Feature

วีระศักดิ์เล็ก : อดีตกำปั้นไร้เข็มขัดสู่เจ้าของค่ายมวยไทยดีกรีแชมป์ K-1 ที่ญี่ปุ่น | Main Stand

การแข่งขันคิกบ็อกซิ่ง K-1 ถือเป็นรายการต่อสู้ที่แฟน ๆ กีฬาชาวไทยให้ความสนใจไม่น้อย เพราะตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมามีนักมวยไทยจำนวนมากที่พาเหรดเข้าไปร่วมท้าประลอง โดยมีถึง 5 รายที่ประสบความสำเร็จกระชากแชมป์ถึงถิ่นประเทศญี่ปุ่น

 


สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกจาก บัวขาว บัญชาเมฆ กับ พญาหงส์ อโยธยาไฟท์ยิม แล้ว นักชกอีก 3 รายที่เหลือล้วนมาจากค่ายมวย "วีระศักดิ์เล็ก" ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ก้องนภา วีระศักดิ์เล็ก, แก้ว วีระศักดิ์เล็ก และแชมป์คนล่าสุดอย่าง ยอดขุนพล วีระศักดิ์เล็ก

ค่ายมวยแห่งนี้ก่อตั้งโดย "ตู่" วีระศักดิ์เล็ก วงศ์ประเสริฐ อดีตนักมวยไทยที่แม้จะไม่เคยสัมผัสแชมป์รายการใดเลยตลอดการโลดแล่นบนสังเวียน แต่ด้วยความฝันและความมุ่งมั่นทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นเจ้าของยิมมวยไทยที่ประเทศญี่ปุ่น ถึง 9 สาขา ก่อนจะมาเปิดสาขาล่าสุดที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก

เส้นทางที่ "วีระศักดิ์เล็ก" ต้องเผชิญกว่าจะถึงวันที่ได้เป็นเจ้าของค่ายมวยไทยที่ได้รับการยอมรับในแดนปลาดิบเป็นอย่างไร ติดตามเรื่องราวได้ที่ Main Stand

 

กำปั้นไร้แชมป์สู่กรรมกรแดนปลาดิบ

วีระศักดิ์เล็ก วงศ์ประเสริฐ ก้าวสู่สังเวียนมวยไทยตอนอายุ 15 โดยหลังจากตระเวนชกที่ละแวกบ้านเกิดจังหวัดยโสธรอยู่ 5-6 ไฟต์ก็ตัดสินใจเก็บกระเป๋าเข้ามาท้าทายโชคชะตาในเมืองกรุง

ด้วยลีลาการชกที่ดุดันและสนุกเร้าใจ บวกกับลูกวงในอันเหนียวแน่นและอาวุธเข่าทรงพลัง ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชมแทบทุกไฟต์ที่ขึ้นเวที พร้อมได้รับเลือกให้ขึ้นชกเป็นรองคู่เอกของรายการอยู่บ่อยครั้งทั้งเวทีราชดำเนินและลุมพินี 

ทว่าด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งการที่เริ่มฝึกมวยที่ช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่น ทำให้เส้นทางบนสังเวียนของเจ้าตัวไปไม่ถึงฝั่งฝัน แม้จะผ่านการขึ้นชกมาเกือบ 50 ไฟต์ แต่ก็ไม่เคยคว้าเข็มขัดแชมป์มาครอบครองได้เลย

"ผมเริ่มต่อยมวยไทยตอนอายุ 15 ซึ่งถือว่าช้ามากแล้ว สมัยก่อนมวยเก่ง ๆ เยอะ ยิ่งถ้าได้ผู้สนับสนุนไม่ดีอีกก็ยิ่งเกิดยาก พอชกถึงอายุ 21 ไม่มีแชมป์สักที ผมก็เลิกเลย" วีระศักดิ์เล็ก ย้อนถึงสาเหตุ

เจ้าของฉายาขุนเข่าเมืองบั้งไฟ เผยต่อว่าหลังเลิกชกมวยตนได้ตัดสินใจประชดชีวิตด้วยการสมัครเป็นทหาร โดยหวังที่จะเอาดีด้านนี้ แต่สุดท้ายแล้วมองไม่เห็นหนทาง จึงออกมาเมื่อครบวาระ ก่อนจะได้เจอจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เขาได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

"ผมเป็นคนเพ้อฝัน เป็นคนทะเยอทะยาน ทำไงเราถึงจะรวย ทำไงเราถึงจะมีเงิน เป็นทหารดูแล้วไม่น่ารวยเลยออกมา พอดีจังหวะนั้นมีคนมาติดต่อว่าสนใจไปสอนมวยที่ประเทศญี่ปุ่นไหม ผมเลยตัดสินใจลองไปเสี่ยงดวงดู"

