟต์นั้นผู้เล่นที่จะเข้าสู่ดราฟต์ของ NBA จะมีโอกาสเพียง 1 ครั้งเท่านั้น หากเข้าดราฟต์แล้วไม่ถูกทีมไหนเลือก พวกเขาจะต้องอยู่ในสถานะผู้เล่นฟรีเอเยนต์เพื่อให้สโมสรติดต่อมาเองเท่านั้น
พูดกันแบบไม่ได้ทำร้ายน้ำใจกันมากเกินไปนักและอิงตามหลักความเป็นจริงคือ เทร โฮลเดอร์ นั้นยังไม่มีคุณภาพระดับคับแก้วแบบพวกปีศาจใน NBA ที่เก่งรอบด้าน ทั้งด้านวิสัยทัศน์ ร่างกาย และทักษะ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร
สำหรับชายวัย 22 ปีที่หมดเวลาที่จะล่าฝันในแบบพุ่งเข้าชนทั้งตัวเหมือนกับตอนเป็นวัยทีนเอจอีกแล้ว เขาจะต้องหาเงิน ทำงาน เพื่อให้ชีวิตมีหลักประกันที่มั่นคงกว่าความฝัน และนั่นทำให้ เทร โฮลเดอร์ ไปเล่นในต่างแดน เพราะในลีกเหล่านี้แม้จะไกลจากบ้านเกิดแต่ก็ยังมีค่าตอบแทนสูงกว่าการลงเล่นในระดับจี ลีก ของอเมริกา
สู้อีกครั้งเพื่อ NBA
เทร โฮลเดอร์ เล่นในลีกของอิตาลี เยอรมัน และ โปแลนด์ ตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งในปี 2021 สายลมพัดหวนก็พาเขากลับมายังบ้านเกิด และลีกที่เหมาะกับเขาในเวลานั้นไม่ใช่ NBA แต่คือ จี ลีก ลีกของเหล่าผู้พลาดหวังจาก NBA ที่รอโอกาสที่ 2 ของตัวเอง
จี ลีก คือลีกระดับรองลงมาจาก NBA หรือที่เรียกกันว่า Minor League ซึ่งจะมีทีมสาขาของเหล่าทีมที่อยู่ใน NBA ส่งลงแข่งขันในลีกนี้ หากผู้เล่นในจีลีกคนไหนมีผลงานที่โดดเด่นก็มีโอกาสจะถูกดึงตัวไปเล่นในระดับ NBA ได้เช่นกัน เช่น อังเดร อินแกรม ที่เคยขึ้นมาสร้างชื่อในช่วงสั้น ๆ ก่อนได้รับสัญญาจาก แอลเอ เลเกอร์ส ในช่วงปี 2019 เป็นต้น
เขากลับมาเล่นให้กับทีมเบอร์มิงแฮม สควอดรอน ทีมสาขาของนิวออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ ก่อนจะย้ายมาอยู่กับเวสต์เชสเตอร์ นิกส์ ทีมสาขาของนิวยอร์ก นิกส์ ในปัจจุบัน โดยช่วงเวลาที่กลับมาเล่นใน จี ลีก โฮลเดอร์ ได้มีโอกาสดี ๆ ในการร่วมซ้อมกับนักกีฬาระดับ NBA หลายคน เขาเคยลงซ้อมร่วมกับ เจมส์ ฮาร์เดน และเคยเล่นเกมแบบดวล 1-1 กับ ไครี เออร์วิง มาแล้ว
และในปี 2021 ที่ เทร โฮลเดอร์ กลับมาเล่นในอเมริกาอีกครั้งก็เป็นช่วงเดียวกับที่แฟนบาสเกตบอลชาวไทยได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาเป็นคนไทย และเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมบาสเกตบอลทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ 2021 โดยทางสมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยได้มีการออกมาเปิดเผยถึงข้อมูลของนักบาสเกตบอลชายลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่ก้าวขึ้นมาติดธงทีมชาติครั้งแรกโดยที่แฟน ๆ วงการยัดห่วงทั่วไทยยังไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักฝีไม้ลายมือของเขามาก่อน
ชื่อของเขาที่ใช้ในการแข่งขันกับทีมชาติไทยคือ แอนโทนิโอ ไพรซ์ สุนทรโชติ โดยสมาคมบาสเกตบอลอธิบายถึงเขาเพิ่มเติมว่า "ผู้เล่นที่มีดีกรีระดับชิงแชมป์มหาวิทยาลัยของอเมริกาหรือ NCAA โดยมีชื่อในวงการบาสเกตบอลที่นั่นว่า 'เทร โฮลเดอร์'" เขาติดทีมชาติไทยชุดซีเกมส์พร้อมกับผู้เล่นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน อีก 3 คนได้แก่ เฟรเดริก ลิช, โมเซส มอร์แกน และ จา มอร์แกน ที่ผ่านเวที NCAA มาแล้วทั้งหมด ซึ่งในซีเกมส์ที่เวียดนามที่แข่งไปในปี 2022 นั้น เขาช่วยให้ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองในประเภท 3x3 และคว้าเหรียญทองแดงในประเภท 5x5
ในวัย 26 ปี เทร โฮลเดอร์ กำลังตามฝันเพื่อพยายามกลับมามีโอกาสใน NBA อีกครั้ง ในช่วงพรีซีซั่น 2022 ที่ผ่านมาเขาโพสต์ภาพระหว่างการซ้อมกับผู้เล่นทีมนิวยอร์ก นิกส์ ด้วยแคปชั่นที่ว่า "เรื่องราวได้ถูกเขียนขึ้นแล้ว" เพื่อส่งสัญญาณว่าจากนี้เขาจะทุ่มสุดตัว แม้ไม่รู้ว่าจะสามารถไปถึงระดับเดียวกับเหล่าปีศาจแห่ง NBA ได้หรือไม่
เทร โฮลเดอร์ กำลังสนุกกับบาสเกตบอลอีกครั้งในเวลานี้ แม้เขาจะต้องลงเล่นใน ดรูว์ ลีก หรือ จี ลีก ก็ตาม แต่อย่างน้อย ๆ เขาก็ทำตามที่เขาพูด นั่นคือการเริ่มเขียนเรื่องราวของตัวเองแล้ว
อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วทั้ง จี ลีก และ ดรูว์ ลีก ก็ยังคงเป็นการแข่งขันสำหรับคนที่ไม่พร้อมสำหรับ NBA อยู่ดี เมื่อบวกกับการที่ผู้เล่นแบบอื่น ๆ ทั้งสัญญาทดลองของผู้เล่นท้องถิ่นหรือผู้เล่นที่ถูกดราฟต์โดยลีกเองก็ทำให้เห็นว่า จี ลีก ยังมีคุณภาพแตกต่างจาก NBA มากอยู่เหมือนเดิมในปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือ จี ลีก คือลีกที่เป็นประตูอีกบานที่จะก้าวไปสู่ NBA สำหรับนักบาสฝีมือดี คนที่มีความสามารถสูง ๆ จะได้รับการหยิบยื่นโอกาสครั้งสำคัญจากทีมใน NBA ในยามที่พวกเขาขาดผู้เล่นหรือไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ก็ตาม
63 แต้มในรายการดรูว์ ลีก ที่เป็นเหมือนรายการอุ่นเครื่องไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน และในวัย 26 ปีมันก็ยังไม่สายเกินไปที่จะพยายามอีกสักครั้ง เพราะอย่างลืมว่าผู้เล่นอย่าง อังเดร อินแกรม เองตอนที่ได้โอกาสไปเล่นใน NBA ครั้งแรกกับเลเกอร์ส อายุก็ปาเข้าไป 33 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังสร้างผลงานยอดเยี่ยมจนถูกกล่าวถึงและทำให้ผู้เล่นจาก จี ลีก ถูกจับตามองในทุกวันนี้
ว่ากันว่าโอกาสจะมาถึงคนที่เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ สำหรับ เทร โฮลเดอร์ ตอนนี้เรื่องราวของเขากำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเขาจะเริ่มถูกจับตาจากเหล่าแมวมองมากขึ้นแน่นอน ... ที่เหลือเป็นเรื่องของการยกระดับ ความสม่ำเสมอ ทัศนคติ และวินัยที่จะเป็นตัวตัดสินว่า โฮลเดอร์ จะสามารถเป็นผู้เล่นไทยคนแรกใน NBA ได้หรือไม่ ?
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โฟกัสต่างเป้าหมาย : G League ลีกบาสที่ห่างกับ NBA แค่หนึ่งขั้น แต่คุณภาพห่างกันชัดเจน
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Drew_League
https://bleacherreport.com/articles/2752674-how-asus-tra-holder-became-one-of-cbbs-best-guards
https://en.wikipedia.org/wiki/Tra_Holder
https://www.azcentral.com/story/sports/ncaab/asu/2018/03/02/tra-holders-career-starts-apology-ends-asu-basketball-record-book/389856002/
https://www.fiba.basketball/asiacup/2025/pre-qualifiers/news/tra-holder-ready-to-put-thailand-in-the-best-position-to-succeed
https://thesundevils.com/sports/mens-basketball/roster/tra-holder/3771