Feature

เสกสรร อานันทศิริเกียรติ : คุยทุกเรื่อง "ความเป็นเกาหลี" ในโลกกีฬา | Main Stand

ณ ตอนนี้ ไม่มีที่ใดในโลกไม่รู้จัก "เกาหลี" โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะมาจากผลผลิตทางการส่งออกวัฒนธรรมประชานิยมอย่างซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลงเคป็อป อาหารการกินต่าง ๆ ระดับเศรษฐกิจ เทคโนโลยีนำสมัย โทรศัพท์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การผลิตสารกึ่งตัวนำจากกลุ่มทุนแชโบลอย่าง ซัมซุง แอลจี ฮุนได และ ล็อตเต หรือเรื่องทางการเมืองอย่างกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ที่ประสบความสำเร็จ รอยทางชัยชนะของฝ่ายซ้ายบางอย่าง การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งเกาหลีเหนือที่เป็นประเทศปิด ยังโด่งดังในเรื่องของดุลแห่งอำนาจและการสะสมจรวดมิสไซล์เสียด้วย

 


แน่นอนว่าในโลกกีฬาก็เช่นเดียวกัน ที่เกาหลีได้ก้าวขึ้นมามีที่ทางในสากลโลกไม่ว่าจะเป็น กีฬากอล์ฟ ที่มือหนึ่งของโลกช่วงหนึ่งแทบจะเป็นสตรีชาวเกาหลี ถึงขั้นระดับปรากฏการณ์อย่าง พัค เซ รี ก็มีให้เห็น กีฬายิงธนู ที่เกาหลีกวาดเหรียญทองในโอลิมปิกเป็นว่าเล่น หรือ กีฬาฟุตบอล ที่สามารถไปได้ไกลถึงอันดับที่ 4 ของโลก การเกิดขึ้นของนักเตะนาม พัค จี ซอง ที่ได้ไปค้าแข้งที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และล่าสุดอย่าง ซน ฮึง มิน ที่ไปค้าแข้งกับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นซูเปอร์สตาร์เลยทีเดียว 

กระนั้นเมื่ออยู่ในแสงสว่างย่อมทำให้เห็นอะไรบางอย่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น บ่อยครั้งวงการกีฬาเกาหลีได้คลี่ให้เห็นความมีเอกลักษณ์บางอย่าง เช่นการปาไข่ต้อนรับนักกีฬาที่ทำผลงานได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ การตบเด็กและใช้ความรุนแรงเวลาโค้ชสั่งแล้วไม่ได้ดั่งใจ หรือความดุดันไม่เกรงใจใครที่สามารถพบเห็นได้เฉพาะในเกาหลีที่ไม่มีใครเหมือน

Main Stand จะพาไปพูดคุยกับ เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korean Association of Thai Studies : KATS) และนักวิจัยแห่งศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center : ISC) เพื่อพาไปทำความเข้าใจ "ความเป็นเกาหลี (Koreanness)" ที่สะท้อนออกมาเมื่อเพ่งพิจารณาวงการกีฬาอย่างถ้วนถี่ ว่าแท้จริงแล้วมีพลวัตอย่างไร ? มีการปฏิบัติการทางความคิดอย่างไร ? และท้ายที่สุด วงการกีฬาไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้หรือไม่ ? อย่างไร ? เพื่อคุณูปการต่อไปในอนาคต

 

สวัสดีครับ ตลอดการสนทนานี้ ขออนุญาตเรียกว่า พี่เสก ได้ไหมครับ ?

สวัสดีครับ แน่นอน เรียกได้เลย ไม่มีปัญหา ผมรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้สนทนากันวันนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยแก่คอกีฬาหรือคนที่สนใจเกาหลีครับ ขอบอกก่อนว่าสิ่งที่คุยกันจากนี้เป็นความเห็นและความรับผิดชอบส่วนตัวของผม ไม่ใช่ของหน่วยงานที่สังกัดนะครับ

 

ได้ข่าวว่ามีฉายาด้วยหรอครับ ?

โอ้ ผมเป็นนิสิตและนักศึกษารัฐศาสตร์สายเกาหลี ฉายา "หลวงโคริยภักดี" ผู้มีโซจูเป็นเพื่อนรู้ใจครับ (หัวเราะ)

โอ้ ดีครับ ก่อนอื่นนั้นอยากให้พี่เสกเท้าความเสียเล็กน้อยครับว่าไปจับพลัดจับผลูมาสนใจเกาหลีในฐานะหน่วยศึกษาหลักได้อย่างไรครับ ?

ต้องบอกก่อนว่าสมัยเรียนปี 2 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไปลงทะเบียนเรียนวิชาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก คือจริง ๆ ผมสนใจจีนและญี่ปุ่นมาก่อน เกาหลีคือแบบ คุณนึกออกไหม เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วแทบไม่มีที่ทางเลย แต่พอได้เรียนแล้ว เอ้อ ! น่าสนใจดี แล้วต่อมาคือใช้เงินส่วนตัว บินไปเกาหลีจริง ๆ ผมจำได้แม่นยำเลย 13 ตุลาคม 2010 เหยียบสนามบินอินชอนครั้งแรกในชีวิต ไปแล้วคือแบบ ประทับใจมาก ตื่นเต้นมาก 

สิ่งที่กรุงเทพฯ ไม่มีเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่กรุงโซลมี อย่างแรกเลยคือความสะดวกสบาย นึกภาพตามผมนะ รถไฟฟ้าตอนนั้น หมดระยะหมอชิตแล้วฝนตกหารถกลับบ้านไม่ได้ ไม่ว่าจะรถเมล์ มอเตอร์ไซค์ หรือแท็กซี่ ผมนี่ตัดสินใจเดินเท้ากลับบ้านที่เสนานิคมด้วยความเคียดแค้นเลย (หัวเราะ) ลำบากแท้ พอไปโซล ฮีลใจผมเลย ต่อมาคือความสนุก ผมไปร่วมไล่ พัค กึน ฮเย (Park Guen Hye) กับพี่น้องมวลมหาโคริยาชนคนดีด้วยนะ (หัวเราะ) 

แต่หากกล่าวในเชิงวิชาการ ผมชอบเกาหลีด้วยเหตุผล 2 ประการ อย่างแรก เกาหลีคือ "อนาคต" ญี่ปุ่นน่ะคือปัจจุบัน ในทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษของเกาหลี มีทั้งบทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยเฉพาะการผลิตชิป (Chip) ซึ่งเป็นสิ่งของสำหรับโลกอนาคต ส่วนอีกเรื่องคือ คนทั่วโลกรู้จักเกาหลีแทบทั้งนั้น ทั้งจากเคป็อปหรือซีรีส์ที่คนทั่วโลกสนใจ ทำให้เห็นว่า หากเราไปกับกระแสของเกาหลีน่าจะพาเราไปได้ไกลเหมือนเป็น "แรงลมและร่มเงา" ก็ว่าได้ 

คืออย่างวันนี้ ง่าย ๆ เลย เหตุใดคุณต้องมาถามเรื่องกีฬากับผม เกาหลีไม่ได้ Unique ด้านกีฬาขนาดนั้น มีแต่ข้อครหาและเรื่องอื้อฉาวทั้งนั้น (หัวเราะ) ตรงนี้เลยสำคัญ คือการสร้างตัวตนจากความนิยมทางวัฒนธรรมก่อน จากนั้นจึงทำให้คนทั่วโลกมาสนใจในภายหลัง เห็นไหม แค่นี้ก็เห็นได้ชัดเจนมาก

 

โอ้ น่าสนใจครับ อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็น "กระบวนการสร้างตัวตน" ของเกาหลีได้หรือไม่ครับ ?

Good point มาก ๆ อย่างเรื่องชิปที่ได้กล่าวไปนั้นก็เช่นกัน มีทั้งการแข่งขันและร่วมมือกับไต้หวันและญี่ปุ่น ผมเน้นย้ำตรงนี้ว่า หลักคิดสำคัญของเกาหลีคือการมี "สถานะและเกียรติภูมิ" เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนออกมาคือการทำตัวให้โดดเด่นที่สุด ต้องอยู่ในระดับท็อป อย่างฟุตบอลโลกนี่ ไม่เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายมีปาไข่แน่นอน นี่คือสิ่งที่เกาหลีต้องการไปให้ถึง แม้บางสิ่งจะไม่ได้กระทำให้ถูกต้องก็ตามที 

ผมประดิษฐ์คำขึ้นมา ใช้คำว่า "โคริยวิถี (Korean Way)" และ "โคริยมานะ (Can Do Spirit)" เพื่อการนี้โดยเฉพาะ นี่แหละ คนเกาหลีมีลักษณะเช่นนี้ อย่างตอนที่ผมออกไปไล่ พัค กึน ฮเย อดีตประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้ ลูกสาว พัค จอง ฮี (Park Chung Hee) ช่วงตุลาคม 2016 - มีนาคม 2017 ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาวที่แบบหนาวจับใจ แต่คนยังออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องในช่วงเย็นถึงค่ำ แกนนำนี่ย้ำกับพวกเราเสมอว่า "เราต้องสู้ไปด้วยกันจนจบ" 

ดังนั้นนี่แหละ "การทำให้สุด ทำให้เสร็จ" ไม่มีมาครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทำอะไรไม่ค้างคา เป็นวิถีจริง ๆ เป็นความสุดโต่ง ซึ่งนำพาทั้งสิ่งที่เป็นบวกและสิ่งที่เป็นลบในคราวเดียวกัน

 

เห็นแบบนี้แล้วเนี่ย เข้าใจได้ว่าสำหรับนักวิจัย สิ่งนี้คืองาน ดังนั้นเลยอยากให้ชี้หน่อยครับ ว่าความสำคัญในการรับรู้และเข้าใจความเป็นเกาหลีสำหรับคอกีฬาหรือคนทั่ว ๆ ไปคือแบบใดครับ ?

ดีเลยครับ ปี 2023 นี้ เราครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ไทย-เกาหลี รู้สึกได้ว่าอาจจะเป็นการดีหากเราได้ "แลกเปลี่ยน" หรือ "เติมเต็ม" ซึ่งกันและกัน เวลาคนเกาหลีมาไทยนี่ผมได้ยินตลอด เขามักจะบอกว่า "สะดวก สบาย สนุก" ทีนี้ผมคิดว่า เวลาเรามองเขาเรามักจะบอกว่าพวกนี้ "ดุดัน ไม่เกรงใจใคร" มีความตึงเกินไป ซึ่งตรงนี้คือแบบไปกันคนละด้าน คิดว่าเราควรแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจและหาจุดตรงกลางร่วมกัน เขาต้องการความสุภาพนุ่มนวล เราเองต้องการความจริงจัง และไปให้สุด ตรงนี้ต้องคิดต่อว่าจะเรียนรู้จากเกาหลีได้หรือไม่ 

ง่าย ๆ เลย บอลไทยจะไปบอลโลก พูดอย่างเดียวไม่ได้ไงต้องจริงจังด้วย ใจต้องมาด้วย พอเราสำเร็จ เราจะโม้ได้ว่าเราเคยแตะจุดนั้นมาแล้ว นี่แหละการเติมเต็มซึ่งกันและกัน จุดนี้สำคัญมาก ๆ หรืออาจจะบอกได้ว่า เราต้องรับ "Soft Power" ของเกาหลีที่ไม่ใช่การ "กินเล่นเต้นระบำรำฟ้อน" อย่างเดียว วิธีคิดนี่สำคัญแทบจะที่สุดเลย 

 

หรือก็คือ เราต้องไปให้ไกลกว่าการมองที่ "เนื้อหาสาระ (Content)" แต่ต้องพิจารณาไปจนถึง "รูปแบบ (Form)" ในการประกอบสร้างความสำเร็จให้ได้แบบเกาหลีใช่ไหมครับ ?

ใช่ อย่างนั้นเลย

 

ทีนี้อาจจะต้องลงลึกขึ้นเสียเล็กน้อยครับว่า "ความเป็นเกาหลีคืออะไร ?" เพราะอย่างเราบอกว่าความเป็นไทยคือเรานึกออกเลยในหัวว่ามีอะไรบ้าง คือแบบอยากรู้เลยว่าคืออะไร แบบปิ๊งขึ้นมาในหัวเลยอะไรแบบนี้ครับ ?

อย่างแรกเลย คิดว่าสำคัญแทบจะที่สุด นั่นคือ "ความไม่เป็นญี่ปุ่น" (หัวเราะ) คืออย่างนี้ เมื่อเราพูดถึงประวัติศาสตร์เกาหลีจะมีเส้นเรื่องหลักที่เห็นได้ชัดอยู่ 3 เส้นด้วยกัน เริ่มที่เส้นแรก Colonial คือความเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น และในช่วงนี้เกิดบาดแผล (Trauma) เพียบเลย พวก Comfort Women การกดขี่ การใช้แรงงาน หรือเรื่องทางเศรษฐกิจ ดูดทรัพยากรต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเกาหลีในกาลต่อมา 

อีกเรื่อง ตรงนี้ใคร ๆ ย่อมทราบดี หากเป็นคนในรุ่นก่อน ๆ คือ The Miracle of Han River คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดภายในระยะเวลา 20 ปี จากที่จน ๆ เนี่ยกลายมาเป็นประเทศระดับกลาง เข้าองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ได้ เป็น 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย ตรงนี้คือความภาคภูมิใจอย่างมาก 

อีกเส้น หากเป็นคนรุ่นพวกคุณจะสนใจมาก คือ Democratization หรือกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เพราะนอกจากเศรษฐกิจแล้วการเมืองก็ทำสำเร็จได้ไม่ต่างกัน แน่นอนว่าสิ่งนี้สะท้อนมายังวงการกีฬาอย่างไม่ต้องสงสัย ผมเคยอ่านบทความของ Main Stand เรื่อง ซน คี จอง แบบเห็นได้ชัดเลย นักวิ่งช่วงอาณานิคม คือการแสวงหาสถานะของความเป็นเกาหลี ออกจากญี่ปุ่นผ่านกีฬา 

หรือในระดับใหญ่อย่างการประกาศนโยบายของประธานาธิบดี พัค จอง ฮี ในช่วงสมัยแห่งอำนาจนิยม ที่เสนอว่า "ความเข้มแข็งทางกายคือความเข็มแข็งของประเทศ" ตรงนี้คือจุดเปลี่ยน มีการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการเล่นกีฬา ปี 1962 ตั้งมูลนิธิส่งเสริมกีฬา ปี 1972  ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเภทแบบสร้างความเข้มแข็งให้คนในประเทศอะไรแบบนี้ คล้าย ๆ กัน 

อีกเรื่องที่ห้ามลืมเด็ดขาดเลยคือเรื่อง "การบังคับเกณฑ์ทหาร 2 ปี" เพื่อทำให้เกิดการปลุกความเป็นชายในตัวคุณ สร้างเสริมร่างกายให้แข็งแรง มีระเบียบวินัย ซึ่งหนุนเสริมวัฒนธรรมองค์กรและการเล่นกีฬาอย่างมาก เรื่องประชาธิปไตยตรงนี้ก็สำคัญ คือเกาหลีพร้อม "เปิด-ปรับ" คือไม่ได้มาไล่ปิดปาก แต่รับฟังเสียงของประชาชน คุณดูอย่างหนัง Reborn Rich หรือ Parasite เนี่ย เรื่องไม่ดีทั้งนั้น แต่เขาไม่ได้เซ็นเซอร์ไง พร้อมให้พื้นที่ในการนำเสนอตลอด แต่คนไทยพอเสพเรื่องพวกนี้คือแยกขาดจากกันตลอด ซีรีส์ก็ซีรีส์ ชีวิตจริงก็ชีวิตจริง ซึ่งก็นะ (หัวเราะ) 

 

แปลกเหมือนกันนะครับ ที่เกาหลีเกิด Transition จากซีรีส์ฝันหวานอย่างพวก Coffee Prince หรือ Full House มาเป็นอะไรแบบนี้ได้

ใช่เลยครับ ต้องขอบคุณรัฐบาล คิม ยอง-ซัม ที่มีนโยบายโลกาภิวัตน์ ฟัง ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) มากระซิบข้างหูว่า ขายพวกรถขายพวกเครื่องจักรมันไม่เข้าท่าต้องขายสินค้าทางวัฒนธรรมอะไรพวกนี้ แล้วทำออกมาขายทัั้งโลก และขอบคุณท่าน คิม แท-จุง ที่สืบสานต่อยอดมาจนเกิดเป็นนโยบายที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง ขอบคุณภาคเอกชนด้วยที่ลงทุนลงแรงจนเกิดมรรคผลออกมา 

เอาเข้าจริงผมไม่ค่อยเห็นซีรีส์ที่มี "พล็อตเรื่องแบบกีฬา" เท่าไรเลย แน่ละว่า พระเอก-นางเอก เป็นนักกีฬาเนี่ยเห็นบ่อย แต่แนวแบบเส้นเรื่องหลักกีฬาผมไม่ค่อยเห็นจริง ๆ เอ้อ อีกเรื่อง ผมย้อนไปที่ความไม่เป็นญี่ปุ่น อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของ "การใส่ไม่ยั้ง" ของคนเกาหลี คือญี่ปุ่นนี่อาจจะเป็นแนว "ซ่อนความขุ่นเอาไว้ข้างใน" แต่เกาหลีไม่มีมาเก็บกด ปั้นหน้า หรือเสแสร้งอะไรแบบนี้ มีอะไรปล่อยหมด ไม่มีกั๊ก 

คุณดูโค้ชเช (ชัชชัย ชเว หรือ ชเว ยอง ซอก โค้ชเทควันโดทีมชาติไทย) สิ หรือ พัค ฮัง ซอ ก็ได้ คือลงไม้ลงมือ ฉะกราดต่อหน้าสื่อ บางทีมีกรณีที่แฉกันเองด้วย คุณเคยเห็นแบบนี้จากพวกญี่ปุ่นไหม คือเปิดตัวเปิดใจไปเลยง่ายกว่า เพราะไปสืบเจอย้อนหลังแล้วเกมทุกราย คุณเห็น พัค กึน ฮเย หรือ ซึงรี อะไรแบบนี้ไหม สังคมเล่นยับเลยนะครับ

 

โอ้ ไม่แปลกใจเลยครับที่ พัค ฮัง ซอ จะใส่เดี่ยวกับ ชิน แท ยง (หัวเราะ) 

นั่นไงครับ (หัวเราะ) แต่ตรงนี้มีประเด็นเหมือนกัน คือเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างโค้ช-นักเตะไม่ได้เป็นแบบขงจื๊อ หรือขงจื่อใหม่ที่เป็นอุดมการณ์รัฐ ผมเห็นบ่อยมาก ๆ เลย โดยเฉพาะความเข้าใจในสังคมไทยที่ชอบไปโทษขงจื๊อกัน จริง ๆ ขอบอกตรงนี้เลยว่าไม่ใช่ 

แน่นอนว่าขงจื๊อมีอิทธิพลแบบแยกไม่ออกจากเกาหลีจริง ๆ เหมือนญี่ปุ่นมีเซนและชินโต ขงจื๊อก็แบบรักพ่อแม่ รักครอบครัว รู้หน้าที่ รู้ที่ต่ำที่สูง แต่ว่าหากเจาะลึกไปที่วงการกีฬาผมจะเสนอแบบนี้ แต่ฟังให้ดี ๆ นะครับ ปัญหาหลักเลยคือ "ความเป็นทหาร (Militarism)" คุณคิดดู ระบบทหารทำให้ชินกับการจัดตั้ง ต้องฟังผู้บังคับบัญชา ห้ามหือห้ามอือ มีการจัดยศลำดับสูง-ต่ำ 

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะเกิดศัพท์ว่า "갑질 (คับจิล)" ที่อาจจะแปลได้ว่า "เรียกข้าว่านาย" ใช้เพื่อกดหัวคนที่ต่ำกว่า มีอภิสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ เป็นเจ้ามหาชีวิต ในสังคมปัจจุบันทำให้พวกที่มีอำนาจเห็นว่าตนนั้นชอบธรรม ชี้นิ้วสั่งใครก็ได้ กร่างได้ ไม่ได้รู้สึกว่าผิดแต่อย่างใด แต่ช้าก่อนนะครับ มีอีกด้านหนึ่งที่คนเกาหลีแสดงออกให้เห็นได้คือเรื่อง "Accountability" หรือความรับผิดรับชอบ กล้าทำ กล้ารับ 

สมมตินะครับ รัฐมนตรีสักกระทรวงของเกาหลีมีคลิปหลุดด่าลูกน้องว่า "โง่เป็นควายเลยไอ้…" วันต่อมาต้องแถลงข่าวลาออก ก้มหัวขอโทษประชาชนไปแล้ว ถามว่าประเทศไทยทำแบบนี้ได้ไหม (หัวเราะ) นี่คือความสุดเส้นของเกาหลี คือทำผิดแล้วต้องลาออก ไม่ออกเนี่ยมีคนจ้องเล่นงานแบบถึงเครื่องแน่นอน ผมเรียกวิถีเช่นนี้ว่า "กินร้อนแก้ร้อน กินเย็นแก้เย็น" ไก่ตุ๋นโสมเนี่ยทานหน้าร้อน ส่วนบะหมี่เย็นหรือแนงมย็อนเนี่ยทานหน้าหนาว เห็นไหมครับ น่าสนใจมาก เขาอยู่กันแบบนี้ 

 

อย่าเพิ่งไปไหนครับ อยากให้ลงลึกในเรื่อง "ความเป็นทหาร" กับความเป็นเกาหลีเสียเล็กน้อย คือที่พี่กล่าวว่า การไปเน้นหนักที่ขงจื๊อคือ "การโบ้ย" มากกว่าที่จะกล่าวว่าเป็นเหตุผลในฐานะรอยทางบางอย่างที่ทำให้เกาหลีเป็นแบบทุกวันนี้ ต้องเน้นที่ทหารเป็นสำคัญ ดังนั้นคำถามคือ แล้วในโลกกีฬาความเป็นทหารเหล่านี้นำพาผลพวงที่เป็นโทษอื่น ๆ อีกหรือไม่ครับ ?

ง่าย ๆ เลยคือ "การกดขี่ทางเพศ" เป็นรูปแบบหนึ่งที่ผู้ชายอยู่เหนือกว่าผู้หญิง เป็นความรู้สึกอคติ หรือเล็งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมบางอย่าง คือผู้ชายเสียเวลาไป 2 ปีในขณะที่ผู้หญิงไม่ได้เข้ากรมจึงมีโอกาสในการทำงานสะสมทุนได้มาก คือเรียกได้ว่าได้เปรียบมหาศาล พอมีกระแส #MeToo ขึ้นมา ทีนี้หนักเลย ยิ่งทวีความเกลียด 

อย่างการเลือกตั้งล่าสุดที่ ยุน ซอก ยอล ได้เป็นประธานาธิบดีคนล่าสุด นี่เป็นการกลับมาของฝ่ายขวา จุดแตกหักอยู่ที่การประกาศจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ โอ้โห ได้คะแนนเสียงไปมหาศาล ได้ใจชายชาตรีรุ่นอายุ 20 ที่เรียกว่า "อีแดนัม (이대남)" เลย ทั้งยังป่าวประกาศจะเพิ่มเงินเดือนทหารเกณฑ์ด้วย ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าเป็นแบบนี้ ไม่มีผู้หญิงขึ้นมาคุมผู้ชายเลยในวงการกีฬา มีแต่ผู้หญิงคุมผู้หญิง อาจจะเว้นให้ในเรื่องทางการเมืองอย่าง คัง คยอง ฮวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัย มุน แจ อิน 

หรือในเรื่องของการเป็นคนคุมทุกอย่างจริง ๆ จะเห็นได้จากลูกสาวที่เป็นทายาทของกลุ่มแชโบล แต่จริง ๆ แล้วน้อยมาก ๆ เกาหลียังไม่มีมาดามแป้ง (หัวเราะ) อีกอย่างคือเรื่องของการบริหารจัดการทีม คือยกการฝึกแบบทหารมาเลย คือไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย ค่อนข้างตึงมาก ๆ อยากได้ของดีต้องว้าก ต้องเคี่ยว ต้องตีเยอะ ๆ เรื่องของกลุ่มทุนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน แชบอลอะไรแบบนี้ คือรวบอำนาจไง ใหญ่คับประเทศเลย สั่งการอะไรก็ได้ คือชี้นิ้วจนเคยตัว ลามมายังพนักงานที่ต้องถวายหัวให้บริษัทด้วยการรีดเค้นศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุดด้วย ไม่เช่นนั้นเจอลงทัณฑ์แน่นอน แต่ประเดี๋ยวผมจะกล่าวต่อไป

 

ฟังดูแล้วเขาสุดจริงนะครับ ขนลุกเลย ว่าแต่กลับมาที่เรื่องพลวัตทางกีฬาเล็กน้อยครับ อะไรพวกนี้สะท้อนมาในวงการกีฬาอย่างไรบ้างครับ ?

จริง ๆ ผมลืมไปเรื่องหนึ่ง คืออาจจะต้องย้อนไปเรื่อง "ภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ" เป็นสำคัญ คุณดูที่ตั้งของประเทศเกาหลี ไม่ทุ่งหญ้าก็ภูเขา แถมอากาศยังหนาวจับจิต คือมีความสุดทั้งนั้น ทำให้เรื่องพลวัตทางกีฬามีสองแนวทาง คือไม่ใช้มือเปล่าอย่างพวกเทควันโดก็เป็นแบบใช้ทักษะระยะไกลแบบสูง ๆ อย่างพวกขี่ม้า ยิงธนู คือไม่มีตัวเลือกมากนัก สภาพบังคับให้ต้องกำเนิดกีฬาเช่นนี้ ว่างจากงานหว่านไถก็จัดแล้ว ปะทะร่างกายกันสร้างความอบอุ่น 

คุณคิดดู มีแต่ทุ่งกับภูเขาคุณจะเล่นอะไร จะมาพายเรือแบบอาเซียน แม่น้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบกิโล พายลงเขาทั้งลูกคุณไหวไหม หรือจะมาเล่นตี่จับ หมากเก็บ โอฬารเรียกชื่อ ท้าลมหนาว คุณบ้าแน่นอนไม่มีใครทำ เลยต้องมาเล่นพวกเทควันโดหรือยิงธนูไง โดยเฉพาะยิงธนูนี่เห็นได้ชัด จูมงไง ยิงธนูจนได้ดี ซึ่งตกทอดมายังงานกีฬาสีไอดอลที่ไฮไลต์คือการยิงธนูถูกไหม นักกีฬายิงธนูเข้ารอบลึก ๆ โอลิมปิกประจำ เทพกว่าเทควันโดไปแล้ว เทควันโดนี่เป็นกีฬาไทยครับ คนไทยได้เหรียญทองแซงหน้าเกาหลีไปแล้ว (หัวเราะ) 

ซึ่งจริง ๆ แล้วเนี่ยไม่ค่อยต่างจากญี่ปุ่นหรือจีนอะไรมากมาย แต่ก็มี "โคริยมานะ" ในการสร้างความต่างในรายละเอียดว่าแท้จริงแตกต่างกัน อย่าง "씨름 (ชีรึม)" เป็นกีฬาคล้าย ๆ ซูโม แต่คนเกาหลีจะบอกว่าเราไม่มีการปะทะร่างกาย เราทุ่มอย่างเดียวอะไรแบบนี้ แต่เพราะความไม่เป็นญี่ปุ่นไงเลยต้องหาอะไรบางอย่างมาปกป้องให้ได้ว่าของเรา Unique จริง ๆ

 

แบบรามเกียรติ์หรือมวยในแถบอาเซียนใช่ไหมครับ ที่ขยันออกมาเคลมกันตะพึดตะพือ

แน่นอน ทั้งที่จริง ๆ แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันเลย มีฟิลิปปินส์ที่รามเกียรติ์ดูแตกต่างออกไปมาก แต่ของไทยหรือกัมพูชาอะไรพวกนี้คล้าย ๆ กัน เรื่องมวยก็ กุน แขมร์ เห็นไหม แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่าหลายครั้งที่เวลาเราศึกษาเรื่องเชิงวัฒนธรรมเรามักให้น้ำหนักกับเรื่องของ "ไก่กับไข่" คือใครมาก่อน-หลัง ใครรับก่อน-หลัง แต่จริง ๆ แล้วบางอย่างก็เกิดขึ้นมาด้วยบริบทเชิงพื้นที่และมีอยู่ "ร่วมกัน" 

อย่างเกาหลีก็ไม่ได้ไปรับใครมา ไม่ได้มาจากศูนย์แต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ และตรงนี้ดันไปคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นและจีน ซึ่งต่อมาเป็นเรื่องของพลวัตในการปรับใช้หรือประยุกต์ต่าง ๆ กันไป ผมเลยรู้สึกแปลก ๆ หากเห็นการให้เหตุผลเช่นนี้ คุณลองนึกถึง Mandala States ของสมัยก่อนที่ไม่ได้มีเขตแดนชัดเจน ประเด็นหลักคือการกวาดต้อนกำลังคนด้วยการทำสงคราม ฉะนั้นก็ผสมปนเปกันหมดหาต้นกำเนิดไม่ได้ แต่ด้วยลักษณะของ "ชาตินิยม (Nationalism)" เลยพยายามเคลมกันไง

