Feature

เก็บตก 30+ : เหตุผลที่ลีกตุรกีชอบเซ้งแข้งแก่-ค่าจ้างแพง | Main Stand

ถ้าคุณเปิดดูรายชื่อนักเตะของทีมใหญ่ ๆ ในลีกตุรกีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคุณจะเห็นว่ามีชื่อของนักเตะชื่อดังระดับโลกไปค้าแข้งที่นั่นมากมาย ... แต่พวกเขาจะไปด้วยเงื่อนไข 2 ข้อเท่านั้น 

 

นั่นคือ 1. พวกเขาเลยจุดพีกเกินกว่าจะเล่นให้ทีมระดับแถวของโลก และข้อ 2. พวกเขามีค่าเหนื่อยสูงจนทีมกลาง ๆ ในลีกใหญ่ ๆ จ้างไม่ไหว 

ในขณะที่ลีกอื่น ๆ เลือกซื้อนักเตะดาวรุ่งเพื่อทำกำไร ทำไมลีกตุรกีกลับเลือกลงทุนกับแข้งวัยเก๋าที่ฟอร์มกำลังตก ?  เรื่องนี้มีคำตอบ 

 

ฟุตบอลคือซอฟต์ พาวเวอร์

ประการแรกเราอยากให้คุณได้รับทราบว่าในช่วง 2 ปีหลังสุดลีกฟุตบอลตุรกี คือลีกที่ใช้เงินในการเสริมทัพเป็นอันดับ 2 ของลีกยุโรปรองจากพรีเมียร์ลีกเท่านั้น 

ฤดูกาล 2023-24 กาลาตาซาราย ได้ตัวทั้ง วิลฟรีด ซาฮา, ฮาคิม ซิเย็ค, ตองกีย์ เอนดอมเบเล่, ดาวินซอน ซานเชซ และซื้อขาด เมาโร อิคาร์ดี้ 

ขณะที่ เฟเนร์บาห์เช่ ได้ตัว เฟร็ด, เอดิน เชโก้, ดูซาน ทาดิช และ เซนกิช อุนแดร์ เช่นเดียวกับ เบซิคตัส ที่ทุ่มกับนักเตะเคยดังอย่าง อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด แชมเบอร์เลน, อันเต เรบิช และจนถึงคนล่าสุดอย่าง ชิโร่ อิมโมบิลเล่ เป็นต้น ... นี่แค่ยุคปัจจุบันเท่านั้น ถ้าให้ย้อนอดีตยังมีอีกเพียบที่มาด้วยชื่อเสียงและค่าเหนื่อยที่มากแบบไม่น่าเชื่อว่าทีมลีกตุรกีจะสู้ค่าแรงได้ 

แค่นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและชวนสงสัยแล้ว เพราะทีมจากลีกตุรกีไม่เคยประสบความสำเร็จในเวทียุโรปมาเกินกว่า 20 ปี ทีมล่าสุดที่ทำได้คือ กาลาตาซาราย ที่คว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ในต้นยุค 2000s ... ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แชมป์ พวกเขาเอาเงินมาจากไหนถึงใช้จ่ายได้มากขนาดนั้น ? 

อิสมาอิล ซายัน กูรูฟุตบอลชาวตุรกีให้สัมภาษณ์กับ The Athletic ว่า จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ซ่อนไว้ของฟุตบอลที่นี่ นักเตะอายุเยอะ หรือนักเตะตกอับที่เหลือแต่ชื่อของทีมใหญ่ ๆ  มาที่ตุรกี ไม่ใช่แค่ค่าตัวที่แพงเท่านั้น แต่ค่าเหนื่อยของพวกเขาก็ท่วมท้นเยอะเกินกว่านักเตะท้องถิ่นอย่างน้อย 2 เท่า 

เราจะเริ่มตอบคำถามแรกกันก่อนว่าพวกเขาเอาเงินมาจากไหน ? ... หลังมีการตามเก็บข้อมูลย้อนหลังของ 5 สโมสรที่ลงทุนมากที่สุดในการเสริมทัพอย่าง กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช่, เบซิคตัส, แทร็ปซอนสปอร์ และ อิสตันพูล บาซัคเซฮีร์ ตั้งแต่ปี 2013 พวกเขาต่างกันขาดทุนกันระนาวในแต่ละปี

