Feature

คนเก่งแพ้ลูกรัก ? : สไตล์การเลือกนักเตะไปทัวร์นาเมนต์ใหญ่จากยอดกุนซือ | Main Stand

ทุกครั้งที่ทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาถึง หรือแม้กระทั่งการเรียกนักเตะติดทีมชาติตามปฎิทินฟีฟ่าเดย์ จะเกิดเรื่องคลาสสิก 1 เรื่องขึ้นมาเสมอ ว่าด้วยการที่แฟนบอลถกเถียงว่า "คนนี้ติดได้ไง?" หรือ "คนนี้ทำไมไม่ติด" และพาลจบประโยคแบบคลาสสิกด้วยคำว่า "ลูกรัก" ขึ้นมาเสมอ 

 


ไม่แปลกที่แฟนบอลจะรู้สึกแบบนั้นเพราะแต่ละคนล้วนมีความชอบส่วนตัวกันทั้งนั้น แต่กับมุมมองเฮดโค้ชล่ะ ? พวกเขาคิดยังไง ทำไมจึงต้องเรียกนักเตะที่แฟนบอลไม่เห็นด้วย หรือมีผลงานที่ไม่ได้ดีจนถึงขั้นเป็นเอกฉันท์ในลีกติดทีมมา ? 

Main Stand จะพาคุณไปหาคำตอบของเรื่องนี้ 

 

ทำไมถึงเกิดวลี "ลูกรัก"

เกมฟุตบอลทีมชาติคือเกมที่นาน ๆ ครั้งจะรวมตัวมาแข่งกันสักที หากถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้นักเตะคนหนึ่งติดทีมชาติได้ แน่นอนว่าชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "ทีมชาติ" พวกเขาต้องเป็นนักเตะที่มีผลงานดีที่สุดในประเทศในตำแหน่งของพวกเขา 

อย่างไรก็ตามเรื่องราวเหล่านี้มันจะลึกลับซับซ้อนกันสักหน่อย เพราะการทำงานในรูปแบบของสโมสรและทีมชาตินั้นมีบริบทที่แตกต่างกันมาก เพราะในระดับสโมสรแต่ละทีมจะทำงานกันทุกวัน ได้เห็นวิธีการเล่น วิธีการซ้อม และวิธีการใช้ชีวิตตลอดทั้งเดือนทั้งปี ดังนั้นความต่อเนื่องต่าง ๆ ที่เห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันทำให้โค้ชแต่ละสโมสรตัดสินใจได้ไม่ยาก ในการจะเลือกใช้งานนักเตะแต่ละคน ภายในตัวเลือกในทีมสควอร์ดราว 22-30 คนโดยประมาณ

แต่กับโค้ชทีมชาติ ความยากพวกเขาการต้องเลือกนักเตะจากทั่วประเทศ พวกเขาอาจจะมีนักเตะในลิสต์เป็นร้อย ๆ คน และนอกจากจำนวนคนที่มากแล้ว ยังมีระยะเวลาในการเตรียมทีมที่จำกัดมาก ๆ ในแต่ละเกมที่ลงเเข่งขัน ยกตัวอย่างในยุโรปที่เล่นเกมตามปฎิทินฟีฟ่า เดย์ หลังจากที่นักเตะลงเกมกับสโมสรเสร็จในวันอาทิตย์ พวกเขาจะได้พักราว 2 วัน จากนั้น และไปรวมตัวในแคมป์ทีมชาติราววันอังคารหรือวันพุธ (อ้างอิงจากทีมชาติอังกฤษ) จากนั้นพวกเขาก็จะเริ่มทำการลงซ้อม และทำความเข้าใจด้านแท็คติก และพร้อมลงเเข่งขันในสุดสัปดาห์ทันที 

จะเห็นได้ว่าโค้ชทีมชาติจะมีเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้นในการจับปูใส่กระด้งเอานักเตะจากสโมสรต่าง ๆ มารวมเป็นทีมชาติ ขณะที่ในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ๆ อย่างฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา ทีมชาติส่วนใหญ่ก็เรียกนักเตะเข้าเเคมป์เก็บตัวก่อนฟุตบอลโลกเริ่มไม่เกิน 3 สัปดาห์ ... นี่คือรายละเอียดที่แทบไม่ต้องลงลึกก็น่าจะพอทราบได้เเล้วว่า ทำไมบางครั้งเฮดโค้ชในระดับทีมชาติ จึงมักจะเรียกตัวนักเตะที่ขัดใจแฟนบอลอยู่เสมอ จนเกิดกรณีทีเรียกว่า "ลูกรัก" ขึ้นมา 

ลูกรัก(ในสายตาแฟนบอล) เกิดขึ้นจากข้อจำกัดตามที่ได้กล่าวมา การเตรียมทีม การเก็บตัว และการแข่งขันที่เน้นผลพลาดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้โค้ชไม่กล้าเสี่ยงที่จะลองทีม เปลี่ยนนักเตะใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งส่งดาวรุ่งอายุ 17-18 ปี ออกสตาร์ทเหมือนกับเกมในสโมสร 

มันเป็นธรรมชาติในการทำงานของมนุษย์แทบทุกคน ในวันที่คุณได้รับสิทธิ์ขาดมอบงานชิ้นสำคัญที่พลาดไม่ได้ให้ลูกน้องของคุณสักคนรับมอบหมาย ทุกคนก็มักจะเลือกคนที่รู้มือ รู้ใจกันเป็นอย่างดีไว้ก่อน เเม้ลูกน้องคนนั้นพักหลัง ๆ จะทำตัวขี้เกียจไปบ้าง แต่คุณก็ยังเชื่อใจว่าถ้าถึงเวลาคอขาดบาดตาย พวกเขาก็ยังมีศักยภาพพอที่รับผิดชอบงานที่มอบหมายให้ได้ 

ในทางเดียวกันมันเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะมอบงานชิ้นสำคัญให้พนักงานอีกคนที่คุณแทบไม่รู้จัก และไม่เคยทำงานร่วมกับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้เขาจะได้รับการยกย่องจากที่อื่นว่า "คนนี้เก่งจริง ๆ" แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไอ้คำว่าเก่งสำหรับคนอื่น ๆ คือมาตรฐานเดียวกับที่คุณได้ตั้งเอาไว้ .... การเลือกในลักษณะนี้คือการเพลย์เซฟของเหล่ากุนซือทีมชาติที่มีให้เห็นมาแทบทุกยุคทุกสมัย กุนซือระดับโลกที่คุมทีมชาติโดนวิจารณ์ว่า "เลือกลูกรัก" มาเเล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ กับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ในช่วงฟุตบอลโลก 2018, มานูเอล นอยเออร์ กับทีมชาติเยอรมัน ในยุค โยอาคิม เลิฟ ที่มีสื่อเชียร์ให้ มาร์ค อังเดร แตร์ สเตเก้น ขึ้นมาเป็นมือ 1 แทนที่เป็นต้น 

หรือแม้กระทั่งเคสที่คลาสสิกที่สุดอย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต ถูกตั้งแง่ว่าเขามี แฮร์รี่ แม็คไกวร์ เป็นลูกรัก เพราะเรียกติดทีมชาติไปฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวยังเจ็บกับสโมสรและแทบไม่ได้ลงเล่นเลยด้วยซ้ำ

“ทำไมเราถึงเลือกเขา? เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ทำให้เรามีโอกาสชนะมากที่สุด”  เซาธ์เกต ตอบคำถามแค่นี้ แบบที่ไม่มีใครต้องถามต่อ 

เพราะโค้ชคือคนที่ต้องรับผิดชอบผลการแข่งขัน ที่สุดเเล้วคำว่าลูกรักจะหมดไปหากพวกเขาสามารถตอบคำถามจากแฟนบอลได้ว่า "เรียกมาทำไม" ... นี่เป็นคำตอบง่าย ๆ ที่โค้ชบางคนไม่สามารถตอบได้ และต้องตกเป็นจำเลยสังคมจากแฟนบอลว่า "เป็นโค้ชที่เลือกแต่ลูกรัก" ไปโดยปริยาย 

การมีลูกรักไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับโค้ชและนักเตะ แต่ประเด็นสำคัญคือเฮ้ดโค้ชต้องรู้จักศักยภาพของลูกรักของพวกเขาเป็นอย่างดี และรู้ถึงวิธีใช้ว่าจะทำให้ลูกรักเหล่านี้มีประโยชน์ต่อทีมที่สุดได้อย่างไร ... 

