Feature

ฟอร์มพีคหลีกขุดเหมือง : ว่าด้วยการหนี "แรงงานทาส" ของทีมชาติเกาหลีเหนือ | Main Stand

หากนึกถึงประเทศเกาหลีเหนือ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล สิ่งแรกที่พุ่งขึ้นมาในหัวของแฟนบอล จะต้องเป็นการทำผลงานสุดสะเด่าในฟุตบอลโลก 1966 ที่โชว์ฟอร์มไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แบบพลิกความคาดหมาย รวมถึงการผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกอีกครั้งในปี 2010 หากแต่ผลงานในสนามไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก โดยแพ้รวด 3 แมทช์ แต่ก็ยังได้ใจแฟนบอล โดยการวิ่งสู้ฟัด วิ่งลืมตายกันทั้งทีม

 


ทั้งนี้ สิ่งที่แฟนบอลจับตาไปมากกว่านั้น คือภายหลังจากรอบแบ่งกลุ่มสิ้นสุดลง ได้เกิดกรณีอื้อฉาวว่า คิม จอง อิล ได้สั่งลงทัณฑ์นักฟุตบอล และสตาฟฟ์ ทุกคน ให้ไป "ใช้แรงงานทาส" ที่เหมืองใต้ดิน รวมถึงงานกสิกรรมอย่างหนัก โทษฐานทำให้ท่านผู้นำอับอายขายขี้หน้า

นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายทราบว่า สิ่งนี้เองคือแรงขับเคลื่อนของเกาหลีเหนือ ที่ต้องพยายามสุดชีวิต เล่นให้ฟอร์มดีที่สุด เพื่อไม่ให้ตนเองต้องลำบากในอนาคต

เรื่องนี้มีพลวัตอย่างไร? มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

จุดเริ่มจากระบอบการปกครอง

ก่อนอื่นนั้น ต้องทำความเข้าใจระบอบการเมืองการปกครองของเกาหลีเหนือเสียก่อน เพราะถึงแม้ว่าชื่อระบอบจะระบุว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน" (Democratic People's Republic : DPR) หากแต่วิธีปฎิบัติจริงๆ นั้น คือเศษเสี้ยวจากคอมมิวนิสต์ (Communism) 

โดยคอมมิวนิสต์ที่ว่านี้ เน้นหนักไปยังส่วนที่เป็นแบบ "รัฐวางแผนจากส่วนกลาง" (Centralized) เป็นสำคัญ ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐกำหนด รัฐใหญ่คับประเทศ ผู้นำประเทศเป็นแม้กระทั่งเจ้าชีวิต ชี้เป็นชี้ตายประชาชนได้ และสืบทอดอำนาจได้แบบไม่มีการขัดขวาง

ณ ขณะนั้น การต่อสู้ทางระบอบทางการเมืองการปกครองระหว่างโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์ยังไม่ถือว่ามี "ฉันทามติ" (Consensus) แบบตายตัว มิหนำซ้ำ คอมมิวนิสต์เป็นระบอบที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่าโลกเสรี จากการที่รวมศูนย์อำนาจ ดำเนินนโยบายใดๆ ก็ง่ายไปหมด 

ดังนั้น ระบอบแบบเกาหลีเหนือนั้นจึงสามารถที่จะ "ลวง" ประชากรในประเทศได้ถึงขั้นระดับจิตใจ เพราะตอนนั้นอะไรๆ ก็ดีไปหมด ประชาชนอยู่ดีกินดี ชีวิตแฮปปี้ รัฐดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดายันเชิงตะกอน เช่นนี้ จะไม่ให้รักท่านผู้นำหัวปักหัวปำได้อย่างไร 

แน่นอน เรื่องดังกล่าวก็ได้แพร่กระจายมาสู่วงการฟุตบอลเช่นกัน

คิม อิล ซอง ผู้นำในขณะนั้น ได้ทำการสร้าง "Pyongyang Sports University" ขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านการฝึกสอนกีฬาต่างๆ ขึ้น ซึ่งหมายถึงการเป็นแหล่งบ่มเพาะโค้ชชั้นดี เพื่อให้กลับไปพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ยังภาคส่วนต่างๆ อีกที 

ซึ่งหลักๆ จะเป็นบรรดาโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ และบางส่วนที่ไปฝึกสอนยังกลุ่มเกษตรกร และบริษัทยี่ปั๊วซาปั๊วต่างๆ ที่ได้ใบอนุญาตจากรัฐ จนเกิดเป็นการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเตะฟุตบอลล้วนๆ ไปจนถึงการสร้างสโมสรฟุตบอล ที่ชื่อว่า พยองยัง คลับ (หรือที่หลายคนคุ่นหูในชื่อ เปียงยาง คลับ) เพื่อลงแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ ประมาณคริสต์ทศวรรษที่ 1960 

ที่สำคัญ คือค่าใช้จ่ายในเรียนหลักสูตร การฝึกสอน การจัดหาอุปกรณ์การฝึกซ้อม สนามกีฬา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รัฐเกาหลีเหนือจัดให้หมด ไม่เสียสตางค์แม้แต่วอนเดียว

ส่วนหนึ่ง มาจากการที่รัฐวางแผนจากส่วนกลาง ดังที่กล่าวไป แต่อีกส่วน มากจากธรรมชาติของผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มักจะแทนตนเองว่าเป็นหนึ่งเดียวกับชาติบ้านเมืองเสมอ 

ดังนั้น หากประชาชนประสบความสำเร็จ ประกาศศักดา หรือสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ท่านผู้นำก็จะยิ้มแก้มปริ ยินดีปรีดาไปด้วย เพราะจากหลักคิดดังกล่าว คนเหล่านั้น ได้ทำเพื่อท่านผู้นำเช่นกัน ซึ่งแน่นอน การได้รับชัยชนะหรือได้เหรียญรางวัล คือสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ จึงเป็นไปแบบ "ต่างตอบแทนแบบมีลำดับชั้น" หรือก็คือ เมื่อรัฐสรรหาทุกสิ่งทุกอย่างให้ขนาดนี้ นักกีฬาย่อมไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะทำผลงานได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ส่วนนักกีฬาเองก็จำเป็นที่จะต้องเค้นศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้สมกับที่รัฐและท่านผู้นำสนับสนุน

นั่นจึงทำให้ แม้ไม่ได้เคี้ยวใบท่อมลงสนามแต่นักฟุตบอลเกาหลีเหนือก็พร้อมที่จะดีดทุกเมื่อยามลงโม่แข้งในสนาม ทั้งในระดับสโมสร ที่ไล่ถลุงสโมสรจากพันธมิตรโลกค้อนเคียวไปหลายต่อหลายทีม หรือแม้กระทั่ง การถล่มออสเตรเลียแบบไม่ไว้หน้าไปด้วยสกอร์รวม 9-2 กรุยทางเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 1966 ได้สำเร็จ (แม้จะมีการเหลี่ยมเล็กน้อยก็ตาม)

ซึ่งผลงานในรอบสุดท้าย พลพรรค "โสมแดง" ก็สามารถกำชัยเหนืออิตาลีไปแบบสุดช็อก รวมถึงเขี่ยอิตาลีและชิลีตกรอบแรก ไปจนถึงการออกนำโปรตุเกสได้ถึง 3-0 ก่อนที่จะหยุดความร้อนแรงของ ยูเซบิโอ ไม่อยู่ และจบด้วยการพ่ายไป 3-5 ตกรอบแปดทีมสุดท้ายไปแบบตะลึงทั้งโลกเสรีและสหายคอมมี่ด้วยกัน

แต่ในยุคนั้น กับยุคนี้ วิธีการดังกล่าวย่อมมีความแตกต่างกัน

 

วิธีคิดล้าสมัยไม่ฟังก์ชัน

แน่นอนว่า ชุดวิธีคิดในสมัยก่อน ที่เกี่ยวข้องกับกีฬา ของบรรดารัฐที่มีการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ เป็นเหมือนกันทั่วทุกมุมโลก คือการคาดหวังให้นักกีฬาของตนเองไปได้ไกลที่สุด ถึงฝั่งฝันได้ยิ่งดี กระนั้น เมื่อผลงานไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง ส่วนมากก็เพียงแค่รู้สึกเสียหน้า ไม่ได้ดั่งใจ อารมณ์เสียเล็กน้อยและก็จบกันไป แต่นั่นไม่ใช่กับเกาหลีเหนือ

นั่นเพราะ ในกาลต่อๆ มา เกาหลีเหนือไม่อาจจะ "ยื้อ" สถานะระบอบตนเองว่ายังคง "ฟังก์ชั่น" อยู่ได้ จากการที่โลกเสรีเริ่มได้รับชัยชนะในปริมณฑลทางการเมือง เสรีนิยม และทุนนิยม กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งแห่งรัฐ ระบบตะลาดและการเลือกได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้วยตัวปัจเจกเอง ได้สรรสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น ขนาดพี่ใหญ่ของระบอบคอมมิวนิสต์อย่าง สหภาพโซเวียต ยังต้องยอมสยบเสียเลย

แน่นอน แม้บางประเทศจะยังคงมีการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จอยู่ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องอีดิตตนเอง ให้มีความเป็นมิตรแก่ผู้คนมากขึ้น จากการไปชี้นิ้วสั่งให้ทำนู่นทำนี่ ก็กลับกลายมาเป็นการ "เปิดช่องทาง" บางประการให้คนทำได้โดยเสรี ไม่มีอะไรไปขัดขวาง 

ด้วยเหตุนี้ สิ่งดังกล่าวจึงกลายเป็นฉันทามติ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ต่างก็เห็นควรด้วยว่า นี่คือระบอบที่แทบจะดีที่สุดเท่าที่เป็นได้ และไม่มีทางเลือกอื่นใด (There is no alternative) ที่จะมาต่อกรอีกต่อไป

เมื่อหันกลับมาพิจารณาในเชิงฟุตบอล ซึ่งโดยปกติแล้ว ทีมชาติจะต้องออกไปทำการแข่งขันยังประเทศอื่นๆ ตลอด ไม่ว่าจะในระดับมหกรรมฟุตบอล เล็กหรือใหญ่ หรือแม้กระทั่งการแข่งขันยิบย่อย จิปาถะ เกาหลีเหนือก็แทบไม่เคยได้ลงสนามในบ้านของตนเอง ส่วนมากได้รับเชิญไปแข่งขันเป็นทีมเยือนทั้งนั้น

ซึ่งการไปเป็นทีมเยือนนี้เอง ทำให้บรรดานักกีฬา มีโอกาส "เปิดกะลา" มากกว่าประชาชนในประเทศ หรือแม้กระทั่งข้าราชการทหารเสียด้วยซ้ำ หรือก็คือ การหวังได้หน้าได้ตาของผู้นำผ่านการกีฬา กลับกลายเป็น "ดาบสองคม" ที่เข้ามาทิ่มแทง เพราะการได้เจอสิ่งที่ศิวิไลซ์ เจริญหูเจริญตา รวมถึงเสรีภาพ ย่อมสะเทือนไปถึง "ความชอบธรรมในการปกครอง" (Legitimacy) ที่จะได้รับการตั้งคำถามกลับอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การจะปิดหูปิดตาประชาชน รวมถึงคุมนักกีฬา ที่ต้องออกไปเห็นโลกกว้างได้อย่างอยู่มือ นั่นคือ "การวางบทลงทัณฑ์" (Punishment) ที่สุดแสนจะทรมานรอไว้ หมายความว่า ท่านผู้นำได้เปลี่ยนจากการหมายให้ทำผลงานผ่านการเอ็นเคอเรจ ให้กลายเป็นการทำผลงานผ่านการหลีกหนี "การเป็นผู้กระทำผิด" เข้ามาแทน

และการต้องลงแข่งขันภายใต้โทษทัณฑ์ที่รออยู่ ย่อมหมายถึง "ความกดดัน" ที่จะก่อตัวในใจนักกีฬาทุกคนยามแข่งขันอย่างอัตโนมัติ แม้ว่าร่างกายจะพร้อมแค่ไหน หากแต่ภายในจิตใจมีความกังวล สับสน ไม่สามารถโฟกัสไปที่จุดๆ เดียว ความหายนะต่อตนเองจึงมาเยือนได้ง่ายๆ 

นี้เอง อาจจะทำให้ หลังจากปี 1966 เกาหลีเหนือไม่เคยกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกเลยกว่า 40 ปี

หากแต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ทศวรรษที่ 2000 เกาหลีเหนือเองก็ได้มีการผ่อนปรน ให้นักฟุตบอลฝีเท้าฉกาจในประเทศ ออกไปวาดลวดลายต่างถิ่นได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ชาวเกาหลีอพยพจากไฟสงครามในอดีต กลับมารับใช้ทีมชาติได้ ดังที่ได้เห็น ชอง แท เซ (정대세) ศูนย์หน้าบ่อน้ำตาตื้น ที่เกิดในญี่ปุ่น กลับมาสวมอาภรณ์สีแดงฉานได้อย่างไม่เคอะเขิน

ด้วยการเปิดกว้างประมาณหนึ่งเช่นนี้ จึงอาจจะทำให้ผลงานในฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย กลับมาสะเด่าได้อีกครั้ง และผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปแบบไม่ยากเย็น ชนิดที่เขี่ยอิหร่าน บิ๊กเบิ้มแห่งเอเชียตกรอบเสียด้วยซ้ำ

กระนั้น แม้จะมีการผ่อนปรน หรือทีมกำลังเข้าฝัก แต่การลงทัณฑ์ก็ยังไม่ได้จางหายไป มิหนำซ้ำ ยังเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะในหลักวิธีคิดแบบท่านผู้นำ ยิ่งมีการเปิดกว้างมาก การ "สอดส่องตรวจตรา" (Surveillance) ก็จะต้องมากตามไปด้วย ในตอนที่กำลังมือขึ้น จะไม่เห็นผล หากแต่วันหนึ่งวันใดถึงคราวเคราะห์ ฟอร์มตกขึ้นมา เมื่อนั้นคือหายนะล้วนๆ

ดังที่เห็นได้จากการแพ้ให้แก่โปรตุเกส แบบขายหน้าประชาคมโลกไป 7-0 หรือการพ่ายต่อ ไอเวอรี่โคสต์ แบบสู้ไม่ได้ 3-0 แม้จะมีฟอร์มที่สุดยอดกับบราซิล ที่แพ้แค่ 2-1 หากแต่ด้วยสกอร์ที่ห่างเกินกว่าจะรับไหว ท่านผู้นำจึงต้องกระทำตามมาตรการที่ได้วางเอาไว้แต่ต้น

ภายหลังจากซมซานกลับประเทศ คิม จอง อิล ผู้นำรุ่นที่ 2 แห่งเกาหลีเหนือจึงไม่รอช้า แจกจอบแจกเสียม ให้บรรดาเหล่านักเตะ ทีมงาน สตาฟฟ์ ไปทำกสิกรรม หรือหนักหน่อยก็ลงดันเจี้ยน ไปขุดแร่ต่างๆ รวมถึงการทรมานทางด้านร่างกายอีกสารพัด และยังลุกลามไปถึงการลงทัณฑ์ยันครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ แทบจะในทันที

เรียกได้ว่า น้ำตาของ ชอง แท เซ แทบจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ใดๆ เลย

 

ผลเสียในระยะยาว

สิ่งที่รัฐกระทำนี้ หากคิดในมุมของ "หัวจ่าย" ย่อมคิดได้ว่า เป็นไปเพื่อ "สิ่งที่ดีที่สุด" สำหรับประเทศชาติ แต่ในความเป็นจริง ท้ายที่สุด จะเกิดผลเสียในระยะยาวต่อทีมชาติโดยรวม แบบที่เสียแล้วเสียเลย นำกลับมาไม่ได้

เมื่อทำผลงานได้ไม่เป็นดั่งใจ และต้องได้รับการลงทัณฑ์อย่างทุกข์ทรมาน ผิดมนุษย์มนา ผิดหลักสิทธิปัจเจกบุคคล ไม่มีที่ไหนในโลกกระทำกันเช่นนี้ ไปครั้งหนึ่งแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ "ความหวาดวิตก" รวมถึงการ "ไม่กล้า" ที่จะกระทำการใดๆ เนื่องจากกลัวพลาด กลัวไม่ได้ดั่งที่ทางการหวัง ไปเสียหมด

จากที่จะได้ผลในแง่ของ "การขู่ให้กลัว" กลับกัน สิ่งที่ได้รับกลับมานั่นคือ นักเตะต่างคนก็ต่างจะ "เอาตัวรอด" เล่นแบบเพลย์เซฟ ไม่ได้ก็อย่าให้เสีย หรือเลยเถิดไปถึงการ "ปล่อยจอย" เช้าชามเย็นชาม เล่นแบบขอไปที ขาดแรงจูงใจ เห็นว่าการลงทัณฑ์เป็นสิ่งชินชา พยายามเพียงใด ไม่ถูกใจก็ลงเหมืองอยู่วันยังค่ำ

ดังนั้น แม้ระยะหลัง เกาหลีเหนือจะมีนักฟุตบอลไปค้าแข้งยังต่างแดนมากขึ้นกว่าตอน 2010 หากแต่เมื่อมารวมทีมกันแล้ว กลับไม่เอาอ่าว ผลงานต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และยังไม่สามารถกลับสู่จุดเดิมได้

เพราะความทรงจำอันโหดร้าย แม้ไม่ได้รับหรือประสบแก่ตนเอง ก็สามารถที่จะส่งต่อไปยังผู้คนที่ได้มีโอกาสรับรู้ เข้าใจ โดยเฉพาะ ในโลกปัจจุบัน ที่สามารถรับรู้ได้อย่างทันท่วงที ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแง่ของการส่งต่อความรู้สึกถึงกันได้ แม้จะไม่เคยพบปะพูดคุยกันมาก่อนก็ตาม

 

แหล่งอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ Football in North and South Korea c.1910-2002 Diffusion and Development
https://www.theguardian.com/football/2010/jun/20/north-korea-world-cup-army 
https://www.theguardian.com/world/2010/jul/30/north-korea-footballers-public-mauling 
https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-10935521
https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/northkorea/7918468/North-Korean-football-team-shamed-in-six-hour-public-inquiry-over-World-Cup.html
https://www.businessinsider.com/after-7-0-thrashing-do-north-korea-players-face-coal-mine-punishment-2010-6    

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