เงินส่วนนี้ได้มาจากการกู้ยืมจากรัฐบาลตุรกีที่มีนโยบายผลักดันฟุตบอลในประเทศโดยตรง เพราะฟุตบอลในตุรกีก็เหมือนตัวแทนของพรรคการเมืองหรือนักกการเมืองที่มีอำนาจคนหนึ่ง

นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมารัฐบาลตุรกี มีการให้งบประมาณหลาย ๆ ด้านให้สโมสรฟุตบอลในประเทศ ทั้งการสร้างสนาม หรือสำหรับการเสริมทัพ และแน่นอนนักการเมืองผู้ทรงอำนาจในแต่ละท้องที่ จะมีผลอย่างมากในการผลักดันเรื่องงบประมาณที่สนับสนุนให้แต่ละสโมสรมีรายได้มากขึ้น 

เหล่าผู้มีอำนาจมักแต่งตัวเต็มยศพร้อมด้วยผ้าพันคอประจำทีม เข้าไปเชียร์ในวันที่ทีมของพวกเขามีการแข่งขัน แน่นอนว่าจุดนี้ช่วยสร้างฐานเสียงที่ดี และเป็นสิ่งี่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำตาม ๆ กันมา พูดง่าย ๆ ก็คือใช้ฟุตบอลเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทำให้ประชาชนอินและรู้สึกผูกพันกับพรรคการเมืองมากขึ้นก็คงไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง 2015 เป็นต้นมาที่มีเรื่องกฎการเงิน (FFP) เข้ามาควบคุมเรื่องการขาดทุน-กำไร ของแต่ละทีมในยุโรปอย่างชัดเจน ก็ได้พบว่าทีมจาก ตุรกี นั้นขาดทุนซ้ำซ่อนต่อเนื่องและแทบไม่ทำกำไรเลย  หนำซ้ำยังมีแต่จะเพิ่มจำนวนเงินที่ติดลบมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจะต้องรับภาระหนักขึ้น 

นั่นทำให้รัฐบาลเองก็เหนื่อยหน่ายกับการช่วยเหลือการพักชำระหนี้ที่สโมสรต่าง ๆ ต้องมีปัญหาอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะการล่าช้า หรือการไม่มีจ่าย ซึ่งพวกเขานิยามว่า 

"รัฐบาลเริ่มเบื่อที่จะต้องช่วยเหลือสโมสรต่าง ๆ ในประเทศ จึงกำหนดมาตรการใหม่เพื่อให้ฟุตบอลยังไปต่อได้ ดังนั้นพวกเขาจึงจัดการให้มีการผ่อนชำระต่องวดแบบถูก ๆ แต่กินระยะยาว ๆ โดยไม่คิดดอกเบี้ย เหมือนกับพ่อแม่ที่บอกให้ลูก ๆ ผ่อนค่ากระจกหน้าต่างที่พวกเขาทำแตกเป็นงวด ๆ ... สโมสรในตุรกีไม่สามารถดูแลสถานะการเงินของตัวเองได้โดยลำพังอีกต่อไป" นี่คือสิ่งที่ ยิลดิริม เดมิโรเรน อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลตุรกี กล่าวด้วยตัวเอง

 

คำถามต่อมา ... ทำไมไม่เลือกลงทุนที่ยั่งยืน ? 

จะบอกว่าการจัดการเรื่องการเงินของสโมสรในตุรกีล้มเหลวก็คงไม่เกินเลยไปนัก แต่อีกมุมนึงมันก็น่าอิจฉา มันเหมือนกับลูกเศรษฐีที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด พ่อแม่พร้อมจ่ายเงินสนับสนุนให้ทำตามฝัน ผิดแต่พวกเขานี่แหละที่ใช้เงินมากมายที่ได้มา ไม่เกิดประโยชน์เท่าไรนัก

อย่างที่เรากล่าวไปในข้างต้น นานจนจำไม่ได้แล้วที่ทีมจากตุรกี สามารถผ่านเข้ารอบน็อคเอาต์ฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก หรือแม้กระทั่งในรายการอย่าง ยูโรป้า และ คอนเฟอร์เรนซ์ ลีก ในรอบลึก ๆ 

กลับกันกับลีกที่เปรียบเทียบได้ดีที่สุดคือลีกโปรตุเกส ที่ทีมอย่าง ปอร์โต้, เบนฟิก้า, สปอร์ติ้ง ลิสบอน หรือแม้กระทั่ง บราก้า ยังโผล่หน้ามาให้เห็นในรอบน็อคเอาต์มากกว่า ทั้ง ๆ ที่ทีมเหล่านี้มีงบประมาณจ้างนักเตะต่อปีน้อยกว่าทีมจากลีกตุรกีอีกต่างหาก

ทีมจากลีกโปรตุเกสอยู่ได้จากธุรกิจซื้อมาขายไป ดึงตัวนักเตะดาวรุ่งอายุน้อย ๆ จากแอฟริกาหรือเมริกาใต้ เข้ามาขายทำเงินในราคาหลายสิบเท่าในอนาคต ทำให้ทีมพวกเขามีสมดุลในบัญชีที่เป็นบวก ตัวเลขสีเขียวห่างไกลปัญหาและการโดนลงโทษจากยูฟ่า .... คำถามคือทำไม ตุรกี ไม่ทำแบบนั้นบ้างทั้ง ๆ ที่ถ้าจะทำก็ทำได้ ? 

คำตอบคือคนดูฟุตบอลตุรกีนั้นชอบดูฟุตบอลที่มีซูเปอร์สตาร์ ยกตัวอย่างแบบชัดเจนที่สุดคือในฤดูกาล 2014-15 ที่ กาลาตาซาราย ได้แชมป์ลีกของประเทศ แต่พวกเขากลับเก็บค่าตั๋วได้น้อยกว่า เฟเนร์บาห์เช่ ทีมรองแชมป์เกือบครึ่ง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองก็มีฐานแฟนบอลพอฟัดพอเหวี่ยงกัน

แต่เมื่อมีการทำรีเซิร์ชข้อมูลพบว่าสาเหตุที่แฟนบอล เฟเนร์บาห์เช่ เข้าสนามมาดูเกมมากกว่า เพราะปีนั้นทีมได้ซื้อ โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ และ หลุยส์ นานี่ มาจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งการมีสตาร์ดึงดูดทำให้พวกเขาเต็มใจจะง่ายเงิน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าทีมได้พยายามลงทุนเพื่อคืนกำไรให้แฟนบอล 

สิ่งที่ยืนยันได้อีกอย่างคือคุณมักจะเห็นข่าวที่ว่าแฟนบอลของสโมสรในลีกตุรกี มักรวมตัวกันมาในงานเปิดตัวนักเตะใหม่ หรือโค้ชใหม่ระดับสตาร์ กันแบบเต็มความจุของสนาม ล้นออกมาจน 2 ข้างทางทั่วทั้งเมือง ล่าสุดคือการต้อนรับกุนซืออย่าง โชเซ่ มูรินโญ่ ที่ย้ายไป เฟเนร์บาห์เช่ และ วิคเตอร์ โอซิมเฮน ที่ย้ายไป กาลาตาซาราย ... เอาง่าย ๆ แม้กระทั่งนักเตะที่ดูเป็นเกรดรองอย่า ชิโร่ อิมโมบิลเล่ ที่เดินทางมาเซ็นสัญญากับ เบซิคตัส แฟนบอลของพวกเขายังออกมาต้อนรับกันจนแน่นสนามบิน 

การบ้าดาราหรือชอบดูสตาร์คือเหตุผลที่สโมสรต้องซื้อนักเตะที่มีชื่อเสียง และยอมจ่ายค่าเหนื่อยแพง มากกว่าที่จะซื้อดาวรุ่งโนเนมที่มีแววจะเก่งกาจและทำเงินได้ในอนาคต 

"ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ พลังความรักของแฟนบอลตุรกีที่มีต่อเหล่านักเตะระดับสตาร์ ... มีหลายประเทศที่เป็นแบบนี้ แต่ซูเปอร์ลีกของตุรกี ที่ถูกจัดอยู่คนละหมวดหมู่ของ 5 ลีกใหญ่ พวกเขาต้องพยายามทำให้ลีกนี้มีความน่าสนใจเสมอ ด้วยตาร์เหล่านั้น" นิค มิลเลอร์ นักข่าวจาก The Athletic วิเคราะห์ไว้แบบนั้น 

 

อนาคตจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ? 

คำถามนี้เราสืบค้นไปต่อและได้คำตอบที่น่าสนใจ เพราะดูเหมือนว่าต่อให้สโมสรในลีกตุรกีจะขาดทุนในแต่ละปี แต่พวกเขาจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนต่อไป เพราะเหตุผลที่ได้กล่าวไปในข้างต้นที่สรุปให้เข้าใจกันง่าย ๆ ว่า 

"ซูเปอร์สตาร์สร้างฟุตบอล -  ฟุตบอลสร้างฐานเสียงในแต่ละท้องที่ - ฐานเสียงสร้างอำนาจแก่ผู้ที่ลงทุน" กลไกนี้อธิบายได้ดีว่าการซื้อสตาร์จะยังคงดำเนินต่อไป  เพราะมันสร่้างกระแสและความนิยมได้เสมอ

ถ้าคุณถามว่าไม่กลัวหรือว่าสโมสรจะล้มละลาย ? คารีม อิสยาร์ อดีตประธานสโสรฟุตบอลในตุรกี บอกว่า "ความนิยมที่มีต่อฟุตบอลของคนตุรกีนั้นมีเยอะมาก ๆ เชื่อเถอะว่าไม่มีใครในประเทศนี้จะยอมปล่อยให้ 3 ยักษ์ใหญ่ของลีก(กาลาตาซาราย, เฟเนร์บาห์เช่, เบซิคตัส) ต้องล้มละลายอย่างแน่นอน" 

"สโมสรใหญ่เหล่านี้เป็นนิติบุคคลของรัฐที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พวกเขาอัดเงินลงทุนได้เสมอ แตกต่างกับสโมสรเล็ก ๆ อื่น ๆ ในประเทศ ถ้าพวกเขาเจอสถานการณ์เดียวกันกับทีม 3 ยักษ์ใหญ่ (เรื่องการขาดทุน) พวกเขาล้มละลายไปนานแล้ว คนที่นี่รู้เรื่องนี้ดี" 

"เหล่าทีมใหญ่ยังคงเดินหน้าสร้างความสำเร็จในประเทศและพยายามแผ่ขยายความยิ่งใหญ่ด้วยนักเตะสตาร์ต่อไป ... เหตุผลเพราะว่าพวกเขารู้ดีว่าต่อให้พวกเขาต้องเข้าตาจน รัฐบาลจะยื่นมือมาช่วยพวกเขาอยู่ดี" 

อย่างไรก็ตาม 3 ทีมยักษ์ใหญ่ก็ไม่ใช่ทีมที่หลับหูหลับตาทำสิ่งผิด ๆ เพียงอย่างเดียว พวกเขารู้ดีว่าการซื้อสตาร์ตกรุ่นจากลีกอื่น ๆ นั้นทำได้แค่เรียกกระแส แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องทำเพราะนี่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของพวกเขาที่มีมาช้านานและจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก ... เพียงแต่ว่าหลายสโมสรตอนนี้ก็เริ่มเอาเงินมาลงทุนกับนักเตะดาวรุ่ง และให้ความสำคัญกับทีมเยาวชนมากขึ้น เราจึงได้เห็นนักเตะดี ๆ อายุน้อย ๆ เกิดขึ้นพร้อมกันหลาย ๆ คนในทีมชาติตุรกีชุดนี้ อาทิ อาร์ดา กูแลร์, เคนาน ยิลดิซ, ออร์คุน ก็อกชู และอีกหลาย ๆ คนที่โตมาจากระบบเยาวชนของพวกเขา และกำลังโลดแล่นในลีกต่างประเทศ  

ซึ่งดูแล้วก็เป็นวิธีที่ไม่เลวนักเพราะยอดดาวรุ่งเหล่านี้จะอยู่ในลีกตุรกีแค่ช่วงอายุวัยทีนเอจ จากนั้นพวกเขาค่อยไปเติบโตด้วยการย้ายไปเล่นในลีกที่แข็งแกร่งกว่า ซึ่งมันก็ช่วยพัฒนาทีมชาติได้เหมือนกัน เพราะตอนนี้ฟุตบอลในประเทศยังต้องการพื้นที่ให้กับเหล่าซูเปอร์สตาร์มากกว่านั้นเอง  .... เพียงแต่ว่าอย่างน้อยพวกเขาก็ยังได้เริ่มต้น และจุดเล็ก ๆ นี้อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคต 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.nytimes.com/athletic/4852149/2023/09/14/turkey-galatasaray-fenerbahce-transfers/
https://pomeps.org/political-polarization-and-football-in-turkey
https://www.france24.com/en/live-news/20230916-turkish-clubs-take-financial-hit-to-attract-big-names-in-transfer-market
https://x.com/TifoFootball_/status/1708723485688902140
https://www.rfi.fr/en/business-and-tech/20230916-turkish-clubs-take-financial-hit-to-attract-big-names-in-transfer-market

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา