แม้ฟอร์มในลีกจะไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อต้องมาเตะฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก อีลีท คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ กลายเป็นตัวแสบที่เหล่าทีมเศรษฐีแดนอาหรับต้องจับตามองเป็นพิเศษ
ฟรอนตาเล่ ใช้นักเตะญี่ปุ่นแทบยกชุดปราบ อัล ซาดด์ จาก กาตาร์ ต่อด้วยการน็อก อัล นาสเซอร์ ที่มี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และแข้งที่เคยเล่นในทีมระดับท็อปของโลกครึ่งค่อนทีมได้ในรอบตัดเชือก เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยมี อัล อาห์ลี เป็นด่านสุดท้าย
แน่นอนว่าเรื่องนี้มันต้องมีที่มา เราจะพาคุณย้อนไปดูปรัชญา วิธีคิด และวิธีการซ้อมของ ฟรอนตาเล่ ว่าพวกเขากลายเป็นตัวแสบในศึกกลางทะเลทรายนี้ได้อย่างไร
ติดตามที่ Main Stand
ความฟิตคือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่
คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ คือสโมสรที่ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 1955 แล้ว เพียงแต่ว่าเรื่องราวความจริงจังของสโมสรนี้ในระดับอาชีพ เพิ่งมาเริ่มเกิดขึ้นในช่วงยุค 1990s ที่ เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
พวกเขาเปลี่ยนจาก ฟูจิตสึ เอสซี ทีมองค์กรในเครือ ฟูจิตสึ บริษัทเทคโนโลยีชื่อดัง มาเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพในชื่อ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ตั้งแต่ปี 1997 โดยคำว่า ฟรอนตาเล่ เป็นภาษาอิตาลีมีความหมายว่า "ระดับแนวหน้า" ซึ่งคำนี้พวกเขาใช้เป็นจุดตั้งต้นของความยิ่งใหญ่หลังจากนั้น
โค้ชคนที่เริ่มปลูกฝั่งวิธีเล่นแบบ ฟรอนตาเล่ โดยเฉพาะคือ โนบุฮิโระ อิชิซากิ กุนซือที่ชอบเล่นเกมบุกเป็นชีวิตจิตใจ และรับนโยบายการสร้างนักตะจากท้องถิ่นและทีมเยาวชนที่สโมสรขีดเส้นใต้เอาไว้ ซึ่งในช่วงแรก (ต้นยุค 2000s) อาจจะไม่ได้เก่งกาจจนเป็นเบอร์ต้น ๆ ของญี่ปุ่นนัก แต่ก็พอสร้างชื่อขึ้นมาได้บ้างด้วยแนวทางการเล่นที่ชัดเจน
เพียงแต่ความแกว่งของ ฟรอนตาเล่ ในยุคนั้นมีจุดอ่อนอยู่ที่ "นักเตะต่างชาติ" กล่าวคือปีไหนพวกเขามีตัวต่างชาติเก่ง ทีมก็จะเล่นได้ดี มีอันดับในตารางที่ดีไปด้วย แต่ถ้าปีไหนตัวแบกไม่มี ทีมก็จะแกว่งเป็นได้แค่ทีมระดับกลางตารางเท่านั้น บางครั้งตกชั้นเลยก็มี
ดังนั้น ฟรอนตาเล่ จึงกลับมาทบทวนเรื่องนี้และคิดหาแนวทางว่า จะทำอย่างไรให้นักเตะท้องถิ่นหรือนักเตะชาวญี่ปุ่นของพวกมีประสิทธิภาพพอที่จะช่วยกันแบกทีมได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งนักเตะต่างชาติค่าตัวแพง ค่าเหนื่อยสูงจนมากเกินไป ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ฟิสิคเทค"
