ไม่ว่าจะในโลกธุรกิจกีฬาหรือการซื้อ-ขายของทั่วไป "เงิน" คือตัวแปรสำคัญในการแลกเปลี่ยน แต่ในการแข่งขันอเมริกันเกมส์ ลีกกีฬาอาชีพของสหรัฐอเมริกา การย้ายทีมของนักกีฬานั้นกลับใช้การ "เทรด" ที่แทบไม่ใช่การซื้อขายด้วยเงิน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่ซับซ้อนระหว่างทีมต่อทีม
เนื่องจากระบบดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีค่าตัว ไม่ต้องมีการฉีกสัญญา และที่สำคัญ บางครั้งนักกีฬาเองก็ไม่ได้อยากย้ายทีม แต่ก็ต้องจำใจยอมย้ายในที่สุด
นั่นเพราะระบบการเทรดในลีกกีฬาอย่าง อเมริกันฟุตบอล NFL, บาสเกตบอล NBA, เบสบอล MLB, ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL รวมถึง ฟุตบอล MLS ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงของผู้เล่น แต่มาจากการบริหารของผู้จัดการทีม และในหลายครั้งก็พลิกชีวิตของนักกีฬาได้ภายในคืนเดียวเช่นกัน
เรื่องราวของการเทรดแบบอเมริกันเกมส์จะเป็นแบบไหน ติดตามได้ที่ Main Stand
เทรดคืออะไรและกฎนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ในโลกของอเมริกันเกมส์ ไม่ว่าจะ NFL, NBA, MLB, NHL หรือ MLS การย้ายทีมของผู้เล่นไม่ได้ใช้การซื้อขายเหมือนฟุตบอลยุโรป แต่ใช้รูปแบบที่เรียกว่า การเทรด (Trade) ที่เน้นการสลับตัวผู้เล่นกันระหว่างสองทีม หรือบางครั้งก็มีหลายทีมร่วมดีลเดียวกัน
การเทรดในอเมริกันเกมส์เริ่มต้นขึ้นควบคู่ไปกับการดราฟต์ครั้งแรกของ NFL ในปี 1936 ซึ่งเป็นความพยายามของเจ้าของทีม NFL ในการแก้ปัญหาการประมูลผู้เล่นดาวรุ่งที่ทำให้ทีมใหญ่มีข้อได้เปรียบมากกว่าทีมเล็ก
การเทรดครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นทันทีหลังจากการดราฟต์ครั้งแรกของ NFL เมื่อทีม ฟิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลส์ เทรดตัว เจย์ เบอร์วังเกอร์ ผู้เล่นในตำแหน่ง ฮาล์ฟแบ็ค ให้กับทีม ชิคาโก แบร์ส เพื่อแลกกับ อาร์ต บัสส์ ผู้เล่นตำแหน่งแท็คเกิล เนื่องจาก อีเกิ้ลส์ ไม่สามารถจ่ายค่าเหนื่อยตามที่ เบอร์วังเกอร์ ต้องการได้
กระบวนการนี้ ทีมต่าง ๆ จะเลือกผู้เล่นจากรายชื่อที่รวบรวมไว้ โดยสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองกับผู้เล่นจะถูกกำหนดให้กับทีมที่เลือกผู้เล่นคนนั้น ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิทธิ์ผู้เล่นระหว่างทีม หรือที่เรียกว่า การเทรด
การเทรดในอเมริกันเกมส์ คือ การแลกเปลี่ยนผู้เล่น สิทธิ์ดราฟต์ หรือแม้แต่เงินสด โดยไม่มีค่าฉีกสัญญาแบบฟุตบอลยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้การย้ายทีมในรูปแบบนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงการกีฬาอเมริกัน ที่ทั้งยืดหยุ่น ซับซ้อน และเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง
การเทรดของอเมริกันเกมส์ จะมีแบบตัวต่อตัวแลกนักกีฬาระหว่างสองทีม เช่น การเทรดผู้เล่น A ไปแลกผู้เล่น B
เทรดแบบพ่วงสิทธิ์ดราฟต์ ทีมที่อยากได้ผู้เล่นที่สามารถยกระดับทีมได้ในทันที อาจต้องส่งสิทธิ์ดราฟต์ในปีต่อ ๆ ไปให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย
การเทรดแบบพ่วงเงิน (Cash considerations) มักเกิดขึ้นใน NBA และ MLB โดยทีมที่รู้สึกว่าอาจได้ไม่คุ้ม จะเพิ่มเงินสดเข้าไปในดีล เพื่อให้การแลกเปลี่ยนดูแฟร์ขึ้นสำหรับทั้งสองฝ่าย
เทรดหลายทีม (Multi-team trade) คือการเทรดที่มีมากกว่าสองทีมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งพบได้บ่อยใน NBA ดีลลักษณะนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อสองทีมไม่สามารถตกลงกันได้ ทีมที่สามหรือสี่จึงถูกดึงเข้ามาเพื่อช่วยให้แต่ละฝ่ายได้สิ่งที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น ทีมหนึ่งอาจต้องการผู้เล่นจากทีมที่สอง แต่ทีมที่สองไม่สนใจผู้เล่นหรือข้อเสนอของทีมแรก ตลอดจนการให้เข้ามาเป็นสะพานเชื่อม โดยอาจรับผู้เล่นจากทีมหนึ่งแล้วส่งผู้เล่นหรือสิทธิ์ดราฟต์ต่อให้อีกทีมช่วยให้ดีลสำเร็จลุล่วงได้อย่างลงตัว
เทรดสิทธิ์พิเศษ เช่นใน MLS ทีมสามารถเทรดสิทธิ์ทางการเงินอย่าง Allocation Money หรือ เงินเสริมที่ใช้ลดภาระเพดานค่าจ้าง หรือใช้ในการเซ็นสัญญานักเตะแทนผู้เล่นได้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการค่าเหนื่อย
ทีมที่ต้องการเสริมทัพแต่ติดเพดานเงินเดือน อาจแลกผู้เล่นหรือสิทธิ์ดราฟต์กับ Allocation Money จากทีมอื่น เพื่อปรับสมดุลการเงินภายในกรอบกฎของลีก
ใช้ อะไร แลก อะไร ?
ในการเทรดของอเมริกันเกมส์ ทีมสามารถแลกอะไรก็ได้กับสิ่งที่ต้องการ ตามกติกาของลีก เช่น ผู้เล่นกับผู้เล่น , ผู้เล่นกับสิทธิ์ดราฟต์, ผู้เล่นกับเงิน
หรือแม้กระทั่ง ผู้เล่นกับสิทธิ์ในอนาคต อย่างสิทธิ์ในการเซ็นนักเตะนอกลีก รวมถึงโควต้านักเตะต่างชาติของ MLS
และในบางครั้งก็สามารถรวบรวมทุกอย่างไว้ในดีลด้วยกัน ทั้งผู้เล่น เงินสด และสิทธิ์ดราฟต์ เพื่อให้ดีลนั้นสมดุลที่สุด
ข้อดีของการเทรด สามารถแลกเปลี่ยนผู้เล่นช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายของทีม โดยไม่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการเสริมทัพ นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้ผู้เล่นได้ไปทีมที่เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเอง ทำให้ทีมสามารถสร้างทีมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ผลงานของนักกีฬาและทีมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เกิดกลยุทธ์ที่น่าสนใจ อย่างการสะสมสิทธิ์ดราฟต์เพื่อสร้างทีมในอนาคตแบบตอนที่ ดัลลัส คาวบอยส์ เทรด เฮอร์เชล วอล์คเกอร์ ในปี 1989 ซึ่งทำให้ คาวบอยส์ ได้สิทธิ์ดราฟต์มาตุนในมือถึง 8 สิทธิ์ ก่อนเล่นแร่แปรธาตุสู่การสร้างทีมจนคว้าแชมป์ ซูเปอร์โบวล์ ได้ถึง 3 สมัย
การเทรดผู้เล่นเพื่อเคลียร์ค่าเหนื่อยเพื่อไปเซ็นตัวฟรีเอเยนต์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน เช่นกรณีของ แอลเอ ดอดเจอร์ส ในลีก MLB เมื่อปี 2018 ที่ปล่อยผู้เล่นค่าจ้างสูงออกไปเพื่อเคลียร์เพดานภาษีฟุ่มเฟือย ทำให้ในระหว่างปี 2017-2019 ดอดเจอร์สลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,630 ล้านบาท
ส่งผลให้หลังจบฤดูกาลปี 2023 ทีมมีโอกาสได้เซ็นฟรีเอเยนต์กับผู้เล่นระดับท็อปอย่าง โชเฮ โอทานิ ด้วยสัญญา 10 ปี มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,367 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในการพาทีม ดอดเจอร์ส คว้าแชมป์ เวิลด์ซีรี่ส์ เป็นสมัยที่ 8
หรือการสร้าง ซูเปอร์ทีม ของ ไมอามี่ ฮีต ใน NBA เมื่อปี 2010 ที่ดึง คริส บอช และ เลบรอน เจมส์ มาผนึกกำลังกับ ดเวย์น เหวด ที่ ฮีต ดราฟต์เข้าทีมมาตั้งแต่ปี 2003 ทำให้ทีมสามารถเข้าชิงได้ 4 ปีติดและได้แชมป์ NBA 2 สมัย
นอกจากนี้ ทีมที่ต้องการแลกผู้เล่น อาจต้องยอมดีลกับข้อเสนอที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มที่จะแลกไหม เว้นแต่ในสัญญาของนักกีฬาจะมี "No-Trade Clause" หรือ "เงื่อนไขห้ามเทรด" ป้องกันไว้อยู่ โดยนักกีฬาจะมีอำนาจในการเลือกทีม เช่น กรณีของ แบรดลี่ย์ บีล เทรดไป ฟีนิกซ์ ซันส์ โดยเลือกจุดหมายเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ระบบเทรดก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะผู้เล่นอาจไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะย้ายทีมหรือไม่ บางครั้งผู้เล่นอาจจะถูกเทรดโดยไม่รู้ตัว และต้องย้ายทีมโดยทันที ซึ่งอาจกระทบสภาพจิตใจของผู้เล่นที่ต้องย้ายเมืองอย่างไม่คาดคิด
หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่สะท้อนข้อเสียของระบบเทรดได้ชัดเจนที่สุด คือดีลการเทรด ลูก้า ดอนซิช สตาร์ดังของทีม ดัลลัส แมฟเวอริกส์ เพื่อแลกกับ แอนโธนี่ เดวิส เซ็นเตอร์ของ แอลเอ เลเกอร์ส
ดีลนี้เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารทีมอย่าง นิโก้ แฮร์ริสัน ซึ่งเขามองว่าเป็นการเสริมเพื่อความแข็งแกร่งของทีมในระยะสั้น เนื่องจาก ลูก้า ดอนซิช ไม่ได้มีเงื่อนไขห้ามเทรดในสัญญา ทำให้เขาไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธดีลนี้ และต้องย้ายทีมทันทีที่ดีลเสร็จสิ้น
ทำให้แฟน ๆ แมฟส์ ไม่พอใจที่เขาทำการเทรดผู้เล่นตัวแทนแฟรนไชส์ของทีมต่อจาก เดิร์ก โนวิทซ์กี้ ออกไป จนเกิดประท้วงที่หน้าสนามแข่งขันของทีมหลายสัปดาห์ติดต่อกันหลังจากดีลเทรดเสร็จสมบูรณ์ พร้อมกับถือป้ายขับไล่ นิโก้ แฮร์ริสัน ออกจากตำแหน่ง
ข้อเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจนของดีลเทรดนี้ คือผู้เล่นอาจต้องย้ายทีมโดยไม่เต็มใจ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและชีวิตส่วนตัวของนักกีฬา ซึ่งกรณีของ ลูก้า ดอนซิช เป็นตัวอย่างเด่นชัดที่นักกีฬาต้องย้ายทีมโดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
การเทรดอาจดูเหมือนเป็นแค่การแลกเปลี่ยนทรัพยากรในทีมกีฬา แต่ความจริงแล้ว มันคือเครื่องมือชั้นดีของ GM และฝ่ายบริหารในการสร้างทีมใหม่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการวางแผนกลยุทธ์ในระยะยาวของทีม
แต่การเทรดก็ยังสามารถทำลายความสัมพันธ์ระหว่างทีมกับนักกีฬา และบั่นทอนความเชื่อใจของแฟน ๆ ได้ในพริบตา เมื่อการตัดสินใจเกิดขึ้นโดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้เล่นและแฟนคลับเลย
มันไม่ใช่แค่เรื่องของกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังแฝงด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ซับซ้อน ไม่แพ้การซื้อขายนักเตะ ทุกการตัดสินใจในการเทรดสะท้องให้เห็นถึง การคิดอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องมูลค่าของนักกีฬา ความลงตัวของทีม งบประมาณในระยะยาว รวมไปถึงภาพลักษณ์ที่ทีมจะสื่อออกไปต่อแฟนคลับ
การเทรดแต่ละครั้งจึงไม่ใช่แค่การสลับตัวนักกีฬาหรือการแลกสิทธิ์ดราฟต์ แต่คือการเดินหมากครั้งสำคัญที่อาจกำหนดทิศทางของทีมในอีกหลายปีข้างหน้า
บทความโดย อัครพล สมอุ่มจารย์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์ Main Stand
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ปล่อย 1 คน ได้ 3 แชมป์ : การเทรดผู้เล่นที่พลิก "คาวบอยส์" กลายเป็นทีมกีฬายิ่งใหญ่สุด
แหล่งอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Trade_(sports)
https://www.youtube.com/watch?v=UyPix8jvraU
https://www.forbes.com/sites/bryantoporek/2025/02/08/2025-nba-trade-deadline-could-reinvent-no-trade-clauses/
https://scholarship.law.duke.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=3151&context=dlj
https://neilpaine.substack.com/p/which-nba-teams-get-the-most-bang
https://www.sportskeeda.com/stories/front-office-showdown-battle-of-strategies-in-the-nba-free-agency-market/
https://abc30.com/post/mlbs-villains-heroes-how-los-angeles-dodgers-got-here/16037293/
https://www.nytimes.com/athletic/5370407/2024/03/27/los-angeles-dodgers-deferrals-shohei-ohtani/
https://www.cbssports.com/mlb/news/where-dodgers-payroll-stands-amid-billion-dollar-offseason-and-what-roster-holes-la-still-has-to-fill/
https://www.forbes.com/sites/bryantoporek/2025/02/08/2025-nba-trade-deadline-could-reinvent-no-trade-clauses/