“นักมวยไทยส่วนใหญ่ใช้ร่างกายค่อนข้างเปลือง ทั้งซ้อมหนัก พักผ่อนน้อย ทานอาหารไม่ครบหมู่ ชกเสร็จก็ไปกินเหล้าปาร์ตี้ พอมีรายการก็กลับมาเร่งซ้อมหนักหวังเรียกความฟิต แต่นั่นคือการใช้ร่างกายอย่างสิ้นเปลือง”
“เปรียบเทียบกับตัวผม ปีนี้ผมอายุ 37 ปีแล้ว แต่สภาพร่างกายยังแข็งแรงกว่าเด็กอายุ 20 ปีบางคนด้วยซ้ำ เพราะผมให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพร่างกายตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาค่อนข้างมาก”
ในอดีต วิทยาศาสตร์การกีฬา กับ วงการมวยไทย แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเส้นทางคู่ขนานที่หัวหน้าคณะส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ เนื่องจากเชื่อมั่นการทำมวยในสไตล์ซ้อมหนัก, เน้นความแข็งแรงนั้นดีอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยเปิดรับความรู้ด้านนี้มาปรับสักเท่าไหร่ ?
แต่ปัจจุบันหลายค่ายมวยไทย และนักชกชาวไทยหลายคน เริ่มหันมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามากขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ “เพชรทนง เพชรเฟอร์กัส” แชมเปียนเจ้าของเข็มขัด 16 เส้น ซึ่งเป็นนักมวยไทยที่ศึกษาและนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้กับตัวเองตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน
ปัจจุบันในวัยย่าง 37 ปี ไม่น่าเชื่อว่า เพชรทนง ยังคงมีสภาพร่างกายฟิตเฟิร์ม แถมยังเปี่ยมไปด้วยความกระหาย ที่อยากไปล่าแชมป์โลก คิกบอกซิ่ง ONE Championship จากฮิโรกิ อากิโมโตะ
อยากให้คุณช่วยย้อนปูมหลังก่อนว่า เพชรทนง สมัยชกมวยไทย 5 ยกในบ้านเราเป็นอย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจออกไปต่อยต่างประเทศเป็นหลัก
“ผมเคยต่อยกับนักชกเงินแสนและนักมวยมีชื่อมาหลายคน อย่างเช่น สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9, ซุปเปอร์บอน ลูกเจ้าแม่สายวารี(สิงห์มาวิน), โอโรโน่ มาเจสติคยิม (ว.เพชรพูล), เลิศศิลา ชุมแพทัวร์, พันศักดิ์ ลูก บก., ผึ้งน้อย เพชรสุภาพรรณ”
“ผลงานก็ลุ่ม ๆ ดอนๆ แต่สไตล์การชกไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของเซียน เพราะผมเป็นมวยฝีมือ หลายครั้งที่ทำมาดีตลอด 4 ยก แต่ยก 5 แพ้ยกเดียวผมแพ้เลย ถ้าผมยังขึ้นชกในเมืองไทยคงไปไม่รอดแน่ ส่วนเข็มขัดแชมป์ ผมเคยมีโอกาสได้ชิงแต่แพ้เลยไม่ได้แชมป์ครับ”
“ก็เลยคิดว่าถ้าชกเมืองไทยต่อไป คงต้องไปไม่รอดแน่ ทั้งที่ผมก็มั่นใจว่าฝีมือตัวเองก็ไม่ได้เป็นรองใครคนหนึ่ง จึงต้องดิ้นรนไปชกต่างประเทศ เพราะมองว่าน่าจะเหมาะกับผมมากกว่า”
“ช่วงประมาณปี 2008-2009 ผมพยายามหาผู้จัดการเพื่อพาผมไปชกต่างประเทศให้ได้ โดยเสิร์ชหาจากทางอินเตอร์เน็ตและเฟสบุ๊ก จนได้รู้จักพี่ป๋อง ลำปาง (สายัณห์ จันทร์ศิริ อดีตผู้สื่อข่าวนิตยสารยอดมวยเอก) และได้เดินทางไปชกที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกเมื่อปี 2009”
“วันนั้นมีคนดูเยอะมากๆ เต็มสนาม ชาวฝรั่งเศสเขาสนใจกีฬามวยไทยมาก ซึ่งการออกไปต่างประเทศครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมตั้งกับคำถามตัวเอง”
คำถามที่ว่าคือ ?
“ทำไมฝรั่งแข็งแกร่งกว่าเรา บางคนชกมวยไทยมาห้าครั้งบ้างสิบครั้งบ้าง แต่เวลาปะทะกัน ทำไมบอดี้เขาแข็งมาก กระดูกเขาแข็งมาก แต่สกิล (ฝีมือ) เขาสู้เราไม่ได้”
“ถ้าฝีมือเขามีเท่าเรา ผมว่าคนไทยสู้เขาไม่ได้ ผมมานั่งคิดว่าเป็นเพราะอะไร จนมาทราบว่าเขาใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย ทำให้ผมสนใจจนตัดสินใจลงคอร์สเรียนเป็นเรื่องเป็นราว”
อย่างที่ทราบกันดีว่า การฟิตซ้อมในเมืองไทยกับต่างประเทศมีความแตกต่างกัน พอได้มาเรียนรู้และศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา มันแตกต่างจากการฝึกซ้อมที่ตัวเองเคยถูกสอนมาเมื่อครั้งต่อยมวยไทยอย่างไร?
“มวยไทยจะซ้อมแค่อย่างเดียว วนลูปเดิมอยู่อย่างนี้ทั้ง 7 วัน หรือบางค่ายก็ซ้อม 6 วัน คือตื่นเช้ามาตีห้า วิ่ง 10 กิโลเมตรบ้าง 15 กิโลเมตรบ้าง กลับมาถึงค่ายก็เตะเป้า เตะกระสอบทราย ปล้ำ ลงนวม เล่นเชิง ตอนเย็นก็ซ้อมเหมือนเดิม ออกไปวิ่ง 5 กิโลเมตร กลับมาเตะเป้า เตะกระสอบทราย ปล้ำ ลงนวม เล่นเชิง เป็นอย่างนี้ทุกวันไม่มีเปลี่ยนแปลง”
“ส่วนในต่างประเทศ เท่าที่ผมศึกษาและมีโอกาสได้ทำงานด้วย เขาจะแยกซ้อมกันอย่างชัดเจน อย่างเช่นการฝึก Strength หรือความแข็งแกร่ง เขาจะใช้ฟิตเนสฝึกซ้อมเพิ่มความแข็งแกร่งเพียงอย่างเดียว หากฝึก Speed หรือความเร็ว เขาจะฝึกอย่างเดียวเช่นกัน ทั้งการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และการเล่นกีฬา”
“อย่างเช่นการฝึก Speed โดยใช้มวยไทย ก็จะซ้อมเพื่อเพิ่มทักษะความเร็วเพียงอย่างเดียว ไม่มีการฝึกความเร็วควบคู่กับความแข็งแกร่งหรือทักษะอื่นๆไปพร้อมกัน ถ้าจะฝึกความทนทานก็จะฝึกในเรื่อง Endurance เพียงอย่างเดียว”
“ถ้าจะฝึก Explosive power ในเรื่องพลังความหนักหน่วงรุนแรง ก็จะฝึกด้านนี้เพียงอย่างเดียว เวลาฝึกซ้อมทักษะ ก็จะฝึกฝีมือเพียงอย่างเดียว เขาจะแยกฝึกอย่างชัดเจน ไม่มีเอาทุกอย่างมาฝึกซ้อมรวมกัน เพราะไม่สามารถเค้นเอาศักยภาพในตัวเราออกมาได้ทั้งหมด”
“ยกตัวอย่างเช่น เราวิ่ง 15 กิโลเมตร แล้วกลับมาเตะเป้าต่อ เราจะทำได้ไม่ดี เนื่องจากวิ่งมายาวนานจนกล้ามเนื้ออ่อนล้า จะให้เตะเป้าเร็วๆ ก็ทำได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านต่างๆได้ถึงขีดสุดได้”
“ทำไมเขาต้องให้เราฝึกแบบนี้ ก็เพราะถ้าฝึกทุกอย่างพร้อมกัน จะดึงความสามารถในแต่ละจุดออกมาได้ไม่ทั้งหมด จึงต้องแยกฝึกเพื่อเค้นศักยภาพในทุกด้านออกมาให้ได้”
วิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยเปลี่ยนแปลง เพชรทนง ไปอย่างไรบ้าง ? เพราะถือว่า เพชรทนง ก็เป็นหนึ่งในนักมวยไทยที่หันมาศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง
“พอผมได้รู้จักวิทยาศาสตร์การกีฬา ทำให้รู้ว่าต้องแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอะไรในตัว อย่างเช่น ผมรู้ตัวเองว่าเรี่ยวแรงไม่ค่อยดี จึงต้องไปฝึก Strength หรือความแข็งแกร่งก่อนเป็นลำดับแรก”
“หลังจากนั้นค่อยไล่แก้ไปทีละจุด เช่น เพิ่มกล้ามเนื้อหัวไหล่ให้ออกหมัดได้หนักหน่วงรุนแรงขึ้น ฝึกกำลังขาให้เตะได้มีประสิทธิภาพขึ้น”
“ผมชอบอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา เพราะเห็นว่าใช้ได้ผลจริง แล้วมีช่วงหนึ่งผมเคยไปฝึกงานอยู่ในฟิตเนสที่ออสตรเลีย นานอยู่ 5 ปี ได้ความรู้มาเยอะเลยครับ เพราะเราต้องไปสอนไปแนะนำผู้มาใช้บริการ ก่อนเริ่มงานเขาเทรนผมหนักมาก”
“วิธีการสอนเด็ก ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ ต้องทำอย่างไร เขาต้องเทรนให้เราเก่งก่อน จึงจะให้เราสอนลูกค้าได้ ผมจึงได้ศึกษาเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ”
“สำหรับผมวิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยได้จริงครับ แต่จะดีขึ้นเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างต้องใช้เวลา”
นักมวยไทยส่วนใหญ่ชกมวยเร็วตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ก็เลิกชกเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยๆเช่นกัน ถ้าจะอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา คิดว่ามาจากอะไร?
“เป็นเรื่องของศักยภาพของร่างกาย คือร่างกายโดนกระทำแบบบอบช้ำและซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนไม่เกิดการ Recovery(กลับคืนสู่สภาพเดิม) เรื่องโภชนาการอาหารก็มีส่วนสำคัญในการรีคัฟเวอรี่ของร่างกาย ทั้งในเรื่องกล้ามเนื้อ กระดูก”
“ เพราะนักมวยไทยส่วนใหญ่ใช้ร่างกายค่อนข้างเปลือง ทั้งซ้อมหนัก พักผ่อนน้อย ทานอาหารไม่ครบหมู่ ชกเสร็จก็ไปกินเหล้าปาร์ตี้ พอมีรายการก็กลับมาเร่งซ้อมหนักหวังเรียกความฟิต แต่นั่นคือการใช้ร่างกายอย่างสิ้นเปลือง”
“เปรียบเทียบกับตัวผม ปีนี้ผมอายุ 37 ปีแล้ว แต่สภาพร่างกายยังแข็งแรงกว่าเด็กอายุ 20 ปีบางคนด้วยซ้ำ เพราะผมให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพร่างกายตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาค่อนข้างมาก”
พูดถึงเรื่องโภชนาการ อาหารการกิน มีความสำคัญกับนักมวยไทยขนาดไหน
“สำคัญในเรื่องการฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ ถ้านักมวยได้กินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ตื่นขึ้นมาก็มีแต่ความสดชื่น ไม่ใช่ตื่นมาด้วยอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ”
“ถ้าเป็นอย่างนั้นจะทำให้การฟิตซ้อมไม่เป็นไปตามโปรแกรม การพัฒนาศักยภาพก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า”
“หากนักมวยได้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ จะช่วยซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ทำให้กลับมาซ้อมในวันต่อๆไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารที่นักกีฬาจะรับประทานในแต่ละวัน ต้องคำนวณอัตราส่วนตามหลักโภชนาการทุกคนครับ”
คนทำมวยในบ้านเรา มีทั้งคนรุ่นเก่าและเด็กรุ่นใหม่ ถ้าจะแนะนำให้คนเหล่านี้ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยในการทำมวย จะบอกพวกเขาอย่างไร ?
“ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้วครับ สมัยนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นประโยชน์มากมาย ผมแค่อยากจะบอกว่า งานวิจัยเกี่ยววิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นความรู้ที่จับต้องได้และใช้ได้จริง”
“อยากให้ทุกคนลองเปิดใจยอมรับวิธีการใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ทำมวยผมไม่ค่อยห่วง แต่อยากให้คนทำมวยรุ่นเก่าที่ยังอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ลองปรับตัวและเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ”
“ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์การกีฬาก้าวหน้าไปไกลมาก ยังไม่ถึงขนาดต้องเปลี่ยนทั้งหมด แต่ค่อยๆนำมาปรับใช้ เรื่องอาหารก็ดี เรื่องการฝึกซ้อมก็ดี ลองเปลี่ยนวิธีการซ้อมให้หลากหลาย เหมาะสมกับนักมวยแต่ละคน”
“ลองสังเกตนักมวยต่างชาติดูนะครับ เขาชกมาห้าครั้งสิบครั้ง แต่สภาพร่างกายเขาแข็งแกร่งมาก สามารถเอาชนะนักมวยไทยที่ชกชนะมาร้อยกว่าครั้งได้ก็หลายคน แต่ถ้าเป็นนักมวยไทยที่ชกมาไม่ถึง 10 ครั้ง ไม่มีทางสู้นักมวยไทยที่ชกมาเป็น 100 ครั้งได้แน่นอน”
นอกจากเป็นนักกีฬาแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของเพชรทนงยังเป็นโค้ชช่วยมาดูแลนักกีฬา เช่น ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน
“ผมทำงานเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนอยู่ที่ Marrok Fitness Gym ตั้งอยู่ที่พัฒนาการ 20 แยก 7 แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพฯ มีหน้าที่ดูแลนักกีฬาการต่อสู้ทั้งไทยและต่างชาติ ที่ยิมเรามีทั้งนักมวยไทย, คิกบ็อกซิ่ง และนักสู้ MMA”
“ส่วนเคสของ ซุปเปอร์บอน ผมได้รับมอบหมายให้ดูแล ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน เพราะสนิทกันตั้งแต่เป็นนักมวยค่ายบัญชาเมฆ เขาเป็นน้องที่น่ารักครับ ผมดูแลเขาทุกอย่างทั้งเรื่องการฟิตซ้อม ดูกันตั้งแต่ช่วงไม่มีรายการจนถึงวันชก และหลังชกต้องทำอย่างไร”
“ผมวางโปรแกรมให้เขาเรียบร้อย รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน ทั้งอาหารหลักและอาหารเสริม ผมจัดให้เขาทั้งหมดครับ”
พูดถึงซุปเปอร์บอน ถือว่านักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง แม้อาย 32 ปีแล้ว วิทยาศาสตร์การกีฬา ช่วยเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง?
“ถ้าทุกคนสังเกตก็จะเห็นว่า ซุปเปอร์บอนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ นั่นมาจากการฝึกซ้อมแบบเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา”
“สมัยก่อนใครก็รู้ว่าเขาเป็นมวยเข่า แต่ทำไมเขาถึงเปลี่ยนเป็นมวยฝีมือ สกิลสูงขึ้น มีความคล่องแคล่ว ความทนทาน และความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น”
“นั่นเป็นเพราะเราวางแผนพัฒนาศักยภาพให้เขามาตั้งแต่ 6-7 ปีก่อน ตั้งแต่เขายังไม่ได้มาซ้อมที่ยิม ผมจึงมั่นใจว่าเขาเป็นนักมวยไทยที่จะสู้กับนักมวยต่างชาติได้ทุกคน”
กลับมาที่เรื่องของเพชรทนง หลังจากไปประสบความสำเร็จได้แชมป์มาถึง 16 เส้น และโด่งดังในประเทศจีน ทำไมถึงเลือกเซ็นสัญญากับ ONE Championship
“ถ้าจะบอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากแพสชั่น (อยากมาร่วมงานด้วย) ก็พูดได้ แต่จริงๆแล้วมาจากช่วงโควิด-19 มากกว่า แต่ก็ถือเป็นแพสชั่นของผมก็ได้ครับ ช่วงนั้นผมไม่มีรายการชก นอนเล่นเกมอยู่ปีครึ่ง วันดีคืนดี ทีมงาน ONE Championship ก็โทรเข้ามา”
“เขาบอกกับผมว่าสนใจจะชกรายการ ONE Championship อยู่หรือเปล่า ผมตอบตกลงทันที แม้ว่าจะยังไม่ได้กลับมาซ้อม แต่ผมมั่นใจว่าผมสู้ได้ เพราะผมดูแลร่างกายตัวเองดีอยู่ จึงตอบตกลง”
“ผมซ้อมเบาๆ แค่ 3 วันแล้วบินไปสิงคโปร์ทันที ปรากฏว่าผมแพ้ครับ (แพ้น็อค กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี่ ยกแรก) มันเป็นบทเรียนครับ เรพาะการขึ้นชกโดยไม่ได้ซ้อมทำให้ผมโดนหมัดแล้ววูบไปเลย”
“การที่ผมมาชกกับ ONE Championship ไม่ได้คิดว่าเงินเป็นเรื่องหลัก แต่มันเป็นแพสชั่นของผมมากกว่า”
ตอนนี้เป้าหมายของเพชรทนงในการชกมวยเป็นอย่างไร คาดหวังจะประสบความสำเร็จระดับไหน ?
“ผมอยากได้แชมป์มาคาดเอวอีกสักเส้นครับ มันจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นักมวยในวัย 36 ปีอย่างผม ยังสามารถต่อสู้กับนักมวยอายุ 20 ต้นๆ ได้อย่างสบาย ผมดูแลตัวเองเป็นอย่างดี”
“ย่อมต้องอยากพิสูจน์ตัวเองว่านักมวยอายุเยอะอย่างผมยังสามารถชกได้ทั้งนักมวยไทยและนักมวยต่างชาติ ถ้าทุกคนตั้งใจฟิตซ้อมและดูแลร่างกายตัวเองดีๆ ก็สามารถเป็นอย่างผมได้”
สุดท้ายครับ อยากให้เพชรทนงกล่าวถึงทิ้งท้ายอีกครั้งว่า วิทยาศาสตร์การกีฬามีความสำคัญกีฬามวยไทย และวงการกีฬาบ้านเราอย่างไร?
“ผมอยากจะบอกว่า พื้นฐานของกีฬาทุกชนิด มาจากความแข็งแกร่ง เพราะถ้าหากมีความแข็งแกร่งไม่เพียงพอ สปีดไม่ดี เอ็กโปรซีฟไม่ดี สกิลก็ไม่ค่อยดี ก็จะสู้ต่างชาติยาก จึงอยากทุกคนเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง”
“ผมเชื่อว่านักมวยไทยมีสกิลที่ดีเป็นพื้นที่อยู่แล้ว แค่เพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายไป เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก”