Feature

อังกฤษ-ฝรั่งเศส บอลเน้นผลเหมือนกัน : ทำไม เดส์ชองส์ ไม่โดนด่าเหมือน เซาธ์เกต ? | Main Stand

ฝรั่งเศส ผ่าน เบลเยียม เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายตามหน้าเสื่อ ทว่าพวกเขาถือเป็น 1 ในทีมเต็งที่ยังไม่ได้โชว์อะไรเด็ด ๆ ออกมามากมายนัก หากเทียบกับสิ่งที่แฟน ๆ คาดหวังเมื่อเห็นขุมกำลังที่มี

 


อย่างไรก็ตาม ในความจืด ๆ ของฝรั่งเศส ที่สะท้อนผ่านประตูอันน้อยนิด ลูกยิงจาก Own Goal และจุดโทษ ทำไม ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ และลูกทีมของเขากลับไม่โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอลมากเท่ากับทีมชาติอังกฤษ

ทั้ง ๆ ที่เล่นเน้นชัวร์ ปลอดภัยไว้ก่อนเหมือนกัน ทำไมการถูกตัดสินจึงต่างกัน ? Main Stand มีคำตอบ 

 

ทำไมฝรั่งเศสถึงเล่นไม่ดี ? 

ฝรั่งเศส เป็นตัวเต็งในทุก ๆ ทัวร์นาเมนต์นับตั้งแต่รายการแรกในยุคของ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ อย่าง ฟุตบอลโลก 2014 ที่แม้ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่พวกเขาแพ้ เยอรมนี ที่ต่อมาเป็นแชมป์, ยูโร 2016 ที่พวกเขาเป็นรองแชมป์ แพ้ โปรตุเกส รอบชิง, ฟุตบอลโลก 2018 พวกเขาถึงจุดสูงสุดด้วยตำแหน่งแชมป์, ยูโร 2020 แย่หน่อยที่ตกรอบเร็วจากการดวลจุดโทษแพ้ สวิตเซอร์แลนด์ รอบ 16 ทีม ขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาก็จบด้วยการเป็นรองแชมป์ แพ้ อาร์เจนตินา รอบชิง

ผลงานของ ฝรั่งเศส ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ประจักษ์ต่อสายตาแฟนบอลเสมอ พวกเขาดูจะเป็นทีมที่พร้อมแบบรอบด้าน มีความสมดุลตั้งแต่ผู้รักษาประตูไปถึงกองหน้า นักเตะมีหลายแบบหลากสไตล์ให้เลือก ทั้งแบบแข็งแรงรวดเร็ว เอวอ่อนทรงสวย บอลสมองมีชั้นเชิง รวมไปถึงนักเตะที่สามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้ด้วยตัวคนเดียวอย่าง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ 

ทว่าใน ยูโร 2024 นี้ บางสิ่งบางอย่างแตกต่างออกไปพอสมควร ง่ายที่สุดคือ 3 เกมรุกที่เคยเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดอย่าง เอ็มบัปเป้, โอลิวิเยร์ ชิรูด์ และ อองตวน กรีซมันน์ ไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดเหมือนกับทุกทัวร์นาเม้นต์ที่ผ่านมา 

ไล่เรียงเป็นรายคน คุณจะเห็นความต่างชัดมากขึ้น ชิรูด์ ในวัย 37 ปี ไม่สามารถเอาชนะสังขารของตัวเองได้ เราแทบไม่ต้องมองเรื่องประตูเลยด้วยซ้ำ เพราะ ชิรูด์ ไม่ใช่กองหน้าตัวจบอยู่แล้ว เขาคือ Target Man หรือตัวเป้าธรรมชาติ เขาไม่เร็ว แต่แข็งแรงแน่นอน และถ้าทีมของคุณมีนักเตะที่จัดจ้าน เปิดเกมรุกและครองบอลเป็นหลัก เขาจะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่คุณมองหา 

มีประโยคหนึ่งของ อาร์แซน เวนเกอร์ ที่อธิบายคความสามารถ ชิรูด์ ได้ครอบคลุมที่สุด โดยเขาเคยกล่าวเอาไว้ในช่ว งฟุตบอลโลก 2018 ที่ ชิรูด์ ถูกวิจารณ์จากการยิงประตูไม่ได้ว่า "ถ้าคุณเป็นทีมที่เน้นเกมรับแล้วสวนกลับ ชิรูด์จะไม่เหมาะกับทีมคุณ แต่ถ้าคุณเป็นทีมเน้นบุกเข้าใส่ โอลิวิเยร์จะตอบแทนคุณ เขาคือสตาร์ในกรอบเขตโทษ" 

