Feature

พีระมิดแห่งโยนางูนิ : จุดดำน้ำยอดนิยมที่เชื่อว่าเป็นเมืองโบราณที่สาบสูญ | Main Stand

"ตอนที่ผมเจอมันครั้งแรก ผมรู้สึกขนลุกซู่ไปทั้งตัว มันเป็นความรู้สึกที่ท่วมท้นมาก" คิฮาชิโระ อาราตาเกะ นักดำน้ำกล่าว

 


เป็นเวลากว่าหลายสิบปีที่ผู้คนคิดว่าสถานที่อันสวยงามใกล้กับเกาะโยนางูนิ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เป็นสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการดูฉลามหัวค้อนอพยพในช่วงฤดูหนาว 

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1987 เมื่อ คิฮาชิโระ อาราตาเกะ นักดำน้ำท้องถิ่น ไปบังเอิญพบกับโครงสร้างหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับพีระมิดจมอยู่ใต้น้ำ 

ด้วยรูปแบบของมันทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มาจากฝีมือมนุษย์ และเชื่อกันว่านี่อาจจะเป็นร่องรอยของนครโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของทวีปมู อาณาจักรขนาดใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่สาบสูญ 

ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ปริศนาแห่งโยนางูนิ 

เกาะโยนางูนิ เป็นเกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น แม้ว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดโอกินาวา แต่ก็อยู่ห่างจากไต้หวันเพียง 120 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นประเทศเพื่อนบ้านในวันที่อากาศปลอดโปร่ง 

ในอดีตเกาะที่ใช้เวลาเดินทางจากโตเกียวด้วยเครื่องบินบวกกับต่อเรือราว 6 ชั่วโมงแห่งนี้ เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการดูฉลามหัวค้อนอพยพเท่านั้น แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปจากการค้นพบในปี 1987 ของ คิฮาชิโระ อาราตาเกะ นักดำน้ำท้องถิ่น 

มันเป็นแค่วันธรรมดาวันหนึ่งที่อาราตาเกะใช้เวลาไปกับการสำรวจหาจุดดำน้ำใหม่เพื่อเอาไว้รองรับลูกค้าที่มาเที่ยวชมเกาะ แต่เขาก็แทบหยุดหายใจเมื่อได้พบกับสิ่งหนึ่งบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ 

"ตอนที่ผมเจอมันครั้งแรก ผมรู้สึกขนลุกซู่ไปทั้งตัว มันเป็นความรู้สึกที่ท่วมท้นมาก ราว 35 ปีก่อนระหว่างที่ไปสำรวจจุดดำน้ำ ผมเจอมันด้วยความบังเอิญ ผมจึงรู้สึกขนลุกมากในตอนนั้น" อาราตาเกะ กล่าวกับ BBC 

"นอกเหนือจากการค้นพบ ผมตระหนักได้ว่านี่จะกลายเป็นขุมทรัพย์ของเกาะโยนางูนิ"

สิ่งที่อาราตาเกะพบคือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำโดยมีลักษณะวางเรียงซ้อนกันเป็นขั้นบันไดคล้ายกับพีระมิดของชาวมายา ขณะเดียวกันหน้าตัดของมันยังราบเรียบและมีรูปทรงที่สมมาตรอย่างน่าอัศจรรย์ 

"ศาสตราจารย์เทรุอากิ อิชิอิ และ มาซาอากิ คิมูระ จากมหาวิทยาลัยริวกิว ทั้งคู่มาหาผมแล้วเริ่มการวิจัย" อาราตาเกะ กล่าวต่อ 

"ศาสตราจารย์อิชิอิบอกผมว่าสิ่งที่ผมค้นพบนั้นน่าฉงนมาก มันเกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์ ทั้งสองอย่างยากจะอธิบายแต่ก็มีคุณค่า"

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการหาคำตอบ

 

ซากโบราณใต้น้ำ 

"สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่ามันเกิดจากฝีมือมนุษย์คือการวางตัวแบบขั้นบันไดที่เป็นระบบ" อาราตาเกะ ให้ความเห็น 

หลังจากนั้นไม่นานศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยริวกิว ซึ่งนำโดย อาจารย์มาซาอากิ คิมูระ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาทางทะเล ก็เข้ามาสำรวจตรงจุดนั้น และมันก็ทำให้เขาต้องตะลึง 

"โครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดนั้นดูซับซ้อนและมีขนาดใหญ่มาก มันเรียงซ้อนกันเป็นขั้นบันไดจากระดับความลึก 25 เมตร" คิมูระ กล่าวในงานประชุมวิทยาศาสตร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2007 

อาจารย์คิมูระบอกว่าตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ เขาคิดว่าการก่อตัวของมันน่าจะเกิดจากธรรมชาติ แต่ความคิดทั้งหมดก็เปลี่ยนไป ตอนที่ดำน้ำลงไปสำรวจเป็นครั้งแรก 

"ผมคิดว่ามันยากมากที่จะอธิบายว่าต้นกำเนิดของมันมาจากธรรมชาติล้วน ๆ เพราะมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าเป็นโครงสร้างที่ได้รับอิทธิพลมาจากมนุษย์" คิมูระ กล่าวกับ National Geographic 

นอกจากรูปทรงของมันแล้ว อาจารย์คิมูระยังยกตัวอย่างร่องรอยที่เขาพบในหินและคิดว่ามันเป็นตัวอักษรพื้นฐานที่ถูกแกะสลักลงไป รวมถึงรูปทรงของหินบางชิ้นที่ดูคล้ายกับสัตว์

"ตัวอักษรและตัวอย่างรูปสัตว์ที่อยู่ในน้ำบางส่วนสามารถกู้คืนได้ในห้องปฏิบัติการของผม มันบ่งบอกว่าเป็นวัฒนธรรมที่มาจากเอเชีย" คิมูระ กล่าวต่อ

"มีตัวอย่างหนึ่งที่ผมอธิบายว่าเป็นสฟิงซ์ใต้น้ำที่ดูคล้ายกับของกษัตริย์จีนหรือโอกินาวาโบราณ"

เช่นกันกับ เคนโซะ วาตานาเบะ นักดำน้ำอาชีพ ที่เคยลงไปสำรวจพื้นที่นี้หลายครั้งก็มองว่ามันไม่น่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากรูปทรงที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบของมัน

ยกตัวอย่างเช่นร่องลึกที่มีมุมตั้งฉาก 90 องศา หรือหินขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกับเสาสองต้นที่เรียบตรงและมีมุมเป็นมุมแหลม เพราะการสึกกร่อนตามธรรมชาติน่าจะทำให้ขอบมีลักษณะมนที่จะทำให้เสามีความโค้งมากกว่า

"หลังจากได้เห็นมัน ไม่มีทางที่จะไม่คิดว่ามันเกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นผิวที่แบนเรียบทั้งหมด"วาตานาเบะ กล่าวกับ BBC 

"มันยากจะต่อต้านจริง ๆ จากพื้นผิวที่ดูแตกต่างและรูปร่างที่สมมาตรกัน ผมคิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติแน่นอน ผมสงสัยจริง ๆ ว่ามันสร้างขึ้นมาได้อย่างไร" 

"มันทำให้ผมคิดเกี่ยวกับเครื่องมือที่ผู้คนเคยใช้ในอดีต มันดูน่าพิศวงมาก" 

"ผมเคยได้ยินศาสตราจารย์ถกเถียงกันในงานวิจัยของพวกเขา ที่บอกว่ามันมีโอกาสที่จะเกิดจากธรรมชาติ แต่ในความคิดของผม ผมค่อนข้างเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันเกิดจากฝีมือมนุษย์" 

หรือนี่อาจจะเป็นดินแดนในตำนานที่หายไปจากประวัติศาสตร์  

 

ร่องรอยอาณาจักรที่สาปสูญ ?  

อาจารย์คิมูระบอกว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้างเมืองนี้ แต่คาดกันว่าส่วนที่ใหญ่ที่สุดของมันน่าจะจมลงในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เพราะพื้นที่นี้ตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนที่เรียกว่า "วงแหวนแห่งไฟ" ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง 

อันที่จริงในอดีตก็เคยมีบันทึกว่าได้มีเหตุการณ์สึนามิลูกใหญ่ซัดเข้าเกาะโยนางูนิ เมื่อเดือนเมษายน 1771 โดยครั้งนั้นคลื่นมีความสูงมากถึง 40 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 14 ชั้น 

อาจารย์คิมูระบอกว่ามันยังชี้ให้เห็นโครงสร้างอีก 10 แห่งที่โยนางูนิ และอีก 5 แห่งนอกเกาะหลักของโอกินาวา โดยซากปรักหักพังทั้งหมดน่าจะมีพื้นที่อยู่ที่ราว 300x150 เมตร หรือราว 45,000 ตารางเมตร จนทำให้มันถูกขนานนามว่า "แอตแลนติสแห่งญี่ปุ่น"

โครงสร้างทั้งหมดประกอบด้วย ซากปรักหักพังของปราสาท ซุ้มประตูชัย วัด สนามกีฬาขนาดใหญ่อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และและร่องรอยที่คิดว่าเป็นกำแพงเมือง ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยถนนและคลองขุด 

จากซากปรักหักพัง คิมูระเชื่อว่าการล่มสลายของอาณาจักรแห่งนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อ 5,000 ปีก่อน โดยอ้างอิงจากหินงอกหินย้อยที่พบในถ้ำใต้น้ำที่คาดว่าจะจมลงไปพร้อมกับเมือง 

เขามองว่านี่อาจจะเป็นร่องรอยของทวีปมู อาณาจักรโบราณขนาดใหญ่ในตำนานที่เชื่อว่าจมหายไปในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อหลายพันปีก่อน แต่บางส่วนก็เชื่อว่ามันอาจจะเป็นเศษซากของอาณาจักรยามาไต อาณาจักรโบราณของญี่ปุ่นที่เคยถูกพูดถึงในบันทึกของชาวจีนในอดีต 

อย่างไรก็ดีเขายังไม่พบหลักฐานที่เป็นร่องรอยของมนุษย์และกำลังพยายามค้นหา เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของตัวเองที่ว่ามันคืออาณาจักรโบราณที่จมอยู่ใต้น้ำ  

"ที่ด้านล่างของมหาสมุทร เรายังไม่เจอเครื่องปั้นดินเผาและไม้ แต่เราก็สนใจที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสูงต่ำของดินในบริเวณนั้นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นภาพเขียนและดูคล้ายกับวัว" อาจารย์คิมูระ กล่าว

"เราอยากจะตรวจสอบการลงสี และอยากจะทำวิจัยเกี่ยวกับชั้นผิวดินด้วย" 

สมมุติฐานของคิมูระยังได้รับการสนับสนุนจาก โทรุ โอชิอิ ศาสตราจารย์ด้านแผ่นดินไหว แห่งมหาวิทยาลัยโกเบ เขาไม่เคยเห็นการเกิดขึ้นของโครงสร้างแบบนี้มาก่อนไม่ว่าจะบนบกหรือใต้น้ำ

"ผมเคยไปดำน้ำที่นั่นและสัมผัสกับพีระมิด สิ่งที่ศาสตราจารย์คิมูระพูดไม่ได้เกินความจริง มันง่ายมากที่ะบอกว่าร่องรอยนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดจากแผ่นดินไหว" อาจารย์โอชิอิ กล่าวกับ National Geographic 

อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับทฤษฎีของเขา 

 

รังสรรค์จากธรรมชาติ 

แม้ว่าหลายคนเชื่อว่าโยนางูนิน่าจะเป็นเมืองโบราณ เพราะแม้กระทั่งในชื่อภาษาของญี่ปุ่นที่ใช้คำว่า Yonaguni-jima Kaitei Chikei ที่แปลว่าซากเมืองโบราณใต้น้ำ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนออกมาคัดค้าน 

หนึ่งในนั้นคือ โรเบิร์ต ช็อช ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ที่มองว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญของธรรมชาติ 

"ผมไม่เชื่อว่าลักษณะหรือโครงสร้างใด ๆ ที่เป็นขั้นบันไดหรือบันไดคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นจากธรรมชาติ" ช็อชกล่าว หลังจากได้ดำน้ำลงไปสำรวจ

