นับเป็นช่วงเวลาที่เฟื่องฟูอย่างมากสำหรับวงการตบลูกยางญี่ปุ่น เมื่อทัพวอลเลย์บอลประจำชาติของพวกเขา ทั้งทีมชายและหญิง ต่างกรุยทางไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ศึกวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2024 ได้สำเร็จ
แม้สุดท้าย เส้นทางของทั้งสองทีมจะจบลงด้วยตำแหน่งรองแชมป์ แต่นั่นก็ถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาในศึกวอลเลย์บอลรายการนี้
และสะท้อนให้เห็นว่า ทัพตบลูกยางญี่ปุ่นมีศักยภาพที่ยอดเยี่ยมเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นทีมชาย หรือทีมหญิงก็ตาม
ทั้งนี้ "ญี่ปุ่น" สามารถสร้างทีมวอลเลย์บอลของพวกเขา ให้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติเบอร์ต้น ๆ ของโลกได้อย่างไรในเวลานี้ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ตบลูกยางสร้างแรงบันดาลใจ
วอลเลย์บอล ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสันทนาการที่ได้รับความนิยมจากสังคมญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนมาเริ่มเฟื่องฟูแบบเห็นได้ชัด หลังช่วงปี 1960 ที่ทีมวอลเลย์บอลชาย คว้าเหรียญทองแดงใน โตเกียว โอลิมปิก 1964 ครั้งแรกที่โอลิมปิกบรรจุ วอลเลย์บอล เข้าเป็นกีฬาชิงเหรียญรางวัล
ขณะที่ทีมหญิงสร้างความยิ่งใหญ่ในรายการเดียวกัน ด้วยการหักปากกาเซียน เอาชนะสหภาพโซเวียต ชาติยักษ์ใหญ่ในตอนนั้น 3-0 เซต ผงาดคว้าเหรียญทอง ทำสถิติเป็นแมตช์การแข่งขันที่มียอดผู้ชมทางโทรทัศน์สูงสุดที่ 66.8 เปอร์เซ็นต์ และว่ากันว่านี่คือการแข่งขันกีฬาที่มีจำนวนผู้ชมสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
ความสำเร็จของวงการตบลูกยางญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น ทำให้กระแสวอลเลย์บอลฟีเวอร์ล้มหลามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้หญิง เนื่องด้วยผลงานเหรียญทองในโอลิมปิก 1964 ของทีมวอลเลย์บอลสาวญี่ปุ่น โดยนักกีฬาในทีมแทบทั้งหมด มาจาก "นิจิโบ ไคซูกะ" ทีมวอลเลย์บอลจากกลุ่มสาวโรงงานไคซูกะ โรงงานทอผ้ารายใหญ่ในจังหวัดโอซาก้า
"หลังการแข่งขันโอลิมปิก ผู้หญิงทุกช่วงวัยได้รับแรงบันดาลใจในการเล่นกีฬา และชมรมวอลเลย์บอลของเหล่ามาม่าซัง (แม่บ้าน, ภรรยาที่อยู่ดูแลบ้าน) ก็ถือกำเนิดขึ้นมาทั่วญี่ปุ่น" มาซาเอะ คาไซ กัปตันทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น ชุดโอลิมปิก 1964 กล่าวกับ เฮเลน แมคนอธาน เมื่อปี 2012
"ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านอยากออกมาเล่นกีฬานอกบ้าน จากแต่เดิมที่พวกเธอจะให้ความสำคัญกับเรื่องงานบ้านและดูแลลูก ๆ ไม่ได้คิดที่อยากจะเล่นกีฬา ประกอบอาชีพ หรือมีงานอดิเรกนอกบ้าน และวอลเลย์บอลก็ยังคงเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้หญิงญี่ปุ่น มาจนถึงทุกวันนี้"
จากนั้น ผลงานของญี่ปุ่นในการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ทีมชายคว้าเหรียญเงินในโอลิมปิก 1968, ขึ้นสู่จุดสูงสุด ด้วยการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิก 1972 ที่มิวนิค, คว้าอันดับ 3 สองสมัยติด ในรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ปี 1970 และ 1974
ส่วนฝั่งทีมหญิง พวกเธอได้เหรียญรางวัลกลับบ้านอยู่ตลอดในการแข่งขันโอลิมปิก ตั้งแต่ปี 1964, 1968, 1972, 1976, 1984 เช่นกันกับรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพที่คว้าแชมป์ได้ในปี 1962, 1967, 1974 และรองแชมป์ในปี 1960, 1970, 1978
จนเวลาผ่านมาถึงช่วงทศวรรษ 1980s ความยิ่งใหญ่ในกีฬาวอลเลย์บอลของญี่ปุ่น ก็เริ่มถดถอยลงและจางหาย
เปลวเพลิงมอดไหม้
ผลงานของทีมวอลเลย์บอลญี่ปุ่น เริ่มดรอปลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา เริ่มจากทีมชายที่ไม่สามารถคว้าเหรียญในโอลิมปิกได้อีกเลย และตกต่ำถึงขั้นไม่ผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งในโอลิมปิกถึง 3 ครั้งติด ในปี 1996, 2000 และ 2004
ถึงแม้จะกลับมาเล่นในโอลิมปิกได้อีกครั้งในปี 2008 ที่ปักกิ่ง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ตกรอบและกลับบ้านไปไม่มีใครจดจำ ด้วยการไม่สามารถเอาชนะใครได้เลย จบอันดับสุดท้ายของการแข่งขัน
ทัพตบลูกยางชายญี่ปุ่น กลับตกต่ำอีกรอบ หลังไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกเข้ามาแข่งในโอลิมปิก 2012 และ 2016 ก่อนจะได้กลับมาแข่งด้วยฐานะของชาติเจ้าภาพ กับโตเกียว โอลิมปิก 2020 แต่พวกเขาก็ไปได้ไม่ถึงฝั่งฝันในการคว้าเหรียญรางวัล จบอันดับ 7 ของทัวร์นาเมนต์
ข้ามฝากมาที่ทีมหญิง เหล่า "ฮิโนะโทริ นิปปอน" (ฟีนิกซ์ เจแปน) ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกได้อีกเลย นับตั้งแต่ปี 1984 และมีช่วงเวลาว่างเปล่า ด้วยการพลาดตั๋วไปโอลิมปิกในปี 2000 กลายเป็นครั้งแรกที่ไม่มีชื่อของญี่ปุ่น อยู่ในการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ในศึกโอลิมปิก
แม้ว่าจะเริ่มสร้างผลงานได้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010s กับการจบอันดับ 3 ในรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ รวมถึงคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2012 แต่ "ฮิโนะโทริ นิปปอน" ก็กลับไปสู่จุดตกต่ำอีกครั้ง อย่างในโอลิมปิก 2020 ที่ชาติของพวกเธอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน พวกเธอก็ตกรอบต่อหน้าแฟน ๆ ไปแบบไม่มีอะไรให้ลุ้น จบอันดับ 10 จาก 12 ทีม ชนะเพียงเกมเดียว
"มันน่าผิดหวังมาก แม้ว่าทุกคนจะทําผลงานได้ดีที่สุดก็ตาม แต่สุดท้ายเรา (ญี่ปุ่น) แพ้ให้กับคู่แข่งด้วยเรื่องความแข็งแกร่งที่แตกต่างกัน" ยูกิ อิชิกาวะ กัปตันวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น กล่าวกับ chunichi หลังทีมตกรอบโอลิมปิก 2020
"ถ้าผมไม่พัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ผมจะไม่สามารถเอาชนะทีมที่แข็งแกร่งได้ ดังนั้นผมจะต้องเติบโตขึ้นในฐานะที่เป็นกำลังหลักของทีม แน่นอนว่าวอลเลย์บอลชายของเรา (ญี่ปุ่น) กำลังอยู่ในช่วงที่ซบเซา แต่เราจะใช้ประสบการณ์ที่ได้จากทัวร์นาเมนต์นี้ นำไปพัฒนาศักยภาพและความแข็งแกร่งของทีม สู่การต่อสู้ครั้งต่อไปในปารีส (โอลิมปิก 2024)"
อย่างไรก็ตาม หลังจากอยู่ในยุคเสื่อมถอยมานาน ในที่สุดวงการวอลเลย์บอลญี่ปุ่นก็ถึงเวลาที่จะได้กลับมาสู่จุดที่ตัวเองเคยเป็น เคยยืนอยู่อีกครั้ง
กลบจุดด้อย
หลังจบโอลิมปิก 2020 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับวอลเลย์บอลญี่ปุ่นขึ้น โดยทางสมาพันธ์ได้แต่งตั้งเฮดโค้ชคนใหม่ให้กับทีมตบลูกยางทั้งชายและหญิง ซึ่งในช่วงเวลาต่อจากนี้ ทั้งสองคนมีส่วนอย่างมากในการกอบกู้ผลงานของทีมวอลเลย์บอลญี่ปุ่น ให้กลับมาแข็งแกร่งขึ้น
ด้านทีมชายเป็น ฟิลิปป์ เบลน อดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติฝรั่งเศส ที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยอันที่จริง ฟิลิปป์ เบลน เจ้าตัวทำงานให้กับทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ในบทบาทของผู้ช่วยโค้ช มาตั้งแต่ปี 2017 และขึ้นมาเป็นเฮดโค้ชอย่างเต็มตัว หลังผ่านช่วงโอลิมปิก 2020 ทำให้เบลนไม่ต้องใช้เวลามากในการทำความรู้จักกับผู้เล่นภายในทีม
ก่อนที่เขาจะสร้างทัพตบลูกยางชายญี่ปุ่น หรือฉายา "ริวจิน นิปปอน" (ดราก้อน ก็อด เจแปน) ซึ่งอุดมไปด้วยผู้เล่นที่ทีมฟูมฟักขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014 เติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในทีมชาติที่น่าจับตามองในปัจจุบัน ปี 2024
"เราไม่ได้แข็งแกร่งขึ้นแบบกะทันหัน แต่เรามีประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่สิ่งนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2014 ผู้เล่นอย่าง ยูกิ อิชิคาวะ, อากิฮิโระ ยามาอุจิ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในขณะนั้น รวมถึง เคนทาโร่ ทาคาฮาชิ และคนอื่น ๆ ต่างถูกเลือกให้เข้ามาเล่นในทีมชาติ และการได้ ฟิลิปป์ เบลน เข้ามาอยู่กับเราเมื่อปี 2017 ซึ่งปัจจุบันเขากำลังเฮดโค้ชคุมทีมชาติญี่ปุ่น" ยูโกะ ทานากะ นักเขียนสายกีฬาในญี่ปุ่น ที่โดดเด่นในเรื่องของวอลเลย์บอล ให้ความเห็นกับ Sankei
ฟิลิปป์ เบลน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวกันมานานแล้วว่า มันเป็นจุดอ่อนของทีมวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น นั่นคือเรื่องของตำแหน่งตัวบล็อกกลาง โดยเขาทำให้สามผู้เล่นในตำแหน่งนี้อย่าง ไทจิ โอโนเดระ, อากิฮิโระ ยามาอุจิ และ เคนทาโร่ ทาคาฮาชิ สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างแข็งแกร่งและช่วยทีมทำแต้มได้อยู่หลายครั้ง
รวมถึงผู้เล่นภายในทีม บางส่วนก็ได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการลงเล่นลีกวอลเลย์บอลอาชีพของฝั่งยุโรป เพื่อทําความคุ้นเคยกับผู้เล่นต่างชาติ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการกลับมาลงเล่นให้กับทีมชาติเป็นอย่างมาก
"หนึ่งในปัจจัยสําคัญที่ทําให้วอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเป็นการมีผู้เล่นได้มีโอกาสเดินทางไปลงแข่งที่ต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเนชั่นส์ ลีก และรอบคัดเลือกโอลิมปิก ครึ่งหนึ่งของผู้เล่นในทีม เป็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศ ดังนั้นผมคิดว่านั่นเป็นปัจจัยสําคัญ" ยูกิ อิชิกาวะ กัปตันวอลเลย์บอลชายญี่ปุ่น ชุดโอลิมปิก 2024 กล่าวกับ olympics.com
"อีกอย่างคือการมีผู้เล่นที่ได้โอกาสไปเล่นในลีกต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่ามีผู้เล่นที่รู้จักโลกภายนอกมากขึ้น ดังนั้นผมคิดว่ามันจะช่วยเราได้เมื่อเราเล่นให้กับทีมชาติ (ญี่ปุ่น) และจํานวนผู้เล่นดังกล่าวเพิ่มขึ้นไม่เพียงแค่ในอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในฝรั่งเศส โปแลนด์ และประเทศอื่น ๆ เป็นเวลา 1-2 ปี ผมรู้สึกว่านี่เป็นปัจจัยสําคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติ"
และความสำเร็จที่ปรากฏออกมา เหล่า "ริวจิน นิปปอน" (ดราก้อน ก็อด เจแปน) สามารถคว้าแชมป์เอเชี่ยน แชมเปี้ยนชิพ ได้ในปี 2023 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่พวกเขากลับมาคว้าแชมป์รายการนี้ได้อีกครั้ง ส่วนในศึกวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก ไล่ตั้งแต่ 2022 เป็นต้นไป พวกเขาก็ทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนก้าวไปถึงตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2024
ตัดฉากไปที่ทีมหญิง พวกเขาได้คนเก่าหน้าเดิมอย่าง มาซาโยชิ มานาเบะ ที่เคยพาทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น คว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 2012 เข้ามารับตำแหน่งเป็นเฮดโค้ชของทีมอีกครั้ง
มานาเบะ ไม่รอช้า จัดการถ่ายเลือดทีมครั้งใหญ่ ด้วยการเรียกผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาติดทีมกันหลายคน และหลงเหลือผู้เล่นจากชุดโอลิมปิก 2020 เอาไว้เพียงแค่ 5 คน พร้อมเน้นย้ำให้ทีมคอยส่งเสียงสื่อสารกันอยู่ตลอด เวลาลงแข่งในสนาม รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องการเสิร์ฟเป็นอย่างมาก ถือเป็นการพยายามลบข้อด้วยของทีมให้เหลือน้อยลง
"เราดูวิดีโอการเสิร์ฟของผู้เล่นแต่ละคน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมุมมองที่หลากหลาย และวิเคราะห์การเสิร์ฟของผู้เล่นแต่ละคน รวมถึงสุขภาพจิตและทักษะ เราให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้เล่น เช่น ตำแหน่งที่พวกเขาทำผิดพลาดมากที่สุด และจุดที่พวกเขาทำคะแนน เพื่อให้ผู้เล่นรู้ถึงข้อผิดพลาด" มาซาโยชิ มานาเบะ เปิดเผยกับ Sports Hochi
หลังผ่านช่วงโอลิมปิก 2020 "ฮิโนะโทริ นิปปอน" (ฟีนิกซ์ เจแปน) ก็เริ่มมีผลงานที่ดีขึ้น คว้าแชมป์เอเชียนคัพ (เอวีซี คัพ) ที่ฟิลิปปินส์ ในปี 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพวกเธอในการคว้าถ้วยใบนี้ และล่าสุดอย่างการจบตำแหน่งรองแชมป์ในศึกวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2024
มาจนถึงตอนนี้ ทีมวอลเลย์บอลของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะทีมชายหรือทีมหญิง ก็พร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันแย่งชิงเหรียญรางวัลในโอลิมปิก 2024 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่ช้า
เหรียญรางวัลที่ใฝ่ฝัน
การแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล ในโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ฝรั่งเศส จะเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม จนไปถึงเกมรอบชิงชนะเลิศของทีมชาย วันที่ 10 สิงหาคม และทีมหญิง 11 สิงหาคม
ญี่ปุ่น พวกเขาเป็นชาติที่เคยก้าวไปถึงการคว้าเหรียญทอง ของกีฬาวอลเลย์บอลในโอลิมปิกมาแล้ว เมื่อครั้งอดีต มันจึงไม่แปลกเลยหากพวกเขาหมายมั่นที่จะทำผลงานไปให้ถึงการได้เหรียญรางวัลกลับบ้าน ไปให้แฟน ๆ ในประเทศได้ชื่นชมกัน
ฝั่งทีมหญิง มาซาโยชิ มานาเบะ ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะพาทัพ "ฮิโนะโทริ นิปปอน" คว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกเหรียญแรกในรอบ 12 ปี ให้ได้ โดยเจ้าตัวกล่าวกับ Nikkan Sports ว่า
"เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในโอลิมปิกที่โตเกียว เราจบอันดับที่ 10 หากคุณอยากคว้าเหรียญรางวัล คุณต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างให้สำเร็จ การคว้ารองแชมป์ใน เนชั่นส์ ลีก ทําให้ผู้เล่นของเรามีความมั่นใจ เรามีเป้าหมายของเรา ถ้าเราเล่นด้วยความคิดที่ว่าจะสามารถเอาชนะทีมที่ดีที่สุดในโลกได้ ผมคิดว่าเราก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้"
ทางฝั่งทีมชาย "ริวจิน นิปปอน" ห่างหายจากการคว้าเหรียญในโอลิมปิกมาเป็นเวลากว่า 52 ปี ตั้งแต่ 1972 ดังนั้น ด้วยผลงานอย่างการคว้ารองแชมป์ของพวกเขา ในศึกวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2024 จึงทำให้พวกเขาต่างก็คาดหวังที่จะทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในโอลิมปิกรอบนี้ และคว้าเหรียญกลับไปเป็นของรางวัล
"เป้าหมายของผมในโอลิมปิกที่ปารีส คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อย่างการคว้าเหรียญทอง เราได้รับประสบการณ์มามากมาย จากในโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ผมตั้งเป้าที่จะต้องทำมันให้ได้ สำหรับผมแล้ว โอลิมปิกครั้งนี้มันจะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อนมาก (โอลิมปิก 2020) ผมคิดว่าเราจะมีโอกาสที่ดีในการไปให้ถึงเป้าหมาย" ยูกิ อิชิกาวะ กล่าว
มารอดูกันว่า ทัพวอลเลย์บอลญี่ปุ่น จะไปถึงได้ถึงฝั่งฝันอย่างการคว้าเหรียญรางวัล ได้หรือไม่ ในโอลิมปิก 2024 ซึ่งหากพวกเขาเค้นฟอร์มที่ดีที่สุดออกมาได้ในการแข่งขันครั้งนี้
ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นเหรียญรางวัลโอลิมปิก และความยิ่งใหญ่ในกีฬาวอลเลย์บอล กลับมาอยู่กับชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง
แหล่งอ้างอิง :
https://apjjf.org/2020/4/MacNaughtan
https://mainstand.co.th/th/features/5/article/3311
https://www.chunichi.co.jp/article/303868
https://www.sankei.com/article/20240519-QN652SE7UVKK3KNLBFIWM5COSY/
https://sports.pen-and.co.jp/volleyball-japan-men/
https://olympics.com/ja/news/volleyball-ishikawa-yuki-why-japan-get-better-and-stronger
https://www.chichi.co.jp/web/20240516_manabe/
https://hochi.news/articles/20230915-OHT1T51262.html?page=1
https://www.nikkansports.com/olympic/paris2024/volleyball/news/202407010000391.html
https://www.jva.or.jp/topics/20240624-2/