แน่นอนว่าผลลัพธ์นั้นสำคัญที่สุด ถ้าผลงานทีมแย่ คุณภาพต่ำกว่าที่ควร เฮดโค้ชก็ต้องรับความกดดันมี่เกิดจากการเรียกลูกรักของพวกเขาเป็นคนแรกเช่นกัน เพราะหน้าที่ระดับชาติแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจแบบไหน ทุกอย่างล้วนมีราคาต้องจ่ายเสมอ  

แต่ที่สุดแล้วงานของเหล่าเฮ้ดโค้ชก่อนทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ไม่ใช่แค่การเลือกนักเตะคนเดียว แต่มันคือการเลือกนักเตะ 1 สควอด 23-26 คน ดังนั้นพวกเขาไม่มีเวลามาเล่นกับสื่อ แต่ละคนจะต้องคิดวิเคราะห์กันอย่างละเอียดว่าจะเอานักเตะคนไหนไปบ้างทีมจึงจะสมบูรณ์พร้อมที่สุดในทุกสถานการณ์ ชนิดที่ว่าเมื่อเกิดปัญหา ผู้เล่นที่อยู่ในทีใจะสามารถถูกหยิบจับมาใช้ได้เข้ามือที่สุด ... และนี่คือวิธีที่ยอดโค้ชหลายคนเลือกนักเตะของพวกเขา 

 

อาวุธครบมือ ดีกว่าอาวุธที่ประสิทธิภาพเหมือนกัน 

การเลือกนักเตะ 1 สควอดสำหรับเล่นในทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ สำหรับโค้ชหลายคนให้ความเห็นตรงกันหมด โดยเฉพาะชาติใหญ่ ๆ ที่มีตัวเลือกดี ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ โรแบร์โต้ มันชินี่ ที่เขาเองก็เคยโดนสื่ออิตาลีตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่เรียกนักเตะอย่าง มอยเซ่ คีน ติดทีมชุดยูโร 2020 แต่เขาก็ตอบกลับว่า "การมีนักเตะให้เลือกมากมายอาจจะทำให้ผมปวดหัวและโดนวิจารณ์ แต่มันย่อมดีกว่าการถูกบังคับให้เลือกเพราะไม่มีใครแล้วจริง ๆ" 

มันชินี่ ขยายความต่อว่าในฟุตบอล 1 ทัวร์นาเม้นต์ มีระยะการแข่งขันที่ถี่ยิบ หากไปถึงนัดชิงชนะเลิศ พวกเขาจะต้องลงเล่นทั้งหมด 6 เกม ภายในเวลาราว ๆ 3 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลากระชั้นชิดมาก ดังนั้นการเลือกนักเตะที่พร้อมใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย สามารถหมุนเวียนกันเล่นได้ คือปัจจัยหลักที่เขาตั้งไว้เป็นอันดับแรก และเขาก็ทำแบบนั้นรวมถึงมันได้ผลจริง ๆ 

อิตาลี เป็นแชมป์ยูโร 2020 อย่างยิ่งใหญ่ด้วยการน็อคอังกฤษในการดวลจุดโทษรอบชิงชนะเลิศ และ มันชินี่ ใช้นักเตะเกือบครบทุกคนที่เขาเรียกมาติดทีม โดยมี 25 จาก 26 คนได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้ มีเพียงคนเดียวคือ อเล็กซ์ เมเร็ต ประตูมือ 3 เท่านั้นที่ไม่ได้ลงสนาม  และเขายังประกาศตั้งแต่หลังเกมลงเล่นครบทุกเกมในรอบแบ่งกลุ่มว่า "นักเตะทุกคนคือคนที่ไว้วางใจให้ลงสนามได้ทั้งนั้น" 