ว่ากันว่าตัวรุกคนไหนที่ได้ร่วมงานกับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ จะกลายเป็นร่างทองขึ้นมาทันที ดั่งเช่นการฉายเเววโดดเด่น ของ ราฟาเอล เลเอา ที่ เอซี มิลาน รวมไปถึง คีลิยัน เอ็มบัปเป้ เเละ อองตวน กรีซมันน์ ในฟุตบอลโลกทั้งสองครั้ง

การได้ร่วมงานกับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ เหมือนเป็นการบัฟเพิ่มพลังให้ เอ็มบัปเป้ จากที่เก่งอยู่เเล้ว ให้เก่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่าปีกคนไหนที่ได้ร่วมงานกับ ชิรูด์ ดูเหมือนพวกเขาจะมีพื้นที่เเละเวลาให้เล่นบอลมากขึ้นตลอด ชิรูด์ สามารถวิ่งเปิดพื้นที่ดึงตัวประกบให้เพื่อนได้เปรียบได้เสมอ ... แต่ในวัย 37 ปี นักเตะที่ใช้ความแข็งแรงเป็นหลักอย่างเขากำลังเจอปัญหา เรื่องนี้ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ ก็รู้ดี ไม่อย่างนั้น ชิรูด์ คงไม่ต้องนั่งเป็นตัวสำรองทุกนัดใน ยูโร 2024 ครั้งนี้   

เรื่องนี้มีการหลุดข่าวมาจาก L'Équipe ในเกมรอบแบ่งกลุ่มว่า เดส์ชองส์ ได้ตำหนิ ชิรูด์ เป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องของการขาดความมุ่งมั่น และมีการพูดคุยกันในกลุ่มสตาฟฟ์ว่า ที่ ชิรูด์ ไม่ได้เล่นเพราะ เดส์ชองส์ ไม่เชื่อว่าเขาจะยกระดับการเล่นของทีมได้   

ขณะที่พี่รองอย่าง กรีซมันน์ แม้จะมีผลงานที่ยอดเยี่ยมกับ แอตฯ มาดริด ต้นสังกัด แต่ก็เป็นการเล่นในระบบการเล่น 3-4-1-2 โดยตัวเขายืนเป็นกองหน้าตัวต่ำ แต่กับฝรั่งเศส บทบาทของเขาเปลี่ยนไปตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2022 ที่ เดส์ชองส์ ถอยเขามาเล่นเป็นตำแหน่งกองกลางหมายเลข 8 

"เขามีพร้อมทุกอย่างในการที่จะเล่นตำแหน่งนั้น ทั้งวิสัยทัศน์ เทคนิคการสัมผัสบอล ความฉลาดในการเข้าใจเกม การทำงานหนักขยันวิ่ง" เดส์ชองส์ อธิบายถึงเหตุผลในการเปลี่ยนตำแหน่งกรีซมันน์ ในฟุตบอลโลก 2022 ... ซึ่งแน่นอนว่าผ่านมา 2 ปี กรีซมันน์ อายุ 33 ปีแล้ว ความฉลาดและชั้นเชิงยังคงอยู่ แต่ความรวดเร็ว แข็งแรง และคล่องแคล่วขาดหายไป 

และสุดท้ายน้องเล็กอย่าง เอ็มบัปเป้ เรื่องฝีเท้าและอายุไม่มีข้อสงสัย แต่ปัญหาของเขากับ เปแอสเช ในฤดูกาลที่ผ่านมาส่งผลไม่มากก็น้อย เขาได้ออกสตาร์ทในเกมลีกแค่ 24 เกม น้อยที่สุดนับตั้งแต่ย้ายมาอยู่กับทีมในปี 2017

หลายสิ่งเปลี่ยนไปจากที่กล่าวมา และฝรั่งเศส ไม่มีตัวแทนที่ใกล้เคียงกับ 3 คนนี้เลย อุสมาน เดมเบเล่ มีคำถามตลอดเมื่ออยู่ในเวทีที่ต้องชี้ขาด, มาร์คุส ตูราม ยังหาไม่เจอว่าตัวเองจะเล่นตำแหน่งเบอร์ 9 หรือริมเส้นฝั่งซ้าย แบรดลี่ย์ บาร์โกล่า ก็ยังอายุน้อยและอ่อนประสบการณ์เกินไป 

สิ่งที่เคยโดดเด่นที่สุดของพวกเขา ถูกลดทอนคุณภาพ และในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์แบบนี้ ซึ่งทุกทีมที่เจอกับฝรั่งเศสจะมาจัดเต็มในเกมรับ มีสมาธิ และมุ่งมั่นเป็นพิเศษ ถ้าคุณไม่เด็ดขาดและเหนือชั้นจริง อาการหืดขึ้นคอแบบที่เราเห็นก็จะเกิดขึ้นได้เสมอ ... ไม่ต้องเอาสถิติที่ไหนมาวางแบให้ดู เพราะเรื่องนี้ เดส์ชองส์ พูดคำนี้เองในการสัมภาษณ์หลังเกมที่ผ่านมาว่า 

"เราทำทุกอย่างแล้ว ทั้งการสร้างโอกาสซึ่งเราทำได้มากกว่าพวกเขา แต่เราไม่อาจเอาชนะเกมรับของพวกเขาได้ ... แน่นอนว่าคุณไม่อาจผ่านเข้ารอบได้เพียงแค่การครองบอลได้มากกว่าเท่านั้น ผมชอบมากที่เราสร้างโอกาสได้อย่างมากมาย แต่พวกเรากลับเล่นกันไม่ลงล็อกเท่าที่ควร" เดส์ชองส์ ว่าแบบนั้น 

สุดท้ายทุกอย่างมาจบเรื่องการทำประตู มันดูจะเหมือนกับทีมชาติอังกฤษที่มีปัญหาเรื่องนี้คล้าย ๆ กัน แต่แปลกใจหรือไม่ ทำไม อังกฤษ โดนถล่มจมดินแม้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่ฝรั่งเศส ผู้คนกลับปล่อยผ่าน จบเกมก็จบกัน ? 

 

เพราะเป็นอังกฤษจึงเจ็บปวด 

นี่อาจจะเป็นการเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่าใคร แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นการหาเหตุผลมากกว่าเพราะผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ทำไมผลตอบรับระหว่างทั้ง 2 ทีมจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง ? 

ประการแรก คู่แข่งของทั้ง 2 ทีมต่างกันมาก ... อย่างน้อยก็ในมุมของแฟนบอลหรือการคาดการณ์จากสื่อ

ทีมชาติอังกฤษ อยู่ในสายที่ดู "เหมือนง่าย" ไม่ว่าจะเป็น สโลวีเนีย, เซอร์เบีย และ เดนมาร์ก ในแง่ของชื่อชั้นความสำเร็จ ... แฟน ๆ แค่เห็นชื่อทีมในกลุ่มนี้ก็ต้องนึกภาพไปที่การเข้ารอบสบาย ๆ ของอังกฤษ แต่สิ่งที่ออกมาแตกต่างอย่างสิ้นเชิง อังกฤษออกอาการอึดอัด และพยายามอย่างหนักกว่าจะได้แต่ละแต้มใน 3 เกมแรก ซึ่งนั่นยืนยันว่าแฟน ๆ อาจจะมองผิดไป เพราะความจริงแลัวในเกมระดับนี้ไม่มีอะไรง่าย ทีมในสายของอังกฤษเป็นทีมลักษณะดุดัน แข็งแกร่ง และมีความโดดเด่นเชิงรับเป็นพิเศษ  

กลับกันในสายของ ฝรั่งเศส ที่คู่แข่งดูชื่อชั้นเหนือกว่าสายอังกฤษ เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย และ โปแลนด์ ... ยิ่งเมื่อได้เห็นทีมอย่าง ออสเตรีย เล่นแต่ละเกม ทุกสายตาก็จับจ้องบอกว่าสายนี้แข็งแกร่งเป็นพิเศษ ดังนั้นการที่ ฝรั่งเศส เอาชนะแบบหืดจับ จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องแย่ แม้กระทั่งวันสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มที่ ออสเตรีย เบียดขึ้นมาเป็นแชมป์กลุ่ม คำวิจารณ์เชิงลบที่มีต่อฝรั่งเศสก็ยังน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ 

สื่ออย่าง The Independent ก็วิเคราะห์เรื่องนี้ พวกเขาบอกว่าจริง ๆ ทั้งสองทีมก็ทำผลงานได้แย่กว่าที่คิดในรอบแบ่งกลุ่มไม่ต่างกัน แต่ด้วยความเป็นอังกฤษ ชาติที่ทุกเรื่องมักจะเป็นประเด็นใหญ่เสมอไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาแบบไหน หรือเป็นชาติที่มีลีกฟุตบอลที่มีความนิยมมากที่สุด แถมยังมีรายการวิเคราะห์ วิจารณ์ฟุตบอล ที่มีกูรูมากมายหลายช่องขยันออกมาสับไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่ใหญ่ก็ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นไปอีก เหตุผลเพราะกูรูชาวอังกฤษก็ใส่อารมณ์กับทีมของตัวเองเต็มที่ แตกต่างจากทีมอื่น ๆ

"มุมมองจากสื่ออังกฤษมันสะท้อนถึงความต้องการชัยชนะของทีมชาติอังกฤษ ชาติที่บ้าคลั่งฟุตบอล ได้เห็นเกมคุณภาพดี ๆ ในแทบทุกสัปดาห์ในฟุตบอลลีก แต่เมื่อทีมชาติเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐาน มันจึงยากที่จะหยุดเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น ... ตราบใดที่ยังเป็นแบบนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางลดน้อยลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ความแย่ของอังกฤษทำให้ชาติอื่น ๆ ถูกมองข้ามไปเลย" คาร์ล แมตเช็ตต์ จาก The Independent ว่าแบบนั้น 

ไม่ใช่ว่าฝรั่งเศสไม่โดนวิจารณ์ แต่อังกฤษโดนมากกว่าเสมอ พวกเขาเป็นทีมที่มีคนชอบเยอะ ในทางกลับกันก็มีคนแช่งเยอะเช่นกัน ... 

อย่างไรก็ตาม ในความฝืด ๆ ไม่เข้าที่ของทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศส มันก็มีความต่างกันพอสมควรหากเราจะมองกันตามความจริงโดยไม่สนใจว่าใครจะรับบทเหยื่อ เพราะ 4 เกมที่ผ่านมาของทั้ง 2 ทีมก็มีรายละเอียดต่างกันจริง ๆ 

 

เพราะ ฝรั่งเศส คือนักชิงแชมป์มืออาชีพ

อย่างที่บอกไป ดีกรีเก่า ๆ ของฝรั่งเศสเข้มข้นมาก โดยเฉพาะในช่วง 6-8 ปีหลังสุด ไม่มีชาติไหนเล่นบอลทัวร์นาเมนต์ได้เดือดเท่าพวกเขาอีกแล้ว 

ฝรั่งเศส คือทีมที่เคยผ่านสถานการณ์ยาก ๆ กดดัน ๆ มามากมาย ทุกคนรู้ถึงศักยภาพโดยรวมของพวกเขาดี พวกเขาสามารถชนะใครก็ได้ และเป็นทีมที่ถ้าเลือกได้ก็ไม่มีทีมไหนอยากเจอ เพราะความสมดุลของนักเตะที่มี บารมีของโค้ช รวมถึงประสบการณ์ที่แสดงให้เห็นมานักต่อนัก 

ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ อาจจะถูกตั้งคำถาม แต่ใครล่ะจะกล้าเปิดหน้าจวกเขาตรง ๆ เหมือนกับ แกเร็ธ เซาธ์เกต เพราะ เดส์ชองส์ นำฝรั่งเศสเข้าชิงฟุตบอลโลก 2 ครั้ง เข้าชิงยูโร 1 ครั้ง และมีถ้วยแชมป์การันตี

เดส์ชองส์ เห็นทุกอย่างมาแล้ว และประสบการณ์จะทำให้พวกเขาเห็นปัญหา และแก้ไขมันได้ด้วยขุมกำลังผู้เล่นชั้นยอด ... อย่างที่เราได้นำบทสัมภาษณ์ของ เดส์ของส์ มาอ้างอิงในช่วงต้นของบทความ เรื่องของจังหวะการยิงประตู การสร้างเกมรุก ทุกอย่างมาหมดแล้ว ฝรั่งเศส ขาดเพียงจังหวะเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นส่วนสำคัญที่สุด นั่นคือการส่งบอลเข้าประตู 

ส่วนปัญหาในแนวรับ หรือกองกลาง ต้องยอมรับว่าฝรั่งเศสเจอสิ่งที่ลงตัวไปแล้ว ขณะที่อังกฤษยังจับผิดจับถูก ใครจะเล่นแบ็กขวา ใครจะยืนเซ็นเตอร์ ใครสมควรจะเป็นแบ็กซ้าย ... ไหนจะเรื่องกองกลางที่สารพัดเรื่องราวให้ชวนปวดหัว 

ส่วนในเรื่องของรูปแบบการเล่นและคุณภาพของเกม อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เล่นด้วยคุณภาพที่แตกต่างกัน ความเร็วที่แตกต่างกัน จำนวนการสร้างโอกาสที่แตกต่างกันแบบสุดกู่ ถึงตอนนี้ฝรั่งเศส มีโอกาสยิงประตูถึง 69 ครั้ง เข้ากรอบ 16 ครั้ง ขณะที่อังกฤษ 4 เกมที่ผ่านมา ยิงเข้ากรอบไปแค่ 12 ครั้ง จากโอกาสยิง 44 ครั้ง 

ถึงเกมรุกของฝรั่งเศสจะไม่มีประตู แต่คุณภาพโดยรวม และภาพรวมของเกมรุกของพวกเขาดูมีอะไรให้ลุ้น ผิดแผกกับอังกฤษที่ไม่ใช่แค่ใช้คำว่าแย่ แต่ต้องใช้คำว่าน่าเบื่อ จึงจะเห็นภาพมากที่สุด 

"อังกฤษไม่ได้แค่เล่นแย่ แต่พวกเขาเล่นอย่างน่าเบื่อด้วย ต่อให้เป็นแชมป์กลุ่มเข้ามา สิ่งที่พวกเขาแสดงออกก็แย่มาก ๆ แกเร็ธ เซาธ์เกต ทำส่วนผสมออกมาให้ดูต่ำกว่าแนวรุกทุก ๆ ทีม เขาไม่สามารถเอาสิ่งที่ดีที่สุดออกมาจาก เบลลิงแฮม, โฟเดน, เคน และคนอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน" บทความจาก GOAL.COM ที่วิเคราะห์ถึงทีมที่เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย จัดหนักอังกฤษได้อย่างเห็นภาพ 

"อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสายล่างที่อังกฤษพาตัวเองมาอยู่นี้ก็ช่วยให้ได้เห็นโอกาส ... แม้จะแย่แค่ไหน แต่อังกฤษก็อาจจะเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ ไม่ใช่เพราะโค้ชหัวโบราณคนนั้น แต่สถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นต่างหากที่จะพาอังกฤษไปถึงจุดนั้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันคงน่าประหลาดใจถ้าทีมที่เล่นได้น่าเบื่อที่สุดในทัวร์นาเมนต์ไม่สามารถไปถึงรอบชิงที่เบอร์ลินได้" 

ความจริงโดยสรุปก็ตามที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า ... อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เล่นด้วยคุณภาพที่แตกต่างกัน ความเร็วที่แตกต่างกัน การสร้างโอกาส การครอบครองบอล การเปลี่ยนแปลงผู้เล่น 11 ตัวจริงแตกต่างกัน 

แม้ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์คือการเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายทั้งคู่ด้วยฟอร์มที่ดูฝืด ๆ แต่ในความรู้สึกของแฟน ๆ ที่ได้ชมเกมของทั้ง 2 ทีมก็จะเข้าใจดีว่า ฝรังเศส มีโครงที่ดี อยู่ที่ว่าทีเด็ดที่พวกเขาเก็บไว้จะลงล็อกเมื่อไหร่ และนั่นคือเรื่องที่ เดส์ชองส์ เองก็มีประสบการณ์มากพอที่จะดึงเอาสิ่งนั้นออกมา  

ขณะที่อังกฤษ ใช้คำว่า "สถานการณ์พาไป" ก็คงจะไม่ผิดนัก จนถึงตอนนี้การจับปูใส่กระด้งยังไม่มีที่ท่าคลี่คลายว่าแบบไหนจะดีที่สุด ... ทั้งหมดนี้คือความต่างระหว่างฝรั่งเศสของ เดส์ชองส์ และ อังกฤษของ เซาธ์เกต ที่ทำให้คำวิจารณ์ถูกโยนไปฝั่งอังกฤษมากกว่า 

แต่ที่สุดแล้วฟุตบอลมันเป็นเรื่องของผลลัพธ์ ฝรั่งเศสจะดี อังกฤษจะแย่ยังไง สุดท้ายพวกเขาก็อยู่ในจุดเดียวกัน นั่นคือการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ... และต้องมารอดูกันต่อว่า ความคลาสสิกของโลกฟุตบอล จะพาให้คู่เปรียบคู่นี้ไปจบลงที่ตรงไหน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.goal.com/en/lists/euro-2024-power-rankings/blt747bf1ccd8153598#cs54fa132069c29e1a
https://www.reuters.com/sports/soccer/deschamps-disappointed-with-efficiency-happy-with-chances-created-2024-06-21/
https://www.goal.com/en/lists/euro-2024-biggest-disappointment-predictions/bltc2ddccf76deb4b2d
https://www.squawka.com/en/news/france-route-to-euro-2024-final-last-16/
https://www.independent.co.uk/sport/football/france-euro-2024-england-deschamps-southgate-b2566857.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา