กลายเป็นประเด็นให้ได้พูดถึงกันทุกปี สำหรับ "ฝุ่น PM2.5" ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกีฬา
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับที่ไทยเพียงอย่างเดียว เพราะหากย้อนไปในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สโมสรอย่าง อาร์เซนอล และ คริสตัล พาเลซ ต่างก็เคยประสบปัญหาต้องลงเตะท่ามกลางฝุ่นที่หนาแน่น จนไม่สามารถมองเห็นสนามได้ชัดเจนกันมาแล้ว
มาย้อนดูปัญหาฝุ่นลอนดอนในอดีตที่เคยส่งผลต่อการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไปพร้อมกับ Main Stand
ปัญหาของเมืองใหญ่
สหราชอาณาจักรได้รับผลกระทบจากหมอกและฝุ่นควันมานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่โรงงานต่าง ๆ ได้ปล่อยเขม่าควันลอยขึ้นสูงไปในบรรยากาศ จนเกิดการสะสมและกลายเป็นผลกระทบที่รุนแรงมากน้อยตามส่วนผสมที่ถูกปล่อยออกมา
มีรายงานการปกคลุมของฝุ่นควันหนาทั่วกรุงลอนดอนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1813 มาพร้อมกับกลิ่นคล้ายน้ำมันดิน และการมองเห็นที่ถูกจำกัดไว้เพียงระยะจำกัด เหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ 1873 พร้อมกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น 40% จากค่าปกติ
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่มใกล้ระดับน้ำทะเลปานกลางของกรุงลอนดอนฝั่งตะวันออก มีผลให้การกระจายตัวของฝุ่นควันเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิมทำให้เป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันเหล่านี้มากที่สุด และบางครั้งการผกผันของอุณหภูมิในอากาศก็ส่งผลให้ลอนดอนเผชิญกับบริเวณความกดอากาศสูงที่คอยกดอากาศให้ลอยลงต่ำ จนอากาศและฝุ่นควันจากปล่องไฟเหล่านี้ถูกกักเก็บไว้เอาไว้โดยไม่ได้ลอยขึ้นไปสู่บรรยากาศด้านบนและกระจายตัวไปได้ตามปกติ
ปัญหาข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฝุ่นลอนดอนครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ที่เริ่มต้นมาจากการตกของหิมะครั้งใหญ่ในละแวกเมืองหลวง จนประชาชนต่างพร้อมใจจุดเผาถ่านในปล่องไฟเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อบอุ่น กอปรกับความกดอากาศสูงที่ปกคลุมอยู่ในเวลานั้นเป็นปัจจัยทำให้ท้องฟ้าที่สดใสในรุ่งเช้าวันที่ 5 แปรเปลี่ยนเป็นหมอกควันในช่วงบ่ายทันที
ประชาชนมากกว่า 4,000 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับผลกระทบต่อการหายใจในระยะยาว ทั้งกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ในระดับที่มีรายงานว่าวัวของชาวบ้านบางส่วนขาดอากาศหายใจตายจากเหตุครั้งนี้
แต่ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไปที่เผชิญกับปัญหา เพราะการแข่งขันกีฬาอาชีพรวมถึงฟุตบอลก็ไม่อาจรอดพ้นจากภัยครั้งนี้ (และก่อนหน้านั้น) ไปได้
พาเลซและฝุ่นเมืองหลวง
ฟุตบอลในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยังห่างไกลจากมูลค่าทางการตลาดมหาศาลหรือเทคโนโลยีช่วยเหลืออันล้ำยุคอย่างในปัจจุบัน ดังนั้นหากมีเหตุการณ์สุดวิสัยเกิดขึ้นหลังสัญญาณนกหวีดเริ่มเกมดังขึ้น การแข่งขันก็สามารถถูกยกเลิกไปได้กลางคัน
ค.ศ. 1935 แมตช์ฟุตบอลลีกระหว่าง คริสตัล พาเลซ และ บริสตอล ซิตี้ ถูกยกเลิกไปในนาทีที่ 80 ระหว่างที่ทั้งสองทีมกำลังเสมอกันอยู่ 1-1 เนื่องจากฝุ่นที่ปกคลุมหนาแน่นจนทัศนวิสัยการมองเห็นแย่เกินกว่าจะแข่งขันต่อไปได้ เหตุการณ์ที่คล้ายกันก็มาเกิดขึ้นอีกใน ค.ศ. 1951 เมื่อเกมที่ทัพ “ปราสาทเรือนแก้ว” เปิดบ้านลงเล่นศึกเอฟเอคัพรับการมาเยือนของ มิลวอลล์ ก็ต้องยกเลิกการแข่งขันหลังเตะไปได้เพียง 34 นาที เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันในเมืองหลวง ก่อนที่พวกเขาจะเป็นฝ่ายแพ้ 1-4 ไปในแมตช์รีเพลย์
และความซวยของพาเลซยังไม่จบเท่านั้น เพราะในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1952 พวกเขามีคิวบุกไปเยือน ฟินช์ลีย์ ทาวน์ เพื่อลงทำศึกเอฟเอคัพอีกครั้ง แต่ทว่ารอบนี้ดันเกิดขึ้นในช่วงที่มีเหตุการณ์ฝุ่นปกคลุมกรุงลอนดอนครั้งใหญ่พอดี โดยที่ไม่มีการประกาศเลื่อนเตะออกไปในตอนแรก
สภาพอากาศทำให้ทัศนวิสัยนั้นแย่มาก ระดับที่นักเตะของ คริสตัล พาเลซ สองรายกับไลน์แมนหนึ่งคนไม่สามารถขับรถมาถึงสนามแข่งขันได้ จนต้องมีการดันนักเตะสำรองและตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่กำกับเส้นแทน แมตช์ดังกล่าวดำเนินไปได้จนถึงนาทีที่ 63 ด้วยสกอร์ที่เจ้าบ้านขึ้นนำ 3-1 ก่อนที่ผู้ตัดสินจะตัดสินใจยุติการแข่งขัน เพื่อรอให้การมองเห็นกลับมาดีขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันนัดดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป และต้องไปเตะใหม่อีกครั้งในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งก็จบไปด้วยสกอร์ 3-1 เท่าเดิม แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาหมอกลงหนาจัดจนกระทบต่อการแข่งขัน เพราะเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2021 เกมเปิดบ้านพบ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนามก็ถูกหมอกหนาลงมาปกคลุมการแข่งขันเช่นกัน แต่เคราะห์ดีที่นี่ไม่ใช่หมอกควันพิษแบบในอดีตอีกแล้ว
แมตช์อลเวงกลางฝุ่น
ปัญหาฝุ่นลอนดอนปี ค.ศ. 1952 ทำให้สภาได้ผลักดันร่างกฎหมายอากาศสะอาด จนกระทั่งมีการประกาศใช้เพียงสี่ปีหลังจากนั้น เนื้อหาเป็นการจำกัดการเผาถ่านหินในอุตสาหกรรมและกำหนดพื้นที่ปลอดควันในตัวเมือง จนไม่มีเหตุวิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศขึ้นอีกนับจากนั้น
แต่ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1945 กฎหมายดังกล่าวยังห่างไกลจากความจริงอยู่หนึ่งทศวรรษ และ อาร์เซนอล ได้เปิดบ้านรับการมาเยือนของ ดินาโม มอสโก เพียงไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เพื่อหวังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพโซเวียต
ทัพ “ไอ้ปืนโต” ต้องลงเตะที่สนามไวท์ ฮาร์ท เลน ของอริร่วมเมืองอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส เนื่องจากรังเหย้าของพวกเขาอย่างไฮท์บิวรี่ยังถูกทางกองทัพใช้งานอยู่ โดยแมตช์ดังกล่าวลงเตะกันในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1945 ท่ามกลางหมอกที่ลงหนาจัดจนแฟนบอลและนักเตะในสนามแทบมองไม่เห็นอะไรได้ชัดเจนเลย
ด้วยเหตุเช่นนี้ มีรายงานว่านักเตะของดินาโมอยู่ในสนามถึง 12 คน (บางแห่งระบุว่าลงมาถึง 15 คนด้วยกัน) และอันที่จริงศูนย์หน้าของเจ้าบ้านอย่าง จอร์จ ดรูวรี่ย์ ที่ถูกใบแดงไล่ออกจากสนามก็ยังแอบเนียนลงมาเล่นต่อได้ในม่านหมอกที่แน่นหนา
เกมดังกล่าวดำเนินไปด้วยการเข้าสกัดที่รุนแรงยิ่งขึ้น และในท้ายที่สุดดินาโมก็เป็นฝ่ายชนะไปด้วยสกอร์ 3-4 จนกัปตันทีมของอาร์เซนอลถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า “ตราบใดที่ดินาโมนำบอลไปตุงตะข่ายได้ แม้ว่าจะเขาถือเขาไปวางก็ตาม ผู้ตัดสินก็จะให้ประตูพวกเขาอยู่ดี” ซึ่งเป็นการวิพากษ์การทำงานของ นิโคไล ลาทีเชฟ ผู้ตัดสินชาวโซเวียตที่ไม่พูดภาษาอังกฤษและไม่สามารถสื่อสารกับไลน์แมนข้างสนามได้
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีกจากปัจจัยของมูลค่าการแข่งขันฟุตบอลที่สูงขึ้น ความเข้มข้นในการตัดสิน และอุปกรณ์ช่วยตรวจสอบต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาท เช่นกันกับเรื่องของกฎหมายที่มีความเข้มข้น ในการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรอย่างยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง:
https://www.cpfc.co.uk/news/club/cloudy-memories-crystal-palace-in-the-fog-throughout-time/
https://www.sbnation.com/secret-base/21445356/arsenal-vs-dynamo-moscow-fog-calvinball-nobody-could-see-anything-lol
https://thanasispapadopoulos.medium.com/why-the-arsenal-vs-dynamo-moscow-fog-match-in-1945-is-the-greatest-football-match-ever-1655f011e028
https://www.britannica.com/topic/Clean-Air-Acts
https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/case-studies/great-smog#:~:text=A%20fog%20so%20thick%20and,to%20death%20in%20the%20fields.
https://www.history.com/news/the-killer-fog-that-blanketed-london-60-years-ago