“ยกน้ำหนักคือกีฬาที่คนมีฐานะคงไม่เล่นค่ะ ไม่มีใครที่จะมานั่งยกเหล็ก ยกของหนักทุกวัน เจ็บก็เจ็บ หนักก็หนัก”
คำพูดของ “เก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล อดีตนักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทยเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2008 อธิบายถึงคนที่เล่นกีฬานี้ได้อย่างชัดเจน
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่ากีฬายกน้ำหนักคือกีฬาของคนระดับรากหญ้าในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีฐานะยากจนและไม่มีทางเลือกมากนัก
ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนตั้งความหวังจึงไม่ใช่แค่เรื่องชัยชนะหรือความเป็นเลิศเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังมุ่งหวังถึงเงินทองและความมั่นคงที่จะได้มา
ทีมงาน Main Stand ได้เดินทางไปที่บ้านของ “เวฟ” วีรพล วิชุมา เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์คนล่าสุด ซึ่งตอกย้ำถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี
เพราะการยกแต่ละครั้งของเขาไม่ได้แบกเพียงความหนักของลูกเหล็กเท่านั้น แต่ยังแบกความอยู่รอดของชีวิตตัวเองและครอบครัวไว้ด้วย … เรื่องราวเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
กีฬาสู้ชีวิต
กีฬายกน้ำหนักเป็นหนึ่งในกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายเข้าแลกเพื่อเม็ดเงิน คนที่ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีน้อยรายที่เลือกจะมาเล่นกีฬาชนิดนี้ ถึงจะเป็นกีฬาที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดชนิดหนึ่งในโอลิมปิกเกมส์ก็ตาม
เราจึงเห็นได้ว่านักยกน้ำหนักไทยส่วนใหญ่ที่เล่นมาจนถึงการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปโอลิมปิก ล้วนมาจากต่างจังหวัด บางคนมาจากชนบทชานเมือง มีคุณพ่อคุณแม่ทำสวนทำนา รับจ้างแบกหาม และเป็นอยู่แบบนี้มานานกว่า 20 ปีไม่ว่าจะผ่านมากี่รุ่นต่อกี่รุ่น
ตัวอย่างล่าสุดที่ชัดเจนก็คือ “เวฟ” วีรพล วิชุมา นักยกน้ำหนักดาวรุ่งทีมชาติไทย ที่เพิ่งคว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2024 ได้สำเร็จ
ทีมงาน Main Stand ได้เดินทางไปที่บ้านของวีรพล ที่ตั้งอยู่ใน ต.กุดหวาย อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เพื่อร่วมลุ้นและร่วมเชียร์ไปกับครอบครัวของเจ้าตัว ในการลงแข่งขันโอลิมปิกสมัยแรก เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 8 สิงหาคม
บ้านหลังนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เกือบ 500 กม. สภาพแวดล้อมโดยรอบเรียกว่าเป็นชนบทเลยก็ว่าได้ ตลอดสองฝั่งทางเต็มไปด้วยทุ่งหญ้าและป่ารก มีวัวควายเดินกันเพ่นพ่าน ซึ่ง 7-11 ที่ใกล้ที่สุดต้องขับรถไปเกือบ 10 กม. แถมกลางคืนยังมืดสนิทตลอดเส้นทางเพราะไม่มีไฟส่องสว่างให้แก่ถนน
ขณะที่บ้านเรือนโดยรอบส่วนใหญ่ก็เป็นบ้านไม้ผสมปูนมุงด้วยสังกะสี มีตุ่มน้ำ มีสุ่มไก่ และเครื่องมือการทำงานแขวนกระจัดกระจาย ไม่ต่างจากชานเมืองตามต่างจังหวัดทั่วไป … ทว่าสิ่งที่ทำให้สะดุดตาก็คือบ้านของ “เจ้าเวฟ” ซึ่งเป็นบ้านปูนใหม่เอี่ยมทั้งหลังที่ตั้งเด่นเป็นสง่า
“ลูกเวฟสร้างให้ เพิ่งเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง” คุณพ่อนิล วิชุมา พ่อของวีรพลบอกกับเราด้วยสีหน้าภูมิใจถึงที่มาของบ้านชั้นเดียวใหม่เอี่ยมราคา 2 ล้านบาทหลังนี้
คุณพ่อนิลเล่าให้เราฟังว่าก่อนหน้านี้ที่บ้านยากจนมาก คุณพ่อกับคุณแม่มีอาชีพทำไร่และรับจ้างตัดอ้อยเพื่อหาเงินเลี้ยงลูกน้อยทั้ง 4 คน โดยมีเวฟเป็นลูกชายคนรอง
แต่ละวันต้องปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ พอผลผลิตออกมาก็หมดไปกับดอกเบี้ยจากหนี้สินที่กู้มาลงทุนจนแทบไม่เหลือเก็บ … อนาคตแทบไม่เห็นทางสว่าง
กระทั่งตนเองตัดสินใจส่งลูกชายไปเรียนมัธยมที่โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ ตามรอยพี่สาวคนโต จนเวฟได้ก้าวเข้าสู่การเล่นยกน้ำหนักในที่สุด เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีโครงการสนับสนุนเด็กยากจนและเด็กที่ครอบครัวมีปัญหาให้มีจัดกิจกรรมด้านต่าง ๆ ได้ทำทั้งด้านกีฬา ดนตรี และวิชาการ
ที่สำคัญยังเป็นโรงเรียนเก่าของ “ไก่” ปวีณา ทองสุก นักยกเหล็กหญิงเหรียญทองโอลิมปิก 2004 ด้วย กีฬายกน้ำหนักจึงได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ มีอุปกรณ์ฝึกซ้อมครบครัน รวมถึงห้องพักสำหรับนักกีฬายกน้ำหนักโดยเฉพาะ
“ตอนเวฟมาบอกว่าอยากเล่นยกน้ำหนัก ผมสนับสนุนเต็มที่เลยนะ เพราะเราชอบกีฬาอยู่แล้ว ลูกจะเล่นกีฬาอะไรก็ได้เลย ตอนแรกอยากให้เขาชกมวยตามบัวขาวด้วยซ้ำ”
“แต่ผมยอมรับเลยว่าแทบจะไม่รู้จักกีฬายกน้ำหนักเลย เพราะแถวบ้านไม่ค่อยมีใครเล่น ลูกหลานคนแถวบ้านที่เคยเล่นก็เห็นเล่นได้ไม่นานก็เลิก บางคนเล่นแล้วออกมาก็ไม่มีอะไรติดมือ กลับมาก็ไปทำอย่างอื่น อนาคตไปต่อไม่ได้”
“ผมไม่คิดเลยว่ากีฬายกน้ำหนักจะหาเงินได้ เพื่อนบ้านก็พูดกันว่า โอ๊ย มันจะได้ตังค์ยังไงแค่ยกน้ำหนัก คนแถวบ้านผมเขาไม่เชื่อหรอกว่าเวฟไปยกน้ำหนักแล้วจะได้ตังค์มาสร้างบ้าน” คุณพ่อนิล เผย
ท่ามกลางข้อครหามากมาย แต่วีรพลได้แสดงให้เห็นด้วยตัวเองว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้
แบกเหล็กแบกชีวิต
วีรพลได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศีขรภูมิพิสัย พร้อมได้รับการสนับสนุนบนเส้นทางยกเหล็กอย่างเต็มที่ และได้ลงแข่งขันรายการต่าง ๆ จนฟอร์มเข้าตาสมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทย ก่อนถูกดึงตัวมาติดเยาวชนทีมชาติไทยในที่สุดเมื่อปี 2019
ตลอดระยะเวลาในสีเสื้อทีมชาติ เขามุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนักและเดินหน้าสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมต่อเนื่อง ไล่กวาดแชมป์ระดับยุวชน-เยาวชน ก่อนก้าวสู่เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย เหรียญทองชิงแชมป์โลก และเหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2022
“เวฟพูดมาตลอดว่าอยากหาเงินให้พ่อกับแม่ ก่อนติดทีมชาติเวฟก็ช่วยที่บ้านทำไร่ทำนามาตลอด เห็นพ่อทำงานหนักมาตั้งแต่ เห็นความลำบาก จะเป็นคนหาตังค์ให้พ่อ”
“ลูกเคยพูดกับผมนะว่า ชื่อเสียงอะไรเขาไม่ค่อยต้องการเท่าไหร่หรอก เขาต้องการเงินอย่างเดียว เพราะเห็นพ่อกับแม่ทำงานหนักมาตั้งแต่เขาเล็ก ๆ ทำงานไม่ได้หยุดเลย อยากจะทำให้พ่อกับแม่สบายที่สุด ต่อไปพ่อกับแม่ไม่ต้องทำงาน” คุณพ่อนิล เปิดใจ
วีรพลใช้เวลาอยู่ 3 ปี เก็บหอมรอมริบเงินรางวัลที่ได้รับจากผลงานความสำเร็จของตัวเอง จนได้ได้เงินก้อนแรก และเขาได้มอบเงินทั้งหมดให้กับครอบครัวสำหรับการสร้างบ้านหลังแรก
“ผมยังถามลูกเลยว่าได้ใช้ตังค์ที่หามาบ้างไหม เขาบอกผมว่าไม่เป็นไรตังค์หนูอยู่ข้างหน้าอีกเยอะแยะ ตอนนี้ขอสร้างบ้านให้พ่อกับแม่อยู่ก่อน หลังจากนี้ก็จะใช้หนี้สินให้หมด”
“ผมได้ยินลูกตอบกลับมาน้ำตาไหลเลย ภูมิใจกับเขามากเลย เขาสามารถหาเงินจากยกน้ำหนักมาพลิกชีวิตให้พ่อกับแม่ได้ ไม่เคยคิดจริง ๆ” คุณพ่อทิ้งท้าย
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ว่าการยกน้ำหนักสำหรับนักกีฬาแล้วไม่ได้เป็นเพียงเพื่อความเป็นเลิศอย่างเดียว ไม่มีใครคิดแค่ว่าจะแพ้ก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวกลับไปแก้ตัวใหม่ เพราะทุกเสี้ยววินาทีล้วนแบกไปด้วยความหวังของคนทั้งครอบครัว
ประกอบกับการที่ไม่ได้เป็นกีฬาอาชีพ ไม่มีเงินเดือนสัญญาจ้างหรือรายการให้ลงแข่งต่อเนื่องทั้งปี พวกเขาจึงได้แต่ยอมสละร่างกายทุ่มเทฝึกซ้อมเพียงเพื่อเสี้ยววินาทีที่จะได้ยกเหล็กชูเหนือหัวพร้อมยกชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น
พลันที่วีรพลยกลูกเหล็กน้ำหนัก 198 กก. ในท่าคลีน แอนด์ เจิร์ค ได้สำเร็จ เขาแทบจะทรุดตัวลงกองกับพื้นจนทีมงานและฝ่ายจัดต้องเข้ามาช่วยประคอง บ่งบอกถึงการปลดเปลื้องภาระที่เขาต้องแบกไว้บนบ่ามานานหลายปีออกไปได้สำเร็จ
วันนี้ วีรพลทำสำเร็จแล้ว เขาก้าวสู่เหรียญเงินโอลิมปิก สร้างบ้านปลดภาระหนี้สินให้แก่ครอบครัว พร้อมมีอนาคตอันสดใสมากมายรออยู่เบื้องหน้า … ทว่าไม่ใช่นักยกน้ำหนักทุกคนจะทำได้เช่นเขา
กีฬาสำเร็จแต่คนอาจไม่สำเร็จ
นับถึงวันนี้ยกน้ำหนักเป็นกีฬาที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดชนิดหนึ่งในมหกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิกเกมส์
นับตั้งแต่เหรียญทองแดงแรกจาก เกษราภรณ์ สุตา ที่กรุงซิดนีย์ 2000 ถึงปัจจุบันทัพยกเหล็กไทยคว้าไปแล้วรวมถึง 6 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง
มีนักกีฬานับสิบรายทั้งชายและหญิงที่สามารถพลิกชีวิตตัวเอง สร้างฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคงให้กับครอบครัว … แต่ในอีกมุมยังมีนักกีฬาที่มากกว่าหลายเท่าตัวที่ไม่สามารถทำความฝันได้สำเร็จและส่งผลต่อชีวิตที่เหลือในทันที
“นักกีฬาทุกคนเห็นถึงผลสำเร็จของรุ่นพี่ที่จะได้รับกลับมา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ มันมีความเสี่ยง ฉันจะไปถึงไหม ถ้าไปถึงฉันจะได้กลับคืนมา แต่ถ้าไปไม่ถึง ทุกอย่างที่ขาดหายไปช่วงเก็บตัวมันก็หายไปหมด” เก๋-ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก 2008 กล่าว
ประภาวดี เป็นอีกหนึ่งคนที่ยอมสละร่างกายเข้าสู่วงการยกน้ำหนักเพื่อแลกกับการได้ทุนเรียนต่อชั้น ม.1 เพราะคุณพ่อไม่มีเงินส่งให้เรียน จึงทำให้เข้าใจหัวอกนักยกน้ำหนักที่เริ่มต้นชีวิตจากศูนย์ไปจนถึงบั้นปลายของการเล่นเป็นอย่างดี
เธอระบุต่อว่า กีฬายกน้ำหนักต้องเก็บตัวทั้งปี ทำให้เลือกสายการเรียนได้เพียงไม่กี่อย่าง ต้องเลือกวิชาหรือสายที่ช่วยซัปพอร์ทหรือเข้าใจเรื่องความเป็นนักกีฬา เพราะส่วนใหญ่ต้องเอาเวลามาฝึกซ้อมมากกว่าการเรียน
เมื่อเล่นไปถึงจุดหนึ่ง หากใครประสบความสำเร็จ ได้เหรียญได้เงินอัดฉีดในมหกรรมกีฬาก็สามารถใช้เป็นทุนดำรงชีพต่อได้ แต่หากไปไม่สุดก็ต้องกลับมาคิดถึงอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อ
“บางคนเล่นยกน้ำหนักจนถึงอายุ 28-29 พอไปไม่สุดต้องเลิกเล่น สิ่งที่ต้องมาทำก็คืออาชีพที่ไม่มีรองรับหรือมีข้อจำกัดมากมาย ประเภทงานบางประเภทมีจำกัดอายุ บางประเภทไม่รองรับ มันจึงมีเวลาที่ต้องคิดและตัดสินใจว่าจะเล่นต่อไหมหรือออกมาทำงานดี” เก๋ เล่าต่อ
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมกีฬาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไทยบนเวทีโลกจึงไม่สามารถที่จะรองรับและซัปพอร์ทนักกีฬาทุกคนที่เข้ามาเล่นได้อย่างเต็มที่
แล้วในอนาคตจะมีทางใดบ้างไหมที่สามารถให้ความมั่นคงกับนักกีฬาที่จะก้าวเข้ามาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้