"มันเป็นความรู้ด้านธรณีวิทยาขั้นพื้นฐาน และวิชาลำดับชั้นคลาสสิกที่ว่าด้วยหินทราย มันเป็นเป็นหินที่แตกออกเป็นแผ่น ๆ และมีขอบที่คมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยร้อยเลื่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสันฐานของพื้นดินบ่อยครั้ง" 

เขาชี้ให้เห็นว่ารูที่อยู่บนหินที่คิมูระบอกว่าเอาไว้ปักเสาเกิดจากกระแสน้ำวนใต้น้ำที่คอยกัดเซาะ และเส้นที่เกิดขึ้นในรูก็น่าจะเป็นเพราะสัตว์ทะเลมาใช้ประโยชน์มากกว่า 

"ครั้งแรกที่ผมไปดำน้ำที่นั่น ผมก็รู้ว่ามันไม่ใช่ของที่ทำขึ้นมา" ช็อช อธิบาย

"มันไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนอ้าง มุมที่พอดีและความสมมาตรนั้นไม่ได้พบเยอะขนาดนั้น" 

เขายืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาว่า คิมูระ ว่าใช้หลักฐานเท็จ แต่จากรูปที่ได้มาก็เห็รความพยายามที่จะทำให้เห็นความสมบูรณ์แบบของที่แห่งนั้น รวมถึงการขีดเส้นลากโยงเท่าที่จะทำได้ 

"ศาสตราจารย์คิมูระบอกว่าเขาเห็นบางอย่างที่เป็นตัวอักษรหรือภาพ แต่มันเป็นแค่รอยขีดข่วนบนหินซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ" เขากล่าวต่อ

"เขาตีความว่ามันเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ผมไม่รู้ว่าเขาเอามาจากไหน"

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ช็อชเท่านั้น เพราะแม้แต่ ทาคายูกิ โองาตะ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันกับคิมูระ ก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเปรียบเทียบจากภูมิประเทศบนบกของเกาะโยนางูนิ 

"ครั้งแรกที่ผมได้เห็นภูมิทัศน์ของโยนางูนิคือเมื่อปี 2016 ในตอนแรกที่ผมเห็นมันผมก็รู้ได้ทันทีว่าโครงสร้างของมันคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนบก" อาจารย์โองาตะ กล่าวกับ BBC 

"ผมรู้สึกประทับใจกับรูปแบบของมันที่อยู่ใต้น้ำซึ่งมีความต่อเนื่องจากบนบกเหนือผิวน้ำ ผมได้เคยทำวิจัยในหลาย ๆ พื้นที่ และลงพื้นที่สำรวจหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นรูปแบบที่ต่อเนื่องจากบนบกไปถึงใต้น้ำ"

"ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจจริง ๆ" 

"มีบางคนเชื่อว่า โยนางูนิ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่บางคนก็เชื่อว่ามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่ามันเป็นการก่อตัวของมันโดยธรรมชาติ"

"คนหนึ่งที่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์คือ มาซาอากิ คิมูระ จากมหาวิทยาลัยริวกิว แต่เขาเชื่อโดยไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ เพื่อสนับสนุน"

"มันมีรูปแบบหลายแห่งบนบกที่คล้ายกับ โยนางูนิ แต่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจากวิธีนั้น ผมจึงเชื่อว่ามันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสมาชิกทุกคนจากภาคธรณีวิทยา ที่ถูกส่งไปวิจัยโยนางูนิ ล้วนเชื่อว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น" 

ขณะที่ มาโคโตะ โอตสึโบะ อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยริวกิวก็เห็นด้วย พร้อมกับเสริมว่า "เหตุผลหนึ่งที่ผู้คนเชื่อว่าปูชณียสถานโยนางูนิ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นคือ มันมีรูปร่างที่สมมาตรหลายแห่ง และมีลักษณะของการก่อตัว"

"แต่มันก็สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ จากการดูรูปแบบทางธรรมชาติจากที่อื่น ๆ หรือลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายกันกับสิ่งนี้"

อย่างไรก็ดีไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากอะไร แต่มันก็มีความสำคัญต่อคนในพื้นที่

 

แหล่งดำน้ำยอดนิยม 

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บางส่วนเชื่อว่าซากที่โยนางูนิไม่ได้เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์คือการที่รัฐบาลญี่ปุ่นหรือหน่วยงานทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ได้ยอมรับโยนางูนิในฐานะโบราณสถาน 

แต่ถึงอย่างนั้นมันก็กลายเป็นข้อดีสำหรับนักดำน้ำที่ทำให้พวกเขาสามารถดำน้ำลงไปสำรวจได้อย่างอิสระ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเกาะโยนางูนิ 

"สิ่งแรกที่ชักนำให้ผมไปเกาะโยนางูนิคือสิ่งนั้น ถ้ามันถูกแต่งตั้งให้เป็นโบราณสถานก็มีข่าวลือว่าเราจะไม่สามารถไปดำนํ้าที่นั่นได้อีกต่อไป เราจึงตัดสินใจว่าจะไปที่นั่นตอนที่ยังไปได้" เคนโซะ วาตานาเบะ อธิบายกับ BBC 

"ผมมีกลุ่มครูดำน้ำที่ผมสนิท และเราก็ไปที่นั่นกันทุกครั้งที่มีเวลาว่าง"

การไปถึงจุดนั้นนักดำน้ำจำเป็นต้องผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กและพบกับหินขนาดใหญ่สองก้อนที่ดูเหมือนเสาตรงหน้า ก่อนจะพบกับแผ่นหินราบเรียบที่สามารถเดินได้ไปจนเจอกับกำแพงขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกับเวที 

กำแพงขนาดใหญ่จะพาไปสู่ด้านบนที่มีลักษณะเหมือนขั้นบันไดสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนสุดทางจะเป็นผาที่มีขนาดสูงถึง 14 เมตร ท่ามกลางฝูงปลาที่จะแวะเวียนมาทักทาย โดยทาง worldadventuredivers.com ได้แสดงแผนผังแนะนำเส้นทางนี้ไว้อย่างละเอียด

ภาพแผนผัง 

อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สนใจอาจจะต้องเป็นนักดำน้ำที่มีประสบการณ์พอสมควร และควรจะต้องผ่านการดำน้ำมาแล้วมากกว่า 100 ครั้ง เนื่องจากกระแสน้ำที่นี่ค่อนข้างแรงพอสมควร 

ทุกวันนี้โยนางูนิจึงกลายเป็นแลนมาร์กสำคัญที่นักดำน้ำต้องมาเยือนให้ได้สักครั้งเพื่อพิสูจน์ด้วยตาตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ รวมถึงอาจารย์คิมูระที่ยังคงแวะเวียนมาที่นี่เมื่อมีโอกาส 

"วิธีที่ดีที่สุดที่จะได้คำตอบแน่นอนเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมันคือการย้อนกลับไปและหาหลักฐานให้มากที่สุด" อาจารย์คิมูระ กล่าวกับ National Geographic 

แต่ไม่ว่าต้นกำเนิดของมันจะมาจากไหน แต่การมีอยู่ของมันก็ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและเศรษกิจของคนบนเกาะโยนางูนิ ตั้งแต่วันที่ถูกค้นพบไปแล้ว 

"แม้ว่าโยนางูนิจะดูดีที่สุดในช่วงฤดูร้อน แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลยตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมค้นเจอมัน" อาราตาเกะ ทิ้งท้าย 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.nationalgeographic.com/history/article/yonaguni-jima-japan-underwater-city 
https://scubadiverlife.com/yonaguni-monument-lost-city-atlantis/ 
https://worldadventuredivers.com/yonaguni-monument-diving/ 
https://www.silpa-mag.com/history/article_3068 
https://allthatsinteresting.com/yonaguni-monument 
https://www.bbc.com/reel/video/p0884j4s/the-truth-behind-japan-s-mysterious-atlantis-  
https://www.grunge.com/365393/the-truth-about-yonaguni-monument-japans-ancient-underwater-pyramid/
https://mysterioustrip.com/yonaguni-monument-japan/ 
https://scubadiverlife.com/yonaguni-monument-lost-city-atlantis/ 


YonaguniMonument,Diving,Atlantis,LostCity,Japan,ญี่ปุ่น,โยนางูนิ,ดำน้ำ, 

MainStand,Main Stand,mainstand th,เมนสแตนด์,Feature

Author

มฤคย์ ตันนิยม

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