"ผมเลือกพวกเขามาเพราะผมคิดเอาไว้แล้วว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมกับทัวร์นาเม้นต์ได้จริง ๆ ในเกมกับ เวลส์ ผมสามารถหมุนเวียนนักเตะได้ถึง 8 ตำแหน่ง โดยที่ทีมเรายังเล่นได้ดีมาก ๆ" มันชินี่ ว่าแบบนั้น 

การที่เขาสามารถใช้นักเตะครบทุกคนในทัวร์นาเม้นต์ได้ ก็เกิดจากการที่เขาเลือกนักเตะจากคุณสมบัติที่ครบทุกแบบ เช่น กองหน้าที่แข็งแรงพักบอลเก่ง 1 คน, กองหน้าที่จบสกอร์และเล่นได้ดีในกรอบเขตโทษ 1 คน ส่วนตัวริมเส้น มันชินี่ ก็อธิบายว่า เขามีปีกที่เร็วจี๊ดคล่องแคล่วอย่าง เฟเดริโก้ เคียซ่า, มีปีกที่แข็งแรงและเล่นได้ทั้ง 2 ฝั่งอย่าง แบร์นาเดสคี่, มีปีกสายตัดเข้าในอย่าง ลอเรนโซ่ อินซินเญ่ และปีกถนัดเท้าซ้ายที่เข้าไปเล่นในกรอบเขตโทษได้ดีอย่าง โดเมนิโก เบร์ราดี้  

ความหลากลายคือสิ่งที่ มันชินี่ และโค้ชแทบทุกคนบอกเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ดิดิเยร์ เดส์ชอง ที่พาฝรั่งเศสเป็นแชมป์โลกในปี 2018 ก็เลือกนักเตะที่ความหลากหลายในการเลือกใช้งาน ครั้งนั้น โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ถูกมองว่าไม่น่าติดมาด้วย เพราะเล่นในลีกกับ เชลซี ไปแค่ 13 เกม ยิงได้ทั้งปีแค่ 5 ประตู ... แต่สุดท้าย ชิรูด์ ก็กลายมาเป็นกุญแจสำคัญในแง่ของตัวชง ตัวค้ำ ให้เกิดจังหวะ และพื้นที่ว่างกับผู้เล่นรอบข้างจน ฝรั่งเศส ได้เป็นแชมป์โลก .. จนตอนนี้ไม่มีใครสงสัยเรื่อง ชิรูด์ อีกแล้ว 

เขาย้ำว่าไม่ได้เลือกนักเตะกองหน้าจากการยิงประตูเท่านั้น แต่ในรายของ ชิรูด์ นั้นคือคนสำคัญในเชิงแท็คติก ที่ไม่มีผู้เล่นคนไหนในประเทศนี้เล่นได้เหมือนเขาอีกแล้ว 

"ผมไม่สนหรอกว่า ชิรูด์ จะยิงไมได้แม้มันจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่เขาคือนักเตะที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ เขาไม่ได้มีสไตล์ที่ฉูดฉาด แต่ทีมต้องการเขา ต่อให้เขาทำประตูไม่ได้ แต่เขาก็เป็นกองหน้าที่เล่นเป็นทีม ใจกว้าง และไม่เคยบ่นเลยสักครั้งเรื่องการทำงานหนักสำหรับหน้าที่ของเขา" เดส์ชองส์ ว่าแบบนั้น 

ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักเตะบางคนถึงไม่ติดทีมไปเล่นท้วร์นาเม้นต์ใหญ่ แม้ผลงานในลีกจะดีกว่าบางคนที่ติดไป แน่นอนว่าเรื่องในสนามมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟุตบอลยุคนี้ที่เน้นเรื่องแท็คติกและเชือดเฉือนกันทางกลยุทธ 

เมื่อคุณมีขุมกำลังที่หลากหลาย คุณสามารภทำในสิ่งที่เรียกว่า "ความยืดหยุ่น" ซึ่งจะทำให้ทีมของคุณเลือกเล่นได้ในหลายสไตล์ พร้อมจะรับมือกับคู่แข่งที่มีจุดแข็ง จุดอ่อนแตกต่างกัน เวลาคุณเจอกับทีมที่ตั้งรับลึก คุณสามารถถอดนักเตะที่เลี้ยงบอลเก่งออกสักคน เพราะพื้นที่มีให้เล่นน้อย แต่เลือกใส่นักเตะที่เล่นกับพื้นที่ว่างเก่ง เชี่ยวชาญในการเข้าฮอร์ส ใช้จังหวะจบสกอร์ไม่มาก แต่งตัวเร็ว ได้จังหวะก็ยิงแบบเปรี้ยงเดียวจอด 

กลับวันในวันที่คุณเจอคู่แข่งที่ชอบเล่นเกมรุก เปิดพื้นที่หลังบ้านเยอะ คุณก็จะมีนักเตะที่วิ่งไวปานจรวด ได้แตะบอลเมื่อไหร่ยากที่ใครจะตามทัน นี่คือความสมดุลที่โค้ชแต่ละคนจะเกลี่ยให้กับทีมของเขา ให้มีความเชี่ยวชาญรอบด้าน มากกว่าการมีกราฟที่สูงปรี๊ดเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถพลิกแพลงเล่นแบบอื่นได้   ... เตรียมอาวุธให้ครบมือ คุณก็จะพร้อมสู้ศึกทุกรูปแบบนี่คือสิ่งที่ยอดโค้ชถ่ายทอดมาแบบนั้นในการเลือกนักเตะของพวกเขา 

 

คาแร็คเตอร์เข้ม ๆ และเคมีที่เข้ากัน 

นอกจากเรื่องของวิธีการเล่นแล้วสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการเลือกของโค้ชแต่ละคนสำหรับการจัดการทัพในทัวร์นาเมต์ใหญ่ ๆ คือ "คาแร็คเตอร์" ของนักเตะแต่ละคน ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลต่อการแข่งขันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในวันที่คุณต้องเจอกับคู่แข่งทีเก่งเท่า ๆ กัน หรือมีศักยภาพมากกว่าคุณ 

หากใครเคยได้ดูสารคดี Azzurri: Road to Wembley คุณจะเห็นว่า โรแบร์โต้ มันชินี่ เลือกนักเตะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมด้วยวิธีที่ละเอียดมาก มียอดนักเตะชาวอิตาเลียนมากมายกว่า 60 คนในลิสต์ทีมชาติของเขา ซึ่งแต่ละคน มันชินี่ และทีมงานของเขาไล่เรียงโปรไฟล์กันละเอียดยิบ มีทั้งทีมที่เก็บสถิติเรื่องการเล่นในสนาม ซึ่งเป็นความจริงที่โกหกกันไม่ได้ และยิ่งไปกว่านั้นกว่าที่เขาจะเลือกใครสักคน มันชินี่ ก็สืบสาวราวเรื่องไปยังเบื้องหลัง ทัศนคติ นิสัย และเคมีการอยู่ร่วมกันของนักเตะเหล่านั้นด้วย 

ทำไมต้องละเอียดขนาดนั้น ? .. เหตุผลก็เพราะในฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์นักเตะจะต้องรวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นเวลาเกือบ ๆ 2 เดือน พวกเขาต้องอยู่ด้วยกัน สื่อสารกัน กิน-นอน ด้วยกัน เดินทางด้วยกันอยู่ตลอด ดังนั้นการรักษาบรรยากาศในทีมนั้นสำคัญมาก ๆ แต่ละคนก็จะมีหน้าที่นอกสนามที่คนภายนอกมองไม่เห็น บทบาทแต่ละคนแตกต่างกันไป เป็นกัปตัน, รองกัปตัน, แข้งซีเนียร์ หรือแม้กระทั่งการเป็นนักเตะที่มีอิทธิพลในห้องแต่งตัวทั้งสิ้น 

"ผมเลือกกลุ่มนักเตะที่ที่นอกจากจะเป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นคนที่ยอดเยี่ยมด้วย ถ้าคุณได้คุณสมบัติทั้ง 2 อย่าง นักเตะจะรู้หน้าที่กันเป็นอย่างดี นักเตะที่อายุมากจะช่วยสอนและแนะนำกับนักเตะดาวรุ่ง และนักเตะดาวรุ่งก็พร้อมจะรับฟังเพราะพวกเขารู้ว่าจะได้อะไรกลับมา ทีมชุดที่ผมเลือกมา เราใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานกว่า 50 วัน และเวลาเหล่านั้นทำให้ผมกับพวกเขาทุก ๆ คนเชื่อว่าด้วยทีมที่เรามี มันเป็นไปได้ที่เราจะกลายเป็นแชมป์ ผมคิดแบบนั้นตั้งแต่วันแรก" 

"กลุ่มนักเตะที่ผมเลือกมากลุ่มนี้เป็นกลุ่มนักเตะที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งมาก พวกเขาไม่เคยขาสั่นถอดใจเวลาเจอช่วงเวลาที่ยาก ๆ หรือแม้กระทั่งคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อนทีม พวกเรามาถึงแชมป์ไม่ใช่แค่เพราะพวกเราเป็นทีมที่ยิ่งจุดโทษเก่ง แต่พวกเขากลมกลืนกันด้วยมิตรภาพ และทุกคนร่วมกันสร้างช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดในชีวิตขึ้นมา" 

มีหลายชาติที่มองข้ามจุดนี้ไปและต้องเจอกับความเละเทะในแบบที่แก้ไขไม่ได้ เพราะเมื่อถึงทัวร์นาเม้นต์ คุณอาจจะสามารถไล่นักเตะที่เป็นปัญหาของทีมออกไปได้ แต่คุณไม่สามารถเรียกใครมาได้เพิ่มอีกแล้ว แย่ไปกว่านั้นหากนักเตะซีเนียร์บางคนตั้งตัวเป็นใหญ่ กลายเป็นตัวตั้งตัวตีให้นักเตะในทีมคนอื่น ๆ "ล้มโค้ช" เราก็เคยเห็นกันมาแล้ว เช่น ทีมชาติฝรั่งเศส ในฟุตบอลโลกปี 2010 ที่ทีมแตกตั้งแต่เล่นไปได้แค่เกมเดียว  

เรย์มงด์ โดเมเน็ค พยายามจะใช้นักเตะหนุ่มมากขึ้น แต่เขากลับเอานักเตะซีเนียร์ไม่อยู่ ความตึงเครียดปะทุหนัก จนภายหลัง โดเมเน็ค ก็คายความลับทุกอย่าง และเปิดเผยสัมภาษณ์แบบจัดเต็มว่า 

"เขา (อเนลก้า) พูดแดกดันผมระหว่างพักครึ่งในเกมที่พบกับเม็กซิโก เมื่อผมไม่สามารถหยุดการโต้เถียงนั้นได้ เขาก็กลายเป็นคนที่ทำลายทีม หลังจากจบเกมกับเม็กซิโก อเนลก้า และ วิลเลี่ยม กัลลาส หัวเราะกันยกใหญ่ การแสดงออกแบบนั้นคืออะไร ? พวกเขามีความสุขที่ทีมแพ้หรือ ?" นายใหญ่ทัพไก่เดือยทอง กล่าว 

ไม่มีใครการันตีว่าหาก โดเมเน็ค เลือกนักเตะดาวรุ่งหลาย ๆ มาจากแนวคิดการถ่ายเลือดของเขา ฝรั่งเศส จะเข้ารอบลึก ๆ หรือเป็นแชมป์หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เขาจะได้นักเตะที่พร้อมจะวิ่งให้เขา ทำตามที่เขาสั่ง รับฟังที่เขาสอน มากกว่าที่เขาจะต้องมาเจอการย้อนศรที่ทำให้เขาแทบไม่เหลือที่ยืนแบบที่เป็นอยู่ 

เพราะฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์เป็นเรื่องของการบริหารจัดการคน การที่เฮ้ดโค้ชเอาเหตุผลเรื่องความเป็นมนุษย์มาร่วมกับเหตุผลด้านฟุตบอลมาใช้ เป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดชะตาในการทำงานของพวกเขาได้เช่นกัน หากโค้ชคนไหนจริงจังทั้งเรื่องแท็คติก และจริงจังในการรวมนักเตะเข้าเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ทุกคนเสียสละเพื่อทีม พวกเขาจะไม่ได้แค่ทีมที่มีคุณภาพ แต่พวกเขาจะได้ทีมที่มีสปิริตนักสู้ในเวลาเดียวกัน 

เมื่อทั้ง 2 อย่างรวมตัวกันและความมั่นใจพุ่งทะยานไปสูงปรี๊ด พวกเขาก็สามารถต่อกรได้กับทุกทีมในโลก แม้ว่าราคาหน้าเสื่อจะออกมาแบบไหนก็ตาม ... คุณอาจจะไม่การันตีว่าจะเป็นแชมป์ แต่คุณจะได้ทีมสควอดที่พร้อมสู้ตายถวายหัวเพื่อชัยชนะ และมองความสำเร็จของทีมเป็นสิ่งสำคัญอันดับ 1 แน่นอน  และสิ่งนี้แหละคือแก่นแท้ของฟุตบอล และทีมที่จะประสบความสำเร็จ 

ปิดท้ายของเรื่องนี้เราต้องยอมรับว่างานโค้ชคืองานที่เครียด และต้องคิดละเอียดที่สุด ต้องรับข้อมูลมากมายเข้ามาในหัว ต้องรับมือกับความความหวังจากแฟนบอล จากการกดดันของสื่อ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพิถีพิถัน และเลือกที่จะเสี่ยงกับแนวคิดของตัวเองโดยไม่มีความลังเล

ถ้าทุกอย่างออกมาดี ทุกอย่างก็จบ การตัดสินใจของพวกเขาถือว่าถูกต้องและจะได้รับคำชมแน่ต่อให้ไม่จบด้วยแชมป์ก็ตาม แต่ถ้าหากกลับกันผลงานของทีมล้มเหลวไม่เป็นท่า โค้ชนี่แหละที่ต้องเดินยืดหน้าอกรับเป็นคนแรก และรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จบด้วยการแยกทางแทบทั้งนั้น  ... 

เมื่อคุณได้อำนาจสูงสุด จงใช้มันอย่างมีสติและมีความรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดถ้ามันจะพัง ก็พังเพราะว่าคุณเป็นคนทำมันเอง ยังดีเสียกว่าการเอาคนที่ไม่ใช่มาเป็นหอกข้างแคร่ และทำให้คุณต้องจบงานที่คุณรักอย่างค้างคา และสร้างภาพจำว่าเป็นโค้ชที่ล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่คุณยังไม่ได้แสดงสิ่งที่คุณมีทั้งหมดออกมาเลยด้วยซ้ำ 


 
แหล่งอ้งอิง : 

https://www.france24.com/en/20100630-world-cup-2010-disgraced-french-coach-domenech-faces-lawmakers-escalettes-fff-france-football
https://www.france24.com/en/20100619-france-anelka-kicked-out-world-cup-insult-coach-domenech
https://theathletic.com/3634871/2022/10/19/harry-maguire-possible-england-replacements/
https://www.goal.com/en/news/nicolas-otamendi-argentina-other-superman-world-cup-best-defender/bltc8671ba7e8e4efa2
https://www.nbcsports.com/soccer/news/mancini-says-italys-euro-2020-squad-is-more-or-less-decided
https://www.rte.ie/sport/world-cup-2018/2018/0714/978631-giroud-important-for-our-style-stresses-deschamps/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