"ฟิสิคเทค" คือแนวทางการฝึกซ้อมที่มีความเข้มข้นสูงมาก ๆ โดยหลักการแล้วมันคือการเพิ่มความฟิตให้และความอึด จนขนาดที่ว่าบทความหนึ่งในเว็บไซต์ Yahoo ของญี่ปุ่น ได้พูดถึงหลักการฝึกซ้อมที่ชื่อ ฟิสิคเทค นี้ว่า
"หาก Marvel มี กัปตันอเมริกา เป็นซูเปอร์โซลเยอร์ ฟรอนตาเล่ ก็สร้างซูเปอร์เพลเยอร์ ที่มีสมรรถภาพร่างกายเกินร้อยขึ้นมา โดยไม่ได้มีการฉีดสารเร่งอะไรเหมือนกับในหนัง แต่ใช้วิธีการฝึกซ้อมจนร่างกายของนักเตะ พัฒนาและทนทานไปได้เอง"
เรียกได้ว่าถ้าแรงถึง สิ่งอื่น ๆ ก็สามารถต่อยอดได้ไม่ยาก ฟิสิคเทค ถูกนำมาใช้ร่วมกับการฝึกเรื่องเทคนิค และความเข้าใจความแท็คติกที่เพิ่มขึ้นของนักเตะ หลายอย่างประกอบกันทำให้ ฟรอนตาเล่ สามารถสร้างนักเตะเก่ง ๆ ขึ้นมาได้หลายคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเตะส่งออกอย่าง โคจิ มิโยชิ ที่เล่นในบุนเดสลีกา ณ เวลานี้, อาโอะ ทานากะ ที่เพิ่งพา ลีดส์ ยูไนเต็ด เลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ลีก ได้สำเร็จ และแน่นอนที่สุดคือ คาโอรุ มิโตะมะ นักเตะญี่ปุ่นที่ยิงประตูในพรีเมียร์ลีกมากที่สุด ... ทุกคนที่กล่าวมาเติบโตมากับปรัชญาแบบฟรอนตาเล่ ที่เล่นด้วยความสามารถ ทักษะ และความฟิต ด้วยกันทั้งนั้น
สโมสรนี้ปลูกฝังวินัยเรื่องการดูแลตัวเองทั้งในและนอกสนาม โดยนักเตะของพวกเขาถูกฝึกให้รู้จักการพักผ่อนให้พอ การกินอาหารให้ถูกต้อง และลดกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า
เมื่อการซ้อมที่ดีสามารถทำให้นักเตะมีคุณภาพขึ้นได้ ฟรอนตาเล่ ก็เริ่มเล่นเกมบุกที่ดูสนุก ไปพร้อม ๆ กับการคว้าความสำเร็จในฐานะแชมป์ลีกได้ในเวลาต่อมา เรื่องนี้กล่าวยืนยันโดย เคนโงะ นากามูระ "วันคลับแมน" ที่อยู่กับทีมเพียงสโมสรเดียวตั้งแต่เป็นดาวรุ่งจนกระทั่งแขวนสตั๊ดในวัย 40 ปี ที่แฟน ๆ ชาวไทยน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี
"ผมอยู่กับแนวทาง ฟิสิคเทค ในปีแรกของผมกับทีมชุดใหญ่ การฝึกซ้อมเป็นงานหนักสำหรับผมมาก แม้แต่การฝึกซ้อมส่วนตัว ผมถูกฝึกอย่างหนัก เพื่อพัฒนาสภาพร่างกายให้ถึงขีดสุด" นากามูระ ยืนยัน
แนวคิดและปรัชญาที่ว่าด้วยความฟิต ประกอบกับการสร้างทักษะนักเตะของทีม คือปัจจัยสำคัญของ ฟรอนตาเล่ มาทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้กระทั่งการลุยศึก ACL Elite ที่พวกเขาเพิ่งแสดงให้เห็นความฟิตที่เหล่าแข้งดังที่่เคยเล่นในลีกใหญ่ ทีมบิ๊ก ๆ ในยุโรปยังต้องยอมซูฮก
ไปแข่งทั้งทีอย่ากลัวแพ้
การเทหมดหน้าตักในฟุตบอล ACL Elite คือสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ในซีซั่นนี้ เพราะถ้าคุณกวาดสายตาดูผลงานของพวกเขาในลีก ณ เวลานี้ ฟรอนตาเล่ อยู่ในอันดับ 8 ของตารางเท่านั้น (ตามหลังจ่าฝูง คาชิม่า อันท์เลอร์ส 7 แต้ม) โดยกุนซือของพวกเขาที่เพิ่งเข้ามาคุมทีมในซีซั่นนี้อย่าง ชิเงโตชิ ฮาเซะเบะ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการเล่นในระดับทวีปว่า
"นี่คือรายการที่สำคัญ การที่พวกเราผ่านเข้ามาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย เราจะต้องเจอกับทีมจากโซนตะวันตก ที่มีนักเตะระดับโลกแทบทุกทีม พวกเขามีงบประมาณในการทำทีมที่สูงกว่า แต่เราจะไปเล่นที่นั่นด้วยศักดิ์ศรีของฟุตบอลญี่ปุ่น พวกเราไม่คิดว่าการแข่งขันที่รออยู่เป็นความน่ากลัว แต่มันคือควาท้าทายที่เราก็อยากจะทดสอบด้วยตัวเองเช่นกัน" ฮาเซเบะ ว่าเช่นนั้น และเมื่อการแข่งขัน ACL Elite เริ่มขึ้น คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ที่เป็นทีมเต็ง 5 ของรายการก็แสดงสิ่งนั้นออกมา
ในรอบ 8 ทีมที่พวกเขาชนะ อัล ซาดด์ จาก กาตาร์ และรอบ 4 ทีมสุดท้ายที่พวกเขาชนะ อัล นาสเซอร์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือ "เริ่มต้นด้วยการเป็นฝ่ายบุกก่อนในทันที" ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นปรัชญาฟุตบอลของพวกเขาแต่ไหนแต่ไร และมันแสดงให้เห็น ฟรอนตาเล่ เลือกที่จะเล่นในวิธีที่ตัวเองถนัดที่สุด เพื่อเดิมพันชัยชนะในตอนจบ
เกมกับ อัล ซาดด์ คาวาซากิเริ่มเกมด้วยความเร็วและความดุดัน โดยใช้ปีกซ้ายอย่าง อากิฮิโระ อิเอนากะ ในการเจาะแนวรับของ อัล ซาดด์ และสามารถทำประตูขึ้นนำได้ในนาทีที่ 4 จากการประสานงานระหว่าง อิเอนากะ และ เอริสัน
ส่วนเกมกับ อัล นาสเซอร์ พวกเขาก็บุกหนักแต่ต้นเกม โดยเฉพาะการขึ้นเกมทางฝั่งซ้ายที่นำมาซึ่งประตูนนาทีที่ 10 จาก ทัตสึยะ อิโตะ ที่ยิงวอลเลย์สุดสวยจากนอกกรอบเขตโทษ การเริ่มเกมด้วยความมั่นใจเช่นนี้ช่วยสร้างแรงกดดันให้กับ อัล นาสเซอร์ ตั้งแต่ต้นเกม
จากที่ใครก็มองว่า อัล นาสเซอร์ เป็นต่อใส ๆ กลายเป็นว่ายอดทีมจาก ซาอุดีอาระเบีย เกิดการเสียขวัญ และต่อบอลกันผิดพลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอการไล่กดดันเพรสซิ่งของนักเตะ ฟรอนตาเล่ ที่เรียกได้ว่า "เกิดมาเพื่อสิ่งนี้" พวกเขาวิ่งไล่ได้ทั้งเกม ซึ่งนั่นเป็นข้อแตกต่างกับทีมจากอาหรับที่มีซูเปอร์สตาร์เต็มทีม และหลายคนก็ผ่านช่วงพีกที่สุดของอาชีพค้าแข้ง รวมถึงคว้าแชมป์ในระดับสูงมาแล้วทั้งนั้น
เมื่อพวกเขาได้ประตูก่อน ฟรอนตาเล่ ปรับมาเป็นทีมที่เล่นเกมรับเป็นหลักในทันที ไม่ว่าจะในเกมที่เจอกับ อัล ซาดด์ และ อัล นาสเซอร์ สิ่งที่ 2 ทีมนี้ต้องเจอจากนักเตะของ ฟรอนตาเล่ ก็คือการเล่นเกมรับด้วยกันทั้งทีม และการเล่นจังหวะสวนกลับที่ใช้การต่อบอลให้น้อยที่สุด และใช้การขยับตัวหาที่ว่างให้มากที่สุด จุดนี้คือจุดที่สร้างความโกลาหลของแนวรับคู่แข่งได้เป็นอย่างดี แม้แต่ อายเมอริก ลาปอร์กต์ เซ็นเตอร์แบ็กระดับแชมป์ยุโรป ยังเสียท่าให้แนวรุกของ ฟรอนตาเล่ ที่เล่นเป็นทีมอยู่หลายหน จนใช้คำว่า "รั่ว" เลยก็ได้
ฟรอนตาเล่ ไม่สนเรื่องการครองบอลอีกแล้ว เพราะสถิติการครองบอลในโมเดิร์นฟุตบอลนั้นไม่ได้สำหลักสำคัญอะไรอีกต่อไป เพียงแต่ ฟรอนตาเล่ รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และมีเป้าหมายเพื่อไปถึงจุดไหน ... ซึ่งเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ก็คือ ต่อให้ได้ครองบอลน้อย แต่เมื่อมีโอกาสพวกเขาจะต้องเอาไปสร้างจังหวะการยิงประตูให้ได้ และเมื่อพวกเขาซักซ้อมมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความแม่นยำที่เล่นงานคู่แข่งได้ชะงัดนัก
ตัวอย่างคือในเกมกับ อัล นาสเซอร์ นั้น คาวาซากิ ใช้โอกาสที่มีอย่างคุ้มค่า โดยได้ประตูที่สองจาก ยูโตะ โอเซกิ ในนาทีที่ 41 และประตูที่สามจาก อากิฮิโระ อิเอนากะ ในนาทีที่ 76 ทั้งหมดมkจากการโจมตีที่รวดเร็วและการจบสกอร์ที่แม่นยำเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าบนหน้ากระดาษได้สำเร็จ
ทัศนคติ และการความมีวินัยในสนาม
นักเตะของ ฟรอนตาเล่ ไม่ใช่นักเตะดังอะไรเลย พวกเขาปล่อยนักเตะที่ดีที่สุดออกไปค้าแข้งในต่างแดน ตามนโยบายร่วมกันของสโมสรและเจลีก
ณ ตอนนี้พวกเขาเหลือกลุ่มนักเตะที่เป็นดาวรุ่งขึ้นมาใหม่ หรือไม่ก็เป็นตัวเก๋าเป็นหลัก แต่สิ่งที่ ฟรอนตาเล่ สามารถทำได้ดีกว่าทีมจากแดนอาหรับก็คือความมีระเบียบวินัยในการเล่น การอยู่ในแท็คติกตามที่โค้ชสั่ง และการสู้ตายถวายชีวิตเพื่อชัยชนะ
แน่นอนว่าฝั่งเศรษฐีอาหรับก็คงจะอยากชนะเหมือนกัน แต่อย่างที่กล่าวไว้ นักเตะของพวกเขามีค่าจ้างมหาศาล ผ่านความสำเร็จระดับเมเจอร์มามากมาย และหลายคนก็ไม่ใช่อายุน้อย ๆ เมื่อต้องมาเจอกับคนที่สดกว่า มีระเบียบแบบแผนมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ "อยากพิสูจน์ตัวเองมากกว่า" มันจึงกลายเป็นสิ่งที่นักเตะฝรั่งอาหรับ ดูจะมีสิ่งนี้น้อยกว่านักเตะของ ฟรอนตาเล่
"คู่แข่งของเราสร้างความประหลาดใจให้กับเรา พวกเขาเล่นในระดับสูงมากและปัญหาคือเราขาดวินัย เราทำผิดพลาดหลายครั้งและไม่ได้เล่นอย่างเต็มศักยภาพ" สเตฟาโน่ ปิโอลี่ กุนซือของ อัล นาสเซอร์ ยอมรับหลังจบเกมด้วยความพ่ายแพ้ โดยเฉพาะเรื่อง "วินัย"