 

โอ้ คลาสสิกมากครับ ชาตินิยมกับวงการกีฬา

ใช่ครับ หนีไม่พ้น เป็นแพ็กเกจคู่กัน อีกอย่างหนึ่งผมบอกเลยว่ากีฬาเป็นเครื่องมือที่ "แย่ที่สุด" ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือทำให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ต้นยันจบ คือเห็นไหมสายการบินเวียดนามตั้งโพสต์ว่า เราบินมารับ "รองแชมป์" ไปแข่งขัน โอ้โห เรียกแขกสุด ๆ สร้างปัญหาไหมแบบนี้ ไม่นับรวมปัญหาแฟนบอลอีก เห็นไหมนี่มันสงครามชัด ๆ 

โลกดิจิทัลนี่ยิ่งพากันแล้วใหญ่ ใครจะไปคุมได้ อย่างการกระพือข่าวจนทำให้คนเกาหลีเกลียดโรนัลโด้ ประเด็นคือไม่ใช่ว่าเกลียดเพราะเกลียด แต่ดันไปผิดสัญญาไง ในโลกออนไลน์ผิดประเด็นไปมากเลย ถ้าจะหาเครื่องมือทางวัฒนธรรมมาช่วยสร้างสันติภาพ ผมบอกเลยว่ากีฬาไม่เหมาะอย่างแรง ไปสนใจเรื่องเพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือวัฒนธรรมยังดูมีสันติภาพกว่ามาก 

ทีนี้ถามต่อครับว่า เมื่อเราได้ทราบ 3 วิถีของความเป็นเกาหลีไปแล้ว เช่นนี้วิถีดังกล่าวเป็นเรื่องของการกระทำที่มาจากปัจเจกหรือยกสถานะเป็นวัฒนธรรมไปแล้วครับ ? รวมถึงปัญหาที่ตามมาอย่างความรุนแรงและการแสดงออกบางอย่าง ทั้งในสังคมหรือโลกกีฬา เป็นเรื่องของปัจเจกที่กระทำหรือวัฒนธรรมหล่อหลอมครับ ?

วัฒนธรรมมีผลเยอะมากนะครับ เพราะจะมีคำหนึ่งคือคำว่า "한 (Han)" ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า "สปิริตแห่งการต่อต้าน" เป็นส่วนหนึ่งของการไม่เป็นญี่ปุ่นที่มีนัยของการทำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำเท่าไรก็ไม่พอใจตนเอง ต้องดีขึ้นให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่รู้ว่าอะไรคือดีพอ ไม่แปลกใจที่โค้ชมักลงไม้ลงมือตลอด ส่วนหนึ่งคือรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี พยายามเค้นศักยภาพนักกีฬาออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งคือการคุมความคิดว่าห้ามหยุด ต้องไปต่อ และยังดีไม่พอ ตรงนี้เลยกลายเป็นว่าเกาหลีเป็นคนดุดันไม่เกรงใจใครตลอดเวลา 

 

โอ้ เสียวสันหลังเลยครับ แต่ทีนี้มีข้อสงสัย อย่างพวกเกาหลีพลัดถิ่นที่ไปอยู่ในโลกตะวันตก ในอเมริกาหรือยุโรป ตรงนี้ความเป็นเกาหลีอย่างที่พี่กล่าวถึงได้ข้ามน้ำข้ามทะเลตามไปด้วยไหมครับ ? หรือทำงานเพียงในประเทศ ?

แตกต่างครับ ในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน จริง ๆ สามารถแบ่งตามรุ่นได้เลยด้วย พวกแรก คือพวกอพยพไปขุดทอง หนีความยากจนในประเทศจนได้ดิบได้ดี พวกนี้มักสนใจเรื่องภายในประเทศอย่างมาก อย่างการเชียร์กีฬานี่เห็นชัด พวกนี้จะรวมกลุ่มกันทำแฟลชม็อบตามประเทศต่าง ๆ ที่ไปอยู่ เพื่อแสดงรากเหง้าของตนเองว่าเรามาจากเกาหลี ไม่ได้ชังชาติ คือชังแค่ตอนยากจนแล้วหนีมาหาความเจริญ แต่ตัดไม่ขาด อย่างไรเราก็คือเกาหลี เราต้องเชียร์ 

ทีนี้จะแตกต่างกับอีกรุ่นหนึ่งคือเกิดนอกประเทศที่แทบจะไม่ได้มีสำนึกแห่งความเป็นเกาหลีใด ๆ ทั้งสิ้น มองตัวเองเป็น "คนอื่น" เสมอ ใกล้ ๆ เลยคือพวกโคเรียน-อเมริกันรุ่นหลัง พวกนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรากเหง้า อย่าง มิเชล วี คุณเคยเห็นเขาพูดถึงชื่อเกาหลีไหม คุณก็เรียกกัน มิเชล วี ถูกไหม ซึ่งตรงนี้จะไม่เหมือนกับ ซน คี จอง อย่างเห็นได้ชัด

 

ทีนี้ถามต่อเล็กน้อยครับ ในกรณีพวกนักเรียนนอกที่ไปเรียนในโลกตะวันตก มีหัวตะวันตก มีชีวิตแบบตะวันตก และอีกพวกที่เป็นคนในประเทศแต่เห่อตะวันตก อย่างการมีชื่อฝรั่งของตนเองในนามบัตรคล้าย ๆ ฮ่องกงหรือไต้หวัน ตรงนี้ความเป็นเกาหลีไปถึงไหมครับ ?

ถึงสิครับ แต่พวกนี้จะใช้ความเป็นเกาหลีได้แหลมคมกว่าพวกที่เป็นแบบเกาลี้เกาหลี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ "ซน ฮึง มิน" ยอดกองหน้าแดนกิมจิ คือเราไม่เห็นว่าเขาเปิดหมดเปลือกหรือใช้คำพูดแนว aggressive ไม่มีอารมณ์ร้อนเดินไปไล่ต่อยนักข่าวอะไรแบบนี้เลย คือเขารู้ว่านานาชาติไม่อภิรมย์กับอะไรเช่นนี้ก็เลยเล่นกับสื่อเป็น กลับกันหากเขาเล่นเคลีก โดนไล่เตะบ่อย ๆ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นได้

 

เมื่อกล่าวถึงชาตินิยมแล้วย่อมมีเรื่องของการกำหนดขอบเขตว่า "ใครเป็นคนเกาหลี" อย่างนี้บรรดาชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีนาน ๆ ได้รับการนับรวมว่ามีความเป็นเกาหลีไหมครับ ?

ผมเกือบลืมเลย จริง ๆ มีเรื่องของความเป็นเกาหลี "แท้-ไม่แท้" ด้วย อย่างกรณี บาเรรี ซารีเชฟ (Valeri Sarychev) ผู้รักษาประตูสัญชาติโซเวียต ที่มาเล่นอยู่ในเคลีกยาวนานจนได้รับสัญชาติเกาหลี และได้ชื่อว่า ชิน อึย ซน (신의손) นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ จนคนเกาหลีออกมาประท้วงเลย ในที่สุดต้องเกิดการแบน หมอนี่ไม่ใช่คนเกาหลีแม้จะมีความเป็นเกาหลีก็ตาม 

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวหน่อยคือ สเตฟาน Antihero Thailand ที่ไปผับแล้วไปต่อยกับคนเกาหลี เพราะมีการแยกชัดเจนไง ในพวกสถานบันเทิงประเภทอโคจรตรงนี้จะต่างกับญี่ปุ่นที่จะมีการ Naturalize นักกีฬาบ่อยมาก ๆ เพราะเขาแบ่งญี่ปุ่น-คนอื่น คือสมมุติมีความเป็นญี่ปุ่นคือรับเข้ามาเลย แต่เกาหลีแบ่งมิตร-ศัตรู ซึ่งผมจะกล่าวต่อไป เลยมีความจำกัดจำเขี่ยในกรณีของการยอบรับในความเป็นเกาหลีค่อนข้างมาก

 

โอเค ข้างต้นเราทำความเข้าใจในแง่วิธีคิดเชิงปัจเจกหรือสังคมไปบางส่วน ทีนี้ในแง่ของเศรษฐกิจโดยเฉพาะที่ทราบกันดีอย่าง แชบอล ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วในวงการกีฬา ตรงนี้สะท้อนความเป็นเกาหลีอย่างไรบ้างครับ ?

ในการทำความเข้าใจว่าแชบอลกับกีฬาเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น ประการแรก ในช่วงรัฐบาลทหาร แชบอลสร้างสโมสรกีฬาขึ้นมาเพื่อแสดงตัวเป็นฐานสนับสนุนทางการเมืองให้รัฐบาลหนึ่ง ๆ ที่ท้ายที่สุดอาจมีอะไรที่ไม่ได้ถูกกฎหมายมากนัก ตรงนี้จะเห็นในเบสบอลชัดเจน อีกอย่างคือเป็น The Richman Toy คือเป็นของเล่นคนรวย ลูกหลานแชบอลที่ไม่รู้จะทำอะไรและรวยจัด ๆ เลยเอาเงินมาลงทุนทำสโมสรกีฬา 

อีกอย่างคือการลดภาษี สำหรับการลงทุนทำสโมสรกีฬาในช่วงเวลาหนึ่งหรือนักกีฬาที่โชว์ฟอร์มได้ระดับเทพก็จะได้ลดหย่อนภาษี ตรงนี้คือช่องทางเลี่ยงภาษีชั้นดี แต่มักเกิดขึ้นกับฝ่ายนายทุน คือรัฐบาลเปิดช่องทางให้ ไม่ได้ผิดอะไร คือไม่ได้อิงตามการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าแบบที่เราเข้าใจ 

สิ่งนี้ก็เป็นการแสวงหาสถานะของแชบอลไง อยากเป็นที่รู้จัก อยากได้รับการยอมรับ อยากมีตัวตน ซึ่งในที่สุดก็ทำได้เลยใหญ่คับประเทศ และในที่สุดก็จะคลี่ปมออกมากับบรรดาพนักงานหรือนักกีฬาอีกทอดหนึ่งแบบที่ผมได้กล่าวไป

 

แน่นอน เรากล่าวถึงเรื่องทุนไปแล้ว ทีนี้ผมสงสัยอยู่เรื่องหนึ่ง คือเท่าที่เห็นความเป็นเกาหลีถือว่ามี "วินัย (Discipline)" สูงมาก ๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับมี "ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)" ที่สูงมาก ๆ ไม่แพ้กัน คือแบบขัดกัน (Paradox) มาก ๆ ซึ่งตามตำราเวลาโดนบังคับเยอะ ๆ จะไม่ค่อยเกิดสิ่งนี้ อย่างที่เราชอบบอกว่ากะลาแลนด์อะไรแบบนี้ แต่เกาหลีกลับมีการคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำสมัยที่สุดยอดมาก ๆ หรือในวงการกีฬาก็คือการคิดค้นระบบเพรสซิ่งมาก่อนโลกตะวันตกเสียอีก ตรงนี้คือเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ ?

จริง ๆ คุณไม่ควรคิดแยกขาดออกจากกัน คือที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ผมจะยกตัวอย่างด้วยสำนวนที่ว่า "วาฬสู้กัน กุ้งหลังหัก" เป็นฐานคิดสำคัญของเกาหลีเลย เขาคิดว่าเขาเป็นกุ้งตลอด เขาอยู่ท่ามกลางปลาวาฬทั้งนั้น เขาเลยต้องการเป็นกุ้งที่ขนาดตัวใหญ่เท่าปลาวาฬเพื่อให้ต่อกรได้ คำว่าความคิดสร้างสรรค์ของเกาหลีไม่ได้หมายความว่า ยูเรก้า นั่งคิดไปอยู่ ๆ ก็คิดออกอะไรแบบนี้ แต่คือ "การบังคับให้คิด" ไม่สนว่าจะมีไอเดียที่มากมายขนาดไหน แต่ภายใต้ข้อจำกัดบางอย่างต้องคิดออกมาให้ได้ 

ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า "빨이빨이 (ปัลลีปัลลี)" ที่แปลว่า "ให้ไวให้ไว" คือเร่งรีบมาก ๆ มัวแต่มาพิรี้พิไรไม่ได้ ต้องคิดออกมาแบบทันท่วงที แบบนายพลสั่งทหารเกณฑ์ต้องทำทันที ไม่มีความประนีประนอมใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่คิดก็ออกไปจากระบบหรือไม่ก็ไปอยู่ประเทศอื่น

ตัวอย่างเลยนะครับ คุณไม่ทำบทความให้ Main Stand บอกคิดไม่ออก ไม่มีอารมณ์ ไม่มีแพชชั่น แค่คุณกล่าวจบประโยคคุณตกงานแน่นอนถูกไหม นี่ไง คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ต้องคิด ไม่คิดไม่ทำคือตายสถานเดียว แต่หากต้องการออกจากวงการจริง ๆ แล้วเกิดคับแค้นใจก็สามารถแฉออกสื่อได้ แล้วให้องค์กรที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบภายหลัง เห็นได้บ่อยถูกไหม นี่คือความเป็นเกาหลี 

 

ฟังดูแล้วคล้าย ๆ กับอุดมการณ์ "เสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)" เลยนะครับ

นั่นไง Parasite คือตัวอย่างที่ดีที่สุด จะเห็นได้ว่าเข้ากันได้กับความเป็นเกาหลีพอดี เลยเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน

ซึ่งผมคิดต่อแบบนี้ครับ โดยส่วนมากคนไทยมักจะมองเกาหลีเป็นต้นแบบในทุกมิติว่าดีเลิศประเสริฐศรี แต่ขณะเดียวกันในภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่คนเกาหลีผลิตออกมากลับเป็นแนว "Dystopia" ทั้งนั้นเลย มิหนำซ้ำคนไทยยังรู้สึกเสพแล้วฟินเสียด้วย ตรงนี้เลยอยากถามครับว่าจริง ๆ แล้วความจริงสะท้อนผ่านสื่อหรือสื่อสร้างความจริงกันแน่ครับ ?

