Feature

กรกฎ พิพัฒน์นัดดา : นายด่านมือรองตลอดมา สู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ยุค อิชิอิ | Main Stand

ในการประกาศรายชื่อทีมชาติไทย สำหรับโปรแกรมเตะฟีฟ่าเดย์ ลุยศึกบอล 3 เส้า "LP Bank Cup 2024" ซึ่งเป็นแมตช์ FIFA International "A" Match ที่จะพบกับทีมชาติรัสเซีย และ เวียดนาม ณ กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือชาวญี่ปุ่น สร้างเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะเขาไม่ได้เรียกใช้งานแข้งตัวเก๋าขาประจำหลายราย พร้อมให้โอกาสแข้งที่โชว์ฟอร์มดีในไทยลีก 2024-25 

 

ซึ่งหนึ่งในรายชื่อที่เรียกเสียงฮือฮาคงหนีไม่พ้น กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ผู้รักษาประตูจากระยอง เอฟซี วัย 25 ปี ที่เซฟอุตลุดในไทยลีกสองเกมแรก จนถูกเรียกติดทัพ "ช้างศึก" ครั้งแรกในชีวิต ... อย่างไรก็ตามน้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าที่กรกฎ พิพัฒน์นัดดา จะติดทีมชาติ เขารับบทเป็นนายทวารมือรองมาเกือบตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่สมัยเยาวชน 

เส้นทางลูกหนังของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา เป็นมาอย่างไร และเขามีทัศนคติแบบไหนถึงก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นได้ ... ติดตามไปพร้อมกันกับ Main Stand 

 

เริ่มต้นช้าไม่ใช่ปัญหา 

ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่าครอบครัวของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา นั้นมีพื้นฐานเป็นนักกีฬาทั้งสิ้น โดยพี่สาวเคยเป็นนักเทนนิส คุณแม่เล่นบาสเกตบอล ส่วนคุณพ่อคืออดีตนักฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตูของกรุงเทพคริสเตียน ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นโค้ช อย่าง "อ.ลัค" ลัคนะ พิพัฒน์นัดดา

ส่วนเส้นทางเฝ้าเสาของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา เริ่มต้นขึ้นตอนเขาอายุราว 12 ปี เมื่อคุณพ่อได้มีโอกาสเข้าไปรับหน้าที่ฝึกสอนให้นักฟุตบอลตำแหน่งผู้รักษาประตูโรงเรียนโสมาภาพัฒนา ย่านพระยาสุเรนท์ ซึ่งนับว่าช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ พอสมควร อย่างไรก็ดีโอกาสครั้งนี้ทำให้ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ได้ฝึกฝนวิชารักษาประตูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กระทั่ง กรกฎ พิพัฒน์นัดดา อายุได้ 13 ปี คุณพ่อและเจ้าตัวก็ตกลงกันว่าจะพากันไปคัดตัวที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งผลปรากฏว่า กรกฎ พิพัฒน์นัดดา มีรายชื่อเข้าเรียนในโควต้านักกีฬาด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ และมีทักษะการใช้มือที่ดี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 

แต่หลังจากเข้าเรียนที่ กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ไม่นาน กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ก็เริ่มรู้สึกตัวว่าตนเองไม่ใช่มือหนึ่งหรือมือสองของทีมด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้จะมีรูปร่างที่ดีแต่ประสบการณ์ในการลงสนามจริง หรือการใช้เท้าของเขายังสู้เพื่อนในตำแหน่งเดียวกันไม่ได้ โดยมือหนึ่งของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ชุดนั้น คือ กัณตพัชห์ มันปาติ มือกาวระดับท็อปของรุ่น (ปัจจุบันอยู่สุพรรณบุรี เอฟซี) ขณะที่มือสองก็มีดีกรีเยาวชนทีมชาติติดตัว

ส่งผลให้ตั้งแต่อายุ 13-15 ปี กรกฎ พิพัฒน์นัดดา มักมีบทบาทเป็นเพียงมือสามหรือสี่ของทีม หรือที่หนักที่สุดคือการที่โค้ชดันรุ่นน้องขึ้นมาเล่นแทนและตนเองไม่มีรายชื่อในบางรายการแข่งขัน อย่างไรเสียสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ในสายตาของ "อ.ลัค" ลัคนะ พิพัฒน์นัดดา ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นคนที่คอยให้กำลังใจและไม่กดดันอะไรเลยแม้แต่น้อย 

"เป็นความโชคดีของเราที่คุณพ่อไม่ได้กดดัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเติบโตมากับครอบครัวนักกีฬาเลยเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนในครอบครัวไม่เคยกดดันเราเลยว่าต้องติดทีมชาตินะ ต้องเป็นมือหนึ่งนะ ทำให้ตัวผมสามารถออกไปซ้อมฟุตบอล เล่นฟุตบอลได้อย่างมีความสุขร่วมกับเพื่อน ๆ " กรกฎ พิพัฒน์นัดดา กล่าวถึงชีวิตวัยเด็กของตัวเอง

และผลของความพยายามก็ตอบแทน กรกฎ พิพัฒน์นัดดา จนได้ เพราะเมื่อเข้าสู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายเขาก็เริ่มจะไต่ระดับขึ้นมาจนมีชื่อติดทีม และได้โอกาสเปลี่ยนตัวลงไปเซฟจุดโทษบ่อยครั้ง กระทั่งในตอนก่อนจะจบการศึกษา กรกฎ พิพัฒน์นัดดา วัย 17 ปี ก็มีโอกาสได้ลงเล่นฟุตบอลอาชีพครั้งแรกกับ บีซีซี เอฟซี ทีมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่ตอนนั้นโลดแล่นอยู่ในศึกดิวิชั่น 2 

 

เข้าที่เข้าทาง

หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรกฎ พิพัฒน์นัดดา สามารถคัดตัวติดโควต้านักกีฬาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมกับยังเล่นให้ บีซีซี เอฟซี เหมือนเดิม ซึ่งตอนนั้น "ชงโคม่วงทอง" มี "โค้ชบู๋" จักรราช โทนหงษา เป็นผู้จัดการทีม 

และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ก็เกิดขึ้นเมื่อ "โค้ชบู๋" จักรราช โทนหงษา ได้ย้ายไปรับหน้าที่สตาฟฟ์ผู้ฝึกสอนให้กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด และตัดสินใจหนีบเขาไปด้วย ทว่าช่วงแรก ๆ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทดสอบฝีเท้าก่อน เพื่อรอเซ็นสัญญาอาชีพ 

"ก่อนที่จะได้เซ็นสัญญากับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ผมใช้เวลาพิสูจน์ตนเองสักพักใหญ่ ๆ เลยครับ ผมจำได้ว่าตอนนั้นเหนื่อยอยู่เหมือนกัน เพราะต้องเรียนไปด้วยซ้อมไปด้วย ขับรถจาก องครักษ์ คลอง 16 มาซ้อมที่เมืองทอง"

ด้วยความเป็นทีมใหญ่อย่าง เมืองทอง แน่นอนว่าการเบียดแย่งตำแหน่งในทีมชุดใหญ่เป็นเรื่องที่ยากเอาการ ดังนั้นทางสโมสรจึงส่ง กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ไปเก็บประสบการณ์กับทีมต่าง ๆ ในระดับลีกรองลงมาไม่ว่าจะเป็น ตราด เอฟซี, เกษตรศาสตร์ เอฟซี และ อุดรธานี เอฟซี 

กระทั่งฤดูกาล 2023-24 กรกฎ พิพัฒน์นัดดา เริ่มได้รับโอกาสกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ชุดใหญ่ ไม่ถูกปล่อยไปเล่นแบบยืมตัวกับทีมอื่นเหมือนที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่ผลงานของ เมืองทอง ยูไนเต็ด ไม่ค่อยสู้ดีนัก และเจ้าตัวก็มีจังหวะผิดพลาดให้เห็น ส่งผลให้ทางสโมสรต้องมีการปรับเปลี่ยน ใช้งาน กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ เป็นมือหนึ่งแทน และ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ก็ได้ลงเล่นเพียงช่วงครึ่งแรกของฤดูกาล รวมทั้งสิ้น 15 เกมรวมทุกรายการ พร้อมจบซีซั่นแบบเหงา ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้นในก่อนเปิดไทยลีก ฤดูกาล 2024-25 เมืองทอง ยูไนเต็ด ก็จัดการดึงตัว กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก มาจาก บีจี ปทุม ยูไนเต็ด แบบยืมตัว ซึ่งเป็นการบอกใบ้กลาย ๆ ว่า กรกฎ พิพัฒน์นัดดา จะไม่ใช่มือหนึ่งในซีซั่นนี้ ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายไปร่วมทีมระยอง เอฟซี ด้วยสัญญายืมตัว โดย กรกฎ พิพัฒน์นัดดา เล่าถึงการตัดสินใจย้ายไป ระยอง เอฟซี ว่า "ความสุขของนักฟุตบอลทุกคนคือการได้ลงสนาม "

"ตอนแรกผมก็คิดอยู่ว่าจะอยู่สู้ต่อดีไหม ... โอเค เราเคยได้ลงเล่นให้เมืองทองมาแล้ว ลงสนามในไทยลีกมาแล้ว แต่สุดท้ายมันกลับรู้สึกว่าตัวเองยังขาดประสบการณ์ รวมถึงการยืนระยะ ซึ่งผมคิดว่า ระยอง เอฟซี จะให้โอกาสได้มากกว่าที่เมืองทอง ยูไนเต็ด"

 

“ช้างศึก” ครั้งแรก 

ปรากฏว่าความคิดของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา นั้นยิ่งกว่าถูกต้องเสียอีก เนื่องจากเขาสามารถยึดมือหนึ่งของ "ม้านิลมังกร" ได้ทันที แถมมีฟอร์มการเล่นที่สามารถไว้วางใจได้ โดยเฉพาะเกมที่ ระยอง เอฟซี บุกไปเอาชนะ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด 1-0 ทำให้ไปเข้าตา มาซาทาดะ อิชิอิ กุนซือชาวญี่ปุ่น จนเรียกมาติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ครั้งแรก สำหรับการเตะฟีฟ่าเดย์  ลุยศึกบอล 3 เส้า "LP Bank Cup 2024" ซึ่งเจ้าตัวไม่เคยอยู่ในสารบบทีมชาติเลยตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชน 

"ผมว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ย้ายมาหาประสบการณ์กับ ระยอง เอฟซี และดีใจที่ตัวเองโชว์ฟอร์มได้ดีในสองเกมแรกจนถูกเรียกติดทีมชาติรอบนี้ เอาตรง ๆ พอทราบว่ามีชื่ออยู่ในข่ายก็ได้แต่แอบหวังลึก ๆ ว่าจะเป็น 23 คนสุดท้าย และปรากฏว่าเรามีรายชื่อจริง ๆ  พอคอนเฟิร์มแล้วผมก็รีบโทรศัพท์ไปแจ้งคุณพ่อ แต่เขาบอกว่ายังไม่พร้อมคุย ตื่นเต้นอยู่ ฮ่า ฮ่า (หัวเราะ)" กรกฎ พิพัฒน์นัดดา เล่าถึงโมเม้นต์การติดทีมชาติครั้งแรก

"การติดทีมชาติรอบนี้คือกำไรชีวิต ผมหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดี จะพยายามซึมซับวิชาจากรุ่นพี่ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิวัติ คำไหม (ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด) หรือ สรานนท์ อนุอินทร์ (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) รวมถึงทุก ๆ คน เพื่อพัฒนาตนเองและมีรายชื่อติดทีมชาติชุดต่อ ๆ ไป และหากได้รับโอกาสลงสนามจะทำให้ดีที่สุดครับ" 

นอกจากนี้ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ยังได้แนะแนวทางให้กับนักฟุตบอลที่เป็นตัวสำรองว่าอย่าย่อท้อและให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะโอกาสเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีมาให้บ่อย ๆ "ยอมรับว่าไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงจุดนี้ได้ ตั้งแต่สมัยเด็กผมก็แค่ตั้งใจซ้อม มุ่งมั่น อดทน ทำทุกอย่างตามจังหวะเวลาของมัน เพราะพอโอกาสมันเข้ามาหาเรา เราก็จะพร้อมสำหรับโอกาสนั้น ๆ "

สุดท้ายนี้เชื่อเหลือเกินว่าเรื่องราวของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสถานะตัวสำรอง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชื่อของ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา จะปรากฏอยู่ในสารบบทีมชาติต่อไปเรื่อย ๆ 

สำหรับทีมชาติไทยยุคปัจจุบัน ภายใต้การคุมทีม มาซาทาดะ อิชิอิ นั้นมีการพยายามให้โอกาสนักเตะหน้าใหม่ ๆ ได้เข้ามาสัมผัสระบบทีมชาติ โดยรอบนี้ ประกอบด้วย พาตริก กุสตาฟส์สัน, วิลเลียม ไวเดอร์เฌอ, วาริส ชูทอง, ทรงวุฒิ ใคร่ครวญ และ กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ซึ่งถ้าหากแข้งรายใดทำผลงานในลีกได้เข้าตา อาจมีโอกาสติดทีมชาติ เหมือนอย่าง กรกฎ พิพัฒน์นัดดา ก็เป็นได้ 

Author

รณกฤต ตุลยะปรีชา

วัยรุ่นคู้บอน

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น