แม้ ฟรอนตาเล่ จะเป็นทีมที่บุกได้มันที่สุดในเจลีกทีมหนึ่ง แต่พวกเขาก็เตรียมการมาเล่นเกมรับในระดับหนึ่งเมื่อต้องมาเตะในรายการระดับทวีป การเคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กัน การปิดพื้นที่แบบของแนวรับแบบช่วยกันทั้งที แสดงออกมาในเกมกับ อัล นาสเซอร์
ในเกมนั้น "โรนัลโด้ และพรรคพวก" ครองบอลได้มากถึง 74.3% และมีโอกาสยิงถึง 21 ครั้ง แต่ คาวาซากิ สามารถจำกัดโอกาสยิงตรงกรอบของคู่แข่งได้เพียง 6 ครั้ง ซึ่งหลังจบเกมผู้บรรยายได้กล่าวชมเกมรับของพวกเขาว่า "การวางตำแหน่งที่ดีและการเล่นเป็นทีมของแนวรับช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียประตู"
ประโยคดังกล่าวเป็นข้อสรุปที่ยอดเยี่ยม แม้พวกเขาจะเป็นรองบนหน้ากระดาษ แต่พวกเขาก็เล่นไปตามความถนัด และแผนการที่เตรียมมาอย่างมีประสิทธิภาพ เวลาบุกก็อันตราย เพราะใช้การทำเร็วและแม่นยำ ขณะที่เวลาเล่นเกมรับ พวกเขาก็เล่นเกมรับพร้อมกันทั้ง 11 คน มันจึงช่วยลดความห่างในเชิงคุณภาพของนักเตะส่วนบุคคลเมื่อต้องเทียบกับกลุ่มนักเตะจากลีก ซาอุดีอาระเบีย ได้เป็นอย่างดี
ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องบอกว่า ชัยชนะของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวางแผนและการเล่นเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมทั้งรับและรุก แม้จะต้องเผชิญหน้ากับทีมที่มีนักเตะระดับโลก พวกเขาก็ยังสามารถโฟกัสไปที่การเล่นของตัวเองเป็นหลักได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายแล้วทีมเต็ง 5 จากญี่ปุ่นทีมนี้ ก็เดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศกับ อัล อาห์ลี จาก ซาอุดิอาระเบีย อีกเช่นเคย ... ถึงตรงนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้
พวกเขามีทีมที่เป็นรองบนหน้ากระดาษเหมือนเช่นเคย ... ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่าเมื่อลงสนามพวกเขายังคงมีอาวุธอะไรซ่อนไว้อยู่อีกหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นยอดนักบู๊แห่งแดนซามูไรในนัดชิงชนะเลิศเป็นอย่างยิ่ง
แหล่งอ้างอิง
https://www.espn.com/soccer/report/_/gameId/734873
https://www.beinsports.com/en-asia/football/afc-champions-league/articles/al-nassr-2-3-kawasaki-frontale-ronaldo-and-co-fall-short-in-afc-champions-league-2025-04-30
https://www.beinsports.com/en-asia/football/afc-champions-league/articles/beating-ronaldo-felt-like-a-video-game-says-kawasaki-forward-ito-2025-05-01