พรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของอังกฤษ มีโมเมนต์ระดับตำนานเกิดขึ้นมากมาย และหลายครั้งมาตั้งแต่นัดเปิดสนาม
หนึ่งในเกมเปิดสนามที่หลายคนพูดถึง หนีไม่พ้นฤดูกาล 1995-96 ที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยุคเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่และดันดาวรุ่งในยุค คลาส ออฟ '92 ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
ในเกม แมนฯ ยูไนเต็ด กับ แอสตัน วิลล่า นี้ เกิดเรื่องระดับตำนานสุดคลาสสิกของพรีเมียร์ลีกเกิดขึ้นมากมาย ... และเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานมีดังนี้
พรีเมียร์ลีก เข้าสู่ยุคทอง
ในช่วงยุค 1990s ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองสำหรับฟุตบอลอังกฤษ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นหรือยุค 1980s ณ เวลานั้นยังเป็นยุคมืดที่ไม่น่าเชื่อว่าฟุตบอลอังกฤษจะฟื้นตัวเร็วขนาดนี้
กลางยุค 1980s ณ เวลาเป็นช่วงเวลาที่ฟุตบอลอังกฤษมีปัญหาฮูลิแกนเต็มไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ฟุตบอลกลายเป็นพื้นที่ระบายความเครียด และแสดงตัวตนในของเหล่าแฟนบอลชนชั้นแรงงาน ที่โดนกดขี่จากทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ปัญหาการตีกันของฮูลิแกน สร้างภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ ไม่มีนักเตะต่างชาติคนไหนอยากจะมาค้าแข้งที่นี่ เพราะรายได้และความปลอดภัยต่ำมาก ดังนั้นเมื่อขาดนักเตะฝีเท้าดี ก็เท่ากับความความสนุกของเกมฟุตบอลจึงลดลงไปตามระเบียบ นั่นหมายความว่าในเมื่อบอลไม่สนุก ใครจะอยากดู สู้เอาเวลามาหวดกันเองไม่ดีกว่าหรือ ? และนั่นคือแนวคิดที่ทำให้เหล่าเจ้าของทีมในพรีเมียร์ลีก ที่เวลานั้นชื่อว่า ดิวิชั่น 1 รวมตัวระดมความคิด ... และกลายเป็นจุดเริ่มต้นในยุคทองช่วง 1990s
ปี 1990 … 5 สโมสรใหญ่ของอังกฤษ ที่ถูกเรียกว่า Big 5 ในเวลานั้น อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, อาร์เซนอล และสเปอร์ส ได้ไปเจรจากับสถานีโทรทัศน์ว่า พวกเขามีความคิดจะแยกออกมาตั้งลีกของตัวเอง แยกตัวจากฟุตบอลลีกอังกฤษ ไม่รับความช่วยเหลือทางการเงิน เพราะพวกเขาจะดูแลรายได้กันเอง
นอกจากนี้ 5 สโมสรนี้ยังเสนอไอเดียด้วยว่า พวกเขาควรได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ เยอะกว่าทีมอื่นในพรีเมียร์ลีก และได้ถ่ายทอดสดในช่วงเวลาที่ดีกว่าสโมสรอื่น เพราะพวกเขาคือตัวชูโรงของลีก ทีมลุ้นแชมป์ ผลงานดี ที่ผู้ชมอยากดู
พูดง่าย ๆ ว่า ในเมื่อเป็นตัวเอก เป็นคนขับเคลื่อนลีก ลงทุนกับทีมฟุตบอลเยอะกว่า ก็ควรได้รับผลตอบแทนมากกว่า ทีมท้ายตาราง ที่สถานะอยู่บนลีกสูงสุดยังไม่แน่นอน
สุดท้ายสโมสรชั้นนำของดิวิชั่น 1 ตัดสินใจตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า พรีเมียร์ลีก ขึ้นมา ก่อนจะจัดการแข่งประมูลลิขสิทธิ์ค่าโทรทัศน์ของลีก ซึ่งเป็นช่อง Sky Sports ในปัจจุบันชนะไป ด้วยการทุ่มสัญญา 304 ล้านปอนด์ (13,000 ล้านบาทในตอนนั้น) ด้วยระยะเวลา 5 ปี
เมื่อมีทั้งลีก มีทั้งค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยรออยู่ ทำให้ในฤดูกาล 1992-93 สโมสรจากลีกสูงสุดฟุตบอลอังกฤษ ทั้ง 22 ทีม ประกาศลาออกจากระบบฟุตบอลลีก ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และย้ายมาเล่นในลีกของตัวเอง นำมาซึ่งการรีแบรนด์ลีกสูงสุดของประเทศใหม่ จาก ดิวิชั่น 1 กลายเป็น พรีเมียร์ลีก ที่มีการบริหารงานแยกออกมาจากฟุตบอลลีกอังกฤษ ที่ดูแล 3 ลีกอาชีพรองในปัจจุบัน
ร่ายยาวมาขนาดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปหลังจากนั้น ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจัดเต็มเรื่องความบันเทิงไปอีกขั้น ขณะที่ในแง่ของโปรดักชั่นและรายการโทรทัศน์ก็เกิดขึ้นมากมาย โดยรายการที่อยู่คู่กับชาวอังกฤษคือรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ ของช่อง BBC ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนพรีเมียร์ลีกจะถือกำเนิดเสียอีก เพราะนอกจากจะมีไฮไลต์การแข่งขันให้ชมแล้ว ยังขมวดปมจัดเต็มด้วยการวิเคราะห์เกมผ่านกูรูและอดีตนักเตะชื่อดัง ถือเป็นรายการต้นแบบของรายการฟุตบอลทั่วโลกก็คงไม่ผิดนัก
และวลีเด็ดที่สุดในรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ จนถึงทุกวันนี้ หนีไม่พ้นวาทะของ อลัน แฮนเซ่น ปราการหลังระดับตำนานของ ลิเวอร์พูล ที่ออกมาวิจารณ์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ในฤดูกาล 1995-96 ที่เปิดสนามด้วยการบุกไปแพ้ แอสตัน วิลล่า แบบสู้ไม่ได้ที่ วิลล่า พาร์ค ด้วยสกอร์ 1-3
"คุณจะไปคว้าแชมป์อะไรได้ด้วยเด็ก ๆ พวกนี้ ?" อลัน แฮนเซ่น ว่าแบบนั้นในรายการ
ณ ตอนนี้ เรารู้คำตอบแล้วว่าเขาคิดผิด แต่ ณ ตอนนั้น ไม่มีใครคิดหรอกว่ามันจะเป็นประโยคคลาสสิกหรือประโยคเรียกแขกอะไร เพราะสิ่งที่เห็นในสนามมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ในเกมวันที่ 19 สิงหาคม 1995 วันที่ทุกคนต่างบอกตรงกันว่ามันคือความล้มเหลวของ แมนฯ ยูไนเต็ด ... แต่เป็นความล้มเหลวที่พาพวกเขานำพาสโมสรมาถึงจุดสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ
ใคร ๆ ก็เห็นด้วยกับแฮนเซ่น
ฤดูกาล 1995-96 ถือเป็นฤดูกาลแห่งการเปลี่ยนแปลงระดับหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสรของ แมนฯ ยูไนเต็ด จะพูดแบบนั้นก็คงไม่ผิดนัก
เพราะเรื่องนี้มันเกิดจากการจัดการเรื่องอนาคตของตัวเองของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เรียบร้อยในแบบที่แฟนบอล แมนฯ ยูไนเต็ด หมดข้อกังขา เพราะพาทีมคว้าแชมป์ทั้ง เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และพรีเมียร์ลีก มาแบบฉ่ำ ๆ หลังเข้าสู่ยุค 1990s
เฟอร์กี้ จึงได้เริ่มทำทีมตามปรัชญาของตัวเองแบบเต็มระบบ และมีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจอย่างมาก เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกียวกับฟุตบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด เวลานั้น เขาเป็นคนจัดการแทบทั้งหมด ซึ่งในซัมเมอร์ปี 1995 เฟอร์กี้ ก็ทำให้แฟน ๆ ต้องงงอีกครั้ง สำหรับการตัดสินใจเดินตลาดรอบนั้น
เขาขายกองหน้าตำแหน่งเบอร์ 9 สายจบสกอร์ที่ดีที่สุดอย่าง มาร์ค ฮิวจ์ส, ขายมิดฟิลด์ที่เรียกว่า "ใหญ่คับทีม" อย่าง พอล อินซ์ ออกไปให้ อินเตอร์ มิลาน และยังขายนักเตะตำแหน่งริมเส้นเจ้าของฉายาจรวดรัสเซียอย่าง อังเดร แคนเชลสกี้
เท่านั้นยังไม่พอ ไม่เพียงขาย 3 นักเตะที่ดีที่สุดแล้ว ทีมยังไม่ได้ซื้อใครมาแทนที่เลย การตัดสินใจของ เฟอร์กี้ ณ เวลานั้นคือการดันนักเตะดาวรุ่งจากทีมเยาวชนขึ้นมาแบบยกชุด ซึ่งภายหลัง เฟอร์กี้ ก็ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า ณ ตอนนั้นเขาตัดสินใจแบบที่ขัดใจแฟนบอล เพราะเขาเชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกคนดีพอที่จะเล่นได้ ถ้าได้โอกาส และมีเกมลงสนามที่ต่อเนื่อง
อีกทั้งการขายนักเตะในรายชื่อที่กล่าวมาก็มีเหตุผล มาร์ค ฮิวจ์ส เริ่มจะอายุเยอะ, พอล อินซ์ มีความหยิ่งทะนงองอาจ เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของทีม ทำให้นักเตะคนอื่นถูกลดบทบาทในสนาม เพราะ อินซ์ จะเรียกหาบอลอยู่ตลอดเวลา และคนที่โดนผลกระทบมากที่สุดคือ รอย คีน ที่ เฟอร์กี้ ไปเอาตัวมาจาก น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เพราะตำแหน่งการเล่นของ อินซ์ ทับกับ คีน โดยตรง
ขณะที่ แคนเชลสกี้ ปีกที่เลี้ยงเลื้อยได้ติดเท้าและรวดเร็วเหมือนกับลูกกระสุนในเวลานั้น ถือเป็นคนที่ เฟอร์กี้ ไม่อยากจะขาย แต่ ณ เวลานั้นเอเย่นต์ของ "แคน แคน" เป่าหูให้นักเตะย้ายเพื่อจะได้เงินเพิ่ม จนสุดท้ายนักเตะก็เลือกจะย้ายออกจากทีมจริง ๆ
จังหวะเหมาะสมที่จะเปลี่ยนพอดี หลังจากที่เคยหยอดเด็ก ๆ หลายคนลงเล่นหาประสบการณ์ในซีซั่น 1994-95 มาก่อน พวกเขาจะต้องแบกน้ำหนักขึ้นชกกับรุ่นใหญ่แบบเต็มตัวในซีซั่นนี้
แกรี่ เนวิลล์ (20 ปี) , พอล สโคลส์ (20 ปี), ไรอัน กิ๊กส์ (21 ปี), ฟิล เนวิลล์ (18 ปี), นิคกี้ บัตต์ (20 ปี) และ เดวิด เบ็คแฮม (20 ปี) ... ฟังชื่อนักเตะพวกนี้ตอนนี้ก็คงไม่มีใครสงสัยหรอก แต่ในตอนนั้นกับชื่อพวกนี้ ถ้าไม่ใช่แฟน แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ไม่มีใครจะเชื่อน้ำยาทีมที่ใช้นักเตะเหล่านี้ขึ้นมาเป็นแกนหลักแน่ ๆ
"พวกเขาพลาดแชมป์ฤดูกาล 1994-95 และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้พวกเขาต้องอยู่กับความจริงว่า พวกเขาต้องการ 40 แต้มในฤดูกาลนี้เพื่อหนีตกชั้น" กูรูรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ พูดประโยคนี้ขึ้นมาเมื่อเห็นรายชื่อนักเตะดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีนักเตะไม่พร้อมเล่นอีกเพียบ กิ๊กส์ ที่เป็นตัวหลักก่อนใครในรุ่นได้รับบาดเจ็บ, สตีฟ บรูซ และ แอนดี้ โคล ก็พลาด ขณะที่ เอริค คันโตน่า ยังติดโทษแบนข้ามซีซั่นจากคดีกังฟูคิก แม้กระทั่งกองหลังอย่าง เดวิด เมย์ ก็เล่นไม่ได้ จากทั้งหมดนี้ประโยคที่กล่าวมาข้างต้นดูจะไม่เกินเลยไปนัก และผลงานในสนามเกมแรกก็บอกแบบนั้น
ผีชุดเทา โดนยำเละ ฉากคลาสสิกนัดเปิดสนามพรีเมียร์ลีก
ยูไนเต็ด จัด 11 ตัวจริงได้แก่ ปีเตอร์ ชไมเคิล - พอล พาร์คเกอร์, เดนิส เออร์วิน, แกรี่ พัลลิสเตอร์, แกรี่ เนวิลล์, ฟิล เนวิลล์ - นิคกี้ บัตต์, รอย คีน, ลี ชาร์ป, พอล สโคลส์ - ไบรอัน แม็คแคลร์ ... กองหน้าในเกมวันนั้นคือ ไบรอัน แม็คแคลร์ กับวัย 32 ที่เริ่มถูกถอยลงมายืนเป็นกองกลางแล้ว แต่ต้องค้ำข้างหน้าแก้ขัด แถมพวกเขายังเดินลงสนามด้วยชุดสีเทา ชุดที่ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในชุดอัปมงคล ใส่แล้วหาชัยชนะไม่ค่อยเจอ ใส่แล้วมักมีเหตุการณ์ประหลาด ๆ เกิดขึ้นกับทีมเสมออีกด้วย
ทุกอย่างเสริมส่งกันเป็นอย่างดีในทางหายนะ ภาพที่ออกมาจึงเป็น แอสตัน วิลล่า ที่นำโดย ดไวท์ ยอร์ค เดินหน้าฆ่าไม่เลี้ยง นักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีใครทานความดุดันของ ยอร์ค ณ เวลานั้นได้เลย การจับระเบียบเกมรับดูมั่วไปหมด ขณะที่ ฟิล เนวิลล์ บอกว่านั่นคือเกมที่เขาตื่นสนามและรู้สึกโกลาหลที่สุดในชีวิต
จบครึ่งแรก แอสตัน วิลล่า ไล่ถล่มนำไปก่อนถึง 3-0 และแน่นอนอย่างที่เรารู้กันฟอร์มของ ยอร์ค ในวันนั้นทำให้ เฟอร์กี้ ซื่อตัวเขามาร่วมทีมในอีก 3 ปีให้หลัง ... กลับมาว่ากันที่เกม ๆ นี้อีกครั้ง ครึ่งหลัง เฟอร์กี้ เหมือนมอบตัว ให้โอกาส เดวิด เบ็คแฮม ลงมาเล่นแทน ฟิล เนวิลล์ และก็เป็น เบ็คแฮม นี่แหละที่แจ้งเกิดในวันนั้น ด้วยการยิงไกลผ่าน มาร์ค บอสนิช ให้ทีมไล่มา 1-3
จากนั้น ยูไนเต็ด แม้จะชั้นเชิงจะสู้ไม่ได้ แต่หัวใจพวกเขาแข็งแกร่ง ... "รอย คีน สวมหัวใจสิงห์พาลูกทีมของเขาวิ่งไล่บอลอย่างไม่ลดละ นักเตะของ ยูไนเต็ด ที่เล่นกันไม่ได้เลยในครึ่งแรกกลับมาสร้างเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในซีซั่น พวกเขาลงมาและเล่นเป็นคนละทีม กดดัน วิลล่า จนไม่ได้หายใจ ... แต่พวกเขายิงกลับมาได้แค่ลูกเดียว น่าเสียดายที่ มาร์ค บอสนิช ในวันนั้นท็อปฟอร์มมาก นอกจากประตูสุดยอดของ เบ็คแฮม ไม่มีใครยิงผ่านมือเขาได้" ซามูเอล ลัคเฮิร์ส จาก Manchester Evening News เล่าย้อนความ
จบเกมด้วยสกอร์นั้น และ พัลลิสเตอร์ ถูกนักข่าวสัมภาษณ์ว่า "40 แต้มสำหรับการหนีตกชั้นในปีนี้ คุณคิดว่ามันน่าพอใจสำหรับทีมที่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้หรือไม่ ?" ... เขาไม่ตอบ แต่เขายิ้มแห้ง ๆ กลับ มันแสดงให้เห็นถึงความผิดหวังครั้งใหญ่
ยูไนเต็ด ดูจะหมดท่า และแน่นอนรายการ แมตช์ ออฟ เดอะ เดย์ เทปที่ทุกคนรอคอยมาถึง ก่อน อลัน แฮนเซ่น ตำนานนักเตะ ลิเวอร์พูล คู่ปรับตลอดกาล จัดให้ชุดใหญ่วิจารณ์ทีมนี้จนได้เรตติ้งดีที่สุดในรอบปี
"ต่อให้ผมไม่พูด คุณก็รู้ว่าผมโกหก เพราะความจริงคือพวกเขามีปัญหาแล้ว แถมยังเป็นปัญหาใหญ่ด้วย นักเตะ 3 คนย้ายออกไป แต่กลับไม่ซื้อใครเลยคุณต้องซื้อสิ คุณจะไปคว้าแชมป์อะไรได้ด้วยเด็ก ๆ พวกนี้ ?" แฮนเซ่น ว่าประโยคคลาสสิก
"คุณดูรายชื่อนักเตะพวกเขาก็แล้วกัน ผมเชื่อเลยว่าคู่แข่งพวกเขาต้องรู้สึกดีแน่ที่เห็นรายชื่อกลุ่มนี้ที่มีแต่เด็ก ๆ ลงสนาม ... ถ้าจะรอด พวกเขาก็ต้องเสริมไม่มีทางอื่น" แฮนเซ่น ว่าไว้
แน่นอนหลังจากจบเกมนั้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เด็ก ๆ พวกนี้ต้องเป็นนายแบกความกดดันในช่วงต้นซีซั่นอย่างอดทน จากนั้นไม่นานนัก ฟ้าหลังฝนก็มาถึง ทุกคนที่ได้ลงสนามในเกมวันนั้น กลายเป็นตัวหลัก มีส่วนสำคัญต่อทีมจนจบซีซั่น และแน่นอน พวกเขาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 1995-96
ประโยคคลาสสิกของ แฮนเซ่น ยังถูกพูดถึงจนถึงวันนี้ มันคลาสสิกจนถึงขาดนที่ว่าสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้เสื้อสีเทาที่ว่ากันว่าเป็นเสื้ออัปมงคลตัวนี้ สกรีนคำว่า "You can't win anything with kids" และส่งไปให้ อลัน แฮนเซ่น ถึงบ้าน
เจ้าตัวยอมรับว่า ประโยคที่เขาพูดประโยคนี้จะคงอยู่ในวงการฟุตบอลอังกฤษไปตลอดกาล ... ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ เสียด้วยสิ
แหล่งอ้างอิง
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/aston-villa-3-1-manchester-9879141
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/aston-villa-v-manchester-united-9844026
https://www.skysports.com/football/aston-villa-vs-manchester-united/teams/276588
https://www.avfchistory.co.uk/game/4377