Feature

1 ปีเตะลืมตาย : ราคาที่นักเตะระดับโลกต้องจ่ายด้วยร่างกายกี่นัดถึงจะคุ้ม ? | Main Stand

ดูเหมือน โรดรี้ ห้องเครื่องคนสำคัญของ แมนฯ ซิตี้ จะใช้ร่างกายตัวเองยืนยันคำวิจารณ์และต่อว่าเกี่ยวกับโปรแกรมฟุตบอลในสมัยนี้ ที่มันหนักเกินไป เตะเยอะเกินกว่าที่นักฟุตบอลจะรับไหวเสียแล้ว

 

เขาได้รับบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าหัวเข่า หรือ ACL จนอาจจะต้องปิดม่านฤดูกาลนี้ไปเลย ซึ่งแน่นอนว่า โรดรี้ คือหนึ่งในนักเตะที่เล่นมากที่สุดคนหนึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา 

การบาดเจ็บของเขาทำให้เราต้องมามองกันว่า ฟุตบอลยุคนี้เตะกันหนักเตะกันถี่เกินไปหรือไม่ ? และกลุ่มนักเตะที่ออกมาต่อต้านโปรแกรมโหดจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ? 

ติดตามที่ Main Stand 

 

โปรแกรมนรกไม่เกินจริง

ฟุตบอลยุคปัจจุบันคือเกมกีฬาที่ตีคู่ไปกับธุรกิจความบันเทิงแบบเต็มรูปแบบ มันเหมือนกับคุณติดละครสักเรื่อง คุณย่อมอยากจะดูมันทุก ๆ วัน และฝ่ายบริหารหรือกลุ่มคนที่นั่งโต๊ะมีหน้าที่ตัดสินใจก็รู้ว่า เมื่อแฟนบอลต้องการ พวกเขาก็พร้อมที่จะเสิร์ฟความบันเทิงถึงที่ ... เพราะทุก ๆ นัดที่นักเตะ 22 คนลงห้ำหั่นกันในสนาม มันหมายถึงรายรับมหาศาลสำหรับทุกฝ่าย

การได้เงินแบบเห็น ๆ จากการแข่งขัน ทำให้โปรแกรมฟุตบอลสมัยนี้มีเยอะมาก เพราะไม่ว่าถ้วยไหน รายการใด ก็อยากที่จะเพิ่มโอกาสการทำเงินด้วยกันทั้งนั้น

ยิ่งที่อังกฤษยิ่งไม่ต้องพูดถึง ที่นี่ฟุตบอลถ้วยในประเทศรายการใหญ่ 2 รายการ ไม่มีการพักช่วงฤดูหนาว ซึ่งโปรแกรมที่แน่นเอี๊ยดนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทีมในพรีเมียร์ลีกระดมทุนซื้อนักเตะเข้ามาเสริมทัพมากมายเพื่อให้พอจะหมุนเวียนกันเล่นทั้งปี 

เพียงแต่ว่ามันไม่ได้จบง่าย ๆ แค่นั้น ทีมระดับท็อปทุกทีมบนโลกนี้ต้องเล่นฟุตบอลมากกว่าในอดีตเยอะ (มาก) และไม่มีทีท่าว่าจำนวนเกมแต่ละปีจะน้อยลงเลย 

ถ้าเราวัดกันที่ปี ณ ปัจจุบันจะชัดเจนที่สุด ซึ่งต้องขอยกตัวอย่างด้วย เรอัล มาดริด พวกเขาเล่นในลีก 38 เกม เล่นเกมซูเปอร์คัพของสเปน ซูเปอร์คัพถ้วยยุโรป และเล่นเกมฟุตบอลถ้วยในประเทศอีกมากสุด 6 เกม หากเข้าชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในรูปแบบใหม่ในกรณีที่ไปถึงนัดชิงชนะเลิศอีก 15 เกม (อาจมากถึง 17 เกมถ้าต้องเล่นรอบเพลย์ออฟก่อน 16 ทีมสุดท้าย) และต่อด้วยฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกอีก 7 นัดถ้าพวกเขาไปถึงนัดชิง ... ทั้งหมด 70 เกม บวกลบเลยทีเดียว

นี่แค่เกมในสโมสรเท่านั้น มันอาจจะบวกลบได้น้อยลงกว่านี้ แต่หลัก ๆ แล้วทีมระดับท็อปมี 60 เกมในมือทุก ๆ ซีซั่นแน่นอน 

ไหนจะเกมระดับทีมชาติอีก ที่ปัจจุบันมีการกาปฏิทิน ฟีฟ่า เดย์ เอาไว้ชัดเจน มีรายการลงแข่งขันมากขึ้น (อาทิ เนชั่นส์ลีก) และมีฟุตบอลโลก รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปรอบคัดเลือก ให้เล่นกันเป็นประจำไม่ว่างเว้น ... ที่ไม่ควรลืมอีกเรื่องก็คือ ในทุก ๆ 2 ปี จะต้องมีฟุตบอลโลก หรือชิงแชมป์ทวีปรอบสุดท้ายให้แข่งขันกันอีก 

ดังนั้นนักเตะระดับท็อปที่เล่นให้กับสโมสรระดับท็อปและทีมชาติระดับแถวหน้า หากนับเป็นปี ๆ พวกเขามีโปรแกรมในมือเกือบ 80 เกม ... นี่มันมากเกินไปแล้ว อย่างที่ทาง Main Stand เคยอ้างอิงบทความเปรียบเทียบเรื่องโปรแกรมฟุตบอลสมัย 30 ปีที่แล้วกับฟุตบอลปัจจุบัน ที่วิจัยโดย ScienceNordic ที่ยืนยันว่า ฟุตบอลสมัยใหม่มีเกมการแข่งขันทางการเยอะกว่าฟุตบอลยุคเก่า โดยมีการระบุว่านักเตะระดับท็อปในอดีตจะลงเล่นน้อยกว่านักเตะในปัจจุบันเกือบ 30% ด้วยปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเหตุผลที่ดูไม่เป็นมืออาชีพ เช่น การทะเลาะกับสโมสรหรือเฮดโค้ชจนถูกจับดองไว้ข้างสนาม ซึ่งทำให้พวกเขาได้เล่นน้อยลง 

นี่คือภาพชัดว่าฟุตบอลปัจจุบัน คือฟุตบอลที่อิงกับเงินและรายรับจนมีโปรแกรมถี่ยิบนรกแตกมาก มีนักเตะหลายคนบาดเจ็บสะสม จนกลายเป็นเจ็บยาว เจ็บหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ซึ่งมันก็มาจากทั้งโปรแกรมที่เยอะเกินไป และบวกเข้ากับเกมฟุตบอลปัจจุบันที่มีความเข้มข้นสูง เข้าปะทะกันด้วยกำลังเต็มอัตรา วิ่งขึ้นลงกันตลอดทั้งเกม นักกีฬาต้องใช้ร่างกายหนักมาก

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่นักฟุตบอลระดับท็อปหลายคนออกมาต่อต้านเรื่องเหล่านี้ และพวกเขาไม่ได้ทำกันเล่น ๆ เพราะมันหนักข้อถึงขั้นการประกาศสไตรค์ (ประท้วงด้วยการไม่ลงเล่น) เลยทีเดียว

 

จะเอาคุณภาพหรือปริมาณ ?

นักเตะอาชีพ คืออาชีพที่หลายคนอิจฉา เพราะมีรายได้สูงกว่าคนปกติหลายเท่า มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตาในสังคม แต่ในมุมกลับกัน พวกเขาก็มีอะไรต้องเสียสละเยอะมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ 

พวกเขาต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักอยู่กับฟุตบอลตลอดทั้งปี โดยมีเวลาให้พักจริง ๆ เพียงปีละ 3 สัปดาห์เท่านั้น (ปัจจุบันอาจน้อยลงอีก) ซึ่งเมื่อพวกเขาต้องแบกสังขาร ความกดดัน ความเสี่ยง และการสละเวลาด้านอื่น ๆ มาใช้กับฟุตบอล มันทำให้มาถึงจุดที่พวกเขาก็ต้องทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอีกครั้งเช่นกัน 

เออร์ลิ่ง ฮาลันด์, คีลิยัน เอ็มบัปเป้, เควิน เดอ บรอยน์, จู๊ด เบลลิงแฮม และ โรดรี้ คือกลุ่มนักเตะที่เล่นมากกว่า 60 เกมในรอบปฏิทิน และพวกเขาก็เป็นคนออกปากด้วยตัวเองว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดโปรแกรมฟุตบอลในปัจจุบัน และการทำแบบนี้กำลังทำร้ายนักฟุตบอลอาชีพทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ก่อน โรดรี้ จะเจ็บ ACL เขาออกมาบอกว่า เขาคิดว่าความอดทนมาถึงขีดสุดและต้องพูดอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนและแก้ไขใหม่ เพื่อให้ทุกคนมองเห็นว่าร่างกายและจิตใจของนักฟุตบอลอาชีพเองก็สำคัญ พวกเขาก็เป็นมนุษย์ มีขีดจำกัดทางร่างกาย ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ใช้งานจนพังแล้วก็เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ 

"สิ่งที่ผมพูดนี้เป็นความเห็นทั่วไปของนักเตะแทบทุกคนที่ผมเคยคุยด้วย หากมันยังเป็นแบบนี้ต่อไป เราจะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว" โรดรี้ กำลังพูดถึงการสไตรค์ 

การพูดของ โรดรี้ ทำให้ ธิโบต์ กูร์กตัวส์ ที่เพิ่งผ่านการบาดเจ็บยาว 9 เดือนออกมาเสริมว่า "โรดรี้ พูดถูกทุกอย่าง ตอนนี้มีเกมการแข่งขันมากเกินไป ไม่ใช่เราไม่รู้ว่ากลไกของตลาดฟุตบอลมันเป็นแบบไหนนะ ผมรู้ว่าแฟนบอลอยากจะดูเกมให้เยอะที่สุด แต่เราจำเป็นมากที่จะต้องหาจุดสมดุลให้เจอ ตอนนี้มันเยอะเกินขีดจำกัดไปแล้ว และเราได้เห็นอาการบาดเจ็บไล่ตามเช็คบิลนักเตะหลาย ๆ คนในเวลานี้ มันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ" 

การขู่สไตรค์ไม่ใช่มาตรการแรก แต่มันคือสิ่งที่เหล่านักเตะต้องการแสดงออกอย่างเด็ดขาดสำหรับเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้นักเตะและโค้ชระดับตัวท็อปหลายคน ทั้ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, มิเกล อาร์เตต้า และ เยอร์เก้น คล็อปป์ ต่างก็ส่งสัญญาณเตือนภัยถึงความเหนื่อยล้าเช่นกัน  

คนที่พูดได้น่าสนใจคือ คาร์โล อันเชล็อตติ ผู้จัดการทีม เรอัล มาดริด ที่บอกว่าถ้าเงินมันเป็นปัญหา เขาก็เชื่อว่านักเตะหลายคนยอมจะลดเงินเดือนลง เพื่อให้ได้มีชีวิตบ้าง ได้พัก ได้มีโปรแกรมที่สมดุลกับสภาพร่างกายของพวกเขา ซึ่งก็ยังไม่มีใครสนใจ ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น 

พวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าการตัดรายการแข่งขันที่ไม่จำเป็น และเป็นการแข่งขันที่มีเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นหลักออกบ้าง อาทิ เนชั่นส์ ลีก ที่เพิ่มขึ้นมาในโปรแกรมทีมชาติ หรือแต่เกมชิงแชมป์สโมสรโลก ที่จากเดิมทีมยุโรปเล่นแค่ 2 เกมก็รู้ดำรู้แดง แต่การแข่งขันแบบใหม่ พวกเขาต้องเล่นเกม 5-6 นัดภายในเวลาราว ๆ ไม่ถึง 3 สัปดาห์ นี่คือค่าเฉลี่ยที่มากเกินไป

มันเห็นได้ชัดว่ากลุ่มนักเตะและกุนซือที่ได้สัมผัสประสบการณ์โปรแกรมนรกเหล่านี้มาแล้วพยายามเรียกร้อง ก็คือการลดโปรแกรมลงอย่างน้อยปีละ 10-12 เกม รวมกันทั้งทีมชาติและสโมสร เอาให้มันเท่า ๆ กันกับในอดีต มันคือตัวเลขที่ลงตัวแล้ว ส่วนเรื่องความสนุกไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกทีมล้วนแต่พยายามสุดชีวิตเพื่อเอาชนะกันอยู่แล้ว รูปเกมที่เข้มข้นขึ้น ย่อมดีกว่าการเล่นเหยาะ ๆ แหยะ ๆ เพราะนักเตะไม่อยากจะเล่น หรือกังวลกลัวการบาดเจ็บ ซึ่งสุดท้ายมันก็ส่งผลไปถึงแฟนบอลอยู่ดี ที่จะได้เห็นเกมที่ไม่สนุก ไม่น่าติดตาม  

ซึ่งทุกวันนี้มันก็เหมือนจะเป็นอยู่กับฟุตบอลเนชั่นส์ ลีก ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกมอุ่นเครื่อง แต่กลับกลายเป็นว่านักเตะก็ด่าว่าไม่ควรใส่มา ขณะที่แฟนบอลที่เป็นเป้าหมายก็ใช่ว่าจะให้ความสนใจมากขึ้นแต่อย่างใด 

 

ถึงเวลาเด็ดขาด 

ณ ตอนนี้ เริ่มมีการพูดถึงการสไตรค์กันมากขึ้นแล้ว เพราะนักเตะก็เริ่มจะหมดความอดทนกับการไม่สนใจใยดีของผู้มีอำนาจในการจัดโปรแกรมรายการต่าง ๆ 

มาเฮด้า โมลันโก้ ซีอีโอของ สมาคมนักฟุตบอลอังกฤษ (PFA) ให้สัมภาษณ์กับ ESPN ว่า ณ ตอนนี้ความอดทนของกลุ่มนักเตะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ และไม่มีสิ่งใดจะดับความฉุนเฉียวของโปรแกรมการแข่งขันที่พวกเขาต้องจ่ายด้วยร่างกายเกินควรอีกแล้ว ทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือ ฟีฟ่า ต้องออกมารับทราบและแสดงแอ็คชั่นบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

โดยสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPRO) และสหภาพนักเตะชาติต่าง ๆ ต้องการให้มีการจำกัดจำนวนเกมที่นักเตะสามารถลงเล่นได้ในหนึ่งฤดูกาล โมลันโกเสนอต่อ ESPN ว่าควรจำกัดจำนวนเกมไว้ที่ 50-60 เกม และจำกัดไม่เกิน 6 ครั้งที่นักเตะสามารถลงเล่น 2 เกมภายใน 4 วัน

นอกจากนี้ สหภาพยังต้องการให้มีการหยุดพักผ่อนช่วงฤดูร้อน 3-4 สัปดาห์เป็นข้อบังคับ แทนที่จะเป็นเพียงคำแนะนำ ... จะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้ขออะไรที่มากเกินไปนัก มันคือสิ่งที่ฟุตบอลเป็นมาตลอด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาเงินเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนนั่งโต๊ะบริหารในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา 

"นักเตะต่างพูดถึงเรื่องนี้กันทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในงานแถลงข่าวก่อนการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีก ก่อนการแข่งขันเนชั่นส์ลีก เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป" อเล็กซานเดอร์ บีเลเฟลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระดับโลกและความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์สำหรับฟุตบอลชายของ FIFPRO กล่าว

"สหภาพนักเตะได้ดำเนินการในประเด็นนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว เราได้หยิบยกและสื่อสารความกังวลของนักเตะในเรื่องนี้ไปยังฟีฟ่าแล้ว โดยสหภาพในประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และตลาดอื่น ๆ" 

"นักเตะต้องมีช่วงพักผ่อนที่ปลอดภัยและจำกัดจำนวนนัดแข่งขันเพื่อให้พวกเขาทำผลงานได้อย่างเต็มที่และปกป้องอาชีพการงานของพวกเขาได้ ง่าย ๆ แค่นั้นเอง"

การสไตรค์คือมาตรการสุดท้ายที่พวกเขาคิดจะทำ เพราะมันจะทำให้อุตสาหกรรมหยุดชะงักทันทีถ้านักฟุตบอลไม่ยอมลงสนามแข่งขัน และปัญหาอื่น ๆ จะตามมามากมาย ... แต่ใครจะรู้ ในอเมริกันเกมส์ อาทิ อเมริกันฟุตบอล NFL กับบาสเกตบอล NBA การสไตรค์แบบนี้ ที่พวกเขาเรียกว่า ล็อกเอาต์ ประสบความสำเร็จมากนักต่อนักแล้ว

นั่นแสดงให้เห็นว่า บางครั้งถ้าคุยกันด้วยไม้นวมไม่ได้ ก็ต้องใช้ไม้หน้าสามตีแสกหน้า เพื่อให้มีการสะดุ้งและเร่งรัดเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นนั่นเอง 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/41339843/could-players-really-strike-football-packed-schedule
https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/41323737/real-madrid-thibaut-courtois-backs-rodri-strike-action
https://www.sciencenordic.com/denmark-football-society--culture/scientists-football-has-changed-dramatically/1440511
https://www.republicworld.com/sports/football/could-football-matches-now-end-under-60-minutes-trials-to-reduce-time-set-to-begin-soon-articleshow

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา