เมื่อต้องเผชิญกับการกดขี่และไม่เป็นธรรม ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นสู้
นี่คือเรื่องราวของชนชั้นรากหญ้าของจีนที่ใช้ศิลปะการต่อสู้โบราณ ต่อต้านการรุกรานของต่างชาติอย่างกล้าหาญในสมัยราชวงศ์ชิง
ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
รุกรานด้วยฝิ่น
ในยุคการล่าอาณานิคม เอเชียถือเป็นจุดหมายปลายทางอันหอมหวานของยุโรป เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ในการค้าขาย
หนึ่งในนั้นคืออาณาจักรจีน ที่ชาติตะวันตกพยายามเข้ามาแสวงหาผลกำไร ทว่าอุปสรรคที่ขัดขวางของพวกเขาอยู่ก็คือ "ระบบผูกขาด" โดยกงหาง หรือพ่อค้าชาวจีน แถมการค้าขายยังจำกัดอยู่ที่เมืองกวางโจวเท่านั้น
ระบบกงหางทำให้ชาวตะวันตกไม่สามารถเข้าไปทำการค้าในจีนได้อย่างเสรี ตรงข้ามกับจีนที่สามารถส่งออกสินค้าของตัวเองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะใบชาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุโรป
ด้วยเหตนี้จึงทำให้ชาติตะวันตกโดยเฉพาะ อังกฤษ หนึ่งในประเทศที่เสียเปรียบเรื่องดุลการค้า อันเนื่องมาจากการนำเข้าใบชาเป็นจำนวนมากพยายามจะแก้ไขในเรื่องนี้ ทั้งเจรจาหรือต่อรองเพื่อจะให้เกิดการค้าเสรี แต่ก็ไม่เป็นผล
จนสุดท้ายในปี 1820 อังกฤษก็งัดหมัดเด็ดด้วยการใช้อาวุธใหม่ นั่นก็คือ ฝิ่น ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อพืชที่ปลูกในอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษในตอนนั้นกลายเป็นสินค้านำเข้าที่ทำรายได้อย่างมหาศาลให้แก่พวกเขา
นอกจากนี้มันยังทำให้คนจีนพากันติดฝิ่นกันอย่างงอมแงม โดยภายใน 10 ปีมีชาวจีนที่ติดฝิ่นมากถึง 10 ล้านคน และทำให้สังคมของพวกเขาอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากฝิ่นทำให้คนเกียจคร้าน สูบแล้วจะไม่อยากทำงาน
รัฐบาลของราชวงศ์ชิง ผู้ปกครองในตอนนั้น จึงได้พยายามปราบปราม ทั้งการห้ามนำเข้าฝิ่น ส่วนที่มีอยู่ก็ยึดและนำไปทำลาย พร้อมทั้งออกบทลงโทษที่รุนแรงด้วยการประหารชีวิตทั้งผู้เสพและผู้จำหน่าย แต่ก็ไม่เป็นผลเมื่อฝิ่นยังคงหลั่งไหลเข้าสู่จีนอย่างต่อเนื่อง
จนในปี 1839 มันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เมื่อเจ้าหน้าที่จีนเข้ายึดฝิ่นจากพ่อค้าอังกฤษที่ท่าเรือเมืองกวางโจว และอังกฤษพยายามขอคืนแต่จีนไม่ให้ อังกฤษจึงใช้ข้อพิพาทนี้เป็นข้ออ้างในการทำสงครามกับจีนในปี 1839 อันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สงครามฝิ่น"
ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าทำให้อังกฤษได้รับชัยชนะอย่างไม่ยากเย็น อังกฤษได้เข้ายึดเมืองนานกิงได้สำเร็จในปี 1842 ทำให้จีนต้องลงนามใน "สนธิสัญญานานกิง" ที่นอกจากต้องจ่ายค่าเสียหายให้อังกฤษแล้ว พวกเขายังต้องเปิดเมืองท่าชายฝั่งให้ชาวอังกฤษเข้าไปค้าขายได้อย่างเสรี
ทว่าที่เสียหายที่สุดคือการสูญเสียฮ่องกงไปจากการครอบครอง รวมถึงการอนุญาตให้มี "สิทธิสภาพนอกอาณาเขต" โดยหากคนอังกฤษทำผิดกฎหมายก็จะไม่ต้องไปขึ้นศาลจีน
ที่ทำให้มันกลายเป็นเชื้อไฟของความวุ่นวาย
ขบวนการนักมวย
สนธิสัญญานานกิง ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวอังกฤษสามารถเข้ามาทำการค้าในจีนได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ยังทำให้ผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ของพวกเขาสามารถเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ผ่านการสร้างโบสถ์และโรงเรียนไปทั่วทั้งประเทศจีน
หลังจากนั้นมิชชันนารีจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส หรือ เยอรมัน ก็ตามรอยอังกฤษเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในจีน โดยเฉพาะในมณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ที่ถึงขั้นมีชุมชนของมิชชันนารี
อย่างไรก็ดีการเข้ามาของต่างชาติก็สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ชาวจีนในพื้นที่จากการถูกกดขี่ข่มเหง อันเนื่องมาจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการยึดที่นาของชาวบ้านมาสร้างโบสถ์ ตัดถนน รวมถึงสร้างทางรถไฟ
ในขณะเดียวกันการที่มิชชันนารีเหล่านี้ได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้พวกเขาไม่ถูกเอาเรื่องเมื่อกระทำความผิด และยิ่งเพิ่มความเกลียดชังของชาวจีนที่มีต่อชาวต่างชาติให้มากขึ้นไปอีก
และมันก็มาถึงจุดแตกหักในช่วงทศวรรษที่ 1890s เมื่อเกิดภัยแล้งอย่างหนักทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ก่อนจะซ้ำเติมด้วยอุทกภัยที่ทำให้เศรษฐกิจของพวกเขาพังพินาศ
ความสิ้นหวังและความคับแค้นเหล่านี้ทำให้ชนชั้นรากหญ้าที่ประกอบไปด้วยชาวนาและเกษตรกรทั้งหญิงและชายทนไม่ไหว และได้รวมตัวก่อตั้งกองกำลังขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือขับไล่ต่างชาติที่มองว่าเป็นภัยร้ายทำลายบ้านเกิดของพวกเขาออกไป
และด้วยความที่หลายคนในกลุ่มนี้ต่างฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ รวมถึงกำลังภายในที่เชื่อว่าช่วยทำให้อยู่ยงคงกระพันและสามารถหลบกระสุนได้ ทำให้พวกเขาถูกเรียกจากสื่อตะวันตกว่า "กลุ่มนักมวย (Boxers) "
"ผู้หญิงที่เข้าร่วมกลุ่มนักมวยจะถูกเรียกว่า 'โคมแดงส่องแสง' เนื่องจากพวกเธอแต่งตัวในชุดสีแดงทั้งตัวถือโคมแดงไว้ข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นพัดแดง พวกเธอทั้งหมดไม่มีใครที่แต่งงานและมีอายุราว 18 หรือ 19 ปี" เผิง จินหยู และ หลี่ หมิงเต๋อ อดีตสมาชิกกลุ่มนักมวยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 1966
"ทุกหมู่บ้านจะมีผู้หญิงเข้าร่วมกลุ่มโคมแดงส่องแสง แต่พวกเขาไม่อยากให้ใครเห็นพิธีกรรมของพวกเขาจึงมักจะฝึกฝนในเวลากลางคืน ในค่ำคืนที่ฟ้ามืดสนิท"
ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นกองกำลังสำคัญของราชวงศ์ชิง
หน่วยรบพิเศษ
อันที่จริงการกำเนิดขึ้นของกลุ่มนักมวยเดิมทีมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิง เนื่องจากพวกเขามองว่าชิงไม่ใช่ชาวฮั่นแต่เป็นชาวแมนจูซึ่งก็คือชาวต่างชาติ จึงขับเคลื่อนด้วยแนวคิด "ต่อต้านแมนจู ฟื้นฟูราชวงศ์หมิง" ในช่วงแรก
อย่างไรก็ดีพวกเขาก็ตระหนักว่าภัยคุกคามที่แท้จริงคือชาวตะวันตกที่เข้ามามีอำนาจในดินแดนของตน จึงทำให้อุดมการณ์ของพวกเขาเปลี่ยนมาเป็น "สนับสนุนชิง กวาดล้างต่างชาติ"
ปี 1899 กลุ่มนักมวย ก็เริ่มสร้างชื่อจากการสังหาร 2 นักบวชชาวเยอรมัน รวมถึงก่อจราจลเข้าทำลายโบสถ์ ที่ทำการ ห้างร้าน ของชาวตะวันตก รวมไปถึงเผาที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ
"เรียนรู้จะเป็นนักมวย เรียนกับโคมแดง"
"ฆ่าปีศาจต่างชาติทุกคน และทำให้โบสถ์ลุกเป็นไฟ" ท่อนหนึ่งของเพลงประจำกลุ่ม
หลังจากนั้นความรุนแรงก็แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง จากการเผาทำลายก็เปลี่ยนเป็นการเข่นฆ่าชาวต่างชาติที่พบเจอ รวมถึงชาวจีนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ โดยมีรายงานว่าระหว่างปี 1899-1901 มีชาวตะวันตกต้องสังเวยชีวิตจากเหตุการณ์นี้ไปมากถึง 230 คน รวมถึงชาวคริสเตียนจีนอีกกว่า 32,000 คน
นอกจากนี้พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลชิง เนื่องจาก ซูสีไทเฮา ผู้นำสูงสุดในตอนนั้น เห็นว่ากลุ่มนักมวยน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการต่อกรกับชาวต่างชาติ และได้รับรองว่านี่คือกองกำลังผิดกฎหมาย จนทำให้ความวุ่นวายนั้นเกินจะควบคุม
"ยังคงมีข่าวอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนของประเทศที่พูดถึงความโหดเหี้ยมของ 'นักมวย'" รายงานจากหนังสือพิมพ์ของสหราชอาณาจักร
"เมื่อวันที่ 20 ที่ฉานไหลอิง ห่างจากปักกิ่งไป 30 ไมล์ มีครอบครัวคริสเตียน 3 คนถูกสังหาร และมีสองคนที่หนีรอดไปได้"
"นอกจากนี้ตู้สินค้าจำนวนมากยังถูกเผาหรือได้รับความเสียหายจากผู้ก่อจราจล โกดังขนาดใหญ่บางแห่งที่เต็มไปด้วยของมีค่าก็ถูกวางเพลิง หลังจากพวกเขาปล้นของมีค่าไปได้"
"ผมได้รับแจ้งว่าการโจมตีได้เกิดจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น โดยการนำของเหล่า 'นักมวย' มันทำให้เหตุการณ์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวนี้ได้แพร่กระจายไปไกลเกินกว่าที่จะจินตนาการ"
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวต่างชาติต้องหนีกันอย่างหัวซุกหัวซุนและเข้ามาหลบภัยในที่พักทูตที่เมืองปักกิ่ง ในปี 1900 ทว่ากลุ่มนักมวยก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น พวกเขาได้ยกพลกว่าแสนนายไล่ตามอย่างกระชั้นชิด หวังสังหารชาวตะวันตกให้หมดสิ้น
ทั้งนี้ช่วงกลางปี 1900 สถานการณ์ก็ยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก เมื่อพระนางซูสีไทเฮา ประกาศสงครามกับชาวต่างชาติทุกคน และทำให้การสังหารชาวตะวันตกเป็นสิ่งถูกกฎหมาย พร้อมกับสั่งให้กลุ่มนักมวยและทหารของตนเข้าปิดล้อมสถานทูต
อย่างไรก็ดีมันกลับเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบอบฮ่องเต้
จุดจบอันน่าเศร้า
หลังจากเหตุล้อมที่พักทูต พันธมิตร 8 ชาติที่ประกอบไปด้วย ออสเตรีย-ฮังการี, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา ก็อยู่นิ่งไม่ได้ จึงได้ส่งกองกำลังเข้ามาหยุดการปิดล้อม
ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าที่มีทั้งปืนและเครื่องกระสุน ทำให้กองกำลังพันธมิตรที่แม้จะมีกำลังพลน้อยในระดับเพียง 50,000 คนก็สามารถเอาชนะกลุ่มนักมวยที่มีจำนวนมากถึง 300,000 คนไปได้
สำหรับซูสีไทเฮา เมื่อเห็นกลุ่มนักมวยเริ่มเพลี่ยงพล้ำก็ตัดสินใจหนีไปยังเมืองซีอานที่ปลอดภัยกว่า ก่อนจะตัดความสัมพันธ์กับกลุ่มนักมวย โดยระบุว่านี่เป็น "กลุ่มกบฏ" ที่ใช้กองกำลังของรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการเข่นฆ่าชาวต่างชาติ
รัฐบาลชิงยังสั่งประหารแกนนำและสมาชิกของกลุ่มนักมวย รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนที่เข้าร่วมขบวนการ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าพวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นต่อหน้าทหารของพันธมิตร
ในที่สุด กลุ่มนักมวย หรือ กบฏนักมวย มีอันต้องสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 1901 หลังการลงนามใน "พิธีสารนักมวย" (Boxer Protocol) ที่สถานทูตสเปนในเมืองต้าชิง ทำให้จีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินสูงถึง 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ 8 ประเทศที่เกี่ยวข้อง
ผลดังกล่าวทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงและกลายเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี 1912 พร้อมกับปิดฉากระบอบฮ่องเต้ที่มีมายาวนานกว่าพันปี
อย่างไรก็ดี กบฎนักมวย กลับมีสถานะที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
เครื่องปลุกใจ ?
ทุกวันนี้ กบฏนักมวย ยังคงถูกพูดถึงจากรัฐบาลจีนอยู่เสมอ ในฐานะแบบอย่างของการรักชาติที่ต่อต้านการรุกรานของตะวันตก โดยล่าสุดเมื่อปี 2018 สำนักข่าว Xinhua สื่อภายใต้การกำกับของรัฐ ได้ยกย่องพวกเขาในบทความพิเศษ
"กบฏนักมวยคือองค์ประกอบสำคัญในขบวนการรักชาติที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน" สำนักข่าว Xinhua ระบุ
"มันแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของคนจีนที่ร่วมใจกันต่อต้านการรุกรานของต่างชาติ"
นอกจากนี้มันยังถูกพูดถึงในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมปลายของจีน ที่บรรยายว่า
"มันคือการต่อสู้อย่างกล้าหาญกับผู้รุกราน และเป็นการพยายามป้องกันแผนการของมหาอำนาจต่างชาติที่จะแบ่งแยกจีน"
อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนี้ เพราะหลังจากบทความนี้เผยแพร่ออกไปก็เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่านี่เป็นเพียงการใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความรักชาติมาปลุกใจเพื่อเบี่ยงประเด็นไม่ให้ผู้คนสนใจกับปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างหนักในปี 2018
"เฮ้ย นี่มันศตวรรษที่ 21 แล้ว เรารู้แล้วว่าเราไม่สามารถชนะศัตรูที่มีอาวุธเพราะเรามีแค่มือเปล่า เรารู้ว่ากำลังภายในของนักมวยมันใช้ไม่ได้ กุญแจสำคัญในการพัฒนาของจีนคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" คอมเมนต์หนึ่งใน WeChat ระบุ
หลายคนมองว่ารัฐบาลจีนควรมองไปที่ความเป็นจริงและเลิกใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือยามที่ประเทศกำลังประสบกับภาวะวิกฤต เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย
"วิธีที่แท้จริงในการรักจีนคือเรียนรู้สิ่งที่ดีที่สุดจากตะวันตกและทำให้จีนดีขึ้น ไม่ใช่เทเลือดหมาใส่ตัวแล้วเชื่อว่ามันจะกันกระสุนได้" อีกคอมเมนต์ใน WeChat ตอบอย่างเผ็ดร้อน
พวกเขามองว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพราะสำหรับหลายคน "กบฏนักมวย" ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นความล้มเหลวที่ควรศึกษาอย่างจริงจัง
"กบฏนักมวยไม่ได้มีชื่อเสียงในแง่บวกสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกันอย่างมืดบอดในการต่อต้านทุกอย่างที่เป็นต่างชาติ มันเป็นความเขลาและความเย่อหยิ่ง" หลิว จื้อเหยา นักประวัติศาสตร์ชาวจีนกล่าวกับ South China Morning Post
แหล่งอ้างอิง :
https://www.scmp.com/news/china/politics/article/2173260/what-does-chinas-trade-war-united-states-have-do-boxer-rebellion
https://www.thoughtco.com/1900-boxer-rebellion-1779184
https://www.facinghistory.org/nanjing-atrocities/nation-building/rebels-boxer-rebellion
https://www.historic-uk.com/CultureUK/Sen-Yamen/
https://www.arsomsiam.com/boxer-rebellion/
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1132417
http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/hongkongport/poppy.html
https://www.investerest.co/society/opium-war/
https://adaybulletin.com/know-mahamangkorn-opium-wars/55340