ความเป็นจริงของใครล่ะ ? ง่ายๆ เลยนะ เป็นเรื่องของ "Platform" สมัยผมยังเด็กเนี่ยถ้าจะดู แด จัง กึม ต้องรอเปิดช่อง 3 วันอาทิตย์สี่โมง หากดูไม่ทันต้องไปซื้อแผ่นมาดู กว่าจะได้สนทนากับเพื่อน ๆ ก็ปาเข้าไป 2-3 วันแล้ว แล้วคุณดูตอนนี้สิ ทั้งแท้ทั้งเถื่อนมีเพียบ ดูจบไปคุยกับเพื่อนต่อได้ทันที ตรงนี้คือเรื่องของการประกอบสร้างความจริงของ Digital Platform ไม่เพียงแต่ของเกาหลี คังคุไบ เช่นเดียวกัน ภาพยนตร์อินเดียถูกไหม ให้ไปหาดูเอง คุณหาเจอไหม เป็นฝีมือของ Platform ทั้งนั้น ของดี ๆ มีเพียบ แต่หากสปอตไลต์ไม่ส่องไม่มีทางดัง

ในวงการกีฬาก็เช่นกัน พัค ฮัง ซอ เห็นไหม เขาเป็นใคร คุณรู้จักมาก่อนไหม ในเกาหลียังไม่รู้จักเลย หากแต่เมื่อ Platform ของเกาหลีให้ที่ทางแก่เวียดนาม อย่างการนำพัคมาออกรายการทีวีแล้วสตรีมมิ่งลง Platform โอ้โห คุณไปถามคนเกาหลีได้เลย ตอนนี้รู้จักแทบทั้งนั้น ตรงนี้คือข้อได้เปรียบไง ไม่มีหวงไม่มีล็อก ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ค่อนข้างเข้ม เน้นเก็บเงิน ต้องติดตาม ขนาดมุด VPN ยังปิดกั้นได้เลย ตรงนี้ต่างกันแล้ว ญี่ปุ่นช่วงหลังเลยแทบจะหายไป เว้นแต่พวก Alice in Borderland ที่อยู่ใน Platform อะไรแบบนี้ 

กระนั้นความเป็นเกาหลีอาจจะเรียกได้ว่าสร้างความเป็นจริงใหม่ได้เลย คนอินกับ Parasite เพราะอะไร เพราะดูแล้วเกิดอารมณ์ร่วม เออว่ะ ! เป็นแบบนี้เลย ชีวิตฉันก็แบบนี้ แหมมันสะใจจริง ๆ ตอนจบ ไม่ได้ดูนี่คุณจะตระหนักไหมว่าโลกโคตรเหลื่อมล้ำ เราทุกคนอยู่ในระบบแรงงาน เราต้องทำมาหากิน จริงไหม ทีนี้กลับมาที่พวกนักกีฬา คุณว่าพวกเขาดูแล้วไม่ตระหนักรู้หรือ แต่ทำอะไรไม่ได้เลยมาลงกับการแข่งขันไง บางทีก็เลยเถิดไปต่อยเพื่อนร่วมทีมอะไรแบบนี้ ต่อยโค้ชก็มีแต่โค้ชต่อยกลับ เห็นบ่อยกว่า (หัวเราะ)

 

ทีนี้พอกล่าวถึงการสร้างความเป็นจริงแล้ว ผมนึกถึง "หมุดหมายสำคัญ (Milestone)" ในแง่ของกีฬาเกาหลี อย่างฟุตบอลโลก 2002 ตรงนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นภาพสะท้อนของทุกอย่างที่อยู่ในองคาพยพของความเป็นเกาหลีได้ไหมครับ ?

ผมเพิ่มเติมให้ จริง ๆ คือ "Big 4" เรียงตามปีคือ เอเชียนเกมส์ 1986 โอลิมปิกฤดูร้อน 1988 ฟุตบอลโลก 2002 และโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 โดยเฉพาะที่ผมไปร่วมนี่คือพยองชัง 2018 คือแบบไม่พร้อมสุด ๆ รถไม่มี อาหารไม่มี เดินทางไม่สะดวกต้องให้ชาวต่างประเทศรุมจวกถึงจะพัฒนา นี่ไง ผมโชว์ให้คุณดู ผมซื้อตั๋วหลักล้านวอนและได้ขวดน้ำเป็นที่ระลึกมาด้วย ทีนี้กลับมาสู่คำถามคือเรื่องของการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬา ตรงนี้เกี่ยวข้องกับการแสวงหาสถานะ แบบที่กล่าวไปข้างต้นว่าถ้าเราเป็นกุ้งที่ใหญ่มาก ๆ คนอื่นจะมาดูแคลนเราไม่ได้ โอลิมปิก 1988 นี่เห็นชัด 

แต่ความน่าสนใจคือฟุตบอลโลก 2002 ฝ่ายซ้ายนะครับที่ไป Bid มา คือแปลกมาก ๆ ปกติฝ่ายซ้ายจะไม่สังฆกรรมกับญี่ปุ่น แต่ต้องนับถือท่าน คิม แท-จุง และท่าน โน มู-ฮยอน ประธานาธิบดีขณะนั้นเลย ใจกว้างมาก ๆ เหตุผลเบื้องหลังคือตอนนั้นเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะหลังวิกฤตปี 1997 เลยเห็นความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นด้วยการไม่สนใจอดีตและมองไปข้างหน้า ร่วมกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก แต่พอ จุนอิชิโร โคอิซูมิ ขึ้นมาคือจบเลย วงแตก 

แต่ในแง่เนื้อหาสาระกลับมีปัญหาเยอะมาก ๆ แย่งกันตั้งแต่เรื่องชื่อการแข่งขันยันกองเชียร์ ตรงนี้ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการรวมกลุ่มอีกแบบหนึ่งด้วย อย่างสมัยก่อนอาจจะรวมกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้รวมกลุ่มไปเชียร์บอลอะไรแบบนี้ เรื่องการรวมกลุ่มก็สำคัญ คือคนเกาหลีไม่ดีแต่พูดดีแต่โพสต์ ทำจริง ทำให้ดี ทำให้ได้ ทำให้จบ ไม่มานั่งโพสต์แบบก้าวหน้าอะไรมั่วซั่ว คือแบบเขาไปก็คือไป แต่ที่ไม่โพสต์เพราะต้องการรักษา Digital Footprint ไม่ให้เกมตอนไปสมัครงาน อะไรแบบนี้ แต่สำหรับบางประเทศ ผมเห็นโพสต์สร้างความตระหนักรู้อยู่ประจำแต่ไม่เคยช่วยลงไม้ลงมือหรือโผล่หัวไปหน้างานเลย (หัวเราะ) 

เนี่ย ๆ ขนบเกาหลีจริง ๆ คือใส่สุด ใส่ไม่ยั้ง ไล่ใครคือไล่ให้จนมุม ของไทยไม่ไปคือไม่เป็นไรเราเข้าใจ แต่เกาหลีนี่คือโหดมาก ๆ ปลุกระดมมาจากไหนก็ไม่รู้ เวลาคนมาม็อบน้อย ๆ ผมนี่งงเลย ซึ่งตรงนี้เป็นวัฒนธรรมการรวมกลุ่มที่ดุดันมาก ๆ 

 

ซึ่งแน่นอนว่าเราทราบดีว่าอันดับที่ 4 ได้มาด้วยวิธีการแบบใด (หัวเราะ) ทีนี้อาจจะบอกได้ไหมครับว่า "วิธีการที่ไม่สนวิธีการ" คืออีกหนึ่งเรื่องของความเป็นเกาหลี ?

ผมเสนอแบบนี้ อย่างแรก อะไรผิดว่าไปตามผิด แต่หากมีที่อื่นทำผิดก็ต้องกล้าตำหนิเขาด้วย ไม่ใช่ "เลือกปฏิบัติ" โทษแต่เกาหลีอย่างเดียว อย่างนี้ไม่ยุติธรรม คือผิดจริงผมเข้าใจได้ แต่แบบคนอื่นผิดแล้วปล่อยเบลอ ผมยอมไม่ได้ อย่าลืมนะว่าฉายาผมคือหลวงโคริยภักดี (หัวเราะ) อีกเรื่องคือ "การเห็นเป้าหมายเป็นที่ตั้ง" อาจจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องของการไม่สนวิธีการ แต่ก็มีส่วนที่ย้อนกลับที่น่าสนใจ 

อย่างช่วงหนึ่งเกาหลีใต้กำหนดโควตาให้ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยผู้กำกับชาวเกาหลีในประเทศได้ฉายมากกว่าภาพยนตร์จากต่างประเทศ เฮ้ย แบบนี้มันคือนโยบายปกป้องตลาดภายในนี่หว่า ขัดกฎ WTO ไหมนะ คือไม่ได้แข่งขันเสรีถูกไหม อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของการแบ่งแยก "คนใน-คนนอก" และใช้วิธีคิดคนใน-คนนอกมากำกับวิธีการอีกทีหนึ่งก็ว่าได้

 

ตรงนี้เวลาพูดถึงคนใน-คนนอก ซึ่งมีนัยของการแบ่งขั้วชัดเจน ผมกลับนึกไปถึง "ความเป็นฝ่ายซ้าย" บางอย่างในเกาหลีที่เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของเอเชียในการได้รับชัยชนะก็ว่าได้ ต่างกับในเอเชียอื่น ๆ ที่ฝ่ายซ้ายมักจะพ่ายแพ้ ตรงนี้นับเป็นความพิเศษบางอย่างของความเป็นเกาหลีไหมครับ ?

ง่ายๆ เลย เกาหลีเป็นแบบ "Uncompromise" คือไม่ยอมท่าเดียวเลย แตกต่างจากที่อื่น ๆ ที่เน้นแบบ Compromise อย่างในโลกตะวันตกยัง Compromise เลย แต่อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ "การแยกมิตร-ศัตรู" ออกจากกันชัดเจน แตกต่างกับญี่ปุ่นที่จะเน้น "ญี่ปุ่น-คนอื่น" แบบเห็นได้ชัด คือคนใน-คนนอกเกาหลีก็มีแต่ไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนแบบญี่ปุ่น 

เกาหลีจะเป็นแบบ ครต้อนรับขับสู้เราให้หมดใจ ใครมาเหลี่ยมเราแบนและไม่คบค้าสมาคมด้วย ความชัดเจนตรงนี้ส่งผลมายังวงการกีฬาด้วย คือทำให้เกิดการใส่ไม่ยั้ง แม้แต่คนเกาหลีด้วยกันก็ไม่มีความปรานีให้เห็น ที่สำคัญคือไม่ดีแต่พูดดีแต่โพสต์ (หัวเราะ) 

เอ้อ ผมเพิ่มเติมให้อีกเรื่องหนึ่งคือคนเกาหลีชอบนั่งเครื่องบินแบบไปเช้า-มืดกลับ หรือมาแบบแพ็คเกจ 3 วัน 5 วันเพื่อมาตีกอล์ฟที่ไทย แล้วแบบหากแคดดี้หรือผู้ประสานงานบริการดี เรียกได้ว่าเปย์เงินวอนไม่ยั้ง ผมเคยเห็นต่อหน้าเลย นี่ไงครับ มิตร-ศัตรู สามารถข้ามเชื้อชาติได้ คือหากดีลได้ก็ได้ใจไปทั้งใจ ขออะไรให้หมด ได้ก็คือได้ไม่ได้ก็คือไม่ได้ เป็นแบบขาว-ดำ ยอมรับเลย เหนื่อย (หัวเราะ)

 

โอ้ มีความตึงเครียดมากเลยครับ ทีนี้ผมอยากชวนให้พิจารณาในเชิงการปฏิบัติ คือผมได้ยินบ่อยมาก ๆ ว่า "เราควรใช้โค้ชเกาหลี" จะได้มีวินัย ไม่เหยาะแหยะ ไม่หย่อนยาน คือตรงนี้สามารถบอกได้ไหมครับว่าความเป็นเกาหลีสามารถถ่ายทอดแบบข้ามเชื้อชาติได้ ?

ผมหวั่นใจว่าจะตีกันตาย คือคนละแบบเลย แบบไทยคือต้องซื้อใจก่อน ต้องมีการล่อมีการโอ๋ถึงจะยอมทำตาม ไปสั่งการมาก ๆ จะไม่ยอมทำแล้วเทหมด คือต้องได้ใจจริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะลาออก แต่เกาหลีไม่ใช่แบบนั้น คือต้องยอมแบบไม่มีเงื่อนไข หากต้องการความสำเร็จ จริง ๆ คือต้องหาสมดุล ไปรับมาหมดไม่ได้ 

อย่างคนไทยอาจจะชอบการเก็บขยะของญี่ปุ่น คือลักษณะแบบนี้อาจจะน่ารักกว่ามากในสายตาคนไทย แต่เกาหลีไม่เป็นแบบนี้ คุณเก็บเพื่ออะไร ไม่ใช่หน้าที่ ตรงนี้น่าสนใจว่าท้ายที่สุดจะปฏิบัติอย่างไร ผมไม่เห็นหนทางแบบรับมาทั้งหมดจริง ๆ แต่อย่างที่กล่าวไปเมื่อครู่ แม้จะไม่ได้รับความเป็นเกาหลีมาปฏิบัติแบบฝังหัว แต่หากหยอดคำหวานใส่คนเกาหลีแล้วเขาเล่นด้วยได้จริง ๆ เรียกได้ว่าสิ่งนี้คือคุณประโยชน์แก่ชาวไทยอย่างมาก 

จริง ๆ ต้องบอกว่าคนอ่านบทความนี้จะได้ประโยชน์มหาศาลจากจุดนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ง่าย คือเขามีธงในใจมา คือเราต้องการเช่นนี้ถ้าทำไม่ได้ไม่ต้องเสนอหน้า ดังนั้นผมเลยแนะนำว่า "เปิดก่อนได้เปรียบ" เราต้องเป็นคนเสนอไม่ใช่รอให้เขาเสนอเพื่อให้เขาไปจัดการตนเอง ไม่ใช่ให้เราเป็นคนปรับตัว คุณลองไปเปิด พัค ฮัง ซอ ดูก่อน คงสนุกใช่เล่น (หัวเราะ) แต่ฝ่ายเราเองก็ต้องพร้อมและรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายของเราด้วยนะ นี่ขอย้ำเลย

 

สุดท้ายครับ สำหรับวงการกีฬา ในเมื่อเราเอาอย่างไม่ได้ เราสามารถ "เอาเยี่ยง" ความเป็นเกาหลีได้บ้างไหมครับ ?

"เรียนรู้" ครับ คำเดียวสั้น ๆ ฝีมือเรามีผมมั่นใจ แต่พอมาเล่นรวมกันแล้วไปไม่ถึงฝั่งฝันสักที ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ) เกาหลีเขาไปไกลจริง ๆ ทั้งแบบเดี่ยวหรือกลุ่ม อย่างแรกเลย ต้องฟูมฟักนักกีฬาในทุกมิติ อย่าให้เหลิง แล้วก็อยากให้มีการแลกเปลี่ยนกับโลกภายนอกมากขึ้น เราควรเปิดหรือเข้าหาเกาหลีก่อน เปิดบ่อย ๆ เข้าหาบ่อย ๆ เขาจะให้ใจเรา ไปเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดคุณูปการทั้งแก่ทีมชาติและนักกีฬาเอง ผมฝากไว้ตรงนี้

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น