"แต่พอไปถึงจริง ๆ งานหลักที่เราต้องทำคือทำงานก่อสร้าง เป็นกรรมกรเลย ทำตั้งแต่ 07.30-16.30 น. เงินเดือนเกือบ 30,000 บาทก็จริง แต่หักค่านายหน้ากับใช้หนี้ค่าเครื่องบินที่เดินทางมาก็เหลือเดือนละแค่ 8,000 บาท พอเลิกงานถึงได้ไปสอนมวยตามยิม ค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท รวมแล้วได้เงินต่อเดือนแค่ 12,000 บาท"

"วงการมวยญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้วต้องบอกว่ายังไม่รุ่งเรืองเหมือนวันนี้ เขาไม่รู้จักมวยไทยด้วยซ้ำ รู้จักแค่คิกบ็อกซิ่งอย่างเดียว ไปถึงก็แทบไม่ได้สอนอะไรเพราะจะโชว์ว่าเก่งกว่าเขาไม่ได้ เหมือนไปเป็นหุ่นมากกว่า ไปล่อเป้าให้เขา ให้เขาต่อยจังหวะ 1-2 แค่นั้น"

"ผมมองว่าแบบนี้มันไม่ใช่ ก็เลยตั้งใจว่าจะต้องทำค่ายมวยไทยที่ญี่ปุ่นให้ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือหาแฟนชาวญี่ปุ่นให้ได้ก่อน" วีระศักดิ์เล็ก เผยด้วยรอยยิ้ม

 

เจ้าของค่ายมวยไทยในโตเกียว

ด้วยความฝันที่อยากจะมีค่ายมวยไทยของตัวเองในประเทศญี่ปุ่น วีระศักดิ์เล็กจึงอดทนทำงานก่อสร้างสลับกับการสอนมวยอย่างหนักสัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อหาเงินประทังชีวิตพร้อมเก็บหอมรอมริบสำหรับสร้างตัว

ขณะเดียวกันเจ้าตัวยังกลับมาสวมนวมขึ้นเวทีชกอีกครั้งหลังได้โอกาสลงแข่งขันคิกบ็อกซิ่งที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว ซึ่งการคืนสังเวียนครั้งนี้เขาก็ได้โชว์ศักยภาพและอาวุธอันร้ายกาจของแม่ไม้มวยไทยให้ชาวท้องถิ่นได้เห็นกับตา

กำปั้นจากยโสธรเดินหน้าปราบนักสู้เลือดซามูไรไฟต์แล้วไฟต์เล่าจนทำให้ชื่อเสียงเริ่มแพร่หลายและกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

ที่สำคัญยังทำให้เขาได้พบรักกับสาวชาวญี่ปุ่นที่ตามเพื่อนมาเชียร์มวยขอบเวที ก่อนได้ทำความรู้จักและกลายเป็นภรรยาแต่งงานกันในเวลาต่อมาตามที่เจ้าตัวฝันไว้

"ผมชกทั้งหมด 11 ครั้งไม่แพ้ใครเลย หลายครั้งต้องแบกน้ำหนักก็ยังชนะ มวยเขาสู้เราไม่ได้เลย"

"พอชนะติด ๆ กันก็เริ่มมีคนมาเชียร์มาขอลายเซ็น ผมเลยตัดสินใจทำใบปลิวรูปหน้าตัวเองไปแจกวันที่ขึ้นชก เพื่อประกาศรับสอนมวยตัวต่อตัวในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันที่ผมหยุดจากการทำงานก่อสร้าง"

"ตอนแรกก็มีคนมาเรียน 2-3 คน จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 5 คน ไปจนถึง 10-20 คน ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดีที่จะมียิมเป็นของตัวเอง"

"พอดีแถวบ้านที่ผมพักมีค่ายมวยเก่าเล็ก ๆ อยู่ พื้นที่ประมาณ 50 ตารางวา แล้วเขาจะขยายไปที่อื่นที่ใหญ่กว่า ผมเลยลองไปติดต่อขอเช่าดู ช่วง 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม เพื่อเปิดเป็นที่สอนมวย เขาก็โอเค เก็บค่าเช่าผมเดือนละ 5 หมื่นบาท"

"ช่วงเปิดแรก ๆ ผมต้องทำงานอย่างหนักเลย ทำงานวันละ 3 รอบ ตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อไปทำงานก่อสร้างเช้ายันเย็น พอเลิกก็นั่งรถไฟกลับมาสอนมวยถึง 4 ทุ่ม พอสอนมวยเสร็จก็ไปทำงานร้านเนื้อย่างต่อ 5 ทุ่มถึงตี 2 ได้นอนวันละแค่ 2-3 ชั่วโมง แต่ก็ต้องอดทน ทำยังไงก็ได้ให้มีเงินจ่ายค่าเช่า"

"เปิดได้ครึ่งปี คนมาจากทั่วทุกมุมเลย มีคนมาเรียนกับผม 350 คน เก็บค่าเรียนได้เดือนละล้าน ซึ่งคนที่มาเรียนกับผมก็มีหลากหลายอาชีพ บางคนมาฝึกจริงจังเพื่อลงแข่ง บางคนมาเรียนทักษะเพื่อใช้ป้องกันตัว บางคนเป็นพนักงานบริษัทแค่มาออกกำลังกายก็มี"

"ตอนนั้นคิดว่ามาถูกทางแล้ว เริ่มคิดอยากมีบ้านในญี่ปุ่นเป็นของตัวเองแล้ว คนที่มาเรียนมีคนที่ทำเกี่ยวกับซื้อขายบ้านอยู่เลยพูดกับเขาเล่น ๆ แต่เขาก็ไปหามาให้ เป็นตึก 5 ชั้นในโตเกียว ผ่อนเดือนละแสนกว่าบาท ผมเลยไปคุยกับธนาคาร เขาเห็นบัญชีเราว่ามีเงินเหลือก็เลยให้กู้"

"พอกู้ผ่านผมก็เปิดเป็นค่ายมวยเลย ถือเป็นสาขาแรกของตัวเองเลยก็ว่าได้ ชั้น 1-2 เป็นที่สอนมวย ชั้น 3 เป็นร้านอาหาร ชั้น 4-5 เป็นที่อยู่ของผม ภรรยา แล้วก็แม่ยาย" วีระศักดิ์เล็ก เล่าถึงเส้นทางการเปิดค่ายมวยที่ญี่ปุ่น

หลังจากที่ค่ายมวยไทย Weerasakreck Muaythai Gym หรือ WSR สาขาแรกในกรุงโตเกียว ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการราว 1 ปี จุดก้าวกระโดดในเชิงธุรกิจของวีระศักดิ์เล็กก็มาถึง เมื่อ บรรจง บุษราคัมวงษ์ นักธุรกิจเจ้าของแบรนด์อุปกรณ์มวยยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง "แฟร์เท็กซ์" ต้องการขยายตลาดเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งคู่จึงได้เจรจาตกลงเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจร่วมกันเพื่อนำสินค้าของแฟร์เท็กซ์ไปขายที่แดนปลาดิบ พร้อมส่งเสริมและพัฒนาวงการมวยไทยในต่างแดนควบคู่กัน

"ท่านบรรจงอยากเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ผมก็พูดกับท่านไปว่าถ้างั้นขอสัก 30 ล้านบาท คุยกันไปกันมาท่านถูกใจเลยให้เงินเรามาจริง ๆ ผมเอาเงินไปโปะบ้านที่ซื้อมาหมดเลย พอไม่มีหนี้เราก็ขยายสาขา 2 สาขา 3 ไปต่อเรื่อย ๆ ทั้งที่ไซตามะ คาวางูจิ ฟุกุโอกะ ชิบะ ซัปโปโร รวมทั้งหมด 9 สาขา"

"ทุกสาขามีคนมาเรียนกันแน่น สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจากคนที่มาเรียนกับเราเขาไปแข่งแล้วชนะ พอมีคนถามว่าฝึกยังไงเขาก็บอกว่าเรียนมวยไทยกับเรา คนก็เริ่มให้ความสนใจ บอกต่อกันปากต่อปาก"

"นอกจากนี้เรายังส่งนักมวยไทยไปแข่ง K-1 แล้วคว้าแชมป์ด้วย คนก็ยิ่งให้ความสนใจ ซึ่งตอนนี้ผมก็มาเปิดยิมที่เมืองไทยแห่งแรกด้วย เพื่อเป็นอีกช่องทางในการผลักดันนักมวยไทยและผู้ฝึกสอนไปสร้างชื่อเสียงที่ประเทศญี่ปุ่น" วีระศักดิ์เล็ก เผย

 

WSR สาขาแรกในเมืองไทย

นับจนถึงปัจจุบัน มีนักมวยทั้งชาวไทยและต่างชาติจากค่าย Weerasakreck Fairtex Muaythai Gym สร้างชื่อเสียงในวงการ K-1 ประเทศญี่ปุ่น จำนวนมาก โดยเฉพาะเจ้าของแชมป์ชาวไทยทั้ง 3 คนอย่าง ก้องนภา, แก้ว และ ยอดขุนพล

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 รายแม้จะสวมสีเสื้อวีระศักดิ์เล็กขึ้นสังเวียนแต่ก็เรียกได้ว่าต่างคนต่างที่มาและไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากค่ายมวยแห่งนี้

"เราไม่ได้เน้นเรื่องการทำมวยอาชีพ ทุกวันนี้ที่ผมมีอยู่มีกินได้ก็มาจากการสอนมวย นักมวยไทยของเราที่ไปสร้างชื่อเสียงหรือคว้าแชมป์เราก็ไม่ได้เลี้ยงดูเขาเหมือนค่ายมวยทั่วไปในเมืองไทย ที่ต้องเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก จ่ายค่าเรียนหนังสือ ค่ากิน ค่าอยู่ ทุกอย่างให้" 

"อย่างเช่นแก้วตอนแรกจะเลิกชกอยู่แล้ว เราก็เอามาช่วยดูแลให้มาเป็นครูสอนมวยที่ค่าย พอมาถึงเรามองเห็นแล้วว่าเขายังชกได้เลยให้ลงแข่งดู เขาก็เอาด้วย ซึ่งถ้านักมวยตั้งใจจริงเราก็พร้อมตั้งใจช่วย"

"หลายคนเป็นนักมวยอยู่แล้ว เราก็มาสอนมาปรับสไตล์การชกให้เหมาะกับ K-1 มากขึ้น เช่น หัดให้เน้นการใช้หมัด สอนใช้นวมเล็ก สอนวีธีชกจากการชกให้ฮุคจากด้านข้าง ผมจะให้นักมวยคิดว่าเหมือนทะเลาะกันกลางถนน ให้สู้แบบนักเลง มีความดุดัน จะต่อยเตะเหมือนมวยไทยที่เคยชินไม่ได้" วีระศักดิ์เล็ก เผย

โมเดลการทำธุรกิจเช่นนี้ของ "ไคโจตู่" หรือประธานตู่ ได้สร้างรายได้ให้กับเจ้าตัวมาแล้วหลักร้อยล้านบาท ซึ่งวันนี้ค่ายมวย "วีระศักดิ์เล็กยิม" ได้เปิดสาขาที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ หลังห้างเซ็นทรัล เวสต์เกต จ.นนทบุรี บนพื้นที่ 4 ไร่ ภายใต้งบก่อสร้างกว่า 20 ล้านบาท

วีระศักดิ์เล็กได้เนรมิตยิมแห่งนี้ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ายิมที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น เวทีมวยขนาดมาตรฐาน 2 เวที, เวทีกรงสำหรับ MMA, อุปกรณ์การฝึกซ้อม และห้องพักสำหรับรองรับนักมวยจากต่างชาติที่มาค้างคืน โดยมี พรสวรรค์ ป.ประมุข อดีตแชมป์โลก เป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อม

"ผมไปอยู่ที่ญี่ปุ่น 30 ปี ตอนนี้กลับมาเมืองไทย ผมอยากให้โอกาสเด็ก ๆ และเยาวชนไทย ได้หันมาเรียนชกมวยไทย และอยากช่วยครูมวยรวมถึงนักมวยไทยที่ไม่ได้รับโอกาส ได้มีพื้นที่ ให้มาเป็นครูมวยมาสอนเด็กที่ค่ายให้ทุกคนกลับมามีรายได้มีอาชีพทำ"

"ผมเชื่อว่าทุกคนที่มาเรียนมวยไทยที่นี่ล้วนมีความตั้งใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมาฝึกจริงจังหรือมาออกกำลังกาย ซึ่งในอนาคตถ้าเก่งและมีฝีมือแล้วอยากเป็นนักมวยอาชีพหรือลงแข่งเราก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่" วีระศักดิ์เล็ก ทิ้งท้าย

ด้วยประสบการณ์ต่าง ๆ ที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปีของเจ้าตัว ในอนาคตเราอาจได้เห็นนักมวยไทยจากค่าย "วีระศักดิ์เล็กยิม รัตนาธิเบศร์" ก้าวขึ้นสู่การเป็นแชมป์คนใหม่ก็เป็นได้

Author

ชมณัฐ รัตตะสุข

Chommanat

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